“Istana Woodneuk”

น้ำเสียงของผมที่เมื่อครู่ยังหนักแน่นด้วยความมั่นใจ แปรเปลี่ยนเป็นแตกพร่า เมื่อบรรดาเจ้าหน้าที่สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ผู้ยืนรายล้อมต่างพากันทำหน้างงกับชื่อสถานที่แห่งนั้น ทั้งที่พิกัดของมันอยู่ถัดจากหน้าประตูสวนพฤกษศาสตร์ที่พวกเรายืนอยู่แค่ไม่กี่อึดใจเดิน

“ผมต้องการไปที่นั่น… Istana Woodneuk” คนไทยหนึ่งเดียวในกลุ่มกล่าวย้ำ หากคนท้องถิ่นทุกคนยังนิ่งงัน บ้างส่งสายตาฉงนหากันคล้ายจะขอคำตอบ

หน้าจอโทรศัพท์ฉายภาพแผนที่กูเกิลในมือผมถูกส่งต่อไปยังฝ่ามืออูมใหญ่ของภารโรงเชื้อสายอินเดีย หลังสอบถามจากภารโรงเชื้อสายจีนแล้วไม่ได้ความ แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ผมได้พบเพียงความไม่รู้บนใบหน้าผู้ให้คำตอบ มิไยที่ตัวเขาจะซูมดูสถานที่ซึ่งผมถามหาให้ชัดแล้วก็ตาม

ตามหา Istana Woodneuk วังร้างสุดหลอนกลางป่าสิงคโปร์ที่แม้แต่คนแถวนั้นก็ยังไม่เคยเห็น

“ผมไม่เคยเห็นที่นี่เลย” เจ้าหน้าที่คนนั้นสารภาพ

“คุณแน่ใจจริงหรือว่ามันอยู่แถวนี้” เพื่อนร่วมงานของเขาถามแทรก

“ในแผนที่เหมือนจะอยู่ใกล้ตรงนี้นิดเดียว แต่ทำไมผมไม่ยักเคยไปที่นั่นมาก่อน” อีกคนซักต่อ “บอกผมหน่อยได้มั้ยว่าวังร้างที่คุณจะไปนี่มันมีอะไรพิเศษหรือ คุณถึงจะต้องไปตามหามัน”

“มันเคยเป็นวังของเจ้านายชาวมลายูและผู้ดีชาวตะวันตก ก่อนจะถูกทิ้งร้างไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ตั้งแต่เจ้าของเสียชีวิต…” วงสนทนาเงียบงันทันทีที่ผมเอ่ยจนจบประโยค ชวนให้ผมตั้งคำถามกับตัวเองเป็นครั้งแรกว่า นั่นคือ ‘สถานที่ท่องเที่ยว’ ที่ผมควรไปเยือนจริงหรือ

ตามหา Istana Woodneuk วังร้างสุดหลอนกลางป่าสิงคโปร์ที่แม้แต่คนแถวนั้นก็ยังไม่เคยเห็น

1 เดือนที่แล้ว ชื่อของ ‘Istana Woodneuk (อิสตานา วูดนึก)’ เข้ามาอยู่ในความทรงจำของผมเป็นครั้งแรก เมื่อพี่ที่ออฟฟิศท่านหนึ่งเสนอให้ผมหาวันมาชมวังร้างแห่งนี้ หลังจากได้ทราบข่าวว่าผมกำลังจะมาประเทศสิงคโปร์เป็นเวลาเกือบสัปดาห์เต็ม และไม่เหลือที่เที่ยวให้ไปมากนัก

เพียงได้เห็นคำว่า ‘อิสตานา’ อันแปลว่า วัง ในภาษามลายู ใจผมก็เต้นเป็นรัวกลองด้วยความอยากรู้อยากเห็น เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศเกิดใหม่ที่ไม่เคยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ แต่กลับมีวังเก่าแก่ที่ถูกทอดทิ้งมานานหลายทศวรรษจนมีสภาพไม่ต่างจากบ้านผีสิงกลางป่า

จากการค้นคว้าข้อมูลในโลกออนไลน์ ผมได้รับเบาะแสเพียงพอที่จะสรุปได้ว่า อิสตานา วูดนึก เป็นคฤหาสน์ 2 ชั้น ตั้งอยู่ในสวนไทเยอร์ซอลล์ (Tyersall Park) สร้างขึ้นครั้งแรกช่วงกลางทศวรรษ 1800 เพื่อเป็นบ้านพักของนักธุรกิจชาวอังกฤษชื่อ กัปตัน จอห์น ดิลล์ รอสส์ (Captain John Dill Ross)

ตามหา Istana Woodneuk วังร้างสุดหลอนกลางป่าสิงคโปร์ที่แม้แต่คนแถวนั้นก็ยังไม่เคยเห็น
ภาพเก่าลงสี อิสตานา วูดนึก
ภาพ : State of Buildings

ครั้นแล้วในปี 1860 ที่ดินรวมทั้งคฤหาสน์ของกัปตันรอสส์ก็ถูกขายให้กับเจ้าของใหม่ คือ สุลต่านอบูบักร์แห่งยะโฮร์ (Sultan Abu Bakar of Johor) ขณะยังทรงเป็นเพียงบุตรชายเสนาบดีกลาโหมแห่งรัฐยะโฮร์ และมีความสัมพันธ์อันดีกับชาวอังกฤษ เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านแห่งยะโฮร์ คฤหาสน์ที่พระองค์ทรงครอบครองจึงยกสถานะขึ้นเป็น อิสตานา (วัง) จากที่เคยเรียก Woodneuk House ที่นี่ก็ได้ชื่อใหม่ว่า Istana Woodneuk มาตั้งแต่นั้น

ก่อนจะเสด็จสวรรคตในปี 1895 สุลต่านอบูบักร์ทรงทำพินัยกรรมมอบวังแห่งนี้ให้พระมเหสีลำดับที่ 4 คือ สุลตานา คอดีญะฮ์ (Sultana Khadijah) ซึ่งพระนางประทับอยู่ที่นี่จวบจนวาระสุดท้ายในอีก 9 ปีให้หลัง วังแห่งนี้จึงเป็นที่มรดกตกทอดสู่ สุลต่านอิบรอฮีมแห่งยะโฮร์ (Sultan Ibrahim of Johor) พระราชโอรสและรัชทายาทของสุลต่านอบูบักร์ผู้ล่วงลับ

สุลต่านพระองค์ใหม่ทรงเป็นผู้คลั่งไคล้วัฒนธรรมอังกฤษมาก พระองค์ไม่เพียงส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหราชอาณาจักรและสนับสนุนให้ยะโฮร์เป็นเมืองขึ้นอังกฤษต่อไปเท่านั้น หากยังทรงมีพระมเหสีเป็นแหม่มชาวสกอต ในรัชสมัยของอิบรอฮีมนี่เองที่มีการทุบอิสตานา วูดนึก หลังเดิม และสร้างขึ้นใหม่ในวาระที่พระองค์ครองราชย์เป็นประมุขแห่งยะโฮร์มาครบ 40 ปีเต็ม และว่ากันว่าพระองค์ตั้งพระทัยมอบวังหลังใหม่ให้เป็นของขวัญแด่พระมเหสีชาวต่างชาติของพระองค์

ตามหา Istana Woodneuk วังร้างสุดหลอนกลางป่าสิงคโปร์ที่แม้แต่คนแถวนั้นก็ยังไม่เคยเห็น

อิสตานา วูดนึก คงไม่มีกิตติศัพท์ด้านสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ถ้าหากว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ขยายวงรบมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 1942 ที่ญี่ปุ่นเปิดฉากโจมตีสิงคโปร์ของอังกฤษจนเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ สุลต่านและเชื้อพระวงศ์ยะโฮร์ต่างทอดทิ้งวังแห่งนี้ พร้อมทั้งมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นฐานทัพทหารฝ่ายอังกฤษ ตามด้วยโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยและผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ

เล่าลือกันว่าในระหว่างการทิ้งระเบิดปูพรมของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งลือชื่อในเรื่องความโหดเหี้ยมไร้ซึ่งปรานี ระเบิดลูกหนึ่งพลัดตกลงมาในบริเวณอิสตานา วูดนึก เป็นเหตุให้ผู้คนกว่า 700 ชีวิตต้องสังเวยเลือดเนื้อในยุคสมัยที่เลวร้ายที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์สิงคโปร์ และมอบตำนานขนหัวลุกให้กับวังเก่าของราชวงศ์ยะโฮร์สืบมาจนปัจจุบัน

ตามหา Istana Woodneuk วังร้างสุดหลอนกลางป่าสิงคโปร์ที่แม้แต่คนแถวนั้นก็ยังไม่เคยเห็น

การเดินทางค้นหาอิสตานา วูดนึก ของผม ตั้งต้นที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสาย Thomson-East Coast Line สีน้ำตาล โดยสถานีที่ใกล้กับวังร้างแห่งนี้มากที่สุดคือสถานี Napier ที่ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ วิลเลียม แนเพียร์ (William Napier) อดีตทนายความและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชาวสกอต ผู้เคยปลูกคฤหาสน์ของตนอยู่ติดกับอิสตานา วูดนึก สมัยที่ยังเป็นคฤหาสน์ของกัปตันรอสส์

เดินตรงมาตามถนนแนเพียร์ (Napier Road) เรื่อย ๆ จะผ่านหน้าสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ที่ได้รับรางวัลสวนพฤกษศาสตร์ดีเด่นระดับโลก ก่อนเลี้ยวเข้าถนนไทเยอร์ซอลล์ (Tyersall Ave) ซึ่งจะได้พบกับสวนชื่อเดียวกันที่ทุกวันนี้ไม่มีเค้าความงามของนิวาสสถานผู้ดีอังกฤษในวันวานเลยแม้แต่น้อย

เพราะหลังจากสงครามโลกยุติลงในปี 1945 สิงคโปร์กับมาเลเซียยังเป็นอาณานิคมในปกครองของจักรวรรดิอังกฤษร่วมกันอยู่ ทว่าเมื่อสิงคโปร์ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อปี 1965 รัฐสุลต่านยะโฮร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย สวนไทเยอร์ซอลล์อันเป็นที่ตั้งของ ‘อิสตานา วูดนึก’ จึงถูกแยกอยู่คนละแผ่นดินกับเชื้อพระวงศ์รัฐยะโฮร์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์พื้นที่

ตามหา Istana Woodneuk วังร้างสุดหลอนกลางป่าสิงคโปร์ที่แม้แต่คนแถวนั้นก็ยังไม่เคยเห็น

ตั้งแต่ปี 1990 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มทยอยซื้อที่สวนไทเยอร์ซอลล์จากสุลต่านยะโฮร์เพื่อขยายพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ทีละส่วน ในปี 2009 อิสตานา ไทเยอร์ซอลล์ (Istana Tyersall) วังคู่แฝดที่อยู่ติดกับอิสตานา วูดนึก ได้ถูกรื้อถอนไปเพื่อเพิ่มพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ ส่วนอิสตานา วูดนึก ที่ยังคงยืนหยัดท้ากาลเวลาอยู่ ก็ถูกปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นปกคลุม จนเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสวนพฤกษศาสตร์ยังไม่เคยได้เห็นมัน

เพื่อสำรวจวังร้างที่ถูกลืมแห่งนี้ นักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติจึงปักหมุดบอกตำแหน่งที่ตั้งของมันไว้ในกูเกิล และคงมีใครสักคนในกลุ่มนั้นที่จัดการกรุยทางเข้าออกเอาไว้เสร็จสรรพ เป็นทางเดินขึ้นเนินดินที่ทั้งมืดทั้งแคบ หากไม่ปรากฏเส้นทางนี้ในแผนที่กูเกิล เชื่อเหลือเกินว่าต่อให้มีเวลาทั้งวันผมก็คงไม่มีทางจะหามันพบ

ตามหา Istana Woodneuk วังร้างสุดหลอนกลางป่าสิงคโปร์ที่แม้แต่คนแถวนั้นก็ยังไม่เคยเห็น
ตามหา Istana Woodneuk วังร้างสุดหลอนกลางป่าสิงคโปร์ที่แม้แต่คนแถวนั้นก็ยังไม่เคยเห็น

มุ่งเข้าไปในป่าที่ทั้งลึกทั้งชัน สิ่งที่อยู่รอบด้านเพิ่มความสะพรึงกลัวให้ผมจนขาสั่น เข่าอ่อน ไม่ว่าจะเป็นต้นกล้วยที่ยืนต้นตาย กิ่งไม้ที่เกี่ยวพันตามทาง ใยแมงมุมซึ่งเหยื่อแมลงผู้เคราะห์ร้ายถูกผูกติดรอเวลาตกเป็นอาหาร เสียงสัตว์ป่ากู่ร้องหากัน ไปจนกระทั่งสิ่งมีชีวิตปริศนาที่วิ่งปรูดใต้พงหญ้า

ทั้งที่เพิ่งสาย แต่ฟ้ากลับเริ่มมืด เมฆฝนบดบังแสงอาทิตย์ มิช้าก็กลั่นตัวลงมาเป็นเม็ดฝน เหมือนมาเร่งรัดการตัดสินใจของผมระหว่างไปต่อกับเดินกลับ ผมตั้งท่าจะถอยหลังเมื่อบรรยากาศรอบตัวเริ่มไม่น่าไว้วางใจ แต่แล้วก็ต้องกลับความคิดกะทันหัน เมื่อหางตาเหลือบไปเห็นซากตึกหลังหนึ่งซ่อนตัวอยู่หลังต้นไม้นานาพันธุ์ที่เริ่มชอนไชเข้าไปในสิ่งปลูกสร้าง

ตำแหน่ง Istana Woodneuk ในแผนที่ทาบซ้อนกับอาคารที่อยู่เบื้องหน้า

ตามหา Istana Woodneuk วังร้างสุดหลอนกลางป่าสิงคโปร์ที่แม้แต่คนแถวนั้นก็ยังไม่เคยเห็น
ตามหา Istana Woodneuk วังร้างสุดหลอนกลางป่าสิงคโปร์ที่แม้แต่คนแถวนั้นก็ยังไม่เคยเห็น

หลายสิบปีที่ถูกทิ้งขว้างเปลี่ยนวังของสุลต่านอิบรอฮีมเป็นคนละที่ ณ วันนี้ สถานที่นี้แทบไม่เหลืออะไรที่ช่วยยืนยันความงดงามเมื่อครั้งยังรุ่งโรจน์ ตัวตึกเก่าและผุพังอย่างขาดการดูแลเอาใจใส่ สีสันที่เคยทาต่างหลุดลอก ประตูหน้าต่างพังทลาย เศษไม้หล่นเกลื่อน ซ้ำร้ายที่สุดคือผนังกำแพงทุกจุดตกเป็นเป้าให้กับพวกมือบอนซึ่งพกขวดสเปรย์เข้าไปพ่นเป็นรูปภาพและข้อความประกาศศักดาของตนเอง

แต่หากสายตาเลือกกรองมองเห็นเฉพาะส่วนที่ดี ก็จะได้เห็นร่องรอยความประณีตของผู้สร้างอาคารหลังนี้ ทั้งบริเวณช่องลมช่องแสงที่สลักลายเถาอย่างอ่อนช้อย ระเบียงเหล็กดัดซึ่งมีลวดลายพลิ้วไหวดุจวาดมือ ไม่เว้นแม้กระทั่งบันไดโถงใหญ่ที่ในอดีตคงจะโอ่อ่าน่าชมไม่เบา

ตามหา Istana Woodneuk วังร้างสุดหลอนกลางป่าสิงคโปร์ที่แม้แต่คนแถวนั้นก็ยังไม่เคยเห็น
ตามหา Istana Woodneuk วังร้างสุดหลอนกลางป่าสิงคโปร์ที่แม้แต่คนแถวนั้นก็ยังไม่เคยเห็น

บางครั้งที่เท้าของผมย่างเหยียบไป ก็จะได้สัมผัสกับเศษโลหะสีน้ำเงินที่เปล่งประกายแวววาว สิ่งเหล่านี้คือกระเบื้องมุงหลังคาที่เชื้อพระวงศ์ยะโฮร์จงใจนำมาปูให้กับอิสตานา วูดนึก เพื่อให้แตกต่างกับหลังคาสีแดงของอิสตานา ไทเยอร์ซอลล์ ที่ถอนทำลายไปแล้ว แต่เพราะเหตุเพลิงไหม้ในปี 2006 ชั้นหลังคาของวังนี้จึงถล่มลงมา ทิ้งเศษกระเบื้องสีน้ำเงินโรยรายอยู่ตามพื้นด้านล่าง

‘Istana Woodneuk’ วังเก่าที่ถูกลืมของสุลต่านแห่งยะโฮร์ กับตำนานความเฮี้ยนที่ซ่อนตัวอยู่ใกล้สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์

เสียงสิงสาราสัตว์ยังร้องระงมตลอดเวลาทุกนาทีที่ผมเดินตรวจตราตัวอาคาร บางครั้งมันดังและกระชั้นจนน่าพิศวง โดยเฉพาะเมื่อตอนที่ผมหันไปเห็นสัญลักษณ์ซาตานและตัวเลข 666 เข้าโดยบังเอิญ แม้ใจจะพร่ำบอกตัวเองว่าคงเป็นมรดกตกทอดจากพวกมือดีที่สนุกกับการได้ข่มขวัญผู้อื่น แต่จากข้อมูลที่เคยอ่านเจอในเว็บไซต์ฝรั่ง ระบุว่ามีพวกนิยมลัทธิบูชาซาตานใช้สถานที่นี้ในการทำพิธีลึกลับของพวกเขา ก็ทำให้ผมเริ่มหวั่นใจที่จะอยู่ข้างในต่อ

‘Istana Woodneuk’ วังเก่าที่ถูกลืมของสุลต่านแห่งยะโฮร์ กับตำนานความเฮี้ยนที่ซ่อนตัวอยู่ใกล้สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์

หลังกลับออกมาจากวังร้างสุดหลอนแห่งนี้ ผมถึงได้ทราบว่าที่นี่คือแรงบันดาลใจให้กับนวนิยายเรื่อง Crazy Rich Asians ซึ่งได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันเมื่อหลายปีก่อน เควิน ควาน (Kevin Kwan) ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ออกมายอมรับว่าตนได้ใช้วังเก่าของราชวงศ์ยะโฮร์เป็นแบบให้กับบ้านบรรพบุรุษฝั่งตระกูลพระเอก

‘Istana Woodneuk’ วังเก่าที่ถูกลืมของสุลต่านแห่งยะโฮร์ กับตำนานความเฮี้ยนที่ซ่อนตัวอยู่ใกล้สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์

ใครที่คิดอยากไปเยี่ยมชมอิสตานา วูดนึก ก็เดินทางไปได้ด้วยเส้นทางเดียวกับผม แต่ขอแนะนำให้ไปเป็นหมู่คณะหรือมากกว่า 1 คน ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้ามิดชิด ปกปิดร่างกายจากแมลงหรือกิ่งไม้ที่อาจเป็นอันตรายต่อเนื้อตัวได้ และอย่าได้คิดไปที่นี่ในตอนกลางคืนโดยเด็ดขาด เพราะรอบด้านไม่มีไฟฟ้าอยู่เลย เมื่อพระอาทิตย์ตกดินแล้ว สัตว์ป่าจะออกหากินเพ่นพ่าน หากเกิดเหตุร้ายกับตัวเองขึ้นมา ก็ยากที่จะมีใครยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือได้

แม้แต่ตัวผมที่ลุยเดี่ยวเข้าไปในนั้นตอนกลางวันแสก ๆ ตราบจนวินาทีที่เล่าเรื่องมาจะถึงย่อหน้าสุดท้าย ผมก็ยังถามตัวเองเป็นรอบที่ 100 ว่า

“นี่เรารอดกลับมาจาก ‘สถานที่ท่องเที่ยว’ แห่งนี้ได้อย่างไร!”

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย