ครั้งหนึ่ง คนไทยหลายล้านชีวิตต่างเคยมี ปังปอนด์ หนูหิ่น คุณโฉลง ไก่ย่างวัลลภ ฯลฯ เป็นเพื่อนคู่ใจ อยู่ติดมือเวลาไปไหนมาไหน ทั้งยามกินข้าว รอรถ ตัดผม ทำผม หรือแม้แต่เข้าห้องน้ำ ช่วยเติมเต็มทุกช่องว่างของชีวิตให้กลายเป็นเวลาแห่งความสุขและเสียงหัวเราะตลอดมา

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เพื่อนเหล่านี้ก็ไม่เคยหายไปไหน ยังคงรายล้อมอยู่รอบตัวเรา โลดแล่นอยู่ในมือถือ คอมพิวเตอร์ ข้าวของในชีวิตประจำวัน และอื่น ๆ อีกมากมาย 

สิ่งเหล่านี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากเมื่อ 50 ปีก่อน บุตรชายคนโตของเจ้าของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น อย่าง วิธิต อุตสาหจิต ไม่ขอพ่อทำนิตยสารฉบับใหม่ที่ชื่อว่า ขายหัวเราะ

เขาคนนี้ได้ปลุกปั้นหนังสือเล่มเล็ก ๆ มาตั้งแต่ศูนย์ สร้างนักเขียนการ์ตูนหน้าใหม่ เปิดเวทีสำหรับแก๊กตลก เรื่องขำขัน เรื่องสั้น จน ขายหัวเราะ ขึ้นแท่นเป็นตำนานความหรรษา เกิดมุกตลกสุดคลาสสิก ทั้ง โจรมุมตึก ติดเกาะ ทะเลทราย ที่ไม่ว่าเล่นกี่ครั้งก็ยังเรียกรอยยิ้มได้เสมอ

บางคนใช้หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนแบบเรียน ฝึกอ่านภาษาไทยจนคล่องแคล่ว และอีกไม่น้อยที่ยกให้เป็นจดหมายเหตุที่บันทึกเรื่องราวสำคัญของสังคม

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ถือโอกาสดีชักชวน บ.ก.วิติ๊ด มาล้อมวงคุยพร้อมกับ นก-โชติกา อุตสาหจิต ภรรยา และ นิว-พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ลูกสาวคนโต ถึงเส้นทางที่หล่อหลอมให้ ขายหัวเราะ กลายเป็นความฮาสามัญประจำบ้านมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

ย้อนตำนานความฮาสามัญประจำบ้านตลอด 50 ปีของ ‘ขายหัวเราะ’ โดยครอบครัว บ.ก.วิติ๊ด
นิว-พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ลูกสาวคนโต บ.ก.วิติ๊ด หรือ วิธิต อุตสาหจิต และ นก-โชติกา อุตสาหจิต ภรรยา

ใครจะไปคิดว่า ขายหัวเราะ คือผลงานของเด็กหนุ่มอายุแค่ 16 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2516 แผงหนังสือเมืองไทยมีโอกาสได้ต้อนรับนิตยสารการ์ตูนใหม่เอี่ยมของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ซึ่งมีโปรยปกดึงดูดสายตาว่า หัวเราะอย่างทันสมัยกว่า 500 ครั้ง ครั้งละ 1 สตางค์เท่านั้น ถูกจัง…

บรรลือสาส์นในสมัยนั้นถือเป็นสำนักพิมพ์แถวหน้าของเมืองไทย ตีพิมพ์วรรณกรรมดี ๆ นับไม่ถ้วน ทั้ง พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต คู่กรรม ของ ทมยันตี และ อินทรีแดง ของ เศก ดุสิต

ด้วยความที่เติบโตในโรงพิมพ์ตั้งแต่จำความได้ วิธิตจึงซึมซับการทำงานของ บันลือ อุตสาหจิต ผู้เป็นพ่อและเจ้าของสำนักพิมพ์อย่างใกล้ชิด โดยหน้าที่แรกที่ได้รับมอบหมาย คือคัดแยกต้นฉบับ

ย้อนตำนานความฮาสามัญประจำบ้านตลอด 50 ปีของ ‘ขายหัวเราะ’ โดยครอบครัว บ.ก.วิติ๊ด
บันลือ อุตสาหจิต ผู้เป็นพ่อและเจ้าของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น

“คุณพ่อผมทำงานหนักมาก เพราะเริ่มสร้างตัวจากไม่มีอะไรเลย ต้องทำทุกอย่าง ทั้งหานักเขียน ทำสำนักพิมพ์ ทำโรงพิมพ์ เป็นผู้จัดการ รู้ว่าท่านเหน็ดเหนื่อยมาก ตอนนั้นผมยังเด็ก ๆ อยู่ เลยถามท่านว่า พอจะช่วยอะไรป๊าได้บ้างไหม ท่านเลยให้เอาต้นฉบับไปจัดเป็นหมวดหมู่แยกตามประเภท นักเขียนคนนี้เป็นแก๊กการ์ตูนตลก คนนี้เป็นเรื่องสั้น ผมทำหน้าที่นี้มาตั้งแต่ชั้นประถมต้นเลย” วิธิตนึกย้อนถึงวัยเยาว์

แต่พอนานวัน ต้นฉบับก็หลั่งไหลเข้ามามากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มหนังสือการ์ตูนและนิยายภาพ เนื่องจากสมัยนั้นบรรลือสาส์นมีนิตยสารการ์ตูนที่เป็นเรือธงมากถึง 4 ฉบับ แยกตามนักเขียนแต่ละคน

เล่มแรกชื่อว่า หนูจ๋า วางแผงตั้งแต่ พ.ศ. 2502 เขียนโดย จุ๋มจิ๋ม-จำนูญ เล็กสมทิศ เล่มถัดมา คือ เบบี้ ของ อาวัฒน์-วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ เล่มที่ 3 เป็นผลงานจับคู่ของ พ.บางพลี-วีรกุล ทองน้อย กับ พลังกร สุรเดช ชื่อ คุณหนูเด็กดี และเล่มสุดท้าย คือ รวมรสสำราญ โดย ปิยะดา-น.อ.ประเวส สุขสมจิตร กับ ทวี วิษณุกร

เด็กหนุ่มเห็นว่า หากมีนิตยสารที่รวมนักเขียนไว้ภายในเล่มเดียว พร้อมแทรกเรื่องขำขันกับเรื่องสั้นตลก ๆ ไปด้วยก็คงดีไม่น้อย เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่ค่อยมีคนเห็นศักยภาพของเนื้อหาประเภทนี้ เพราะมองว่าเป็นเพียงงานคั่นอารมณ์ที่แทรกในหน้านิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เท่านั้นเอง

“เรามีวัตถุดิบครบหมดแล้ว บวกกับต้นฉบับมันก็แช่อยู่ ไม่ได้หมุนเวียนไป ก็เลยขออนุญาตคุณพ่อ บอกว่าผมอยากทำ คุณพ่อก็ไม่ลังเล อนุมัติเลย ผมจึงปรึกษากับอาวัฒน์และอาจำนูญเกี่ยวกับเรื่องชื่อ ทั้ง 2 อาเลยบอกว่า ให้มีคำว่า ‘หัวเราะ’ ด้วย เพราะเราต้องการให้เป็นหนังสือของเสียงหัวเราะ ส่วนข้างหน้าจะเป็นอะไรดี คุยไปคุยมา ใครสักคนก็บอกว่า ‘ขายหัวเราะ’ แล้วกัน ก็เลยใช้ชื่อนี้ตั้งแต่นั้นมา”

ย้อนตำนานความฮาสามัญประจำบ้านตลอด 50 ปีของ ‘ขายหัวเราะ’ โดยครอบครัว บ.ก.วิติ๊ด

การ์ตูน ขายหัวเราะ ฉบับรายเดือน เล่มละ 5 บาท ถูกส่งพ่วงไปพร้อมกับนิตยสารในเครืออย่าง ศรีสยาม ขวัญเรือน และ ดาราสยาม ซึ่งเพียงเล่มแรกก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนต้องเพิ่มจำนวนผลิตในเล่มที่ 2 นับเป็นเรื่องเกินคาดคิดของเด็กหนุ่มอยู่ไม่น้อย แต่ในอีกมุมก็ช่วยยืนยันความเชื่อว่าคนไทยนั้นหลงใหลเสียงหัวเราะมากเพียงใด

วิธิตเคยเล่าว่า ขายหัวเราะ ขายดีมาก ถึงขั้นใครไปถึงแผงช้ารับรองว่าอด ครั้งหนึ่งมีลูกค้าไปถามคนขายว่า “เล่มนี้ปกใหม่ใช่มั้ย” เพราะกลัวจะซื้อเล่มเก่า คนขายจึงตอบแบบโกรธ ๆ ว่า “ขายหัวเราะ ไม่เคยมีเล่มเก่าค้างนะ”

จากความสำเร็จของ ขายหัวเราะ ส่งผลให้ในต้น พ.ศ. 2519 วิธิตจึงแตกหน่อนิตยสารหัวใหม่ที่ชื่อ มหาสนุก เนื่องจากเวลานั้น ขายหัวเราะ ถูกมองว่าทะเล้นเกินไปสำหรับเด็ก ถึงขนาดมีผู้ปกครองเขียนจดหมายมาติติง โดย มหาสนุก นั้นตัดทอนแก๊กสองแง่สองง่าม แก๊กการเมือง แก๊กความสัมพันธ์ของสามีภรรยาออกไป และเสริมการ์ตูนเรื่องยาวของนักเขียนแต่ละคนเข้ามาแทน

ย้อนตำนานความฮาสามัญประจำบ้านตลอด 50 ปีของ ‘ขายหัวเราะ’ โดยครอบครัว บ.ก.วิติ๊ด

ทว่าท่ามกลางเส้นทางอันรุ่งโรจน์ของ ขายหัวเราะ กลับมีเหตุให้วิธิตต้องพักบทบาทบรรณาธิการลงชั่วคราว เนื่องจากเขาต้องลัดฟ้าไปเรียนวิชาภาพยนตร์ที่อังกฤษ

เพราะนอกจากธุรกิจสิ่งพิมพ์แล้ว บันลือยังมีบริษัทผลิตภาพยนตร์ของตัวเอง ชื่อว่า ‘ศรีสยามโปรดักชั่น’ สร้างสรรค์ผลงานดัง ๆ ออกมาหลายเรื่อง ทั้ง หนึ่งนุช จันทร์เพ็ญ นี่แหละรัก และ กระสือสาว โดยเรื่องหลังนั้นโด่งดังมาก เนื่องจากเคยเป็นนิยายภาพในนิตยสาร หนูจ๋า มาก่อน

วิธิตวนเวียนอยู่ในกองถ่าย ช่วยงานจิปาถะมาตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ บันลือเห็นลูกชายสนใจแนวนี้ บวกกับในสมัยก่อนผู้กำกับภาพยนตร์เป็นของหายาก เมื่อ พ.ศ. 2519 จึงส่งตัววิธิตไปศึกษาต่อที่ London Film School ประมาณ 2 ปีครึ่ง ขณะที่งาน ขายหัวเราะ กับ มหาสนุก ก็ใช้วิธีทำสำรองไว้ประมาณหนึ่ง โดยมีทีมงานที่เมืองไทยคอยช่วยจัดการส่วนที่เหลือ 

หลังเรียนจบกลับมา วิธิตเริ่มต้นงานกำกับภาพยนตร์ของตัวเอง คือ ผีหัวขาด นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี และ วาสนา สิทธิเวช

ย้อนตำนานความฮาสามัญประจำบ้านตลอด 50 ปีของ ‘ขายหัวเราะ’ โดยครอบครัว บ.ก.วิติ๊ด

“ผมได้แรงบันดาลใจจากหนังสือนิยายภาพของฝรั่ง เป็นคนหัวขาดแล้วก็หิ้วหัว เลยคิดว่าเป็นจุดขายที่น่าสนใจ จึงปรึกษากับ คุณทวี ซึ่งเป็นคนเขียนเรื่อง กระสือสาว แล้วก็ช่วยกันพัฒนาเส้นเรื่องออกมา ตอนนั้นคนในวงการฮือฮามาก”

แม้จะทำรายได้มากถึง 5 ล้านบาท แต่สุดท้ายวิธิตทำหนังได้เพียงเรื่องเดียว เพราะตระหนักแล้วว่า ธุรกิจภาพยนตร์ซับซ้อนกว่าที่คิด ทั้งการบริหารจัดการคิวนักแสดง การประสานผลประโยชน์กับโรงหนังและสายหนัง และที่หนักสุดคือการทำหนังแต่ละเรื่องเหมือนต้องนับหนึ่งใหม่ ต่างจากธุรกิจอื่นที่พอติดตลาดแล้วต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ เขาจึงขออนุญาตคุณพ่อหวนกลับไปทำสื่อสิ่งพิมพ์เต็มตัว

นั่นเองที่นำมาสู่ก้าวย่างสำคัญของนิตยสารในตำนานทั้ง 2 เล่ม

แม้จะฮิตติดลมบน แต่ก็ใช่ว่า ขายหัวเราะ จะหยุดนิ่งอยู่กับที่

หลังจากวิธิตกลับมาคุมบังเหียนทั้ง 2 เล่มเต็มตัว เขาก็เริ่มปฏิบัติการพัฒนานิตยสารให้น่าสนใจ โดยเฉพาะการแสวงหานักเขียนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกในกองบรรณาธิการ

นักเขียนที่ถือเป็นรุ่นบุกเบิกในยุคนี้คงต้องยกให้สามทหารเสือ อย่าง ต่าย-ภักดี แสนทวีสุข, ต้อม-สุพล เมนาคม และ นิค-นิพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์ 

อย่างต่ายนั้นเป็นแฟนตัวยงของจุ๋มจิ๋ม ไปไหนมาไหนพกหนังสือของจุ๋มจิ๋มติดมือไปตลอด จนเกิดแรงบันดาลใจว่า วันหนึ่งจะต้องเป็นนักวาดการ์ตูน ขายหัวเราะ ตามรอยไอดอลให้จงได้

ในเวลานั้นต่ายมักแวะเวียนมาที่หน้าร้านบรรลือสาส์น ย่านผ่านฟ้าเป็นประจำ จนวิธิตสังเกตเห็นว่าหนุ่มคนนี้มาอีกแล้วเลยเข้าไปทักทาย ต่ายจึงนำการ์ตูนแก๊กที่เขียนสะสมไว้หลายแผ่นยื่นส่งให้

ผลงานของต่ายในวันนั้นยังไม่ลงตัวเท่าใดนัก แต่วิธิตกลับรับไว้ทั้งหมด

ย้อนตำนานความฮาสามัญประจำบ้านตลอด 50 ปีของ ‘ขายหัวเราะ’ โดยครอบครัว บ.ก.วิติ๊ด

“คุณวิธิตมองขาด เขาเห็นเลยว่านักเขียนคนนี้อีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่ใช่แบบนี้แล้ว ซึ่งหากวันนั้น เราเป็นคุณวิธิต คงบอกไปว่าไม่เป็นไร ไว้พบกันใหม่” นกเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

โดย 2 เกณฑ์หลักที่วิธิตใช้พิจารณาผลงานของนักเขียน คือ ไอเดียกับฝีมือ แต่ให้น้ำหนักกับไอเดียมากกว่า เพราะฝีมือขัดเกลาได้ แต่ถ้าขาดไอเดียแล้ว ต่อให้ลายเส้นดีแค่ไหนก็เติบโตยาก

“เรามองในแง่ความเป็นไปได้ ถ้าฝีมือกับไอเดียรวมกันแล้วผ่าน 60 เปอร์เซ็นต์ เราก็จะพิจารณารับเข้ามาลองเขียนดู ซึ่งเราจะให้เขียนอย่างเต็มที่ เพราะยิ่งเขียนมากเท่าไหร่ ฝีมือก็จะพัฒนาไปมากเท่านั้น ในทางกลับกัน บางคนเขาเด่นเรื่องลายเส้น แต่ไอเดียไม่ไป แบบนี้ก็ลำบากเหมือนกัน เพราะมันจะวนไปวนมา ตันอยู่แค่นั้น แต่อย่างต่ายนี้ต้องถือว่าครบเครื่องทั้งลายเส้นและไอเดีย”

ว่ากันว่าในยุคที่ขายหัวเราะบูมสุดขีด เคยมีนักเขียนการ์ตูนหมุนเวียนเกือบ 40 ชีวิตเลยทีเดียว 

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเก่งมาตั้งแต่วันแรก วิธิตจึงใช้เวลาพัฒนาและฝึกปรือนักเขียนนานพอสมควร อย่างบางคนฝึกอยู่ 2 ปีถึงจะเข้าที่เข้าทาง ระหว่างนั้นก็ยังต้องจ่ายค่าต้นฉบับไปด้วย แม้ผลงานที่ส่งมาจะยังตีพิมพ์ไม่ได้เลยก็ตาม

“หลายคนมาบอกผมว่า เขาไม่พอใจนะว่าทำไมซื้องานไปแล้วถึงไม่ลงสักที แต่เรามองในฐานะคนอ่าน และเมื่อนักเขียนเขามองย้อนกลับไป ก็จะเห็นเองว่าฝีมือยังไม่ได้จริง ๆ” วิธิตฉายภาพ

“เรามองว่านักเขียนต้องมีเวที ต้องมีที่ให้ฝึกซ้อม ไม่อย่างนั้นจะถอดใจไปก่อน แล้วงานที่ส่งมาทุกครั้ง เขาจะได้ฟีดแบ็กกลับไปเลยว่าควรแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เพราะลูกค้าตัวจริงของเราคือผู้อ่าน ถ้าเราไม่มีจุดยืนที่แข็งแรง ปล่อยงานที่ไม่มีคุณภาพออกไป ผู้อ่านก็จะผิดหวัง แล้วท้ายที่สุด คนที่ไม่ได้เกิดก็คือนักเขียน เพราะคนจะจำไปแล้วว่าลายเส้นนี้ไม่ดี ดังนั้นนักเขียนที่ได้ตีพิมพ์งานชิ้นแรก เขาจะดีใจมากเหมือนได้ขึ้นสวรรค์” นกช่วยเสริม

และเมื่อก้าวขึ้นมาเป็นนักเขียนเต็มตัวแล้ว สิ่งที่ละเลยไม่ได้ก็คือการรักษาคุณภาพของผลงานให้ได้มาตรฐานสม่ำเสมอ ซึ่งในฐานะบรรณาธิการ วิธิตทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุน จัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ ทั้ง หนังสือ นิตยสาร และภาพยนตร์ ทั้งไทยและเทศ เพื่อเป็นสารตั้งต้นไอเดียใหม่ ๆ ให้แก่นักเขียน ตลอดจนแนะนำหัวข้อที่น่าสนใจ โดยเฉพาะข่าวสาร เรื่องเด่น ละครดัง หนังดี หรือแม้แต่โฆษณายอดนิยม เพื่อแต่ละคนจะได้นำมาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นแก๊กตลกที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน 

ย้อนตำนานความฮาสามัญประจำบ้านตลอด 50 ปีของ ‘ขายหัวเราะ’ โดยครอบครัว บ.ก.วิติ๊ด

“เราเล่นเรื่องประจำวัน อะไรที่เป็น Talk of the Town หรือปรากฏการณ์ทางสังคม เล่นหมด มู้ดเหมือนกับรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ของ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา โดยนักเขียนแต่ละคนก็จะมีสมุดเล่มเล็ก ๆ พอได้ไอเดียอะไรขึ้นมาก็จะจดแล้วร่าง เสร็จแล้วพอกลับถึงบ้านก็มานั่งเขียน พูดง่าย ๆ คือ ‘คว้าอากาศ’ มีอะไรก็คว้าไว้ เพราะเราเชื่อว่าไอเดียมีอยู่ทุกที่” วิธิตอธิบายต่อ

“อย่างพี่ต่ายนี่เก่งมาก เขาหาแก๊กจากอากาศได้จริง ๆ แค่นั่งรถจากบ้านไปศูนย์อาหารก็ได้เป็น 10 แก๊กแล้ว คือพอใจเขากระจ่าง มุมมองก็จะชัด นึกข้ามช็อตได้แล้วว่าจะเป็นการ์ตูนอย่างไร” นกเล่าบ้าง

ขณะเดียวกันก็ยังมีแก๊กคลาสสิกสไตล์ไทย ๆ ทั้งติดเกาะ โจรมุมตึก มนุษย์เมีย เทพารักษ์ หมอผี หลังบังเกอร์หิน และรักสามเส้าพระอภัยมณี ซึ่งแม้จะมีฉากหลังเหมือนกัน แต่ก็ได้ปรับเปลี่ยนคำพูด ตัวละคร มีการยิงมุกต่าง ๆ เสริมเข้าไปจนเหมือนเป็นเรื่องใหม่ นี่ยังไม่รวมไปถึง บ.ก.วิธิต ซึ่งถูกบรรดานักเขียน นำโดยต้อมหยิบขึ้นมาแซว จนกลายเป็น ‘บ.ก.วิติ๊ด’ จอมโหดที่คอยทวงต้นฉบับลูกน้องไม่ยอมหยุด

จากความสดใหม่ ทันกระแส ที่อัดแน่นในหนังสือเล่มเล็ก ๆ ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่ใช่เพียงความบันเทิงในวันที่หยิบขึ้นมาอ่าน แต่ยังเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย

เสน่ห์อีกอย่างของ ขายหัวเราะ และ มหาสนุก นอกจากแก๊กสั้น ๆ หน้าเดียวจบแล้ว วิธิตยังสนับสนุนให้นักเขียนทำงานเรื่องยาวของตัวเองด้วย ใครชอบหรือกำลังสนใจเรื่องอะไร ก็มาเสนอได้

อย่างเมื่อ พ.ศ. 2532 วิธิตได้ให้โจทย์นักเขียนแต่ละคนไปลองคิดเรื่องสั้นใหม่มาเสนอคนละเรื่อง ต่ายจึงได้เสนอเรื่อง ไอ้ตัวเล็ก ขึ้นมา เพราะอยากถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับเด็ก โดยมีตัวละครเอก ชื่อว่า ‘ปังปอนด์’ เขาคิดว่าเป็นชื่อที่น่ารักดี ไม่เคยได้ยินที่ไหน จากนั้นก็คอยสังเกตลูกคนอื่น ตามรถประจำทาง ตามห้างสรรพสินค้า ดูวิธีการอุ้ม รวมถึงศึกษาของใช้อุปกรณ์การเลี้ยงดูจากหนังสือฝรั่ง ก่อนจะตกผลึกออกมาเป็นเรื่องเด็กน้อยจอมซนผู้มีผม 3 เส้นและมองโลกเหมือนกับเป็นสวนสนุก

บางครั้งก็เป็นฝ่ายวิธิตที่เสนอไป โดยอิงจากพื้นเพและทักษะของนักเขียนคนนั้น

ย้อนตำนานความฮาสามัญประจำบ้านตลอด 50 ปีของ ‘ขายหัวเราะ’ โดยครอบครัว บ.ก.วิติ๊ด

อย่างเมื่อ พ.ศ. 2537 เขาได้แนะนำให้ เอ๊าะ-ผดุง ไกรศรี นักเขียนจากอุบลราชธานี ซึ่งเติบโตมาจากการเขียนนิยายภาพสะท้อนสังคม ทดลองเล่าเรื่องราวที่มีรากเหง้าจากแดนอีสาน จนเกิดเป็น หนูหิ่น อินเตอร์ เรื่องราวของหนูหิ่น เด็กสาววัย 16 ปี ออกจากบ้านที่อุบลราชธานีมาเป็นแม่บ้านอยู่ในครอบครัวผู้ดีเก่าของคุณมิลค์และคุณส้มโอในกรุงเทพฯ และด้วยบุคลิกที่ใสซื่อ ทำให้หนูหิ่นมักทำเรื่องเปิ่น ๆ อยู่เสมอ

หรือเมื่อ พ.ศ. 2547 วิธิตมีโครงการจะทำ สามก๊ก มหาสนุก เพราะอยากเห็นวรรณกรรมคลาสสิกเรื่องนี้ไปสู่คนไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะนักอ่านรุ่นเยาว์ จึงมอบหมายให้ หมู นินจา-สุชาติ พรหมรุ่งโรจน์ เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเขาก็ต้องใช้เวลาศึกษา ตีโจทย์ หยิบฉากเด่น ๆ มาย่อยเนื้อหา นำคำพูดเด็ด ๆ มาผสมกับบริบทที่คนไทยคุ้นเคย กระทั่งเกิดเป็น สามก๊ก ฉบับที่แตกต่าง น่ารัก อ่านง่าย และเฮฮา และยังจุดประกายให้ใครหลายคนขวนขวายหา สามก๊ก ฉบับอื่น ๆ มาอ่านต่อด้วย

ซีรีส์เรื่องยาวเหล่านี้จึงเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยให้นักเขียนแต่ละคนยืนระยะในวงการได้มั่นคง เนื่องจากช่วยสร้างภาพจำที่ชัดเจนให้แก่นักอ่าน เช่น หากพูดถึงต้อม ต้องคิดถึงไก่ย่างวัลลภสุดกวน หากพูดถึงนิค ต้องคิดถึงภารกิจของพญายมจอมอ้วน หรือพูดถึง เฟน สตูดิโอ-อารีเฟน ฮะซานี ต้องคิดถึงการล้อละครดังในเรื่อง สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ และหากเรื่องไหนที่มีเสียงเรียกร้องจากนักอ่านไม่ขาดสาย ก็จะถูกแตกออกมาเป็นเล่มต่างหากด้วย

ย้อนตำนานความฮาสามัญประจำบ้านตลอด 50 ปีของ ‘ขายหัวเราะ’ โดยครอบครัว บ.ก.วิติ๊ด
ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี

นอกจากนี้ เรื่องยาวยังมีข้อดีตรงที่ช่วยเบรกอารมณ์นักเขียนในช่วงที่ยังคิดแก๊กตลกหน้าเดียวไม่ออก เนื่องจากซีรีส์มีเส้นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว และบ่อยครั้งระหว่างที่เขียนไปก็อาจจะเกิดไอเดียใหม่ ๆ ที่วกกลับมาใช้ในขายหัวเราะได้

จากวิธีผลักดันสไตล์ บ.ก.วิธิต ทำให้นักเขียนแต่ละคนก้าวขึ้นมายึดกุมจิตใจของนักอ่านทุกเพศ ทุกวัย และเป็นสัญลักษณ์ของเสียงหัวเราะเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ย้อนตำนานความฮาสามัญประจำบ้านตลอด 50 ปีของ ‘ขายหัวเราะ’ โดยครอบครัว บ.ก.วิติ๊ด

“เคยมีคนแซวว่า ในยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย เราคือ User Generated Content แรก ๆ ของเมืองไทยเลย” นิวเอ่ยขึ้น

เพราะนับแต่วันแรกที่ก่อตั้ง ขายหัวเราะพยายามใกล้ชิดและเปิดโอกาสให้แฟน ๆ จากทั่วประเทศมีส่วนร่วมอยู่เสมอ ด้วยการเปิดรับภาพการ์ตูน แก๊กตลก เรื่องสั้น รวมถึงไอเดียจากทางบ้าน ซึ่งหากเรื่องใดได้รับการคัดเลือก ทางทีมงานก็จะลงเครดิตและมีค่าตอบแทนให้เล็กน้อย

“เรามีงานจากผู้อ่านมาร่วมสนุกเยอะมาก ถึงขนาดที่ว่าไปรษณีย์ให้ของขวัญผมทุกปี เพราะมาทีหนึ่งหลายถุงเมลเลย” บ.ก. คนเดิมฉายภาพ

จดหมายที่ถูกส่งเข้ามา ทาง ขายหัวเราะ จะมีแผนกคัดแยกว่าเป็นแก๊กตลก ขำขัน หรือจดหมายทั่วไป จากนั้นก็จะพิจารณาเนื้อหาว่านำไปต่อยอดได้หรือไม่

ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี

“บางคนมีไอเดียดี แต่เขาวาดภาพไม่เป็น ก็จะเขียนเป็นข้อความมาเลยว่ามีต้นไม้ต้นหนึ่งนะ หรือไม่ก็วาดคนเป็นหัวไม้ขีดมา ซึ่งบางทีนักเขียนก็นำไปใช้เป็นหัวเชื้อได้” นกกล่าว

“สมัยทำเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งทำ 3 ฉบับ เล่มละ 144 หน้า เยอะมาก ซึ่งวิธีการทำงานก็คือ ช่วงเช้าผมจะเข้าไปเคลียร์งานโรงพิมพ์ แล้วหลังเที่ยงจนถึงเย็นก็จะทำตรงนี้ ซึ่งวันไหนถ้าเราเจอเรื่องขำขันหรือเรื่องสั้นดี ๆ ผมจะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ เพราะเราได้อ่านเป็นคนแรก” บ.ก. ช่วยเสริม

เรื่องสั้นก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างที่มีนักอ่านชื่นชอบอยู่ไม่น้อย โดยมีนักเขียนทั้งมือเก๋า มือใหม่ ร่วมบรรเลงผลงานในหน้ากระดาษอย่างไม่ขาดสาย 

เช่น ดํารงค์ อารีกุล นักเขียนแนวหรรษาแถวหน้าของเมืองไทย ก็ได้เขียนงานที่โดดเด่นหลายเรื่อง โดยเฉพาะชุด กอดลมไว้อย่าให้หงอย ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวมิตรภาพของผองเพื่อน หมง หงจินเป่า และแก๊งมอเตอร์ไซค์คลาสสิก หรือ อิราวดี นวมานนท์ เจ้าของนามปากกา น้ำอบ ก็เคยเขียนเรื่องสั้นล้อเลียน คือหัตถาครองพิภพ นิยายดังของตัวเอง นอกจากนี้ยังมี ปัญญา นิรันดร์กุล, ดร.เสรี วงษ์มณฑา และ บุญสม รดาเจริญ อดีตหัวหน้าข่าวบันเทิงหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ร่วมเขียนด้วย

“เรื่องสั้นช่วงแรก ๆ เน้นตลก แต่ทำไปทำมาเริ่มมีเรื่องสั้นหักมุม เรื่องสยองขวัญเข้ามาเยอะ โดยผมมีเทคนิคการอ่าน คืออ่านตอนต้นก่อนว่าเขาดึงเราอยู่ได้ไหม เป็นหัวข้อที่เราสนใจหรืออยากตามอ่านหรือเปล่า ถ้าอ่านประมาณ 1 ใน 3 แล้วโอเคก็ไปอ่านตอนปลาย เสร็จแล้วถ้าได้ ก็มาไล่ตั้งแต่ต้นจนจบอีกรอบ ระหว่างนั้นเราก็นั่งไล่จัดการคำผิด เกลาสำนวนไปด้วย” 

แม้ในภาพจำของคนทั่วไป เรื่องสั้นอาจไม่ได้เด่นชัดเท่ากับการ์ตูน แต่ก็ถือเป็นผลงานที่วิธิตภูมิใจ และเป็นการยืนยันว่าที่นี่คือสนามที่เปิดกว้างอย่างแท้จริง

สำหรับวิธิตแล้ว ผู้อ่านคือเบอร์ 1 เสมอ เขาจึงพยายามพัฒนานิตยสารทุกเล่มให้ตอบสนองความต้องการของทุกคนมากที่สุด ตั้งแต่รูปเล่ม เพราะเดิมที ขายหัวเราะ กับ มหาสนุก ขนาดใหญ่เท่าหนังสือเล่มอื่น ๆ ในเครือ ทั้ง ขวัญเรือน ศรีสยาม และหนาประมาณ 50 – 60 หน้า แต่เมื่อทำไปได้สักระยะ เขาก็เริ่มตระหนักว่าภาพการ์ตูนไม่จำเป็นต้องใหญ่ขนาดนั้น ถ้าย่อขนาดหนังสือลงแล้วนำไปเพิ่มหน้า เพิ่มเรื่องน่าจะดีกว่า แถมยังกะทัดรัด พกพาสะดวก ม้วนใส่กระเป๋ากางเกงก็ได้

ในที่สุด เมื่อ พ.ศ. 2529 วิธิตจึงส่ง ขายหัวเราะฉบับกระเป๋า เข้ามาเสริมทัพความตลกเพิ่มอีกฉบับ ซึ่งปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ขายดีขึ้น จนกระทั่งอีก 3 ปีต่อมาก็เพิ่ม มหาสนุกฉบับกระเป๋า เข้ามา ก่อนที่จะค่อย ๆ ทยอยปิดฉบับใหญ่และเหลือเพียงเล่มเล็กอย่างเดียว

ไม่เพียงแค่นั้น ทั้ง 2 เล่มยังร่นระยะเวลาการวางแผง จากครั้งแรกที่เป็นรายเดือน เปลี่ยนมาเป็นรายปักษ์ รายทศ และสุดท้ายเป็นรายสัปดาห์ จนบรรณาธิการต้องปิดเล่มแต่ละฉบับให้ได้ภายใน 2 วันครึ่ง และยิ่งในช่วงใกล้เทศกาล อย่างปีใหม่หรือสงกรานต์ ต้องเร่งทำงานหนักขึ้นเป็นเท่าตัว เพื่อให้ต้นฉบับทั้งหมดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยพร้อมส่งก่อนวันหยุดยาว

ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี

“ทุกอย่างต้องผ่านสายตาเราหมด บางที 2 ยาม ตี 1 ตี 2 ยังต้องหาต้นฉบับมาใส่อยู่เลย เพราะเราปล่อยหรือทำแบบลวก ๆ ไม่ได้ เราเป็นเหมือนพ่อครัว วัตถุดิบทุกอย่างต้องดีถึงจะอร่อย แต่ถึงจะต้องนั่งทำงานบนโต๊ะนาน ๆ ก็ไม่ได้รู้สึกทรมานนะ รู้สึกดี พอทำงานติดพันก็สนุก ถือเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องผลักดันหนังสือออกสู่ตลาด” 

ด้วยความทุ่มเทคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดไปสู่ทุกคน ทำให้ ขายหัวเราะ และ มหาสนุก กลายเป็นนิตยสารที่ทุกแผงขาดไม่ได้ แถมยังกระจายไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งท่ารถ ท่าเรือ ร้านตัดผม คลินิก มีแฟนประจำทั้งลูกเด็กเล็กแดง เรื่อยไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ กลายเป็นความผูกพันที่ฝังแน่นในความทรงจำ

เด็กไทยหลายคนรักการอ่าน เพราะอ่าน ขายหัวเราะ ชาวต่างชาติอีกไม่น้อยก็ใช้หนังสือเล่มนี้ในการฝึกอ่าน ฝึกเขียน ฝึกพูด

“มันช่วยได้เยอะ เพราะเขาก็เหมือนเด็กที่ยังอ่านไม่ออก แต่พอเดาเรื่องราวได้จากภาพ แล้วคำที่เราใช้ก็เป็นคำง่าย ๆ มันก็เป็นการฝึกเขาไปในตัว อย่างครั้งหนึ่งเคยมีคนญี่ปุ่นส่งจดหมายมา บอกว่าเขาอ่านจนกระทั่งเขียนภาษาไทยได้ สุดยอดมาก” บรรณาธิการคนเดิมกล่าวด้วยความภูมิใจ

บางครั้งก็มีแฟน ๆ ที่จำได้แวะเวียนเข้ามาทัก อย่างครั้งหนึ่ง วิธิตขึ้นเครื่องบิน แล้วจู่ ๆ มีกัปตันเดินเข้ามาหา เพราะอยากเจอ บ.ก.วิติ๊ด ตัวจริงมานานแล้ว สิ่งเหล่านี้ถือเป็นกำลังใจให้ บ.ก. มีกำลังใจเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานต่อไป

“เวลาออกไปเจอใคร ทุกคนจะแฮปปี้มาก หลายคนฝากความแค้นมาด้วย เพราะตอนเด็ก ๆ เคยส่งจดหมายไปแล้ว บ.ก. ไม่ยอมลงให้ ประมาณแค้นขำ ๆ เพราะทุกคนเคยเป็นผู้อ่าน เคยซื้อให้คนอื่น เราอยู่ในจักรวาลความผูกพันเดียวกัน” นกช่วยขยายความ

ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี

หลังจากหยัดยืนเป็นผู้นำของหนังสือการ์ตูนไทยมายาวนานเกือบ 30 ปี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ขายหัวเราะ ก็ได้ก้าวเท้าสู่โลกใบใหม่ ด้วยการนำ ปังปอนด์ ตัวเอกจากซีรีส์ ไอ้ตัวเล็ก ของต่าย ภักดี มาสร้างเป็นแอนิเมชัน 3D เรื่องแรก ๆ ของเมืองไทย ในชื่อ ปังปอนด์ ตะลุยโลกอนาคต ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 โดยมีบริษัทใหม่อย่าง ‘วิธิตา แอนิเมชั่น’ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับธุรกิจนี้โดยเฉพาะ

ปังปอนด์ถือเป็นตัวการ์ตูนที่ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของ ขายหัวเราะ ยืนยันได้จากสัปดาห์ใดไม่มีเรื่อง ปังปอนด์ ใน มหาสนุก ก็จะมีนักอ่านส่งจดหมายเข้ามาถาม และต่อมาเมื่อมีเล่มแยกออกมาก็ติดอันดับขายดีอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น โอกาสที่ต่อยอดแล้วจะประสบความสำเร็จจึงเป็นไปได้มาก

โดยแอนิเมชันชุดนี้เล่าภารกิจการผจญภัยของปังปอนด์กับเจ้าบิ๊ก สุนัขคู่ใจที่เดินทางไปในโลกอนาคตอีก 500 ปี จนได้พบกับเพื่อนใหม่ อย่าง หนุมานจิ๋ว และนำไปสู่เรื่องราวสนุก ๆ อีกมากมาย ออกฉายทุกวันพฤหัสบดี ก่อนข่าวค่ำ จำนวน 23 ตอน ตอนละ 5 นาที

ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี

“พอเราทำการ์ตูน เราก็อยากพามันไปในหลาย ๆ ทิศทาง แต่ตอนนั้นเทคโนโลยียังไม่ค่อยพร้อม แล้วก็ใช้เงินมาก เราไปดูงานมาหลายที่ จนวันหนึ่งองค์ประกอบในการผลิตต่าง ๆ ครบ ตอนนั้นเรามีทีมงานมือประกวดจากต่างประเทศ อย่าง เอ็กซ์-ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ มาร่วมด้วย แล้วก็มีน้องที่เคยดูแลเรื่องการตลาดของค่ายหนังในต่างประเทศอีกคน เราเห็นว่าสารตั้งต้นครบแล้วที่จะดันธุรกิจนี้ให้เติบโตขึ้น จึงไปขออนุญาตคุณบันลือ ป๊าก็บอกว่าป๊าไม่มีความรู้ คงช่วยไม่ได้ แต่อนุญาตให้ทำ” นกอธิบาย

ความท้าทายในเวลานั้น คือแทบไม่มีแอนิเมชันฝีมือคนไทยในตลาด เพราะสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ มักใช้วิธีไปซื้อรายการประเภทนี้จากต่างประเทศมาฉาย

เมื่อทำ ปังปอนด์ พวกเขาจึงต้องควบคุมต้นทุนให้ประหยัดที่สุด โดยยังคงคุณภาพไว้เหมือนเดิม เพื่อให้ช่อง 3 ซื้อรายการไปออกอากาศได้ ซึ่งหลังจาก ปังปอนด์ ปรากฏตัวบนจอแก้ว ก็ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมสูงมาก ถึงขั้นที่ปลายปีเดียวกันมีการนำ ปังปอนด์ ไปตัดต่อใหม่ เพื่อฉายในโรงภาพยนตร์จอยักษ์ IMAX Theater ตลอดจนมีการทำหนังสือการ์ตูน ปังปอนด์ ที่มีปก 3 มิติออกจำหน่าย ซึ่งขายดีไม่แพ้ตอนทำเล่ม ไอ้ตัวเล็ก เลย

“จำได้ว่าเล่มนั้นเป็นเรื่องปังปอนด์ชื่ออะไร ทำไมมีผม 3 เส้น แต่ก็ขายดีมาก จนป๊าบอกว่าไม่เห็นเล่าเรื่องอะไรเลย มีแต่เล่าเรื่องตัวเอง พ่อเป็นใคร แม่เป็นใคร ทำไมคนอ่านชอบจัง เราก็ยังขำอยู่เลย แต่คนน่าจะชอบเพราะรูปลักษณ์ 3 มิติสมัยนั้นเป็นของใหม่มาก และถือเป็นปรากฏการณ์ที่ออนไลน์กับออนกราวนด์มาเจอกันครั้งแรก ทั้งหนังสือและทีวี”

ความสำเร็จของ ปังปอนด์ ไม่เพียงจุดประกายให้แอนิเมชันสัญชาติไทยเท่านั้น แต่พวกเขายังพาเจ้าหนูผม 3 เส้นนี้ไปเติบโตในต่างประเทศ ด้วยการขายลิขสิทธิ์ให้สถานีโทรทัศน์ฮ่องกงเคเบิลทีวี ซึ่ง ปังปอนด์ ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะติดอันดับ 1 ใน 20 รายการยอดนิยมของสถานี และเมื่อ พ.ศ. 2548 สถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนก็ขอนำแอนิเมชันเรื่องนี้ไปออกอากาศ นับเป็นเรื่องที่เกินคาดหมาย 

ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี

“หากถามเรื่องเม็ดเงินนั้นไม่ได้เยอะเลย แต่มีผลในแง่ความรู้สึกมากกว่า เพราะคุณบันลือดีใจมาก จำได้ว่าวันเซ็นสัญญา ตอนนั้นรัฐบาลจีนเพิ่งเปิดประเทศใหม่ ๆ เขาเชิญเราไปหอประจำเมืองกลางน้ำ แล้วก็มีผู้ว่าการรัฐมาลงนาม ลองคิดดูว่าลูกคนจีนโพ้นทะเล ตอนเกิดลำบากมาก แล้ววันหนึ่งได้มาเซ็นสัญญาในฐานะแขกบ้านแขกเมือง คุณบันลือปลาบปลื้มใจมากนะ และในช่วงนั้น เราเคยคิดว่าอีกสัก 20 – 30 ปี อยากหาอะไรไปนำเสนอที่เมืองจีน แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายใน 4 – 5 ปีเอง โดยในวันนั้นทางฝั่งจีนยังทำบอลลูนปังปอนด์ตัวสูงเท่าตึก 3 ชั้นเป็นของขวัญให้เราด้วย”

สิ่งหนึ่งที่ บ.ก.วิธิตและภรรยาสัมผัสได้จากการทำงานร่วมกับประเทศจีน คือบทบาทของภาครัฐที่พร้อมผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโต ทั้งการสนับสนุนงบประมาณ รวมถึงการันตีรับซื้อผลงาน เพื่อนำไปฉายให้ผู้คนในประเทศรับชม เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยว่าภายในระยะเวลาไม่กี่ปี วงการแอนิเมชันของแดนมังกรจึงแซงหน้าบ้านเราเป็นที่เรียบร้อย

นอกจาก ปังปอนด์ แล้ว พวกเขาก็ยังเดินหน้าหาโอกาสต่อยอดผลงานไปตามช่องทางต่าง ๆ ทั้งการนำการ์ตูนเรื่อง สามก๊ก และ รามเกียรติ์ มาสร้างเป็นแอนิเมชัน ออกอากาศทางช่อง 7 สี ลงทุนสร้างตอนใหม่ ๆ ของปังปอนด์กับผองเพื่อน รวมถึงร่วมมือกับสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล นำคาแรกเตอร์ยอดฮิตอีกตัวอย่างหนูหิ่นมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง หนูหิ่น เดอะมูฟวี่ เมื่อ พ.ศ. 2549 

ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี

ไม่เพียงแค่นั้น ยังนำการ์ตูนลายเส้นที่สร้างจากวรรณกรรมคลาสสิก โดยเฉพาะ สามก๊ก และ รามาวตาร ซึ่งเรื่องหลังนี้วาดโดย เฟน สตูดิโอ ก้าวข้ามพรมแดนไปแสดงในงานเทศกาลหนังสือระดับโลก ซึ่งปรากฏว่าผลงานของนักเขียนชาวไทยก็เข้าตาต่างชาติ และมีผู้ขอซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลเป็นภาษาของตัวเอง

“เวลาทำเรื่องที่เป็น Public Domain แล้วไปตามงานหนังสือต่าง ๆ ทั่วโลก เราต้องฝ่าดงการคัดเลือกต่าง ๆ เยอะมาก เพราะอย่าง สามก๊ก เขามีประมาณ 50 เวอร์ชัน และทุกชาติในโซนเอเชียมีหมดเลย หรือ รามาวตาร ยิ่งแล้วใหญ่ ดังนั้น การที่เราขายสิทธิ์ได้ แม้ผลตอบแทนจะน้อยนิด ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจมาก เพราะนอกจากทำให้นักเขียนมีที่มีทางของตัวเองแล้ว ยังสะท้อนว่าเราประสบความสำเร็จด้านคอนเทนต์อีกด้วย” นกกล่าวย้ำ

ผลจากการกล้าฉีกกรอบตัวเองไปสู่ดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ได้กลายเป็นตัวช่วยสำคัญของแบรนด์ขายหัวเราะ ในวันที่ธุรกิจสื่อของเมืองไทยพลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี

10 ปีที่ผ่านมาคือห้วงเวลาที่สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ต่างล้มหายตายจากจนเกือบเกลี้ยงแผง แม้แต่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่อยู่คู่นักอ่านมาหลายทศวรรษก็หลีกหนีความเปลี่ยนแปลงไม่พ้น

บ.ก.วิธิต สังเกตเห็นสัญญาณเตือนนี้ หลังจาก iPhone1 เริ่มออกจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2550

“สมัยก่อนเรามี BlackBerry ซึ่งจอขนาด 1 ใน 3 ของเครื่องแล้วก็มีแป้นเป็นคีย์บอร์ด แต่พอ iPhone ออกมาจอใหญ่ มีปุ่มด้านหน้าแค่ปุ่มเดียว กับข้าง ๆ อีก 2 ปุ่ม ถึงตอนนั้นมันจะช้า จะหมุนบ้างอะไรบ้าง แต่เราดูข้อมูลต่าง ๆ ได้เลย ซึ่งพอมองออกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมจึงสั่งสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์ว่าอย่าลงทุนเพิ่ม แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงคือจะมาเร็วขนาดนี้ คิดว่าอย่างน้อยก็ต้องมีสัก 15 ปี แต่ปรากฏว่าตอนนี้เปลี่ยนโลกไปเลย”

เวลานั้นเป็นจังหวะเดียวกับที่นิว ทายาทคนโตของวิธิตและนก เรียนจบด้านบริหารธุรกิจจาก Imperial College London ประเทศอังกฤษ และกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านเต็มตัว

ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี
ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี

นิวไม่ต่างจากวิธิตที่เติบโตมาในสำนักพิมพ์และมีโอกาสช่วยงานอยู่บ้าง จึงซึมซับนิสัยรักการอ่าน รวมทั้งวิธีการทำงานของปู่ พ่อ และแม่ มาโดยปริยาย

“สมัยเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่นิวทำงานหนักทั้งคู่ จึงพานิวมาเลี้ยงที่ออฟฟิศ แล้วก็ให้เราลองทำนั่นทำนี่ ช่วยอิดิตต้นฉบับ หลายคนอาจคิดว่านิวเรียนจบนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เลยมาทำตรงนี้ แต่ความจริงอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมหล่อหลอมเราเป็นแบบนี้มากกว่า แน่นอนว่าการดูแลบริษัท เรารู้แค่ว่าจะผลิตคอนเทนต์อย่างไรไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจธุรกิจด้วย เพื่อจะได้มีมุมมองที่ช่วยให้งานตรงนี้มีความยั่งยืน มากกว่าแค่การทำงานเนื้อหาที่ดี” นิวอธิบาย

สิ่งหนึ่งที่วิธิตกับนกพยายามบอกกับลูกสาวคนโตเสมอ คือ ขายหัวเราะ ไม่ใช่แค่หนังสือ แต่เป็นแบรนด์การ์ตูนไทยที่มอบรอยยิ้มและเสียงหัวเราะกับทุกคน โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นสื่อประเภทใด

“หัวใจสำคัญขึ้นอยู่กับว่าเราจับเทรนด์ได้แค่ไหน และเราก็ไม่มองความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นภัยคุกคาม เราแค่ลองดูว่าเมื่อคลื่นเข้ามาแล้วเราไม่ต้านคลื่น เช่น ถ้าคนเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่หนังสือ เราจะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเขาได้อย่างไร เหมือนเป็น Soft Power ที่ไปอยู่กับอะไรก็ได้ เป็นเสื้อก็ได้ ไปอยู่กับขนมก็ได้ ไปเล่าเรื่องราวในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้หมดเลย”

ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี

โดยภารกิจแรกที่นิวได้รับมอบหมายนอกจากการทำคอนเทนต์ คือการนำตัวการ์ตูนจาก ขายหัวเราะ ไปพัฒนาเป็นสติกเกอร์ไลน์ ซึ่งปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ติดอันดับสติกเกอร์ที่มียอดดาวน์โหลดสูงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

แต่โจทย์ที่ท้าทายยิ่งกว่า คือการพัฒนาบรรลือสาส์นจากผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็น ‘บันลือกรุ๊ป’ สำนักผลิตคอนเทนต์แบบครบวงจร โดยนำเทคโนโลยีและทีมงานคนรุ่นใหม่เข้ามาเติมเต็ม พร้อมกับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากศิลปินเดี่ยวมาสู่การทำงานเป็นสตูดิโอ

เนื่องจากสมัยก่อนโลกหมุนช้ากว่านี้มาก แก๊กบางแก๊กต่อให้ผ่านไปสัก 1 – 2 สัปดาห์คนก็เข้าใจ มีความรู้สึกร่วมไปกับอารมณ์ขันหรือมุกตลกนั้นได้ แต่ปัจจุบันทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว เพราะแต่ละวันมีข่าวสารใหม่ ๆ ในโลกออนไลน์เข้ามาเต็มไปหมด งานสร้างสรรค์ก็ต้องตามให้ทันกระแสเช่นกัน 

“นิวคิดว่าแนวทางนี้ยั่งยืนกว่า เพราะต่อให้คาแรกเตอร์การ์ตูนนั้นมีอายุเท่าไหร่ก็ไม่ได้ยึดโยงกับนักเขียนคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนร่วมกันต่อยอดสิ่งเหล่านี้ได้ เหมือนกับ โดราเอมอน ที่ยังมีอายุมาจนถึงปัจจุบัน แม้ผู้เขียนจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม แถมเรายังต่อยอดไปเป็นแอนิเมชัน เป็นหนังต่าง ๆ ได้ด้วย เพราะการทำงานในปัจจุบัน คนคนเดียวตอบสนองทุกอย่างไม่ได้ ทั้งความเยอะของโปรดักชันหรือการติดตามเทรนด์ อย่างนักวาดที่เก่งมาก ๆ อาจไม่ถนัดงานลูกค้าหรืองานรีเสิร์ชซึ่งจะต้องย่อยความรู้ออกมาเป็นการ์ตูน เราเลยต้องมีทีมครีเอทีฟเข้ามาเสริม เพื่อให้มีความเป็นทีมเวิร์กด้วย

ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี

“ที่สำคัญ เราเน้นการต่อยอดคุณภาพแก๊ก เพราะถึงนักวาดวาดออกมาแล้วโอเค แต่ถ้าแก๊กผ่านกระแสไปแล้ว เราก็นำงานนั้นมาใช้ไม่ได้ แต่ทีมตรงนี้อาจเข้ามาช่วยปรับสถานการณ์ ปรับคำพูด หรือต่อยอดให้แก๊กนั้นทันสมัยขึ้น เพราะอย่างแก๊กคลาสสิกทั้งหลาย ความจริงเป็นมีมที่มาก่อนยุคอินเทอร์เน็ตหลายปี แล้วคนก็จะถามว่าไอเดียไม่หมดเหรอ ติดเกาะยังไงหลายสิบปี ซึ่งเราก็จะบอกว่ามันเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เพราะเราปรับเปลี่ยนทุกอย่างได้หมดเลย”

ขณะเดียวกัน นักเขียนรุ่นบุกเบิกที่เติบโตมาพร้อมกับ บ.ก.วิธิต ก็ไม่ได้หายไปไหน ขายหัวเราะ ยังคงมีพื้นที่ทำงานให้เช่นเคย แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่าง โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมตื่นตัว เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อให้งานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นไม่ทำร้ายใคร

นอกจากนี้ยังมีการทดลองทำแคมเปญใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การทำเล่มพิเศษอย่าง ฉบับ You’ll Never Laugh Alone หัวเราะด้วยกัน ไม่มีวันเดียวดาย ในวาระที่ ขายหัวเราะฉบับกระเป๋า วางจำหน่ายครบ 1,500 ฉบับ ฉบับ Green Please เพื่อสื่อสารความรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 ฉบับ Liverpool เดินไปด้วยกัน ไม่มีวันเดียวดาย เพื่อแสดงความยินดีกับทีมลิเวอร์พูลที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษเป็นครั้งแรก ฉบับ AI < VER 1.2023 Beta > ซึ่งใช้ AI คิดมุกและสร้างอารมณ์ขันทั้งเล่ม รวมไปถึง ฉบับเฉพาะกิจรู้ทันโควิด ซึ่งต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อให้องค์ความรู้เหล่านี้กระจายไปสู่วงกว้าง

ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี

หรือแม้แต่ช่วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โปรโมตเกาะขายหัวเราะ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับแก๊กติดเกาะใน ขายหัวเราะ จนกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดตราด

“เราอยากเปิดโอกาสให้ทีมได้ลองผิดลองถูก เพื่อจะได้เติบโตและก้าวหน้าไปด้วยกัน อย่างฉบับ AI เราไม่ได้มองว่า AI จะมาแทนนักวาด แต่มองว่าเป็นคลื่นหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เมื่อ AI ตอบคำถามเราได้หลายเรื่อง เพราะฉะนั้น หากเป็นเรื่องอารมณ์ขันเขาจะทำได้ดีแค่ไหน”

แม้เส้นทางนี้จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่นิวก็ไม่ได้เดินเพียงลำพัง เพราะยังมีวิธิตกับนก รวมถึงสมาชิกในบันลือกรุ๊ป ทำหน้าที่ประคับประคองและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ ขายหัวเราะ เดินหน้าได้อย่างมั่นคง

“เรามองว่า 50 ปีมันไกล แต่สำหรับเราแล้ว มันเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ได้เหมือนกัน เพราะอีก 50 ปีถัดไป เรายังโตไปได้มากกว่านี้ ยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่ได้ลองทำ นิวเชื่อในเรื่องของ Creative Economy เราอยากผลักดันการ์ตูนไทยให้มากกว่านี้ ซึ่งในแคมเปญต่อจากนี้ก็น่าจะเห็นมุมใหม่ ๆ ของ Soft Power การ์ตูนคาแรกเตอร์และอารมณ์ขันแบบไทย ๆ ว่าทำอะไรได้มากกว่าที่ทุกคนคิด ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าหนทางใหม่นี้จะสร้างความสุขให้กับทุกคนต่อไป” นิวย้ำความเชื่อ

และทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของ ขายหัวเราะ แบรนด์การ์ตูนที่อยู่เคียงข้างในทุกช่วงเวลาของคนไทย มายาวไกลตลอดครึ่งศตวรรษ

ชวน บ.ก.วิธิต และครอบครัวอุตสาหจิต เล่าเบื้องหลังความฮาสามัญประจำบ้านของ ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนไทยที่หยัดยืนมากว่า 50 ปี
ข้อมูลอ้างอิง
  • สัมภาษณ์คุณวิธิต คุณโชติกา คุณพิมพ์พิชา อุตสาหจิต วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2566
  • นิตยสารสีสัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531
  • นิตยสาร Hi-Class ปีที่ 15 ฉบับที่ 174 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2541
  • นิตยสาร a day ปีที่ 9 ฉบับที่ 98 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2551
  • หนังสือ บันลือ อุตสาหจิต
  • หนังสือ All about ต่าย ขายหัวเราะ
  • หนังสือ เป็ดเปลี่ยนโลก โดยสมาคมนิสิตเก่านิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • หนังสือ ประวัติย่อการ์ตูนไทย โดย นิรวาณ คุระทอง
  • หนังสือ ตำนานการ์ตูน โดย จุลศักดิ์ อมรเวช

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ