ธุรกิจ : บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2472

ประเภท : บริษัทค้าปลีกเครื่องประดับเพชรและเพชรกะรัต

ทายาทรุ่นสอง : สุนทร พรประกฤต

ทายาทรุ่นสาม : วิโรจน์ พรประกฤต

ทายาทรุ่นสี่ : อัญรัตน์ พรประกฤต, อัครพงศ์ พรประกฤต, อรรัตน์ พรประกฤต

ในวงการอัญมณี มีหลายเรื่องที่ Jubilee ทำได้เป็นเจ้าแรก

14 ปีที่ Jubilee เติบโตโลดแล่นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า อยู่ที่กว่า 4,000 ล้านบาทในปัจจุบัน และเป็นธุรกิจเพชรเจ้าเดียวในประเทศไทยที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นได้ น่าเสียดายที่ร้านเพชรจำนวนไม่น้อยล้มหายตายจากไปช่วงโควิด-19 หรือลูกหลานไม่อยากทำต่อ แต่ Jubilee ได้พิสูจน์แล้วว่าการทำงานอย่างเป็นระบบช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงสู่ 133 สาขาในปัจจุบัน

ห้องแถว 1 ห้องในชื่อ ซุยฮั้ว ย่านสะพานเหล็ก คือจุดเริ่มต้นของร้านเพชรตระกูลพรประกฤตที่ส่งต่อมาจากรุ่นหนึ่งและสอง แม้จะไม่ได้ขยับขยาย แต่มีฐานแฟนคลับหนาแน่น เมื่อมาถึงทายาทรุ่นสาม วิโรจน์ พรประกฤต กลับมีความคิดแหวกแนว ด้วยการบุกเบิกเคาน์เตอร์เพชรในห้างสรรพสินค้าเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย และวิโรจน์ยังเชื่อมั่นในการบริหารอย่างมืออาชีพ มองว่าการทำธุรกิจกับคนในครอบครัวจะมีเรื่องอารมณ์และความสัมพันธ์มาเกี่ยวข้อง จึงไม่ได้วางตัวรุ่นลูกให้มาทำงานบริหารต่อเลย

“หลานคงอดคิดไม่ได้ว่าคนค้าเพชรนี่ช่างโชคดีเสียจริง ได้อยู่กับของสวย ๆ งาม ๆ แต่แท้จริงแล้วธุรกิจขายเพชรก็เหมือนร้านโชห่วย ใคร ๆ ก็เปิดได้ และมีความยากในการบริหารจัดการเช่นเดียวกับธุรกิจขายสินค้าทั่วไป” ลูกสาวคนโตของวิโรจน์อย่าง อัญ-อัญรัตน์ พรประกฤต เล่าถึงจุดเริ่มต้นของตัวเองให้เราฟัง

Jubilee ธุรกิจเพชรที่โต 10 เท่าเพราะทายาทกล้าใช้สีดำและบุกตลาดแบบที่ไม่เคยมีใครทำ

แล้วเหตุไฉนลูกทั้ง 3 คนของวิโรจน์ถึงกลับมาทำงานที่บ้านกันได้อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ทั้งที่ไม่ใช่ความตั้งใจของคุณพ่อ 

อัญรัตน์เติบโตมาเหมือนเด็กทั่วไปที่ไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจน เรียนบัญชีเพียงเพราะชอบตัวเลข และทำตามคำเชียร์ของคุณแม่ที่บอกว่า เรียนบัญชีสิ เห็นลูกบ้านอื่นเรียนแล้วกลับบ้านเร็วดี หลังจากเรียนจบ อัญรัตน์สมัครงานด้านตรวจสอบบัญชีของบริษัทอินเตอร์ยักษ์ใหญ่ตามสไตล์เด็กเรียนดี จนกระทั่งมีช่วงเวลาจับพลัดจับผลูให้เข้ามาทำงานที่บ้าน เนื่องจากตำแหน่ง ‘เจ้าหน้าที่ฝ่ายต้นทุน’ ว่างลงพอดี ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะมาก เพียงแค่กรอกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์และแปะป้ายราคาสินค้า 

“การเข้ามาใน Jubilee ของเราไม่ได้เกิดจากการวางแผน บทละครนี้ไม่ได้เขียนให้เราตั้งแต่แรก เราบังเอิญได้ลงมาเล่นในบทนั้น ตอนนั้นบทนางเอกว่างพอดี พอเล่นแล้วก็ค่อย ๆ รู้สึกสนุกขึ้นทีละนิด แต่ศัพท์วงการเพชรยังไม่กระดิกหูเลยสักนิดนะ” อัญรัตน์ ทายาทรุ่นสี่ของธุรกิจนี้เล่า

Jubilee ธุรกิจเพชรที่โต 10 เท่าเพราะทายาทกล้าใช้สีดำและบุกตลาดแบบที่ไม่เคยมีใครทำ

โปรเจกต์วัดใจ ขายเพชรเม็ดละล้าน

ด้วยนิสัยที่เป็นคนโฟกัส ทำอะไรทำจริง อัญรัตน์จึงไปเรียนเป็นนักอัญมณีศาสตร์ เพื่อให้พูดคุยกับคู่ค้าและลูกค้ารู้เรื่องขึ้น เชื่อหรือไม่ว่าเธอเคยใส่เบอร์มือถือของตนเองในเบอร์ติดต่อสอบถามท้ายโบรชัวร์และอีเมลทุกฉบับ ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่ได้เก็บเกี่ยวเสียงตอบรับจากลูกค้าอย่างเต็มที่ ข้อดีของการขายเพชรคือลูกค้าจะมาหาเมื่อมีความสุข เช่น เนื่องในโอกาสพิเศษหรืออยากเฉลิมฉลอง แต่หากเศรษฐกิจอึมครึมเมื่อไหร่ ความท้าทายในการกระตุ้นยอดขายจึงบังเกิด

‘กะรัตโปรเจกต์’ คือผลงานชิ้นโบแดงที่ทำน้อยได้มากของอัญรัตน์ เธอทำเพียงลำพังกับมือกราฟิกอีกหนึ่งคน สร้างยอดขายถึง 20% ของยอดขายรวมในปีนั้น อัญรัตน์ค้นพบความต้องการในตลาดที่ซ่อนอยู่ เมื่อคู่บ่าวสาวแต่งงานต้องการเพชรเม็ดโตแต่ไม่มีคนขาย Jubiliee จึงเปิดตลาดขายเพชร 1 กะรัตขึ้นไป และทำราคาได้ถึง 7 หลัก ต่างจากพนักงานหน้าร้านที่ขายลูกค้าทั่วไป ทำราคาได้เต็มที่หลักแสนต่อชิ้น ความสำเร็จจากงานชิ้นนี้ทำให้อัญรัตน์ได้รับความไว้วางใจจากคุณพ่อมากขึ้นเป็นกอง

Jubilee ธุรกิจเพชรที่โต 10 เท่าเพราะทายาทกล้าใช้สีดำและบุกตลาดแบบที่ไม่เคยมีใครทำ

“พอสำเร็จ ได้ความมั่นใจ ได้เครดิต จากเก้าอี้ตัวเล็ก เราก็ได้นั่งเก้าอี้ตัวใหญ่ขึ้น ยิ่งตัวใหญ่ความรับผิดชอบยิ่งเยอะ แต่ทำยังไงให้เรายังมีความสุขกับเก้าอี้ที่เรานั่ง ถึงจะบ่นยังไงเราก็ไม่อยากออกจากเก้าอี้ตัวนี้”

ในปี 2009 คุณพ่อวิโรจน์และอัญรัตน์ช่วยกันพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นอีกครั้งที่ลูกสาวคนโตจับพลัดจับผลูมานั่งตำแหน่ง CFO เพราะไม่เคยวางใครในตำแหน่งนี้มาก่อน ถือเป็นห้องเรียนทางลัดในการทำงานแบบมืออาชีพจนบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด

Jubilee ธุรกิจเพชรที่โต 10 เท่าเพราะทายาทกล้าใช้สีดำและบุกตลาดแบบที่ไม่เคยมีใครทำ

อย่าให้คนคิดว่าเป็นลูกเจ้าของมาทำงาน

ธุรกิจกงสีส่วนใหญ่อาจมีความเห็นไม่ตรงกันจากหลายสาย แต่ครอบครัวพรประกฤตหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ด้วยการเป็น Single Command สมาชิกทุกคนทำงานแบบมืออาชีพ แบ่งแยกหน้าที่อย่างชัดเจน ยึดหลัก Result-driven แม้จะถกเถียงกันบ้าง แต่คุณพ่อวิโรจน์เปิดกว้างให้ลองลงมือทำและดูผลงานเป็นหลัก จนช่วง 7 – 8 ปีที่ผ่านมาก็วางใจและปล่อยให้อัญรัตน์บริหารงาน 100% ส่วน อาร์ท-อัครพงศ์ พรประกฤต น้องชายคนรองเข้ามาดูแลการผลิต และ อร-อรรัตน์ พรประกฤต น้องสาวคนสุดท้องดูแลเรื่องการขาย สมาชิกครอบครัวทุกคนจะมีขาหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้น แต่อีกขาหนึ่ง ทุกคนเป็นลูกจ้างรับเงินเดือนตามตำแหน่งและโบนัสตามผลงาน

“คนชอบถามว่าเจอรับน้องบ้างมั้ยเมื่อกลับมาทำงานที่บ้าน สำหรับอัญ ไม่เคยเจอเลย เพราะเราไม่ได้ทำงานแบบเป็นลูกเจ้าของ คุณแม่พูดเสมอว่าอย่าให้คนคิดว่าเป็นลูกเจ้าของมาทำงาน จุดเริ่มต้นเราของเรา 3 พี่น้องจึงมาจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทั่วไป พี่พนักงานเก่า ๆ ไม่ได้เกรงใจจากการเป็นลูกเจ้าของ แต่เริ่มเกรงใจเมื่อเห็นเราทำงานเยอะ”

Jubilee ธุรกิจเพชรที่โต 10 เท่าเพราะทายาทกล้าใช้สีดำและบุกตลาดแบบที่ไม่เคยมีใครทำ
Jubilee ธุรกิจเพชรที่โต 10 เท่าเพราะทายาทกล้าใช้สีดำและบุกตลาดแบบที่ไม่เคยมีใครทำ

ในขณะที่พนักงานที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อก็ยังอยู่ด้วยความรักบริษัทและปรับตัวได้ดี เพราะวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ทุกคนพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ ในการทำงานที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีปัญหาเรื่องที่ไม่อยากทำ แต่เป็นอุปสรรคเรื่องเวลาหรือทรัพยากรที่จำกัดมากกว่า จึงเต็มไปด้วยบรรยากาศการทำงานเป็นทีม ให้ทุกคนช่วยกันคิดว่าจะฝ่าความท้าทายนี้ไปได้อย่างไรดี

อัครพงศ์เสริมว่า “การทำงานแบบมืออาชีพคือต้องรู้จักสร้างสมดุลด้วย เรามีระบบ Standard Time เพื่อให้ทุกอย่างมีเวลาที่เพียงพอในการทำงาน เริ่มจากการถ่ายวิดีโอเพื่อหาเวลาจริงของแต่ละงาน การที่งานเยอะหรือน้อยตรวจได้จากตัวเลข ไม่ใช่ความรู้สึก ผลลัพธ์คือพนักงานมีความสุขมากขึ้นด้วย เมื่อวางแผนเวลางานได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา และให้เวลากับชีวิตส่วนตัวมากขึ้น”

Jubilee ธุรกิจเพชรที่โต 10 เท่าเพราะทายาทกล้าใช้สีดำและบุกตลาดแบบที่ไม่เคยมีใครทำ

ตู้เพชรสีดำ ไม่มีใครเขาทำกัน

จากรุ่นคุณพ่อที่ใช้ความน่าเชื่อถือและความสัมพันธ์ของผู้ขายเป็นหลัก มีคุณแม่เป็นเซลส์ที่เก่งกาจคอยเคียงข้าง มาสู่ทายาทรุ่นสี่ที่แม้จะด้อยประสบการณ์ แต่ยืนหยัดในการใช้ Data ผนวกเข้ากับการทำงาน จนพลิกโฉม Jubilee ในหลายด้าน นำโดยอัญรัตน์ในฐานะ CEO หลังจากเข้าตลาดหุ้นให้หลัง 3 – 4 ปี

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนอัตลักษณ์องค์กร โดยเปลี่ยนเคาน์เตอร์ขายเพชรในห้างให้เป็นสีดำทั้งหมด ขัดกับความเชื่อของคนจีนและธรรมเนียมปฏิบัติของร้านเพชรว่าต้องเป็นสีแดงหรือสีทองคุ้นตา แน่นอนว่าขัดแย้งกับคนรุ่นใหญ่ในครอบครัวด้วย แต่มาถึงวันนี้ สิ่งที่พิสูจน์ว่าอัญรัตน์คิดถูก คือร้านเพชรหลายเจ้าก็หันมาเปลี่ยนเคาน์เตอร์เป็นสีดำกันหมดแล้ว

Jubilee ธุรกิจเพชรที่โต 10 เท่าเพราะทายาทกล้าใช้สีดำและบุกตลาดแบบที่ไม่เคยมีใครทำ

อัญรัตน์ยังได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ในวงการซื้อขายเพชร ต้องมีใบ Certificate ให้ข้อมูลลูกค้าชัดเจนในเรื่องของแหล่งที่มาของเพชรจากเบลเยียม เจียระไนจากญี่ปุ่น ทำให้ขยายตลาดได้กว้างขึ้น จนปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 2 แสนรายทั่วประเทศ

ในอดีตที่ธุรกิจเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้งหรือ Subprime ร้านเพชร Jubilee ไม่เคยปิดหน้าร้านเลยสักวัน แต่โควิด-19 ทำให้ต้องปิดสาขาทั้งหมด จึงเป็นที่มาของการปลุกปั้นตลาดออนไลน์ และมีคอลเซนเตอร์ให้บริการตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืนทุกวัน ส่งผลให้ยอดขายพุ่ง กำไร New High สร้างความฮือฮาในแวดวงธุรกิจเป็นอย่างมาก

Jubilee ธุรกิจเพชรที่โต 10 เท่าเพราะทายาทกล้าใช้สีดำและบุกตลาดแบบที่ไม่เคยมีใครทำ

เปรียบตัวเองเป็นเพชรแบบไหน

แม้จะมีคนเคยบอกอัญรัตน์ว่าบุคลิกของเธอไม่ค่อยเหมือนคนขายเพชร แต่เธอยิ้มรับอย่างไม่กังวล เพราะในวันนี้ เธอรู้จักตัวเองดีที่สุด 

หากให้เปรียบตัวเองเป็นเพชร อัญรัตน์ตอบอย่างรวดเร็วว่าทรงที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุดคือ ‘เพชรทรงกลม’ เพราะเป็นเพชรที่คนชื่นชอบมากที่สุด อยู่บน Setting แบบไหนก็สวย มาตรฐานเพชรทรงกลมมี 58 เหลี่ยม แต่เริ่มมีคนเจียระไน 88 เหลี่ยม ไปจนถึง 100 เหลี่ยม แสดงถึงความไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตนเอง

“ไม่ได้หมายความว่าอยากให้คนมาชื่นชอบในตัวเรา แต่เราอยากสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่คนที่อยากซื้อเพชรหลักพัน ไปจนถึงผู้ประกอบการที่มาซื้อเพชร 8 หลัก อัญก็บุคลิกเหมือนแบรนด์ Jubilee เราทำงานได้หมด เข้าได้ในทุกสถานการณ์ เพชรที่มีประกายสว่างไสว มีเหลี่ยมคมในการเจียระไน เปรียบเสมือนการทำงานที่ต้องแหลมคม แม้ไม่ได้รู้ในทุก ๆ เรื่อง แต่เราต้องรู้จริงในงานที่ทำและไม่หยุดนิ่ง”

Jubilee ธุรกิจเพชรที่โต 10 เท่าเพราะทายาทกล้าใช้สีดำและบุกตลาดแบบที่ไม่เคยมีใครทำ

รับชมสรุปบทเรียนธุรกิจและการแก้ปัญหาผ่านมุมมองของทายาท Jubilee ได้ที่วิดีโอนี้ และติดตามรายการ ทายาท The Next Gen ได้ทุกวันจันทร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.live-platforms.com แพลตฟอร์มที่ให้บริการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรองค์ความรู้และเครื่องมือสำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงการจัดทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ตลาดทุน โดย บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Writer

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

นักข่าวเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเชื่อว่า GDP คือคำตอบ แต่กลับชื่นชอบในแนวคิด Circular Economy ว่าจะสร้างอนาคตอันสดใสให้กับโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล