ในวันที่ข้าวพื้นบ้านนับร้อยสายพันธุ์ กำลังทยอยหายไปจากท้องนา

ในวันที่วิถีการผลิตข้าวอย่างเร่งรีบกำลังทำให้คุณภาพของข้าวลดลงอย่างน่าใจหาย 

และวันที่ความมั่นคงทางอาหารของสังคมไทย กำลังอ่อนแอ

คือวันเดียวกับที่ อุ้ม-คนึงนิตย์ ชะนะโม ตัดสินใจเลือกสวมหมวกชาวนา ด้วยเชื่อมั่นว่าวิถีการทำนา ‘อย่างประณีต’ คือทางออกของหลายปัญหา

อุ้ม-คนึงนิตย์ ชะนะโม

จากนั้นบทบาทของ ‘คนข้าว’ อันหมายถึงชาวนาผู้ผลิต พัฒนา และอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้าน ก็พาให้เธอได้พบกับหลายรูปแบบความสัมพันธ์น่าประทับใจ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคนและธรรมชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างคนปลูกและคนกินข้าวที่หลอมรวมกลายเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เธอรู้ว่าทางที่เลือกคือทางที่ใช่ และเดินหน้าต่อด้วยความตั้งใจอยากส่งมอบข้าวที่ฟูมฟักขึ้นบนแผ่นดินอีสานสู่ผู้คน 

ราว 10 ปีก่อน หลังเรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อุ้มก็เริ่มต้นชีวิตทำงานเหมือนเด็กจบใหม่ส่วนใหญ่ในประเทศ ด้วยการทำงานในบริษัทเอกชนและตามหาความก้าวหน้าตามที่วาดหวังไว้ กระทั่งวันหนึ่งจังหวะชีวิตกลับเคาะประตูเรียกให้เธอต้องจัดลำดับความสำคัญของชีวิตใหม่ ด้วยสุขภาพของแม่ที่ต้องการคนดูแลใกล้ชิด สุดท้ายอุ้มในวัยที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตทำงานจึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด ณ จังหวัดบุรีรัมย์

“ความตั้งใจแรกคือกลับมาอยู่ดูแลแม่ แต่พอกลับมาจริง ๆ ถึงมีความตั้งใจอื่น ๆ ตามมา”

เป้าหมายและความตั้งใจที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากการตั้งคำถามกับคุณภาพชีวิตของชาวนาในชุมชน ซึ่งเป็นภาพที่ย้อนแย้งจนทำให้เธอกลับมาฉุกคิดครั้งใหญ่ 

“เราเกิดคำถามว่า ทำไมชาวนาถึงต้องซื้อข้าวถุงกิน แล้วข้าวอร่อย ๆ หลาย ๆ สายพันธุ์ที่เราเคยกินตอนยังเด็กหายไปไหน” 

ความสงสัยทำให้อุ้มเริ่มต้นออกเดินทางเรียนรู้เรื่องข้าวและวิถีเกษตรอินทรีย์อย่างชนิดลงลึก ผ่านการสมัครเข้าอบรมกับโครงการฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาของบริษัททีวีบูรพา โครงการที่ทำให้เธอมั่นใจว่า การทำเกษตรอย่างสอดคล้องกับธรรมชาตินั้นดีและเป็นไปได้จริง 

“พอมั่นใจว่าจะเดินทางนี้ ก็เริ่มตามหาว่ามีใครบ้างที่ทำงานตรงกับแนวทางของเรา แล้วก็ได้พบกับ พี่ตุ๊หล่าง (แก่นคำหล้า พิลาน้อย นักพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองชาวยโสธร) ที่เขาทำงานพัฒนาและอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอยู่ที่จังหวัดยโสธร และได้เรียนรู้ตั้งแต่ว่าดำนาอย่างไร ดูแลต้นข้าวอย่างไร ไปจนถึงการเก็บเมล็ดพันธุ์ และกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุด” อุ้มย้อนความหลังให้ฟังถึงวันที่เธอเป็นหนึ่งในศิษย์ของผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวพื้นบ้านลำดับต้น ๆ ของประเทศอย่างตุ๊หล่าง ก่อนเสริมพร้อมรอยยิ้มว่าสิ่งที่ทำให้เธอในวันที่เป็นน้องใหม่ในวงการข้าวตื่นเต้นที่สุด คือความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวนับร้อย ซึ่งมีกลิ่น รส และคาแรกเตอร์ต่างกันอย่างน่าสนใจ มากกว่านั้น ข้าวหลายพันธุ์ยังมีต้นกำเนิดอยู่ที่บ้านเกิดของเธอเอง

ปรัชญาในนาข้าว 

หลังเดินทางสะสมความรู้อยู่ร่วมปี จึงถึงเวลาที่อุ้มก้าวเท้าลงนา ศึกษาด้วยประสบการณ์จริง 

“เรามีที่ดินของครอบครัวอยู่ประมาณ 30 ไร่ เดิมแบ่งให้เช่าทำนา ทีนี้ก็เริ่มคิดว่าน่าจะใช้ต้นทุนที่มีให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เลยแบ่งที่ดินเป็นแปลงทดลองประมาณ 9 ไร่ ปลูกข้าว 2 แบบ คือบริเวณที่ติดคลองชลประทานทำนาห้วย ส่วนพื้นที่ที่ไม่ติดน้ำทำนาโคก และเลือกปลูกเฉพาะข้าวสายพันธุ์พื้นบ้าน เพราะเราตั้งใจจะศึกษาทั้งเรื่องระบบนิเวศ และศึกษาลักษณะสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงเรียนรู้การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไปพร้อมกัน” 

อุ้มเล่าเรื่อย ๆ ก่อนย้ำว่า เมื่อมองจากภาพใหญ่ในวันนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่าการทำนาของเธอประสบความสำเร็จอย่างน่าประทับใจ ทว่าในวันแรก ๆ อุ้มและชาวนาคนอื่น ๆ ที่ร่วมเดินทางในวิถีเกษตรอินทรีย์เหมือนกัน ล้วนต้องเผชิญกับอุปสรรคไม่น้อย ทั้งเรื่องแมลงและศัตรูพืช หรือเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสูง เพื่อทำให้มีน้ำเพียงพอเลี้ยงต้นข้าว 

“เรื่องที่ค้นพบระหว่างนั้นยิ่งทำให้ตื่นเต้น เพราะได้รู้ว่ากลิ่นและรสชาติของข้าวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งเรื่องสายพันธุ์ น้ำ ดิน สภาพอากาศในท้องถิ่น อย่างข้าวพันธุ์ขาววิสุทธิ์ที่ปลูกในแปลงทดลองของเราแล้วอร่อยมาก จัดชิมข้าวกี่ปีต่อกี่ปีก็ได้รับความนิยม ถ้านำไปปลูกที่อื่นก็มีกลิ่นรสแตกต่างออกไป”

การทำแปลงทดลองดำเนินอยู่ราว 2 ปี อุ้มจึงตกตะกอนความรู้ชุดใหม่และตัดสินใจก่อตั้งกลุ่ม ‘ชาวนาไทอีสาน’ จังหวัดบุรีรัมย์ เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายชาวนาไทอีสานที่กระจายตัวอยู่ทั่วภาคอีสาน 

“หลังก่อตั้งกลุ่มชาวนาไทอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ ก็เริ่มมองถึงเป้าหมายร่วมของเครือข่ายมากขึ้น คราวนี้จึงไม่ใช่แค่ปลูกข้าวเพื่อกินหรือขายแล้ว แต่รวมถึงการพัฒนาและอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวด้วย” อุ้มเล่าถึงภารกิจที่ทุกวันนี้เธอและสมาชิกในกลุ่มก็ยังจับมือกันเดินหน้าอย่างเต็มกำลังผ่านการทำนาอย่างละเอียดลออ

“การจะรักษาสายพันธุ์ข้าวให้คุณภาพดีต่อเนื่อง ต้องอาศัยการทำนาอย่างประณีต หมายถึงการทำนาอย่างเข้าใจระบบนิเวศของพื้นที่และเข้าใจลักษณะเฉพาะของข้าวแต่ละสายพันธุ์อย่างดี เช่น การดำนา ทำไมเราถึงดำกล้าทีละต้น ไม่ใช้เครื่องหว่านกล้า หรือใช้วิธีการหว่านเมล็ดข้าวแทน ก็เพราะการดำนาแบบนี้ทำให้ต้นข้าวแข็งแรง และช่วยลดอัตราการเกิดของวัชพืชในนาได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยในการดูแลต้นข้าว” อุ้มในฐานะชาวนาเต็มตัวลงรายละเอียดวิถีการผลิตอย่างประณีตให้เราเห็นภาพชัดขึ้นกว่าเดิม 

 ปัญญาในนาข้าว 

“เราว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวนาเป็นสิ่งสวยงาม” 

อุ้มเกริ่น เมื่อเราถามว่าทำไมเลือกเดินทางยาก ด้วยการเลือกวิธีการผลิตข้าวที่ต้องใช้ทั้งแรงงานคนและเวลา สวนทางกับกระบวนการผลิตข้าวกระแสหลักในปัจจุบันที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่ากันหลายเท่าตัว 

“ช่วงชั้นมัธยม เราเริ่มเห็นวิถีการปลูกข้าวในชุมชนเปลี่ยนไปทีละนิด เร่งปลูก เร่งขาย บางทีถึงกับมีการแข่งขันกันเลยว่านาของใครจะเก็บเกี่ยวเสร็จก่อนกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การจะปลูกข้าวให้ได้คุณภาพดีมันเร่งไม่ได้เลย อย่างการเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องจักรก็อาจทำให้สายพันธุ์ข้าวปะปนกัน หรือการคัดพันธุ์ข้าวเพื่อเพาะปลูกในปีถัดไป หากไม่ใส่ใจคัดรวงข้าว ใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่ แม่พันธุ์ข้าวที่ได้ก็ย่อมไม่ได้คุณภาพ หรือการผสมพันธุ์ข้าว 2 สายพันธุ์เพื่อพัฒนาคุณภาพ เป็นงานที่ต้องอาศัยความทุ่มเทสูงมาก ในแต่ละวันมีช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่นาทีที่เกสรของข้าวพร้อมให้เราค่อย ๆ คีบจากต้นหนึ่งไปผสมกับอีกต้น หรือการทำให้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ได้มีคุณภาพเสถียร ต้องทดลองปลูกต่อเนื่องนานนับปีหรือหลายปี เร่งไม่ได้อีกเช่นกัน” 

มากไปกว่านั้น การทำนาโดยอาศัยภูมิปัญหาท้องถิ่นยังเปิดโอกาสให้คนในชุมชนสานสัมพันธ์กันผ่านการทำงานในท้องนา รวมถึงประเพณีที่เชื่อมโยงกับข้าวและชาวนา กระทั่งเกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจพัฒนาคุณภาพข้าว อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือหรือวิธีคิดซับซ้อน 

“เพราะเครือข่ายชาวนาไทอีสานมีเป้าหมายเดียวกัน ในอีกมุมมันช่วยทำให้เรารู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน อยากร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพข้าวให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในแง่คุณภาพและการขยายตลาด เพื่อให้ข้าวของกลุ่มชาวนาไทอีสานสร้างรายได้ให้กับชาวนาได้แบบยืนระยะ”

การขยายตลาดดังกล่าวทำผ่านการส่งต่อเรื่องราวของข้าวที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงการทำงานร่วมกับร้านอาหารหลายแห่ง นำข้าวของกลุ่มชาวนาไทอีสานไปรังสรรค์เป็นเมนูแสนอร่อย ราวกับเป็นโชว์รูมนำเสนอความพิเศษของข้าว ซึ่งช่วยเชื่อมโยงคนกินข้าวให้เข้ามาทำความรู้จักชาวนาไทอีสานมากขึ้น 

“ข้าวเชื่อมโยงเรากับกลุ่มคนหลากหลาย หลายปีก่อนมีคนอ่านบทความเรื่องชาวนาไทอีสานแล้วเกิดประทับใจ บินตรงจากสหรัฐฯ มาเจอเราก็มี จากนั้นก็กลายเป็นลูกค้าที่ซื้อกันต่อเนื่อง จนทุกวันนี้มีข้าวของชาวนาไทอีสานอย่างข้าวหอมเพชรราตรีหรือข้าวกุสุมาอยู่ที่สหรัฐฯ บ้างแล้วนะ” เธอเล่าถึงหนึ่งในบรรดาเรื่องน่าชื่นใจให้เราฟัง พร้อมเผยถึงอีกหนึ่งหมุดหมายอย่างการทำให้ ‘ข้าวเป็นมากกว่าข้าว’ ทั้งการเปลี่ยนข้าวเป็นแป้งข้าวสำหรับทำเบเกอรี่ หรืออีกหลายผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมล็ดข้าวได้อย่างยั่งยืน 

ทว่าไม่ได้มีเพียงเรื่องชวนให้ใจชื้น ด้วยเส้นทางนี้ยังมีอุปสรรคปรากฏขึ้นท้าทายอยู่ตลอดเวลา เช่นในวันนี้ที่สายพันธุ์ข้าวที่พัฒนาโดยกลุ่มชาวนาไทอีสานเริ่มกระจายสู่นาข้าวนอกเครือข่าย ซึ่งหากมองในแง่การตลาด การมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นย่อมไม่ใช่เรื่องน่านิ่งนอนใจ 

“เมื่อข้าวสายพันธุ์ที่กลุ่มเราพัฒนากันมาเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น เริ่มมีมูลค่า ชาวนากลุ่มอื่น ๆ นอกเครือข่ายก็นำไปปลูกบ้าง ซึ่งแง่บวกก็เป็นเรื่องน่าดีใจที่พันธุ์ข้าวของเราออกไปเติบโตในวงกว้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมรับมือกับแข่งขันด้วยเหมือนกัน” เธอยิ้มรับ

ก่อนจบบทสนทนา เราถามถึงเป้าหมายระยะไกลที่ ‘คนข้าว’ อย่างอุ้มอยากเดินไปให้ถึง ก่อนเธอจะตอบอย่างไม่ลังเลใจว่า เป้าหมายคือการทำให้ผู้บริโภคได้กินข้าวที่ดี ทั้งในแง่ความอร่อยจากสายพันธุ์อันหลากหลาย และที่สำคัญคือดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม

Writer

อรุณวตรี รัตนธารี

อรุณวตรี รัตนธารี

นักสื่อสารเรื่องราวของมนุษย์ผ่านอาหาร ผู้อยากเห็นระบบอาหารของไทยใส่ใจคนทุกกลุ่ม