ภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นพื้นที่สีแดงกว้างทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ทะเลทรายคาลาฮารีมีอายุ 60 ล้านปี เก่าแก่เท่ากับผืนทวีปแอฟริกา กินพื้นที่เข้าไปในเขตแดนของ 3 ประเทศ ส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้กันเป็นเขตอุทยานแห่งชาติที่เดินทางข้ามไป-มาระหว่างเขตแดนของทั้ง 3 ประเทศได้

พื้นที่อุทยานนี้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าในจำนวนจำกัด มีแคมป์ไซต์ให้พักค้างคืนกระจายอยู่ห่าง ๆ แต่ละแคมป์ไซต์จำกัดจำนวนคนเข้าพัก ต้องจองมาล่วงหน้าเท่านั้น นี่เป็นหนแรกที่เราขับรถซาฟารีกันเองแบบไม่มีไกด์นำทาง เราหาข้อมูลของพื้นที่และพยายามวางแผนล่วงหน้ามาให้ได้เยอะที่สุด ในอุทยานไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตนอกพื้นที่แคมป์ หลังจากนี้เราต้องพึ่งตัวเองอย่างจริงจัง

เช้าวันแรก เราออกจากแคมป์ตั้งแต่เช้าตรู่ แดดยามเช้าฉาบทุกสิ่งให้เป็นสีเหลืองทอง อากาศแห้งเย็นที่สูดเข้าปอดค่อย ๆ ไล่ความง่วงออกไป ด้านหน้ามีรถจอดสวนทางอยู่ 1 คัน ทางขวามือของถนนมียีราฟยืนนิ่งอยู่ พวกเราชะลอรถแล้วจอดต่อท้ายห่าง ๆ เพื่อหยุดถ่ายรูปยีราฟ

จู่ ๆ เพื่อนคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในรถคันเดียวกันก็พูดขึ้นมาว่า “แคต!”

สิงโตและเสือล้วนเป็นสัตว์ตระกูลแมวทั้งสิ้น สำหรับซาฟารีไม่ว่าจะเป็นแมวประเภทไหนก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นทั้งนั้น เราเพิ่งออกจากแคมป์มาได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ไม่มีใครคิดว่าจะได้เจอกับเรื่องตื่นเต้นเร็วขนาดนี้ ก่อนจะมา เพื่อนชาวแอฟริกาใต้กล่าวว่า พวกเธอจะได้เจอสิงโตทุกวัน เพราะมันคือถิ่นของสิงโต

พวกเราหันไปทางฝั่งซ้ายตามที่เพื่อนบอก ก็เห็นส่วนหัวของสัตว์ประเภทแมวโผล่ขึ้นมาจากพงหญ้าสีทอง มันไม่ใช่สิงโต

เสือชีตาห์นั่งอยู่บนเนินมองจ้องไปจุดหนึ่งนิ่ง สักพักก็เริ่มออกเดินช้า ๆ สายตายังคงจดจ้องไปทางทิศเดิม ทุกก้าวของมันค่อย ๆ เขยิบเข้าใกล้รถเรามาเรื่อย ๆ จนอยู่ห่างไปไม่ถึง 10 เมตร ความตื่นเต้นในตัวเราพุ่งขึ้นสูงสุด แต่ต้องสะกดไว้ไม่ให้ระเบิดออกมา บรรยากาศนอกรถเงียบกริบ ข้างในรถก็เงียบสนิทเช่นกัน เราระวังแม้กระทั่งเสียงหายใจของตัวเอง เพราะกลัวจะรบกวนและไล่ชีตาห์หนีไป

เสือชีตาห์หนุ่มตัวแรกที่เราเจอ หลังจากขับรถออกจากแคมป์ได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
เสือชีตาห์อีกตัวที่พบตั้งแต่วันแรก มันค่อย ๆ กินเหยื่อที่ล่าได้ตรงจุดนี้มา 2 วันแล้ว โดยมีจิ้งจอกหลังดำคอยเฝ้ารอซากเหลือ

ชีตาห์เดินผ่านเราแล้วหักออกห่างไปเรื่อย ๆ มันหยุดยืนนิ่งสักพักแล้วนั่งลงหายกลืนไปในหญ้าสูง พวกเราในรถกลับมาหายใจเป็นปกติได้อีกครั้ง

หลังจากชีตาห์หายไปในพงหญ้าได้สักพัก นั่งรอแล้วก็ไม่เห็นทีท่าว่ามันจะขยับออกมาใหม่ เราจึงขับรถเดินทางต่อ

หลังจากขับรถมาได้ 6 ชั่วโมง เหลือระยะทางอีกประมาณ 40 กิโลเมตรก็จะถึงแคมป์ทางใต้ของพื้นที่ ซึ่งเป็นแคมป์ที่เราจะนอนในคืนนี้ บนถนนข้างหน้ามีรถจอดต่อกันอยู่ 3 คัน นั่นเป็นสัญญาณว่ามีสิ่งน่าสนใจอยู่บริเวณนั้น

เมื่อเราเข้าใกล้ก็ได้เจอเสือชีตาห์ตัวหนึ่งนั่งหลับตาอยู่ข้างเหยื่อของมัน เรามารู้ทีหลังว่ามันล่าเหยื่อชิ้นนี้ตั้งแต่ 2 วันก่อน และทยอยกินมาเรื่อย ๆ จนวันที่เรามาถึง จิ้งจอกหลังดำ 2 ตัว เดินวนอยู่ใกล้ ๆ เพื่อรอเก็บกินซากของเหลือ

ระหว่างที่เราจอดรถรอดูชีตาห์ก็มีรถเพิ่มขึ้นมาต่อท้ายเรื่อย ๆ บางคันก็ขับข้ามไปจอดด้านหน้า เราจอดดูชีตาห์ตัวนี้จนถึงเวลาต้องเคลื่อนตัวไปต่อ

ถนนทางตรงช่วงสุดท้ายก่อนเข้าแคมป์มีรถจอดเรียงกันเป็นแถวอีกครั้ง คราวนี้เป็นเสือดาวบนผาหินสูง ถึงแม้ว่าจะมีเวลาให้หยุดดูอยู่ไม่นาน แต่ก็เป็นการปิดวันแรกอย่างดีที่สุด พวกเราลิงโลดและล่องลอยอย่างมีความสุขในโชคที่ได้มา

เช้าวันต่อมา เราเลือกเส้นทางขับรถเป็นถนนอีกสาย ออริกซ์กระจายตัวอยู่ทุกที่ที่ผ่านไป พวกมันเป็นสัตว์แกร่ง อดน้ำได้หลายวัน มันจึงเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ทะเลทรายแถบนี้

ออริกซ์เป็นสัตว์ประเภทแอนทีโลปซึ่งอดน้ำได้หลายวัน เหมาะกับพื้นที่ทะเลทรายแห่งนี้มาก

นอกจากออริกซ์แล้ว เรายังเจอสปริงบ็อก จิ้งจอกหลังดำ รวมไปถึงฮันนีแบดเจอร์ด้วย แต่ไม่ได้เจอนักล่าใหญ่เลยสักตัว

ฮันนีแบดเจอร์ เป็นสัตว์ที่เลื่องชื่อในความไม่เกรงกลัวใครหน้าไหนเลย

ที่แคมป์จะมีบอร์ดรายงานการพบเห็นสัตว์ของแต่ละวันแปะอยู่ เป็นบอร์ดที่ทุกคนช่วยกันรายงานผลร่วมกัน พวกเราให้ชื่อเล่นว่า ‘บอร์ดเฉลยข้อสอบ’ เพราะมันเฉลยให้รู้ว่าเราพลาดอะไรไปตรงไหนในวันนั้นบ้าง เย็นวันนั้นพวกเรารู้สึกเหมือนสอบตก เพราะเส้นทางที่เลือกขับรถผ่านไปมีคนเจอสิงโตหลายจุด

ทางที่เลือกนั้นถูกแล้ว แต่เราไม่รู้ว่าพลาดสิงโตไปตอนไหน

และมันก็ยังเป็นเหมือนเดิมในวันต่อมา ถึงจะเปลี่ยนเส้นทางไปอีกเส้น เราก็ยังไม่ได้เจอสิงโต ไม่มีรถจอดเป็นแถวเหมือนวันแรกให้แอบดูอีกเลย เราขับรถไปช้า ๆ ด้วยความโดดเดี่ยว

ทุกเย็นเมื่อกลับมาดูบอร์ดเฉลย ก็ยิ่งขยี้ย้ำให้รับรู้ถึงความอ่อนด้อยในการมองหาสัตว์ของพวกเรา

หมาจิ้งจอกหลังดำเดินเข้ามาเช็กดูรถของเราในระยะใกล้

ผ่านมา 3 วันแล้ว พวกเรายังไม่ได้เห็นสิงโตเลยสักตัว แมวตระกูลอื่นก็เงียบหายไปจากพวกเราเช่นกัน นอกจากเสือชีตาห์วันแรก เรียกได้ว่าเราไม่ได้เห็นอะไรที่พิเศษอีกเลย

ในหัวของเราเริ่มคิดว่า ถ้ามากับไกด์หรือคนนำทาง เราจะได้เจอสัตว์มากกว่านี้ไหม เราจะได้เจอสิงโตทุกวันหรือเปล่า ทุกแอ่งน้ำที่เราขับผ่าน มีคำถามว่าจะหยุดรอหรือจะขับต่อไปเรื่อย ๆ ทุกการตัดสินใจถูกเคลือบไว้ด้วยความลังเล

ซาฟารีครั้งก่อน ๆ เราไม่เคยต้องคิดเรื่องแบบนี้ แค่นั่งไปในรถที่มีคนขับพาไป หยิบกล้องขึ้นมาตอนที่มีคนชี้สัตว์ให้ดู

ว่ากันว่า ถ้าอยากเติบโตให้ลองอยู่ด้วยตัวเอง การอยู่คนเดียวต้องตัดสินใจทุกทางเลือกด้วยตัวเอง อาจจะเป็นได้ว่าการลงมือตัดสินใจคือส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราเติบโต

บอร์ดรายงานการพบเจอสัตว์ป่าในพื้นที่ ซึ่งเราให้ชื่อเล่นว่าบอร์ดเฉลยข้อสอบ

บ่ายวันหนึ่งของการขับรถมองหาสัตว์ที่เงียบเหงา แทบไม่พบสัตว์ป่าน่าตื่นเต้นใด ๆ เราจึงตัดสินใจกลับเข้าแคมป์เร็วกว่าปกติเพื่อแวะไปดูบอร์ดเฉลยข้อสอบล่วงหน้า บนบอร์ดแปะว่ามีคนเจอสิงโตที่แอ่งน้ำใกล้กับแคมป์ ซึ่งใช้เวลาขับรถไปไม่ถึง 10 นาที พวกเราเลยตัดสินใจลองออกไปดูกัน

มีรถจอดเรียงรายเต็มพื้นที่ใกล้แอ่งน้ำ เราขับรถช้า ๆ วนหาจุดจอด พร้อมกับแอบมองคนในรถคันอื่น ๆ ว่าพวกเขาหันหน้าไปทางไหน ทิศทางที่ทุกคนหันไปย้อนแสงเต็มที่ ยิ่งทำให้มองยากขึ้นไปอีก เรามองไล่ตามพุ่มไม้ทุกพุ่ม ต้นไม้ทุกต้น สันเขาแนวขอบฟ้า แนวหญ้าที่ไล่ต่ำลงมา มองวนแล้ววนอีกก็ยังไม่เห็นอะไรที่จะดูเป็นสิ่งมีชีวิตนอกจากต้นไม้เลย รถบางคันเริ่มขยับหามุมใหม่ บางคันเริ่มถอยกลับออกไป พวกเราเริ่มลังเล ยังมีสิงโตอยู่จริง ๆ ใช่มั้ย หรือนี่เป็นแค่อุปทานหมู่ที่เกิดจากบอร์ดเฉลยสัตว์

จู่ ๆ คนข้างตัวเราก็พูดขึ้นมาว่า “นั่นไง สิงโต!” 

ฝูงสิงโตซึ่งนั่งเนียนไปกับพงหญ้า อยู่ไกลและย้อนแสงจนเกือบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เรานั่งดูมันจนพระอาทิตย์ใกล้จะตกซึ่งเป็นเวลาปิดประตูแคมป์

สิงโตอยู่ไกลจากเรามาก ไกลจนแทบจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เราอยู่รอจนพระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า ซึ่งคือเวลาที่ประตูแคมป์จะปิด แต่พวกมันก็ยังนั่งกลืนกับพงหญ้าอยู่เหมือนเดิม

เช้าวันต่อมา พวกเราออกจากแคมป์ตั้งแต่เช้าเช่นเคย วันนี้เราต้องย้ายแคมป์ไปนอนอีกแคมป์ที่ห่างไป 165 กิโลเมตร เส้นทางนี้ใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 5 ชั่วโมง ไม่รวมเวลาหยุดพัก

ว่ากันว่าการขับรถซาฟารี ระยะทางเป็นสิ่งสัมพัทธ์ ระยะทางแค่ไม่กี่กิโลเมตรอาจต้องใช้เวลาทั้งวันเพื่อเคลื่อนที่ไปให้ถึงก็เป็นได้ เพราะขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้เวลากับสิ่งที่พบเจอมากแค่ไหน

เราวางแผนว่าจะแวะตามจุดที่บอร์ดเฉลยเมื่อวานมีรายงานว่าเจอสิงโต และกะว่าจะหยุดที่แต่ละแอ่งน้ำนานขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อยอีกด้วย

แกะรอยเท้าตามหาฝูงสิงโต ณ Kalahari ทะเลทรายอายุ 60 ล้านปีที่ช่วยให้เราเติบโตด้วยตัวเอง
ฝูงสิงโตเดินแทรกอยู่ระหว่างขบวนรถ มุ่งหน้าไปทางแอ่งน้ำ

พวกเราแวะไปที่แอ่งน้ำเมื่อวานเป็นแห่งแรก วันนี้ไม่มีรถจอดอยู่ที่นี่เลยสักคัน พวกเราอยู่กันเองตามลำพัง เพื่อนในรถชี้ให้ดูรอยเท้าสิงโตที่เปะปะเต็มพื้นทราย พวกเราค่อย ๆ สังเกตทิศทางเดินของมัน มันก็คล้าย ๆ กับรอยเท้าแมวที่มีขนาดใหญ่ หลังจากหยุดดูรอยเท้าอยู่สักพัก พวกเราค่อย ๆ เข้าใจทิศทางที่มันเดินไปได้ รอยเท้าเดินวนมาที่แอ่งน้ำแล้วเดินเลยผ่านไปลงถนน มีรอยที่ข้ามถนนไปมา แต่รอยสุดท้ายข้ามถนนแล้วมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก

การอ่านรอยเท้าสัตว์อาจเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับคนที่มีประสบการณ์ซาฟารีมายาวนาน แต่สำหรับพวกเรา นั่นคือครั้งแรกที่ทำด้วยตัวเอง

เราหยิบแผนที่มาเปิดดู ทางทิศตะวันออกมีแอ่งน้ำอีกแห่งอยู่ทางนั้น

ถ้าจะแวะไปดูก็ต้องขับรถอ้อมเพิ่มระยะทางไปจากทางที่ตั้งใจจะไป แถมวันนี้ระยะทางขับรถไม่ใช่ใกล้ ๆ การเพิ่มระยะทางที่ไม่จำเป็นคือเวลาที่เพิ่มขึ้น และเวลาเป็นสิ่งที่เรามีจำกัด เราต้องไปให้ถึงแคมป์ก่อนเวลาประตูปิด

ถ้าอ้อมไปก็อาจจะได้เจอสิงโต แต่ก็อาจจะเสียเวลาคว้าน้ำเหลวก็ได้

การตัดสินใจด้วยตัวเองเป็นเรื่องยากเสมอ เพราะเรากลัวว่าทางเลือกของเราจะเป็นทางที่ผิด แต่ทางเลือกที่ผิดไม่ได้น่ากลัวอย่างคิด เราก็แค่ต้องยอมรับว่าผิด เรียนรู้ แล้วเลือกทางใหม่ที่ดีขึ้น

พอเข้าใกล้แอ่งน้ำก็เริ่มเห็นว่าด้านหน้ามีรถขับช้า ๆ ตามกันอยู่เป็นขบวน ระหว่างขบวนรถมีร่างสีเหลืองอ่อนเดินแทรกตัวข้ามไปมาอยู่

สิงโตหนุ่มวัยรุ่นที่แผงคอยังขึ้นไม่เต็มที่เป็นส่วนหนึ่งของฝูง 9 ตัว ซึ่งล้อมรอบเราอยู่

เมื่อเข้าไปถึงก็พบว่ามีสิงโตทั้งหมด 9 ตัว เดินกระจายตัวกันทั้งทางซ้ายและขวาของถนน แทรกตัวอยู่ระหว่างรถ และบางตัวก็เดินนำหน้าขบวนรถด้วย ทั้งหมดกำลังมุ่งหน้าไปทางแอ่งน้ำที่เราเล็งไว้จากแผนที่ มันเหมือนขบวนแห่ที่มีสิงโตร่วมขบวนไปกับเรา รถทุกคันขยับตัวช้าตามความเร็วการเดินของสิงโต

นี่เป็นการเจอสิงโตที่เกินความคาดหวังไปมาก ๆ เป็นการตัดสินใจที่ให้รางวัลใหญ่เหมือนถูกลอตเตอรี่เลยทีเดียว

เสียงพวกเราในรถผลัดกันชี้ชวนให้ดูสิงโตตัวโน้นทีตัวนี้ที บางตัวนอนกลิ้งอยู่ข้างทาง บางตัวเดินไปซุกไซ้พี่น้องในฝูง หลายตัวเดินไปกินน้ำที่แอ่งพร้อม ๆ กัน 

หลังจากอยู่ด้วยกันเกือบชั่วโมง สิงโตก็ทยอยเดินหลบไปที่ทุ่งกว้างด้านหลัง

เช้าวันนั้นเป็นการเจอสิงโตที่พิเศษที่สุดเท่าที่เราเคยพบมา มันไม่ได้พิเศษเพียงเพราะจำนวนสิงโตที่มีมากถึง 9 ตัวหรือพิเศษเพราะอยู่ใกล้พวกเรามาก แต่พิเศษเพราะเราอ่านรอยเท้าของสิงโตแล้วเลือกมาแอ่งน้ำนี้ด้วยตัวของพวกเราเอง

การพึ่งตัวเองทำให้เราเติบโต และการเติบโตนั้นทำให้เราไม่ติดอยู่ตรงที่เดิม

เย็นวันนั้นพวกเราฉลองการเติบโตด้วยการนำหมุดสิงโตไปแปะไว้ตรงบอร์ดเฉลยข้อสอบในแคมป์ด้วยตัวของเราเอง

Writer & Photographer

Avatar

ชุตินันท์ โมรา

ช่างภาพ/วิดีโอใต้น้ำมือรางวัลระดับเอเชีย ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกใต้น้ำทั้งในและนอกประเทศมากว่า 17 ปี ทำหนังสือดำน้ำระดับนานาชาติหลายเล่ม เป็นทีมวิดีโอใต้น้ำและคนเบื้องหลังสารคดีและโฆษณาหลายตัว นอกจากนี้ยังเป็นแอดมินเพจ digitalay