ณ ซอยภูธร ใจกลางเมืองภูเก็ต มีสถานที่ซึ่งได้ชื่อว่า ‘จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง’ อยู่ด้วยกัน 2 แห่ง

แห่งที่ 1 คือศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง หรือที่ชาวบ้านร้านถิ่นนิยมเรียก ‘อ๊ามจุ้ยตุ่ย’ คือศาลเจ้าเก่าแก่ที่อยู่คู่เกาะภูเก็ตมานานนับศตวรรษ ทั้งเป็นต้นตำรับเทศกาลกินเจในย่านตัวเมือง ซึ่งได้รับแรงศรัทธาล้นหลามจากชาวประชาทั่วทุกสารทิศ

แห่งที่ 2 คือพิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ซึ่งน้อยคนจะสังเกตว่าตรงกันข้ามกับศาลเจ้ายังมีห้องแถวหลังเล็กที่ขึ้นป้ายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ตั้งหันหน้าหาซุ้มประตูศาลอยู่ด้วย

ที่นี่คือศูนย์การเรียนรู้ของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยและประเพณียิ่งใหญ่ประจำปีของผองพี่น้องชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของผู้คนหลายภาคส่วน ตั้งแต่ผู้บริหารศาลเจ้า นักวิชาการ สานุศิษย์ ตลอดจนลูกหลานของผู้มีบทบาทสำคัญต่ออ๊ามจุ้ยตุ่ยในวันวาน

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับพิพิธภัณฑ์ อาจารย์โจ-ธำรงค์ บริเวธานันท์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ชวนเราย้อนอดีตของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยพอให้เห็นภาพว่า ศาลเจ้าหรือที่ชาวภูเก็ตมักเรียกเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนตามบรรพบุรุษว่า ‘อ๊าม’ แห่งนี้ มีคุณค่าต่อผู้คนที่นี่เพียงไร

“ตอนแรกที่นี่เป็นศาลเจ้าชุมชน เดิมทีตั้งอยู่ในซอย ‘หั่งอาหล่าย’ ปัจจุบันใช้ชื่อไทยว่าซอยรมณีย์ครับ” อาจารย์โจเกริ่นนำด้วยน้ำเสียงชวนฟัง

ทุกวันนี้ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดภูเก็ตเป็นคนไทยเชื้อสายจีน โดยต้นตระกูลของพวกเขามักย้ายถิ่นมาจากมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เพื่อเป็นคนงานในเหมืองแร่ดีบุกที่ฝังตัวอยู่ใต้ผืนดินและท้องน้ำจำนวนมหาศาลบนเกาะกลางทะเลอันดามันแห่งนี้

อำเภอเมืองภูเก็ตในปัจจุบันถือกำเนิดจากการขุดพบดีบุกซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของยุคสมัยนั้น จากที่เคยเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ได้รับการขนานนามว่า ‘ทุ่งคา’ ค่าที่เต็มไปด้วยทุ่งนาและหญ้าคา ก็ค่อย ๆ ทวีความสำคัญขึ้นมาเป็นชุมชนที่หนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่ง พระยาวิชิตสงคราม (ทัต) เจ้าเมืองถลางตัดสินใจย้ายที่ตั้งเมืองมาอยู่ที่ทุ่งคาเดิม นับเป็นจุดเริ่มต้นเมืองภูเก็ตยุคทุ่งคาที่ขับเคลื่อนโดยชาวจีน

ชุมชนจีนในภูเก็ตรวมตัวกันเป็นย่านใหญ่ เรียกว่า ชุมชนตัวโพ้ อันหมายถึง ตลาดใหญ่ แวดล้อมไปด้วยบริษัท ห้างร้าน และบ้านอยู่อาศัยของชนชาติที่ซัดเซพเนจรมาจากบ้านเกิดบนแผ่นดินมังกร เพื่อผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าที่ต้องกรำงานมาทั้งวัน บางส่วนจึงร่วมกันสร้างสถานบันเทิงอย่างโรงละคร โรงฝิ่น ไม่เว้นแม้กระทั่งซ่องโสเภณีในซอยเล็ก ๆ ที่ชื่อ หั่งอาหล่าย หรือ ‘ซอยรมณีย์’

“ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยหลังเดิมสร้างเป็นศูนย์กลางชุมชนคนจีนที่หั่งอาหล่าย และเกี่ยวข้องกับประเพณีกินเจที่คนภูเก็ตเรียก ‘กินผัก’ มาตั้งแต่ยุคนั้นครับ”

โดยต้นเหตุของเทศกาลนี้มาจากคณะงิ้วที่มาทำการแสดงที่ศาลเจ้าหลังแรกในซอยหั่งอาหล่าย

“เทศกาลกินผักของที่นี่มาจากคณะงิ้วโกก๊ะหี่ที่เขาเดินทางจากมณฑลฮกเกี้ยน พอถึงช่วงต้นเดือน 9 ของจีน เขามีธรรมเนียมการถือศีลกินเจ ชาวชุมชนที่ทุ่งคาก็เกิดความศรัทธา พวกงิ้วก็นำความรู้เกี่ยวกับการกินเจหรือกินผักมาถ่ายทอดสู่คนในชุมชน พวกเขาเลยได้เรียนรู้และสืบทอดประเพณีการกินผักมา นี่คือความเป็นมาของฝั่งจุ้ยตุ่ยซึ่งอาจแตกต่างจากที่อื่นนะครับ”

การถือศีลกินเจของชาวจีนมีหลายลักษณะ หลากวาระ แตกต่างกันไปตามแต่ละโอกาสและวัตถุประสงค์ การกินเจเดือน 9 เป็นประเพณีพื้นถิ่นที่แพร่หลายแถบฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว ต้องถือเอาวันที่ 1 ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 เป็นฤกษ์กินเจ เพราะเชื่อกันว่าเป็นช่วงที่เทพเจ้าประจำกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ทั้ง 9 พระองค์จะเสด็จมาเยือนโลก โหราศาสตร์จีนเชื่อว่าดวงดาวมีผลต่อชะตาชีวิตมนุษย์ และได้นับถือดวงดาวเหล่านี้เป็นเทพจักรพรรดิ 9 พระองค์ตามคติลัทธิเต๋า ชาวภูเก็ตเรียกว่า ‘กิ้วอ๋องไต่เต่ (九皇大帝)’ และเชื่อว่าต้องชำระล้างร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์เพื่อรับการเสด็จของจักรพรรดิทั้ง 9 เป็นที่มาของการกินเจเดือน 9

ส่วนที่อาจารย์โจย้ำว่าประวัติการกินเจของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยแตกต่างกับศาลเจ้าอื่น เพราะศาลเจ้าแต่ละแห่งในภูเก็ตมีคำอธิบายถึงที่มาของประเพณีนี้ไม่เหมือนกัน บางแห่งอาจมีเรื่องโรคระบาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ในขณะที่เรื่องเล่าฝั่งของจุ้ยตุ่ยไม่ได้พูดถึงเจตนาการกินเจเพื่อขับไล่โรคระบาด ทั้งหมดทั้งมวลมาจากชาวคณะงิ้วที่มักแสดงเป็นฮ่องเต้ ขุนนาง หรือแม้กระทั่งเทพเจ้าที่ล้วนเป็นผู้สูงศักดิ์ บางครั้งทำกิริยาไม่บังควร จึงต้องทำการถือศีลกินผักเพื่อสืบชะตา ขอพรจากกิ้วอ๋องไต่เต่ให้พวกตนมีอายุมั่นขวัญยืน

ศาลเจ้าในซอยหั่งอาหล่ายสืบทอดประเพณีกินเจเดือน 9 มาได้สักระยะหนึ่ง ก็เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่โดยไม่ทราบสาเหตุ ชาวบ้านนำโดย ผู้ใหญ่เอี๋ยว สุ่ยติ้น ผู้ใหญ่บ้านตำบลระเง็งจึงรวบรวมกำลังคนเข้าไปขนย้ายข้าวของสำคัญที่รอดพ้นเพลิงผลาญไปไว้บนเนินชื่อ ‘เป่งหย่องซ้าน’ อันเป็นที่ตั้งของสวนพลูของศาลเจ้าปุดจ้อที่อยู่มาก่อน นี่คือจุดเริ่มต้นของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ณ ที่ตั้งปัจจุบัน

ชื่อ จุ้ยตุ่ย (水碓) แปลว่า ครกตำข้าวน้ำ เพราะหน้าศาลเคยเป็นคลองที่ชาวบ้านสร้างกังหันน้ำเพื่อตำข้าวที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว ในขณะที่ เต้าโบ้เก้ง (斗母宫) แปลว่า วิหารพระมารดาแห่งดวงดาวจักรพรรดิทั้ง 9 เป็นชื่อที่ใช้สื่อถึงศาลเจ้าซึ่งใช้ประกอบพิธีถือศีลกินผัก

“จากการสืบค้นข้อมูล ในปีนี้ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยของเราจัดงานกินผักมานานกว่า 112 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เคยจัดฉลองใหญ่ตอนครบรอบ 108 ปี และจัดต่อมาเรื่อย ๆ” อาจารย์โจกล่าว “ถ้าไปสืบค้นข้อมูลอาจมีเก่ากว่านี้ก็ได้ครับ”

ใน พ.ศ. 2563 ที่ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยครบรอบ 109 ปี มีสิ่งแปลกใหม่เพิ่มเติมเข้ามา คือพิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งที่ถูกคั่นกับศาลเจ้าเพียงซอยเล็กคั่นกลาง

“พิพิธภัณฑ์นี้เกิดจากที่ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบเก้งเราทำวิจัยร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตอนแรกเป็นเรื่องการเก็บข้อมูลวัตถุทางวัฒนธรรมจำนวนหนึ่ง ประมาณสัก 30 ชิ้น เพื่อทำข้อมูลวัตถุวัฒนธรรม

“พอทำข้อมูลนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรก็ถามว่า ถ้าเกิดมีข้อมูลด้านวัตถุวัฒนธรรมแล้ว มีโครงการทำต่อเนื่องอีกมั้ย เลยคุยกับ คุณฮกซิ่ว-กิตติวงศ์ จันทร์สัทธรรม ประธานศาลเจ้าว่าจะต่อยอดยังไงเมื่อเรามีข้อมูลวัตถุวัฒนธรรมในมืออยู่แล้ว”

ฟากฮกซิ่วเองก็เป็นคนหนุ่มที่เข้ามาบริหารศาลเจ้าด้วยความคิดริเริ่มแปลกใหม่ เป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่ต้องการให้ลูกหลานชาวภูเก็ตรู้จักศาลเจ้าและประเพณีของปู่ย่าตาทวดดียิ่งขึ้น

ฮกซิ่ว-กิตติวงศ์ จันทร์สัทธรรม
ภาพ : ปฏิพล รัชตอาภา

“ตอนนั้นโดยตัวคุณฮกซิ่วเขาเรียนปริญญาโทเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ภูเก็ต แล้วเขาจะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการจัดการศาลเจ้า ปรากฏว่าหาข้อมูลไม่เจอ คุณฮกซิ่วเลยบอกว่า สงสัยต้องทำข้อมูลเกี่ยวกับศาลเจ้าแล้วแหละ แต่เขาก็พูดกับผมว่า ผมไม่อยากอ่าน ผมขี้เกียจอ่าน ผมอยากจะดู”

อาจารย์โจเล่าอีกว่าที่จริงแล้วพื้นเพตัวเขาเป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด แต่มาสอนหนังสือที่ภูเก็ตนานหลายปี ขณะมาทำวิจัยส่วนตัวเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของศาล ก็ได้รับการทาบทามให้มีส่วนร่วมในโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ของศาลเจ้า

เมื่อโจทย์ของประธานศาลเจ้าคืออยากดูมากกว่าอ่าน คณะทำงานจึงได้โจทย์ว่าควรสร้างคลังข้อมูลในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวัตถุให้ชมได้โดยง่าย และไม่ต้องมีตัวหนังสือแสดงข้อมูลที่ยืดยาวจนเกินเหตุ ในชั้นแรกทำเป็นเพียงนิทรรศการเป็นบอร์ดไวนิลธรรมดา เพื่อประหยัดพื้นที่และงบประมาณ ก่อนที่ต่อมาประธานฮกซิ่วจะตัดสินใจซื้อห้องแถวชั้นเดียวฝั่งตรงข้ามศาล พานให้นิทรรศการเดิมที่เคยทำไว้ต้องขยายพื้นที่และปรับเปลี่ยนบริเวณจัดแสดงกันยกใหญ่

“ก่อนหน้านี้ตึกแถวตรงนี้เป็นบ้านอยู่อาศัย เรียกว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยก็ได้ เพราะเขามีพิธีกรรมเกี่ยวกับการรักษาโดยม้าทรงตามความเชื่อพื้นถิ่น ประธานโทรมาบอกว่า อาจารย์ ซื้อห้องแล้วนะ ทำขยายพื้นที่ได้เลย เราเลยรีโนเวตมาทำพิพิธภัณฑ์ครับ”

ตอนที่ห้องแถวเพิ่งซื้อใหม่นั้น คณะกรรมการของศาลเจ้าและฝ่ายวิชาการหลายคนร่วมประชุมกันว่าจะนำเสนอข้อมูลออกมาในรูปแบบใด ในเมื่ออ๊ามจุ้ยตุ่ยอยู่แค่ฝั่งตรงข้าม ข้าวของและข้อมูลหลายอย่างจึงหาได้เพียงเดินข้ามไปที่ศาล

“เราสรุปกันว่าหน้าที่ของศาลเจ้าก็เป็นแบบหนึ่ง ของพิพิธภัณฑ์ก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง เราอยากเล่าเรื่องในพิพิธภัณฑ์โดยตั้งโจทย์ว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่ยังไม่ได้เล่าในศาลเจ้า แล้วใช้พื้นที่ตรงนี้ในการเล่า เราจะไม่จำกัดการเล่าในเรื่องพิธีกรรมหรือสิ่งที่คนก็เห็นอยู่แล้ว แต่จะเล่าเรื่องที่ไม่ได้ถูกเล่า อย่างเรื่องของคนเล็ก ๆ คนที่มาช่วยงาน” ผู้อำนวยการเผยแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ห้องแถวแห่งนี้

เพียง 4 เดือน แผนการรีโนเวตพื้นที่เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งก็เสร็จสิ้น พร้อมเปิดให้สาธารณชนเข้าเยี่ยมชมในเทศกาลถือศีลกินผักปีนั้น โดยอาจารย์โจกล่าวว่าพื้นที่จัดแสดงทั้งหมดแบ่งออกเป็น 4 ส่วน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างประเด็นกัน

เมื่อผ่านส่วนหน้าสุดของพิพิธภัณฑ์ที่จำลองบรรยากาศโรงงิ้ว ที่ตั้งอยู่กับสแตนดี้รูปตัวงิ้ว เพื่อบ่งบอกรากเหง้าประเพณีกินผักของจุ้ยตุ่ยแล้ว ทุกคนจะได้พบกับพื้นที่ส่วนที่ 1 ชื่อห้อง ‘ร่องรอยจุ้ยตุ่ย’ นำเสนอภาพถ่ายเก่าควบคู่กับประวัติศาสตร์ศาลเจ้านี้ โดยมีคำพูดหรือคำอธิบายของคนรุ่นเก่าประกอบภาพ

“ณ วันนี้ ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยแบ่งออกเป็น 3 ยุคตามสิ่งปลูกสร้างของอาคารศาลเจ้า ยุคแรกมุงหลังคาจาก ก่อนจะสร้างอาคารใหม่และขยายออกมาเป็นแบบปัจจุบัน เราเล่าถึงแต่ละช่วงของอาคารศาลเจ้าว่าเกิดเหตุการณ์ที่น่าสนใจอะไรขึ้น แล้วทำไมเราถึงใช้การเปลี่ยนรูปอาคารศาลเจ้ามากำหนดยุค

“แล้วเราก็โควตคำของคนร่วมสมัยที่ยังทันศาลเจ้าในยุคนั้น ตอนเราสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลเป็นคลังข้อมูลชุมชน เจออาแปะคนที่เขาเกิดทันศาลเจ้ายุคเก่า ให้เขามายืนชี้ว่าตรงนี้เป็นอะไร ตรงนั้นเป็นอะไร อาแปะเขาเล่าว่าเมื่อก่อนเคยมายืนเล่นตรงนี้ มาเล่นประทัด มายืนชิงธง ผมก็ถ่ายรูปและอัดเสียงไว้ แล้วแสดงคำพูดออกมา แล้วโควตคำพูดออกมา ยังมีบุคคลที่ร่วมสมัยกับศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยยุคแรกอยู่นะ”

ถัดมาในส่วนห้องที่ 2 เรียกว่าห้อง ‘แก่นแท้ กินผัก กิ้วอ๋อง’ คือบริเวณที่มีไว้เล่าความเป็นมาของเทศกาลกินผัก อธิบายความเชื่อเกี่ยวกับองค์กิ้วอ๋องไต่เต่และความมุ่งหมายที่สำคัญของเทศกาล โดยในห้องนี้จะมีตะเกียง 9 ดวงที่จะถูกเติมน้ำมันนำขึ้นสู่ยอด ‘โกเต้ง’ หรือเสาไม้ไผ่ที่จะต้องยกขึ้นช่วงเทศกาล เป็นสัญลักษณ์แทนจักรพรรดิเทพทั้ง 9 ที่ชาวภูเก็ตเคารพนับถือ

ห้องที่ 3 ชื่อ ‘ศาลเจ้า ศูนย์รวม ศรัทธาศักดิ์สิทธิ์’ ทำเป็นโมเสกประกอบด้วยใบหน้าผู้คนที่มีส่วนร่วมในศาลเจ้าและประเพณีกินผัก เพื่อฉายภาพใหญ่ให้เห็นความสำคัญของศาลเจ้า ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางชุมชนชาวภูเก็ตทุกเพศ ทุกช่วงวัย และฐานะอาชีพ

ปิดท้ายด้วยห้องที่ 4 ชื่อ ‘เจี๊ยะฉ่ายแค่จุ้ยตุ่ย’ ซึ่งเป็นส่วนที่พิพิธภัณฑ์ภูมิใจนำเสนอมากที่สุด

“ห้องนี้ใช้เวลาทำนานที่สุดเลย กว่าจะเสร็จก็ช่วงเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) พ.ศ. 2563 พอดีครับ” อาจารย์โจกล่าวพลางนำชมห้องใหญ่ซึ่งภายในรายล้อมไปด้วยของล้ำค่ามากมาย

มุมหนึ่งของผนังห้องนี้มีภาพเหล่าบรรดาม้าทรงหรือ ‘กี่ต๋อง’ ผู้ทำหน้าที่เฉกเช่นสื่อกลางระหว่างมนุษย์โลกกับทวยเทพตามความเชื่อพื้นบ้านและศาสนาเต๋าของชาวจีนที่เชื่อว่าโลกนี้มีเทพเจ้าหลายองค์ แต่ละองค์ทรงมีญาณทิพย์ที่จะส่งมาสิงสถิตในตัวบุคคลซึ่งถูกเบื้องบนเลือกให้ทำหน้าที่เป็นร่างทรง

ช่วงเทศกาลกินเจ ในขบวนแห่พระที่เรียกว่า ‘อิวเก้ง’ ของทุก ๆ อ๊ามจะมีม้าทรงนับสิบไปจนถึงร้อยชีวิตคอยเดินนำหน้าเกี้ยวใหญ่อันเป็นที่ประทับของกิ้วอ๋องไต่เต่ เสมือนเป็นทหารอารักขาที่คอยกรุยทางให้พระราชาผู้ประทับบนเกี้ยวพระที่นั่ง และแต่ไหนแต่ไรมาขบวนอิวเก้งของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยได้ชื่อว่ามีความยาวมากที่สุด เช่นเดียวกับจำนวนม้าทรงในขบวนที่ไม่มีศาลเจ้าอื่นใดทัดเทียม

และในบรรดาม้าทรงของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยที่มีมานับพันหมื่นคน กลุ่มผู้ร่วมออกแบบพิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยก็ได้เลือกสรรม้าทรงที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตำนานประจำอ๊ามมาทั้งหมด 4 ท่าน พิจารณาจากระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่รับใช้เทพเจ้าและชื่อเสียงโด่งดังของแต่ละท่าน

“ห้องนี้จะมีประวัติของม้าทรงที่เราคัดเลือกมาในเบื้องต้น 4 ท่าน เช่น อาจารย์จิ้นเบ๋ง แซ่ซ้อ ท่านนี้นอกจากเป็นม้าทรงของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยแล้ว ท่านยังเป็นผู้รู้ในเรื่องวิชาอาคม แล้วก็ความรู้ด้านศิลปะ การแกะสลัก การทำโมเสก ทำประตูหรือตกแต่งศาลเจ้า”

สิ่งที่ทุกคนมักตกใจเมื่อได้เข้ามาถึงห้องนี้คืออาวุธและของมีคมทั้งหลายที่ม้าทรงรุ่นเก่าเคยใช้ทำร้ายร่างกายตนเองเพื่อรับเคราะห์แทนสาธุชนคนธรรมดา

ไม่ว่าจะเป็นมีด กระบี่ ดาบ เหล็กแหลม ไปจนกระทั่งลูกเหล็กมีเดือยหนามรอบด้าน อย่างที่ภาษาฮกเกี้ยนเรียกว่า ‘ทิกิ๋ว’ อาจารย์โจรับรองได้ว่าทุกชิ้นเคยผ่านการใช้งานจริง เป็นของที่ได้รับบริจาคมาจากม้าทรงหรือลูกหลานพวกเขาที่ตั้งใจมอบให้พิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดงเป็นวิทยาทานสืบไป

“ของพวกนี้มาจากคุณฮกซิ่ว เขามีความสนใจในเรื่องราวเหล่านี้อยู่แล้ว เขาไปเก็บสะสม ขออาวุธ เครื่องมือ ข้าวของเก่า ๆ มาเก็บไว้ ตอนแรกเก็บไว้ในตู้นี้ มันเคยอยู่ในห้องประชุม ไม่ได้ถูกจัดวาง ทำทะเบียนเล่าเรื่อง ตอนนี้ถูกนำมาจัดวางเพื่อเล่าเรื่องครับ”

จากจุดเริ่มต้นที่ทำแหล่งข้อมูลด้านวัตถุวัฒนธรรม พอข้อมูลเหล่านั้นต่อยอดมาเป็นพิพิธภัณฑ์คู่ศาลเจ้า ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรไม่เพียงแต่ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการทำพิพิธภัณฑ์มาช่วยให้คำแนะนำเท่านั้น หากยังช่วยทำ ‘พิพิธภัณฑ์ 360 องศา’ ด้วยการมาถ่ายภาพโดยรอบด้วยกล้อง 360 องศา แล้วเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตให้ผู้ที่สนใจเข้าชมและสแกน QR Code เพื่ออ่านข้อมูลต่าง ๆ ได้ โดยที่ตัวไม่จำเป็นต้องมาถึงเมืองภูเก็ต

แต่หากใครสนใจอยากเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของศาลเจ้ากับเทศกาลกินผักอันลือเลื่อง แม้ว่าดูจากภายนอกจะเหมือนที่นี่ปิดประตูอยู่ตลอด แต่ก็ขอเข้าชมได้ด้วยการแจ้งกับคนที่ศาลเจ้า พวกเขาจะส่งคนพร้อมกุญแจมาเปิดให้ โดยเวลาที่เหมาะสมแก่การมาศึกษาเรียนรู้มากที่สุดคือ 09.30 น. จนถึง 16.00 น. ของทุกวัน

“ถ้าเกิดมีคณะจะมาชมก็โทรติดต่อมา แล้วเข้ามาชมได้เลยครับ ในช่วงที่ผ่านมามีคณะเข้ามาขอชมอยู่บ้าง” ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งบอกทั้งรอยยิ้ม

“ตอนนี้กำลังจะปรับปรุงใหม่อยู่ ถ้าพัฒนาห้องให้ดีกว่านี้ จะมีคนมาประจำการอยู่ที่นี่ มาพูดคุยให้ข้อมูล ต่อไปก็มีแผนจะทำข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาติเพิ่มอีกด้วย”

หากว่าอ๊ามจุ้ยตุ่ยเป็นพื้นที่แสดงความศรัทธาของชาวภูเก็ต พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็จะเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจแก่ผู้คนให้รู้จักสิ่งทั้งหลายในอ๊ามได้ดียิ่งขึ้น

“ก็อย่างที่บอกครับว่าห้องนี้เล่าในสิ่งที่ศาลเจ้าไม่ได้เล่า ศาลเจ้าจุ้ยเต้าโบเก้งและพิพิธภัณฑ์จุ้ยเต้าโบเก้งจึงเป็นความร่วมมือกันในการที่จะเล่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รวมถึงพิธีกรรมที่ยังดำรงอยู่ร่วมกันของศาลเจ้า ฉะนั้นเราจึงทำหน้าที่ที่ดูเหมือนคนละหน้าที่ แต่ไปด้วยกัน

“ข้างบนศาลเจ้าเราดูเรื่องพิธีกรรม มีภาคปฏิบัติจริง แต่พอมาในพิพิธภัณฑ์ เรามีพื้นที่หนึ่งในการเรียนรู้สิ่งที่ไม่ได้เล่า หรือเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนอาจมองข้ามไปครับ”

พิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ทยาวีร์ สุพันธ์

ช่างภาพอิสระ บ้านอยู่ภูเก็ต หลงรักการดื่มกาแฟ ขับรถเที่ยว ชมธรรมชาติ การถ่ายรูปทะเลและผู้คน ชอบดนตรี ตีกลองเป็นงานอดิเรก