ผ่านไป 1 อาทิตย์ในโตเกียว การผูกมิตรกับรถไฟญี่ปุ่นเริ่มกระชับขึ้นเรื่อย ๆ ชีวิตประจำวันของผมไม่ได้มีอะไรมากมายนอกจากตื่น กินข้าว ไปสถานีรถไฟ ขึ้นรถไฟ ไปเทรนนิ่ง ขึ้นรถไฟ กลับหอ นอน วนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ และต้องเจอต่อไปถึงอีก 2 เดือนกว่า ๆ เกือบ 3 เดือนเลย ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ได้หัดเรียนรู้อะไรมากขึ้นเยอะ เริ่มตั้งแต่รถไฟญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้ตรงเวลาเป๊ะขนาดนั้น ทุกเช้าเราต้องเช็กผ่านแอปพลิเคชันก่อนเลยว่าสายที่เราจะไปนั้นมีปัญหาอะไรไหม ดีเลย์หรือเปล่า เพื่อที่จะได้หนีไปสายอื่นได้โดยไม่ต้องรอ นี่คือข้อดีของการมีระบบรถไฟที่ครอบคลุมจริง ๆ

สอง คือต้องเรียนรู้และปรับตัวกับการเบียดเสียดในสถานีรถไฟยามเช้า ทุกคนเดินกันด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอ (ซึ่งก็เร็วมาก) เป็นสาย ๆ ไปเหมือนกับสินค้าอะไรสักอย่างที่เลื่อนไปบนสายพาน สายตาก็เหลือบมองป้ายบอกเวลา เพื่อดูว่าขบวนรถไฟต่อไปนั้นออกเวลากี่โมง และถ้าพลาดขบวนนั้นจะต้องไปอีกทีตอนกี่โมง

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

เพื่อนสนิทที่สุดของผมน่าจะเป็นรถไฟชานเมือง เพราะเราอยู่ด้วยทุกวันจริง ๆ 

เพื่อนผมแก๊งนี้ตู้ยาวมาก และมีรอบที่ค่อนข้างถี่ สายที่ผมต้องขึ้นประจำคือเส้นทางระหว่าง โอมิยะ-ชินจูกุ และ โอมิยะ-โตเกียว ซึ่งมีชื่อเรียกของมัน ถ้าขบวนไหนไปชินจูกุ มีชื่อสายว่า ‘สายโชนัน-ชินจูกุ (Shonan-Shinjuku Line)’ และถ้าไปโตเกียวจะชื่อว่า ‘สายอุเอโนะ-โตเกียว (Ueno-Tokyo Line)’ และอีกสายหนึ่งที่ถ้าไม่มีเหตุอะไร ผมจะไม่มีทางย่างกรายไปขึ้นมันอย่างแน่นอนคือ ‘สายไซเกียว (Saikyo Line)’ ซึ่งวิ่งเชื่อมระหว่างจังหวัดไซตะมะกับกรุงโตเกียว เลยสมาสคำกันจนเป็น ‘ไซเกียว’ ซึ่งเจ้าสายไซเกียวขึ้นชื่อเรื่องความแน่น แน่น แน่น และแน่นมาก จนต้องมีตู้สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

รถไฟชานเมืองบางสายมีรถที่เรียกว่า ‘รถเร็ว (Rapid Service)’ ด้วยเหมือนกัน ซึ่งจะจอดน้อยกว่าขบวนปกติที่กวาดเรียบทุกสถานี ถ้าโชคดีเราจะได้ขึ้นรถเร็วที่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเลย ถ้าคุณเดินทางไปลงสถานีใหญ่ คุณไม่ต้องกังวล ยังไงมันก็จอด แต่ถ้าสถานีเล็กต้องจำนิดหนึ่งว่าบ้านเรารถ Rapid ไม่จอด ต้องวางแผนกันดี ๆ 

มาเล่าถึงเพื่อนสนิทที่สุดคือ Shonan-Shinjuku Line กับ Ueno-Tokyo Line เป็นรถไฟความยาว 10 – 15 ตู้ มีสีส้มและเขียวคาดที่ตัวตู้ เป็นอันรู้กันว่าถ้าเห็นสีนี้เมื่อไหร่คือสายนี้แน่นอน แต่ก็ต้องตั้งสติดี ๆ ดูป้ายไฟหัวรถด้วยว่าขบวนนั้นวิ่งไปทางโตเกียวหรือชินจูกุ คล้าย ๆ กับขึ้น BTS บ้านเรา ต้องดูหัวรถด้วยว่ามันไปสิ้นสุดหมอชิตหรือคูคตกันแน่

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

รถไฟที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่แล้วจะใช้รถชุด (Train Set) ถ้าเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะเรียกว่า EMU ย่อมาจาก Electric Multiple Unit แต่ถ้าเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยดีเซล จะเรียกว่า DMU หรือ Diesel Multiple Unit และด้วยความที่รถเซตหนึ่งมีความยาว 10 ตู้ แต่หากเป็นช่วงที่คนเดินทางเยอะ เขาก็จะเอารถเซต 5 ตู้มาต่อเพิ่มจนกลายเป็น 15 ตู้ ทุกครั้งส่วนใหญ่ผมจะเจอกับรถแบบ 15 ตู้ ซึ่งเราก็จะยืนง่ายสบายหลวม ๆ แต่เมื่อไหร่เจอแบบ 10 ตู้ ต้องทำใจหน่อยว่าคนจะแน่น อีกอย่างคือจุดจอดของรถแบบ 10 ตู้ กับ 15 ตู้ก็ไม่ตรงกันอีก สติกเกอร์บนพื้นจะช่วยเราได้เป็นอย่างดี เพราะมันจะบอกเลยว่าตรงนี้เป็นจุดจอดของรถแบบ 10 หรือ 15 ตู้ 

ลักษณะของที่นั่งในรถชานเมืองเป็นเก้าอี้ยาวไปตลอดแนวตู้เหมือนกับรถไฟฟ้าบ้านเรา มีที่ยืนกว้างใหญ่ตรงกลาง พร้อมราวจับที่เต็มพรืดไปหมด แต่ถ้าบางรุ่นนั้นเป็นตู้โดยสาร ตู้แรกเป็นเก้าอี้แบบนั่งหันหน้าเข้าหากันเหมือนรถไฟชั้น 3 ทั่วไป ซึ่งส่วนตัวผมชอบมากกว่า เพราะเวลาอยากพักสายตาก็เอาหัวพิงพนักเก้าอี้ได้ แต่ข้อเสียคือยืดขาแทบไม่ได้เลย มันจะไปชนกับคนที่นั่งฝั่งตรงข้าม

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

ชัยภูมิที่ดีที่สุดของการขึ้นรถไฟชานเมืองคือตู้แรก ๆ กับตู้ท้าย ๆ ของขบวนเท่านั้น อย่าได้ไปรอตรงกลางเชียว เพราะสถานีรถไฟโดยส่วนใหญ่กว่า 90% บันไดจากตัวสถานีลงไปชานชาลาจะหย่อนลงมาตรงกับกลางขบวน ซึ่งคนจะยืนรอกันอยู่แถวนั้น น้อยคนมากที่จะเดินต่อไปหัวหรือท้าย ซึ่งมันก็เดินไกลแหละพอเข้าใจ แต่สำหรับผมคือชอบมาก นอกจากไม่ต้องไปเบียดกับใครเยอะแล้ว ยังได้ยืนหลังห้องขับที่มีกระจกขนาดใหญ่ให้เราส่องด้านหน้ารถและการทำงานของคนขับรถอีกด้วย 

และไม่ใช่ผมคนเดียวที่ชอบ พื้นที่หลังห้องขับมักเต็มไปด้วยเด็ก ๆ ที่มาเกาะหน้าต่างดูคนขับรถ หลายครั้งหลายคราเราก็ต้องสละที่ยืนให้น้อง ๆ ได้เข้าไปดูใกล้ ๆ เป็นเด็กชอบรถไฟในประเทศนี้มันดีจังเลยนะ

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

 ก่อนรถไฟเข้าชานชาลาจะมีเสียงเมโลดีประจำสายของรถไฟขบวนนั้นดังขึ้นเฉพาะชานชาลาที่จะมีรถไฟเข้า ไม่ได้ดังไปทั่ว เพราะถ้ามันดังไปทั่วหมดทุกชานชาลาจะเกิดการสับสนได้ ไม่น่าเชื่อว่าคนญี่ปุ่นหลายคนที่ไม่ได้เป็นเนิร์ดรถไฟก็ฟังแล้วทราบได้ว่านั่นคือเสียงของรถไฟสายไหน มันจะถูกซึมเข้าไปในสมองแบบอัตโนมัติจนน่าทึ่ง

ถัดจากเสียงเมโลดีจะเป็นเสียงประกาศบอก แรก ๆ ผมก็จับใจความไม่ค่อยได้ ตอนหลังเริ่มจำไดอะล็อกได้(แปลไทย) รถไฟที่จะเข้ามาในชานชาลาหมายเลข 11 คือสายโชนัน-ชินจูกุ รอบเวลา 08.57 น. ปลายทางโอฟูนะ ตู้โดยสารกรีนคาร์อยู่คันที่ 4 และ 5 โปรดยืนหลังเส้นสีเหลืองขอบชานชาลา ซึ่งไดอะล็อกนี้เราต้องฟังดี ๆ อย่างตั้งใจเพื่อไม่ให้ขึ้นผิดขบวน เพราะถึงแม้ว่าแต่ละชานชาลาถูกกำหนดว่าสายไหนจะต้องเข้าเทียบ แต่ก็จะมีรถไฟที่เรียกว่า Through Service เข้ามาใช้ชานชาลาร่วมกันได้ ถ้าขึ้นผิด ชีวิตอาจเปลี่ยนได้เลย (เพราะเคยมาแล้ว)

เมื่อเข้ามาในรถ สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือเอากระเป๋าไว้ด้านหน้า เข้าไปยืนให้ในที่สุด และไม่ใช้โทรศัพท์บนรถไฟ นี่คือมารยาทขั้นพื้นฐานของการใช้รถไฟที่นี่ เราจะเห็นเลยว่าแต่ละคนเหมือนอยู่ในโลกของตัวเอง ไม่มีเสียงพูดใด ๆ แม้แต่โฆษณาในรถ เสียงดังที่สุดคือเสียงล้อกระทบรางและเสียงบอกข้อมูลในรถไฟซึ่งดังออกมาตลอด

Thank you for riding with JR East. This train is Shonan-Shinjuku Line Bound for Ofuna, The next station is Urawa ผมจับได้แต่ภาษาอังกฤษในช่วงแรก ๆ พออยู่ไปอยู่มาก็จะเริ่มจับใจความภาษาญี่ปุ่นได้ มีบางคำที่เป็นคีย์เวิร์ดให้เราได้อยู่ ถ้าเมื่อไหร่มีคำว่า โคะโนะ เดนฉะวะ…. ก็คือการบอกว่ารถไฟขบวนนี้ไปที่ไหน 

มะโมะนะคึ…… ก็คือการบอกว่า รถไฟกำลังจะถึงสถานีอะไร

โดอะ กะ ชิมะริมัส ก็คือการบอกว่า ประตูรถไฟกำลังจะปิด

มะโมะนะคึ ชูเต็ง…. ก็คือรถไฟขบวนนี้กำลังจะถึงสถานีปลายทาง

เสียงเหล่านี้ซึมเข้าไปจนเรียกได้ว่าเป็น Earworm ก็ไม่ผิด 

การนั่ง…. ไม่สิ เรียกว่ายืนบนรถไฟชานเมืองน่าจะตรงจุดกว่า เพราะมันแน่นจนแทบไม่ได้นั่ง ถ้าไม่ใช่รถไฟรอบดึก ๆ มันคือหนึ่งในทักษะการใช้ชีวิตจริง ๆ การทรงตัวบนรถไฟที่คนเยอะจนไม่มีราวจับ การเงี่ยหูฟังเสียงประกาศ การมองหน้าจอเพื่อดูว่าถึงสถานีไหนแล้ว รวมถึงการ ‘ไหล’ ออกจากรถไฟเพื่อไปที่นอกสถานี 

แต่ถ้าเราไม่อยากยืนล่ะ… 

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

รถไฟชานเมืองบางสายก็มีตัวเลือกให้เราไม่ต้องไปเบียดเสียด ไปยืน หรือไปลุ้นว่าวันนี้จะเจออะไรแปลก ๆ เช่น คนเมาแล้วล้มบนรถหรือเปล่า ในขบวนจะมีอยู่ 2 ตู้ที่เป็นรถไฟ 2 ชั้น จัดอยู่ในกลุ่มชั้นพิเศษหรือ Green Car ซึ่งไม่มีที่ยืน แต่เป็นเก้าอี้นั่งเอนได้แบบสบาย ๆ 

สาย Shonan-Shinjuku และ Ueno-Tokyo (และบางสายในโตเกียว) มีตู้กรีนคาร์ในคันที่ 4 – 5 ของขบวน การขึ้นกรีนคาร์นั้นไม่ได้หมายความว่าจะเข้าไปนั่งได้เลย เราต้องซื้อตั๋วกรีนคาร์ก่อน ซึ่งจะบวกจากราคาปกติไปอีกตามระยะทาง ในวันทำงานราคากรีนคาร์แพงกว่าวันหยุด นั่นเป็นเพราะว่า JR มั่นใจอยู่แล้วว่ายังไงวันธรรมดากรีนคาร์ต้องเต็ม เพราะมีคนที่ไม่อยากเบียดเสียดยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อความสบาย แต่วันหยุดเมื่อคนไม่ค่อยออกไปไหน JR เลยออกโปรโมชันมาให้มันถูกลง เพื่อจูงใจให้คนนั่งรถไฟออกไปเที่ยว

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

เราซื้อตั๋วกรีนคาร์ของรถไฟชานเมืองได้ที่ Green Car Machine บนชานชาลา เพียงแค่ต้องมีบัตร Suica วิธีการนั้นง่ายอย่างเหลือเชื่อ เอาบัตรวางไว้ที่เครื่อง เลือกสถานีที่ลง มันจะตัดเงินจากบัตรออกไปให้เราเลย แค่นั้นบัตรเราก็จะนั่งกรีนคาร์ได้แล้ว ที่เหลือก็เพียงแค่ไปนั่งตรงเก้าอี้ที่มี ‘ไฟสีแดง’ ติดอยู่เหนือหัว เอาบัตร Suica แตะให้ไฟเปลี่ยนเป็นสีเขียว เพียงเท่านี้เราก็จะได้นั่งกรีนคาร์อย่างสุขสบาย ไม่ต้องไปเบียดเสียดกับใคร

ใช้เงินแก้ปัญหาที่แท้จริง

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

รถไฟแบบที่ 2 รถด่วน Limited Express

เอาจริง ๆ ผมชอบรถด่วนมาก อาจเป็นเพราะเวลาอยู่ไทยแล้วนั่งรถไฟไปไหนต่อไหน ผมจะเลือกนั่งรถที่จอดน้อยไว้ก่อน เลยทำให้ความชอบรถด่วนค่อนข้างมีมาก ซึ่งรถด่วนของ JR East ก็มีอะไรที่ประเทศไทยไม่มีหลายอย่างเหมือนกัน อย่างแรกเลยคือเขาใช้รุ่นของรถที่เหมาะสมกับเส้นทางและสภาพอากาศ ทำให้ไม่เกิดการหมุนรถไปทั่วอย่างบ้านเราที่เจอรถรุ่นนี้ในทุก ๆ ที่ทั้งประเทศ แต่ของ JR East มีโซนวิ่งชัดเจน 

ที่ชอบมาก ๆ อีกอย่างคือการสื่อสารเกี่ยวกับขบวนรถด่วนนั้นมีชื่อเรียกโดยเฉพาะ และชื่อตั้งให้สอดคล้องกับรถไฟขบวนนั้น หรือเส้นทางที่ขบวนนั้นผ่านให้เราฟังปั๊บรู้ปุ๊บแล้วเห็นหน้าตาของรถเลยว่านี่แหละคือรถไฟขบวนนี้

Hitachi และ Tokiwa เป็นชื่อรถด่วนที่วิ่งไปทางจังหวัดอิบาระกิและเซ็นได ใช้รถรุ่น E657 ซึ่งชื่อ Hitachi คือชื่อเก่าของจังหวัดอิบาระกิ

Azusa เป็นชื่อรถด่วนที่วิ่งไปจากชินจูกุ-มัตสึโมโต้ ใช้รถรุ่น E353 วิ่ง ชื่อ Azusa มาจากชื่อแม่น้ำ Azusa ในโซนที่รถไฟวิ่งผ่าน  Odoriko เป็นชื่อรถด่วนที่วิ่งไปซูเซนจิและชิโมดะ ใช้รถรุ่น E257 ชื่อ Odoriko แปลว่า นักเต้นระบำ มาจากนวนิยาย The Dancing Girl of Izu (伊豆の踊子 อิซุโนะโอโดริโกะ)

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด
ขบวน Hitachi และ Tokiwa
แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด
ขบวน Azusa
แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด
ขบวน Odoriko

การซื้อตั๋วของรถด่วนนั้นก็ออกจะแปลกจากไทยพอสมควรอยู่ คือถ้าเราอยู่ไทยราคาจะรวมค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมรถด่วนลงไปแล้วตั๋วจะออกมาใบเดียว แต่สำหรับที่ญี่ปุ่น เราต้องซื้อตั๋วถึง 2 ใบ โดยใบแรกจะเป็นตั๋วหลักของการเดินทางเรียกว่า Fare Ticket เป็นราคาที่เราต้องจ่ายตามระยะทางจริงจากสถานีที่เราขึ้นไปถึงสถานีปลายทางที่เราลง ส่วนอีกใบคือ Reserved Ticket หน้าตาเหมือนตั๋วใบแรกยังกับแกะ แต่ต่างกันตรงจะมีข้อมูลแยกออกมาว่าเรานั่งรถไฟขบวนไหน ตู้หมายเลขอะไร ที่นั่งเบอร์ไหน และราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มสำหรับการนั่งรถด่วน

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

รถด่วนนั้นใช้ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 130 กม. / ชม. แต่ถ้าบางสายวิ่งเข้าไปในเส้นทางเดี่ยวจะวิ่งแค่ 80 กม. / ชม. มีสถานีจอดน้อย ทำให้ใช้เวลาเดินทางได้ไม่นาน จำนวนตู้ของรถด่วนนั้นไม่ได้ยาวมาก มีตั้งแต่ 4 ตู้ ไปจนถึง 10 ตู้ แต่ละตู้ก็จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่าง ๆ เช่น เก้าอี้นั่งเอนได้ ถาดวางอาหาร ล็อกใส่ขวด ที่ทิ้งขยะ ที่วางกระเป๋า ส่วนห้องน้ำมีเพียงบางตู้เท่านั้น เวลาจองต้องดูดี ๆ ว่าตู้ที่เรานั่งมีห้องน้ำหรือเปล่า อันนี้ JR East ได้ช่วยเหลือเราด้วยการเอาข้อมูลทั้งหมดลงในเว็บไซต์เป็นที่เรียบร้อย

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

สำหรับที่นั่งอันนี้ไม่เหมือนบ้านเราเลย บ้านเรายังใช้ระบบการนับที่นั่งแบบเรียงเลขคล้ายกับทางยุโรปในบางที่ ไล่ที่นั่งไป 1 2 3 4 5 อะไรก็ว่าไป แต่ของญี่ปุ่นและหลาย ๆ ประเทศในโลกใช้ระบบ ‘แถว’ แล้วตามด้วยตัวอักษร A B C D

ข้อดีของระบบแถวคือเราไม่ต้องมานั่งคาดเดาว่าเลขที่นั่ง 30 36 อยู่ตรงไหนของตู้ เพียงแค่ดูตัวเลขแรก มันจะบอกได้เลยว่าที่นั่งอยู่แถวที่เท่าไหร่ในตู้ อย่างเช่น 9A นั่นคือแถวที่ 9 ที่นั่ง A แล้วก็จะเป็นมาตรฐานเลยว่า A D คือที่นั่งติดริมหน้าต่าง ส่วน B C คือที่นั่งริมทางเดิน

รถรุ่นใหม่ ๆ ที่วิ่งเป็นรถด่วนก็มีออปชันเสริมเพิ่มเข้ามาให้เราสะดวกสบายมากขึ้นด้วย นั่นคือไฟแสดงสถานะของที่นั่งว่าง ถ้าเรามองขึ้นไปเหนือที่นั่งเราจะเห็นไฟสีแดง เหลือง เขียว ติดอยู่ ซึ่งไฟนี้ลิงก์เข้ากับระบบขายตั๋วที่จะบอกได้ว่าที่นั่งนั้นมีสถานะเป็นยังไง

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

ถ้าไฟเขียวติด แสดงว่าที่นั่งนั้นถูกจองมาเรียบร้อยแล้ว และเจ้าของที่ก็อยู่บนรถด้วยแล้วเช่นกัน

ไฟเหลือง หมายความว่า ที่นั่งนั้นถูกจองแล้ว และเจ้าของที่จะขึ้นที่สถานีถัดไป

ไฟแดง หมายความว่า ที่นั่งนั้นยังไม่ได้ถูกจอง ยังไม่มีเจ้าของที่

วันแรกที่นั่งเรางงเป็นไก่ตาแตกเลย เพราะมันดูจะตรงกันข้ามกับการเข้าใจโดยทั่วไปว่าแดงคือห้าม เขียวคืออนุญาต ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ว่ามักเกิดเหตุการณ์ที่มีคนไปนั่งตรงไฟสีเขียวเพราะนึกว่าที่นั่งนั้นว่างไปนั่งได้ จนต้องมีการขอที่นั่งคืนให้เห็นกันบ่อย ๆ แอบงงตรรกะนี้อยู่เหมือนกัน

รถไฟด่วนของ JR East อาจจะไม่ได้มีเยอะมาก เพราะระบบรถไฟความเร็วสูงในภูมิภาคนี้ค่อนข้างครอบคลุมเมืองใหญ่ จนทำให้ต้องลดจำนวนของรถด่วนลงแล้วแทนที่ด้วยชินคันเซ็น รถไฟด่วนในแถบนี้จึงวิ่งในระยะทางกลาง ๆ ใช้เวลาเดินทางตลอดสายราว ๆ ไม่เกิน 4 ชั่วโมง แตกต่างจากทางฝั่งคิวชูที่รถไฟด่วนมีค่อนข้างเยอะและหลากหลายมากกว่า

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

ขยับขึ้นไปอีกเลเวล เรามาทำความรู้จักกับรถไฟความเร็วสูงหรือที่รู้จักกันอย่างติดปากว่าชินคันเซ็นกันกันดีกว่า

ชินคันเซ็นแปลว่าเส้นทางสายใหม่ เจ้ารถไฟหัวแหลมเพรียวที่ชาวโลกเรียกกันว่ารถไฟหัวกระสุน หรือ Bullet Train นับได้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่เอาระบบรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงมาใช้เชิงพาณิชย์ ในขณะที่ทางฟากยุโรปยังอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนาอยู่ 

ชินคันเซ็นที่ผมต้องทำความสนิทสนมนั้นอยู่ในโซนของ JR East ที่มีด้วยกันหลายเส้นทาง โดยทั้งหมดเริ่มจากโตเกียว

ไปทางนีงาตะ เรียกว่า โจเอ็ตสึชินคันเซ็น (Joetsu Shinkansen)

ไปทางอะโอโมริ ตอนเหนือสุดของฮอนชู เรียกว่า โทโฮคุชินคันเซ็น (Tohoku Shinkansen)

ไปทางชินโจ เรียกว่า ยามากาตะชินคันเซ็น (Yamagata Shinkansen)

ไปทางอะกิตะ เรียกว่า อะกิตะชินคันเซ็น (Akita Shinkansen)

และไปทางคานาซาว่า เข้าไปเส้นทางของ JR West เรียกว่า โฮคุริขุชินคันเซ็น (Hokuriku Shinkansen)

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด
ขบวนสึบาสะ (Tsubasa)

และชินคันเซ็นทั้ง 5 สายก็ใช้รถที่แตกต่างกันไป อันดับแรกเลยผมต้องจดจำรุ่นรถก่อน ถ้าเห็นรุ่นของรถแล้ว เราจะรู้ได้ทันทีว่านั่นคือชินคันเซ็นสายไหนกันแน่ 

ชินคันเซ็นของ JR East มีเลขซีรีส์ขึ้นต้นด้วยตัว E ไม่ว่าจะเป็น E2 E3 E5 E6 E7 ซึ่งเจ้าตัวที่เร็วที่สุดคือ E6 และ E5 แต่ถ้าความชอบส่วนตัว ผมกลับชอบ E7 มากกว่า ด้วยหน้าตาที่เหมือนโปเกม่อนและยังมีคุณสมบัติพิเศษในการไต่ทางลาดชันและกวาดหิมะได้ดี จึงทำให้ E7 กลายเป็นลูกรักของผมไปทันที

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด
ชินคันเซ็น E7

การนั่งชินคันเซ็น เราต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่ามันใช้เวลาเดินทางค่อนข้างไว แต่ก็ต้องแลกมากับราคาค่าโดยสารที่สูงลิ่ว เรียกได้ว่าถ้าเราเป็นคนญี่ปุ่นจริง ๆ การจ่ายราคาเต็มโดยไม่มี JR Pass ถือว่าหนักเอาเรื่องอยู่ และไม่ได้นั่งเล่นกันแบบเช้าไปกินราเมงที่นี่ บ่ายไปชมพระอาทิตย์ตกที่นั่น แล้วเย็นกลับมานอนบ้าน จึงจะแตกต่างจากนักท่องเที่ยวหรือคนที่พำนักชั่วคราวที่ซื้อ JR Pass นั่งบุฟเฟต์เท่าไหร่ก็ได้ แต่กระนั้นแล้วชินคันเซ็นก็ยังได้รับความนิยมในการเดินทางอยู่ดี เพราะทุกอย่างค่อนข้างสะดวก บางขบวนถึงกับต้องมีตั๋วยืนขายกันด้วยเลย

รูปแบบบริการของชินคันเซ็นเหมือนรถด่วนไม่มีผิด ตั้งแต่การซื้อตั๋ว วิธีคิดค่าตั๋ว รวมไปถึงการใช้ชื่อเรียกขบวนแทนชุดตัวเลข และที่ต้องจำเลยคือก่อนจะซื้อตั๋วต้องดูด้วยว่าขบวนที่เราจะขึ้นนั้น ‘ต้องจองที่นั่ง’ หรือไม่ โดยส่วนใหญ่แล้วขบวนสายยาวเช่น Hayabusa ที่วิ่งจากโตเกียวไปชินอะโอโมริ และบางขบวนข้ามไปฮอกไกโด จะเป็นขบวนรถที่ต้องจองที่นั่งทุกที่ ซื้อแค่ค่าระยะทางแล้วขึ้นได้เลยไม่ได้ แต่กับบางขบวนยังพอมีแบ่งตู้แบบต้องจองกับไม่ต้องจองเอาไว้ 

อีกเรื่องคืออย่าตกใจถ้าจะเห็นชินคันเซ็น 2 ขบวนวิ่งไปด้วยกัน 

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด
ขบวน Komachi สีแดง (E6) และขบวน Hayabusa สีเขียว (E5)

ด้วยความที่เส้นทางค่อนข้างไกลและเพื่อบริหารจัดการจราจรได้ดียิ่งขึ้น รถไฟขบวนไหนที่วิ่งในทางเดียวกันหลักหลายกิโลเมตร เขาจะพ่วงไปด้วยกันเลยแล้วค่อยไปแยกกันที่สถานี ซึ่งทั้ง 2 ขบวนจะวิ่งไปคนละทาง อย่างเช่น ขบวน Hayabusa กับ Komachi ซึ่งทั้ง 2 ขบวนมีเส้นทางวิ่งไปด้วยกันตั้งแต่โตเกียวถึงโมริโอกะ และจะแยกกันเดินคนละทางโดยขบวน Komachi จะวิ่งเข้าไปเส้นทางอะกิตะ ส่วน Hayabusa จะวิ่งต่อไปอะโอโมริ เราก็จะได้เห็นชินคันเซ็นสีแดงกับสีเขียวจูงมือไปด้วยกัน แล้วที่น่าประทับจิตประทับใจคือผู้โดยสารหลายคนที่เดินทางด้วยขบวนนี้จะลงมาดูการแยกขบวนและต่อขบวนที่สถานีโมริโอกะกันจนเป็นกิจวัตรกันเลย

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

สถานีรถไฟของชินคันเซ็นนั้นไม่ได้มีถี่ยิบแบบสถานีรถไฟปกติ มันจะถูกตั้งในเมืองขนาดใหญ่หรือเมืองที่มีทางรถไฟสายแยกย่อยเท่านั้น จุดประสงค์หลัก ๆ ของชินคันเซ็นคือนั่งเพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางให้สถานที่ที่อยู่ใกล้เดินทางได้ง่ายที่สุด ซึ่งที่นั่งของชินคันเซ็นนั้นจะว่าไปก็ไม่ได้สบายนัก เพราะแบ่งออกเป็นแถวละ 3 ที่นั่งฝั่งหนึ่ง และ 2 ที่นั่งอีกฝั่งหนึ่ง การนั่งในฝั่ง 3 ที่นั้นถือว่าเป็นฝันร้ายสำหรับคนนั่งกลางเลยทีเดียว อีกอย่างการออกแบบของรถที่หน้าต่างไม่ได้ใหญ่ จึงทำให้รู้สึกอึดอัดหนักเข้าไปอีก ส่วนใหญ่แล้วที่นั่งฝั่ง 2 เก้าอี้จะขายหมดก่อนเสมอ

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด
แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

แต่ถ้าหากว่าอยากนั่งสบายขึ้น เราก็ต้องใช้เงินแก้ปัญหาด้วยการซื้อที่นั่งในชั้นที่สูงขึ้นไปอีก ซึ่งของชินคันเซ็นมี Green Car เหมือนกับรถด่วน ด้วยที่นั่งแบบ 2 – 2 ไม่ต้องรู้สึกอึดอัด เบาะมีขนาดใหญ่ นั่งสบาย หรือถ้าอยากหรูขึ้นไปมากกว่านั้นก็มีชั้นที่เรียกว่า GranClass ซึ่งมีอยู่ในบางสายเท่านั้น ที่นั่งเป็นแคปซูลขนาดใหญ่ ฝั่งหนึ่งนั่งเดี่ยว ฝั่งหนึ่งนั่งคู่ ปรับเอนได้ มีที่รองขา มีพนักงานเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มนี่เสิร์ฟไม่อั้น ทั้งน้ำผลไม้ ชา กาแฟ เบียร์ หรือแม้แต่ไวน์ ทั้งหมดนี้อยู่ในราคาตั๋วเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเมื่อจ่ายเงินไปก็ปาดเหงื่อทีแล้วก้มหน้าก้มตาหาเงินมานั่งใหม่ 

การขึ้นรถชินคันเซ็นอันนี้สิที่ทำให้แอบปวดหัวนิดหนึ่ง ต้องเป็นคนช่างสังเกตเลยล่ะ

ด้วยความที่มันมีค่อนข้างถี่โดยเฉพาะสถานีช่วงโตเกียว อูเอโนะ และโอมิยะ เลยทำให้ต้องมีการจัดแถวเข้ารถไฟตามลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 การใช้ป้ายไฟกับสติกเกอร์พื้นเพื่อสื่อสารให้เราขึ้นรถง่ายจึงต้องสัมพันธ์กัน

ป้ายไฟบนชานชาลาจะบอกลำดับการมาถึงของรถไฟว่าลำดับที่ 1 2 และ 3 คือขบวนอะไร

บนพื้น มีเส้นแถบของลำดับที่ 1 และ 2 ถ้ารถไฟขบวนที่เราจะขึ้นมาถึงเป็นลำดับแรกก็เข้าไปยืนในแถว 1st ได้เลย แล้วถ้าเราเป็นลำดับที่ 2 ก็เข้าไปยืนในแถว 2nd แล้วถ้าขบวนแรกขึ้นรถไปหมดแล้ว คนในแถว 2nd ก็ขยับเข้ามาในแถว 1st ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด
แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

แล้วเราวางแผนการเดินทางยังไง

อันนี้บอกเลยว่าง่ายมากเพียงแค่มี Google Maps หรือแอป Japan Travel เราแค่กรอกชื่อสถานีที่จะขึ้นกับสถานีที่จะลง ข้อมูลทั้งหมดก็จะขึ้นมาให้เห็นว่าเราต้องเดินทางด้วยรถไฟขบวนไหน ออกชานชาลาไหน มากี่โมง ต่อรถที่ไหน ชานชาลาไหน เดินต่อรถกี่นาที แล้วถ้ามีเหตุก็จะโชว์ข้อมูลมาหมดเลยว่ารถช้าเพราะอะไร เกิดอะไรขึ้น สายไหนงดวิ่งบ้าง

ว่ากันตรง ๆ เรื่องรถไฟญี่ปุ่นเองไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องจำเลย เพราะรายละเอียดมันเยอะมาก แต่ถ้าเริ่มจับทางได้ เริ่มสังเกตเยอะเข้า ๆ ผมว่ามันสนุกมากอยู่เหมือนกัน นี่แหละครับเพื่อนใหม่ของผม ผมว่าเขาก็เป็นเพื่อนใหม่คุณได้ไม่ยากนะ

แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด
แชร์วิธีขึ้นรถไฟชานเมืองญี่ปุ่นในตู้คนน้อย และที่นั่งไหนในชินคันเซ็นนั่งสบายสุด

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ