วินาทีแรกที่รถมาจอดหน้าประตู เราพบกับบ้านจัดสรรรุ่นเก่าหน้าตาธรรมดา มีต้นไผ่ปลูกไว้ริมรั้ว ซึ่งธรรมดาแค่หน้าบ้านเท่านั้นแหละ หลังประตูเปิดเราก็ไม่เห็นอะไรที่พอจะเรียกว่าธรรมดาได้อีกเลย
นี่คือบ้านของคู่แฝดในชุดเอี๊ยม เอ-สุพัตรา และ บี-สุภลักษณ์ ศรบรรจง ทั้งคู่ทำแบรนด์เสื้อผ้า It Takes Two to Tango ด้วยกัน ชอบของเก่า ฟังแผ่นเสียง และการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งบ้านนั้นเต็มไปด้วยหลักฐานความชอบของเอ-บีทุกแห่งหน ดูมีมนต์ขลังน่าดึงดูดใจเหมือนตลาดมือสอง แต่เป็นบ้านคน


แบรนด์ ‘It Takes Two to Tango’ เริ่มมาจากจุดเปลี่ยนของฝาแฝดเมืองกรุงที่ไปเรียนทอผ้า เรียนย้อมครามกับคนท้องถิ่นในสกลนคร จากนั้นก็ขยับขยายไปย้อมด้วยวัตถุดิบธรรมชาติอื่น ๆ มากมาย เริ่มปักผ้า เพนต์ผ้า และอีกหลากหลายวิธีสนุกสนาน ซึ่งความพิเศษเฉพาะตัวของแบรนด์ คือเอ-บีใช้เพลงที่พวกเธอชอบฟังและการเดินทางท่องโลกเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ
คอลัมน์อยากอยู่อย่างอยากคราวนี้ จะเล่าเรื่องราวการช่วยกันต่อเติมบ้านเก่าหลังนี้ในแต่ละครั้ง ควบคู่ไปกับการทำงานผ้า ตัวตนที่ต่างกันของเจ้าบ้าน และความรักของฝาแฝด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นรวมเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแนบสนิท
เปิดเพลง It Takes Two to Tango เวอร์ชัน Louis Armstrong คลอเบา ๆ แล้วเดินสำรวจบ้าน เอ-บี กันเถอะ
Hey baby, how about this dance?
Why? ’cause it takes two to do this dance!
Takes two to tango, two to tango
เอ (ซ้าย) บี (ขวา)
เอกับบี ฝาแฝดที่มีบรรยากาศต่างกันตั้งแต่แรกเห็น เตรียมเก้าอี้หน้าตาหลากหลายให้พวกเรานั่งในห้องนั่งเล่นที่ใช้เครื่องเป่าลมในโรงงานอุตสาหกรรมแทนโต๊ะกลาง มีคลังแสงแผ่นเสียงอยู่หลังเก้าอี้ และมีตัวอักษรโลหะแปะไว้ที่ฝาผนังว่า ‘เวลาโม้’
“ตอน ป.4 เราบอกแม่ว่าไม่อยากแต่งตัวเหมือนกันอีกแล้ว เพราะเราไม่เหมือนกัน” บีโม้เรื่องนี้ทันทีที่พูดถึงเรื่องความเป็นแฝด
ทั้งสองชอบทำงานด้วยมือกันมาตั้งแต่เด็ก ทั้งต้มผ้า ทั้งย้อมผ้า แต่ก็แยกย้ายกันไปเรียนและทำงานตามความสนใจ ‘เอ’ แฝดพี่ที่ดูกระโดกกระเดกกว่าแต่แต่งตัวแบบผู้หญิง ๆ เรียนเอกภาษาญี่ปุ่น ส่วน ‘บี’ แฝดน้องผู้เป็นสาวเรียบร้อยแต่ชอบแต่งตัวทอมบอย เรียนโฆษณา เวลาต่อมาถึงได้มาเริ่มทำงานผ้าด้วยกันอย่างจริงจัง ใช้ชื่อแบรนด์ว่า It Takes Two to Tango


เดิมที่นี่เป็นบ้านของคุณตาคุณยาย เป็นบ้านโครงสร้างซีคอนรุ่นแรก ๆ สร้างราว พ.ศ. 2527 ตอนนั้นสองตายายต้อง ‘จับสลาก’ ว่าจะได้หลังไหนในโครงการไปครอง (วิธีแปลกสุด ๆ)
เมื่อก่อนเอ-บีอยู่บ้านที่บางลำพูกับพ่อแม่ ซึ่งเปิดเป็นร้านอาหารอร่อยจนได้เชลล์ชวนชิม แต่พอ ป.4 มีเหตุให้ต้องย้ายมาอยู่กับตายายที่นี่
“ยุคคุณแม่เป็นยุครีโนเวตครั้งแรก พอมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเขาก็อยากขยาย โดยใช้วิธีให้พี่กับพี่เอในวัย ม.4 เป็นสถาปนึก สไตล์ที่ได้คือ สไตล์หลุด!” บีเล่าอย่างมีอารมณ์ขัน
ตอนแรกบ้านจะแบ่งเป็น 2 หลัง แต่ทุกคนตัดสินใจเชื่อมทั้ง 2 หลังเป็นทรงตัว I ในการปรับปรุงคราวนั้น ห้องครัวก็เป็นการต่อเติม แม้แต่ห้องที่เรานั่งคุยกันอยู่ก็ต่อเติมเอาทีหลัง
“กระเบื้องห้องนี้เป็นกระเบื้องลำปาง ส่วนตรงทางเดินเป็นกระเบื้องดินเผา” บีชี้ให้เราดู
“เมื่อก่อนขับรถไปซื้อของกันเองที่ด่านเกวียน เพราะช่างเขาจะเหมาแค่ค่าแรง ส่วนเรื่องของเราก็ซื้อกันเอง” เอพูดบ้าง “อะไรไม่ชอบก็ทุบทิ้งทีหลัง ทุบแล้วเห็นเป็นรอยด้านหลังเหมือนกับมีรอยปะของปูน เราก็มองอันนี้ว่า…
“สวยดี” พูดพร้อมกัน

เรามองไปรอบ ๆ พลางคิดว่า 2 คนนี้ชอบแนวดิบ ๆ มาแต่เด็กเลย ดีจังที่แม่ปล่อยให้ทั้งคู่ได้ลงมือปรับปรุงบ้านที่ตัวเองอยู่ ทำให้บ้านนี้ไม่ได้มีแค่ประวัติศาสตร์ยุคบุกเบิกของตายาย แต่เป็นประวัติศาสตร์ของเอ-บีในวัยเยาว์ด้วย
แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน แต่ตัวตนในวันวานของพวกเธอก็ยังปรากฏชัด บนพื้นบ้านและในแววตา
You can sail on a ship by yourself,
Take a nap or a nip by yourself.
You can get into debt on your own,
There’s a lot of things that you can do alone!
But …
Takes two to tango, two to tango
เอกับบีไม่เคยอยู่บ้านหน้าตาเดิม ๆ ได้นาน พอแม่จากไป เธอทั้งสองก็รีโนเวตบ้านครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยทุบฝ้าออกให้สเปซดูสูงโปร่งขึ้น
“เราไปเจอบ้านเอกมัยก็อยากทำแบบเขาบ้าง แต่ไม่แน่ใจว่าบ้านรุ่นเรายังเป็นกระดานไม้อยู่รึเปล่า เลยลองทุบมุมฝั่งหนึ่ง พอเห็นว่าเป็นไม้ก็กะเทาะออกหมดเลย” บีเล่าความหลัง “พอกะเทาะแล้วเจอสายไฟ พี่ก็เก็บไว้อย่างนั้น คิดว่าเป็นร่องรอยของเดิมที่ทำให้รู้ว่าบ้านเคยเป็นยังไงมาก่อน”
นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังนำไม้เก่าจากบ้านริมน้ำที่สุพรรณฯ ของคุณตามาเป็นวัสดุทำประตูและหน้าต่าง บานเฟี้ยม ด้วยการสนับสนุนของเพื่อนวิศวกรในแก๊งที่ส่งช่างมาทำบานให้วันละบานสองบาน กลายเป็นว่าบ้านดูมีคาแรกเตอร์เปลี่ยนไปไม่น้อยในคราวนี้ ซึ่งดูมีเสน่ห์ เพราะเป็นไม้เก่าที่เต็มไปด้วยรอยขีดข่วนบ้าง ถ้อยคำที่คนเก่าเขียนไว้บ้าง บางอันมีสีหลุด ๆ แต่เอ-บีก็มองว่ามันสวยในแบบของมัน

ส่วนฝาผนังนั้นผ่านมาแล้วหลากสี เพราะเอแฝดพี่ชอบหยิบบันไดมาทาสีบ้าน
“กลางคืนเขาไม่นอน เราก็ไม่สนใจแล้วเข้าห้องส่วนตัวไป ตื่นเช้ามาก็เจอเขาทาสีของเขาเสร็จแล้ว” บีแกล้งฟ้อง ก่อนเอจะพูดต่อ “บางยุคเราก็อยากได้แดงอิฐ บางยุคก็ลองวอลล์เปเปอร์มาลองปะในห้องนอนดูฝั่งหนึ่ง ดูว่าเป็นยังไง สนุกดี”
ตอนนี้ทั้งคู่เบื่อสีสัน มาจบที่ไม้และอิฐดิบ ๆ แล้ว
คู่นี้บางทีก็ทำอะไรไม่ปรึกษากัน บางอันเห็นชอบร่วม บางอันไม่เห็นชอบแต่ก็ต้องตามใจอีกฝ่ายเพราะสุดท้ายก็ต้องอยู่ด้วยกันอยู่ดี แฝดจะหนีกันไปไหนพ้น
เอชอบซื้อของใหญ่เข้าบ้าน เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นรสนิยมของเธอ ซึ่งสิ่งพิเศษสำหรับเราก็คือสารพัดตู้ในบ้าน ทั้งตู้ห้องสมุด ตู้อุปกรณ์ ตู้ล็อกเกอร์ ทั้งหมดนี้เธอไม่ได้ปิ๊งไอเดียแล้วไปหาซื้อ แต่เป็นการบังเอิญเจอแล้วซื้อมาทั้งนั้น
ส่วนบีเป็นคนชอบของจุกจิก ยิบย่อย สารพัดสารเพที่กระจายอยู่ทั่วบ้านก็บีซื้อทั้งนั้น ส่วนตัวเราชอบหุ่นหัวคนที่อยู่ตามห้องนอนหรือใต้บันได แม้จะหันไปแล้วตกใจทุกครั้งก็เถอะ


“มีทะเลาะกันบ้าง แต่ไม่มาก” แฝดพี่พูด “ที่นี่ย้ายมุมบ่อยอยู่แล้ว พอของฉันมาเดี๋ยวของเธอก็มา วนไปวนมา”
“ถ้าจะมีอะไรถาวร คือเหตุผลเดียวเลยนะคะ” แฝดน้องพูดต่อ
“หนัก!” จบประโยคอย่างรู้ใจโดยแฝดพี่
You can stare at the moon by yourself,
Take a laugh like a loon by yourself,
Spend a lot, go to pot on your own,
There’s a lot of things that you can do alone!
But listen here…
Takes two to tango, two to tango
การปรับปรุงบ้านครั้งที่ 3 มาในวาระของแบรนด์ It Takes Two to Tango
ตอนแรกบ้านเป็นที่พักผ่อนของทั้งสองเท่านั้น ส่วนแบรนด์มีหน้าร้านจริงจัง แต่ด้วยความไม่ลงตัวของการใช้ชีวิต สุดท้ายหน้าร้านก็เลิกไป แล้วย้ายมาทำงานกันที่บ้านแทน ถึงเวลาออกงานค่อยขนของกันไปเป็นครั้ง ๆ
“เมื่อก่อนมีแค่ห้องโต๊ะเขียนหนังสือเลย ไม่ต้องมีวัสดุอุปกรณ์อะไร แต่พอมาทำงานที่บ้านก็ต้องปรับ” เอกล่าว ไม่ใช่แค่ปรับพื้นที่ในบ้านเท่านั้น สองแฝดที่ไม่เคยทำงานด้วยกันก็ต้องปรับตัวเช่นกัน
นอกจากส่วนนอนที่แยกกันคนละห้องแล้ว ฟังก์ชันอื่น ๆ เป็นห้องที่ไม่มีประตูและมีสเปซต่อเนื่องกันไปทุกห้อง
แทบทุกมุมในบ้านของพวกเธอเต็มไปด้วยร่องรอยอารยธรรมของการทำงาน ทั้งโต๊ะทำงาน ตู้เก็บอุปกรณ์ทำงาน หรือผลงานที่วางไว้บ้าง แขวนไว้บ้าง ทำให้ทั้งคู่ทำงานตรงไหนก็ได้ และไม่มีมุมไหนเป็นของใครอย่างชัดเจน
“บางทีเขานั่งทำอยู่ มันก็เป็นการบอกไปโดยปริยายว่า อันนี้คือที่ของเขานะ” บีว่า
“แล้วก็จะมีมุมกลางที่เอางานมาคุยกัน” เอว่าต่อ ห้องนั่งเล่นที่เรานั่งกันอยู่ก็เป็นอีกจุดที่พวกเธอใช้คุยงานกันตอนเช้า พร้อมดื่มกาแฟร้อน ๆ ไปด้วย เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันไปทำงานคนละจุด

หลายคนเขาต้องแยกที่ทำงานออกจากที่พักผ่อนนะ จะได้รีแลกซ์บ้าง ไม่คิดแบบนั้นกันเหรอ – อดสงสัยไม่ได้
“กลับรู้สึกว่ารวมกันก็เป็นข้อดี เหมือนเราจะทำงานตอนไหนก็ได้”
จะเครียดแทนก็ไม่ถูกนัก เพราะทั้งคู่ดูสนุกสนานกับการทำงานมาก เหมือนงานเป็นทั้งอาชีพ ทั้งงานอดิเรก ทั้งการพักผ่อน ทั้งเรื่องสนุกที่ได้ทำร่วมกัน
It Takes Two to Tango พิเศษตรงวิธีสร้างสรรค์ของ 2 เจ้าของร้าน ซึ่งเริ่มจากการคิดคอนเซปต์ เลือกเพลง เลือกเส้นทางท่องเที่ยว ออกเดินทาง แล้วกลับมาสร้างงานที่ไม่มีใครเหมือน ส่วนใหญ่บีเป็นคนเริ่มวาดภาพ แล้วส่งต่อให้เอลงสีและรายละเอียด แต่บางงานก็สลับตำแหน่งกัน ซึ่งแต่ละงานทั้งคู่ได้ใช้จินตนาการของตัวเองเต็มที่ และไม่ไปก้าวก่ายส่วนของอีกคนเลย
พวกเธอมองว่านี่เป็นการทำงานที่ทั้งสนุก คาดเดาไม่ได้ และเคารพความคิดสร้างสรรค์ของกันและกันไปด้วย (จะว่าไปวิถีการทำงานของเอ-บี ก็เหมือนการแต่งบ้านเหมือนกันนะ)


ส่วนห้องนอนเป็นพื้นที่ส่วนตัว ปิดประตูแล้วเป็นอันรู้ว่า Do Not Disturb หรือ ห้ามรบกวนนะ
ห้องนอนของเอกับบีอยู่เกือบติดกัน มีแค่ห้องน้ำที่ใช้ร่วมกันและห้องที่ดูเหมือน Walk-in Closet กั้นอยู่ ถ้าจะไปมาหาสู่กันก็เดินผ่านตรงนี้ได้
บริเวณห้องนอนและห้องน้ำเต็มไปด้วยภาพนู้ดที่สองแฝดสะสม พวกเธอคิดว่าร่างกายของคนเรานั้นน่าอัศจรรย์ใจ
“แต่ปิดประตูก็ไม่มีผลกับพี่” บีรีบพูด “บางทีเหงาก็อยากเข้าไป เช้า ๆ ชอบใช้วิธีชงกาแฟ ถือของเขาด้วย ถือของเราด้วย แล้วเข้าไปนั่งแปะ เขาคงอยากบอก ไปสักทีสิ”

ตอนนี้บ้านเป็นพื้นที่ของ 2 คน แต่ในอนาคตพวกเธออยากทำบ้านให้เป็นสตูดิโอ เปิดให้ลูกค้ามาเยี่ยมสักเดือนละครั้ง ดูรูปไปพลาง ๆ ก่อน วันหนึ่งคุณอาจได้ไปชมบรรยากาศบ้านของสองแฝดด้วยตาเนื้อ
Two to really get the feeling of romance.
Let’s do the tango, do the tango,
Do the dance of love.
“ ‘เวลาโม้’ ซื้อมาจากตลาดนัด คนขายเขาเรียงตัวอักษรไว้ ผสมเป็นคำ เราก็ไปยืนอ่าน แล้วเขาก็บอกให้ลองแปลงเป็นคำอื่นดู พี่แปลงเสร็จก็หัวเราะ คำมันตลกดี แล้วเขาก็ขายให้เรา 200 – 300” บีผู้ชอบซื้อของจุกจิกเล่าเป็นฉาก ๆ สุดท้ายพวกเธอก็เอา เวลาโม้ มาแปะไว้ที่ห้องโม้
อีกคำที่ได้มาพร้อมกันคือ ‘สองคน’ แปะไว้ที่ห้องทำงานด้านหลัง ซึ่งเอ-บี ถือเป็นอาณาจักรที่ใช้นั่งทำงานร่วมกัน
“ที่คล้ายคำว่า สองคน คือเพลง It Takes Two to Tango หมายถึงสิ่งที่ไม่สามารถเกิดได้ด้วยคนคนเดียว เพราะแทงโก้เต้นคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนมาเต้นด้วย
“การเต้นก็เหมือนการทำงานของเรา อาจจะมีทั้งช้า เนิบ เหวี่ยง มีหัวทิ่ม Half Step Ahead ก็ได้ บางทีก้าวเต็มเท้าไม่ได้ก็แหย่ ๆ ไปก่อน จะถอยหลังมา 2 สเตปก่อนยังได้เลย เป็นได้หมด”


เมื่อก่อนเอ-บีไม่ค่อยชอบมีแฝด ไม่อยากดูเหมือนกับอีกคน แต่พอโตขึ้น ก็เริ่มรู้สึกดีที่มีเพื่อนคอยแชร์ประสบการณ์กันชั่วชีวิต
มีฝาแฝดก็เหมือนมีคนรู้ใจ ซึ่งการรู้ใจกันก็เป็นข้อควรระวัง เพราะเอ-บีมักคิดไปเองว่าอีกคนต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่ในการทำงาน บางทีก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว พวกเธอต้องคอยเรียนรู้กันและกันอยู่ตลอดเวลา
เพลงแทนการทำงานของทั้งคู่คือ It Takes Two to Tango ก็จริง แต่สำหรับบ้านนี้ บีคิดว่าต้องเป็นเพลง Love Will Find a Way ของ Pharoah Sanders ที่ฟังกี่ครั้งก็สบายใจ
“ถ้าเปรียบบ้านเป็นคน น่าจะเหมือนเรา 2 คนที่ไม่สมบูรณ์ แต่ค่อย ๆ เดินทางหาความพอดีให้ตัวเองมาเรื่อย ๆ”

ถามไว ตอบไว
ถามเอ ตอบบี
บอกมุมโปรดของกันและกัน
บี : ของเอมุมห้องนอน
เอ : ของบีมุมแผ่นเสียง
บี : เอถูกไหม บีถูก (หัวเราะ)
เอ : ถูก!
กิจกรรมที่ทำร่วมกันในบ้านแล้วชอบมากที่สุด
บี : ปลูกต้นไม้ค่ะ
เอ : เหมือนกัน (หัวเราะ) ปลูกกับแยก แยกต้นไม้ ใส่ปุ๋ย มันเป็นช่วงคิดเร็วได้เพราะว่าทำอยู่ ชอบไปตัดดอกไม้ชาวบ้านด้วย (หัวเราะ)
เมาท์พฤติกรรมการอยู่บ้านของแฝดอีกคนหน่อย
บี : ชอบตื่นสาย เพราะนอนดึกมาก ไม่ยอมนอน
เอ : ชอบทำงานในห้อง (หัวเราะ)
บี : พี่ชอบหลบไปทำงานในห้อง เขาจะบอกว่ามันอุดอู้ ทำไมไม่ออกมาข้างนอก

บ้านรกเพราะใครมากกว่ากัน
(หยุดคิด)
บี : พี่มากกว่า เป็นคนชอบรื้อเอานู่นเอานี่ออกมา บางทีก็เก็บไม่ครบบ้าง เก็บผิดที่ผิดทางบ้าง
เอ : พี่ว่ารกเพราะขนหมา ร่วงทีวันหนึ่งเก็บได้เป็นกอง
ใครขี้ลืมปิดนู่นปิดนี่มากกว่ากัน
บี : พอกัน
เอ : พอกัน! (หัวเราะ)
บี : มันอันตรายนะคะเวลาลืมถอดปลั๊กไฟ หรือบางทีเปิดพัดลมทั้งวันไม่ได้พักเลย เราก็ทะเลาะกันเพราะสงสารพัดลม
ใครกลัวผีในบ้านมากกว่า
บี : ผีนอกบ้านนี่พี่เลย ไม่อยากไปไหนคนเดียวเพราะกลัวผี แต่ผีในบ้านไม่กลัว รู้สึกคุ้นชิน
เอ : เขาก็คงรู้จักเรา (หัวเราะ)
บี : เพื่อนเคยมาบ้านแล้วเห็นมีคนหน้าคล้าย ๆ พี่ยืนในบ้านด้วย ตัวพี่เองตอนเด็ก ๆ ก็เคยวาดรูปดึก ๆ แล้วเหมือนมีคนมายืนข้างหลัง ขนแขนเราก็สแตนด์อัป เป็นสัญลักษณ์ว่ามีอะไรบางอย่าง แต่ดูเป็นพลังงานดี
เอ : บ้านเราของเก่าเยอะ เตียงก็เตียงเก่า ปกติคนไม่ซื้อเตียงเก่านะ แต่เราซื้อ

คิดว่าวันหนึ่งจะต้องแยกกันอยู่ไหม
บี : คิดค่ะ (ตอบทันที) มันเป็นวัฏจักรเนอะ
เอ : มันแยกโดยธรรมชาติ ไม่ได้คิดว่าแยกกันเพราะใจเราอยากแยก แต่วันหนึ่งก็ต้องมีใคร ‘ก่อน’ ใคร
บี : เคยคิดด้วยว่าแบรนด์จะทำยังไงถ้าขาดใครคนหนึ่งไป
(เงียบไป)
มีอะไรอยากบอกแฝดอีกคนในฐานะเพื่อนร่วมบ้านไหม
บี : ทำไมเป็นคำถามที่ตอบไวไม่ได้ (หัวเราะ)
เอกับบีเป็นตัวอักษรของการเริ่มต้น เราเริ่มต้นมาด้วยกัน ผ่านทุกอย่างมาด้วยกัน และมีความรู้สึกเชื่อมถึงกัน เขาเป็นอีกพาร์ตของเรา แต่ถ้าเกิดวันหนึ่งไม่มีเขา ก็อยากให้เขารู้ว่าเราอยู่ได้
เอ : ความทรงจำของ 2 คนมันอยู่ทั่วบ้าน อันนี้เราทำด้วยกันนะ อันนี้เราทะเลาะกันเรื่องนี้นะ แต่ถ้าไม่มีเขา เราก็ต้องอยู่ให้ได้ ถึงแม้จะรู้สึกว่าขาดอะไรไป เวลาเราถามหาอะไรหรือว่าอยากแบ่งปัน ก็คงจะไม่มีใครให้เราแบ่งปัน แต่ถ้าเราไม่อยู่ ก็อยากให้เขาคิดถึงเราอยู่ในใจ
