4 พฤศจิกายน 2023
552

ศาลเจ้าชินโตท่ามกลางสายฝน เป็นภาพที่ชวนให้ผมนึกถึงหนังซามูไรสักเรื่อง ซีนต่อสู้กันระหว่างแก๊งยากูซ่าอันเป็นอริกันมารุ่นสู่รุ่น ตบท้ายด้วยเรือนไม้ทรงสวยจะต้องถูกเผาให้วอดวาย…. ช้าก่อน เรามาที่นี่ไม่ใช่มาหาเรื่องใคร แต่มาขอพรจากพระเจ้าตามพิธี โดยเฉพาะชาวไทยอย่างเราที่ไม่รู้พิธีการใดของญี่ปุ่นทั้งสิ้น แต่คงดีไม่น้อยหากฝนที่กระหน่ำตกอยู่นี้หยุดลง เพราะจะเป็นประโยชน์แก่การถ่ายทำคลิปวิดีโอสั้นของพวกเราเป็นอย่างมาก 

ข้าพเจ้ามองเพื่อนร่วมงานผสมไกด์ทัวร์ชาวญี่ปุ่น 3 คนทำให้ดู เขาโปรยเหรียญ 5 เยนลงไปคนละเหรียญ เป็นเหรียญที่เชื่อกันว่านำโชค โค้งคำนับ 2 ที ปรบมือเสียงดัง 2 ครั้ง แล้วตั้งใจภาวนา ก่อนคำนับ 1 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี  

ง่ายดี คงไม่ยากเกินไป ตาข้าพเจ้ามาถึง จึงหยิบเหรียญ 5 เยนด้วยความทุลักทุเล เพราะยังไม่ชินกับเสื้อยูกาตะ ผ้าตรงแขนมันจะหย่อน ๆ เหมือนปีกแมลงวันไม่ก็ผีกระหัง พอหยิบเหรียญออกมาได้ก็โปรยออกไปด้วยความหาญกล้า พลางตั้งจิตอธิษฐานขอให้ฝนหยุดตก

แก๊ง ๆ 

โอ้ เหรียญที่โยนไปไม่ลงกล่อง แถมยังกระเด้งหลุดเข้าไปในตัวศาลเจ้าอีกต่างหาก

แต่ทำไงได้ เราเป็นคนไทยนี่ พระเจ้าคงไม่คิดอะไรมากหรอก ฮ่า ๆ

ตู้ม ฝนกระหน่ำหนักกว่าเดิมจนร่มแทบหักปลิวขึ้นฟ้า ถ้ามีคำถามว่าใครทำพระเจ้าพิโรธล่ะก็ คนไทยคนนี้เองแหละคร้าบ

นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น
นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น

ผมเดินทางมาประเทศญี่ปุ่นด้วยโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัย ตามกำหนดแล้วแก๊งชาวไทยรวมกว่า 30 ชีวิตแยกย่อยไปแต่ละโครงการ คือโครงการหนังสั้น โครงการเขียนโปรแกรม โครงการวางแผนธุรกิจ โครงการออกแบบเว็บไซต์

ผมมาในฐานะโครงการหนังสั้น ต้องอยู่ที่ฮอกไกโดเป็นเวลารวมการเดินทางแล้ว 10 วัน จากนั้นแก๊งญี่ปุ่นจะเดินทางไปไทยสิริรวม 10 วันเช่นกัน 

เมื่อเดินทางมาถึง เราต้องคิดและออกแบบกันว่าจะถ่ายทำวิดีโอสั้นเกี่ยวกับอะไร จะถ่ายออกมาแบบไหน ด้วยระยะเวลาอันจำกัด เราจึงจะถ่ายสิ่งที่ง่ายที่สุด 

นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น

นั่นคือ ยูกาตะ และ ไทยอมรินทร์ ชุดประจำชาติของญี่ปุ่นและของไทย 

แต่มันง่ายที่สุดจริง ๆ หรือเปล่า เพราะเอาเข้าจริง กำหนดการโครงการทำงานร่วมกันในห้องเป็นหลัก มีเวลาออกไปถ่ายจริง ๆ แค่ 3 วัน และด้วยประการไฉนไม่ทราบ แก๊งญี่ปุ่นจึงวางตารางให้พวกผมว่าถ่ายแค่วันเดียว ส่วนที่เหลือเดี๋ยวพาเที่ยว ความที่ผมบ้างานและอยากได้วิดีโอที่เพอร์เฟกต์ที่สุด พอได้ยินอย่างนั้น ผมจึงตอบกลับไปว่า “โอเคเลยครับพี่ เน้นเที่ยวกันเถอะ มาญี่ปุ่นทั้งที ตอนยูไปไทย ไอก็จะพาถ่ายแค่วันเดียวเซม ๆ ดีล”

นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น

เราเดินทางมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ที่เมืองโอตารุ เมืองนี้เคยเป็นถิ่นของชาวไอนุ เชื่อกันว่าชื่อเมืองก็มาจากภาษาของชาวไอนุ อาจหมายความว่า ‘แม่น้ำที่ไหลผ่านทราย’

เมืองโอตารุตั้งอยู่ในซัปโปโร กิ่งจังหวัดชิริเบชิ สมัยก่อนเป็นท่าขนส่งของ เพราะมีคลองไหลผ่านกลางเมือง ตัวเมืองประดับตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรียผสมกับญี่ปุ่น มีโคมไฟเรียงรายและร่องรอยหินตามแนวสะพานที่เห็นได้ชัดเจนว่ามาจากฝรั่ง ตัวเมืองตั้งไหลยาวไปจนถึงพื้นที่ลาดภูเขา ชื่อว่า ภูเขาเท็งงุ (เท็งงุยามะ) ซึ่งตัวบ้านที่ตั้งอยู่ทางลาดเขา เรียกว่า ซากะ โนะ มาจิ แปลว่า เมืองบนเนินเขา และเขาเท็งงุเองก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของซัปโปโรที่ผู้คนนิยมมาเล่นสกี อีกทั้งยังเป็นที่ถ่ายหนังชื่อดังอย่าง Love Letter และหนังไทยอย่าง แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว

ที่นี่มีของขึ้นชื่ออย่างเบียร์โอตารุ ซูชิซึ่งได้ชื่อว่าสดที่สุดเพราะเมืองเป็นท่าเรือ นิชินโกเต็ง อาคารไม้เก่าแก่ อดีตบ้านเจ้าของอุตสาหกรรมจับปลาเฮร์ริง และยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องแก้วที่ดังมากอย่าง Music Box Museum พิพิธภัณฑ์รวมกล่องดนตรีใหญ่ที่สุด

“โอตารุเป็นจังหวัดที่สวยงามมากตามที่กล่าวไปข้างต้น และถ้ามาช่วงฤดูใบไม้ผลิล่ะก็ ถนนโอตารุจะเต็มไปด้วยไม้ดอก สวยงามมาก ซึ่งไม่ใช่วันนี้ แต่ยังไงก็สนุกอยู่ดีนั่นแหละ ถ้าโชคดีฝนไม่ตกน่ะนะ…”

เกจิ เพื่อนผมกล่าว ก่อนที่จะ ตู้มมมมม ฝนตกจนร่มปลิวขึ้นข้างบน – ขอบคุณสำหรับคำอวยพร

เราเดินออกมาจาก Tourist Information Center เป็นจุดประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยว และมีโบรชัวร์แจกฟรีให้หยิบมากกว่า 100 ชิ้น คละรวมทั้งสถานที่เที่ยวทั่วประเทศ ลายเซ็นของ Sakanaction วงดนตรีชื่อดังที่บ้านเกิดอยู่ที่นี่ และของกระจุกกระจิกตามสไตล์ 

ข้างหน้ามีรูปปั้นหมานามว่า ‘บุนโค’ เจ้าบุนโคนั้นมีที่มา ตอนเด็ก ๆ มันได้รับความช่วยเหลือจากกองเพลิงโดยสถานีดับเพลิงเมืองโอตารุ จากนั้นเหล่านักดับเพลิงก็ช่วยกันเลี้ยงดูบุนโคจนเติบใหญ่ มันมักกระโดดขึ้นรถดับเพลิงติดสอยตามไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยจนกลายเป็นไอดอล บุนโคอายุยืนถึง 24 ปี หลังจากเสียชีวิต ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างอนุสรณ์แสดงถึงความกล้าหาญ โดยบุนโคจะเปลี่ยนเสื้อผ้าตามฤดูกาล ถ้าวันไหนหิมะตกก็จะมีคนนำเสื้อกันหนาวมาใส่ให้

นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น

หันหน้าออกไปทางคลองโอตารุ อันเป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปกันเต็มไปหมด พวกผมกะว่าจะแวะมาดูขากลับ แต่ด้วยเวลากระชั้น ต้องรีบขึ้นรถ จึงพลาดไปดูอย่างน่าเสียดาย

เราเดินเท้ามากินข้าวกันก่อน ร้านที่เลือกกันล่วงหน้าเป็นร้านโซบะชื่อดัง อยู่ในอาคารไม้เลื้อยขึ้นไปอย่างสวยงามราวกับหลุดออกมาจากการ์ตูนจิบลิ เมื่อไปถึง ปรากฏว่าคนเต็ม แก๊งญี่ปุ่นจึงสุ่มเลือกร้านอื่นในบริเวณนั้น 

พอเปิดประตูเข้าไป ลมเย็นจากเครื่องปรับอากาศปะทะเข้าหน้า และกลิ่นควันจาง ๆ ของซุปก็ลอยเตะจมูก ในร้านเป็นที่นั่งบาร์เล็ก ๆ ไม่เกิน 8 ที่ ทำด้วยไม้ และมีน้ำดื่มบริการด้วยตัวเอง เจ้าของร้านเป็นคุณลุงวัยประมาณ 70+ กล่าวต้อนรับพวกเราชาวไทย 3 คน ชาวญี่ปุ่น 3 คน เมื่อเห็นว่าเราขอดูเมนูภาษาอังกฤษซึ่งทางร้านเตรียมไว้เสร็จสรรพ ทันใดเจ้าของร้านก็รัวภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันใส่ทันที

ผมเลือกซุปมิโสะอันเรืองนามแห่งฮอกไกโด รสชาติประกอบกับการได้นั่งมองลุงและภรรยาช่วยกันปรุงให้เรา เป็นภาพเคล้ากลิ่นหอมของซุปกับความหิวจนไส้จะขาด ผสมกันเป็นความลงตัวที่อิ่มเอิบ

“ขอบ คุง คับ”​ ลุงเจ้าของร้านกล่าว

นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น
นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น

เราเดินมาถึงร้านขายเครื่องเรือน จาน ถ้วยกระจก คนไทยมองหน้ากันสักพักก่อนถามแก๊งญี่ปุ่นว่าเรามาทำอะไรกันที่นี่ ก่อนจะได้ความว่า “เช่าเสื้อยูกาตะไง”

พอหันไปก็พบว่ามีบันไดที่ซุกซ่อนอยู่ข้าง ๆ ร้านเครื่องเรือน เราเดินขึ้นไปชั้น 2 โถงทางเดินเป็นเหมือนตึกสำนักงานของ โมริ โคโกโร่ ขนาดประตูในร้านยูกาตะก็ยังเหมือน เมื่อเข้าไปข้างใน สิ่งที่น่าอัศจรรย์ตาก็คือ ทั้งร้านเต็มไปด้วยยูกาตะ กิโมโน และมีคุณป้าท่าทางใจดี 2 คนรอต้อนรับอยู่

นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น

เมื่อเราเลือกลายยูกาตะที่อยากสวมใส่ได้แล้ว คุณป้า 2 คนก็จะรุมสกรัม (จับแต่งตัวดี ๆ) แบบแทบไม่ทันตั้งตัว จัดนู่น รัดนี่ ถกเถียงกันเองอยู่ 2 คน รู้สึกตัวอีกทีร่างกายเราก็ห่อหุ้มด้วยลายผ้าประจำชาติญี่ปุ่นแล้ว การใส่ยูกาตะชายไม่ยากเท่าไรครับ แค่จับผ้ามาสวมให้เท่ากัน 2 ฝั่ง นำด้านซ้ายทับด้านขวา ผูกเชือกรัดเอว แล้วทับด้วยโอบิ จัดปกคอให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จพิธี 

นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น

ส่วนผู้หญิงต้องไปทำผมก่อน คนผมยาวก็มัดเป็นหางเปียแล้วม้วนเก็บขึ้นไป จะได้ปักปิ่นดอกไม้ สำหรับคนผมสั้นอาจจะเหน็บไว้ข้างหูแทน จากนั้นก็สวมยูกาตะให้เท่ากัน พันจากด้านซ้ายทับด้านขวา ผูกเชือกรัดเอว แล้วทับด้วยโอฮาโชริ จัดผ้าตรงปกคอ ดึงผ้าใต้อกให้ตึง แล้วค่อยทับด้วยโอบิ ทุกอย่างดูเข้ากันหมดเลย ตั้งแต่ปิ่นปักผม ลายยูกาตะ และลายบนเชือกเส้นแรกถึงเส้นนอกสุด แถมโอบิของผู้หญิงจะผูกเป็นริบบิ้นยักษ์ไว้ด้านหลัง น่ารักกว่าของผู้ชายด้วยนะครับ

นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น

ชุดประจำชาติญี่ปุ่นมี 2 แบบที่คล้ายกัน คือ ยูกาตะ กับ กิโมโน ต่างกันตรงที่ยูกาตะไม่มีซับในเพราะออกแบบมาให้ใส่ช่วงฤดูร้อน ส่วนกิโมโนสำหรับช่วงฤดูหนาวหรือฤดูไหนได้ เขารณรงค์ให้ใส่ชุดประจำชาติมาช้านาน รวมทั้งออกแบบให้ใส่ได้ทุกสถานการณ์อยู่แล้ว กิโมโนมักใส่ในพิธีการเลิศ ๆ พวกพิธีจบการศึกษา งานแต่ง เป็นชุดพิธีการเต็มยศ ส่วนยูกาตะนิยมใส่กึ่งพิธีการ อย่างใส่ไปเทศกาลฮานาบิหรือเทศกาลดอกไม้ไฟ 

นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น
นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น

หลังแต่งชุดประจำชาติญี่ปุ่น เราเดินลงไปด้วยความรู้สึกพองโตว่า ข้าพเจ้ามิใช่ไกจิหรือคนนอกแล้ว ภูมิอกภูมิใจว่าเป็นคนญี่ปุ่น เสมือนกรีดเลือดสาบานเป็นพลพรรคกับยากูซ่า เราเดินไปตามทางยังจุดหมายคือศาลเจ้าสุมิโยชิซึ่งไม่ห่างจากจุดที่เรามาเช่ามาก แต่บอกเลยว่าเจ้ารองเท้าไม้เกตะนี้ใส่เดินไม่ชินอย่างแรง ใส่นานเจ็บเท้าด้วย เพราะทำมาจากไม้ทั้งหมด ไม่มีเบาะนุ่มนิ่มแบบรองเท้าทั่วไป (รู้งี้ใส่กิโตะดีกว่า ยี่ห้อนามญี่ปุ่นแบรนด์ไทย คนญี่ปุ่นมาเห็นยังต้องงง) ผ้ายูกาตะก็รัดให้ฉีกแข่งฉีกขาไม่สะดวกเท่ากางเกงปกติ แถมยังต้องกางร่มตลอดเวลา แต่เอาเถอะ สนุกดี วิบากกรรมคือบทเรียน 

ศาลเจ้าที่เราไปคือศาลเจ้าชินโต เป็นหนึ่งในศาสนาในญี่ปุ่น สร้างขึ้นโดยนักบวชเมื่อ พ.ศ. 2411 ภายในมีไฮไลต์คือประตูสีแดง หรือ โทริอิ เป็นสัญลักษณ์บอกขอบเขตของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะเข้าศาลเจ้าควรโค้งเคารพก่อนเดินผ่านประตูเข้าไป ในศาลเจ้ามีโทริอิเรียงรายซ้อนขึ้นไปตามทางเดินลาดชัน 

อาคารเก่าแก่สุดคือศาลเจ้าไว้ทำพิธี ซึ่งไม่เปิดให้เข้าไป มีกล่องรับเหรียญบริจาคตั้งเอาไว้ตรงทางเข้า ผมโปรยเหรียญ 5 เยน แล้วภาวนาให้ฝนหยุดอีกครั้ง (หลังจากที่รอบก่อนมันเด้งออก) ข้าง ๆ กันเป็นอาคารสำหรับอยู่อาศัยของนักบวช คล้ายกับกุฏิที่วัด ผมได้ลองจับใบเสี่ยงทาย คล้าย ๆ เซียมซีบ้านเรา แล้วหยิบมาแกะดูคำทำนาย อันตัวกระผมก็ไม่แน่ใจนักว่าที่หยิบได้เพราะเป็นตามที่ทำนาย หรือมันสุ่มติดมือขึ้นมาอย่างบังเอิญ เพราะผมหยิบได้คำว่า โชคดีที่สุด 

แต่แล้วก็… ตู้มมมมมมมม ฝนตกตกหนักแบบที่แม้แต่ร่มกันฝันยังต้องร้องขอชีวิต ประจวบเหมาะกับที่ข้าพเจ้าโยนเหรียญไม่ลงกล่อง พระเจ้าคงพิโรธหนัก แต่ทำไงได้ The show must go on. การถ่ายทำระบุไปแล้วว่าแค่วันนี้ ก็เลยต้องดันทุรังถ่ายทั้ง ๆ ฝนถล่มหนัก โดยผมกับ ยู เป็นตากล้อง ที่เหลือเป็นตัวแสดง แต่กลายเป็นตัวแสดงที่ต้องมากางร่มให้ตากล้อง เพื่อจะได้ถ่ายต่อไปได้

วิบากกรรมเจแปน ยูกาตะ และร่มกันฝน 

หลังถ่ายที่ศาลเจ้าเสร็จ ไหว้ขอพรให้ฝนหยุดแต่ตกหนักกว่า แวะร้านเครื่องรางซึ่งเขาไม่ให้ถ่ายรูป แล้วเพื่อนผมก็หันมาถามว่าจะไปต่อหรือพอเท่านี้ ผมที่คิดเสียดายค่าเช่ายูกาตะคนละ 3,000 เยน เป็นเงินไทยประมาณ 700 บาท เช่ามาใส่ชั่วโมงเดียวคุ้มที่ไหน จึงตัดสินใจถ่ายทำต่อ แต่ฝนก็ยังคงกระหน่ำเทลงมา หลังจากนั้นพวกเราจึงต้องใช้บริการแท็กซี่เพื่อเดินทางกันต่อ 

นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น
นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น

สถานที่ต่อมาที่พวกเรามาถึงคือพิพิธภัณฑ์กล่องดนตรี ที่นี่ต้อนรับเราด้วยกล่องดนตรีประสานเสียงเสนาะหู เมื่อก้าวเข้าไปข้างใน ที่นี่มีกล่องดนตรีหน้าตาหลากหลาย ทั้งแบบที่เคยเห็นกันทั่วไป กล่องรูปเจ้าหญิง สัตว์ เครื่องแหวนเงินทอง กล่องดนตรียักษ์ขนาดเท่าคนจริง (เวอร์) และอีกมากมาย ที่สำคัญ ในร้านใช้ไฟ LED สว่างจ้า เป็นมิตรกับ White Balance ถ่ายออกมาแล้วหน้าไม่เหลืองแน่นอน

นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น

ไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์นี้คือหอนาฬิกาทรงยุโรป ทุกครั้งที่เข็มยาวชี้เลข 12 จะมีไอควันพ่นขึ้นมา พวกเราลงจากรถตอนอีกประมาณ 20 นาทีเศษก็จะได้เห็นไอพ่น เราจึงเดินเข้าไปในร้านเพื่อถ่ายทำกันต่อในคอนเซปต์ยูกาตะและการช้อปปิ้ง

ในร้านมี 3 ชั้น ชั้น 1 เต็มไปด้วยกล่องเครื่องดนตรีหลากพันชนิดดังที่กล่าว ชั้น 2 เป็นของจิปาถะมากมาย ที่คั่นหนังสือเอย ของประดับผู้หญิงอย่างต่างหู ชั้น 3 เป็นไฮไลต์น่าประทับใจ นั่นคือ กล่องดนตรี Collab จิบลิ!!

แม้จะรู้ว่าเราต้องรีบไปดูนาฬิกาพ่นไอน้ำเพื่อจะได้เก็บฟุตเทจ แต่ข้าพเจ้าก็ยังเว้าวอนให้ชาวแก๊งไทยและญี่ปุ่นว่าขอ 5 นาที แต่คุณก็พอจะเดาได้ใช่มั้ยครับว่ามันเป็นไปได้หรอก 5 นาที เมื่อเราต้องไปเจอกับของสะสมจากหนัง การ์ตูนที่เราชอบ ดวงตาผมลุกวาวไปกับของสะสมมากมาย กล่องดนตรีเพลงจิบลิ ตะเกียบโตโตโร่ ร่มแมวจาก แม่มดน้อยกิกิ เสื้อโตโตโร่ ตุ๊กตาจากการ์ตูนเครือจิบลิ

นักทดลองทำหนังจากเมืองไทยเยือนฮอกไกโด หยิบยูกาตะ-ชุดไทยอมรินทร์ มาเล่าผ่านหนังสั้น

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นความอลังการของแฟนพันธุ์แท้จิบลิแน่นอน แต่ถึงอย่างงั้นผมก็ไม่ได้ซื้ออะไรมาเลย เพราะผมเชื่อว่าการเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นความทรงจำย่อมเป็นเสน่ห์อันหอมเย้ายวนให้หวนคิดถึงได้ดีกว่าการมีสิ่งของไว้ดูต่างหน้า เหมือนหนังเรื่อง Before Sunrise ที่พระเอก-นางเอกได้เจอกันแต่เลือกเก็บความทรงจำเอาไว้ สัญญากันปากเปล่าโดยไม่แลกเบอร์โทรหรืออีเมล มีแค่ความทรงจำเตือนว่าจะมาเจอกันสถานีนี้อีกครั้ง

พูดไปงั้นแหละ จริง ๆ คือมันแพง ไม่มีตังค์

เมื่อเราเดินลงมาข้างล่างด้วยสภาพที่ยากลำบาก เพราะบันไดไม้เก่าที่แม้จะผ่านการบำรุงใหม่เรื่อย ๆ แต่ก็แสนชัน บวกกับเกี๊ยะเดินก๊อบแก๊บไม่ชินเท้าคนไทยผู้ใส่ช้างดาวมาตลอดชั่วชีวิตอย่างผมก็เป็นวิบากกรรมพอตัว 

และเป็นอย่างที่คาดเดาได้ เมื่อเราออกมา เจ้านาฬิกาก็พ่นไอน้ำระเหยหายไปเรียบร้อยแล้ว สายฝนยังคงกระหน่ำสาดซัดไม่บางเบา ไม่อ่อนโยน (คงจะโกรธไกจินอย่างผมมากสินะที่โยนเหรียญไม่ลงกล่อง!!)

พวกเราเดินกางร่มฝ่าฝนเพื่อจะไปยังร้านขนมชื่อดังเพื่อถ่ายฉากกินขนมกัน ขนมที่เรียกได้ว่าเป็นร้านขึ้นชื่อโอตารุ ใครได้มาสมควรจะได้ลอง แต่ว่า ‘ร้านปิด’ – โอเค…

ด้วยเวลาที่เหลือไม่มากแล้ว กว่าจะไปคืนชุด กว่าจะเดินไปยังจุดนัดพบ ความตรงเวลาของชาวญี่ปุ่นก็เตือนสติเราว่า กลับไปคืนชุดกันเถอะ เราจึงกลับกันไปตามนั้นด้วยแท็กซี่เหมือนเคย

สายฝนซาลงเมื่อเรามาถึงร้านเครื่องเรือนแก้วอันมีบันไดซ่อนเล็ก ๆ อยู่ตรงมุมเสาให้เดินขึ้นไปชั้น 2 โถงทางเดิมคุ้นตาที่เพิ่งจากมาตอนกลางวัน เสียงรองเท้าเกตะ 6 คู่ดังก๊อบแก๊บ ตามทางเดินเล็ก ๆ ที่ไม่ว่ายังไงสภาพก็เหมือนออฟฟิศโมริ โคโกโร่ ประตูเปิดออกพร้อมกับคุณป้า 2 คนที่เพิ่งรุมสกรัมแต่งชุดให้เราโผล่ออกมาพร้อมรอยยิ้ม

“โอคาเอริ (ยินดีต้อนรับกลับ)” พวกเขาบอกเราแบบนั้น

“ทะไดมะ (กลับมาแล้วครับ)” เราชาวไทยและชาวญี่ปุ่นส่งเสียงตอบรับกลับไป

นี่คือความทรงจำครั้งหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสเดินด้วยรองเท้าที่เจ็บเอาการ กับชุดที่ใส่ลำบากและเดินยาก แต่ใส่แล้วกลับรู้สึกเท่อย่างประหลาด เป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่งผมได้ร่วมพูดคุยและออกแบบการถ่ายทำด้วยเวลาอันจำกัดกับคนต่างชาติซึ่งขึ้นชื่อความเป็นระเบียบ ณ ประเทศในฝันของใครหลายคน รวมถึงผมเอง เป็นมิตรภาพที่ก่อตัวระหว่างการผจญภัยครั้งใหญ่ในชีวิต และได้เรียนรู้ถึงความงดงามของชีวิต แม้ว่าจะถูกกีดกันด้วยภาษา แต่มนุษย์ก็พยายามและไม่หยุดสื่อสารจนเข้าใจกัน 

หลังจากคืนชุดแล้วกลับไปยัง Ebisu มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นที่เราชาวไทยมาอาศัย เราก็ไปร้านอาหารที่มีบุฟเฟต์แอลกอฮอล์กับชาวญี่ปุ่น คัมปายกันเละกันเลยจ้า ความมันจากนั้นก็คือ หอในปิด 5 ทุ่ม และเรากินเสร็จกันตอน 4 ทุ่มครึ่ง

วิ่งสิเอ๋ วิ่ง!

มันคือการเรียนรู้ที่จะพบเจอและลาจาก รู้จักทดลองและรู้ผล รู้จักเข้าใจและปล่อย รู้จักพบและไม่ผูกพัน

แก๊งญี่ปุ่นสอนอะไรหลายอย่างให้แก๊งชาวไทย เมื่อถึงตาที่แก๊งญี่ปุ่นต้องไปไทย ก็เป็นทีของพวกเรา

พูดก็พูดเถอะ ชุดไทยที่พวกแกต้องใส่เพื่อถ่ายงาน โดยกำหนดว่าเป็นอยุธยาน่ะ เอ็งตายแน่ เพราะแดดไทยร้อนกว่า 32 องศาเซลเซียส เตรียมใจไว้เถอะ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ปฏิพัทธิ์ อัคราพูนรัตน์

นักทดลองทำหนัง ทดลองวาด ทดลองเขียน ทดลองถ่าย อีกหน่อยอยากจะทดลองกลั้นหายใจใต้น้ำสัก 3 ชั่วโมง