60
เห็นตัวเลขนี้ทีไรก็นึกถึงอายุขวบปีที่ต้องเกษียณออกจากงานที่ทำสู่คำว่าผู้สูงวัย แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น เราจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างไรให้มีความสุข
เราพบอีกหนึ่งโครงการน่าสนใจอย่าง ‘จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ (Jin Wellbeing County)’ ซึ่งความพิเศษแรกอยู่ตรงที่ นี่คือคอนโดมิเนียม Wellness Mixed Use 7 ชั้น 5 อาคาร ขนาด 494 ยูนิตเพื่อผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ความพิเศษข้อต่อมาคือได้ผู้มีประสบการณ์ด้านโรงพยาบาลและการแพทย์กว่า 40 ปีอย่าง ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) มาเป็นผู้พัฒนาโครงการ จนกลายเป็นความพิเศษข้อที่สาม คือการนำสุขภาพแบบบูรณาการ หรือ Integrated Healthcare มาผนวกกับที่พักอาศัย (Active Living) จนสร้างที่อยู่ทางเลือกแห่งนี้ได้สำเร็จ
แต่ความเจ๋งแจ๋วยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะเราพาไปคุยกับ ทิมโมตี้ เลิศสมิติวันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด ผู้ดำเนินการโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ถึงที่มาที่ไปและแนวคิดการออกแบบให้ชาวสูงวัยอยู่ดีทั้งกายและใจในช่วงบั้นปลายอย่างแท้จริง

เปลี่ยนหมู่บ้านสูงวัยในภาพจำ
ไม่บอกก็คงพอเดาได้ ว่าทำไมประเทศไทยถึงยังต้องการโครงการที่พักอาศัยเพื่อวัยเกษียณ
เพราะจากกราฟสถิติ พบว่าประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขยายเพิ่มขึ้นมากถึง 13 ล้านคน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนหมู่บ้านที่รองรับผู้สูงอายุได้ กลับมีจำนวนน้อยมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ Jin Well Being กลายเป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่อยากทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรเป็นแห่งแรก ๆ ในไทย
“แม้เราจะเห็นโรงพยาบาลเปิดใหม่เยอะขึ้น แต่เราเห็นว่าโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือในโครงการที่พักเพื่อผู้สูงอายุยังไม่มาก ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ซึ่งทำเรื่องโรงพยาบาลมา 55 ปี เห็นความสำคัญข้อนี้ เลยอยากสร้างหมู่บ้านผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เพราะเรารู้ว่าประชากรในส่วนนี้กำลังโตขึ้นเรื่อย ๆ ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 6 – 7 ปีที่ผ่านมา” คุณทิมโมตี้เกริ่นถึงที่มา
คงปฏิเสธไม่ได้กับข้อเท็จจริงดังกล่าวเรื่องแนวโน้ม Aging Society ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าถามกันตามตรง วัยเก๋าและลูกหลานหลายคนคงส่ายหัว ถ้ารู้ว่าต้องไปอยู่บ้านพักคนชราหรือแม้กระทั่งหมู่บ้านสำหรับผู้สูงอายุ อาจด้วยความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าการเป็นลูกต้องกตัญญูและเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า ห้ามปล่อยให้พวกเขาไปอยู่โครงการเพื่อผู้สูงวัย กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับโครงการ ซึ่งคุณทิมโมตี้บอกว่าเผชิญกับความท้าทายนี้เช่นกัน
“คนไทยหลายคน พอได้ยินเรื่องหมู่บ้านผู้สูงอายุครั้งแรก ก็บอกว่าไม่มีทางไปแน่นอน ต่อต้านก่อน แต่ถ้าลองคิดอีกมุม ในบ้านที่มีผู้สูงอายุ เราให้เขานั่งติดวีลแชร์อยู่เฉย ๆ ในบ้าน ลูกหลานไม่ให้ออกไปไหนเพราะห่วงไปหมด พอคนแก่ต้องอยู่ติดบ้านทุกวันเป็นเวลาหลายปี เขาก็เบื่อ หรือไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง คิดในอีกแง่ ถ้าเขาได้เจอเพื่อนคนวัยเดียวกัน ได้อยู่ในการดูแลของแพทย์ ได้ทำกิจกรรมที่ชอบ พวกเขาก็จะสนุกและมีชีวิตชีวาขึ้น”
เปิดบ้านทดลองอยู่
คำถามต่อมาคือ แล้วโครงการนี้เปลี่ยนความคิดของพวกเขาอย่างไร คำตอบก็น่าสนใจมาก นั่นคือทางโครงการให้คนมาทดลองใช้ชีวิตจริง ๆ ก่อนซื้อได้
“อีกกรณีคือ บางครั้งพ่อแม่ที่เป็นผู้สูงอายุไม่อยากมาเอง แต่ลูกอยากให้มา เขาก็ไม่รู้ว่าจะพูดยังไง เดี๋ยวจะโดนหาว่าพาเขาไปทิ้งหรือเปล่า เราก็เลยเริ่มจากการชวนมาทำกิจกรรมก่อน เช่น เรามีวันเก็บผัก ชวนแวะมาแบบไปเช้าเย็นกลับ ให้เขาได้มาเจอเพื่อน ๆ แล้วเราก็มีกิจกรรม Open House กันทุกเดือน ให้เชิญพ่อแม่มานอนที่นี่ เราเปิดห้องให้ทดลองมาอยู่ฟรี มีอาหารบริการ ลองอยู่ก่อนได้ในวันเสาร์และอาทิตย์”
คุณทิมโมตี้บอกว่าพอเริ่มให้พวกเขาคุ้นชินและสนุก เหล่าชาวสูงวัยก็จะอยากกลับไปที่โครงการเองเพราะเริ่มมีเพื่อน ส่วนคนที่ติดใจก็ซื้อที่พักเข้ามาอยู่เลย และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงวัยหลายคนไม่อยากซื้อบ้านหลังปลดระวาง เพราะเมื่อเกษียณตัวไปก็ต้องกลับบ้านต่างจังหวัด เพื่อกลับไปหาญาติหรือเพื่อนที่มีอยู่ดี
“เราเลยพยายามสร้างเพื่อนใหม่ ให้เขาได้เจอสังคมใหม่ รวมทั้งยังรักษาเพื่อนเก่าเขาให้ยังอยู่ อย่างถ้ามีเพื่อนมาจากต่างจังหวัด ก็นัดแก๊งเพื่อนมาเจอกันที่นี่ จะเก็บผัก เล่นเกม หรือทำกิจกรรมที่ดีด้วยก็ได้ เพื่อน ๆ ของลูกบ้านที่ดีเขาก็ดีใจที่ได้เจอกัน มันเลยไม่เหงา” คุณทิมโมตี้กล่าวถึงความตั้งใจของโครงการในการสร้างคอมมูนิตี้ชาวสูงวัย
สร้าง Hybrid Lifestyle
แต่กว่าจะออกมาเป็นโครงการที่พักเพื่อผู้สูงอายุได้เช่นนี้ ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน จากตอนแรกที่คิดออกแบบอย่างคนทำโรงพยาบาลกลับไม่ตอบโจทย์ หรือคิดแบบคนทำอสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่เวิร์ก
“เราทดสอบมาทุกแบบแล้ว เพราะหมู่บ้านผู้สูงอายุแบบนี้ยังไม่มีใครที่มาสอนเราได้ จะเลียนแบบใครก็ยาก เลยต้องลองผิดลองถูกจนได้ประสบการณ์ และทุกคนที่เข้ามาบอกว่าใช่ ก็ค้นพบว่าต้องสร้างโครงการนี้แบบ Hybrid ทั้งกึ่งโรงแรม กึ่งคอนโดมิเนียม กึ่งโรงพยาบาล และกึ่งโรงเรียน” เมื่อเดินสำรวจพื้นที่ ก็พบว่าที่นี่ออกแบบอย่างที่คุณทิมโมตี้ว่าจริง ๆ
ภายในโครงการขนาด 140 ไร่ การออกแบบที่พักอาศัยของ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ภายใต้อาคาร Low Rise 7 ชั้น ประกอบด้วยพื้นที่กิจกรรมมากมาย แถมยังอนุญาตให้เดินทางสะดวกใกล้ย่านชานเมืองแบบมีรถไฟฟ้าเข้าถึง ผนวกกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่คิดมาเพื่อความปลอดภัย


ประกอบด้วยจำนวน 5 อาคารชื่อคล้องจองและความหมายดี แบ่งเป็นคลัสเตอร์ 1 คือ อาคารสิริ และอาคารสราญ รวมทั้งคลัสเตอร์ 2 ได้แก่ อาคารรุ่งเรือง อาคารร่มเย็น และอาคารรื่นรมย์
แม้จะมีห้องพักให้เลือกทั้งแบบ 1 ห้องนอน และ 2 ห้องนอน แต่ฟังก์ชันด้านในก็ออกแบบมาให้โปร่ง โล่ง กว้าง ไม่ต่างกัน โดยห้องพักมีแสงธรรมชาติเข้าถึงและระบายอากาศได้ดี ด้วยเหตุผลที่ว่าหากมีลูกหลานหรือเพื่อนฝูงแวะมานอนค้างด้วย หรือแวะมาทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่ส่วนกลาง ก็จะได้ไม่แออัด สมกับเป็นคอนโดฯ ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการของชาวสูงวัยมากกว่า
แถมยังคิดมาแล้วว่าต้องไม่มีพื้นต่างระดับ รวมถึงไม่มีธรณีประตู เพื่อลดความเสี่ยงการสะดุดหกล้ม ใช้วัสดุกันลื่นสำหรับพื้นห้อง จนถึงระบบไฟในห้องที่เป็นระบบเซ็นเซอร์อัตโนมัติ ให้ผู้สูงอายุเดินเหินตอนกลางคืนได้ปลอดภัย และถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินเมื่อไหร่ ก็กดปุ่มบนหัวเตียงเพื่อเรียกเจ้าหน้าที่พยาบาลได้ตลอดเวลา


และถ้าสำรวจดี ๆ ภายในห้องน้ำก็ใช้วัสดุกันลื่นเช่นกัน พร้อมติดตั้งราวจับเพื่อช่วยในการทรงตัว ส่วนบานประตูแบบเลื่อน ออกแบบมาเพื่อป้องกันผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคความจำเสื่อม อาจเปิดประตูไม่ได้หรือล้มหมดสติ และไม่ต้องแปลกใจหากห้องน้ำมีขนาดใหญ่ ก็เพื่อรองรับรถเข็นในกรณีที่ผู้สูงวัยนั่งวีลแชร์ได้ด้วย
นอกจากนี้ ความกึ่งโรงพยาบาลยังอยู่ที่การออกแบบทุกอย่างในโครงการให้เป็นแบบ Universal Design ทุกพื้นที่ต้องให้รถวีลแชร์เข้าถึงได้ทั้งหมด ไม่มีโค้งหักศอกหรือห้องเล็ก ๆ ที่เดินยาก ทั้งยังมีโรงพยาบาลธนบุรีอยู่ภายในพื้นที่โครงการ และหากลูกบ้านเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทีมแพทย์จะเข้าช่วยเหลือได้ภายใน 3 นาที มีหน่วยพยาบาลเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง และหากเกิดเหตุฉุกเฉินใด ๆ Tracking บริเวณข้อมือจะส่งสัญญาณไปยังห้องฉุกเฉินทันที
ตัวโรงพยาบาลเองนอกจากรักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไป ยังออกแบบมาเพื่อดูแลสูงวัยในระยะยาว โดยดูแลสุขภาพแบบบูรณาการ (Integrated Healthcare) เพื่อผู้สูงวัยโดยเฉพาะ และหากเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ก็มีบุคลากรทางการแพทย์คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่าใกล้มือหมอสุด ๆ
ใครสนใจขยับแข้งขาเคลื่อนไหว ก็มี จิณณ์ เวลเนส (Jin Wellness) ศูนย์เสริมสร้างสุขภาพเวชศาสตร์ชะลอวัย ช่วยออกแบบโปรแกรมเพื่อป้องกันและชะลอโรคภัยต่าง ๆ เฉพาะบุคคล เช่น การตรวจความยืดหยุ่น การทรงตัว รวมทั้งสุขภาพกายและใจ จนถึงออกกำลังกายภายใต้การดูแลของนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเตรียมเอาไว้ให้ด้วย ดูแลกันเรื่องสุขภาพโดยลูกหลานไม่ต้องคอยนั่งกังวลเลย

Active Living, Active Learning
แนวคิดการออกแบบที่สำคัญอีกข้อก็คือ Active Living and Learing ซึ่งเป็นตัวกำหนดพื้นที่สีเขียวและกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในโครงการนี้ เพราะความตั้งใจสร้าง Active Aging Society สังคมผู้สูงวัยให้ยังกระปรี้กระเปร่า

ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบ Landscape ในพื้นที่ จากปกติโครงการที่อยู่อาศัยถูกกำหนดให้มีสวนเพียง 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่นี่กลับเลือกขยายไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด
“เราอยากสร้างสวนให้ผู้สูงอายุจริง ๆ ไม่ใช่แค่ความร่มรื่นหรือความสวยงาม แต่อยากเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งาน เราไปคุยกับผู้สูงอายุแล้วเขาบอกว่า อยากมีสวนไว้เดิน ไว้นัดเจอเพื่อน หรือบางทีก็แก้เครียด พวกเขาควรได้ใช้งานพื้นที่สีเขียว อีกอย่าง เราไม่อยากให้คนอยู่แต่บ้าน เราจะสร้างความท้าทายให้พวกเขาขยับและมีกิจกรรมทำตลอด” คุณทิมโมตี้เล่าความตั้งใจในการสร้างสวนขนาดใหญ่กลางโครงการ


สวนแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดยบริษัทภูมิสถาปนิกอย่าง Shma Company Limited ซึ่งได้รับรางวัลการันตีจากหลายเวที ทำให้สวนแห่งนี้มีทางเดินยาวที่ปลอดภัยสำหรับออกกำลังกายท่ามกลางธรรมชาติ ส่งผลดีต่อการบำบัดและฟื้นฟูร่างกายของผู้สูงวัย เพราะทำให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น รวมถึงมีสวนหินบำบัด ช่วยปรับสมดุลร่างกายให้ผู้สูงวัยรู้สึกสดชื่นขึ้นเมื่อเดินเท้าเปล่า
นอกจากนี้ ยังสร้างให้ความกว้างของทางเดินใหญ่กว่าทางเดินปกติ (ประมาณ 1.5 – 2 เมตร) มากพอที่จะให้รถเข็นวีลแชร์เข็นผ่านสะดวก มีราวจับอย่างน้อย 1 ด้านตลอดเส้นทาง โดยออกแบบให้กลมกลืนไปกับตัวสวน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดิน พร้อมจุดนั่งพักทุก ๆ 30 – 50 เมตร ที่สำคัญคือ มีกล้องวงจรปิดกระจายอยู่ทั่วทั้งสวน พร้อมกับเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้ก็ย้ำความตั้งใจในการออกแบบเพื่อมวลชนอย่างที่บอกไปข้างต้นได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งข้อสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือการเป็นโครงการที่พักอาศัยกึ่งโรงเรียน


ไม่ว่าคุณจะอยากทำกิจกรรมอะไร แค่บอกมา ที่นี่ก็มีให้ ทั้งห้องคาราโอเกะ ห้องเกม ห้องอเนกประสงค์ ศาลาสมาธิในสวนไม้ไผ่ สระออกกำลังกาย ฟิตเนส ไปจนถึงลานกิจกรรมกลางแจ้ง


“เราบอกแล้วว่าจะท้าทายคุณไปเรื่อย ๆ เราจะให้ลูกบ้านออกไป Jin Wellbeing Farm ฟาร์มผักออร์แกนิก เดินออกไปทะเลสาบด้านหลัง แล้วถ้าเราทำเลนจักรยานรอบ ๆ เสร็จในระยะถัดไป ก็จะให้คุณขี่ไปหรือจะเดินรอบหมู่บ้านได้ กิจกรรมเยอะมากจนคุณจะไม่ได้อยู่เฉย ๆ”
เราพาเดินมายังด้านหลังโครงการเฟสแรก พบกับแปลงกระบะผักสวนครัวทดลอง ที่ทางโครงการอนุญาตให้ลูกบ้านแต่ละหลังจับจองพื้นที่เป็นของตัวเองได้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมคลายเหงาให้ชาวสูงวัย


คุณทิมโมตี้ยังเสริมอีกว่า ยังมีคลาสสอนทำอาหาร คลาสพาไปวิ่ง จนถึงพาไปเที่ยวทริปทำบุญต่างจังหวัดแบบที่วัยเกษียณชอบใจ โดยมีคุณหมอคอยตามไปดูแลด้วย เรียกได้ว่าใส่ใจทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจกันทุกส่วน เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างครบองค์ในที่เดียว
ใส่ใจกันในทุกจุดขนาดนี้ ขนาดเราไม่ใช่คนสูงวัยยังอยากจับจองพื้นที่เอาไว้บ้าง เพราะทั้งร่มรื่นและน่าอยู่มากจริง ๆ
เตรียมตัวเกษียณ
ในอนาคต คุณทิมโมตี้บอกว่าพื้นที่ส่วนแรกด้านหน้าสุด พัฒนาเป็นโรงพยาบาลธนบุรี 3 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รองรับการรักษาได้เหมือนโรงพยาบาลทั่วไป และคาดว่าในเฟสต่อไป จะขยายหมู่บ้านเพื่อชาวสูงวัยออกไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไป

คนในวัยที่เริ่มนับถอยหลังอายุเข้าใกล้ 60 ปีหรือที่เกษียณแล้วก็ตาม เราคาดเดาเอาเองอย่างคนในวัยนี้ว่า หากแก่ตัวไป บ้านหลังใหญ่แต่เงียบเหงาอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ แต่อาจเป็นบ้านขนาดพอดีที่ตอบโจทย์ความต้องการให้เราแก่แล้วยังเก๋าอยู่ ได้เจอเพื่อนวัยเดียวกัน ยังได้ทำในสิ่งที่รักและชอบ รวมทั้งยังดูแลสุขภาวะกายและใจให้แข็งแรงอยู่ได้มากกว่าหรือเปล่า
เราคงไม่กล้าตอบแทนใคร แต่เชื่อว่าความตั้งใจของโครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ (Jin Wellbeing County) ได้สร้างอีกทางเลือกที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัยในไทย ให้กลายเป็นสังคมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังได้ไม่มากก็น้อย