21 กุมภาพันธ์ 2024
2 K

แอน-กาชามาศ กีรติภูมิธรรม เปเรส หรือที่หลายคนคุ้นชื่อเธอในนาม Kachama 

แอนคือศิลปินหญิงชาวไทยจากเชียงใหม่เพียงไม่กี่คนที่สร้างผลงานศิลปะจากผืนผ้า 

ผืนผ้าที่เธอได้ยินเสียงเพลงอยู่ในนั้น

แอนเล่าว่าเธอได้ยินเสียงในผ้ามาตั้งแต่เด็ก ๆ และชอบสัมผัสผ้าต่าง ๆ เธอหลงใหลเสียงที่ได้ยินจากผ้า จนนำเสียงจากเส้นใยผ้าแต่ละเส้นมาถักทอเป็นผืนผ้า เป็นบทเพลง และเป็นงานศิลปะ

ผืนผ้าของกาชามาศมักนำวิถีชีวิตชนเผ่าไทยภูเขาในภาคเหนือ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และสิ่งแวดล้อม มาเล่าเป็นเรื่องราวร่วมสมัย ซึ่งเป็นอิทธิพลที่เธอได้รับจากวัยเด็ก แม้เธอเรียนที่กรุงเทพฯ แต่ทุก ๆ ปิดเทอมเธอจะย้ายมาอยู่กับคุณแม่และคุณพ่อที่เป็นหมอชนบท ในตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ที่หมู่บ้านบนดอย เธอใช้ชีวิตเรียบง่าย อยู่ร่วมกับชาวกะเหรี่ยง ลีซู และธรรมชาติ

เมื่อพ่อของเธอไปรักษาคนไข้ในหมู่บ้าน เธอมักตามไปด้วย เพื่อจะมีโอกาสได้เห็นการทอผ้าของแม่ ๆ ในหมู่บ้าน รวมถึงภูมิปัญญาการย้อมสีธรรมชาติที่เธอรู้สึกสนใจ ต่อมาเธอได้นำมาต่อยอดเป็นงานศิลปะของตนเอง ทำให้งานของกาชามาศมีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีผู้คนจากทั่วโลกให้ความสนใจ ผลงานของเธอจึงได้ไปจัดแสดงอยู่ในแกลเลอรี ในพิพิธภัณฑ์ ในโรงแรม ในกงสุล ในสถานเอกอัครราชทูต หรือกระทั่งอยู่ในออฟฟิศบริษัทสถาปนิกชื่อดังของสิงคโปร์ อย่าง WOHA เป็นต้น

เมื่อต้นปีที่ผ่าน กาชามาศ กีรติภูมิธรรม เปเรส ในวัย 58 ปีได้รับเลือกให้รับรางวัลนักออกแบบแห่งปี (Designer of the Year Awards) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งปีนี้เธอจะจัดแสดงผลงานอีกจำนวนมากทั้งในไทยและต่างประเทศ

นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ทำความรู้จักผลงานศิลปะของกาชามาศ ผ่านเรื่องราวในชีวิตของตัวเธอ ชีวิตที่เธอค่อย ๆ นำมาถักทอจนกลายเป็นผลงานศิลปะในนามศิลปิน ‘Kachama’

เรานัดสัมภาษณ์ กับ แอน กาชามาศ โดยเธอขอให้เราไปสัมภาษณ์กันที่บ้านป่าแป๋ของเธอซึ่งอยู่บนดอย นั่นเป็นสถานที่ที่เธอรัก เป็นที่ที่มีความทรงจำดี ๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจ

“ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกันที่ทำให้เรารักผ้าขนาดนี้…” แอนเล่าเรื่องราวของเธอระหว่างการเดินทางบนเส้นทางคดเคี้ยว ซึ่งรายล้อมไปด้วยธรรมชาติและชุมชนต่าง ๆ 

“พ่อและแม่เคยเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาเราเห็นผู้หญิงแต่งตัวสวย ๆ เราชอบไปสัมผัสเสื้อผ้าของเขา หรือแม้แต่เวลานอน เราก็จะต้องนอนดูดผ้าเพื่อให้หลับตลอด พอแม่เอาผ้าไปซักก็ร้องไห้ เพราะกลิ่นมันเปลี่ยนไป เวลาตามพ่อไปในหมู่บ้าน เราก็ชอบไปนั่งดูคุณยาย คุณป้าทอผ้า

“แม่เล่าให้ฟังว่าวันนั้นน้าของเราไปงานแต่งงาน น้าสวมชุดสวย ๆ แล้วเรากำลังกินช็อกโกแลต มือเลอะ ก็เอามือไปลูบ ไปขยี้ผ้าของน้าจนเลอะไปหมด น้าร้องไห้เสียใจเพราะจะไปงานแต่งอยู่แล้ว แม่ก็จับเรามาตีที่ทำให้น้าเสียใจ แล้วถามเราว่าทำไมไปทำเสื้อเขาเลอะ เพราะอะไรถึงไปลูบ ไปขยี้

“มันมีเสียงเพลงอยู่ในผ้า แม่…” แอนตอบแม่ของเธอไปตามความจริง

ลูกของแกมันเป็นผีมาเกิด – ผู้เฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านเคยบอกกับแม่ของ Kachama เช่นนั้น

“แม่รู้สึกว่าเราประหลาดมาตั้งแต่เกิด เพราะเวลานอนเรามักเอามือก่ายหน้าผากเหมือนคนเฒ่าคนแก่สมัยก่อน เขาเลยเชื่อกันว่าเราเป็นผีที่กลับมาเกิด ประกอบกับพอโตขึ้นมาหน่อย เราชอบแต่งตัวไม่เหมือนคนอื่น แม่ซื้อทองให้ใส่ก็ไม่ยอมใส่ ไปเอาเส้นใย เอาหินอะไรมาห้อยพะรุงพะรังแทน ไม่ชอบคิดให้เหมือนใคร คนในหมู่บ้านที่ป่าแป๋เลยเรียกเราว่า แอนผีบ้า”

สำหรับแอน ความแตกต่างตั้งแต่เด็กของเธอไม่เป็นปัญหา เพราะนี่คือตัวตน ประกอบกับทุก ๆ ปิดเทอมจากโรงเรียนที่กรุงเทพฯ เธอจะย้ายมาอยู่กับพ่อและแม่ที่ป่าแป๋ ความเป็นเด็กในเมืองกรุงที่ย้ายมาอยู่ในพื้นที่ชนบทก็ยิ่งทำให้เธอแตกต่างจากเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน แต่ไม่ใช่ในทางไม่ดี

“สำหรับเรา ไม่ว่าเวลาผ่านไปกี่ปี เราก็ยังคงรักป่าแป๋ ยังคงมีความทรงจำที่ดีกับที่นี่เสมอ” 

แอนบอกกับเรา ขณะเราจอดรถแวะพักในชุมชนที่ป่าแป๋

“ช่วงแรกที่ย้ายมาที่นี่ เราพูดภาษากลาง ยังพูดภาษาเมืองไม่ได้ แต่ชาวบ้านพูดภาษาเมืองกัน เขาก็มองว่าเราแปลก แต่ความแปลกในที่นี้ คือเขามองว่าเด็กคนนี้ฉลาด มาจากเมืองหลวง เวลาอยู่กับกลุ่มเด็ก ๆ เราจะเร็วกว่าคนอื่น เพราะเคยเห็นสิ่งที่เจริญในเมืองมาก่อน แล้วก็นำมาเล่นกับเด็กที่นี่ 

“ด้วยความที่เราเป็นคนนำ เราอยากเป็นเจ้าหญิง เจ้าหญิงต้องสวย ต้องมีนางสนม ซึ่งก็คือพวกน้อง ๆ เราก็ใช้พวกน้องไปหาดอกไม้มาทำเป็นเครื่องประดับให้เจ้าหญิง ปรากฏว่าน้องไปเก็บดอกหมามุ่ยมา เจ้าหญิงก็เอามาห้อยคอ คันมาก!” แอนหัวเราะสนุกให้กับความซื่อในวัยเด็กของตนเอง

“ไม่รู้ว่าตอนนั้นน้อง ๆ ไม่รู้หรือตั้งใจแกล้งกันแน่” เธอหัวเราะให้ความหลังอีกครั้ง

“ความที่เรานำเด็ก ๆ ในหมู่บ้านได้ ทำให้ชาวบ้านมองว่าเรามีความสามารถ เราเลยใช้ใต้ถุนบ้านเปิดโรงเรียนอนุบาลช่วยเลี้ยงและสอนเด็ก ๆ ในหมู่บ้านซะเลย ตื่นเช้ามาพ่อแม่แต่ละคนก็จูงลูก ๆ มาให้เลี้ยงทั้งหมู่บ้านเลย แม้แต่พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) คนปัจจุบัน เราก็เคยเลี้ยงเขาตอนเด็กนะ”

ระหว่างที่เธอจบประโยคนี้ ทำให้เราเข้าใจเหตุผลที่ตั้งแต่จอดแวะพักในชุมชน ทำไมถึงมีผู้คนเดินมาทักทายเธอเป็นจำนวนมาก นั่นแสดงให้เห็นถึงความผูกพันและความสัมพันธ์ของเธอกับป่าแป๋ได้อย่างชัดเจน แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม 

เราออกเดินทางต่อจนถึงบ้านไม้ยกสูงหลังเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา

บ้านของเธอมีไร่-สวนข้าง ๆ รอบล้อมด้วยป่า และมีป้าย Kachama เขียนไว้ตรงทางเข้า

“เราคิดถึงที่นี่ เรารักที่นี่มาก มีอยู่วันหนึ่งตอน ม.1 ครูให้เขียนเรียงความ เราเล่าเกี่ยวกับป่าที่นี่ นกยูง ดอกไม้ ผลไม้ป่า วิถีชีวิตของผู้คน ครูก็งงว่าเราไปอยู่ที่ไหนมา เด็กคนนี้ประหลาด เวลาให้เขียนเรียงความจะเขียนแต่เรื่องที่ป่าแป๋เสมอ เราอยากใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่นี่ อยากทำพื้นที่เวิร์กช็อปสอนสิ่งที่เรารู้ให้คนที่สนใจ และสั่งพี่น้องไว้ว่า ถ้าเราตาย ให้เผาเราที่ตรงนี้ ให้จิตวิญญาณของเราอยู่ที่นี่”

ชีวิตในวัยเด็กครึ่งหนึ่งของเธอจึงอยู่ที่ป่าแป๋ พอถึงวัยใกล้จะสอบเข้ามหาลัย เธอไม่ได้กลับมาที่นี่เพื่อเตรียมตัวสอบ ซึ่งเธอได้ทุนเดินทางไปศึกษาด้านภาษาญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่น และเรียนต่อด้านมัณฑนศิลป์ (Interior Design) ที่ Tokyo Mode Gakuen วิทยาลัยในย่านชินจูกุ พอจบการศึกษาก็มีโอกาสเข้าไปทำงานออกแบบให้เครื่องแต่งกายแบรนด์ใหญ่เจ้าหนึ่งของญี่ปุ่นอยู่หลายปี

สมัยทำงานที่ญี่ปุ่น เธอมีโอกาสเห็นผ้าต่าง ๆ ที่บริษัทสั่งซื้อมาจากยุโรป ทันใดนั้นเอง เสียงที่เธอเคยได้ยินเมื่อครั้งยังเด็กก็กลับมาแว่วดังอีกครั้ง – เสียงของผ้าทอมือของป้า ๆ แม่ ๆ ที่ป่าแป๋

“พอเราเห็นผ้าของยุโรป เราพบว่าความจริงแล้วผ้าไทยก็มีคุณภาพที่สู้เขาได้นะ แต่ทำไมมูลค่าผ้าไทยถึงสู้เขาไม่ได้ ตอนนั้นเลยตัดสินใจขอหัวหน้ากลับมาเชียงใหม่ โดยเราจะเป็นคนหาผ้าที่คนในชุมชนทอ มาพัฒนาออกแบบเป็นเครื่องแต่งกายต่าง ๆ แล้วส่งกลับไปให้เขาขายที่ญี่ปุ่น”

ท้ายที่สุด ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง งานนั้นของเธอไม่ได้ไปต่อ ประกอบกับการได้กลับมาเห็นป้า ๆ แม่ ๆ ทอผ้าอีกครั้ง นั่นเท่ากับจุดประกายความฝันในวัยเด็กของเธอให้กลับมาโชติช่วงอีกครั้ง

“เราอยากทอผ้า”

แอนตัดสินใจลาออกจากงาน กลับตามฝันวัยเด็กที่ประเทศไทย ด้วยการเดินทางไปเรียนรู้การทอผ้า ย้อมผ้า เย็บปักถักร้อย กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และชวนมาทำงานผ้าด้วยกันในนาม Kachama

“งานแรกของเรา เราเลือกทำผ้าทอภูมิปัญญาของกะเหรี่ยง เราเชื่อมั่นว่าจะนำผ้าเหล่านั้นไปเสนอขายให้บริษัทซึ่งเราเคยทำงานที่ญี่ปุ่นได้แน่นอน เราเอาผ้าใส่กระเป๋า แล้วบินไปเสนอขายด้วยตนเอง ปรากฏว่าเขาไม่เอา เพราะไม่ตรงกับคอลเลกชันของบริษัทในปัจจุบัน เราเคว้งเลยนะ เงินเก็บทั้งหมดก็ใช้ไปกับการทำงานผ้าเซตนี้และค่าเดินทางมาญี่ปุ่นหมดแล้ว ตอนนั้นเราไม่รู้จะไปไหน เลยลากกระเป๋าไปที่โรงอาบน้ำสาธารณะ ไปนอนแช่น้ำ และรออยู่ที่นั้นจนเช้า เพื่อวันถัดไปจะบินกลับไทย 

“ระหว่างนั่งอยู่บนเครื่องบินขากลับมาไทย เราเจอคนญี่ปุ่นชื่อ คาโต้ซัง บังเอิญเขาอยู่เชียงใหม่และบังเอิญกว่านั้น คือเขาถามว่าเราไปทำอะไรที่ญี่ปุ่น เราก็ตอบเขาไปว่าเราทำผ้า กะไปขายที่ญี่ปุ่น แต่ขายไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ผ้าของฉันก็สวยนะ เธออยากดูไหม ปรากฏว่าคุณคาโต้ซังก็ทำงานผ้าเหมือนกัน เขาเลยสนใจผ้าที่เราทำ พอลงจากเครื่องบิน เราเลยเปิดให้เขาดู คาโต้ซังอุทาน โอ้โห! วันถัดมาเขามาดูผ้าที่บ้านของเราและตัดสินใจเหมาทั้งหมด พร้อมสั่งทำล็อตต่อไปทันที จากตอนแรกที่เราจะบินไปขาย กลับกลายเป็นว่าได้ขายตอนขาบินกลับเสียได้” แอนหัวเราะสนุกให้กับโชคชะตาในวันนั้นของเธอ

ตอนได้รับออร์เดอร์มาในคราวนั้น แอนยังทอผ้าได้ไม่เชี่ยวชาญเท่ากับช่างทอมืออาชีพ เธอจึงหาช่างทอมาทำงานร่วมกัน โดยที่เธอเป็นคนออกแบบและกำกับการทอด้วยเสียงเพลง

“เวลาป้า ๆ ทอ เราจะนั่งอยู่ข้าง ๆ คอยกำกับจังหวะการทอ ตรงนี้ทอ 10 ครั้งนะ ตรงนี้ทอเบา ๆ ตรงนี้สลับหนัก-เบานะ เรามีหน้าที่คอยให้จังหวะ เหมือน Conductor (วาทยกร) คุมวงออร์เคสตราเลย เวลามีโทรศัพท์เข้าก็ต้องรอให้ทอจนครบช่องก่อนถึงจะรับได้นะ ไม่งั้นลืม!” เธอหัวเราะร่วน

“คนทอผ้า แค่ฟังเสียงกี่ก็รู้แล้วว่าทอสวยหรือไม่สวย เสียงต้องได้จังหวะ ได้น้ำหนัก”

งานผ้าทอจากการกำกับจังหวะของเธอขายดี แต่สำหรับกาชามาศ นี่ยังไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ

“เราเป็นคนที่ถ้าคนอื่นทำอะไร เราจะไม่ทำ” เธอยิ้มน้อย ๆ 

“รู้สึกไม่อยากทำ มันไม่สนุก ทำไปก็เหมือนกับคนอื่นเขา เหมือนผ้าที่เขาทอกันทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็ทำได้ พองานเราโดนเลียนแบบก็ไม่อยากทำแล้ว เราอยากทำอะไรที่คนไม่คิดจะทำ”

Kachama ซึ่งเป็นชื่อแบรนด์ผ้า ค่อย ๆ กลายเป็นชื่อศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะด้วยการทอผ้า

“เรารู้ตัวว่าในหัวของเรามีความคิดบางอย่างที่อยากจะนำออกมา แต่เรายังทอผ้าไม่เก่ง เรียกว่าไม่เป็นเลยก็ได้ ตอนที่ป้า ๆ กับลุงช่างทอทำงานกับเรา เราก็พยายามเสนอให้เขาลองทำแบบนี้ดู ทำแบบนั้นได้ไหม เขาก็บอกแต่ว่าไม่ได้ จนเขาพักไปกินข้าวนั่นแหละ เราถึงได้โอกาสแอบไปที่กี่ของพวกเขา ลองใส่นั่น ใส่นี่ลงไป ทำไหมเขาขาด เราก็หนีไปหลบ พอเขากลับมาก็คงสงสัยว่าใครทำวะ

“คือเวลาไหมขาด ช่างทอเขาจะห้ามดึง ตอนนั้นเราไม่รู้ กลัวว่าเขาจะรู้ว่าแอบมาทำเลยดึงออก แต่คนทอผ้า ถ้าไหมขาดเส้นหนึ่งเขารู้เลย เพราะตาบนผ้ามันห่าง เราเข้าใจว่าเขาไม่เห็นหรอก แต่จริง ๆ เห็น และต้องไล่ใส่ไหมใหม่ ลำบากกว่าเดิมอีก เราก็ยังซนแอบไปลองนั่น ลองนี่ จนตอนหลังไม่มีใครอยากให้เราไปขึ้นกี่ทอผ้าของเขา ทีนี้เราเลยออกอุบายว่า ถ้าใครต่อไหมให้ จะให้เส้นละบาท ทีนี้ล่ะแย่งกันให้เรามา มาแย่งกันต่อใหญ่เลย วันไหนไหมไม่ขาดถึง 50 เส้นจะหงุดหงิดกันละ” เธอหัวเราะสนุก

“เราซนไปซนมาจนทอผ้าเป็น เริ่มนำความคิดที่อยู่ในหัวออกมาทให้เป็นงานศิลปะ”

ผ้าทอของกาชามาศเป็นศิลปะที่ควรไปเห็นของจริงด้วยตาตนเอง นอกจากมองภาพรวมของผืนผ้า ยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เธอผสานเทคนิคต่าง ๆ ให้เราต้องเพ่งเข้าไปดูใกล้ ๆ ไล่ไปทีละช่อง

งานศิลปะชุดแรกของเธอ คือ Keeping Lanna Heritage and Hill Tribe Culture Alive

“ตอนกลับมาทำงานผ้าที่ไทย เรากลับไปคิดถึงภาพความทรงจำของป้า ๆ นั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้านที่ป่าแป๋ แล้วพบว่าคนทำงานทอผ้าแบบดั้งเดิมค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรโรงงานและสารเคมีต่าง ๆ ทำให้ภูมิปัญญา วิถีชีวิต หรือการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติที่ป่าแป๋ค่อย ๆ หายไปแล้ว และไม่ค่อยมีคนสานต่อ น่าเสียดายมากเลยนะ เราว่างานเหล่านี้มีคุณค่า มีพลังบางอย่างที่เกิดขึ้นจากงานฝีมือ จากการลงมือทำ และเป็นเอกลักษณ์ของประเทศเรา เราอยากนำภูมิปัญญาเหล่านั้นมาเล่าในผลงาน

“แต่จะเล่าอย่างไรให้ร่วมสมัย ไม่น่าเบื่อ ผลงานชุดนี้เลยเกิดขึ้นมาค่ะ”

หนึ่งในเอกลักษณ์ของกาชามาศ คือการถอดร่างเดิมมาประกอบขึ้นร่างใหม่ หรือ Deconstruction อย่างผลงานชุด Keeping Lanna Heritage and Hill Tribe Culture Alive หากค่อย ๆ ไล่มองในรายละเอียดจะเห็นว่าเธอนำผ้า ลวดลายเขียนเทียนม้ง ลายปัก ลายทอ ตีนผ้าซิ่น ชายเสื้อ และรายละเอียดอีกมากของผ้าแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มาตัด ฉีก และใช้การทอค่อย ๆ เรียบเรียง ค่อย ๆ ประกอบภูมิปัญญาเหล่านี้เข้าด้วยกันใหม่อีกครั้ง ให้ออกมาสวยงาม น่าสนใจ ร่วมสมัย บอกเล่าวิถีชีวิตของผู้คนที่ป่าแป๋และหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เธอมีโอกาสได้ไป ผลงานชุดนี้ของกาชามาศจึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่เพียงนำเสนอภูมิปัญญาดั้งเดิมที่กำลังหายไป แต่ยังช่วยกรุยทางสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ด้วย

นอกจากการนำเศษผ้าต่าง ๆ มาใช้ กาชามาศยังพยายามหลุดออกจากกรอบงานผ้าเดิม ๆ ด้วยการหยิบวัสดุอื่น ๆ มาใช้ในงานศิลปะของเธอ ตั้งแต่ลูกเดือย ลูกปัด เปลือกหอย เชือก เมล็ดข้าว รวงข้าว ฟาง และกล้าหาญยิ่งไปกว่านั้นด้วยการนำขิง ข่า ตะไคร้ เครื่องต้มยำมาใส่ไว้ในผืนผ้าไหมทอของเธอ ในผลงานชุด Tom Yum Silk ชนิดว่าแหวกขนบเดิมและประชดประชัน พร้อมตั้งคำถามถึงราคาของผ้าไหมแสนแพง ซึ่งตรงกันข้ามกับคนทอผ้าไหมที่มูลค่าสูงนั้นแทบไม่มีเงินซื้อข้าวกินเสียด้วยซ้ำ

กาชามาศ กับ คุณวันเพ็ญ ศักดาทร นักสะสมผู้สนับสนุนและสะสมงาน Kachama มากที่สุดในประเทศไทย

อีกหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นของเธอคือ Tears of The Sea แรงบันดาลใจเกิดขึ้นขณะที่เธอไปเที่ยวทะเล แล้วพบภาพขยะที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งกำลังทำลายสิ่งแวดล้อมอันสวยงาม นั่นกระทบใจของเธอ ผลงานชิ้นนี้จึงลองนำขยะทะเลอย่างกระป๋อง แหดักปลา สายไฟ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และขยะอื่น ๆ อีกมากมาใช้เป็นวัสดุในการทอผ้า จนออกมาเป็นงานผ้าทอที่สวยงาม ซึ่ง Tears of The Sea เตะตาบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของไทยถึงขั้นขอซื้อ ผลงานของเธอจึงกำลังจะบอกว่าเรามีวิธีจัดการขยะที่ดีและทำให้เกิดประโยชน์ได้ มากกว่าปล่อยปละละเลยให้กลายเป็นมลพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ผลงานของกาชามาศจึงไม่ได้มีคุณค่าเฉพาะความสวยงาม แต่ยังแฝงไปด้วยเรื่องราวและความรู้สึกที่เธอค่อย ๆ ถักทอเข้าไปทีละนิด จนเกิดเป็นผืนผ้าขนาดใหญ่ และหลาย ๆ งานของเธอก็ชวนให้เรารู้สึกสนุกไปกับไอเดียของศิลปิน บางชิ้นทำให้เราทึ่งไปกับความงามจากวัสดุที่เธอเลือกหยิบมาทอ และอีกหลายชิ้นก็ชวนให้เราคิดทบทวน อีกทั้งเพลิดเพลินไปกับทุกท่วงทำนองและจังหวะการทอของเธอ

การชมผลงานของกาชามาศ นอกจากดูภาพรวมทั้งผืนแล้ว ยังต้องสังเกต ละเลียดรายละเอียดบนผืนผ้า คล้ายกับการอ่านชีตเพลงไปตามโน้ตทีละตัว เพราะบนผืนผ้าเหล่านั้นคือบทเพลงของเธอ

สำหรับผู้สนใจชมผลงานของกาชามาศ เธอกำลังจะแสดงงานอีกจำนวนมาก เช่นเดียวกัน ผลงานหลายชิ้นของเธอได้เป็นส่วนหนึ่งซึ่งจะจัดแสดงในพื้นที่ที่กำลังจะทยอยเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ ทั้งในเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือห้องบอลรูมขนาดใหญ่ของโรงแรมเก่าแก่ชื่อดังของไทย

ติดตามได้ที่ www.kachama.art

ขอบคุณภาพแสดงผลงาน
  • นิทรรศการ KACHAMA Songs of My Soul : On the Ground, Among the Sky ที่ Kalm Village
  • Saenkham Terrace Restaurant
  • Saen Doi Home Gallery

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

ภูพิงค์ ตันเกษม

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย