ล่องคายัคเที่ยวบางกอก
เวลาบอกเพื่อนชาวต่างชาติสายนักเดินทางเที่ยวธรรมชาติว่าบ้านอยู่กรุงเทพฯ คนเหล่านั้นมักทำหน้าสงสัยว่า เราอยู่ในเมืองที่ยุ่งเหยิงแบบนี้ได้อย่างไร
กรุงเทพฯ ที่วุ่นวาย อากาศอวลไปด้วยควันรถและคลื่นความร้อนที่แผ่ออกมาจากถนนคอนกรีต ช่างห่างไกลกับคำว่าน่าอยู่ ด้วยความที่เกิดและโตที่นี่ และยังอาศัยมาจนทุกวันนี้ ก็ย้อนคำถามถามตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่า ทำไมถึงยังทนอยู่ที่นี่ได้
“เพราะกรุงเทพฯ มีมุมน่ารักที่ซ่อนอยู่” คือคำตอบที่ลอยอยู่ในใจเรา สำหรับเรา ความน่าอยู่ของกรุงเทพฯ ซ่อนอยู่ในร้านรถเข็นย่านเมืองเก่า แฝงอยู่ในบทสนทนาที่ร้านขายต้นไม้ และลอยอยู่ในสายน้ำ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเส้นทางหลักของเมือง

ย้อนหลังไปเพียงแค่ 3 รุ่น ปู่ย่าตายายของพวกเราหลายคนเดินทางเข้าเมืองนี้มาผ่านสายน้ำ บ้างก็เข้ามาเพื่อค้าขาย บ้างก็เข้ามาแล้วลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวที่นี่ บ้านเรือนและวัดวาต่างมีท่าเทียบเรือเปิดออกสู่สายน้ำ ครั้งหนึ่งท่าน้ำเหล่านี้เคยเป็นหน้าบ้าน เป็นทางเข้าหลัก ตามหลักการออกแบบสถาปัตยกรรม อาคารจะสวยที่สุดเมื่อมองจากทางเข้าด้านหน้า ทุกวันนี้เมืองของเราเปลี่ยนทางเข้าไปสู่ด้านหลังบ้านเกือบหมดแล้ว

2 ปีที่แล้วเราแตกยอดความชอบของตัวเองมาเป็นกิจกรรมพายเรือ ว่ากันว่าถ้าอยากรู้จักถนนให้ขับรถ ถ้าอยากรู้จักพื้นที่ให้ปั่นจักรยาน ถ้าอยากรู้จักร้านค้าให้เดินเท้า การพายเรือให้ความเนิบช้าคล้ายการเดินเท้าผ่านถนน แต่เป็นถนนแห่งอดีตที่เมืองนี้หลงลืมไป
มรดกการเป็นสังคมทางน้ำยังมีให้เห็นในรูปแบบของตลาดริมคลอง นักพายเรือในกลุ่มเดียวกันคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดโบราณมักตั้งห่างกันตามเส้นทางคลองประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะพายที่กำลังพอดี

แม่น้ำเจ้าพระยาคือเส้นทางในฝันที่พวกเราเคยได้แต่มอง เพราะการจราจรทางน้ำที่ขวักไขว่เกินเรือพาย แต่ในช่วงที่การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ความฝันของพวกเราจึงเป็นจริงได้
เราเอาเรือลงจากท่าน้ำที่เกียกกาย แล้วปล่อยเรือให้ไหลเนิบช้าลอดใต้สะพานพระราม 8 สะพานข้ามแม่น้ำดูยิ่งใหญ่อลังการจากมุมต่ำ เลยมาอีกนิด อีกฝั่งแม่น้ำมีกลุ่มคนยืนเฝ้าเบ็ดตกปลาเรียงกันเป็นแถวใกล้ป้อมพระสุเมรุ มุมมองจากเรือแนวต่ำแทบไม่รู้ตัวว่าแม่น้ำกำลังโค้งตัวผ่านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฝั่งตรงข้ามเป็นปากคลองบางกอกน้อย มองเห็นอาคารสถานีรถไฟ จุดเกิดเหตุไฮไลต์จากนิยาย คู่กรรม อยู่ลิบๆ เราปล่อยเรือให้ไหลช้าที่สุดเมื่อเคลื่อนผ่านมาถึงวัดอรุณฯ พระปรางค์ดูสวยสง่ากว่าเดิมเมื่อมองจากมุมเลียดน้ำ มุมต่ำช่วยเน้นเส้นโค้งที่พุ่งขึ้นฟ้าอ่อนช้อยและอลังการ แสงอาทิตย์ที่กระทบพระปรางค์ก็เปลี่ยนไปทุกวัน วัดอรุณฯ กลายเป็นจุดหมายหลักของทุกครั้งที่มาพายแม่น้ำเจ้าพระยา
เรารอลุ้นทุกครั้งว่าวันนี้เมฆด้านหลังตัวอาคารจะเป็นแบบไหน ถ้าหากโชคดีมีพระอาทิตย์ลอดผ่านเมฆฝนก้อนหนาออกมา ก็จะช่วยขับให้ตัวพระปรางค์โดดเด่นประทับใจ

บางทริปเราลองพายที่คลองนอกเมือง บ้านริมน้ำชานเมืองแตกต่างจากบ้านริมน้ำในเมืองมาก ท่าน้ำเปิดโล่งสู่คลองอย่างเชื้อเชิญ ถ้ามาช่วงเย็นจะเห็นคุณยายพายเรือเล็กๆ ออกมาเก็บผักบุ้งที่ปล่อยเลี้ยงไว้ตามธรรมชาติริมคลอง ต้นจามจุรีขนาดใหญ่แผ่กิ่งยื่นออกมาให้ร่มเงาถึงในคลอง ตลิ่งดินตามธรรมชาติดูเข้ากันดีกับต้นไม้
เสียงไม้พายจ้วงลงไปในน้ำ เสียงน้ำไหลผ่านลำเรือ เสียงแมลงจากตลิ่ง สิ่งเหล่านี้ช่วยลดความเครียดที่สะสมจากความวุ่นวายในเมืองได้เป็นอย่างดี
ทุกวันนี้เมื่อมีเวลาว่าง พวกเราจะนั่งส่องดูแผนที่ ไล่หาสายน้ำที่น่าสนใจสำหรับสุดสัปดาห์ต่อไป แผนการสำรวจเมืองทางน้ำมีรออยู่อย่างไม่รู้จบสิ้น

การเริ่มพายเรือ สิ่งแรกที่ต้องมีคือพาหนะคู่ใจที่จะพาเราไปออกสำรวจ เรือหนึ่งลำราคาไม่ถูกเท่าไหร่ จะเปลี่ยนเรือบ่อยๆ ก็คงทำไม่ได้ทุกคน การเลือกซื้อให้เหมาะกับตัวเราจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
คายัคหรือแคนู
พูดถึงเรือพายเที่ยวด้วยแรงตัวเอง ถ้าไม่นับเรือเป็ดในสวนสาธารณะแล้ว เรือคายัคและเรือแคนูน่าจะเป็นชื่อที่คุ้นเคยกันมากที่สุด
เรือแคนูมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี แคนูลำแรกสันนิษฐานว่าเป็นของมนุษย์ที่ปัจจุบันเป็นชาวเนเธอร์แลนด์ ลำเรือเป็นแบบเปิดพื้นที่ตลอดลำเรือ บรรทุกของได้มาก ใช้กับไม้พายแบบหัวเดียว ปลายอีกด้านไม่ต้องจุ่มน้ำ คนพายต้องใช้ความสามารถในการคัดไม้พาย เพื่อให้เรือเคลื่อนที่เป็นแนวตรง

ส่วนวัฒนธรรมเรือคายัคเริ่มต้นทางประเทศแถบกรีนแลนด์ ชาวอินูอิตต้องพายข้ามเกาะผ่านทะเลที่หนาวเย็น ตัวเรือจึงมีลักษณะเป็นกล่องปิด เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่เย็นยะเยือกเข้ามาเปียกร่างกายหรือสิ่งของที่ขนถ่าย ไม้พายเป็นแบบจุ่มน้ำทั้ง 2 ด้าน สลับไปมา
ความสับสนของการเรียกชื่ออยู่ที่เรือที่มีให้เช่าตามชายหาด ทั้งที่มันก็เปิดพื้นที่ตลอดลำเรือ แต่ก็เรียกว่าเรือคายัค เรือคายัคพวกนี้พัฒนาตามมาทีหลัง ยังคงเรียกว่าคายัคเพราะยึดตามลักษณะไม้พายที่ใช้งาน
คายัคและแคนูมีข้อเปรียบเทียบให้ลังเลในการตัดสินใจเลือกใช้ตลอดเวลา ถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายๆ แคนูเปรียบเหมือนรถถังที่มั่นคง แล่นไปเหนือน้ำช้าๆ ได้อย่างนิ่มนวล แต่การยกรถถังเคลื่อนย้ายไปลงทางชนบทเส้นเล็ก ต้องใช้กำลังคนและเวลา ส่วนคายัคเหมือนมอเตอร์ไซค์ที่พกไปได้ทุกที่ ทำความเร็วได้อย่างปราดเปรียว แต่ยิ่งเร็วก็ยิ่งมีโอกาสคว่ำสูง
สำหรับเราแล้วคายัคตอบโจทย์มากกว่า บทความนี้จึงจะขอเน้นพูดคุยกันเรื่องของคายัค

ในบรรดาเรือคายัคประเภทต่างๆ เรือไฟเบอร์กลาสแข็งคือภาพคุ้นตาที่สุด แต่เรือคายัคมีหลากหลายรูปแบบและหลายวัสดุ ทั้งแบบโครงแข็งตัวเดียวจบ แบบที่มีเปลือกหุ้มโครงเรือ (Skin on Frame) แบบเป่าลมทั้งลำ หรือกระทั่งแบบที่ขึ้นจากพลาสติกแผ่นใหญ่ซึ่งพับเก็บได้
นั่งข้างในหรือนั่งข้างนอก
การแยกประเภทเรือคายัค หลักๆ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือแบบ Sit-in กับ Sit-on-top ดูที่วิธีการนั่งในลำเรือว่า คนพายสอดตัวเข้าไปนั่งในเรือ หรือนั่งทับอยู่ข้างบนเรือ
เรือ Sit-on-top ลอยตัวได้มั่นคงกว่า รับน้ำหนักได้เยอะกว่า แต่เคลื่อนที่ได้ช้ากว่า จึงมักใช้งานในพื้นที่ที่คลื่นลมและกระแสน้ำไม่รุนแรง เหมาะกับนักพายมือใหม่เพราะขึ้นลงเรือง่ายกว่า ตัวเรือคล้ายแท่นแพลอยน้ำ เว้นช่องเปิดให้ระบายน้ำได้เอง ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำขังในเรือแล้วต้องสูบออก
ที่เมืองนอกเรือแบบนี้นิยมในหมู่นักตกปลาตามบึง ถึงขนาดที่แตกสายไปเป็นประเภทเรือตกปลาเลย บางลำก็ติดตั้งเก้าอี้เอนหลังใส่เบาะนุ่มนั่งสบายกันไปเลยก็มี

ส่วนเรือคายัค Sit-in แบบดั้งเดิม ได้เปรียบตรงการควบคุม ไม่ว่าจะหมุนเลี้ยวหรือเร่งสปีดพายก็ทำได้ดีกว่า ข้อดีอีกอย่างคือ ถ้าหากไม่คว่ำ ด้านในเรือก็เกือบจะแห้งสนิท ไม่ต้องกังวลเรื่องความเปียกที่อาจสร้างความไม่สบายตัวได้
เลือกเรือจากกิจกรรม
คายัคทุกลำไม่ได้เหมาะกับทุกกิจกรรม การพายเรือเล่นตามลำคลองอาจใช้เรือที่ความยาวไม่มาก และมีช่วงกลางลำเรือกว้างก็ได้ เพราะไม่ต้องต่อสู้กับคลื่นหรือกระแสน้ำรุนแรง แต่ถ้ามีแผนจะใช้เรือในสถานการณ์อื่นๆ เช่น ออกทะเล หรือแคมปิ้ง ต้องคิดเผื่อไว้สักนิด หากวางแผนจะพายล่องมาตามแม่น้ำ และแวะพักค้างคืนแบบทัวริ่ง ก็ต้องมองหาเรือที่มีพื้นที่เก็บสัมภาระเพียงพอ และความยาวเรือที่มากขึ้น ส่วนใหญ่แนะนำกันที่ 12 – 16 ฟุต (ความยาวชาวเรือมักคุยกันเป็นหน่วยฟุต ประมาณ 4.5 เมตร)

หากเน้นออกทะเลหรือระยะพายค่อนข้างไกล เรือที่มีความยาวเกิน 16 ฟุตอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
ถ้าจะใช้เรือเพื่อผจญภัยในแก่งคลื่นขาว ต้องใช้เรือคายัคแบบสั้นพิเศษสำหรับเล่นในแก่งโดยเฉพาะ ซึ่งจะบังคับเรือในวงเลี้ยวแคบได้แบบที่เรือลำยาวทำไม่ได้
การเลือกเรือผิดไม่ถึงกับต้องคิดจนตัวตาย เรือบางลำทำได้เกือบทุกอย่าง แต่อาจจะไปได้ไม่สุดทาง และท้ายที่สุดแล้วการมีเรือมากกว่า 1 ลำเพื่อกิจกรรมที่ต่างกันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าเริ่มหลงใหลในกิจกรรมนี้อย่างจริงจัง

สะดวกเก็บสะดวกย้าย
เรื่องใหญ่สุดตอนที่เราเลือกซื้อเรือ คือคอนโดฯ ของเราเก็บเรือลำใหญ่ยาวไม่ได้ แถมการย้ายเรือด้วยรถขนาดเล็กก็ทำได้ลำบาก ทำให้เราต้องตัดตัวเลือกเรือไฟเบอร์กลาสลำยาวทิ้งไป
แต่เรือคายัคในปัจจุบันมีหลายรูปแบบที่ตอบโจทย์คนพื้นที่น้อย
เรือพับแบบคลาสสิกที่แยกโครงกับเปลือกหุ้มเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เข้าตา เรือแบบนี้พัฒนาสายตรงมาจากเรือของชาวอินูอิตแท้ๆ แต่ปรับเปลี่ยนโครงให้ถอดแยกประกอบได้ง่ายขึ้น เปลี่ยนจากหนังสัตว์ที่หุ้มลำเรือมาเป็นผ้าใบ บางลำเปลี่ยนจากโครงไม้เป็นอะลูมิเนียมเพื่อความแข็งแรง และลดให้น้ำหนักเบาลงไปอีก

แต่เรือแบบคลาสสิกนั้น ต้องอาศัยความชำนาญในการประกอบ เวลาทำความสะอาดก็ต้องหาพื้นที่ตากเปลือกที่ยาวเกือบเท่าความกว้างห้อง สำหรับเราจึงยังไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะในการเป็นเรือลำแรก เราตัดสินใจเลือกซื้อเรือพับแบบพิเศษที่สร้างจากแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดแผ่นใหญ่ กางออกและพับให้กลายเป็นเรือได้ในอึดใจเดียว บางคนเรียกเรือประเภทนี้ว่า Origami Kayak เพราะเหมือนกับการพับกระดาษแบบญี่ปุ่น

ผู้ผลิตแนะนำว่า เรือพับแบบนี้กางและเก็บได้ถึง 30,000 ครั้ง ก่อนที่จะสูญเสียความแข็งแรงของวัสดุไป ชั่งใจแล้วว่าถึงแม้ราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าหยิบมาใช้ได้สะดวก เราก็จะยิ่งใช้บ่อย ถ้าใช้ถึงจำนวนครั้งที่ผู้ผลิตกล่าวมา ราคาเฉลี่ยต่อครั้งจะตกอยู่ประมาณ 2 บาทเท่านั้น คิดแล้วก็คุ้ม
นอกจากนี้ ทางออกสำหรับคนพื้นที่เก็บน้อยอีก 2 แบบ คือเรือเป่าลม เมื่อเอาลมออกแล้วพับเป็นเป้ใบใหญ่สะพายขึ้นหลังเดินทางได้สะดวก และเรือพลาสติกแบบแยกท่อนประกอบ ซึ่งแต่ละอย่างก็มีข้อดีและข้อด้อยต่างกัน

จับคู่ไม้พายหลังจากได้เรือที่ต้องการ
ไม้พายเป็นตัวเลือกที่ทำให้ปวดหัวตามมา แต่การเลือกไม้พายที่พอดีมือจะทำให้พายได้ยาวนานและสนุกสนานมากขึ้น โดยพื้นฐานแล้วแยกได้เป็น 5 เรื่องใหญ่ๆ
1. ความยาวไม้พาย 2 ปัจจัยหลักที่ต้องดู คือความกว้างของเรือและความสูงของคนพาย (หรือถ้าให้ระบุชัดคือความยาวของช่วงบนลำตัวคนพาย) เว็บไซต์ของผู้ผลิตไม้พายส่วนใหญ่มีข้อมูลแนะนำไว้อย่างละเอียด แต่ละช่วงขนาดแตกต่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร
2. ลักษณะของใบพาย ใบพายทรงช้อนคือทรงที่คุ้นตาที่สุด แต่ความกว้างของช้อนแต่ละแบบไม่เท่ากัน ยิ่งใบพายแคบยิ่งกินแรงน้อย แต่ก็ให้กำลังขับเคลื่อนที่ต่ำลง ใบพายส่วนใหญ่จะเป็นทรงไม่สมมาตร ด้านล่างคือมุมโค้งที่ป้านกว่า เวลาพายต้องถือให้ถูกด้านด้วย ถึงจะได้ประโยชน์จากการออกแบบที่สูงสุด

นอกจากพายทรงช้อนแล้ว พาย Greenland ที่มีหน้าตาคล้ายแท่งไม้เพียวๆ ก็น่าสนใจ พายแบบนี้พัฒนาสายตรงมาจากวัฒนธรรมการพายเรือของชาวอินูอิต แรงขับเคลื่อนไม่ได้มาจากใบ แต่มาจากทั้งก้านของไม้พายที่กวาดผ่านน้ำและองศาที่เหมาะสมในการจ้วงพาย

3. มุมในการพาย ไม้พายสำหรับสายชิลล์ ชมวิวเอื่อยๆ มีใบพายแคบกว่าและด้ามที่ยาวกว่า เพื่อมุมแขนที่ไม่ต้องยกสูง ทำให้ไม่ล้าหากต้องพายเป็นเวลายาวนาน แต่ถ้าเน้นการพายแบบเร่งสปีด ระเบิดพลังในช่วงเวลาสั้นๆ และการเปลี่ยนทิศทางฉับพลัน องศาในการยกจ้วงน้ำจะเป็นมุมที่สูงขึ้น ความยาวของไม้พายต้องควรสั้นลง และใช้ใบพายที่กว้างกว่า

4. ก้านไม้พาย ควรอ้วนพอดีมือ ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ก้านจับที่ไม่พอดีมือจะทำให้เกิดความล้า การเกร็งเพื่อกำให้ไม้พายอยู่ในกำมืออาจทำให้บาดเจ็บหรือมือพุพองได้ ในท้องตลาดตอนนี้มีก้านแบบตรงและแบบหงิกงอ ว่ากันว่าก้านแบบงอช่วยลดอาการบิดข้อมือผิดมุม ทำให้ข้อมือไม่ล้า แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการจับของแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีก้านแบบที่ถอดแยกชิ้นส่วนออกเป็น 2 ท่อน หรือ 4 ท่อนได้ด้วย แบบ 4 ท่อนระยะต่อท่อนจะสั้นกว่า ทำให้พกพาเดินทางไปทุกที่ได้สะดวกกว่า รวมไปถึงการพกขึ้นเครื่องบินโดยสารด้วย
5. วัสดุ พลาสติกทนทานและราคาถูกกว่าวัสดุอื่น แต่ก็มีน้ำหนักมากกว่าเช่นกัน ความยืดหยุ่นของพลาสติกเป็นข้อด้อย เพราะแรงที่เราลงไปจะเสียไปกับความอ่อนตัวของวัสดุ พายคาร์บอนไฟเบอร์เป็นพายที่ถ้าหากงบถึงก็ควรลงทุนไปเลย เพราะความเบาและไม่เสียแรงในทุกสโตรกการพาย
ถ้ายังลังเล ตัวเลือกตรงกลางคือวัสดุไฟเบอร์กลาส ซึ่งแข็งและเบากว่าพลาสติก แต่ก็ไม่เบาเท่าคาร์บอนไฟเบอร์ไม้พายบางยี่ห้อเราเลือกวัสดุประกอบตามงบประมาณได้ โดยเน้นไปที่การลดน้ำหนักของก้านพายเป็นอันดับหนึ่ง เช่น ก้านเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ แต่ตัวใบพายเป็นไฟเบอร์กลาส เป็นต้น
คำแนะนำสำหรับพายไม้อันแรกคือ ซื้อแบบมาตรฐานเท่าที่งบประมาณรับไหว แล้วขยันออกทริปกับเพื่อนเพื่อขอทดลองไม้พายขนาดและรูปแบบต่างๆ กัน แล้วค่อยอัปเกรดไปเป็นชิ้นที่ชอบเมื่อรู้ใจตัวเองมากขึ้น

อุปกรณ์จำเป็น
นอกจากเรือและไม้พายแล้ว การลงเรือทุกครั้งต้องมีสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยอีกหลายสิ่งตามนี้
1. เสื้อชูชีพ ถึงแม้จะเป็นนักว่ายน้ำที่เก่งกาจ แต่ก็ไม่ควรประมาทเมื่อลงน้ำ การใส่ชูชีพยังช่วยสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับสังคมนักพายเรืออีกด้วย
2. เชือกผูกเรือ บ่อยครั้งที่เราอาจจะอยากแวะขึ้นฝั่งระหว่างทาง การมีเชือกผูกเรือรอพร้อมจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น
3. ฟองน้ำและที่สูบน้ำฉุกเฉิน (สำหรับเรือแบบ Sit-in) เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน สองสิ่งนี้จะช่วยเอาน้ำที่ขังอยู่ออกจากเรือได้ง่ายขึ้น ฟองน้ำใช้ในกรณีน้ำเข้าไม่เยอะ
4. น้ำดื่ม แสงแดดเมืองไทยไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ความโชคดีของการพายเรือในเมืองคือเราตะโกนขอความช่วยเหลือจากบ้านเรือนริมน้ำ หรือขอซื้อเครื่องดื่มเย็นๆ จากร้านค้าริมคลองได้ แต่ก็ใช่ว่าคลองทุกสายจะมีร้านค้าให้เติมเสบียง

จัดท่าให้ถูกต้อง
คนส่วนใหญ่คิดว่าการพายเรือต้องใช้แรงแขนที่แข็งแรง แต่ที่จริงแล้วการออกแรงพายที่ถูกต้องนั้นใช้แรงร่วมกันทั้งตัว
ท่านั่งในเรือคายัคมีส่วนสำคัญที่สุดเมื่อต้องออกแรงพาย เรือคายัคมีส่วนให้ใช้เท้ายัน เพราะแรงในการพายจะถูกส่งขึ้นมาจากขาสู่ลำตัว สู่หลัง และผลักออกไปที่แขนที่จับด้ามพายอยู่ การพายที่ถูกต้องจะเน้นการออกแรงดันจากลำตัว ไม่ใช่ออกแรงดึงด้วยแขนเข้าหาตัว ถ้าออกแรงถูกต้องก็จะพายได้ยาวนานกว่าใช้แต่แรงแขน เพราะกล้ามเนื้อแขนอ่อนแอกว่ากล้ามเนื้อขาและแกนกลางลำตัวมากนัก
พร้อมแล้วออกตัวได้
1. หาจุดสตาร์ทและท่าเรือตอนจบไว้ล่วงหน้า
เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่การหาท่าน้ำที่เหมาะสมจะเอาเรือลงไม่ง่ายนัก โป๊ะเรือส่วนใหญ่สร้างสำหรับเรือที่มีความสูงจากผิวน้ำ สำหรับเรือคายัคที่ลอยติดผิวน้ำ การขึ้นและลงจากโป๊ะมาตรฐานเป็นหนึ่งในเรื่องท้าทายของการพายในคลอง ความน่าทึ่งของระบบคลองกรุงเทพฯ คือวัดส่วนใหญ่จะมีท่าน้ำ และติดต่อขอจอดรถทิ้งไว้ได้

2. ฝึกเลี้ยวและควบคุมเรือ
เมื่อลงน้ำแล้ว ทักษะที่จำเป็นคือบังคับทิศทางให้ไปตามใจต้องการ ทักษะเบสิกของการพายเรือให้เคลื่อนไปข้างหน้า คือพายจากหัวเรือปาดไปท้ายเรือ ถ้าอยากไปทางซ้ายก็เอาพายลงทางขวา พร้อมกับออกแรงบิดที่ลำตัวไปด้วยกัน ในทางกลับกัน ถ้าออกแรงต้านสวนจากท้ายเรือไปหัวเรือก็จะให้ผลในทางตรงกันข้าม เรือจะชะลอตัวลง สิ่งที่ต้องระวังคือ การพายแบบกลับทางนี้อาจทำให้เกิดการเบรกเฉียบพลัน เรืออาจจะพลิกคว่ำได้ถ้าออกแรงเบรกรุนแรงเกินไป
3. เลือกสายน้ำที่เหมาะสมกับทักษะ
ถ้าเป็นมือใหม่ เลือกคลองที่ไม่มีการจราจรทางน้ำพลุกพล่าน คลองนอกเมืองอย่างคลองประเวศก็เป็นตัวเลือกที่ดี คลองบางสายอย่างคลองแสนแสบช่วงหนองจอก ซึ่งห้ามไม่ให้เรือติดเครื่องเข้ามาแล่นในคลองก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่พายได้สบาย แต่ถ้าหากมีทักษะพอสมควรแล้ว ช่วงเช้าวันอาทิตย์คือเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการสำรวจคลองและแม่น้ำกลางเมือง เรือท่องเที่ยวจะเริ่มวิ่งประมาณ 9 โมงครึ่ง ก่อนหน้านั้นคือเวลาที่เจ้าพระยาเงียบสงบ เหมาะกับการชมเมืองทางน้ำ

4. ชิดตลิ่งให้เรือผ่าน
ส่วนใหญ่เมื่อเจอเรือติดเครื่องแล่นผ่านมา ควรชะลอและหลบชิดตลิ่ง แต่ต้องระวังกรณีที่ตลิ่งเป็นกำแพงคอนกรีต เพราะคลื่นน้ำที่ตีสะท้อนกลับเมื่อกระทบกำแพงอาจทำให้เรือเราล่มได้

5. อย่าเอาเรือขวางคลื่น
ในบางขณะอาจมีคลื่นน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากท้ายเรือติดเครื่องพุ่งเข้ามา ถ้ายังไม่มั่นใจในการทรงตัวของเราเอง ให้หันหัวเรือเข้าโต้คลื่น เรือจะโคลงน้อยกว่า โอกาสตกใจจนพลิกคว่ำก็จะน้อยกว่า
6. ผูกของทุกอย่างติดเรือไว้
นอกจากต้องหาถุงหรือซองกันน้ำที่เหมาะสมแล้ว ของทุกชิ้นที่ถือลงเรือควรผูกสายล็อกติดกับตัวเรือ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินเรือคว่ำหรือน้ำเข้า ของที่ไม่ได้ผูกไว้อาจหลุดออกจากตัวเรือทำให้สูญหายไปได้
7. วางแผนฉุกเฉิน
นอกเหนือจากความสนุกแล้วห้ามทิ้งความปลอดภัย ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การมีเบอร์สายด่วนติดตัวไว้จะทำให้ไม่ร้อนรน 3 เบอร์หลักที่ควรพกคือ
– 1199 เหตุด่วนทางน้ำ กรมเจ้าท่า
– 1669 ศูนย์นเรนทร
– 1300 ศูนย์ประชาบดี
8. เช็กตารางน้ำขึ้นและลงของคลองสายเดียวกัน
วันที่น้ำสูงเต็มตลิ่งดูสวยแตกต่างจากวันน้ำแห้งอย่างมาก ถ้าหากต้องออกแรงพายต้านน้ำไปตลอดทั้งวัน ความเพลิดเพลินใจที่ควรได้รับอาจติดลบต่ำกว่าศูนย์ การดูตารางน้ำขึ้นและลงจึงสำคัญมากต่อกราฟความเพลินของกิจกรรม เราเช็กเวลาน้ำขึ้นและลงแต่ละวันได้จากแอปพลิเคชัน Tides แต่สิ่งที่ต้องระวังคือข้อมูลในแอปฯ เป็นเวลาน้ำขึ้นและลงจากสถานีวัดระดับน้ำ ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนกับพื้นที่ที่เราจะพายเรือบ้าง อีกอย่างที่ต้องระวังคือ ระบบคลองในกรุงเทพฯ มีประตูกั้นน้ำหลายจุด ทำให้ทิศทางการไหลไม่ตรงกับสิ่งที่ควรเป็นตามธรรมชาติ ทางที่ดีคือสอบถามจากคนใช้เรือในพื้นที่เพื่อความมั่นใจ

9. หมั่นศึกษาเทคนิคและความรู้เพิ่มเติม
ความรู้เรื่องการพายเรือมีอยู่เต็มโลกออนไลน์ ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นการสอนในภาษาอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้ยากเกินที่ทำความเข้าใจ เทคนิคการพายที่ถูกต้อง การหมุนเลี้ยวเรือ การขึ้นและลงเรือจากตลิ่งในรูปแบบต่างๆ การปีนกลับขึ้นเรือจากการพลิกคว่ำ มีให้ดูไม่รู้จบบน YouTube ไล่ดูเพิ่มไปตามทักษะและความสนใจของเรา เมื่อทักษะการพายของเราดีขึ้น ความมั่นใจเพิ่มขึ้น ความสนุกก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

10. หาเพื่อนพายไปด้วยกัน
การทำกิจกรรมพายเรือเหมือนเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงของเรา ตัวใครตัวมัน แต่ที่จริงแล้วการมีกลุ่มเพื่อนที่พายไปด้วยกัน คอยช่วยเหลือกันในสายน้ำเป็นความสนุกสนานอีกแบบ กลุ่ม All Water Kayak & Canoe (เพื่อนพาย) ใน Facebook ก็เป็นจุดเริ่มต้นหาเพื่อนพายที่ดีสมกับชื่อกลุ่ม
กิจกรรมพายเรือไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะที่เรือคายัค เมื่อเริ่มทำความรู้จักแล้วจะพบว่าพาหนะลอยน้ำที่พาเราท่องเที่ยวได้นั้นมีอีกหลายประเภท สำคัญคือเลือกอันที่เหมาะกับจังหวะชีวิตของคุณ

การมีกลุ่มเพื่อนพายเรือเที่ยวในรูปแบบเดียวกัน ยิ่งเพิ่มความสนุกระหว่างทาง