กาลครั้งหนึ่ง หญิงสาวผู้ไม่คุ้นเคยกับกรุงเทพฯ เท่าไหร่นัก เปิดแผนที่อยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า

เธอเดินทางตามหาบ้านหลังหนึ่ง แผนที่ในแอปพลิเคชันพามาหยุดที่ซอยมิตรอนันต์ เขตดุสิต

บ้านหลังนี้มีชื่อว่า ‘Just a little Wild’ ล้อมด้วยกำแพงสีส้ม และรั้วแผ่นไม้สีน้ำตาลสลับแผ่นสเตนเลส เรากดกริ่ง รอเพียงครู่ เจ้าบ้านก็เปิดประตูมาต้อนรับ เธอยิ้มใจดี ก่อนเชิญเราให้เข้าไปในบ้านเราใช้สายตาสำรวจพื้นที่ ถึงกับตาลุกวาว ที่นี่เหมือนห้องสมุดหนังสือภาพ มีหนังสือนิทานมากมายจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ มีโต๊ะและอุปกรณ์สร้างสรรค์งานประดิษฐ์ หากมองทะลุไปด้านหลัง มีต้นไม้เขียวขจี สวนเล็ก ๆ ให้เด็ก ๆ พ่อ แม่ ได้ปลดปล่อยจินตนาการใต้ฟ้าสีครามด้วยกัน

Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน
Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน

ไผ่-วาสนา ศรีปรัชญาอนันต์ หญิงสาวผมสั้นที่ออกมาต้อนรับเราในทีแรก เธอเป็นเจ้าบ้าน เป็นคุณแม่ และเป็นผู้ก่อตั้ง Just a little Wild ขึ้นมา ไผ่นิยามสถานที่นี้บนหน้าเพจเฟซบุ๊กว่า พื้นที่เรียนรู้เล็ก ๆ สำหรับครอบครัวและเด็กเล็ก ผ่านหนังสือภาพและการทำกิจกรรมร่วมกัน เรามาเคาะประตูบ้านและนั่งสนทนากับไผ่ก็เพื่อชวนเธอเล่าถึง ‘พื้นที่เรียนรู้เล็ก ๆ สำหรับครอบครัวและเด็กเล็ก’ แห่งนี้

Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน

ก่อนอื่น เราอยากให้คุณทำความรู้จักกับเธอก่อน

ไผ่เรียนจบด้าน Art Education เคยทำวิจัยกับ Children’s Museum of Indianapolis สหรัฐอเมริกา (ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์เด็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก) เกี่ยวกับการเรียนรู้ร่วมกันของครอบครัว และก่อนผันตัวเป็นคุณแม่ เธอเป็นหนึ่งในอาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไผ่มีความฝันว่าอยากสร้างสถานที่ส่งเสริมการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัว 

ความฝันของเธอค่อย ๆ กลายเป็นจริง และสถานที่แห่งนั้น คือ Just a little Wild ในวันนี้

ความฝันของไผ่

ไผ่เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน เธอเริ่มคิดอยากจะสร้าง children’s museum ของตนเอง

“จริง ๆ เราสร้างบ้านหลังนี้มาประมาณ 1 ปี ซึ่งเราฝันไว้ตั้งแต่ 3 ปีก่อนแล้วว่าอยากทำพิพิธภัณฑ์ แต่มีเงินไม่มากพอ จากพิพิธภัณฑ์เลยกลายมาเป็นบ้านและห้องสมุด” เธอหัวเราะ

“ช่วงฮาลโลวีนปีก่อนที่บ้านจะเสร็จ เราชวนเด็กในซอยมาทำกิจกรรมสนุก ๆ กันโดยไม่คิดเงิน อย่างน้อยได้ลองฝีมือ ซึ่งเราเคยทำพาร์ตไทม์ที่ art museum จัด Saturday Art Class ทำกิจกรรมเชื่อมโยงกับนิทรรศการ งานนั้นอยู่ในฐานะมดงาน ไม่ได้คิดเอง แต่งานนี้ต้องคิดเอง ทำเองทั้งหมด เลยใช้เวลานานมาก”

Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน
Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน

เธอเคยไปเยือนสถานที่แห่งหนึ่ง มีการออกแบบให้เหมาะกับเด็ก ๆ ภายในประกอบด้วยเครื่องเล่นน่าตื่นตาตื่นใจมากมาย เธอประทับใจทุกสิ่ง ติดเพียงอย่างเดียว สถานที่แห่งนั้นห้ามส่งเสียงดัง!

และนี่คือหนึ่งในจุดเปลี่ยนให้เธอลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่ให้เด็ก ๆ ปลดปล่อยพลัง

Wild Things

‘Just a little Wild’ มาจากความเข้าใจในมนุษย์ทุกวัยแม้กระทั่งเด็ก

ไผ่เชื่อว่าทุกคนต่างมีความ Wild อยู่ในตัว มนุษย์ไม่ได้มีเพียงด้านเดียวเสมอไป ก้นบึ้งของหัวใจย่อมมีตะกอนตกอยู่บ้าง การปลดปล่อยความ Wild ถือเป็นอีกวิธีช่วยสร้างปลดปล่อยความซุกซนในตัวเอง

ชื่อนี้เธอได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือนิทาน Where the Wild Things Are หรือ ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย เล่าถึง แม็กซ์ เด็กสุดแสบแสนดื้อรั้น ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่ไม่ดีเท่าไหร่นัก แม่เรียกเขาว่า ‘เจ้าตัวร้าย’ หรือ Wild Things! แม็กซ์โต้ว่า เดี๋ยวกินแม่ให้หมดเลยนี่! แม่เลยไม่ให้เขากินข้าวเย็น แล้วก็ไล่เขาขึ้นห้องนอน แม็กซ์เลยแล่นเรือออกทะเลไปจนพบเกาะของพวกเจ้าตัวร้าย เขาตั้งตัวเป็นราชาแห่งความเกเร แต่ท้ายที่สุดเขาก็โหยหาที่จะกลับบ้าน กลับมาซุกกอดอุ่น ๆ ของผู้เป็นแม่ 

Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน
Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน

“เราอยากสร้างพื้นที่ให้เด็ก ๆ ปลดปล่อยความ Wild ออกมา ทั้งทางร่างกายและจินตนาการ”

หญิงสาวเริ่มเปลี่ยนท่าทางจริงจังทันทีหลังจากคำถามที่ว่า – ที่นี่รับฝากเด็ก ๆ ไหม

“ไม่ค่ะ” เธอตอบทันที “ถ้ามาร่วมกิจกรรม ผู้ปกครองต้องมาด้วย และต้องทำกิจกรรมร่วมกันกับเด็ก ๆ ค่ะ”

คอนเซปต์ของสถานที่แห่งนี้คล้ายกับการ Play Date เป็นพื้นที่ให้ผู้คนมาเรียนรู้ ทำความรู้จัก และสร้างประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งสิ่งที่ทั้งครอบครัวจะได้กลับไปคือการรู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น

เด็ก ๆ ที่เหมาะกับ Just a little Wild คือช่วงอายุตั้งแต่ 0 – 6 ขวบ

ในอนาคตเธอตั้งใจแบ่งออกเป็น 2 Section คือเด็กเล็กและเด็กโต

Let’s Go Wild!

เราเริ่มกวาดสายตามองรอบ ๆ บ้าน เริ่มต้นตั้งแต่โรงจอดรถตรงลานหน้าบ้าน จอดได้หลายคัน และออกแบบให้มีหลังคากันฝน กันแดด สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้มาเยือน

ถัดมาเป็นห้องเวิร์กช็อปสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ตัดกระดาษ วาดภาพ ระบายสี

กองทัพต้องเดินด้วยท้อง น้อง ๆ แวะไปที่ห้องอาหาร มาพร้อมฟังก์ชันที่เจ้าตัวน้อยมานั่งเพนต์สีได้ โดยมีโต๊ะญี่ปุ่นขนาดเล็กวางอยู่ หันไปอีกนิดจะเจอกับอ่างสำหรับล้างมือ ล้างสี 

ด้วยสายตาของคนเป็นแม่ ไผ่มักใส่ใจกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในพื้นที่ อย่างห้องน้ำ ออกแบบมาให้มีโซนเด็กและโซนผู้ใหญ่ โดยทั้ง 2 โซนแยกออกจากกันเพื่อความสะดวกในการใช้งาน

ความกล้าบ้าบิ่นในตัวเด็ก ๆ จำกัดไม่ได้ภายในห้องเดียว เธอจึงใช้สวนเป็นพื้นที่ปล่อยพลังด้วย มีลำธารสายเล็กให้เด็ก ๆ เล่นน้ำ เดินไปเพียง 3 ก้าวก็มีบ้านหลังน้อยและกำแพงว่างเปล่า รอให้เด็ก ๆ มาวาดสีสันตามความต้องการ อ้อ สวนหลังบ้านยังมีแปลงปลูกผักและโรงเลี้ยงไก่ขนาดย่อมด้วย

Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน

โซนไฮไลต์ที่เราชอบมาก เป็นเหมือนเวทีอยู่กลางห้อง เราชี้ไปที่ 2 ฝั่งกำแพง เต็มไปด้วยหนังสือภาพมากมาย ด้วยความสงสัยจึงเอ่ยถามตามประสา จากนั้นเธอยิ้มร่าพร้อมเล่าด้วยความภูมิใจ

“นี่คือโซนเล่านิทาน หนังสือภาพในปัจจุบันมีหลากหลาย เราจัดหนังสือตามธีม เช่น หมวดความหลากหลายทางสังคม มิตรภาพ การแบ่งปัน การผจญภัย ล่าสุดธีมที่เพิ่งจัดขึ้นคือ ธีมแมลง”

หนังสือธีมแมลงมีมากมาย อาทิ แมลงน้อยจัดคอนเสิร์ต, ผีเสื้อปีกขาว, จักจั่นน้อยโตแล้วนะ, หนอนจอมหิว, เล่นจับแมลง, งานฉลองไส้เดือน, ๕๐ เท่า, Du lz Tak?, The Ladybird ฯลฯ

Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน
Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน

เธอใช้นิทานเป็นกุญแจเปิดประตูสู่โลกไร้ขีดจำกัด พาเด็ก ๆ ท่องจินตนาการอย่างมีชั้นเชิง

และไผ่คือคุณแม่นักสะสมหนังสือภาพ ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศ ต้องได้หนังสือติดมือกลับบ้าน เธอเดินไปหยิบหนังสือภาพเล่มหนึ่งมาให้เราดู เป็นหนังสือจากประเทศญี่ปุ่น มีความยาวเป็นเมตร ไผ่ว่านิทานประเทศญี่ปุ่นมักเกี่ยวกับแผนที่ ไม่รู้ทำไม (นั่นสิ) เรามีเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ใช้แผนที่เก่งมาก ๆ หาทุกซอกซอยที่ไปได้อย่างรวดเร็ว หลังจากฟังไผ่พูด เราจึงเข้าใจแล้วว่า อาจเพราะญี่ปุ่นค่อย ๆ ให้คนซึมซับการใช้แผนที่ตั้งแต่เด็กผ่านหนังสือนิทาน เพื่อให้เด็ก ๆ ทดลองสังเกต ฝึกฝน จนเกิดความคุ้นชิน

Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน
Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน

กระดึ๊บกระดึ๊บ กะฉึกกะฉัก 

โปรดอ่านเป็นจังหวะ

เช้าแล้ววันใหม่ ออกเดินทางไป กับรถไฟหนอนผีเสื้อ

กะฉึกกะฉัก กระดึ๊บกระดึ๊บ กะฉึกกะฉัก กระดึ๊บกระดึ๊บ

ออกผจญภัยบนรถไฟหนอนผีเสื้อ 

เพลงประกอบกิจกรรมขบวนรถไฟหนอนผีเสื้อ ผู้แต่ง – ไผ่ ผู้ก่อตั้ง Just a little Wild

Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน

ขบวนรถไฟหนอนผีเสื้อ เป็นกิจกรรมแรกที่ Open for Public ของที่นี่ จัดขึ้นเพื่อพาเด็ก ๆ ไปท่องโลกของคุณหนอนผีเสื้ออย่างสมจริง แรงบันดาลใจมาจากหนังสือนิทานเรื่อง ขบวนรถไฟหนอนผีเสื้อ

เธอเล่าว่าความตั้งใจแรกของการทำกิจกรรมนี้ คือทำขบวนรถไฟหนอนผีเสื้อที่เด็ก ๆ เข้าไปในรถไฟได้ นำวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์จนกลายเป็นขบวนรถไฟ ให้เด็กเห็นถึงการนำของรอบตัวมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ ๆ และไผ่ก็ทำหน้าที่เป็นนักเล่านิทานประกอบกิจกรรมด้วย

เธอเชื่อว่าขณะที่เล่านิทาน เด็ก ๆ จะจินตนาการและเพลิดเพลิน เสมือนเข้าไปอยู่ในเรื่องราว

ไผ่หยิบแผนที่การเดินทางของขบวนรถไฟหนอนผีเสื้อมาให้แล้วเริ่มพาทัวร์

ชวนทุกคนจินตนาการ เมื่อเริ่มเดินก็พบกับไม้กั้นทางรถไฟ -> ต้นมะเขือเทศและบัวรดน้ำ -> ร้าน Soft Cream ไส้เดือน -> ทางขึ้นต้นไม้ -> ใยแมงมุมยักษ์ -> สถานีต้นแอปเปิล -> ลำธาร

ไชโย! เดินทางมาถึงขบวนรถไฟหนอนผีเสื้อยักษ์กลางสนาม

“เมื่อเด็ก ๆ มาถึง ทุกคนจะได้ใบไม้คนละ 1 ใบ เป็นใบชงโคที่เรากับลูกช่วยกันเก็บ เราให้เขาเขียนว่าอยากไปที่ไหน เลือกเวลา เลือกชานชาลาของตัวเอง จากนั้นก็ช่วยกันผจญภัยต่อสู้กับใยแมงมุมยักษ์ ซึ่งกิจกรรมนี้คือประตูมิติที่ให้ครอบครัวทะลุเข้าไปมีประสบการณ์ร่วมกัน”

Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน

กิจกรรมล่าสุด ~ STORIES RUN WILD ~ presents ตุ๊กแกเบิ้ม ที่จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 20 มกราคม เวลา 14.00 – 16.30 น. และ วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 14.00 – 16.30 น.

ใคร ๆ ก็เกลียดและกลัวตุ๊กแก เบิ้มสงสัยจัง ทำไมคนถึงไม่ชอบตุ๊กแก จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อตุ๊กแกเบิ้มเห็นตัวเองในกระจก

คุณพ่อคุณแม่จูงมือลูก ๆ มาค้นหาสิ่งที่ชื่นชอบเกี่ยวกับตนเองในธีม ‘ฉันชอบตัวเองจังเลย’

กิจกรรมที่ Just a little Wild จะหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ เพราะหัวใจของที่นี่คือการส่งเสริมการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัว สนับสนุนการประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ด้วยการลงมือทำ

หนังสือภาพคือสื่อกลางเชื่อมความสัมพันธ์

ในบางครั้งนิทานก็ทำงานกับพ่อแม่ด้วย

เช้าวันหนึ่ง เมื่อแม่เพนกวินโมโหมากจนตวาดลูกเสียงดัง ดังมากจนทำเอาตัวลูกเพนกวินน้อยแยกเป็นหลายชิ้นส่วน กระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั้งในป่า บนภูเขา และไปไกลถึงนอกโลก

แล้วเจ้าเพนกวินน้อยจะทำอย่างไรต่อไป… 

คำโปรยนิทาน แม่จ๋าอย่าโมโห

หนึ่งในนิทานเด็กที่ผู้ใหญ่อ่านแล้วต้องกลับมาทบทวนตนเอง ไผ่ผู้เป็นแม่ก็เช่นกัน เธอว่า ไม่ว่าจะสุข เศร้า หรือโกรธ เด็ก ๆ สัมผัสได้ด้วยน้ำเสียง ท่าทาง แววตา ยิ่งพ่อแม่มีน้ำเสียงกับท่าทางที่เปลี่ยนไป กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจส่งผลต่อจิตใจดวงน้อย ๆ ของลูกเสียแล้ว

“หนังสือภาพเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง มีพลังในการสื่อสารเรื่องต่าง ๆ และนิทานก็พูดถึงหัวข้อยาก ๆ ที่เราอาจคุยกับเด็กไม่ได้ แต่หนังสือนิทานพูดได้อย่างล้ำลึกมาก ๆ อย่างเรื่อง ลูกแกะน้อยแฮร์รี่ พูดถึงการที่ลูกจากโลกนี้ไปก่อนแม่ ชวนให้เราได้ฉุกคิดเรื่องความสุข แท้จริงแล้วความสุขก็คือสิ่งที่อยู่ในคืนวันธรรมดา ๆ ที่เราได้ใช้เวลาร่วมกันนี่เอง” ไผ่อธิบาย

Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน

เราขอให้ไผ่เล่านิทานที่เธอชอบให้ฟังสัก 1 เรื่อง 

“โห เรื่องเดียวเองเหรอ เลือกไม่ได้จริง ๆ (สีหน้าเศร้า) ขอ 3 เรื่องได้ไหม”

แน่นอนว่าได้ เราจะพาทุกคนท่องโลกนิทานที่ไผ่อยากแนะนำให้เราฟัง

01

เที่ยวบ้านเพื่อนสนุกจัง

ผู้แต่ง กฤษณะ กาญจนาภา, วชิราวรรณ ทับเสือ

สำนักพิมพ์ สานอักษร

“ผลงานภาพของพี่อ้อย-พี่บอม มีรายละเอียดให้ดูเยอะมาก ให้ความรู้สึกเป็นหนังสือภาพจริง ๆ เพราะตัวอักษรน้อย แต่เรื่องราวเป็นพันอยู่ในนั้น สิ่งที่ประทับใจมาก ๆ ของเล่มนี้คือ ตัวละครหลักในเรื่องดูมีชีวิต ทุกคาแรคเตอร์มีความเป็นเด็กซุกซนอยู่ และฉากที่ชอบที่สุด คือ อาหารมื้อเย็นแบบขันโตก ความรู้สึกอุ่น ๆ กรุ่น ๆ ของครอบครัว รับรู้ได้ผ่านปริมาณข้าวเหนียวร้อน ๆ ที่คุณตาตักให้พี่หมี แล้วบอกว่า ‘กินเยอะ ๆ จะได้โตไว ๆ’

“อ่านแล้วอยากไปเที่ยวบ้านเพื่อนจัง”


02

咚咚咚!我可以进来吗? (Dong, dong, dong! Can I come in?)

ผู้แต่ง Nian Wangfan

สำนักพิมพ์ Hebei Education Press

“เล่มนี้เล่าเกี่ยวกับการตัดสินผู้อื่นแบบเหมารวม (Stereotype) เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราควรสอนเด็ก ๆ ตั้งแต่เด็กเล็ก รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย เพราะถ้าเรามีมุมมองแคบหรือปิดกั้น สังคมก็จะมีแต่ความแบ่งแยกและเกลียดชัง ซึ่งเราควรยินดีกับความแตกต่างหลากหลายในสังคม

“หนังสือภาพเล่มนี้เป็นเล่มที่เราเปิดอ่านกับลูกตอนอยู่ประเทศจีน อ่านแล้วประทับใจทันที ถึงแม้อ่านภาษาจีนไม่ได้ทั้งหมด เรายังรู้สึกทึ่งในการสื่อสารเรื่องราวซับซ้อนให้เข้าใจได้อย่างง่ายดาย ผ่านการใช้วงกลมปิดและการใช้ประโยคซ้ำของ 咚咚咚!我可以进来吗?(ก๊อก ๆ ๆ ฉันขอเข้าไปได้ไหม)”


03

The Farmer and The Clown

ผู้แต่ง  มาร์ลา เฟรซี (Marla Frazee)

สำนักพิมพ์ Beach Lane Books

หนังสือภาพเล่มนี้เล่าถึงมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างชาวนากับตัวตลกที่ตกลงมาจากขบวนของคณะละครสัตว์ เมื่อตัวตลกล้างหน้าออก ชาวนาพบว่าภายใต้ใบหน้าของตัวตลกเป็นเพียงเด็กน้อยเท่านั้น

หนังสือไร้คำพูด แต่สื่อสารอารมณ์ออกมาอย่างชัดเจนผ่านสีหน้าของตัวละครที่วาดอย่างเรียบง่าย

 

ไผ่ว่านิทาน 3 เล่มน้อยไปนิด เธอจึงขอแถมให้อีก 3 เล่ม

Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน

04

สีน้ำมหัศจรรย์

ผู้แต่ง  อาคิโกะ ฮายาชิ ผู้แปล ภัทร์อร พิพัฒนกุล

สำนักพิมพ์ SandClock Books

“เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของเด็ก ๆ ขณะระบายสี พอเด็กไม่รู้วิธีผสมสี เขาเอาทุกสีผสมกัน ก็กลายเป็น ‘สีขี้โคลน’ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะหยุดเขา การระบายสีเป็นหนึ่งในช่องทางที่เขาแสดงออก เชื่อเถอะว่าหลังจากนั้นความมหัศจรรย์จะค่อย ๆ ผลิบานออกมาในที่สุด” เธอเล่าด้วยแววตาประกาย


05

ป่าแปลก ๆ กับเจ้าเขางาม

ผู้แต่ง  กัมปนาท สังข์สร

สำนักพิมพ์ สายรุ้ง

“เล่มนี้เป็นผลงานของศิลปินไทย โทนภาพมืด ๆ ไม่เหมือนหนังสือเด็ก แต่แฝงไปด้วยความลึกลับ น่าค้นหา เราชอบที่เรื่องนี้เล่าถึงความแตกต่างหลากหลายและการยอมรับในตัวตนของกันและกัน”


06

เราไปด้วยกันนะ

ผู้แต่ง  มาคิอาน ดูบูค (Marianne Dubuc)

สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์

“เล่มในดวงใจที่เราหยิบมาอ่านบ่อยที่สุด”

“ขอเบิกตัวละครหลักของเรื่องอย่าง ‘คุณยายแบดเจอร์’ และ ‘เหมียวแต้ม’ ทั้งคู่เริ่มออกเดินทางไปขุนเขาปังเย็น ด้วยกัน ระหว่างเดินทางด้วยกันครั้งแรก พอมาถึงทางแยก เหมียวแต้มก็ถามคุณยายแบดเจอร์ว่าควรไปทางไหน เด็ก ๆ มักหันมาขอความเห็นจากผู้ใหญ่ แต่คุณยายแบดเจอร์กลับบอกเหมียวแต้มให้เลือกตามที่หัวใจบอก

“คำพูดประโยคนี้ตรึงอยู่ในใจเราเสมอ เพราะหลายครั้งในการเป็นแม่ เราหลงลืมสิ่งนี้ไป เราควรปล่อยให้ลูกได้เติบโตด้วยการลองทำ‘ตามหัวใจ’ ดูบ้าง และ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เราลองไม่สั่งสอน แต่สะท้อนให้เด็ก ๆ ได้เห็น ได้ลองทำ และนั่นอาจจะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่น่าตื่นเต้น”

จากต้นจนจบบทสนทนา ใบหน้าของเธอยังคงยิ้มแย้ม

Just a little Wild พื้นที่ให้เด็กปลดปล่อยความ Wild ผ่านหนังสือภาพ-กิจกรรมที่ทำได้ทั้งบ้าน
Just a little Wild
  • 261/2 ซอยมิตรอนันต์ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • 08 6004 9944
  • Just a little Wild

Writer

ชนิสรา ไชยจะแสนสุข

ชนิสรา ไชยจะแสนสุข

นักสำรวจความคิดมนุษย์ฉบับฝึกหัด ถนัดฟังทุกเรื่องที่มนุษย์เล่า เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือ เข้าใจมนุษย์ที่เรียกว่า ตนเอง

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์