คนรุ่นใหม่เขายังใช้ผ้าไหมไทยกันอยู่ไหม ถ้ายังใช้ เขาใช้ทำอะไรกัน

ใคร ๆ ก็รู้ว่า ‘ผ้าไหมไทย’ เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่ตะโกนชื่อของประเทศไทยออกมาดังพอสมควร ทั้งวิจิตร ประณีต และมีเสน่ห์เฉพาะตัวแบบที่หาได้ยากจากผ้าชนิดอื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป มรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาแล้วหลายพันปีจะปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอย่างไร เพราะเราแทบไม่เห็นคนรุ่นใหม่ใช้ผ้าไหมไทยกันในชีวิตประจำวัน โจทย์ท้าทายที่อยากทำให้ผ้าไหมไทยเสพง่าย ไม่โบราณ และเข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น เป็นสิ่งที่ ‘Jagtar’ แบรนด์ผ้าไหมทอมืออายุ 38 ปีมองเห็น และลงมือทำจนกระแสตอบรับดีเกินคาด ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังการรีแบรนด์ในครั้งนี้คือทายาทรุ่นสองที่คลุกคลีกับธุรกิจผ้าไหมของผู้เป็นพ่อมาตั้งแต่เกิด

Jagtar เป็นแบรนด์ผ้าไหมไทยทอมือที่เจ้าของเป็นคนอินเดีย ตั้งรกรากในไทยและสร้างแบรนด์มาตั้งแต่ปี 1985 ด้วยการทำผ้าหลา ผ้าเมตร ผ้าม้วน ผ้าตกแต่งบ้าน ผ้าม่าน ผ้าโซฟา จนเป็นที่ยอมรับ ชื่นชม และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในแบรนด์ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมสิ่งทอเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะมัณฑนากร ดีไซเนอร์ หรือโรงแรมในหลายประเทศทั่วโลก เมื่อนึกถึงผ้าไหมไทยก็จะนึกถึง Jagtar และเลือกใช้บริการ คุณภาพและความประณีตที่แบรนด์นี้มีอย่างคงเส้นคงวา ไม่แปลกที่จะอยู่มานานขนาดนี้ 

แต่ ซาช่า สิงห์สัจจเทศ ทายาทรุ่นสองวัย 31 ปี ลูกสาวของ รักษ์ สิงห์สัจจเทศ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ กลับมองต่าง เธอคิดว่ากลุ่มเป้าหมายของ Jagtar ไม่ควรหยุดนิ่งอยู่ที่เดิม เพราะคนรุ่นใหม่ควรได้เห็นถึงเสน่ห์ของผ้าไหมเหมือนที่เธอได้เห็นและนำผ้าไหมมาใช้ในชีวิตจริงได้ เธอผลิตผ้าพันคอ หมอน ผ้าห่ม กระเป๋าสะพายข้าง กระเป๋าถือหลากไซซ์ กระเป๋าเครื่องสำอาง ยางมัดผม ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดปาก และอีกมากมาย ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีสีสันสดใส ทอมืออย่างประณีต บ้างก็พิมพ์ลายน่ารัก ๆ จากดีไซน์ที่วาดมือและลงสีด้วยหลากหลายเทคนิค ทั้งหมดกลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ดูทันสมัย แต่ยังคงเอกลักษณ์ของผ้าไหมไทยตามแบบฉบับ Jagtar ไว้อย่างดี 

ซาช่ามีความฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง และเป้าหมายของเธอก็แน่วแน่ ชัดเจนมาตลอด ดีเอ็นเอของคนเจเนอเรชันเธอที่ใส่ลงไปในแบรนด์มีอะไรน่าสนใจบ้าง เธอนั่งรอพูดคุยอยู่แล้ว 

รักษ์ สิงห์สัจจเทศ ผู้ก่อตั้ง Jagtar และ ซาช่า สิงห์สัจจเทศ ทายาทรุ่นสอง

คนอินเดียที่เกิดและโตท่ามกลางผ้าไหมไทย

ซาช่าเป็นคนอินเดียที่พูดภาษาฮินดีไม่ได้ แต่เธอกลับพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่วทุกประโยค เพราะเธอเกิดและโตที่ประเทศไทย และรู้สึกเหมือนเป็นสาวไทยคนหนึ่ง 

ตระกูลสิงห์สัจจเทศเข้ามาทำธุรกิจในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ครอบครัวนี้มีสายเลือดพ่อค้า-แม่ค้าอยู่เต็มเปี่ยม ย้อนไปตั้งแต่สมัยคุณปู่ของซาช่า ท่านก็ทำธุรกิจผ้านุ่งห่มส่งออก จึงมีโอกาสได้เดินทางไปมาระหว่างอินเดีย-ไทย อยู่หลายสิบปี กระทั่งเกิดสงครามอินเดีย-ปากีสถาน ซึ่งบทสรุปคือการแบ่งแยกพรมแดน ครอบครัวสิงห์สัจจเทศจึงตัดสินใจย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่ไทยในปี 1947 

ถัดจากยุคแรกสู่ยุคของคุณรักษ์ ผู้เป็นพ่อของซาช่าและผู้ก่อตั้ง Jagtar ด้วยความที่เขาเติบโตมาที่ไทย จึงมองเห็นปัญหาในการดำเนินธุรกิจของพ่อ คุณรักษ์จึงเริ่มศึกษาว่าประเทศไทยมีอะไรดีที่จะนำมาต่อยอดธุรกิจครอบครัวได้ จนไปเจอโรงทอผ้าที่โคราชซึ่งทอผ้าด้วยกี่กระตุก ตอนนั้นเองที่คุณรักษ์รู้สึกสปาร์กจอย นี่แหละคือเสน่ห์ที่ทำให้ผ้าไทยโดดเด่น 

หลังจากนั้นในปี 1985 เขาก็สร้าง Jagtar ขึ้นมา ซึ่งชื่อนี้มาจากชื่อของคุณปู่ของซาช่า ผู้ปูทางความสำเร็จเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอไว้ก่อนหน้า และ Jagtar ก็ได้ส่งออกผ้าม้วน เริ่มเห็นตลาดในสหรัฐฯ ขายไปยุโรป ออสเตรีย และประเทศอื่น ๆ 

“สมัยนั้นผ้าไหมไทยบูมนะครับ แต่จะบูมเฉพาะต่างประเทศ ในไทยคนนิยมเป็นผลิตภัณฑ์มากกว่า” คุณรักษ์เล่าขึ้นมา 

ซึ่งหากมองภาพรวม สินค้าผ้าไหมไทยไม่ว่าจะในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ดูเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่ม เราคุ้นเคยกับชุดออกงานหรือกระโปรงที่ทำจากผ้าไหมไทย กระเป๋าถือหรือของที่ระลึกลายผ้าไหมซึ่งอาจดูไท้ยไทย แต่ Jagtar เลือกดีไซน์ผ้าไหมไทยให้เป็นลายเรียบ ๆ โก้ ๆ ดูเหนือกาลเวลา มองแล้วไม่เบื่อ 

แบรนด์นี้จึงกลายเป็นที่โปรดปรานของเหล่าสถาปนิก มัณฑนากร หรือโรงแรมในต่างประเทศที่นิยมใช้ผ้าไหมไทยในงานสถาปัตยกรรมของโรงแรมหรือที่อยู่อาศัย แบบที่คนไทยไม่ค่อยนิยมใช้กัน 

Jagtar คงคอนเซปต์เรื่องการใช้ผ้าไหมทอมือจากฝีมือช่างไทย ความประณีตและดีไซน์เหนือกาลเวลาแบบนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งซาช่า ทายาทธุรกิจเข้ามาเปลี่ยนมันอีกครั้ง ด้วยความคิดที่ว่า “แบรนด์นี้ต้องสนุกขึ้นค่ะ!”

“ตอนเด็ก ๆ นอกจากเราจะชอบวาดรูประบายสีมาก เรายังชอบอ่านนิตยสารเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ชอบเสื้อผ้า ด้วยความที่บ้านเราอยู่สุขุมวิท 13 ออฟฟิศของพ่ออยู่สุขุมวิท 11 เราเลยไปหาพ่อที่ออฟฟิศประจำ เห็นผ้าไหม เห็นโชว์รูม ชอบมองสีของผ้า และนั่นทำให้เรารักผ้าไหมไทยไปโดยปริยาย 

“ซาช่าเติบโตมารอบ ๆ สิ่งเหล่านี้ เด็ก ๆ เราไม่รู้หรอกค่ะว่าเรียกว่าผ้าอะไร รู้แค่ว่าชอบสิ่งที่พ่อทำจัง จนตอนอายุ 14 เริ่มรู้เรื่องมากขึ้น รู้แล้วว่าผ้าไหมไทยที่เห็นมันทอมือออกมานะ ใช้เวลานานมากกว่าจะได้ออกมาเป็นผ้าผืนหนึ่ง จากผีเสื้อ สู่การเป็นไหม รังไหม บวกกับกระบวนการย้อมสีที่ใช้ ทั้งหมดนี้มีเสน่ห์มาก และทำให้เรารู้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าโตมาอยากทำแบบคุณพ่อและมีความฝันอยากเปิดร้านในสไตล์ของตัวเอง”

เพื่อไปให้ถึงความฝันนั้น ซาช่าได้เข้าเรียนไฮสคูลที่ NIST International School ได้ทำงานศิลปะและงานออกแบบที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่บ้าง และเลือกไปเรียนต่อที่ Parsons School of Design นิวยอร์ก โดยเลือกเรียน Design and Management ที่ได้ความรู้ทั้งการออกแบบควบคู่กับธุรกิจไปพร้อมกัน และเมื่อพร้อม เธอก็ตีตั๋วบินกลับมาสานต่อธุรกิจนี้

ผ้าไหมไทยที่คนทุกรุ่นใช้ได้และอยากใช้ด้วย

ปี 2015 ซาช่ากลับมาประเทศไทยด้วยแพสชันแรงกล้า เธอคิดอยู่ตลอดว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นตัวเองอยากใช้ผ้าไหมไทย หรือให้ง่ายกว่านั้น คือจะทำอย่างไรให้ ‘คนไทย’ หันมาซื้อมากขึ้น เพราะกลุ่มเป้าหมายหลักของ Jagtar ยังเป็นการตลาดต่างประเทศอยู่ 

“สิ่งแรกที่คิดคือจะทำยังไงให้คนไทยเข้าถึงง่ายขึ้น โดยเฉพาะกับคนเจเนอเรชันซาช่า เราไม่ค่อยเห็นคนรุ่นใหม่ใช้ผ้าไหมกันเลย คนไทยเองก็ไม่ได้นิยมซื้อผ้าไหมไทยไปตกแต่งบ้าน แต่เรารู้ตลอดเวลาไปเมืองนอกกับคุณพ่อว่าประเทศอื่น ๆ เขาใช้กันหมดเลย เพราะสำหรับเขา มันเป็นอะไรที่พิเศษ 

“ตอนนั้นสิ่งที่เราเห็นคือ Jagtar ยังไม่มีของที่หยิบง่าย เช่น กระเป๋า ผ้าพันคอ หรือของที่ซื้อเป็นของขวัญได้ เลยอยากลองเอาผ้าที่มีอยู่แล้วมาทำเป็นโปรดักต์ใหม่ ๆ แต่ช่วงแรก ด้วยความที่คุณพ่อทำคนเดียวมาตั้งหลายปี แล้วอยู่ดี ๆ ซาช่าเข้ามาก็ต้องมีไอเดียขัดกันบ้าง เหมือนเราเสนอไอเดียไป เขาก็ไม่ได้นะ ผ้าพันคอบางดีไซน์ ตรงนี้ยังไม่สวย แต่ซาช่าคิดว่ามันธรรมชาติมากที่จะเห็นแย้งกัน เพราะคนละเจนฯ กัน และเขาก็ทำแบรนด์คนเดียวมาตั้งนาน พอมีคนมาใส่มุมมองใหม่ ๆ ในรอบหลายปี ก็อาจต้องปรับจูนกันพอสมควร เช่น เราอาจต้องอธิบายว่าคนรุ่นซาช่าไม่ได้ลงทุนใช้เงินสำหรับการซื้อผ้าม่านจากผ้าไหมกันแล้วนะ แต่ซื้อชิ้นที่เล็กลงมาอย่างของตกแต่งบ้านแทนหรือซื้อสิ่งที่เป็นของขวัญได้ และต้องขอบคุณคุณพ่อที่สุดท้ายเขาก็ยอมให้อิสระเราได้ลองอะไรใหม่ ๆ”

ซาช่าเดินตรงไปที่สต็อกผ้าเก่า เธอกวาดสายตาและเลือกผ้าขึ้นมาออกแบบใหม่ ดีไซน์ไหนที่น่าลองเล่นสนุก เธอก็ลองปรับสีใหม่ หรือดีไซน์ไหนที่ยังสวยคลาสสิกอยู่เหมือนเดิม เธอก็เริ่มเอามาทำใหม่เป็นหมอน กระเป๋าถือ ผ้าพันคอ ยางรัดผม ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เธอมองว่าคนจะหยิบซื้อกันได้ง่าย ๆ ซึ่งเธอก็คิดถูก!

“ผลลัพธ์ดีเกินคาด คนไทยใช้เยอะขึ้น บางทีเจอใครที่ไม่รู้จัก เขารู้ว่าเราเป็นเจ้าของก็จะบอกว่า ชอบกระเป๋าแบรนด์คุณนะ เวลาเห็นใครที่ใช้แล้วชอบ เรารู้สึกดีว่ามันขายได้นะ มีคนชอบ จากที่เมื่อก่อนไม่คิดเลยว่าคนไทยจะซื้อ”

และเมื่อเห็นหนทางไปต่อได้ ซาช่าจึงจริงจังกับการสร้างลายใหม่ ๆ ให้เป็นรสชาติใหม่ของธุรกิจ เธอทำผ้าไหมซึ่งเป็นลายพิมพ์จากการวาดมือเป็นกระเป๋าใส่เครื่องสำอาง กระเป๋าเล็ก ๆ ผ้าพันคอ หมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดโต๊ะ และต่อยอดไปไกลขนาดว่าเอาเพชรมาติดกระเป๋า เพื่อเพิ่มกิมมิกความเก๋ หรือรับปักชื่อลงบนกระเป๋าให้ลูกค้าด้วย

“ซาช่าเริ่มเปิดหน้าร้านที่ Terminal 21 เมื่อปี 2020 ซึ่งทุกอย่างของที่นี่ไม่เหมือนร้านของคุณพ่อเลย เราขายผ้าไหมเหมือนกัน แต่ยุคของคุณพ่อสีสันอาจไม่เยอะเท่านี้ ไม่มีลายพิมพ์และโปรดักต์สนุก ๆ แบบนี้ 

“ด้วยความที่เราเรียนมาทั้งทางดีไซน์ วาดรูป 2 มิติ 3 มิติ รวมถึงการตลาด เราจึงเอาความรู้จากทุกทางที่มีมาใช้ในการทำงานแบรนด์ว่าจะดึงดูดลูกค้าอย่างไร ดูเทรนด์ ดูสีแพนโทน แต่สิ่งที่ยึดถือตลอด คือโปรดักต์ของเราต้องเหนือกาลเวลา ไม่ดูเก่า ล้าสมัย และนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอด อย่างกระเป๋าบางใบที่ทำมาตั้งแต่เปิดร้าน ทุกวันนี้ลูกค้าก็ยังกลับมาซื้ออยู่เรื่อย ๆ” เหมือนกับที่ผ้าไหมไทยของแบรนด์ตอนที่ซาช่ายังไม่เกิด ปัจจุบันก็ขายได้อยู่ เช่น ผ้าหลาลายทางที่ออร์เดอร์ยังเข้ามารัว ๆ

ดีไซน์สดใหม่ แต่ยัง Timeless และไม่ Fast Fashion

ด้วยความที่ซาช่าชอบวาดรูปและรักศิลปะเป็นทุนเดิม ไม่แปลกที่ลายผ้าไหมไทยในยุคของเธอจะเป็นภาพวาดด้วยมือแล้วเอามาพิมพ์ลงบนผ้า ลายส่วนใหญ่ของ Jagtar เน้นสีสันสดใส มีทั้งลายสัตว์น้อยใหญ่และดอกไม้ พรรณไม้ต่าง ๆ 

“ทั้งหมดนี้เป็นภาพในชีวิตจริงที่เราเดินผ่านสิ่งรอบตัวแล้วชอบ เห็นแล้วรู้สึกว่า ถ้ามาอยู่บนผ้าน่าจะสวย แล้วก็ลองเอามาดีไซน์ดู” ซาช่าเริ่มต้นเล่าแนวคิดของเธอที่เริ่มต้นด้วยความเรียบง่าย

“ซาช่าจะโยนไอเดีย แล้วเราก็มีทีมช่วยกันออกแบบ อย่างถ้าดีไซน์ช้าง เราก็จะพัฒนาลายช้างตัวนั้นไปเรื่อย ๆ บางครั้งอาจปรับเทคนิคจากเพนต์ด้วยสีน้ำไปเป็นการเน้นที่ลายเส้นปากกาหรือสีอะคลิลิก 

“เวลาออกแบบลายแต่ละครั้ง ต้องกลับไปที่โจทย์เดิมคือต้องเป็นลายที่ลูกค้าน่าจะชอบ แบรนด์เราต้องตอบโจทย์ทั้งคนที่ชอบลายเรียบ ๆ หรือลายริ้วแบบที่พ่อทำมา และคนที่ชอบลวดลาย พอไม่ได้เจาะจงแค่กลุ่มลูกค้าเดียว มันเปิดโอกาสให้คนมองเห็นแบรนด์เราในหลาย ๆ ด้านมากขึ้น และมีโอกาสเป็นลูกค้าเรามากขึ้น คุณพ่อคุณแม่เดินผ่าน อยากซื้อหมอนเอาไว้ที่ห้องลูก เราก็ต้องมีลายที่เป็นมิตรกับเด็ก อย่างลายสัตว์ บางคนชอบสีสันมาก เขาก็จะหยิบสีสดใสเพื่อไปวางบนโซฟา หรือใครชอบมินิมอล เราก็ต้องมีสีเรียบ ๆ ให้เขา”

แนวคิดที่ซาช่าตั้งมั่นและเธอมองว่าจะทำแบบนี้ต่อไปคือ ‘ดีไซน์ครั้งเดียว แต่ต้องใช้ได้กับทุกโปรดักต์’ และต้องใช้ได้นาน ซึ่งนับเป็นแนวคิดสวนทางกับอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มาเร็วไปเร็ว ซึ่งเธอเป็นอีกหนึ่งคนทีี่ไม่ซื้อแนวคิดแบบนั้น ด้วยเหตุนี้ ลายผ้าของ Jagtar จึงมีทั้งลายที่คุณพ่อทำไว้ตั้งแต่เริ่มต้นแบรนด์ ซึ่งทุกวันนี้ถูกปรับไปอยู่ในโปรดักต์ต่าง ๆ หรือจะเป็นลายม้าลายที่เป็นซิกเนเจอร์ หรือลายนกที่ขายดีเทน้ำเทท่า นอกจากจะอยู่บนผ้าเปล่าแล้ว ยังนำมาใช้เป็นลายบนยางรัดผม หมอน และอื่น ๆ อีกมากมาย

“เราไม่อยากให้มีอะไรเหลือเป็นขยะเลย อยากให้ทุกโปรดักต์อยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะเราเชื่อว่ามันจะใหม่อยู่ทุกครั้ง เมื่อลูกค้าบางคนที่ไม่เคยมาร้านเรามาก่อนมาเห็นสิ่งนั้นเป็นครั้งแรก เราจึงเลือกที่จะดีไซน์ครั้งหนึ่งแต่ใช้ได้กับทุกอย่างในร้าน และสลับความเก๋ของมันไปเรื่อย ๆ อาจทำลายให้เล็กลง ใหญ่ขึ้น เปลี่ยนสี ปรับจากลายริ้วธรรมดาที่คุณพ่อเคยทำ มาเพิ่มลายดอกไม้ เอาคอลเลกชันเก่าของคุณพ่อมาทำเป็นผ้าคลุมไหล่ ถ้ามีกระเป๋าลายนั้น ผ้าพันคอ หรือหมอนก็ต้องมีลายนั้นด้วย เพราะกว่าจะดีไซน์ออกมามันใช้ทั้งพลังและแรง และกว่าจะออกมาเป็นสินค้าสักชิ้นต้องใช้เวลาในการทอ เลยไม่อยากให้งานสร้างสรรค์ของเราหายไปไว ๆ เหมือน Fast Fashion”

และในอนาคตเธอก็จะยังคิดออกแบบลายใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อมัดใจลูกค้าต่อไป

ผ้าไหมทอมือโคราช และความใส่ใจที่ Jagtar ไม่เคยเปลี่ยน

ความสดใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในแบรนด์ Jagtar เป็นเหมือนส่วนผสมใหม่ที่ทำให้แบรนด์กลมกล่อมขึ้น แต่เอกลักษณ์สำคัญที่แบรนด์ยังคงยึดถือไม่เปลี่ยนแปลงมาตลอด 38 ปีและจะยังคงอยู่ต่อไป คือการใช้วิธี ‘ทอมือ’ ด้วยฝีมือช่างโคราช อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

“เราใช้ช่างทอมือมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ ตอนนี้ก็ยังใช้อยู่ เพียงแต่ว่าหายากขึ้นมาก ทุกวันนี้เรามีการพิมพ์ลายเข้ามาก็จริง แต่หลายโปรดักต์ยังจำเป็นต้องใช้การทอมืออยู่ เพื่อให้ได้ความพิเศษแบบที่มีเฉพาะแฮนด์เมด”

ซาช่าหยิบหมอนผ้าไหมทอมือรุ่น FLORA BUNDA มาให้เราจับ เนื้อสัมผัสละเอียดและลายสีสันสวยจนเราต้องบอกเธอว่าสวยมาก ซึ่งเธอก็เสริมว่าบางสิ่งบางอย่างที่ต้องทอมือเพราะจะได้สีที่เป็นธรรมชาติ หรือมีเรื่องของเส้นที่หนา เนื่องจากใช้ไหมรังเหลือง ต้องเอาไปฟอกย้อมก่อน ซึ่งทดลองแล้วว่าทอมือเวิร์กและปังกว่ามาก

ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็นฝีมือช่างโคราชมาตั้งแต่รุ่นพ่อยันรุ่นลูก เพราะที่นั่นชื่อเรื่องผ้าไหมทอมือ แม้ช่างจะผลัดเปลี่ยนไปกี่ยุคสมัย ฝีมือและความประณีตของพวกเขาก็ยังน่าประทับใจ และเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาซึ่งเอกลักษณ์ของ Jagtar ไปแล้ว

“เมื่อก่อนเราต้องเข้าไปช่วยพัฒนาทักษะเขา ฝึกฝนให้เขารู้จักการเปลี่ยนฟันหวีในการทอ เพราะปกติช่างที่นั่นจะทอผ้าพื้นธรรมดา หน้าแคบ 40 นิ้ว แต่การส่งออกต้องเป็นหน้ากว้าง 48 นิ้วเพื่อใช้สำหรับทำม่าน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราได้รับประสบการณ์และทักษะใหม่ ๆ ด้วย” คุณรักษ์กล่า

“อีกอย่างคือเราใช้สีย้อมที่ยึดถือมาตลอด เป็นแบรนด์จากสวิตเซอร์แลนด์ ช่วยเรื่องความยั่งยืน ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะเราคิดว่าผ้าที่ใช้ในบ้านควรจะปลอดภัย” ซาช่าเสริม

เสน่ห์ของการทอมือสำหรับซาช่า คือการทุ่มเททั้งเวลาและคุณภาพ กว่าจะออกมาเป็นโปรดักต์แต่ละชิ้นได้ ผ้าไหมของ Jagtar ละเอียดด้วยการควบคุมคุณภาพชัดเจนให้คงเส้นคงวา ตั้งแต่การซื้อเส้นด้าย ใช้เส้นด้าย สีที่ใช้ เทคนิคการย้อม ช่างทอผ้า ซึ่งเป็นโจทย์ที่เธอต้องพยายามเก็บไว้ให้มั่น ไม่ให้คุณภาพลดลงในยุคของเธอ เพราะคุณภาพของแบรนด์คือสิ่งที่ทำให้ลูกค้ารักและชื่นชมจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันผ้าไหมของ Jagtar ใน 1 ลายมีให้เลือกเยอะถึง 40 สี ซึ่งนี่เป็นวิธีการขายของแบรนด์ เนื่องจากอยากนำเสนอให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะอยากได้อะไร – เรามี 

สองพ่อลูกคู่นี้เล่าว่า หากเป็นลูกค้าชาวอเมริกันมักชอบสีสดใส ลายทาง ลายตาราง หากเป็นลูกค้าโซนยุโรป ชอบสีกลาง ๆ เรียบ ๆ หากเป็นลูกค้าคนญี่ปุ่นหรือเกาหลี จะถูกใจลายภาพวาด ส่วนคนไทย สีเอิร์ทโทนจะขายดีที่สุด และถูกใจกระเป๋าผ้ากันเป็นพิเศษ

“เวลามีลูกค้าคนไทยกลับมาซื้อเรื่อย ๆ เรารู้สึกดีมากนะ บางทีเดินไปเดินมา เจอคนหิ้วกระเป๋าเรา รู้สึกเหมือนฝันที่คิดไว้ตั้งแต่เด็กเป็นจริงเลยค่ะ” ซาช่าพูดด้วยรอยยิ้ม

ปัจจุบันทั้งซาช่าและคุณรักษ์มีตำแหน่งเป็น Director ของแบรนด์ เราว่านี่คือตัวอย่างของการที่คน 2 รุ่นผสานเข้าหากันได้เป็นอย่างดี ซาช่ารับหน้าที่ออกแบบและสร้างสรรค์โปรดักต์ในหน้าร้าน ส่วนคุณพ่อก็ยังคงบริหารงานด้านการส่งออกผ้าที่ต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งผ้าลายพื้นแบบดั้งเดิมและผ้ามีลวดลายที่ใส่ความเป็นตัวตนของซาช่าลงไป และยังทำหน้าที่นำผ้าลายใหม่ ๆ ไปเสนอให้มัณฑนากรทั่วโลกด้วย 

สองพ่อลูกแห่ง Jagtar แบ่งแยกหน้าที่ในธุรกิจครอบครัวอย่างชัดเจน และทั้งคู่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือทำให้แบรนด์เป็นที่รัก ไม่ว่าจะซื้อให้ตัวเอง ซื้อให้คนอื่น หรือซื้อไปทำงาน ก็จะนึกถึงพวกเขาเสมอ

“Jagtar ต้องเดินและเติบโตไปตามกาลเวลา มันดีแหละอะไรที่ Timeless แต่ก็ต้องมีความสร้างสรรค์เพิ่มเข้ามาด้วย เพราะเรามีลูกค้าเจนฯ ใหม่เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ ให้เราเรียนรู้ ซึ่งซาช่าตั้งใจว่าจะไม่หยุดเรียนรู้ไปพร้อมกับแบรนด์” ทายาทรุ่นสองแห่ง Jagtar กล่าว

Website : jagtar.com/website

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล