ลง BTS สถานีเซนต์หลุยส์ ทางออก 2 เดินจากปากซอยสาทร 11 ประมาณ 500 เมตร ก็จะพบกับ ‘kintaam’ (กินตาม) ร้านขนาดกะทัดรัดที่ขายไอศกรีมแซนด์วิชจับพอดีมือ กินได้พอดีคำ (แต่ได้หลายคำอยู่) เป็นหมุดหมายที่เราตั้งใจมากินตามคำบอกเล่าจากเพื่อนที่ป้ายยาตั้งแต่ขายอยู่แค่ที่เชียงใหม่ จนเพิ่งมาเปิดร้านใหม่ที่กรุงเทพฯ กินตามรีวิวจากชาวเน็ตที่เขาว่ากันว่าอร่อยและไม่มีใครเหมือน กินตามใจอยากเพราะทางร้านมีกิมมิกสนุก ๆ ให้เลือกสรรหน้าตาไอศกรีมในแบบของตัวเองได้ และกินตามอัธยาศัยพร้อมนั่งคุยชิลล์ ๆ กับ 2 สาวเจ้าของร้านแห่งนี้

หากไอศกรีมเป็นนางเอก บิสกิตที่ประกบไอศกรีมไว้ก็คงเป็นพระเอก สำหรับ kintaam แล้ว ไอศกรีมและแซนด์วิชโฮมเมดที่คิดค้นสูตรพร้อมทั้งดีไซน์ความสนุกขึ้นมาเป็นสิ่งที่ น้ำอบ และ น้ำทิพย์ ไชยจินดา ตั้งใจให้กินคู่กัน เพราะมันคือเมนูหลักเพียงหนึ่งเดียวที่ทางร้านตั้งใจชูโรง จะให้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปหรือให้จับแยกกัน พวกเธอบอกเลยว่า ไม่ขาย!

เบื้องหลังไอศกรีมแซนด์วิชราคา 75 บาท อัดแน่นไปด้วยความคิดสร้างสรรค์พลุ่งพล่าน ซึ่งล้วน ‘คิดมาแล้วตามอัธยาศัย’ ตั้งแต่ตั้งใจให้ไอศกรีมทั้ง 12 รสชาติผ่านการโหวตจากลูกค้า เพราะเสียงของพวกเขามีความหมาย! แถมทุกรสก็ตีโจทย์แตก ด้วยการเปลี่ยนรสชาติให้ไม่ธรรมดาด้วยการจับส่วนนั้นผสมส่วนนี้ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ แถมยังให้ลูกค้าเลือกทานไอศกรีมคู่กับท็อปปิ้งต่าง ๆ ได้ตามชอบใจ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นท็อปปิ้งที่คิดมาแล้วว่ากินกับอะไรก็อร่อย และประกบทุกสิ่งรวมกันด้วยแซนด์วิชบิสกิตเนยแท้ ที่น้ำอบและน้ำทิพย์การันตีว่า ไม่ว่าจะกินกับรสชาติไหนก็ไปรอด

ความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ kintaam คือ ‘ความสุข’ ในชีวิตของของสาวเจ้าของร้าน และเป็น ‘ความสนุก’ ในชีวิตของลูกค้า เพราะพวกเธอเชื่อว่าของที่กินเข้าปากพิเศษได้มากกว่าแค่ความอร่อย

“ถ้า The Cloud ต้องเป็นรสชาติเย็น ๆ ฟุ้ง ๆ” น้ำทิพย์เริ่มปล่อยไอเดียสด ๆ 

“แป้งแซนด์วิชต้องไม่หนาด้วย แต่จริง ๆ รสมินต์ช็อกที่เรามีอยู่ที่ร้านก็ The Cloud นะ” น้ำอบเสริมทัพ 

เห็นไหม แค่เริ่มก็สนุกแล้ว และทุกบรรทัดหลังจากนี้ เราเชื่อว่าจะสนุก และอาจหิวไอติมไปด้วย

ทำเรื่องสนุก ๆ ตามอัธยาศัย

น้ำอบและน้ำทิพย์จัดประเภทไอศกรีมแซนด์วิชของพวกเธออยู่ในหมวด Finger Food หรือการทำโปรดักต์อาหารด้วยชิ้นพอเหมาะ ซึ่งไปในทิศทางเดียวกันกับการเลือกขนาดของร้าน การมีเก้าอี้ให้นั่งกินที่พอเหมาะ ล้วนเป็นความตั้งใจให้ลูกค้าเข้ามากินไอศกรีมคนละ 5 – 10 นาที แล้วหมุนเวียนที่นั่งกันไปเหมือนเก้าอี้ดนตรี เพราะพวกเธออยากให้ลูกค้าหลาย ๆ คนได้เข้ามาอย่างทั่วถึง และเวลา 5 – 10 นาทีนั้น ต้องสร้างความรู้สึกดี ๆ ให้พวกเขาได้หายเหนื่อยจากอะไรก็ตามในชีวิตได้ด้วย

kintaam มีชื่อเต็มว่า ‘กินตามอัธยาศัย’ เป็นคำที่ครอบครัวไชยจินดาพูดกันเป็นประจำตั้งแต่ 2 สาวยังเป็นเด็ก เรื่อยมาจนถึงตอนโตก็ยังเป็นคำติดบ้านของบ้าน จนน้ำอบคิดไว้เล่น ๆ ว่า ถ้าเกิดต้องจดบริษัทของตัวเอง ก็อยากจดว่า บริษัท ตามอัธยาศัย จำกัด 

“บ้านเรามีกันอยู่ 5 คน มีพี่น้อง 3 คน และคุณพ่อ คุณแม่ เวลาอยู่บ้านด้วยกัน ถ้าไม่มีกิจกรรมที่ต้องมาทำร่วมกัน เราจะมีคำว่า ตามอัธยาศัยนะ ใครอยากไปทำอะไรก็ทำ แยกย้ายกันไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วเดี๋ยวค่อยกลับมากินข้าวร่วมกัน” น้ำทิพย์เล่าที่มาที่ไปถึงคำพูดติดปากของครอบครัวให้ฟัง

“พอเราได้มาทำโปรดักต์ของกิน เลยคิดง่าย ๆ ว่า ตามอัธยาศัย จะไปเข้าอะไรกับการกิน จนออกมาเป็น กินตามอัธยาศัย และย่อเหลือแค่ ‘กินตาม’ ” น้ำอบเสริมน้องสาว

ต้องชอบกินไอศกรีมมาก ๆ แน่เลยถึงมาเปิดร้านแบบนี้ – บางคนอาจคิดว่าจุดเริ่มต้นของร้านเป็นเช่นนี้ แต่ผิด! เพราะทั้งคู่บอกความลับให้ฟังว่าไม่ได้ชอบกินไอศกรีมมากที่สุด แต่เติบโตกับมากับของกิน และชอบกินเฉย ๆ

“ครอบครัวฝั่งคุณแม่ทำธุรกิจอาหารมานาน ตั้งแต่รุ่นคุณยายทำกับข้าว ทำขนมขาย พี่น้องของคุณแม่ก็ทำร้านอาหารอีก เวลากินข้าวในครอบครัวจึงมีอาหารหลากหลายมาก ประกอบกับพวกเราเกิดที่กรุงเทพฯ แต่ไปเติบโตที่เชียงใหม่ เลยได้กินทั้งอาหารพื้นเมืองและอาหารภาคกลาง 

“เราไม่ได้ชอบกินไอติมตั้งแต่แรก เพิ่งมากินตอนโตกันนี่เอง ฉะนั้น การตั้งต้นเปิดร้านของเราเลยมาจากว่าอยากทำอะไรร่วมกัน บังเอิญน้ำทิพย์เป็น Home Baker ชอบทำขนมปัง บราวนี่ คุกกี้ และสารพัดขนม เราก็เลยคิดว่า งั้นต้องทำของกิน” น้ำอบเล่า แล้วน้ำทิพย์ผู้เป็นนักกินและนักชอบทำของกินก็เสริมต่อว่า 

“การทำขนมเป็นความชอบส่วนตัวของเรา ช่วงที่เรียนจบเป็นยุคโควิดพอดี ตอนแรกเราก็รับฟรีแลนซ์ตัดต่อวิดีโอที่กรุงเทพฯ แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยมีอะไรทำเลยย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่ที่เชียงใหม่ จังหวะที่ย้ายไปก็ชวนแม่ว่าว่าง ๆ มาทำขนมกันไหม ทำเค้ก ทำทุกอย่างที่คนว่างเขาจะทำกัน แต่พอเดือนเมษายน อากาศมันร้อน เลยชวนแม่ทำไอติมกินกัน คิดแค่ว่าทำขำ ๆ ก็ได้ ลองซื้อเครื่องเล็ก ๆ มา

“เราใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการทำไอติม ศึกษาว่าถ้าอยากทำรสอื่น ๆ ต้องใส่อะไร คำนวณยังไง บาลานซ์สูตรแบบไหน เปิดยูทูบ ลองเรียนคอร์สออนไลน์ ซื้อหนังสือมาอ่าน พอเริ่มลงตัว เราเลยคิดจะทำโปรเจกต์สั้น ๆ ที่ออกแค่เซตเดียวจบ และด้วยความที่เราเรียนฝั่งภาพยนตร์มา เวลาทำอะไร ทุกอย่างต้องมีคอนเซปต์ หรือจะขายของก็ต้องมีอะไรให้พูด ซึ่งท่ามกลางร้านไอศกรีมดี ๆ ที่เขามีอยู่เยอะแล้ว สิ่งที่ยังไม่มีก็คือไอศกรีมแซนด์วิช

“ถ้าเราจะเลือกไอศกรีมแซนด์วิชมาเป็นเมนูหลัก ไม่มีขายไอศกรีมแยก ไม่มีเป็นสกูปหรือเป็นถ้วย 

โดยที่ตัวแซนด์วิชมันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราชอบ คือเราชอบทำขนมปังหลากหลายแบบ ไม่ใช่แค่เป็นบิสกิต เป็นคุกกี้ อาจเป็นวาฟเฟิลหรืออะไรก็ได้ที่เอามาประกบแล้วเรียกว่าแซนด์วิชได้ เราว่าคอนเซปต์นี้กว้างและยืดหยุ่น เวลามีไอเดียอะไรเพิ่มก็พลิกแพลงได้มากกว่าแค่เป็นร้านขายไอศกรีมเฉย ๆ”

รสชาติเท่ ๆ ตามอัธยาศัย

ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะปิ๊งไอเดียออกมาเลยว่าอยากจะทำ ‘ไอศกรีมแซนด์วิช’ แต่ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากความช่างสังเกต และชอบสอดส่องของ 2 พี่น้องคู่นี้

“พวกเราชอบเดินซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วก็ชอบไปส่องโซนของนำเข้าจากญี่ปุ่นบ้าง ฝรั่งบ้าง เราได้เห็นไอศกรีมแซนด์วิชจากหลายประเทศ แล้วก็ลองซื้อมาชิม ซึ่งสิ่งนี้มักถูกซ่อนไว้ในตู้ หรืออย่างตามร้านไอศกรีม เมนูนี้มักไม่ใช่ฮีโร่ของร้าน แต่จริง ๆ มันก็มีดีนะ” น้ำอบพูด ก่อนที่น้ำทิพย์จะเผยความตั้งใจของเธอว่า ถ้าอยากจะทำไอศกรีมแซนด์วิช ก็อยากทำให้มันกรอบ ให้ได้สัมผัสแตกต่างจากที่เคยลองกินมา ซึ่งสิ่งที่มาตอบโจทย์นี้คือบิสกิต

“บิสกิตเป็นอะไรที่เบสิก กินง่าย และไปกับไอศกรีมได้ทุกรส บางครั้งอะไรที่ธรรมดาที่สุดก็อร่อยที่สุด” ไอศกรีมแซนด์วิชบิสกิตจึงเป็นสิ่งที่ขายยืนพื้นหน้าร้าน และไอเดียแซนด์วิชจากวัตถุดิบอื่น ๆ ค่อยทำขึ้นเฉพาะในโอกาสต่าง ๆ

เคาน์เตอร์บาร์ของ kintaam มีบิสกิต 5 สี 5 รสชาติ ทั้งโกโก้ดำ โกโก้ อังคัก เนย และข้าวโอ๊ต ให้เลือกสรร พร้อมทั้งไอศกรีม 12 รส ที่กว่าจะออกมาได้ มีเบื้องหลังการคิดสูตรแสนเท่ เพราะน้ำอบและน้ำทิพย์มองไอศกรีมของพวกเธอเป็น ‘ก้อนไขมัน’ ว่าง ๆ ธรรมดา ซึ่งพร้อมรับการสาดไอเดียเจ๋ง ๆ เข้าไปให้ป๊อปและซ่าขึ้น

“ช่วงรีเสิร์ช เราไปดูว่าร้านในต่างประเทศเขาทำอะไรกันไปบ้างแล้ว สิ่งที่เจอคือเขาคิดค้นรสชาติในช่วงโหวต โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการใช้ไอศกรีมในเชิง Flavor Voting สื่อสารสิ่งที่อยากพูดผ่านไอศกรีม เขาเอาไปเล่นได้ขนาดนั้นเลยนะ 

“เราเลยมาคิดว่า ถ้าเปรียบไอศกรีมเป็นแค่นม เป็นเหมือนก้อนไขมันเย็น ๆ แต่หยิบอันนู้นอันนี้มาใส่ ทั้งรสชาติ หน้าตา สีสัน หรือไอเดียบนพื้นที่ว่าง ๆ นี้ก็ดูเหมาะกับเราดี” น้ำทิพย์ผู้รับบทแม่ครัวหลักเล่า และน้ำอบที่รับบทฝ่ายซัพพอร์ตฝั่งมาร์เก็ตติง กราฟิก และแพ็กเกจจิง ก็บอกว่าจากที่วางแผนกันว่าจะทำกันสั้น ๆ ไม่ได้จริงจัง แต่เมื่อฟีดแบ็กดี จากโปรเจกต์สั้น ๆ จึงเห็นหนทางที่น่าจริงจังกับมัน

“4 รสชาติแรกของเราเป็นงานที่คอนเซปต์จัด ๆ ค่อนข้างสุดขอบประมาณหนึ่ง เพราะเราแค่อยากเล่าในสิ่งที่อยากเล่า ไม่ได้อิงว่าลูกค้าจะเข้าใจไหม เหมือนทำเอามันก่อน (หัวเราะ) ทุกรสมาจากการที่เราด่ารัฐบาลช่วงโควิดค่ะ เรื่องการเมืองเลย

“รสแรกคือ กล้วยผ่อง ทำมาจากกล้วยหอมและเนยถั่ว ตอนนี้ก็ยังมีขายหน้าร้านนะคะ เราอิงมาจากประโยค เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ รสถัดมาคือ ช็อคแสบ เป็นช็อกโกแลตพริก มาจากการเผาพริกเผาเกลือ สาปส่ง ขับไล่สิ่งไม่ดีออกไป หรือรส ไบร์ทจัง เป็นรส Lemon Curd หน้าตา ณ ตอนนั้นของรสนี้จะเป็นสีเทา คือเราตั้งให้ตรงข้ามกับหน้าตา คือไบรต์จัง แต่ทำไมสีเทาล่ะ” น้ำอบเล่าอย่างกระตือรือร้น และผายมือไปให้น้ำทิพย์อธิบายต่อ

“เราใส่ผงชาโคลเข้าไปให้ตัวไอศกรีมเลมอนเป็นสีเทา เพราะรู้สึกว่าในสถานการณ์ที่อึมครึม เป็นฟ้าหม่น แต่พอกินไปมันได้รสเปรี้ยวที่สว่าง เหมือนเป็นความหวังในวันที่ประเทศมืดมน สุดท้ายคือ รสเย็นเจี๊ยบ ชื่อภาษาอังกฤษคือ Frozen Yogurt เหมือนการถูกแช่ไว้ ความเจริญ การพัฒนาถูกหยุดเอาไว้ ตอนนั้นเราทำเป็นบิสกิตสีแดง ไอศกรีมสีขาว แล้วมีซอสสีน้ำเงิน เป็นรสเย็นเจี๊ยบไป”

เมื่อผลตอบรับออกมาดี kintaam ได้ไปออกอีเวนต์ ได้เจอลูกค้า สิ่งที่น้ำอบและน้ำทิพย์ตกตะกอนได้ คือแม้จะมีลูกค้าที่ชื่นชอบในไอเดียอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีลูกค้าจำนวนมากที่ไม่เข้าใจ แต่แค่อยากมาลิ้มลองความอร่อยของไอศกรีมแซนด์วิช พอจะทำธุรกิจจริงจัง จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่ทั้งคู่อยากปรับกันใหม่

“บางคนอยากกินไอศกรีมเลมอน แต่ทำไมร้านนี้ทำสีเทา ไม่น่ากินเลย การที่เราออกบูทเยอะขึ้น ทำให้เห็นว่าหลายครั้งคนก็ไม่ได้เข้าใจในบริบทที่เราสื่อสาร จึงเกิดคำถามมากมายว่าทำเลมอนสีเทาทำไม ทำไมช็อกโกแลตต้องใส่พริก ทำไมไม่ทำช็อกโกแลตธรรมดาล่ะ กินง่ายกว่าไหม ขายง่ายกว่าไหม พอแบรนด์ขยับมาได้ปีที่ 2 เราเลยฟังฟีดแบ็กลูกค้ามากขึ้น

“เราเอาชาโคลออกจากเลมอน กลายเป็นรส Lemon Curd สีเหลืองธรรมดา แต่ก็ยังไม่ทิ้งคอนเซปต์นะ ในวันที่เราเปลี่ยนสีไอศกรีม เป็นวันที่คุณชัชชาติได้เป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เปรียบเสมือนความหวังของประชาชนเริ่มมีขึ้นมาแล้วนะทุกคน” น้ำทิพย์พูดยิ้ม ๆ

4 รสชาติถัดมา น้ำอบและน้ำทิพย์ต้องการเล่นกับอะไรที่เข้าใจง่าย ๆ ไม่ต้องคิดเยอะ แต่ในความธรรมดานั้นก็ต้องไม่ธรรมดาตามสไตล์ของพวกเธอ และนี่คือ ‘น้ำชง’ รสชาติไอศกรีมเซตใหม่ 

“ให้นึกถึงน้ำชงรถเข็นเลยค่ะ เราทำรสไวท์มอลต์ ชาเย็น เอสเย็น ชาเขียว เป็นเหมือนการรวมดาวน้ำชง เอามาเป็นรสชาติไอศกรีม แต่ก็ใส่กิมมิกลงไปด้วย เช่น ชาเย็นเป็นชาเย็นลำไย ใส่ลำไยอบแห้งให้มีความหนึบ ๆ ซึ่งลำไยนี้ก็มาจากเชียงใหม่” น้ำทิพย์เล่า

“หรือรสนมเย็น เราใส่มาร์ชเมลโลว์ข้างในให้ดูมีอะไรมากขึ้น เราเชื่อว่าความเบสิกมันพลิกได้นิดหนึ่ง และเอาไอเดียอะไรมาใส่เพิ่มได้ หรือรสมัทฉะที่เราออกมาช่วงคริสต์มาส คิดว่าสีเขียวต้องคู่กับสีแดง เลยนึกถึงตัวเยลลี่ที่กินตอนเด็ก ๆ พอเอามาเข้าคู่กับรสมัทฉะที่มันฝาด ๆ ขม ๆ ได้รสเปรี้ยวหวานที่ดูเด๋อ ๆ แต่อร่อยดีนะ” น้ำอบเสริม

แม้จะกลับสู่ไอเดียย่อยง่าย ไม่คอนเซปต์จ๋า ๆ เท่าไหร่แล้ว แต่น้ำอบและน้ำทิพย์ก็ยังเคยลองกลับมาทำงานคอนเซปต์อีกครั้ง ครั้งหนึ่งพวกเธอเคยทำเซต ‘สีเพี้ยน’ ที่เล่นกับการรับรู้ของลูกค้า โดยการสลับสีที่ลูกค้าคิดว่าสีนี้ต้องเป็นรสนี้หรือรสนั้นแน่เลย เช่น รสสตรอว์เบอร์รี จากที่คนคุ้นชินว่าต้องเป็นสีแดง พวกเธอใส่ผงขมิ้นให้เป็นสีเหลือง รสมินต์ที่คนคิดว่าต้องเป็นสีฟ้า พวกเธอแค่ไม่ใส่สีฟ้าลงไปเหมือนร้านอื่น จนได้เป็นสีขาวแบบดั้งเดิม หรือรสมะม่วงอกร่องหวานฉ่ำที่คนติดภาพว่าต้องเป็นสีเหลือง ก็นึกสนุกใส่ผงสาหร่ายให้ออกมาเป็นสีเขียว จนคนคิดว่าเป็นรสมะม่วงดิบเปรี้ยว ๆ แทน

“ณ ตอนนี้ไม่มีแบบนั้นแล้วค่ะ พอมาเปิดหน้าร้านทุกวัน ลูกค้าต้องการความตรงไปตรงมา สตรอว์เบอร์รีต้องสีชมพู รสอะไรก็ควรเป็นสีตามนั้น อย่างปัจจุบันรสที่ยังอยู่จากเซตนี้ก็คือรสสตรอว์เบอร์รีเยลลี่กับมินต์ช็อก ที่เหลือยอดขายไม่เยอะก็ต้องบ๊ายบาย แม้เราจะอยากให้มันอยู่ก็ตาม (หัวเราะ)” น้ำทิพย์บอก และกำชับว่าปัจจุบันรสชาติที่ขายอยู่หน้าร้านเป็นรสชาติที่มีการถอดเข้า-ถอดออก ตามการโหวตของลูกค้าตามอัธยาศัย และยอดขายของทางร้านที่ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าจะกินรสไหนมากที่สุด

“เราจะมีการเปิดโหวตแต่ละเดือนในอินสตาแกรมว่าเดือนนี้ลูกค้าอยากกินรสชาติไหน บวกกับ Combination อะไร รสไหนชนะจะเอารสนั้นมาขายจริงในเดือนนั้น และถ้ายอดขายถึงตามเป้า เราก็จะเพิ่มเข้ามาเป็นรสชาติใหม่ของทางร้าน เช่น เดือนนี้อยากกินช็อกอะไร ช็อกส้ม ช็อกกล้วย ช็อกเกลือ ช็อกกล้วยชนะก็เอามาทำเป็น Banana Choco หรือเดือนนี้เจอญาติที่บ้านปลูกอะโวคาโด อยากทำไอศกรีมอะโวคาโด ก็เลือก Combination ว่าอยากกินกับขนมปัง คุกกี้ หรือวาฟเฟิล ขนมปังชนะ เราก็ทำ หรือรสปัจจุบันที่วางขายอยู่อย่าง Salted Caramel ก็มาจากการโหวตชนะและฟีดแบ็กดีมาก” นี่คือตัวอย่างการทำให้ลูกค้าได้มีประสบการณ์ร่วมกับร้านอย่างตามอัธยาศัยของพวกเธอ

วัตถุดิบดี ๆ จากผู้ประกอบการเล็ก ๆ ตามอัธยาศัย

#kintaamlocalproduce เป็นซีรีส์ที่ kintaam เลือกวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ทำไอศกรีม เพราะส่วนหนึ่งพวกเธออยากสนับสนุนผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ ในเชียงใหม่ที่มีความเจ๋งและแจ๋ว ส่วนผสมต่าง ๆ ของไอศกรีมหรือเมนูพิเศษของ kintaam จึงแทรกซึมไปด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีเรื่องราวดี ๆ ซ่อนอยู่

“ครัวของเรามีฐานการผลิตอยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีวัตถุดิบให้เลือกใช้เยอะมาก มีทั้งเกษตรกร มีคนทำฟาร์ม ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากใช้ของดี ๆ เหล่านี้ เช่น ไอศกรีมของเรามีเบสเป็นนมทั้งหมด ซึ่งเราเลือกใช้นมจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีการทำสหกรณ์ เอาของที่นักศึกษาทำมาขายจริง 

“ส่วนตัววิปปิงครีม เราใช้ยี่ห้อ Dacheeso ซึ่งเป็นโรงงานทำชีสในตำบลป่าแดด ทำมาแล้ว 20 ปี เราเคยอ่านเจอว่าในช่วงโควิด ยอดขายของพวกเขาตกต่ำ เพราะร้านอาหารอิตาเลียนที่เชียงใหม่ปิดหมด เขามีแพลนจะอยู่ถึงสิ้นปี เราก็คิดกันว่าตายแล้ว ติดต่อเขาไปดีกว่าว่าเราจะรับวิปปิงครีมเขามาทำ จนถึงตอนนี้โรงงานชีสของเขาก็ยังเปิดอยู่ค่ะ

“ก่อนหน้านี้เราเคยทำเมนูพิเศษเป็นไอศกรีมน้ำเต้าหู้ด้วย คือร้าน Have a nice bean เป็นโรงงานเต้าหู้ยี้มากว่า 70 ปี คุณพ่อของเขาสนใจ kintaam อยากให้เราเอาน้ำเต้าหู้มาทำเป็นไอศกรีม เราเลยทำออกมาเป็นไอศกรีมน้ำเต้าหู้ประกบกับปาท่องโก๋” น้ำอบบอกว่าแม้ยอดขายเมนูพิเศษนี้จะไม่ได้มากมายนัก แต่ก็ทำให้พวกเธอได้คิดไอเดียสนุก ๆ ที่แม้จะวางขายแค่ 1 เดือนก็แฮปปี้มากแล้ว

“ต่อมาเราไปเจอโรงคั่วกาแฟเล็ก ๆ ที่เชียงใหม่ ชื่อ Third Place เราเอากาแฟของเขามาทำเป็นไอศกรีมกาแฟเบสนม สิ่งที่พิเศษคือในเนื้อบิสกิตจะมีถั่วแมคคาเดเมีย ซึ่งถั่วนี้มาจากวิสาหกิจชุมชนเชียงรายที่ทำไร่กาแฟ จึงปลูกแมคคาเดเมียร่วมด้วย เพื่อสร้างร่มเงาให้ต้นกาแฟ” น้ำทิพย์ว่า ก่อนที่น้ำอบจะพูดต่อถึงรสถัดมาที่เปลี่ยนจากช็อกโกแลตพริกที่เล่าไปตอนต้นให้เป็นช็อคโก้คุกกี้ที่ไอเดียยังคงดีงามไม่แพ้กัน

“รสช็อคโก้คุกกี้ มาจากการที่คนอยากกินไอศกรีมช็อกโกแลต ซึ่งเรามีแต่ช็อกพริก มันเป็นความรู้สึกผิดของตัวเองและอยากหาทางลง (หัวเราะ) เราคิดว่าจะทำช็อกโกแลตยังไงดี ตอนนั้นพยายามหา Food Waste ในครัวไอศกรีมว่าทำอะไรได้บ้าง เพราะยังมีวัตถุดิบที่ยังกินได้ แต่หน้าตาอาจไม่สวย ซึ่งสิ่งนั้นคือบิสกิตที่แตกไปแล้วในการขนส่งจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ เราเลยลองเอาบิสกิตที่แตกนี้ไปใส่ในไอศกรีมดาร์กช็อก ออกมาเป็นช็อคโก้คุกกี้ ซึ่งพอเอาพริกออกก็กลายเป็นเมนูขายดีเลย (หัวเราะ)”

ทั้งลูกค้าและเจ้าของได้ออกไอเดียกันตามอัธยาศัย

แม้ว่า kintaam จะเป็นร้านไอศกรีมแซนด์วิชที่ปรับเปลี่ยนตามประสบการณ์และฟีดแบ็กจากลูกค้าที่ได้รับในแต่ละวัน แต่สิ่งหนึ่งที่น้ำอบบอกว่าไม่เคยเปลี่ยนเลย คือเจ้าของร้านอย่างพวกเธอต้องรู้สึกสนุกกับสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้ได้ก่อน แล้วความสนุกนั้นก็จะส่งผ่านไปยังลูกค้าได้อย่างแน่นอน 

“เราเรียนฝั่งอาร์ต ฝั่งดีไซน์มา สิ่งที่อยากให้คนรู้สึกเวลามาร้านเรา คือได้รับพลังงานกลับไป พลังงานนั้นคือความสนุกในการกิน มาเลือกไอศกรีมแซนด์วิช เลือกซอส เลือกท็อปปิ้งหน้าร้าน เป็นประสบการณ์ที่ได้มาร้านนี้ มาเจอรสแปลก ๆ ได้เลือกนั่นเลือกนี่ พอเจอลูกค้าที่แฮปปี้ ตื่นเต้นกับการถ่ายภาพลงสตอรี่ไอจีแล้วแท็กเรามา ในแง่คนทำถือว่าบรรลุแล้ว แต่ถ้าขี้เกียจ Custom แซนด์วิชเอง ให้น้องหน้าร้านคิดก็ย่อมได้ค่ะ (หัวเราะ)”

ความสนุกจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าน้ำอบและน้ำทิพย์ไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ พวกเธอเลยมองว่าการได้ครีเอตเมนูใหม่ในทุกเดือน เป็นเหมือนทำงานกลุ่มที่มีอาจารย์เป็นลูกค้า เช่น เซต AFTER SCHOOL COLLECTION ที่พวกเธอออกแบบไอศกรีมเป็นกล่องสีเทียน 12 รสชาติ 12 สี ได้แรงบันดาลใจมาจากการเปิดร้านใกล้โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นไอเดียที่พวกเธอบอกว่าเหนื่อยมาก แต่สนุกมาก

“อีกขาหนึ่ง เรายังรับออกแบบไอศกรีมแซนด์วิชด้วยนะคะ ใครติดต่อมา ไม่ว่าจะแบรนด์หรืออีเวนต์อะไร เรายินดีมากที่จะได้ทำโจทย์ใหม่ ๆ เช่น มีน้องกลุ่มฉายหนังที่เชียงใหม่เมื่อปีที่แล้ว เขาฉายหนังกลางแปลงเป็นแอนิเมชันฝรั่งเศสที่เราชอบพอดี ชื่อเรื่อง Fantastic Planet แต่เขาไม่มีงบเลย เราก็ไม่เป็นอะไร พี่อยากทำ ก็ทำไอศกรีมแซนด์วิชเป็นคาแรกเตอร์เอเลียนในหนังไปแจกเขา” น้ำอบเล่า 

ยังมีแบรนด์สกินแคร์สวีเดน L:a Bruket ซึ่งเปิดช็อปที่พารากอนและเซ็นทรัล ลาดพร้าว โยนไอเดียมาให้พวกเธอออกแบบไอศกรีมสบู่ พวกเธอจึงตีโจทย์จากกลิ่นของสบู่มาทำไอศกรีม และทำฐานรองสบู่เป็นบิสกิต หรือ Disney+ ก็เคยให้ kintaam ทำไอศกรีมแซนด์วิชตามธีมหนังโรแมนติก ไซไฟ แอคชัน แจกผู้เข้าร่วมอีเวนต์ 400 กว่าคนมาแล้ว

เป็นตัวเองที่ดีขึ้นตามอัธยาศัย

จากคนที่เคยเป็นแค่ลูกค้าร้านไอศกรีม พอมารับบทคนขายเอง พวกเธอพูดพร้อมกันว่าสิ่งที่ต้องคิดเยอะขึ้นและให้ความสำคัญคือ ‘ความสะอาด’ และ ‘การจัดการ’

“เราไม่เคยรู้อะไรเลย เพราะเราไม่ได้เรียนด้านอาหารหรือโภชนาการ การทำไอศกรีมต้องต้มเพื่อฆ่าเชื้อก่อน หรือใส่ถุงมือแล้วจับของกิน เอามือไปจับอย่างอื่นหรือทอนเงินไม่ได้ ความสะอาดเป็นสิ่งที่ต้องเราต้องตระหนักและให้ความสำคัญอยู่ตลอดเวลา 

“ฝั่งหลังบ้านและเรื่องการจัดการก็เป็นองค์ความรู้ที่ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ทั้งการเก็บไอศกรีม เก็บบิสกิตยังไง ทุกอย่างเป็นทักษะที่พวกเราต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด” น้ำทิพย์เล่า แต่เธอก็ย้ำว่าพวกเธอมองเป็นเรื่องสนุกที่ค่อย ๆ แก้ไขปัญหากันไป

เห็นว่าเคยขายดีจนต้องปิดร้านเลยเหรอ – เราถาม

“ใช่ เราลืมไปว่าไม่มีไอศกรีมสำหรับอนาคตแล้ว (หัวเราะ) คือขายจนเกลี้ยง ปกติอาทิตย์หนึ่งจะส่งไอศกรีมมา 2 รอบ พอเปิดมาปุ๊บ ขายดี ยังไม่ถึงวันที่จะส่งอีกรอบเลย ของหมดโดยไม่รู้ตัว เพราะคนเข้ามาเรื่อย ๆ เราก็ยืนขายไปเรื่อย ๆ หันมาอีกทีไม่มีแล้ว 

“เรื่องนี้อาจไม่เกิดขึ้นกับคนที่เรียนด้านธุรกิจมา แต่เราไม่ใช่แบบนั้น พอเกิดเหตุการณ์ขึ้น สิ่งที่ทำได้คือไม่มีอะไรขาย ต้องปิดร้าน ต้องขอโทษลูกค้าไป และตัดสินใจรับคนดูแลหน้าร้านเพิ่มเพื่อย้ายตัวเองไปดูแลระบบหลังบ้าน” 

จากเหตุการณ์นั้น 2 สาวเจ้าของฝากมาถึงลูกค้าทุกท่านด้วยว่า “จะไม่ให้เกิดบิสกิตหมดกะทันหันอีกแล้วค่ะ” 

ไอศกรีมแซนด์วิชของ kintaam ราคา 75 บาททั้งที่ขายในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ น้ำอบบอกว่าเรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เพราะค่าครองชีพของ 2 เมืองนี้ต่างกันอยู่ไม่น้อย แต่พวกเธอก็ยังยืนยันจะขายราคาเดียวกันต่อไป

อนาคตของ kintaam นั้นเรียบง่าย น้ำอบบอกว่าอยากทำสิ่งที่มีอยู่ให้ราบรื่นที่สุดก่อน และยังคงความสนุกไว้แน่นอน แต่ถ้าเป็นไปได้ พวกเธอก็อยากได้โจทย์การทำไอศกรีมแซนด์วิชที่สนุกขึ้น และท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเราเชื่อว่ายังไงพวกเธอก็ได้ทำแน่นอน

อ่านจบแล้ว อย่าลืมตามไปกิน ‘กินตาม’ กันล่ะ!

kintaam สาทร 11
  • สาทร 11 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 11.00 – 20.00 น.
  • kintaam

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ