7 กุมภาพันธ์ 2024
3 K

ขึ้นชื่อว่าเป็นคนครีเอทีฟและผู้กำกับของบริษัทโฆษณา เจ้าของ ‘JONGLUCKDEE : Creative Agency & Production Design Lab’ มีหรือที่บ้านหลังนี้จะธรรมดา 

ทั้งคู่ซื้อบ้านหลังนี้เมื่อ 13 ปีที่แล้วจากเจ้าของเดิมที่ทำโครงสร้างบ้านไว้จนเกือบแล้วเสร็จ แต่เพราะความช่างคิด ช่างทำ ช่างนึกสนุก ลุกขึ้นมาปรับปรุง เพิ่มเติมบ้านในแต่ละครั้ง ทำให้บ้านของ เอย-ภัทศา อัตตนนท์ และ กิ๊ฟ-เขตนภินท์ โสภิญนนท์ มีคาแรกเตอร์สะท้อนตัวตนของทั้ง 2 คนได้อย่างเด่นชัด 

ทั้งคู่ใช้คำนิยามว่าเป็นบ้านที่เรียบง่าย ธรรมดา แต่เป็นความธรรมดาที่เปี่ยมไปด้วยสีสัน ความคราฟต์ และไอเดียในแทบทุกมุมของบ้าน (รวมถึงบทสนทนาที่น่าประทับใจ) 

​บ้านแม่ริมของเอยและกิ๊ฟเป็นบ้านไม้ผสมปูนขนาดกะทัดรัด มีสะพานไม้ (เล็ก ๆ) ทอดเข้าไปสู่ด้านใน เมื่อผลักประตูเข้าไปจะเป็นชานพักกลางบันไดที่ขึ้นไปสู่ชั้น 2 ของตัวบ้านได้ และเดินลงไปสู่ชั้นล่างซึ่งด้านหนึ่งเป็นมุมนั่งเล่นยกพื้นไม้ที่ซ่อนลิ้นชักเก็บของไว้อย่างแนบเนียน ตรงกลางของชั้นล่างเป็นโต๊ะเซรามิกช้างยุคเก่าที่วางตัวโดดเด่นเป็นศูนย์กลาง อีกด้านหนึ่งคือแพนทรี่ครัวที่ดูสะดวกสบาย 

จุดโดดเด่นของชั้นล่างที่ใคร ๆ ต่างหลงรัก คือระเบียงไม้กว้าง มีฉากให้มองเป็นภูเขาทอดตัวอยู่ด้านหน้าไม่ไกลนัก แนวเขานี้เสมือนแลนด์มาร์กที่สะกดสายตาผู้มาเยือนทุกคนได้อย่างอยู่หมัดทีเดียว 

​ระเบียงกว้างนี้เชื่อมต่อไปสู่เรือนไม้หลังเล็กที่ออกแบบให้เป็นบ้านพักของเพื่อน ๆ และครอบครัว ทั้งยังเชื่อมต่อไปที่บันไดฉาบปูนขาวไปสู่บ้านไม้อีกหลังข้าง ๆ ที่ทั้งคู่เพิ่งได้มีโอกาสขยับขยายไม่นานนัก 

กิ๊ฟเอ่ยว่า ถ้ามาอีกครั้งบ้านก็อาจจะเปลี่ยนไปอีก เพราะ “บ้านเรามันเติบโตไปเรื่อย ๆ”

บ้านที่เติบโตไปพร้อม ๆ กันกับเรา 

“ผมคิดว่าเราตั้งต้นมาจากง่าย ๆ ครับ” กิ๊ฟเริ่มเล่า

“เมื่อผมกับเอยมาอยู่บ้านหลังนี้ด้วยกัน ก็เป็นเหมือนกับ 2 คน 2 สไตล์ ชีวิตที่เจอมาแต่ละอย่างก็ไม่เหมือนกัน ผมจึงตั้งต้นง่าย ๆ ว่า ไม่เป็นไรหรอก ทุกอย่างมันลงตัวได้ เหมือนตอนเด็ก ๆ ที่เรียนศิลปะมา มันก็มีนะวิถีศิลปะที่เรียกว่า Assembled พอเป็นอย่างนั้นเราก็ไม่ต้องไปเหนื่อยหรือพยายามกะเกณฑ์ว่าให้เป็นยังไง 

“และด้วยความที่เป็นบ้านหลังแรกของเรา 2 คน มันจะมีความวุ่นวายของ… อืม ไม่ใช่ความวุ่นวายหรอก เรียกว่าความหวังดีดีกว่า พ่อก็จะเอาโต๊ะที่บ้านเก่า ๆ ส่งมา และด้วยความที่เราซื้อตอนอายุ 30 (ตอนนั้นเอย 28 ค่ะ) เราไม่ได้มีเงินเยอะแยะ จัดมันให้ลงตัว สร้างให้ลงตัวดีกว่า เพราะยังไงทั้ง 2 คนก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว บ้านก็เติบโตไปเรื่อย ๆ ของมัน” 

“พื้นฐานพี่กิ๊ฟเขาเรียนศิลปะ ส่วนเราทำงานโฆษณา พี่เขาชอบงานดีไซน์ ส่วนเอยก็ชอบงานแฮนด์คราฟต์อยู่แล้ว จะเห็นว่าในบ้านมีงานผ้าพื้นเมืองเยอะ เราชอบ” เอยเล่าบ้าง

“พี่กิ๊ฟชอบอะไรที่โชว์โครงสร้าง โชว์เนื้อแท้หรือ ‘สัจจะวัสดุ’ ส่วนเอยชอบสี ชอบแฮนด์คราฟต์ ชอบมัดย้อม ชอบผ้า ไปลาว ไปเชียงราย ก็จะพยายามสะสมของพวกนี้มา แต่ทุกอย่างนี้ไม่ต้องแพลน เหมือนมาอยู่รวมกันแล้วก็เข้ากันด้วยตัวเอง” 

กิ๊ฟปรับปรุงบ้านโดยออกแบบใน Adobe Photoshop แล้วใช้ช่างพื้นบ้านในการทำงาน หากตรงไหนไม่ลงตัวก็รื้อถอนหรือสร้างเพิ่มอย่างที่ต้องการ

“จริง ๆ บ้านหลังนี้ค่อนข้างสะท้อนเส้นทางการเติบโตของเรา 2 คนประมาณหนึ่งเลยค่ะ เริ่มต้นตั้งแต่ไม่มีการวางแผนอะไรด้วยซ้ำ เหมือนเราเห็นบ้านแล้วชอบ มีจังหวะซื้อได้พี่กิ๊ฟก็ซื้อเลย ตอนนั้นเรายังไม่ได้แต่งงานกันด้วยซ้ำ เรายังเป็นวัยรุ่นที่เห็นบ้านหลังนี้แล้วอยากมี แล้วตอนนั้นยังทำงานบริษัทกันทั้งคู่ ไม่ทันได้คิดด้วยว่าจะได้มาตรงนี้กี่ครั้ง เราไม่ได้กะเกณฑ์อะไรเลย เป็นความรู้สึกล้วน ๆ เป็นแพสชันจริง ๆ” 

“เราคุยกันว่าบ้านหลังนี้ไม่มีวันเสร็จ (กิ๊ฟ : สนุกดี) ยิ่งเราเติบโต บ้านก็เติบโตไปกับเรา เติบโตไปพร้อม ๆ กับมุมมองเรา ความชอบของเรา และถ้าเราไม่ชอบ เราก็เอาออกได้ ที่นี่เราเก็บของทิ้งทุกครั้งที่มา

“แล้วก็เป็นบ้านที่ต้องอยู่ไปซ่อมไป ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ อย่างระเบียง ทุกคนบอกว่าทำไมใช้ไม้จริง ต้องซ่อมบ่อย แต่เรารู้สึกว่าไม่เป็นไร ซ่อมได้ เพราะเราไม่อยากเปลี่ยนวัสดุที่ชอบ” 

กิ๊ฟเสริมว่า “คิดง่าย ๆ เขาบอกว่าบ้านไม้ไม่มีวันเสร็จอยู่แล้ว เพราะบ้านไม้จะพังเรื่อย ๆ ต้องดูแลเรื่อย ๆ พอพังนิดหนึ่งหรือเราเริ่มดูแลนิดหนึ่ง เวลาผมกินกาแฟก็นั่งมองแล้วคิดว่าตรงนี้น่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างที่ทำระเบียงต่อไปที่เรือนไม้หลังเล็ก เพราะเราเห็นว่าไปต่อได้ มันเชื่อมกันได้หมด สนุก

“แน่นอนว่าเราไม่ได้เป็นสถาปนิก บางอย่างเราพลาดก็ต้องจัดการกำจัด เอยยังบอกพี่กิ๊ฟเลยว่ามาบ้านแม่ริมนี่ดีตรงเอาอะไรที่ไม่ใช่ออกไปได้ ซึ่งเป็น Mindset ที่ดีนะ” เอยว่า ก่อนกิ๊ฟจะพูดต่อ

“จริง ๆ ผมกำกับหนังด้วย วันนั้นถ่ายหนังเรื่องหนึ่ง มีบันไดวนสวยเลย ผมก็ เฮ้ย! เดี๋ยวยกขึ้นมาเชียงใหม่ดีกว่า ก็ยกขึ้นมา ใหญ่มากด้วย วางเสร็จให้ช่างมาต่อเรียบร้อย วางแป๊บเดียวมันไม่เข้า เลยไปกันใหญ่ (เอย : เห็นปุ๊บเรามองหน้ากันว่าเอาไงดี) ก็ทิ้งดิ ทิ้งเลย!”

“จริง ๆ ผมยังทำจะทำอีกเยอะเลย ถ้าเกิดเรามาอยู่บ่อยขึ้น เราทำสระว่ายน้ำกันมั้ย หรือว่าทำบาร์เพิ่ม แต่ด้วยเวลาที่มีจำกัด ตอนนี้เราก็ปล่อยให้บ้านค่อย ๆ เติบโตไป” 

เติมสีสันให้บ้านที่ (เคย) มืดและเงียบ

13 ปีที่แล้วบ้านหลังนี้ตั้งโดดเดี่ยวห่างไกลจากบ้านคนอื่น ๆ น้ำประปาและไฟฟ้ายังไม่พร้อมเหมือนทุกวันนี้ หลายมุมในบ้านไม้จึงเป็นมุม (ที่ดู) มืด ทั้งสองใช้วิธีเติมของแต่งบ้านเข้าไปเพื่อสร้างความคุ้นเคยทำให้บ้านสว่างไสวขึ้น

“เมื่อก่อนเหมือนในการ์ตูน My Neighbor Totoro มากเลย มีหิ่งห้อยเต็มไปหมด กลางคืนก็เงียบจัดเลย” กิ๊ฟเล่าย้อนถึงครั้งแรก ๆ ที่มาอยู่ 

“พอมาอยู่ในบ้านมันให้อารมณ์เหงา เพราะมืดและไม่มีอะไรเลย แต่ที่เจ๋งก็คือมันมีเสียงจิ้งหรีด เสียงแมลง เสียงสารพัด ตอนนั้นที่บอกว่าเงียบ เงียบขนาดว่าลุงข้างบ้านเปิดไฟดังแป๊ะก็ได้ยิน มันเงียบขนาดนั้นเลย” เขาหัวเราะ

“และมันก็จะมีเสียงที่เราไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน

“มีแมลงตัวหนึ่งเสียงเหมือนไฟชอร์ต ได้ยินแล้วก็รีบไปหาดูว่า เอ๊ะ มีไฟชอร์ตตรงไหน พอไปดูเป็นแมลงนั่นเอง ด้วยความเงียบและความที่มืดมาก พอเราเริ่มเอาของไปติด ไปแต่งบ้าน ก็เริ่มมีสี มีอะไรเยอะ ๆ เข้ามาอยู่ในบ้าน ข้อดีคือทำให้บ้านไม่น่ากลัวและไม่ดูมืด”

“ใช่ค่ะ จะเห็นว่ามีของน่ารักในบ้านเต็มไปหมด” เอยพูด

“ตอนแรกที่บอกว่าอาจจะมืด ดูน่ากลัว มีจังหวะที่เอยไม่ชอบเดินไปเพราะมืด ผมก็เอาตุ๊กตาสี ๆ ไปติด เลยกลายเป็นพื้นที่ของเราค่อย ๆ กินพื้นที่ที่เคยมืดไปเรื่อย ๆ จึงไม่มีตรงไหนน่ากลัวอีกต่อไป” 

​นอกจากตุ๊กตารูปสัตว์ต่าง ๆ และงานคราฟต์ในแทบทุกมุมแล้ว บ้านหลังนี้ยังสดใสไปด้วยดอกไม้ในแต่ละมุมด้วย

​“พี่กิ๊ฟเป็นคนจัดค่ะ” เธอยิ้ม

“พี่กิ๊ฟชอบดอกไม้มากค่ะ ทุกครั้งที่มาเชียงใหม่ ที่แรกที่เขาจะพุ่งไปคือตลาดดอกไม้” 

ช่างภาพเราเอ่ยถามว่ามุมโปรดของเจ้าของบ้านทั้งสองคือมุมไหน เอยบอกว่าเป็นมุมนั่งเล่นยกพื้นไม้ที่เต็มไปด้วยนานางานคราฟต์ดึงดูดใจ เป็นมุมเอนกายสบาย ๆ ได้ทั้งวัน ส่วนกิ๊ฟบอกว่าชอบมุมที่ระเบียงไม้ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่แสงแดดสวย เขาชอบตื่นมานั่งดื่มกาแฟที่ระเบียงชั้นบน นอนเล่นใต้ต้นเมเปิลที่ปลูกเองตั้งแต่ต้นยังเล็ก ๆ (อุ้มใส่มือมา)

“เวลาผมมานาน ๆ ก็จะนอนตรงนี้ช่วงเช้า มันสวยมากเพราะแดดมันครอส แดดจะระยิบ คลิกกับแสง ‘สมมุด’ ก็จะมานอนเล่นตรงนี้ ถ้าหน้าฝนที่นี่ก็จะสวย เขียว ฉ่ำ ยิ่งสมัยก่อนหน้านี้นิดหนึ่ง น้ำจะบ่าท่วมพื้นที่เก่าทั้งหมดตามหลักของลำน้ำ เหมือนบ้านริมน้ำ แล้วจะมีแมลงแปลก ๆ เข้ามาด้วย”

บ้านเป็นงานกลุ่มและสะท้อนการใช้ชีวิตคู่ 

ในบทสนทนา กิ๊ฟเอ่ยคำว่า ‘การทำบ้านเป็นงานกลุ่ม’ เรารู้สึกชอบใจมาก จึงอยากยกคำนี้เป็นหัวข้อหนึ่งในเรื่องราวของบ้านแม่ริมหลังนี้ 

“ผมมองว่าความชอบเป็นงานกลุ่มนะ เวลาทำบ้านไม่ได้แบบว่า ผมชอบรึยังไง แค่ผมชอบหรือเอยชอบมันไม่เกี่ยว เพราะทั้งหมดเป็นงานกลุ่ม

“พอมาอยู่ด้วยกัน เอยชอบความเป็นธรรมดา ส่วนเราอยากให้มีความฝรั่งหน่อย ๆ พอเรายอมรับแล้วว่าเป็นงานกลุ่ม ก็ต้องนำมาปรับเข้าหากัน”

“และเราก็เรียนรู้ความชอบของกันและกันด้วยค่ะ” เอยเสริม

“บ้านเป็นงานกลุ่มขนาดที่ว่า มีป๊ากับม้าของเอยเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงพ่อผมด้วย” กิ๊ฟกล่าว “ผมไม่เคยอยากมีแปลงกุหลาบตรงนั้นเลย แต่มีเพราะแม่ของเอยชอบกุหลาบมาก หรือบางทีพอตอนหลังมีแล้ว มันก็ออกดอกสวยดีเหมือนกันนะ 

“ครอบครัวเรามีส่วนเกี่ยวข้อง ป๊ากับม้าของเอยมาที่นี่บ่อยกว่าเราอีก บ้านที่งอกมาเรา 2 คนไม่เคยนอนด้วยซ้ำ เพราะเรามีห้องนอนกันอยู่แล้ว แต่จะมีเพื่อนแวะเวียนมาตลอด ซึ่งบ้านไม้นี่ก็เป็นงานกลุ่มอีก เกิดจากที่ป๊าของเอยซื้อหลองข้าว (ยุ้งข้าว) ไว้ เขาชอบแต่ไม่รู้จะเอาไปไว้ไหน เรามีที่นี่เลยเอามาไว้ ผมนั่งดื่มกาแฟ มองไปมองมาก็ขยายระเบียงไม้ไปชนกับบ้านหลังเล็กให้เชื่อมต่อกันเลย” 

“อย่างที่บอกว่าบ้านมันเติบโตนะครับ

“บ้านหลังเล็ก ๆ ข้าง ๆ นี่ พอดีเจ้าของเขาจะย้ายออก เขาสร้างแค่เป็นเสา ๆ ทำไปได้ครึ่งทาง ผมก็มาต่อเติมเองอีก ส่วนบ้านหลังที่เราอยู่กันนี่ พวกแทงก์น้ำที่อยู่ข้างบ้าน พอเรานั่งมองก็ ไม่ชอบเว้ย! เลยทำห้องน้ำข้างบนงอกมาครอบมุมแทงก์น้ำไป ใช้ไม้ตีเส้นเป็นแนว ออกแบบไปให้เชื่อมต่อกับบ้านที่มีอยู่” 

“บ้านสะท้อนชีวิตคู่ด้วยค่ะ” เอยอธิบายต่อจากคำว่าบ้านเป็นงานกลุ่มได้อย่างน่าสนใจ 

“เรา 2 คนไม่เหมือนกัน เราต่างกันมาก ทั้งที่มาที่ไป นิสัย ความชอบ แต่การทำบ้านทั้งที่นี่และกรุงเทพฯ เราไม่เคยมีความขัดแย้งขนาดที่จะต้องมานั่งใช้เอเนอร์จีผิดที่เลยค่ะ”

เอยและกิ๊ฟเล่าเรื่องความเป็นงานกลุ่มได้อย่างสนุกสนานหลายตัวอย่าง ทั้งเรื่องของแต่งบ้านเล็ก ๆ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้หนัก ๆ หรือชุดม้านั่งช้างเซรามิกที่พ่อคุณกิ๊ฟยกให้มาไว้ตั้งแต่แรก 

“ผมภูมิใจกับมันมากเลย ปกติจัดของประเภทนี้ให้เข้ากับของประเภทอื่นไม่ได้เลย (เอย : แล้วมันมักจะเป็นของที่ปัญหาของเจเนอเรชันในการจัดบ้านด้วย) เมื่อก่อนเคยอยู่ตรงลานจอดรถที่บ้านพ่อ พอพ่อให้มา ตอนแรกเราวางเอาไว้แล้วนั่งกินข้าวกันก่อน สักพักหนึ่งก็เริ่มชื่นชม เอาให้มันอยู่ตรงนี้ดีกว่า แล้วก็มีวันหนึ่งที่เอยเข้าไปในเมือง ผมยังนอนเล่นอยู่ พอตื่นมา เอยก็ซื้อตุ๊กตาช้างมา แล้วมาร้อยให้ห้อยตกแต่งบ้าน เออ มันก็เข้ากันเฉยเลย” 

“ทีแรกเอยบอกเอาไปไว้ข้างล่างเลยพี่ เพราะมันยากมากที่จะเข้ากับบ้านหลังไหน ๆ แต่พอนั่งดูไป ดูมา กราฟิกมันเจ๋งเหมือนกันนะเนี่ย” คุณเอยหัวเราะให้กับเฟอร์นิเจอร์ยุคเก่าที่กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์เด่นกลางบ้าน 

ทั้งยังมีโต๊ะที่เหมือนขอนไม้ใหญ่ริมระเบียง เอยเล่าสนุกกลั้วหัวเราะว่า “โต๊ะตัวนั้นก็ถือเป็นงานกลุ่มด้วยนะ เพราะว่ามันผิดพลาด อยู่ ๆ พี่กิ๊ฟเขาก็อยากต่อเอง เลยไปซื้อไม้ให้เขาส่งมาแล้วก็มาต่อเอง

“ทีแรกตั้งใจจะเอาไว้ข้างล่าง แต่ตอนมาส่งมันเป็นเวลาเย็นแล้ว เราอยากทำงานเลยให้เอามาไว้บนนี้ นั่งทำเล่น ๆ ใส่น็อต ปุ๊ก ๆๆ หัวน็อตมันขาด เอาออกไม่ได้ แล้วไม้มันหนักเกินไป ก็เลยอยู่ตรงนี้ตลอด ไม่เคยขนย้ายไปไหนอีกเลย

“กลายเป็นโต๊ะกินกาแฟพี่กิ๊ฟไป” 

บ้านหลังนี้คือความพอดีและความนอบน้อม 

คำหนึ่งที่คุณเอยพูดขึ้นบ่อย ๆ คือคำว่า ‘จังหวะ’ ทั้ง 2 คนมองว่าทั้งคู่โชคดีที่ได้บ้านหลังนี้ในจังหวะพอเหมาะพอดี 

“ทุกอย่างเป็นจังหวะ เอยกับพี่กิ๊ฟโชคดี เหมือนว่าเกือบทุกอย่างจะมาถูกจังหวะ”

และอย่างที่ทั้งคู่เน้นย้ำ บ้านหลังนี้เป็นบ้านซึ่งสะท้อนตัวตนที่แตกต่างกันของทั้ง 2 คน แต่กลมกลืนไปทางเดียวกันได้เพราะการจัดวาง อีกทั้งยอมรับในความต่าง (และความเหมือน) แม้จะเรียบง่าย แต่ก็มีรายละเอียดของมันอยู่นั่นเอง

“บางทีเราอาจชอบความธรรมดาในบางอย่าง แต่บางอย่างเราก็ชอบความเยอะด้วย คือมันก็ไม่ได้จะง่ายไปหมด เราค่อนข้างเชื่อว่าความชอบของแต่ละคนไม่ได้เป็นเส้นเดียว มันแล้วแต่บริบท แล้วแต่ว่าเรากำลังพูดถึงอะไรอยู่ 

“เอยชอบนั่งนอนเล่น ๆ ไม่ต้องทำอะไร และไม่ต้องไปแต่งตัวอะไรเยอะแยะ รู้สึกว่าบ้านไม่ได้ใหญ่กว่าเรา ส่วนเราเองก็ไม่ได้ใหญ่กว่าบ้านด้วย มันเป็นความพอดี เวลาเราจะหาของกิน เราจะหาในไฟน์ไดนิงก็ได้ หรือถ้าต้องการ Specialty Coffee ก็ขับรถไปนิดเดียว ถ้าไปอยู่ที่อื่นไกล ๆ เราอาจไม่ได้รักบ้านขนาดนี้ นี่พูดจริง ๆ ซึ่งอันนี้จะสะท้อนความเป็น Neighborhood ของแม่ริมด้วยแหละ” (ซึ่งทั้งคู่ยืนวันว่าเมื่อ 13 ปีที่แล้วย่านแม่ริมยังไม่ได้เติบโตอย่างทุกวันนี้)

“งานที่เราทำทุกวันนี้เป็นทั้งงานครีเอทีฟ งานสื่อใหม่ เป็นสาขาอาชีพที่เข้มข้นและกดดันค่อนข้างมาก เคยคุยกันว่าบ้านหลังนี้เหมือนการบาลานซ์ชีวิตพวกเรา”

“ความพอดีที่มันย้อนแย้งมากกับชีวิตที่อยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะที่นั่นเร่งรีบ วันหนึ่งเราต้องทำหลายอย่างมาก 1 เดือนมีหลายแคมเปญมาก กล้าพูดเลยว่าเรา 2 คนเป็นคนที่ทำงานหนักมาก ๆ แต่พอมาถึงบ้านหลังนี้ปุ๊บ เราไม่ต้องคิดอะไรเยอะ ปล่อยให้เวลาไหลไป แล้วแม่ริมก็เป็นย่านที่เราชอบมาก เลยรู้สึกว่าลงตัว” 

กิ๊ฟอธิบายถึงความชอบว่า 

“ผมต้องชมคนที่เขาทำบ้านหลังเก่าไว้ มันนอบน้อมดี เวลาเดินผ่านสะพานเล็ก ๆ มาประตูบ้าน พอเปิดออกมาปุ๊บ มันมีความรู้สึกใหญ่และกว้างขึ้น แล้วก็กว้างขึ้นอีก เมื่อมาเห็นภูเขา สำหรับผมแล้ว บ้านหลังนี้ตั้งต้นด้วยอะไรบางอย่างที่ให้ความรู้สึกอ่อนน้อมและเท่ดี ผมชอบบ้านหลังนี้มาก ๆ เพราะอย่างนั้น” 

อ่อนน้อมเหรอ 

“จริง ๆ ก็สะท้อนเรา 2 คนเหมือนกันนะ” เอยเอ่ยขึ้น ขณะที่คุณกิ๊ฟอธิบายเพิ่มเติมว่า 

“ถ้าเราสังเกตดี ๆ เราจะเตรียมที่นั่งไว้หลาย ๆ จุด เพราะแดดมันครอสตอนนี้ เราโดนต้นมะม่วงบังก็เลยร่ม สักพักเดี๋ยวจะร้อน แต่ตรงนั้นจะร่มทันที (ชี้ไปมุมที่มีโต๊ะไม้หนัก ๆ ที่คุณกิ๊ฟทำขึ้น) ผมก็จะย้ายตัวเองไปเรื่อย แทนที่จะนั่งที่เดิมแล้วทำหลังคาปิด ผมว่าเราย้ายตัวเราง่ายกว่าเยอะ”

“จำได้ตอนที่เราตัดสินใจซื้อ เอยบอกพี่กิ๊ฟว่าด้านซ้ายของมุมในบ้านชั้นล่าง เอยขอยกพื้นดีกว่าเพราะไม่เห็นภาพตัวเองนั่งบนเก้าอี้เลย เห็นแต่ภาพตัวเองนั่งลงกับพื้นอย่างนี้” 

“จริง ๆ ความรู้สึกนอบน้อมของบ้านหลังนี้เริ่มตั้งแต่ที่เราเดินผ่านเข้ามาแล้วเจอประตู พอเปิดประตูปุ๊บ จะเป็นช่องหน้าต่างแล้วไหลลงมาด้านล่าง เราเข้าบ้านด้วยการเดินลงมาจากด้านบน พอมาถึงก็จะเห็นภูเขากว้าง ความรู้สึกผมคือเหมือนคนก้มหัวมาก่อน เหมือนเจอกัน ทักทายกันก่อน แล้วค่อยเงยหน้าขึ้นมองเห็นภูเขากว้างใหญ่”

“เอยว่าด้วยอาชีพเราที่ต้องคิดเยอะ ต้องวางแผนรอบด้านมาก ๆ พอมาอยู่บ้านหลังนี้ บางทีแบบแผนไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น มันย้อนแย้งมากค่ะ เลยกลายเป็นสิ่งที่บาลานซ์ในชีวิตเราทั้ง 2 คน” 

บ้านเป็นของ ‘สมมุด’

“สมมุดก็ชอบบ้านแม่ริมมาก”

เอยพูดถึง ‘สมมุด’ ที่วิ่งไปมาอยู่ใกล้ ๆ ตลอดเวลา บางทีก็เอาตัวมาทับเท้าของคุณกิ๊ฟหรือคุณเอยเพื่อบอกว่า มีฉันอยู่ตรงนี้นะ สนใจกันหน่อย 

“จริง ๆ มี 3 ตัวค่ะ แต่อีก 2 ตัวยังเล็กอยู่เลยไม่ได้มา” 

“สมมุด สะกดด้วย มอ-อุ-ดอ มุด นะคะ ตอนนี้ 3 ขวบแล้วค่ะ เขามาเที่ยวบ้านแม่ริมตั้งแต่ 1 ขวบ ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว มาทุกปี สมมุดชอบอ่างแก้วมาก เวลาไปอ่างแก้วเหมือนเขาไปดิสนีย์แลนด์เลย พอเลี้ยวรถเข้า มช. เขาจำได้ ไปอ่างแก้วครั้งแรกนี่วิ่งจนทุ่มกว่า จนมืดแล้วก็ยังไม่ยอมกลับ เท้านี่คือจิกพื้น ก็เลยรู้ว่านางชอบ

“เมื่อก่อนเราเวลาน้อย ต้องขึ้นเครื่องบินมา แต่พอมีสมมุดก็ต้องขับรถมา ต้องยอมปรับเปลี่ยนวิธีการ อาจจะเหนื่อยหน่อยแต่ก็ต้องยอม

“จริง ๆ มี 3 ตัวครับ สมมุด เสมือน ละม้าย ทั้ง 3 ตัวแปลว่าเป็นลูก สมมติว่าเป็นลูก เสมือนว่าเป็นลูก ละม้ายว่าเป็นลูก” กิ๊ฟพูดพร้อมยิ้ม 

“อีกหน่อยถ้าโตขึ้นก็มากันครบค่ะ”

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล