ทรัพย์พูลผล ทิพย์ผล เป็นคนจน

เหยิน โจ๊กเกอร์ เป็นนักชกข้างถนน

เปา คือชื่อเล่นที่แท้จริงของเขา

เปาอายุ 21 ปี เป็นคนสมุทรปราการ โตที่ฉะเชิงเทรา พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ เขาปากกัดตีนถีบเลี้ยงชีวิต ช่วยเหลือตายายด้วยการประกอบอาชีพคนงานก่อสร้าง

ในโรงเรียน ชื่อของเขาจะถูกเรียกขึ้นมาก็ต่อเมื่อใครสักคนอยากหาที่ระบายผ่านมือและเท้า 

ในแวดวงมวยใต้ดินมีขื่อแป ชื่อของเขาจะถูกจดจำในนาม ‘นักชกหมัดหนักจอมปั่นประสาท’ ประหนึ่งวายร้ายในภาพยนตร์ Batman

หลังสวมนวมได้เพียง 2 ปี ผ่านศึกใหญ่อย่างโชกโชนมา 10 ไฟต์ สถิติการชกของเขาคือ เสมอ 2 ชนะ 8 และไม่เคยแพ้

เสาร์ที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะเป็นครั้งแรกที่เขาเผชิญหน้ากับแสงไฟบนเวทีมวยราชดำเนิน โดยมี โคตะ มิอุระ เป็นคู่ต่อสู้

แม้สปอตไลต์ทั้งหมดจะสาดส่องไปที่นักชกญี่ปุ่นรูปหล่อ ผู้มีน้ำหนักมากกว่าเขาถึง 10 กิโล

โปรดจำเอาไว้

เหยิน โจ๊กเกอร์ เป็นนักชกข้างถนน

เปา คือชื่อเล่นที่แท้จริงของเขา

ยกที่ 1
ไม่เป็นมวย

ไอ้เหยิน ไอ้เหยิน ไอ้เหยิน 

ถ้อยคำดูถูกที่ทำให้เด็กวัยประถมคนหนึ่งอับอายจนไม่กล้าแม้แต่จะอ้าปากพูด

เปาเล่าย้อนให้เราฟัง เมื่อถามว่าชีวิตนอกสังเวียนของเขาดุเด็ดเผ็ดมันเหมือนร่างโจ๊กเกอร์บนเวทีหรือไม่

“มันพลิกกลับหลังเลยครับ” เขาตอบอย่างอ่อนน้อม สะท้อนบุคลิกนิ่งเงียบ ถ่อมตน ตามความหมายของสำนวนไทย ‘พูดน้อยต่อยหนัก’ โดยแท้

“ตอนอยู่โรงเรียนผมโดนรังแกมาตลอด พวกผู้หญิงเรียกเรา ไอ้เหยิน โดนว่าจนเราไม่อยากอ้าปากพูด ไม่กล้าขำ เพราะฟันเรามันยื่น ส่วนพวกผู้ชายก็จะเป็นเรื่องทำร้ายร่างกาย ต่อยแขน เตะขา ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาในโรงเรียน แต่เราเจ็บมาก”

ไม่ใช่เพียงหลักวันหรือหลักเดือน เปาบอกว่าเขาถูกรังแกจนถึงมัธยมต้น โดยไม่เคยปริปากบอกใครว่าภายในเจ็บปวดเพียงไร นั่นทำให้เปากลายเป็นเด็กปลีกวิเวก ชอบอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อนสนิทที่ไว้วางใจ เลิกจากการเรียนก็จะมุ่งตรงกลับบ้าน

เราถามต่ออย่างประหลาดใจ เพราะไม่เห็นว่าชายหนุ่มที่ร่างกายกำยำตรงหน้าจะดูอ่อนแอตรงไหน เปาตอบว่าเขาในตอนนั้นอ่อนแอที่จิตใจ ไม่กล้าปฏิเสธ และไม่เคยสู้คน

แต่ความอดทนของทุกคนย่อมมีขีดจำกัด

เขาเริ่มฝึกมวยผ่านยูทูบ ทั้งการยืน การออกหมัด การยกบัง ฯลฯ ควบคู่กับส่งตัวเองเรียนด้วยอาชีพคนงานก่อสร้าง จากเด็กหนุ่มที่เคยผ่ายผอม ก็เริ่มมั่นใจในพละกำลังด้วยร่างกายที่ได้มาจากการแบกหาม

เปามีความคิดอยากลองเป็นนักมวยก็ตอนนั้น แม้ทุกคนที่บ้านจะไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ก็ตาม

“เขาบอกว่าเราเป็นนักมวยไม่ได้ ต่อให้เป็นก็ไปได้ไม่ไกล ไม่ถึงขั้นแชมป์ เพราะคนอายุเท่านี้เขาเป็นแชมป์กันหมดแล้ว”

เด็กหนุ่มยืนหยัดในเส้นทางที่เลือกด้วยการเก็บกระเป๋าออกจากบ้าน เพื่อพิสูจน์ตัวเองบนขวากหนามว่าเขาก็แข็งแกร่งไม่แพ้ใคร

“ไม่มีค่ายมวยไหนรับเพราะผมโตแล้ว ต่อให้รับก็ต้องเสียเงินเรียน จะมีก็แต่รายการมวยใต้ดิน Fight Club Thailand นี่แหละครับที่เป็นพื้นที่ให้เราได้ปลดปล่อยตัวเอง”

และเวทีประลองของ ‘ไอ้เหยิน หมัดหนัก’ ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

ยกที่ 2
มวยถูกคู่

ไอ้เหยิน ไอ้เหยิน ไอ้เหยิน

เสียงฮือฮาจากกองเชียร์ตะโกนลั่น เมื่อนักชกหน้าใหม่เดินเข้าสังเวียนข้างถนน

เปาเปลี่ยนความเจ็บปวดในอดีตให้เป็นแรงผลักดัน ผสมกับอาการตื่นเต้นของคนที่กำลังจะต่อยมวยครั้งแรกในชีวิต – เขาพบกับ พลับหลอ

“ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะหรือแพ้ ที่อยากไปต่อยไฟต์นั้นเพราะอยากรู้ว่าเราเป็นมวยถึงขั้นไหน แต่รู้ว่าเราแข็งแรงมากจากการทำงานหนักมาก่อน ผลคือเสมอ เพราะยืนกันครบ 3 นาที”

เปาเอาหน้ารับแรงปะทะด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะสวนกลับด้วยเสียงหัวเราะยียวนกวนบาทา ในไฟต์ต่อมา ผู้คนจึงขนานนามเขาว่า ‘โจ๊กเกอร์’ 

ไม่รู้ว่าเปายินดีหรือไม่ แต่เขาก็กลับมาพร้อมกับผมสีเขียวสว่างตามตัวละครไม่มีผิดเพี้ยน

เราถามเขาง่าย ๆ ว่า เปายิ้มทำไม คำตอบของเขาก็ช่างง่ายดายจนคลายสงสัยว่าทำไมคนถึงได้อยากท้าต่อยเขานักหนา “เพราะผมไม่เจ็บครับ”

หมัดเปลี่ยนชีวิตของเปาคือวันที่ขึ้นชกกับ ต๊ะ ยมทูต หลายคนคงเคยได้เห็นผ่านตาจากการท้าทายกันสนั่นโซเชียล

ต๊ะเป็นมวย มากประสบการณ์ แต่อายุเยอะกว่า ส่วนเปาอายุน้อย ไม่เป็นมวย แต่เอาตัวรอดได้ แม้ผลชนะจะออกมาอย่างไม่ค้านสายตา เปาก็เชื่อว่าไม่มีใครเก่งกว่าใคร 

“หลังจากนั้นผมก็เริ่มมีชื่อเสียง ชีวิตเปลี่ยนไปมากเลยครับ รู้สึกเหมือนเน็ตไอดอลหรือดาราคนหนึ่งที่ไปไหนก็มีแต่คนรู้จัก เราก็คิดกับตัวเองว่า เป็นไปได้เหรอที่เขาดูเราไม่กี่ครั้ง ทำไมเขาจำเราได้”

ในรอบ 2 ปี มีคู่ต่อสู้สุดหินมากมายแวะเวียนมาให้เขาสอนมวย เปาขึ้นชกทั้งหมด 10 ไฟต์ เป็น Fight Club Thailand จำนวน 6 ไฟต์ ด้วยกติกาที่ไม่มีผลแพ้-ชนะให้เห็นเป็นหลักฐาน แต่คนดูย่อมชี้ขาดได้ว่าใครเป็นใคร จนคำว่า ไอ้เหยิน ที่เคยเป็นคำดูถูก กลับกลายเป็นได้ยินเมื่อไหร่เป็นต้องวิ่งเข้าใส่ทันที 

เปาสวมนวม ยืนเท้าติดพื้น เฝ้าคิดว่าใต้ดินนี้ยังมีอะไรให้เขาฝ่าฟันอีก

อาจเป็นเพราะคำตอบคือคำว่า ไม่มี 

เปาถึงต้องมองขึ้นฟ้า

ยกที่ 3
หัวใจใหญ่กว่าตับ

เวทีมวยราชดำเนินคือจุดหมาย

ส่วน โคตะ มิอุระ คือคู่ต่อสู้บนดินคนแรกของเปา ที่นอกเหนือจากอายุ 21 ปีเท่ากัน ก็ไม่มีอะไรเฉียดใกล้กันแม้แต่น้อย

ดีกรีนักสู้ MMA จากญี่ปุ่น รูปหล่อ หน่วยก้านดี น้ำหนักมากกว่าเขาถึง 10 กิโลกรัม 

ใครเห็นก็บอกว่าเปาเป็นรองทุกด้าน แต่เขาไม่เห็นอย่างนั้น

และแม้ผลการชกใต้ดินครั้งแรกจะออกมาเสมอ แต่เปามั่นใจเหลือเกินว่าประวัติศาสตร์ของเขาจะไม่ซ้ำรอย 

“ตอนที่รู้ว่านัดแรกจะได้ชกกับโคตะ คนในครอบครัวผมตื่นเต้นมากครับ แต่นิสัยที่ผมมีมาตั้งแต่เด็ก คือถ้ายิ่งกลัว เราจะยิ่งซ้อม

“ตอนชกใต้ดินผมว่าซ้อมหนักแล้ว แต่นี่หนักกว่าเดิมคูณ 5 คูณ 6 เข้าไป ยังไงก็ต้องชนะ”

ชักอยากรู้ว่าวันหนึ่งเปาทำอะไร ถึงได้มั่นใจขนาดนั้น

“อันดับแรก ผมตื่น 6 โมงเช้า เคลียร์สมอง เคลียร์ร่างกายตัวเอง ต้องมีวินัยมากที่สุด วิ่ง 20 รอบ รวม 12 กิโลในช่วงเช้า เสร็จแล้วก็เข้ากระสอบ 3 ยก ยกละ 4 นาที แล้วก็มาเตะเป้ายกละ 5 นาที แล้วก็มาเล่นเวต วิดพื้น 300 ครั้ง ซิตอัป 500 ครั้ง ดึงข้อ 50 ครั้ง 

“ถ้าเป็นนักมวยตั้งแต่เด็กก็คงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมเป็นคนธรรมดาก็เลยเป็นเรื่องพิเศษ แล้วก็ต้องข้ามมันไปให้ได้”

เราถามต่อหลังเห็นตารางซ้อมว่าเขาเคยท้อบ้างไหม

“ผมร้องไห้บ่อยมากครับ” เปาตอบ เพราะคำว่าพักของเขาก็คือการซ้อมเบา เท่ากับเขาทำมันทุกวันไม่มีหยุด

“ผมท้อมากว่า ทำไมเราไม่หยุดพัก ทำไมต้องมาวิ่งให้ตัวเองปวดขาปวดแขน พอเตะกระสอบไม่ได้ เพราะร่างกายล้า เราก็จะรู้สึกว่าทำไมร่างกายเรามันได้แค่นี้ ทำไมไม่ไปทำอย่างอื่นที่สบายกว่านี้ แต่คิดไปคิดมาก็เตือนตัวเองว่า จะยอมแพ้แค่นี้เหรอ ไม่ได้ เราเคยผ่านอะไรที่เจ็บปวดมามากกว่านี้อีก เราต้องไปต่อได้แล้ว

“โค้ชบอกว่าแพ้-ชนะไม่เป็นไร ปล่อยมันไป ได้มายืนอยู่จุดนี้ก็ดีแล้ว แต่สำหรับเราคือได้มายืนทั้งทีก็ต้องเอาให้เต็มที่ เอาให้สุด”

ไม่เพียงร่างกายที่เป็นรอง เปากลับมาเผชิญกับคำปรามาสอีกครั้ง ด้วยเพราะเขาเป็นเพียงนักชกข้างถนนที่อาจทำให้เวทีมวยราชดำเนินอันสูงส่งต้องแปดเปื้อน

เขาเงียบไปพักหนึ่ง เพื่อตกตะกอนความคิดว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร

“ไม่ได้ว่าอะไรพวกเขานะครับ แค่อยากให้เขาเปิดโอกาสให้เราหน่อย เรามาจากข้างถนนก็จริง แต่เราพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเราตั้งใจ เราแค่อยากจะไปยืนบนจุดสูงสุดที่จะมีโอกาสยืนได้ เราโหยหามาตลอด เวทีมวยราชดำเนินคือจุดสูงสุดในปัจจุบันที่จะทำได้แล้ว”

นอกจากความอึดที่เปายึดถือเป็นอาวุธ สิ่งสำคัญที่โคตะฝึกฝนไม่ได้ คือหัวใจอย่างนักสู้และชีวิตที่เรียนรู้จากความยากลำบาก

“ผมเป็นมวยข้างถนน เพราะฉะนั้น นัดนี้เกินคาดแน่นอน บางคนที่ต่อยมวยตั้งแต่เด็กเขาก็คิดว่าโดนนับยังไงก็สู้ไม่ได้ แต่ผมไม่ใช่ 

“ถ้าเกมพลิกล็อกหรือเราแพ้หมดสภาพ มีสิ่งเดียวที่จะทำให้ผมยืนได้คือหัวใจที่มันต้องสั่งให้ขายืน สั่งให้แขนยกขึ้นมา เผลอ ๆ ผมเดินเข้าไปใส่ด้วยซ้ำครับ”

เปาย้ำ “ผมไม่เคยคิดว่าผมจะแพ้”

เราคาดหวังคำตอบที่ยิ่งใหญ่ จากการถามต่อว่าชัยชนะครั้งนี้สำคัญกับชีวิตเขายังไง

“พ่อแม่ตายายคงจะได้เห็นผมในทีวีมากขึ้นจากที่แค่เห็นในยูทูบ” นี่คือฝันน้อย ๆ ของนักชกหมัดหนักที่ใครต่างก็ยำเกรง

ยกที่ 4
หักปากกาเซียน

ในโลกภาพยนตร์ โจ๊กเกอร์ไม่ต่างอะไรกับตัวร้ายอำมหิตที่เกิดจากความเจ็บปวดทับถม เราถามเปาว่าในการแข่งขันนัดนี้ เขาคิดว่า เหยิน โจ๊กเกอร์ รับบทเป็นตัวร้ายรึเปล่า

เปาตอบว่าใช่ “เพราะผู้หญิงชอบโคตะมากกว่า ผมไปทำร้ายเขา ผมก็ต้องเป็นตัวร้าย”

แต่พอถามว่า หากโจ๊กเกอร์คนนี้ย้อนเวลากลับไปหาเพื่อนวัยเด็กที่เคยทำร้ายเขาจนจำฝังใจได้ เปาจะทำอะไร

หวังใจว่าเขาคงตอบเอามัน ตามประสานักมวยจอมยียวนที่เห็นรอยยิ้มแล้วต้องมีน้ำโห แต่ผิดคาด

“คงจะขอบคุณเขาที่หล่อหลอมให้ผมเป็น เหยิน โจ๊กเกอร์ ในวันนี้ มันทำให้ผมไม่กลัว แค่บนเวที 3 นาที 9 นาที ยังน้อยเกินไปกับสิ่งที่ผมเคยผ่านมา ผมไม่คิดที่จะเอาคืนเขาเลย”

เพราะสิ่งที่แตกต่างออกไป คือตอนจบของละครชีวิตที่เขาออกแบบเองได้

“ตัวร้ายในหนังมักจะแพ้พระเอก แต่นี่ชีวิตจริงครับ”

โปรดเรียกชื่อเขาให้ดังกระหึ่มเท่าเทียมกัน

โจ๊กเกอร์ โจ๊กเกอร์ โจ๊กเกอร์

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล