คุณเคยเจอเรื่องราวหรือจุดเปลี่ยนอะไรที่สำคัญต่อชีวิตตัวเองไหม

อาจจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เราเติบโตทางจิตใจจนแข็งแกร่งมากขึ้น

หรือโอกาสในบางจังหวะชีวิตที่ทำให้เราได้เปลี่ยนเส้นทางสายงาน

บางคนอาจเป็นการโยกย้ายไปต่างประเทศ เผชิญโลกกว้าง

หรือสำหรับบางคน จุดเปลี่ยนที่ว่าอาจหมายถึงการละทิ้งเมืองใหญ่ ได้หวนคืนกลับบ้านเกิด แล้วใช้ชีวิตที่เหลือกับครอบครัวและคนชุมชนในแบบของตัวเอง

คีรีฟาร์ม ฟาร์มเห็ดบนภูเขาใหญ่ที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่และคนในชุมชน

ปิง-วิไลลักษณ์ ชูช้าง เกษตรกรคนรุ่นใหม่ ผู้ละทิ้งอาชีพด้านกฎหมายจากเมืองกรุง กลับสู่กาฬสินธุ์บ้านเกิด ด้วยความมุ่งมั่นสู่การเป็น ‘นักพัฒนาชุมชน’ และเพราะโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change : BC4C) เป็นเสมือนโรงเรียนที่ช่วยบ่มเพาะ ปิง วิไลลักษณ์ ในฐานะผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ให้มีศักยภาพและมองเห็นแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นคืนอาชีพให้คนในชุมชม 

และวันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับเธอและสิ่งที่เธอทำ ผ่านบทสนทนาข้างกองฟางนอกเวลาฟาร์ม ในวันที่อากาศเย็นกำลังพัดมาเยือนเทือกเขาภูพาน

เริ่มต้นจากความรักบ้านเกิด

ปิง-วิไลลักษณ์ ชูช้าง พื้นเพเป็นคนกาฬสินธุ์โดยกำเนิด ด้วยเหตุผลด้านการศึกษาในช่วงขวบปีแห่งการบรรลุนิติภาวะ เธอก็ย้ายเข้าสู่กรุงเทพมหานครเหมือนเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ร่ำเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนเมื่อเรียนจบเธอก็ทำงานต่อในเมืองกรุง แต่ก็ไม่วายคิดถึงบ้านเกิดอยู่ร่ำไป ทั้งยังบอกตัวเองในใจเสมอว่ายังไงวันหนึ่งเราจะต้องกลับมาอยู่กาฬสินธุ์ให้ได้

“ช่วงที่ทำงานในกรุงเทพฯ เราหาทางที่จะกลับมาอยู่บ้านหลายปี โต้แย้งกับตัวเองอยู่นานว่ากลับไปแล้วจะไปทำอะไร โอกาสในสายงานกฎหมายที่ต่างจังหวัดก็คงไม่ได้มีมากเท่ากรุงเทพฯ เราอยู่เมืองหลวง มีงาน มีเงินเดือนที่มั่นคงระดับหนึ่ง ถ้ากลับมาอยู่บ้านเราจะไม่มีเงินเดือนนะ พ่อแม่คัดค้านเราตลอด ไม่อยากให้มาทำงานที่บ้าน เพราะที่นี่มีแต่งานเกษตรกรรมซึ่งเป็นงานที่แสนเหนื่อย 

คีรีฟาร์ม ฟาร์มเห็ดบนภูเขาใหญ่ที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่และคนในชุมชน

“พ.ศ. 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราตระหนักได้ว่าชีวิตก็ไม่มีอะไรแน่นอน จากเมืองที่เข้าถึงสินค้าหรือบริการได้สะดวก แต่ในภาวะฉุกเฉิน แทบหาซื้อสิ่งของจำเป็นจากร้านสะดวกซื้อไม่ได้เลย ตอนนั้นเลยตัดสินใจแน่วแน่กับตัวเองเลยว่าเราอยู่ที่ไหนก็คงอยู่ได้แหละ มันขึ้นอยู่กับตัวเรามากกว่า เลยกลับมาอยู่บ้าน” ปิงเล่าถึงวันวานที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต 

และการกลับมาที่กาฬสินธุ์นี่เอง คือต้นกำเนิดการทำกิจการเพื่อสังคมของปิง

คีรีฟาร์ม ฟาร์มเห็ดบนภูเขาใหญ่ที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่และคนในชุมชน
คีรีฟาร์ม ฟาร์มเห็ดบนภูเขาใหญ่ที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่และคนในชุมชน

ไอเดียธุรกิจจากสิ่งไม่สำคัญ

ช่วงที่ยังใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ปิงชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเกษตรที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีชาวบ้าน รวมถึงเคยเข้าเวิร์กช็อปเรียนการเลี้ยงไส้เดือนและได้ทดลองเลี้ยงไส้เดือนของจริง 

เมื่อตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะกลับบ้าน เธอจึงเลือกนำไส้เดือนมาเลี้ยงต่อในชื่อ ‘คีรีฟาร์ม’ โดยระหว่างนั้น ปิงได้ใช้พื้นฟาร์มทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างการทำปุ๋ยมูลไส้เดือนร่วมกับชุมชนรอบข้างไปด้วย 

และในตอนทำธุรกิจขายมูลไส้เดือนนี่เองที่เธอจุดประกายเรื่องการเพาะเห็ดขึ้นมา 

คีรีฟาร์ม ฟาร์มเห็ดบนภูเขาใหญ่ที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่และคนในชุมชน
คีรีฟาร์ม ฟาร์มเห็ดบนภูเขาใหญ่ที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่และคนในชุมชน

“เราเอาก้อนเห็ดเก่ามาเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งเห็ดถูกเพาะมาจากฟางข้าวที่ปกติจะถูกทิ้งเป็นปุ๋ยในนา ไม่ก็ถูกเผาทิ้งทั้งหมดในโซนข้าวนาปรัง จากเดิมที่เราพยายามจัดการฟางข้าวในพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ปัจจุบันได้ขยายไปมากกว่า 200 ไร่แล้ว” เจ้าของคีรีฟาร์มเล่าไอเดียที่คิดต่อยอดขึ้นมาได้ โดยแน่นอนว่าเธอไม่ได้มองแค่การทำธุรกิจในฟาร์มตัวเอง แต่คิดถึงการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชน รวมถึงการสร้างเครือข่ายสมาชิกกลุ่มเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

“เราทดลองทำจนรู้ทุกขั้นตอนการผลิตและรู้ต้นทุน แล้วก็เริ่มวางแผนว่าจะแชร์ความรู้การเพาะเห็ดจากฟางขยายไปสู่ชุมชน”

แล้วเมื่อคิดจะทำโมเดลธุรกิจเพาะเห็ดจริงจัง ปิงก็ตัดสินใจส่งไอเดียธุรกิจของตัวเองเข้าร่วมโครงการ พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change : BC4C) รุ่นที่ 12 ของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน Change Fusion โครงการที่ช่วยติดอาวุธให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างรายได้พร้อม ๆ กับสร้างสรรค์สิ่งดีงามเพื่อสังคม และยังช่วยสร้างเครือข่ายให้ได้รู้จักคนในวงการกิจการเพื่อสังคม เพื่อพัฒนาธุรกิจตนเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

คีรีฟาร์ม ฟาร์มเห็ดบนภูเขาใหญ่ที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่และคนในชุมชน

เติบโตสู่ธุรกิจเพื่อสังคม 

กว่า 12 ปีที่ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บ่มเพาะและสนับสนุนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีขึ้นในแง่มุมต่าง ๆ ภายใต้โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change : BC4C) จนพัฒนาแนวคิดให้เกิดเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ที่สร้างผลกระทบในเชิงบวกให้แก่สังคมในมิติต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน จุดเด่นของโครงการฯ คือผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจอย่างเข้มข้น ขยายอิมแพกต์ได้กว้างขึ้น สร้างธุรกิจเพื่อสังคมที่มีประสิทธิภาพและอยู่รอดได้ และมีเครือข่ายของพันธมิตรที่ช่วยสนับสนุนให้สร้างผลลัพธ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม 

เมื่อปิงเข้าร่วมโครงการนี้ เธอก็ได้ทำให้แผนธุรกิจที่คิดไว้เกิดเป็นธุรกิจของจริงที่ทำร่วมกับชุมชน จากปกติที่ชาวบ้านต้องเผาฟางทิ้งจนกลายเป็นฝุ่นควัน PM 2.5 เพราะการไถกลบด้วยเครื่องจักรหรืออัดฟางส่งขายล้วนมีต้นทุน เมื่อได้ไอเดียนำฟางมาเพาะเห็ด วิถีชุมชนเหล่านี้ก็เปลี่ยนไป 

คีรีฟาร์ม ฟาร์มเห็ดบนภูเขาใหญ่ที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่และคนในชุมชน

เมื่อสิ้นสุดกระบวนการเกี่ยวข้าว ชาวบ้านจะเริ่มอัดฟางข้าวเป็นก้อนแล้วนำมาเก็บที่ศูนย์กลางเพื่อเตรียมเพาะเห็ด ฟางก้อนไหนที่ยังไม่ถูกใช้ ชาวบ้านก็จะพยายามสรรหาวิธีร่วมกันว่าจะเก็บยังไงให้อยู่ได้นานที่สุด วัสดุที่ใช้คลุมต้องเป็นอะไรที่จะอยู่ได้หลายปี ให้คุ้มค่าคุ้มทุน เป็นฟางข้าวที่ถูกดูแลเอาใจใส่โดยคนในชุมชน

“เราชวนชาวบ้านแถวนี้ที่สนใจมาร่วมพัฒนาไปด้วยกัน ในชุมชนนี้เลยไม่ค่อยมีปัญหาขัดแย้งกันในกลุ่ม พอถึงเวลาเรากับชาวบ้านก็เอาฟางข้าวมาเพาะเลี้ยงเป็นก้อนเห็ด ค่อย ๆ เพาะเลี้ยงดูแลและเก็บเกี่ยว ส่วนก้อนเห็ดเก่า หลังจากที่ปลดระวางแล้วก็จะเอามาเลี้ยงไส้เดือนต่อ ไม่มีอะไรเหลือทิ้งเลย”

และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การช่วยแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อม คือการที่คีรีฟาร์มช่วยแก้ปัญหาเรื่องความยากจนให้ชุมชนได้อย่างตรงจุด เพราะการเพาะเห็ดซึ่งใช้พื้นที่ไม่มากนั้นช่วยให้เกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัด ยากจะหารายได้เสริมด้วยการปลูกผักหรือทำปศุสัตว์ หารายได้เพิ่มได้จริง  

คีรีฟาร์ม ฟาร์มเห็ดบนภูเขาใหญ่ที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่และคนในชุมชน

“แต่ก่อนพอหมดหน้าข้าว ชาวบ้านแถวนี้ก็รับจ้างทั่วไป แต่ก็ไม่ได้ประกันว่าจะมีคนมาจ้างทุกวัน ในช่วงที่ทำนา พวกเขาจะเอาเงินเก็บของปีก่อนมาเป็นทุนทำนา ไม่มีรายได้รายวันหรือรายเดือนนัก ได้แค่เงินรายปีตอนขายข้าวช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม สิ่งที่ชาวบ้านที่นี่รอกันคือเงินช่วยเหลือเกษตรกร มันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ในระยะยาวมันทำให้เกษตรกรไม่กระเตื้องหารายได้มากกว่าเงินชดเชยค่าข้าว  

“เราพยายามชักชวนพวกเขามาปลูกเห็ดด้วยกัน อย่างน้อยต่อให้ขายไม่ได้ก็มีเห็ดกิน ถ้าวันไหนเบื่อเห็ดก็เอาไปแลกพืชผักอื่น ๆ กับข้างบ้าน ขายเห็ดสด ๆ ส่งขายในตลาดก็ได้เงินรายวัน หรือเอาไปแปรรูปก็ได้มูลค่าเพิ่มไปอีก”

อย่างไรก็ตาม ปิงเล่าว่าเธอและชาวบ้านยังมีจุดอ่อนคือทักษะทางการตลาด แม้จะเก่งมากในการเพาะปลูกจนได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพ แต่ก็ใช่ว่าจะมีคนซื้อ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change : BC4C) ก็ทำให้ทักษะการตลาดของเธอก้าวหน้ากว่าเดิม

“พอเราได้ร่วมโครงการฯ กับบ้านปู ได้เรียนคอร์สต่าง ๆ ที่เขาจัดก็เริ่มรู้มากขึ้นว่าทำไมเวลาชุมชนเราทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแล้วยังขายได้ไม่ดี เพราะยังมองขั้นตอนไม่เป็น มองไม่เห็นช่องทางทางการตลาด และวิธีการเพิ่มมูลค่าสินค้า

เพราะความรู้ที่ได้มาคือจุดเปลี่ยนของเส้นทางชีวิต ปัจจุบันคีรีฟาร์มได้ทำผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบเห็ดขายแบบ B2C และ B2B ขายก้อนเห็ด ส่งดอกเห็ดสดให้กับตลาดชุมชน เปิดคอร์สสอนทำก้อนเห็ด ทั้งยังนำเห็ดที่ปลูกได้ไปทำโครงการเพื่อสังคม (CSR) กับโรงเรียนในชุมชน ให้เห็ดเป็นอาหารกลางวันแก่เด็กยากไร้ได้อีกด้วย 

คีรีฟาร์ม ฟาร์มเห็ดบนภูเขาใหญ่ที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่และคนในชุมชน

จากเห็ดดอกเล็ก ๆ บนฟางข้าว สู่ธุรกิจที่ยังเติบโตต่อไป

เมื่อมีโมเดลธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ตรงจุดและทำได้ผลจริง ในที่สุดคีรีฟาร์มของปิงก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ชนะโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change : BC4C) รุ่นที่ 12

แน่นอนว่าปิงดีใจและภูมิใจกับการเป็นผู้ชนะ แต่ที่มากกว่าคือ ‘ความสุข’ เมื่อได้เห็นกิจการเพื่อสังคมที่คิดขึ้นสร้างคุณค่าและผลกระทบเชิงบวกให้ผู้คนรอบตัวได้จริง

“ความภูมิใจหนึ่งของเราคือการที่ได้ช่วยให้ผู้สูงอายุในชุมชนชนมีรายได้ พวกเขายังมองเห็นคุณค่าในตัวเองได้ อย่างน้อยเวลาตายายเหล่านี้ออกไปขายของก็ยังได้คุยได้เจอผู้คน มีรายได้ขึ้นมาวันละ 100 – 150 บาท ก็ยังดีกว่ารอแค่เงินผู้สูงอายุ เราจะเตรียมสินค้าให้พร้อมออกไปขายเลย พอเขาได้เงิน เขาก็แฮปปี้ จะมาคอยถามว่ามีเห็ดหรือยัง ถ้าผ่านสวนก็แวะมาทักมาถามเราตลอด 

“หรือน้องเกษตรกรรุ่นใหม่คนหนึ่ง เป็นเด็กที่แม่ส่งไปเรียนมหาลัยแล้วก็กลับมาอยู่ที่นี่ คนแถวบ้านถามว่าจบมาตั้งสูง ทำไมมาทำเกษตร มาเลี้ยงวัวเลี้ยงควายทำไม แม่และน้องคนนี้ก็ตอบว่า นี่ไง พี่ปิงยังอยู่ได้เลย เพราะฉะนั้นหนูก็ต้องอยู่ได้ มันก็เป็นแรงใจให้ตัวเราด้วยว่าพ่อแม่ของคนรุ่นใหม่เขาไม่ผลักลูกออกไปไกลแล้ว ส่งลูกไปเรียน จ่ายค่าเทอมไปตั้งแพง จะให้ลูกไปทำงานให้คนอื่นทำไม ให้เกษตรกรรุ่นใหม่สร้างสิ่งใหม่ ๆ กันแถวนี้ดีกว่า”

ที่สำคัญ ถ้าวันไหนเกิดท้อขึ้นมา ชุมชนก็เป็นกำลังใจสำคัญให้เธอ ซึ่งอาจพูดได้อีกอย่างว่าคนที่ปิงตั้งใจช่วยเหลือมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เธอทำจริง ๆ  

“บางทีเราก็เหนื่อยเวลาที่พาพวกเขาไปถึงจุดที่ตั้งใจเอาไว้ไม่ได้ เราก็ท้อเสียเอง แต่กลับเป็นชุมชนที่มาเชียร์เรา คอยบอกเราว่าอีกนิดหนึ่งลูก ลองทำไปก่อน หรือบอกเราว่าเหนื่อยก็พักก่อน อย่าเพิ่งไปจดจ่อว่าทำไมมันไม่ได้ พักก่อนก็ได้ไม่มีใครว่า” เธอเล่าด้วยสายตาเป็นประกาย 

จากคนที่รักบ้านเกิดจนเลือกกลับมาอยู่บ้าน แล้วคิดแผนธุรกิจบางอย่างขึ้นมาในหัว วันนี้ปิงและคีรีฟาร์มเดินทางมาได้ไกลจากจุดเริ่มต้นมาก และเรามั่นใจว่า ด้วยทักษะและวิธีคิดที่ได้รับการติดอาวุธมาเรียบร้อย คีรีฟาร์มจะไปต่อได้อีกแสนไกล

คีรีฟาร์ม ฟาร์มเห็ดบนภูเขาใหญ่ที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่และคนในชุมชน

“สมัยเรียน หลังสอบเสร็จเราจะรีบกลับบ้าน ไม่อยู่ฉลองใด ๆ เพื่อน ๆ จะบอกว่าเราคลั่งรักบ้านเกิดมาก ถึงวันนี้เราอยากขอบคุณตัวเองที่กล้าตัดสินใจกลับมาบ้านเกิดตัวเอง แล้วก็ขอบคุณตัวเอง ขอบคุณคนในชุมชน เวลาที่เจอเรื่องเหนื่อย ๆ ท้อ ๆ เราพาตัวเองลุกขึ้นมาได้ไว เวลาได้ยินใครเรียกชื่อคีรีฟาร์ม เรารู้สึกภูมิใจ” เจ้าของคีรีฟาร์มกล่าวทิ้งท้าย

Writer

Avatar

นิภัทรา นาคสิงห์

ตื่นเช้า ดื่มอเมริกาโน เลี้ยงปลากัด นัดเจอเพื่อนบ่อย แถมยังชอบวง ADOY กับ Catfish and the bottlemen สนุกดี