“เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” – ใคร ๆ ก็ไม่ปฏิเสธ

หนังสือเล่มนี้ส่งถึงมือเราตอนอายุ 18 ปี เปิดอ่านครั้งแรก ทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจว่าชีวิตวัยรุ่นจะลำบากปานนั้นเชียว ผ่านไป 7 ปี เราได้กลับมาทบทวนเนื้อหาอีกครั้ง และค้นพบว่าตัวเองพยักหน้าให้กับทุกเรื่องที่ คิมรันโด (Kim Rando) ผู้เป็นทั้งคุณพ่อ อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ที่ปรึกษาดีเด่น และนักเขียนชาวเกาหลีใต้ว่าเอาไว้

แต่ถึงแม้จะพยักหน้าตามจนหัวเกือบหลุด บางเรื่องก็ยังปรับหัวใจให้ปล่อยวางหรือปล่อยไหลไปตามจังหวะชีวิตไม่ได้อย่างที่ผู้เขียนแนะนำ วัยรุ่นทั้งโลกยังคงเจ็บปวดและเจ็บปวดมากกว่าเก่าด้วยบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป น่าสงสัยว่าทำไมหนังสือที่ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อเป็นคู่มือให้กับหนุ่มสาวที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกใบใหญ่อันแปรปรวนถึงยังขายดี ทำไมมันจึงอยู่เหนือกาลเวลา ตีพิมพ์มากถึง 52 ครั้ง และเผยแพร่ไปกว่า 16 ประเทศ 

คิมรันโด (Kim Rando) นักเขียน คุณพ่อ อาจารย์ เจ้าของ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ หนังสือเหนือกาลเวลาที่ตีพิมพ์กว่า 52 ครั้ง

ทำไมความคิดของชายวัย 45 ปีในตอนนั้น และชายวัย 60 ปีที่กำลังผลิบานในตอนนี้จึงไม่ล้าสมัย ทำไมเขายังเข้าใจวัยรุ่นและยิ่งเข้าใจมากขึ้นในวันที่นาฬิกาชีวิต 24 ชั่วโมงเดินหน้ามาถึงชั่วโมงที่ 18 แล้ว

ครั้งนี้นับเป็นโอกาสพิเศษที่เราได้พูดคุยและหาคำตอบเป็นการส่วนตัวกับอาจารย์คิมรันโด โดยเรารับบทเป็นวัยรุ่นอายุ 25 ที่ขาข้างหนึ่งอยู่บนฝั่ง ส่วนอีกข้างอยู่บนเรือที่พร้อมล่องสู่โลกกว้าง ส่วนเขารับบทเป็นทั้งคุณพ่อ คุณน้า อาจารย์ พี่ชาย นักเขียน และผู้รับฟังที่กำลังจะให้คำปรึกษาเรา

คิมรันโด (Kim Rando) นักเขียน คุณพ่อ อาจารย์ เจ้าของ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ หนังสือเหนือกาลเวลาที่ตีพิมพ์กว่า 52 ครั้ง
คิมรันโด (Kim Rando) นักเขียน ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’

เพราะวัยรุ่นยังคงเจ็บปวด

หมายเหตุ : คิมรันโดอธิบายเรื่องนาฬิกาชีวิตเอาไว้ โดยเปรียบอายุมนุษย์ 80 ปีเท่ากับเวลา 1 วัน เพื่อจะได้ทราบว่าชีวิตเดินทางมานานแค่ไหนและเหลือเวลาอีกเท่าไร เช่น คิมรันโดเขียนหนังสือเล่มนี้ตอนอายุ 49 ปี นาฬิกาชีวิตของเขาชี้อยู่ที่ 14.24 น. และสำหรับวัยรุ่นอายุ 20 ปี พวกคุณเพิ่งตื่นนอนตอน 6 โมงเช้า โดยมีเวลาเหลือถึง 18 ชั่วโมง ส่วนคนอายุ 30 ปี พวกคุณกำลังเริ่มงานตอน 9 โมงเช้าเท่านั้น

ตอนเราอายุ 18 ยังอ่านไม่ค่อยเข้าใจ แต่พออายุ 25 กลับเข้าใจทุกอย่าง เรื่องอายุเกี่ยวข้องกับจุดเริ่มต้นในการเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยไหม

ขอบคุณที่กลับมาอ่านนะครับ (ยิ้ม) มีหลายส่วนที่ทำให้ผมเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ แต่ส่วนสำคัญคือนักศึกษาคนหนึ่งที่อายุใกล้กับคุณ เขาอายุ 24 ปี เรียนอยู่ชั้นปี 4 กำลังจะจบแล้ว แต่ไม่วางแผนอะไรในชีวิตล่วงหน้าเลย เขามาปรึกษาผม ผมเลยรู้สึกว่าเรื่องนี้ควรจะหยิบมาเขียนเป็นหนังสือ

สำหรับคุณ อายุสำคัญกับชีวิตอย่างไร

แต่ละช่วงอายุมีสิ่งที่ต้องทำแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เด็กอายุ 20 รู้สึกมากที่สุด คือเรื่องความเจ็บปวดที่ยังไม่มีอะไรเลย ไม่ได้เตรียมอะไรไว้ ชีวิตยังไม่ไปไหนทั้งที่บรรลุนิติภาวะแล้ว พวกเขาจึงกลัวและประหม่า แต่หากมองดี ๆ อายุ 30 – 60 ก็ยังมีเวลาอีกมากที่จะปรับตัว

คิมรันโด (Kim Rando) นักเขียน คุณพ่อ อาจารย์ เจ้าของ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ หนังสือเหนือกาลเวลาที่ตีพิมพ์กว่า 52 ครั้ง

ในระบบการศึกษา อายุมีส่วนต่อความรู้สึกของวัยรุ่นที่เรียนจบช้ากว่าเพื่อน ยิ่งโตยิ่งเจ็บปวดกว่าไหม

หากมองด้วยนาฬิกาชีวิตในมุมกว้าง ชั้นปีที่แตกต่างกันมีเรื่องให้กังวลหรือเจ็บปวดต่างกันเล็กน้อย ที่เกาหลี นักศึกษาชายต้องไปเกณฑ์ทหารทั้งที่ยังเรียนอยู่ พวกเขาจึงเรียนช้าไป 2 ปี จบตอนอายุ 27 – 28 และที่นั่น การเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญมาก หากสอบไม่ติด เด็ก ๆ จะพยายามสอบใหม่ 2 – 3 ครั้งไปเรื่อย ๆ คนส่วนใหญ่จึงเรียนจบตอนอายุเลย 24 ไปแล้ว

ผมอยากบอกกับเด็กทุกคนว่าตัวเลขไม่ใช่เรื่องใหญ่หากเทียบกับทั้งชีวิต

คุณอายุ 25 ปีใช่ไหม

ใช่ค่ะ

คุณกลัวอะไรไหม อายุ 25 ปีแล้ว แต่บางทีอาจรู้สึกว่ายังไม่ค่อยได้ทำอะไรเลย

ไม่ถึงกับกลัว แต่ก็มีคิด ๆ บ้างค่ะ

ดีครับ คุณอายุ 25 ปี มันเพิ่ง 7 โมงครึ่งเอง ผมแค่อยากบอกว่าคุณไม่จำเป็นต้องกลัวอะไรในอายุเท่านี้ สิ่งที่ควรทำในแต่ละวันไม่ใช่ต้องดูว่าเราจะทำอะไรแล้วสำเร็จ แต่ต้องดูว่าจะเตรียมตัวเพื่อจบวันที่เหลืออย่างไรมากกว่า แต่คนอายุ 20 มักคิดในมุมนี้ไม่ออก เขาเลยมองว่าอายุ 25 คือเวลาทั้งหมด 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่ เราควรเทียบอายุกับนาฬิกาชีวิตมากกว่า

คุณเขียนหนังสือเล่มนี้ตอนอายุ 49 ปี นาฬิกาชีวิตอยู่ที่ 14.24 น. ตอนนี้คุณอายุ 60 เวลา 18.00 น. ชีวิตที่ผ่านมาทำให้มุมมองของคุณเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าปัญหาในชีวิตหรือความเจ็บปวดที่อยู่ในความรู้สึกไม่ค่อยแตกต่างกันถึงแม้เวลาจะผ่านไป ผมแน่ใจมากขึ้นด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เคยคิดและเขียนลงไปเป็นแบบนั้นจริง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงไหน

ถ้าพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงในสังคม 10 ปีที่ผ่านมา มีอะไรที่ส่งผลต่อความเจ็บปวดของผู้คนบ้าง

ในช่วง 10 ปีนี้ การใช้โซเชียลมีเดียค่อนข้างรุนแรงและกระจายมากขึ้น ที่เกาหลี ชีวิตผู้คนเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ ทุกคนหยิบโทรศัพท์มาสื่อสารกับเพื่อน เลยเกิดการเปรียบเทียบกันระหว่างตัวเรากับคนอื่นมากขึ้น อย่างสมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย เราจะเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนในห้องหรือพนักงานในออฟฟิศ แต่ตอนนี้มันกว้างกว่านั้น เราเข้าถึงคนที่ไม่รู้จัก ยิ่งทำให้เราด้อยค่าตัวเองลงเรื่อย ๆ 

อีกเรื่องคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจซึ่งเป็นกันทั่วโลก จนถึงปี 2010 เศรษฐกิจค่อนข้างมั่นคง เป็นช่วงที่ทำให้วัยรุ่นหรือคนที่กำลังจะก้าวเป็นผู้ใหญ่ค่อนข้างหางานง่าย แต่ถ้ามองย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเปลี่ยนไปและไม่มั่นคง จึงเกิดความไม่เสถียรเรื่องการงาน หาเงินก็ยากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองจากมุมของเยาวชน เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อนกลับกลายเป็นว่าเขาทำสิ่งเดียวกันกับผู้ใหญ่สมัยก่อน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เท่ากันด้วยปัจจัยเหล่านี้

ดังนั้น 10 ปีที่ผ่านมา ความเจ็บปวดที่วัยรุ่นรู้สึกไม่ได้น้อยลงเลย กลับกลายเป็นเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะหลายอย่างด้วยซ้ำ

คิมรันโด (Kim Rando) นักเขียน คุณพ่อ อาจารย์ เจ้าของ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ หนังสือเหนือกาลเวลาที่ตีพิมพ์กว่า 52 ครั้ง

เพราะวัยรุ่นคือช่วงเวลาที่ทุกคนเคยผ่านมา

คุณเขียนหนังสือและให้คำปรึกษาลูกศิษย์เกี่ยวกับปัญหา เคยเบื่อหรือไม่อยากพูดถึงเรื่องความเจ็บปวดหรือความโดดเดี่ยวบ้างไหม

ไม่เคยเลยครับ เพราะถ้าลองมองมุมกลับว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว คนที่เรารัก เราจะไม่มีทางเบื่อที่จะพูดเรื่องนี้ กลับกลายเป็นว่าเรารู้สึกอินไปกับปัญหาของเขา แล้วอยากจะคุย อยากให้คำปรึกษามากกว่า

เคยมีช่วงที่คุณสลับบทบาทหันไปเป็นคนที่รับคำปรึกษาหรือมองหาคนที่จะมารับฟังคุณบ้างไหม

สมัยก่อนอาจเป็นโชคไม่ดีที่ตัวผมเองไม่มีใครให้ปรึกษา ผมเลยมองว่าพอตัวเองข้ามผ่านจุดนั้นมาแล้ว แถมตอนนี้ยังเป็นอาจารย์ ด้วยอาชีพและหน้าที่การงานทำให้ผมอยากให้คำปรึกษากับคนที่มาหาอย่างเต็มที่ ผมอยากเน้นตรงนี้ เลยไม่ได้ไปหาคำปรึกษาจากที่อื่นเท่าไหร่

อย่างที่คุณบอกว่าตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ให้วัยรุ่นอายุ 24 คนนั้น แต่สุดท้ายผู้ใหญ่เองก็หยิบมาอ่านเหมือนกัน คิดว่าอะไรทำให้ผู้ใหญ่เหล่านั้นสนใจหนังสือเล่มนี้

รอบตัวผมมีคนอายุช่วง 30 – 50 ที่ได้อ่านและบอกว่าอินกับปัญหาเหล่านี้ สาเหตุเพราะ Key Message ของหนังสือบอกว่า การที่เรากลัวจะทำอะไรสักอย่าง สับสนหรือมีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิต ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้น ซึ่งคนอายุ 30 – 50 ก็อาจประสบปัญหาเหล่านี้เช่นเดียวกัน

คิมรันโด (Kim Rando) นักเขียน คุณพ่อ อาจารย์ เจ้าของ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ หนังสือเหนือกาลเวลาที่ตีพิมพ์กว่า 52 ครั้ง

ยอดขายที่เพิ่มขึ้นแสดงถึงความเจ็บปวดของคนในสังคมที่มากขึ้นไหม

ไม่หรอก ผมมองว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความเจ็บปวด มันเกี่ยวกับความหวังในชีวิตมากกว่า ผมว่าคนที่เจ็บปวดจนยอมแพ้ไปแล้วคงไม่มีทางหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน พวกเขาอ่านเพราะมีความหวังที่จะมีช่วงเวลาที่ผลิบานของตัวเองไม่ว่าจะฤดูใดก็ตาม หนังสือเล่มนี้ช่วยให้รู้สึกถึงความหวัง ให้เราดึงพลังที่มีอยู่ข้างในออกมา

คุณเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจวัยรุ่นมากเลย คิดว่าอะไรคือจุดเชื่อมระหว่างคุณกับพวกเขา

ผมเคยผ่านอายุนั้นมาแล้ว และด้วยบทบาทอาจารย์ ผมสอนนักศึกษาอายุ 19 – 24 ปีมาประมาณ 20 ปีแล้ว ผมเจอวัยรุ่นตลอดเวลา เลยรู้ว่าเขารู้สึกและกังวลอะไรอยู่

เด็กหลายคนคงตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ใหญ่บางคนถึงเข้าใจวัยรุ่นไม่ได้อย่างคุณ

ผมเคลมไม่ได้ว่าเข้าใจวัยรุ่น 100% แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือลองคิดแบบที่เรากลายเป็นเด็กคนนั้นดู สาเหตุที่ผู้ใหญ่บางส่วนไม่เข้าใจเด็ก ไม่ใช่เพราะเขาไม่เคยผ่านช่วงอายุนั้นมาหรือไม่สนใจในตัวเด็ก แต่ผมคิดว่าบางทีทั้งมุมมองและความสามารถในการเข้าใจเด็กคนนั้นอาจไม่เท่ากัน

คิมรันโด (Kim Rando) นักเขียน คุณพ่อ อาจารย์ เจ้าของ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ หนังสือเหนือกาลเวลาที่ตีพิมพ์กว่า 52 ครั้ง

ถ้าคนที่กำลังอ่านบทความนี้เป็นผู้ใหญ่ที่กำลังพยายามทำความเข้าใจลูกหลานของเขา คุณจะแนะนำอะไร

ถึงเราจะเป็นเด็กคนนั้นไม่ได้หรือไปลองเจอปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ แต่พยายามนึกภาพว่าเราเป็นเด็กคนนั้นได้ แบบนี้จะทำให้เข้าใจความรู้สึกกัน

แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นมุมองที่ผิดมาก คือการที่ผู้ใหญ่บอกกับเด็กว่า ตอนฉันอายุเท่าเธอ ฉันทำแบบนี้หรือไม่ทำแบบนี้ ปัญหาคือสภาพสังคมไม่เหมือนกัน ผู้ใหญ่ที่เป็นคนพูดเขาอายุเท่าเด็กคนนี้ในสภาพสังคมเมื่อ 20 – 30 ปีก่อนเอาตัวเองไปเทียบไม่ได้ สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในครอบครัวหรือความขัดแย้งระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กเป็นเพราะเรามองจากมุมของเขาไม่ได้จริง ๆ

ฟังแล้วเด็กก็ควรลองมองในมุมของผู้ใหญ่เหมือนกันไหมคะ แม้ส่วนใหญ่จะมองแล้วไม่เข้าใจก็ตาม

ใช่ครับ เป็นคำถามที่ดีเลย การที่เด็กจะไปลองสวมบทบาทเป็นผู้ใหญ่ค่อนข้างยาก เพราะเด็กไม่เคยมีประสบการณ์ด้วยอายุเท่านั้น เขาไม่เคยเป็นพ่อแม่คน แม้จะพยายามคิดก็ยากจะเข้าใจ

แต่นี่คือสิ่งหลักที่อยากบอกผ่านหนังสือ ผมอยากให้แต่ละฝ่ายลองปรับมุมมองจะได้เข้าใจกันมากขึ้น

คิมรันโด (Kim Rando) นักเขียน คุณพ่อ อาจารย์ เจ้าของ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ หนังสือเหนือกาลเวลาที่ตีพิมพ์กว่า 52 ครั้ง

เพราะทุกคนมีช่วงเวลาผลิบานของตัวเอง

หมายเหตุ : “…ดอกไม้แต่ละชนิดผลิบานในฤดูกาลของมันเอง ตอนนี้อาจยังไม่ถึงช่วงเวลาของคุณ อาจสายไปหน่อยเมื่อเทียบกับคนอื่น แต่ถ้าฤดูนั้นมาถึง คุณจะงดงามไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่น” จากหนังสือ หน้า 17 หมายถึงดอกไม้แต่ละชนิดมีช่วงเวลาผลิบานของตัวเอง บางชนิดออกดอกในฤดูหนาว บ้างฤดูร้อน ฤดูใบไม้ผลิ ดังนั้น จะหาดอกไม้ฤดูหนาวที่ผลิบานในฤดูร้อนคงไม่มี

ช่วงเวลาแห่งการผลิบานของคุณคือช่วงไหน

ตอนนี้เลยครับ (ยิ้ม) ถือว่าเป็นเกียรติมากที่ได้มาประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์และพูดคุยกับหลายสื่อ

การผลิบานของคุณหมายถึงอะไร

การที่คนอื่นมองเราแล้วบอกว่าคนนี้ประสบความสำเร็จ ไม่ถือว่าเป็นฤดูที่ผลิบานของเรา ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือ ‘การเจริญเติบโต’ จุดที่บอกว่านี่คือช่วงเวลาผลิบานของเรา คือจุดที่เรามองตัวเองแล้วรู้สึกว่าฉันเติบโตขึ้น

หลายคนมักคิดว่าความสำเร็จเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องการการยอมรับจากสังคม แต่มันไม่ควรเป็นสิ่งที่คนอื่นมาตัดสินเรา แทนที่จะโฟกัสว่าเราเติบโตมากขึ้นไหม โซเชียลมีเดียกลับทำให้เราคิดว่าต้องดูความสำเร็จของคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มากไป เราไม่ควรทำแบบนั้น

คิมรันโด (Kim Rando) นักเขียน คุณพ่อ อาจารย์ เจ้าของ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ หนังสือเหนือกาลเวลาที่ตีพิมพ์กว่า 52 ครั้ง

งั้นแปลว่าเราต้องโตหรือแก่ก่อนไหม ถึงจะได้ย้อนกลับมาดูว่าฉันเติบโตแล้ว

ได้ทั้ง 2 เลย ช่วงที่เรากำลังเติบโต วันล่าสุดที่เราใช้ชีวิตคือ ‘วันนี้’ แปลว่าเราอาจรู้สึกว่าช่วงนี้คือช่วงที่ผลิบานก็ได้ หรือในวันสุดท้ายของชีวิตหรือช่วงที่อายุเยอะ เราย้อนมองชีวิตแล้วเห็นว่าที่ผ่านมาฉันเติบโตได้เหมือนกัน

เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่ผลิบานตลอดไป เพราะพอใจกับการเป็นดอกตูมสวย ๆ ตลอดชีวิต

ผมแบ่งเป็นเรื่องความพอใจกับเรื่องความสำเร็จ

เรื่องความพอใจ ต่อให้ในชีวิตไม่ได้ทำอะไรที่เป็นความสำเร็จใหญ่โต แต่เราพอใจกับสิ่งที่เป็น ผมว่ามันเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขที่เกิดขึ้นแล้ว

แต่คนอีกประเภทจะยึดมั่นกับความสำเร็จ ยิ่งเจริญก้าวหน้ายิ่งมีความสุข คน 2 ประเภทนี้ต่างกันคนละขั้วเลย คนทั่วไปในสังคมมักเอนไปด้านในด้านหนึ่งจาก 2 ขั้วนี้เสมอ 

สำหรับผมทั้ง 2 ขั้วไม่ใช่ไอเดียที่ถูกต้องนัก เพราะคนที่ไล่ตามแต่ความสำเร็จ สุดท้ายเขาจะไม่รู้จักพอจนเกิดเป็นความเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย ในทางกลับกัน คนที่สุขกับอะไรง่าย ๆ อาจทำให้พวกเขาถูกขโมยโอกาสก้าวหน้าได้เหมือนกัน เพราะพอใจง่ายเกินไป

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘สมดุล’ ของทั้ง 2 ขั้ว แต่ในขั้นตอนของการหาความสมดุล มันก็แล้วแต่การตัดสินใจของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับมุมมองว่าจะเลือกฝั่งไหน คนเรามักเอนไปด้านใดด้านหนึ่งก่อน

ดังนั้น จะเป็นดอกตูมตลอดชีวิตได้ไหม ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับมุมมองในการใช้ชีวิตว่าอยากอยู่ขั้วไหน 

เคยมีใครสงสัยหรือวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของคุณบ้างไหม

มีครับ บางคนก็ต่อต้าน อย่างเรื่องโลกที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบกับชีวิตของวัยรุ่น มีคนบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าการที่คนจะมีช่วงเวลาที่ผลิบานได้ มันต้องไปแก้ที่ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เสียก่อน

คิมรันโด (Kim Rando) นักเขียน คุณพ่อ อาจารย์ เจ้าของ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ หนังสือเหนือกาลเวลาที่ตีพิมพ์กว่า 52 ครั้ง

ชีวิตของคุณเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างจากหนังสือเล่มนี้

ชีวิตปกติของผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่เคยคิดจะมีอาชีพหลักเป็นนักเขียน พอหนังสือดังเลยรู้สึกประหลาดใจและตกใจมาก ผมยังอยากโฟกัสที่อาชีพอาจารย์มากกว่า แต่ใกล้เกษียณแล้ว อาจต้องมีการนึกถึงบทบาทใหม่ที่จะต้องเกิดขึ้นในชีวิตเหมือนกัน

มีแผนอะไรในอนาคตอันใกล้บ้าง

คงเหมือนที่เขียนไว้ในหนังสือว่า ชีวิตมักไม่เป็นไปตามแผน แทนที่จะมีจุดหมายยึดเอาไว้ คงเหมาะกว่าที่จะมองแค่ว่าเราจะไปในทิศทางไหน ไปตามดวง ตามพรหมลิขิตดีกว่า

แต่ผมอยากมาไทยให้บ่อยขึ้นนะ นี่เป็นครั้งที่ 3 ผมไม่ได้พูดสิ่งนี้เพราะอยู่เมืองไทย แต่ในบรรดาประเทศที่ผมเคยไป ยังไงประเทศไทยก็เป็นประเทศที่คนมีอิสระ ที่สำคัญคือคนไทยจิตใจดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอ ทำอะไรก็รู้สึกถึงอิสระ เพราะฉะนั้น ที่เราคุยกันเรื่องหลังเกษียณ ประเทศไทยมีหลายที่น่าสนใจ และผมคิดว่าอาจจะมีอะไรเกิดก็ได้

คำถามสุดท้ายค่ะ นาฬิกาชีวิตของคุณผ่านมา 18 ชั่วโมงแล้ว คุณได้เรียนรู้อะไรจากการใช้เวลาที่ผ่านมาบ้าง

โห! คำถามยากจัง (หัวเราะ)

ผมได้เรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญยังคงเป็นการปรับมุมมอง เพราะนั่นทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการอยู่ร่วมกันไม่ว่าใครก็ตาม เวลาที่ผ่านมาตอกย้ำสิ่งนี้ให้ชัดเจนขึ้นครับ

คิมรันโด (Kim Rando) นักเขียน คุณพ่อ อาจารย์ เจ้าของ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ หนังสือเหนือกาลเวลาที่ตีพิมพ์กว่า 52 ครั้ง

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล