ปี 1920 รัฐโอคลาโฮมา ในช่วงเวลาสั้น ๆ มีชาวอเมริกันพื้นเมืองหรืออินเดียนแดงชนเผ่าโอเซจ (Osage) 18 รายถูกฆาตกรรม และในปี 1925 มีชาวเผ่าโอเซจผู้มั่งคั่ง 60 รายเสียชีวิต ทรัพย์สินจึงถ่ายโอนไปยังคนขาวใกล้ตัวที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด และเป็นผู้ได้รับมรดกจากความชอบธรรมตามกฎหมาย และภายในปี 1931 มีชาวโอเซจถูกสังหารอีกนับร้อย
เรื่องราวของความมั่งคั่ง ความตาย ความโลภ การเหยียดเชื้อชาติ คดีฆาตกรรม และการสมคบคิด คือสิ่งที่ Killers of the Flower Moon หรือ คดีฆาตกรรมเมื่อดอกไม้ร่วงโรยในคืนจันทร์เต็มดวง หนังแนวอาชญากรรมดราม่า-ประวัติศาสตร์ ผสมแนวมาเฟียของผู้กำกับ Martin Scorsese ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ David Grann ได้ทำการบอกเล่าบนจอภาพยนตร์ ร่วมกับนักแสดงคู่บุญ 2 คนอย่าง Leonardo DiCaprio และ Robert De Niro จนได้เข้าชิงออสการ์ปีนี้ไปมากถึง 10 สาขาด้วยกัน โดยมีสาขาใหญ่ ๆ คือผู้กำกับยอดเยี่ยม ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นำหญิงยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
ตลอด 3 ชั่วโมงครึ่งในโรง เป็นเรื่องยากที่จะนิยามว่าหนังเรื่องนี้ ‘บันเทิง’ เมื่อมันเป็นเรื่องราวน่าหดหู่และสะเทือนใจที่เคยเกิดขึ้นจริง ๆ โดยมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน (และโหดร้ายยิ่งกว่าเมื่อหนังเรื่องนี้มักถ่ายฉากฆาตกรรมด้วยภาพ Long Shot และถ่ายแอคชันเหล่านั้นราวกับเป็นฉากธรรมดา ๆ หรือเลือกไม่เน้นย้ำ ราวกับต้องการจะสื่อว่าการฆาตกรรมที่นี่เกิดขึ้นเหมือนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทั้งที่มันผิดปกติมาก ๆ) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นหนังประเภทค่อยเป็นค่อยไปที่น่าติดตามว่าเรื่องราวจะเลยเถิดไปถึงไหน และจะจบลงยังไง
เนื่องจากหนังเพิ่งเข้า Apple TV+ ไปเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา เลยถือโอกาสนี้พาผู้อ่านไปสำรวจที่มากว่าจะเป็นหนังนี้ และเรื่องจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงตอบคำถามว่าจุดไหนที่เหมือน-ต่างระหว่างเหตุการณ์ในหนังกับหนังสือต้นฉบับ
**บทความนี้มีสปอยล์เนื้อหาบางส่วนของหนัง Killers of the Flower Moon**
เรื่องจริงที่เกิดขึ้น
ยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึง ความบ้านป่าเมืองเถื่อน และความน่ารังเกียจของมนุษย์ เริ่มต้นที่คำศัพท์แง่บวก อย่าง ‘โชคดี’ ที่อย่างน้อย ๆ ก็ใช้คำนี้ได้ในช่วงเวลานั้น จนกระทั่งวันที่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะจุดเปลี่ยนของเผ่าโอเซจเกิดขึ้นในปี 1870 พวกเขาถูกขับไล่ออกจากรัฐแคนซัสมายังพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐโอคลาโฮมาที่แร้นแค้น มีแต่ก้อนหิน ไร้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความหวัง
แต่แล้วในปี 1890 กลับค้นพบว่าใต้พื้นดินนั้นคือแหล่งน้ำมันใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาวเผ่าโอเซจจึงได้รับการแบ่งสรรปันส่วนที่ดินคนละ 657 เอเคอร์ และมีรายได้อู้ฟู่จากการให้รัฐบาลเข้ามาขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ของตัวเอง
หลังจากลมเปลี่ยนทิศในแบบที่แม้แต่ชาวโอเซจเองก็ไม่คาดคิด ทุกอย่างกลับตาลปัตร ชาวอินเดียนแดงที่นี่มีรถเป็นของตัวเอง มีบ้านหลังใหญ่โต มีเพชรนิลจินดาและเครื่องประดับราคาแพง สวมเสื้อขนมิงก์ แถมยังมีเงินจ้างคนดำ คนผิวน้ำตาล (คนละตินอเมริกัน) รวมถึงคนขาว – ฟังแบบนี้เหมือนโชคชะตาจะเข้าข้างพวกเขาแล้ว แต่ความจริงคือเรื่องราวหลังจากนั้นที่ไม่ใช่แค่ ‘ทุกขลาภ’ แต่เลวร้ายยิ่งกว่า เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตาย
หนังสือต้นฉบับและหนังเรื่องนี้เล่าผ่านเรื่องราวของ Mollie Burkhart ซึ่งคนรอบตัวของเธอทยอยเสียชีวิตทีละคน ๆ หลังจากที่เธอได้รู้จักกับ Ernest คนขับรถผิวขาวซึ่งเป็นหลานชายของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นในเทศมณฑลโอเซจ ชายอัธยาศัยดี น่าเชื่อถืออย่าง William King Hale และภายหลังได้แต่งงานกับ Ernest เพราะหลงรักที่เขาดูแลเอาใจใส่เธอที่เป็นโรคเบาหวาน อีกทั้งตั้งใจฝึกภาษาโอเซจมาพูดกับเธอ โดยหารู้ไม่ว่าทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะฮุบสมบัติมาเป็นของตัวเองและผู้เป็นอา
และนี่ไม่ใช่เคสเดียว แต่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ครั้ง และไม่มีความยุติธรรมใด ๆ มาสู่ชาวโอเซจที่ตายไปแล้ว เพราะในเรื่องราวนี้ ใครก็ตามที่ผิวขาวยากที่จะไว้ใจ และไม่ว่าจะน่าเชื่อถือขนาดไหน ก็มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเป็นใจกัน
Mollie กับ Ernest แต่งงานกันในปี 1917 หลังจากนั้นก็ได้ซื้อบ้านหลังใหม่ที่ใหญ่โต มีรถหลายคัน มีคนรับใช้หลายคน และมีลูกด้วยกัน 2 คน ลูกสาวชื่อ Elizabeth และลูกชายชื่อ James ส่วน Anna ลูกสาวตัวน้อยจากไปเพราะโรคไอกรน
ปี 1918 Minnie Smith น้องสาวของเธอเสียชีวิต แต่หลังจากนั้น Bill Smith สามีของเธอก็มาแต่งงานกับน้องของเธออีกคนที่ชื่อว่า Reta Smith
ปี 1921 พี่สาวคนโตสุดที่เป็นสายเที่ยว สายดริงก์ และสายเต้น อย่าง Anna Brown ถูกพบเป็นศพ โดยมีร่องรอยถูกยิงจากด้านหลัง หลังจากมีคนพบเห็นครั้งสุดท้ายว่าอยู่กับ Bryan Burkhart (น้องชายของ Ernest) ที่สัญญาว่าจะพา Anna กลับบ้านหลังจากเขากับ Anna ทะเลาะกันอย่างหนักที่บ้านของ Mollie และในวันเดียวกับที่พบศพของ Anna ก็ได้พบศพของ Charles Whitehorn ลูกพี่ลูกน้องของ Mollie อีกคนแต่ละครบังหน้าก็ยังดำเนินต่อไปด้วยการที่ William สัญญาว่าจะหาความยุติธรรมมาให้ครอบครัวของ Mollie จนได้
ปี 1923 Henry Roan ลูกพี่ลูกน้องอีกคนเสียชีวิตด้วยการถูกยิงบนรถ และอีก 2 เดือนจากนั้น Bill และ Reta Smith ถูกวางระเบิดเสียชีวิตอย่างโหดร้ายที่บ้านของตัวเอง นั่นทำให้กรรมสิทธิ์ต่าง ๆ รวมถึงทรัพย์สมบัติไหลมากองรวมกันที่ Mollie ซึ่งยังมีชีวิตรอด หรืออีกนัยหนึ่ง คือในไม่ช้ามันกำลังจะตกเป็นของอา-หลานผู้ชั่วช้าในมาดคนดี และคิวต่อไปไม่ใช่ใครนอกจากเธอ หญิงผู้น่าสงสารที่เชื่อสามีสุดหัวใจ
นอกจากคนขาวในพื้นที่รู้เห็นเป็นใจ สาเหตุที่คดีไม่เคยถูกไขและไม่ได้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง เพราะผู้พิทักษ์กฎหมายส่วนใหญ่ยังคงเป็นมือสมัครเล่นที่ทำได้แค่เล็งและยิงปืน แต่สำหรับการสืบสวนนั้น ต่อให้จะทำก็ทำได้ยาก อีกทั้งที่เรื่องไม่เคยออกไปข้างนอก เพราะทันทีที่จะมีคนนำไปแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างเช่น Barney McBride ชาวผิวขาวผู้จิตใจดี เขาก็ได้รับจดหมายขู่ ถูกซ้อม และถูกฆาตกรรมซะก่อน
หรืออีกเคสของ W. W. Vaughn นักกฎหมายท้องถิ่นที่เริ่มทำการสืบสวนและรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เมื่อเขามีหลักฐานพอจะมัดตัวได้ ชายคนนี้ก็เป็นอีกรายที่ขึ้นรถไฟแล้วหายตัวไป ไม่เคยได้กลับบ้าน จนกระทั่งพบอีกทีก็กลายเป็นศพไปแล้ว โดยที่หลักฐานทั้งหมดที่เก็บไว้ในตู้เซฟหายไปจนเกลี้ยง
เมื่อเป็นเช่นนี้ สำหรับชาวโอเซจแล้ว มีแต่ความเลวร้ายกับเลวร้าย จะสู้ก็ตายและเสียทรัพย์สมบัติ หรือจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็ตายพร้อมเสียทรัพย์สมบัติอยู่ดี พวกเขาจึงทำได้แค่ห้อยไฟไว้รอบ ๆ บ้านให้สว่างไสวที่สุดในตอนกลางคืน และมีกฎว่าจะไม่ออกนอกบ้านหลังฟ้ามืด ล็อกบ้านให้แน่นหนา บางคนถึงกับยอมย้ายไปอยู่ที่อื่น ดีกว่าตายที่อาณาเขต Outlaw ที่กฎหมายไม่มีผลบังคับใช้
จนกระทั่งปี 1925 Tom หรือ Thomas White เจ้าหน้าที่ FBI ที่เหมือนเป็นตัวเอกอีกตัวในเรื่องนี้เดินทางมาสืบสวน โดยเริ่มจากการรวมทีมและส่งสายสืบไปสืบจากวงใน จนในที่สุดก็โยงใยเรื่องทั้งหมดนี้ได้ และจับกุมตัวการอย่าง William K. Hale ได้ในที่สุด ซึ่งการเปิดเผยในชั้นศาล คำให้การ และคำสารภาพทำให้คนประหลาดใจว่า ที่ทุกอย่างมาถึงขั้นนี้ได้ เพราะมีคนที่ชาวโอเซจไว้ใจช่วยกันปกปิด ไม่ว่าจะเป็นสัปเหร่อที่ช่วยปกปิดร่องรอย ทนายความ นักธุรกิจ เพื่อนบ้านที่ปิดปากเงียบ ไปจนถึง Ernest ที่ถูกจับในข้อหาสมรู้ร่วมคิด หลังสังหารพี่สาว น้องสาว และผู้ที่เกี่ยวข้องกับ Mollie ภรรยาผู้ใจสลายของเขา รวมถึงความพยายามวางยาพิษเธอให้ตายอย่างช้า ๆ มาโดยตลอด ด้วยการอ้างว่าเป็นยารักษาโรคเบาหวาน โดยหารู้ไม่ว่าอาของเขาก็จะเก็บเขาเหมือนกัน หลังจากที่สิทธิ์ไหลมาสู่หลานชายแล้ว
William K. Hale ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวโดยให้มีการคุมประพฤติในปี 1947 และเสียชีวิตในปี 1962 ด้วยอายุ 87 ปี ในขณะที่ Mollie หลังจากหย่าร้างกับ Ernest ในปี 1926 ก็แต่งงานใหม่และอยู่กับสามีคนนี้จนเสียชีวิตในปี 1937 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ Ernest ได้รับการปล่อยตัวออกมา ส่วนคดีฆาตกรรมชาวโอเซจ (ที่เติม S) ก็ได้เป็นหนึ่งในคดีสำคัญที่สุดของ FBI สมัยยุคก่อตั้งแรก ๆ
การดัดแปลงกับข้อแตกต่างระหว่างฉบับภาพยนตร์และหนังสือ
บทภาพยนตร์ Killers of the Flower Moon เขียนโดย Martin Scorsese กับ Eric Roth (คนเขียนบท Forrest Gump, The Curious Case of Benjamin Button และ Dune) ในช่วงที่หนัง The Irishman ฉายทาง Netflix โดยตัวบทในตอนแรกที่ใช้เวลาเขียนถึง 2 ปีนั้นค่อนข้างยึดกับหนังสือต้นฉบับของ David Grann หรือเล่าเรื่องราวการสืบสวนผ่านสายตาและมุมมองของ FBI (พูดง่าย ๆ คือมีความเป็นหนังสืบคดีแนว Whodunnit กว่าเวอร์ชันที่เราได้ดูกันไป) แต่หลังจากที่ Leo เดินมาบอกกับปู่ Marty ว่า “หัวใจของหนังอยู่ไหนนะครับ” เขาก็ได้กลับมาคิดและได้คำตอบว่า “จริงด้วยแฮะ”
นั่นทำให้บทเปลี่ยนไปเป็นอีกทิศทาง หรือเรียกได้ว่าแทบจะโละใหม่หมด หลังจากได้พบ พูดคุย และกินข้าวกับเผ่าโอเซจ Martin Scorsese เลิกเล่าผ่าน FBI ที่เป็นคนนอกหรือจากด้านนอกเข้าสู่ด้านใน (รวมถึงไม่อยากให้เป็นหนังคนขาวเหมือนเรื่องอื่น ๆ ทั้งที่ตั้งใจจะพูดเรื่องอินเดียนแดง) แล้วเปลี่ยนไปเล่าเรื่องราวผ่าน Perspective ของฝั่งโอเซจ ซึ่งเป็นมุมมองด้านในสู่ด้านนอกแทน เพื่อสำรวจจากระบบภายในว่าอะไรทำให้คดีฆาตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น และยังคงเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ โดยเรื่องราวเปลี่ยนเป็นโคจรรอบ ๆ Mollie Burkhart ผู้ที่จริง ๆ แล้วมีความเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวในหนังสือมาตั้งแต่แรก ซึ่งหนังได้ใช้ชาวโอเซจมาแสดงจริง ๆ เพื่อเป็นการให้เกียรติ รวมถึงแคสต์นักแสดงเชื้อสายอเมริกันพื้นเมืองอย่าง Lily Gladstone มารับบท Mollie และ Leonardo DiCaprio เองก็เปลี่ยนใจจากที่ตอนแรกต้องรับบท Tom White (FBI) เป็น Ernest แทน
ลูกหลานตัวจริงของ Mollie และ Ernest บอกกับ Martin Scorsese ว่า ความเป็นจริงคือทั้ง 2 คนรักกัน เขาจึงตั้งใจทำหนังเรื่องนี้ให้ออกมาเป็นหนักรักในทางหนึ่ง และนอกจากนี้แล้ว การที่หนังใช้เวลานานถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง Martin Scorsese ได้รับอิทธิพลและไอเดียมาจากเรื่อง Midsommar กับ Beau Is Afraid ของผู้กำกับ Ari Aster เพราะเขาชอบจังหวะของหนัง 2 เรื่องนั้น และต้องการจะถ่ายทอดสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการเล่าเรื่องในดีเทลของหนัง นั่นก็คือวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวโอเซจ ทั้งธรรมเนียมต่าง ๆ การตั้งชื่อเด็ก งานแต่งงาน และงานศพ เพื่อที่คนดูจะได้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับเรื่องราว และสัมผัสได้ว่าทุกอย่างเป็น ‘เรื่องจริง’
“บางคนบอกว่าหนังยาวตั้ง 3 ชั่วโมงกว่าแหนะ ไม่เอาน่า คุณนั่งอยู่หน้าจอทีวีแล้วดูบางอย่างกว่า 5 ชั่วโมงได้ แถมยังมีคนที่ดูละครเวที 3.5 ชั่วโมงติดมาแล้ว นั่นก็เพราะมีนักแสดงจริง ๆ อยู่บนเวทีไงครับ คุณเลยลุกไปไหนไม่ได้ คุณต้องเคารพมันหน่อยนะ เคารพความเป็นซินิมาหน่อย” Martin Scorsese กล่าว
ยังมีหลายจุดที่หนังและหนังสือเลือกที่จะเล่าแตกต่างกัน นอกจากเรื่องที่ Mollie Burkhart มีบทบาทและได้รับเน้นมากกว่าในหนังสือ ในขณะเดียวกันหนังสือจะมีการกล่าวถึงการฆาตกรรมอื่น ๆ รวมถึงเคสที่ยังไขคดีไม่ได้หรือยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งสาเหตุก็เป็นเพราะ Mollie ถูกใช้เป็นหัวใจหรือน้ำหนักหลักในการถ่ายทอดหนังเรื่องนี้ รวมถึงประเด็นหลักและประเด็นอื่น ๆ ที่แทรกอยู่ในหนัง เช่น ความสัมพันธ์และชีวิตสมรสที่ล้มเหลว
ในหนังสือไม่ได้เผยว่าใครเป็นคนร้ายผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งไปเปิดเผยเอาท้าย ๆ ว่าคือ William K. Hale ในขณะที่หนังเผยตั้งแต่ตอนแรก หรือก็คือไม่เน้น ‘Who?’ แต่เน้นไปที่ ‘How?’ แทน
การเปลี่ยนแปลงสำคัญ รวมไปถึงการที่ตัวหนังเลือกทำเกินหนังสือ หรือเพิ่มเติมฉากมาด้วยการกล่าวถึง ‘Tulsa Race Massacre’ หรือการสังหารหมู่ทัลซ่า (มีการอ้างอิงเหมือนกันในซีรีส์ Watchmen ของ HBO) เหตุการณ์อันน่าสยดสยองครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาที่กลุ่มคนคลั่งผิวขาวและชาตินิยมสังหารหมู่คนผิวดำ และทำลายบ้านเรือน โบสถ์ โรงเรียน รวมถึงทำลายข้าวของทรัพย์สินเสียหายครั้งใหญ่ เพื่อให้เป็นเหตุการณ์คู่ขนานของคดีฆาตกรรมเหยียดผิว หรือสังหารคนต่างสีผิวอย่างไร้มโนสำนึกที่เกิดขึ้นในเทศมณฑลโอเซจ
และยังมีเรื่องที่ Mollie Burkhart กับชาวโอเซจบางส่วนเดินทางไปยังวอชิงตัน ดี. ซี. เพื่อนำเรื่องการตายเกลื่อนนี้ไปขอความช่วยเหลือโดยตรงกับประธานาธิบดี Calvin Coolidge หลังจากที่ตำรวจไม่ได้ความและกฎหมายไม่ได้เรื่อง ด้วยการบริจาคเงิน 20,000 ดอลลาร์ฯ (เท่ากับ 300,000 ดอลลาร์ฯ ในสมัยนี้) เป็นทุนสำหรับการสืบสวน เหตุการณ์นี้ (การพบประธานาธิบดีและการเดินทางไปวอชิงตัน) ไม่ได้มีกล่าวถึงในหนังสือ มีเพียงพูดถึงว่าได้บริจาคเงินก่อนที่รัฐจะส่ง FBI ตรวจสอบ
การแบ่งองก์เล่าเรื่องเองก็ค่อนข้างแตกต่างเช่นกัน เพราะในขณะที่หนังสือต้นฉบับแบ่งเป็น 3 พาร์ต คือพาร์ตแรกพูดถึง ‘ยุคสมัยของความน่าสะพรึง’ หรือการย้ายถิ่น > ค้นพบน้ำมัน > ร่ำรวย > ถูกฆาตกรรม พาร์ต 2 พูดถึงการสืบสวนของ FBI (Tom White) และพาร์ต 3 พูดถึง David Grann ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ที่เดินทางไปรีเสิร์ช พูดคุยกับลูกหลานโอเซจและลูกหลานนามสกุล Burkhart และสืบค้นข้อมูลเอกสารกว่า 3,000 ที่รัฐโอคลาโฮมาในช่วงต้นปี 2010 เพื่อให้ได้ข้อมูลมากพอ โดยมี Mollie เป็นจุดศูนย์กลาง และไม่ให้ปีศาจฆาตกรของ William K. Hale เป็นตัวเอก
จากการเดินทางเก็บข้อมูลครั้งนี้ เขาได้ไปขุดพบเคสฆาตกรรมในอดีตอีกนับร้อยที่ FBI ไม่เคยสำรวจและผู้เสียชีวิตไม่เคยได้รับความยุติธรรมมาเกือบร้อยปี ในขณะที่ฉบับหนังจะเห็นได้ชัดว่านำเฉพาะช่วงพาร์ต 1 – 2 มาเล่า แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเห็นได้ชัดว่าหนังนำเสนอใจความจากหนังสือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนโปรแกรมวิทยุที่พูดถึงการสังหารชาวโอเซจที่ Martin Scorsese มายืนให้เสียงเล่าด้วยตัวเองเพื่อสรุปเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตัวละคร
นี่ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือในการปิดจบหนังให้เคลียร์ต่อคนดูเพียงอย่างเดียว แต่ในช่วงเวลานั้นราว ๆ ปี 1932 มีรายการวิทยุที่สนับสนุนโดยบุหรี่ Lucky Strike ที่พูดถึงเรื่องนี้จริง ๆ รวมถึงรายการที่ได้รับความร่วมมือกับ FBI โดยตรงในปี 1935 ที่ชื่อ The Osage Indian Murders
ดู Killers of the Flower Moon ได้ทาง Apple TV+
ข้อมูลอ้างอิง
- www.independent.co.uk
- www.newyorker.com
- variety.com
- time.com
- www.businessinsider.com