22 กุมภาพันธ์ 2024
676

อย่างที่ทุกคนทราบ ทั้งจากรายการของฟาโรสและจากในเฟซบุ๊ก People you may know ก็คือคนที่คุณอาจรู้จัก หรือคุ้น ๆ แต่คราวนี้จะมาในบริบทของวัฒนธรรมอิตาเลียน ชื่อบางชื่ออาจไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็รู้จักไว้บ้างแล้วกันนะ

อนึ่ง อย่าดราม่าว่าทำไมไม่มีคนนั้นคนนี้ ลิสต์นี้ไม่ได้วัดตามความดัง แต่วัดตามอำเภอใจล้วน ๆ บางคนก็เพราะดัง บางคนที่ทุกคนรู้จักอยู่แล้วก็ไม่พูดถึง มาพูดถึงคนที่หลายคนมองข้ามไปหรือมีเรื่องให้ต้องเคลียร์ดีกว่า

จูเลียส ซีซาร์ (Gaius Julius Caesar)

100 – 44 ปีก่อนคริสตกาล

ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/Julius_Caesar 

ในแง่หนึ่ง ซีซาร์ คือยอดขุนพลขวัญใจชาวโรมันที่เหยียบหน้าพวกขุนนางที่คิดจะโค่นล้มเขาโดยการบุกถล่มแล้วขึ้นเถลิงให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย อีกแง่หนึ่ง เขาคือเผด็จการที่โค่นล้มการปกครอง 

แต่ไม่ว่าในแง่ไหน เขาไม่เคยคิดตำรับสลัดซีซาร์เลย นั่นมันอีกคน ชื่อนี้เหมือนกัน แต่นามสกุล คาร์ดีนี (Cardini) และเขาไปคิดตำรับนี้ที่เม็กซิโกโน่น ในปี 1924 นี่เอง

เนโร (NERO CLAVDIVS CAESAR AVGVSTVS GERMANICVS)

ปี 37 – 68

ภาพ : it.wikipedia.org/wiki/Nerone 

เนโร หรือในภาษาอิตาเลียนเรียก เนโรเน (Nerone) นั้นเป็นชื่อของจักรพรรดิโรมันผู้มีเรื่องเล่าว่า โหดเหี้ยมวิปริตผิดมนุษย์มนา เหตุการณ์ที่นำชื่อเสีย_ มาสู่เนโรที่สุดคือการตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการเผากรุงโรมแล้วดีดพิณชมเปลวเพลิงอย่างรื่นรมย์

คราวนี้เข้าใจหรือยังล่ะว่าทำไมโปรแกรมเบิร์นซีดีถึงชื่อนี้ แล้วมีโลโก้เป็นอย่างนั้น 🙂

ภาพ : nero-burning-rom.softonic-th.com 

แต่…ดูกรภราดรทั้งหลาย มีนักประวัติศาสตร์อีกสายหนึ่งบอกว่านั่นเป็นเพียงข่าวลือ เป็นการเล่าขานฝ่ายตรงข้ามกับเนโรเพื่อทำให้การโค่นล้มอำนาจดูชอบธรรมยิ่งขึ้น จริง ๆ แล้วตอนไฟไหม้เนโรไม่ได้อยู่ในโรมด้วยซ้ำ แถมตอนกลับมาก็ยังบัญชาการดับเพลิงอย่างแข็งขันเสียอีก

ความจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่เรื่องฟังหูไว้หู เราควรทำ

ดันเต อาลีกีเอรี (Dante Alighieri)

ปี 1265 – 1321

ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/Dante_Alighieri 

ดันเต อลิกิแยรี คือบิดาของภาษาอิตาเลียน – เปล่า เขาไม่ได้คิดภาษาขึ้นเอง แต่เขาคือคำตอบสุดท้ายของรัฐบาลอิตาเลียนสมัยรวมประเทศว่าตกลงเราจะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษากลาง เพราะนอกจากวรรณคดีเรื่อง La Divina Commedia ของเขาจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาประเทศอิตาลีแล้ว ความตั้งใจในการนำภาษาอิตาเลียนแบบที่ชาวบ้านพูดกันมาใช้ในการแต่งวรรณกรรมถือเป็นก้าวแรกของการคิดถึงประชาชนทั่วไป ไม่เก็บวรรณคดีไว้อ่านแต่ในวงชั้นสูงอีกด้วย

จูเซ็ปเป้ การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi)

ปี 1807 – 1882

ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/Giuseppe_Garibaldi 

คนที่ไปอิตาลีจะต้องได้เจอชื่อนี้เป็นประจำ ค่าที่เป็นชื่อจัตุรัสที่ฮิตที่สุดในอิตาลี การิบัลดี เป็นนายพลผู้นำการรวมชาติอิตาลีในศตวรรษที่ 19 คนอิตาเลียนรักใคร่มาก ไปไหนก็ต้องเจออนุสาวรีย์ ชื่อเต็ม ๆ ของเขาคือ จูเซ็ปเป้ การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi, ปี 1807 – 1882) 

คาสโนวา (Giovanni Giacomo Casanova)

ปี 1725 – 1798

ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/Giacomo_Casanova 

เราอาจจะคุ้นชื่อนี้เวลาที่มีการพูดถึงชายเจ้าชู้ หรูหรา ไฮโซ จนบางคนคิดว่านี่คือคำศัพท์ภาษาอังกฤษไปแล้ว จริง ๆ แล้วนี่คือชื่อบุคคลที่มีตัวตนจริง ๆ ชื่อเต็มของเขาอ่านว่า โจวันนี จาโคโม คาซานอวา เขาเป็นคนเวนิส ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมชั้นสูงจริง แต่ชีวิตก็เต็มไปด้วยเล่ห์กลมารยาความฉาวโฉ่ จริง ๆ เขาอาจมิได้แตกต่างจากคนอื่นอีกหลายคนในสังคมนั้น ในยุคนั้น แต่สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างคือบันทึกของเขา ซึ่งทำให้ชื่อของเขาจีรังยั่งยืนมาถึงวันนี้ในฐานะชายเสเพลผู้มากรัก

อนึ่ง ไม่พบว่าในภาษาอิตาเลียนมีการผันชื่อนี้ไปเป็น ‘-โนวี’ เหมือนที่ภาษาไทยทำแต่อย่างใด

อันแดรอา โบแชลลี (Andrea Bocelli)

ปี 1958 – ปัจจุบัน

ภาพ : it.wikipedia.org/wiki/Andrea_Bocelli 

ใครเคยเห็นคลิปผู้ชายยืนร้องเพลงหน้ามหาวิหารเมืองมิลานในวันอีสเตอร์ ปี 2020 อันเป็นช่วงโควิดที่เมืองต่าง ๆ ล้วนร้างผู้คนบ้าง นั่นล่ะ อันแดรอา ดังแค่ไหน สำคัญแค่ไหน การได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นี้คือคำตอบที่ดีที่สุดแล้ว

อันแดรอาพิการทางสายตามาตั้งแต่อายุได้ 12 ปีจากการเล่นฟุตบอล เขาเริ่มชีวิตนักร้องของเขาจากการเป็นนักร้องเพลงโอเปรา จากนั้นจึงเข้ามาสู่วงการเพลงป๊อป เพลงที่หลาย ๆ คนรู้จักกันคือเพลง Con Te Partirò หรือ Time to Say Goodbye ที่ร้องคู่กับ Sarah Brightman 

นามสกุลเขาสร้างความเด๋อมาให้คนมานักต่อนักแล้ว หลายคนนึกว่า บอตติแชลลี นั่นมันจิตรกรยุคเรอเนสซองส์ (Botticelli) ชื่อจริงชื่อ Sandro (ซานโดร) อีกต่างหากด้วย

โรแบร์โต เบนิญญี (Roberto Benigni)

ปี 1952 – ปัจจุบัน

ภาพ : it.wikipedia.org/wiki/Roberto_Benigni 

นักแสดงและผู้กำกับจากแคว้นตอสกานา คนอิตาเลียนรู้จักเขามานานแล้ว แต่ชาวโลกมารู้จักเขาจากภาพยนตร์ที่ทำให้เราทั้งหัวเราะและร้องไห้ไปพร้อม ๆ กัน เรื่อง La Vita é Bella (Life is Beautiful) ในปี 1997 ซึ่งกวาดรางวัลไปถึง 3 รางวัล คือภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

หากได้ยินเสียงจริงของเขาเวลาพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์หรือในการแสดง จะสังเกตได้ถึงลักษณะเฉพาะของความเป็นทัสกานีในสำเนียงการพูดของเขา กล่าวคือ มักจะออกเสียง ฮ ในจังหวะที่เป็นเสียง ก หรือ ค เช่น ออกเสียง โคคา-โคล่า ว่า โฮฮา-โฮล่า

กาบี ลาม (Khaby Lame)

ปี 2000 – ปัจจุบัน

ภาพ : www.agi.it/blog-italia/idee

บอกชื่อไปก็อาจจะนึกไม่ออก แต่เห็นภาพก็คงจะคุ้นตา ในปี 2024 กาบี ลาม เป็นผู้ที่คนใน TikTok ติดตามมากที่สุดในโลก เขาอาจกำเนิดจากพ่อแม่ชาวเซเนกาลก็จริง แต่ครอบครัวของเขาย้ายมาอยู่ที่เมืองคิวัซโซ แคว้นปิเอดมนต์ ประเทศอิตาลี (Chivasso, Piemonte, Italia) ตั้งแต่เขาอายุได้เพียง 1 ขวบ ภาษาที่เขาใช้เป็นหลักก็คือภาษาอิตาเลียน และเขาเพิ่งได้สัญชาติอิตาเลียนในปี 2022 นี้เอง ตอนนี้เขากลับไปทำงานอยู่ที่เซเนกาล แต่ประกาศตัวเสมอว่าเขารู้สึกว่าตนเองเป็นคนอิตาเลียนแม้ไม่ต้องมีเอกสารทางการรับรองก็ตาม

ปาปารัซโซ (Paparazzo)

ภาพ : www.ilmuseodellouvre.com/prodotto

คุ้นกับคำว่า ปาปารัซซี มากกว่าใช่ไหม นั่นเป็นพหูพจน์ของคำว่า ปาปารัซโซ คำนี้ จริง ๆ แล้วเป็นชื่อ (สกุล) ของตัวละครนักข่าวสายแอบถ่ายคนหนึ่งในภาพยนตร์อิตาเลียน ปี 1960 เรื่อง La Dolce Vita แล้วจึงกลายมาเป็นคำนามทั่วไป อีกทั้งยังมีการทำเป็นพหูพจน์อีกด้วย ซึ่งก็ต้องนับเป็น People You May Know อีกคนนะ ถึงแม้จะไม่มีตัวตนจริงก็ตาม

คนอิตาเลียนผู้มีชื่อเสียงที่คุณอาจรู้จักคงมีอีกมากมาย แต่อย่างที่บอกไว้ ในที่นี้ขอพูดถึงบางคนที่มีเรื่องราวให้เล่าให้เขียน

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า