จะคนจีน คนไทย หรือคนชาติไหน ๆ เมื่อพูดถึงศาสนาที่ชาวกรุงปักกิ่งนับถือ คงไม่มีใครนึกถึงอิสลามเป็นลำดับแรก เพราะขึ้นชื่อว่าอยู่เมืองจีน ผู้คนก็น่าจะนับถือศาสนาแบบจีนซึ่งผสมผสานกันระหว่างพุทธศาสนา เต๋า และขงจื๊อเป็นหลัก รองลงมาก็คือศาสนาคริสต์ มีคนนับถือศาสนาอิสลามที่เรียกว่า ‘มุสลิม’ เพียงน้อยนิดจนคนจำนวนมากไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขา

นอกจากสถานะเมืองหลวงของจีนที่เรารู้จักกันดี กรุงปักกิ่งยังครองตำแหน่งเมืองหลวงที่มีประชากรมากที่สุดในโลกด้วยตัวเลขที่สูงถึง 21 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวมีผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่แค่ 2 แสนกว่าคนเท่านั้น

ชาวมุสลิมร่วมกันละหมาดในมัสยิดเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา
ภาพ : Li Hao / GT

แม้เป็นชนกลุ่มน้อยท่ามกลางสังคมคนต่างศาสนา แต่ชาวมุสลิมในปักกิ่งก็ยังรักษาอัตลักษณ์ของพวกตนไว้ได้อย่างแน่นเหนียวตลอด 700 กว่าปีที่ล่วงมา ผ่านการปกครอง 3 ราชวงศ์ 2 การปฏิวัติ โดยที่พวกเขามีส่วนร่วมในการสร้างชาติและพัฒนาเมืองหลวงแห่งนี้อยู่บ่อยครั้ง เป็นที่โปรดปรานขององค์จักรพรรดิจีนในหลาย ๆ รัชกาล หลายคนได้รับพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ขั้นสูง แม้แต่โครงสร้างผังเมืองปักกิ่งก็ยังถือกำเนิดขึ้นจากมันสมองของสถาปนิกชาวมุสลิมคนหนึ่ง

ด้วยความรักความสนใจที่มีให้กับวัฒนธรรมชาวจีนมุสลิมมานานหลายปี ผู้เขียนตัดสินใจไปเยือนชุมชน ‘ชาวหุย’ ในกรุงปักกิ่งหลายแห่ง พร้อมเก็บภาพและเรื่องราวของพวกเขามาเล่าสู่กันฟัง

ทางเข้ามัสยิดฮัวซื่อ (Huashi Mosque)

เมืองหลวงที่ออกแบบโดยมุสลิม

ปักกิ่ง หรือ เป่ย์จิง (Beijing) ตามคำเรียกในสำเนียงจีนกลาง ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของจีน เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากการขุดพบกะโหลกมนุษย์โบราณอายุราว 250,000 ปีที่ถ้ำโจวโข่วเตี้ยนทางตอนใต้ของเมือง ปัจจุบันโครงกระดูกมนุษย์โบราณนั้นเป็นที่รู้จักในชื่อ มนุษย์ปักกิ่ง (Peking Man)

ช่วง 2,500 ถึง 800 ปีก่อน เมืองศูนย์กลางอำนาจของจีนมักกระจุกอยู่บริเวณที่ราบภาคกลางเรื่อยไปจนถึงลุ่มแม่น้ำเหลือง (หวงเหอ) และแม่น้ำแยงซีเกียง (ฉางเจียง) เป็นหลัก ส่งผลให้ปักกิ่งที่อยู่ค่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือมักอยู่นอกเขตการปกครองของชาวฮั่น (จีน) แต่ปักกิ่งก็ไม่ใช่ดินแดนไกลปืนเที่ยงเสียทีเดียว เพราะชนเผ่าหรือคนกลุ่มอื่นที่สถาปนาอำนาจขึ้นบริเวณภาคเหนือของจีน มักเลือกใช้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงหรือเมืองศูนย์กลางการปกครองของพวกเขาเช่นกัน อาทิ รัฐจี้ (Ji State) ที่ก่อตัวขึ้นเมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว ได้เลือกสร้างกำแพงล้อมเมืองโบราณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองปักกิ่งปัจจุบัน เรียกว่า จี้เฉิง (Jicheng) หมายถึง เมืองในกำแพงของรัฐจี้

กุบไลข่าน หรือ จักรพรรดิหยวนซื่อจู่ ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวน

ส่วนสาเหตุที่ปักกิ่งกลายเป็นเมืองหลวงและเมืองสำคัญอันดับ 1 ของจีนได้นั้น ต้องย้อนไปสมัย กุบไลข่าน จักรพรรดิชาวมองโกลที่ทรงตั้งเป้าหมายจะยึดครองเมืองจีนซึ่งขณะนั้นอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์ซ่งให้ได้ เพื่อเอาชนะใจราษฎรชาวฮั่นผู้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของแผ่นดินจีน พระองค์จำต้องละทิ้งภาพลักษณ์ความเป็นหัวหน้าชนเผ่ามองโกลที่ป่าเถื่อน และปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิอย่างจีน เพื่อสร้างพระราชสถานะให้ดูมี ‘อารยะ’ ตามแบบจีน หนึ่งในพระราโชบายของพระองค์คือการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ เรียกว่า ข่านบาลิก (Khanbaliq) หรือ ต้าตู (Dadu) ที่ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ปักกิ่ง’ ในการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ สถาปนิกหลวง หลิว ปิ่งจง ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยสถาปนิกอีกหลายคน หนึ่งในนั้นคือ อมีรุดดีน (Amir al-Din) ซึ่งเป็นชาวมุสลิม

จิตรกรรมพระราชวังกรุงต้าตูหรือข่านบาลิก เมืองหลวงสมัยราชวงศ์หยวน

อมีรุดดีนที่คนจีนเรียกเพี้ยนเป็น เหย่เฮยเตี๋ยเอ๋อร์ติง (也黑迭兒丁) ผู้นี้มีพื้นเพมาจากคาบสมุทรอาหรับ เขาได้ศึกษาสถาปัตยกรรมของชาวฮั่น และได้ช่วยหลิว ปิ่งจง วางผังจนได้รับเลือกเป็นหัวหน้างานคุมการก่อสร้างทั้งหมด ถึงผังเมืองจะวางบนตำราขงจื๊อที่ใช้สร้างเมืองในจีนทั่วไป แต่อมีรุดดีนก็ได้ผสมผสานเทคนิคและแนวคิดการสร้างเมืองในโลกมุสลิมเข้าไปด้วย รากฐานของเมืองนั้นได้พัฒนาเป็นเมืองปักกิ่งยุคนี้ จึงกล่าวได้ว่ากรุงปักกิ่งได้รับการออกแบบและวางผังโดยสถาปนิกชาวมุสลิมคนหนึ่ง

ความเป็นมาของมุสลิมในปักกิ่ง

จีนกับตะวันออกกลางมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาช้านาน อย่างน้อยก็ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ก่อนที่ ท่านศาสดามุฮัมมัด จะประสูติหลายศตวรรษ ชาวมุสลิมจึงรู้จักดินแดนจีนและเริ่มดั้นด้นเดินทางไปเยือนจีนตั้งแต่อิสลามถือกำเนิดในศตวรรษที่ 7 การค้าคือแรงจูงใจที่สำคัญชักนำให้ผู้คนจากโลกมุสลิม เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง ยอมฝ่าฟันภยันตรายไปถึงจีน โดยพวกเปอร์เซียและเติร์กนิยมเดินทางไปจีนทางบก โดยอาศัยกองคาราวานผ่านเข้ามาตามเส้นทางสายไหม ในขณะที่พวกอาหรับและเปอร์เซียบางส่วนเลือกจะล่องเรืออ้อมทะเลจีนใต้มาขึ้นฝั่งทางเมืองท่าอย่างกว่างโจวและเฉวียนโจว

มุสลิมเริ่มตั้งถิ่นฐานในปักกิ่งจำนวนมากสมัยราชวงศ์หยวน เมื่อกุบไลข่านมีรับสั่งให้สร้างนครต้าตูและย้ายราชสำนักมาที่เมืองนี้ เนื่องจากชาวมุสลิมส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าที่ร่ำรวยด้วยสินค้าราคาแพงจากต่างแดน จ่ายภาษีเข้าท้องพระคลังมหาศาล อีกทั้งบางส่วนยังเป็นข้าราชบริพารเดิมของกุบไลข่านตั้งแต่พระองค์ยังทำสงครามพิชิตดินแดนจีนอยู่ กุบไลข่านจึงโปรดชาวมุสลิมมาก ถึงกับทรงจัดระบบชนชั้นในสังคมใหม่ให้ชาวมุสลิมมีสถานะสูงกว่าชาวฮั่น รวมถึงพระราชทานตำแหน่งใหญ่โตในราชสำนักให้กับมุสลิมหลายคน เป็นเสนาบดี แพทย์หลวง นักดาราศาสตร์หลวง และอื่น ๆ อีกหลายตำแหน่ง และยังทรงงดเว้นการเก็บภาษีให้ ชาวมุสลิมหลายคนจึงเลือกที่จะอาศัยอยู่ในปักกิ่งรวมถึงเมืองอื่น ๆ ในจีนเป็นการถาวร

จิตรกรรมกุบไลข่านเสด็จออกล่าสัตว์ รอบ ๆ พระองค์แวดล้อมไปด้วยขุนนางซึ่งบางคนเป็นชาวมุสลิม

เมื่อราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลถูกโค่นล้มด้วยน้ำมือของราชวงศ์หมิงซึ่งเป็นชาวจีนแท้ ๆ บทบาทและอำนาจในสังคมของมุสลิมที่เป็นคนส่วนน้อยในสังคมก็พลอยลดลง และกลับไปยิ่งใหญ่อย่างที่เคยเป็นอีกไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้น ฮ่องเต้ในราชวงศ์ต่อมาหลายพระองค์ก็ยังโปรดชาวมุสลิม ไว้วางพระทัยให้มุสลิมรับราชการสนองพระเดชพระคุณเรื่อยมา อาทิ จักรพรรดิหมิงไท่จู่ (หงอู่) ที่ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีสรรเสริญศาสนาอิสลามด้วยพระองค์เอง หรือ จักรพรรดิหมิงอู่จง (เจิ้งเต๋อ) ผู้โปรดวัฒนธรรมมุสลิมทุกด้าน โดยรับสั่งให้ทำเครื่องลายครามจารึกอักษรอาหรับไว้หลายชิ้น

เครื่องลายครามสมัยจักรพรรดิหมิงอู่จง

สมัยหมิงนี้เองที่ตัวตนของมุสลิมในจีน โดยเฉพาะในปักกิ่งที่อยู่ใกล้ราชสำนักเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด เพราะแต่เดิมนั้นชาวมุสลิมส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในจีนเป็นชาวอาหรับ เปอร์เซีย หรือเติร์ก ที่ยังรักษาวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ทั้งด้านภาษาและการแต่งกาย นิยมสมรสกันเองในกลุ่มคนเชื้อชาติเดียวกัน จนกระทั่งราชสำนักหมิงประกาศนโยบายลดอิทธิพลต่างชาติเพื่อสร้างความเป็นจีน (Sinicization) ทำให้มุสลิมต่างชาติเหล่านี้ต้องหันมาใช้ชื่อแซ่แบบชาวจีน พูดภาษาจีน สวมใส่เสื้อผ้าเหมือนชาวจีน รวมทั้งสมรสกับสตรีจีนตามอุดมคติของภาครัฐที่ปรารถนาจะให้คนทุกชนชาติยอมรับความสูงส่งของวัฒนธรรมจีน อิทธิพลความเป็นต่างชาติจึงค่อย ๆ เลือนหายไป และถูกแทนที่ด้วยอัตลักษณ์ใหม่ของการเป็น ‘จีนมุสลิม’ ที่มีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างจีนกับมุสลิม

ต่อมาในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีนราวทศวรรษ 1950 ที่รัฐเร่งทำสำมะโนประชากร และจำแนกประชาชนจีนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 56 กลุ่ม รัฐบาลจีนได้นิยามชาวจีนมุสลิมพวกนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หุย (Hui People) ตั้งแต่นั้นมา คำว่า ‘ชาวหุย’ จึงมีความหมายว่ามุสลิมที่พูดภาษาจีนเป็นภาษาแม่ เพื่อไม่ให้สับสนกับชาติพันธุ์อื่นที่นับถืออิสลามเหมือนกัน แต่มีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะตัวของเผ่าตนเองอย่างชาวอุยกูร์ ชาวคาซัค ชาวทาจิก และชาวคีร์กีซ เป็นต้น

กลุ่มชายชาวหุย
ภาพ : Alamy Stock Photo

มัสยิดในปักกิ่ง

กรุงปักกิ่งมีมัสยิดมากกว่า 70 แห่ง ซึ่งลักษณะเด่นที่ช่วยให้มัสยิดในเมืองหลวงแห่งนี้ดูโดดเด่นจากมัสยิดในเมืองอื่น ๆ ของจีนคือการที่มัสยิดส่วนใหญ่ยังเก็บรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนเอาไว้ได้ดี แม้จะผ่านกาลเวลามานานนับร้อยปีตั้งแต่เริ่มสร้าง ไม่ว่าจะเป็น มัสยิดหนิวเจีย (Niujie Mosque) มัสยิดตงซื่อ (Dongsi Mosque) มัสยิดหม่าเตี้ยน (Madian Mosque) หรือ มัสยิดฮัวซื่อ (Huashi Mosque)

ทางเข้ามัสยิดหนิวเจีย
ภาพ : Tripadvisor

ทั้งหมดสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมจีนประเพณี มีรูปทรงหลังคา กระเบื้อง ขื่อคาน บานประตู และลวดลายจิตรกรรมแบบจีนทุกกระเบียดนิ้ว วางผังอย่างเรือนหมู่แบบจีนที่มีลานกว้างตรงกลาง ทำให้ดูเผิน ๆ เหมือนศาลเจ้าหรือวัดจีน ทว่าในความเหมือนก็ถูกทำให้ต่างออกไปด้วยลายอักษรวิจิตร หรือ ‘ค็อต’ ภาษาอาหรับที่ได้รับการสลักเสลาอย่างวิจิตรพิสดารตามจุดต่าง ๆ

ในบรรดามัสยิดทั่วทั้งปักกิ่ง ไม่มีมัสยิดใดที่จะเลื่องชื่อไปกว่ามัสยิดหนิวเจียที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองได้ ชาวหุยเชื่อกันว่ามัสยิดนี้สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 996 ในสมัยราชวงศ์เหลียว โดยขุนนางชาวอาหรับในราชสำนักชื่อ นัสรุดดีน ก่อนได้รับการปฏิสังขรณ์ต่อเติมเรื่อยมาอีกหลายครั้ง ตัวอาคารปัจจุบันสร้างขึ้นสมัยราชวงศ์หมิงและขยายเนื้อที่ให้กว้างขวางกว่าเดิม มัสยิดนี้ได้รับการประกาศให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติโดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1988

ห้องละหมาดมัสยิดหนิวเจีย
ภาพ : Munzir Rosdi / Shutterstock

เมื่อครั้งที่จีนยังปกครองด้วยระบอบจักรพรรดิ ฮ่องเต้บางพระองค์ เช่น จักรพรรดิหงอู่แห่งราชวงศ์หมิงเคยพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างมัสยิด จักรพรรดิคังซี แห่งราชวงศ์ชิงเคยมีพระบรมราชโองการคุ้มครองศาสนสถานและสวัสดิภาพในชีวิตชาวมุสลิมให้ประดับไว้ตามลานกว้างของมัสยิดต่าง ๆ อิหม่ามหรือผู้นำละหมาดในมัสยิดสำคัญของปักกิ่งยังได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนางราชสำนัก

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางตัวอย่างที่บ่งชัดว่าจักรพรรดิจีนในอดีตทรงทำนุบำรุงศาสนาอิสลามไม่น้อยเลย แม้พระองค์จะนับถือศาสนาอื่นก็ตาม

ชุมชนชาวหุย

ผลการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปี 2010 ระบุว่ากรุงปักกิ่งมีชาวหุยอาศัยอยู่ 249,223 คน ถ้าไม่นับชาวฮั่นที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่สุดในจีน มีจำนวนมากกว่าชาติพันธุ์อื่นจนเทียบไม่ติดอยู่แล้ว ประชากรหุยในเมืองหลวงเป็นรองก็แค่ชาวแมนจู (Manchu People) กลุ่มเดียว

จริงอยู่ที่ปักกิ่งอาจมีชาวมุสลิมที่เป็นชนชาติอื่นปนอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นชาวอุยกูร์ ชาวคาซัค ไปจนถึงชาวต่างชาติที่นับถืออิสลาม แต่ส่วนมากก็มาเพื่อทำงานหรืออยู่เพียงชั่วครู่ชั่วคราว ไม่ได้อยู่ยืนยาวจนเป็นประชากรถาวรของเมืองนี้เหมือนกับชาวหุย

ร้านอาหารในย่านหนิวเจียที่มีชาวหุยอาศัยอยู่มากที่สุดย่านหนึ่งในปักกิ่ง

ละแวกย่านที่ชาวหุยอาศัยอยู่มากคือทุกที่ที่มีมัสยิด ตั้งแต่แถบหนิวเจีย (Niujie) หม่าเตี้ยน (Madian) ไห่เตี้ยน (Haidian) เฉาไว่ (Chaowai) เฉาเน่ย (Chaonei) หรือ ฮัวซื่อ (Huashi) เป็นต้น

อีกสถานที่ซึ่งเราจะได้เห็นนอกจากมัสยิดคงเป็นร้านขายอาหารทั้งแบบห่ออาหารกลับและนั่งรับประทานในร้าน ส่วนใหญ่เป็นร้านจำพวกอาหารเส้น เช่น บะหมี่เนื้อ บางแห่งขายอาหารประเภทแป้งชนิดต่าง ๆ ที่มุสลิมในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนนิยมรับประทาน บ้างก็เป็นเขียงเนื้อที่พ่อค้ามักนำเนื้อวัว แกะ หรือแพะ มาแล่ให้ดูกันสด ๆ เพื่อให้เห็นว่าเนื้อร้านเขาสะอาด น่ารับประทานเพียงไร ทั้งนี้เป็นด้วยบทบัญญัติของศาสนาอิสลามที่ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและความสะอาดอย่างยิ่งยวด

จะรู้ได้อย่างไรว่าร้านไหนเป็นร้านอาหารของชาวหุย ก็ให้สังเกตอักษร 清真 อ่านว่า ‘ชิงเจิน’ อันแปลว่า บริสุทธิ์และแท้จริง เอาไว้ เพราะคำนี้มีความหมายเหมือนกับ ‘ฮาลาล’ ที่แปลว่า อนุมัติ หมายถึงถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมรับประทานได้

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าที่ไหนคือมัสยิด ก็ลองหาคำเดียวกันนี้ แต่เติมอักษร 寺 (ซื่อ) อันหมายถึง วัด หรือ วิหาร เข้าไป เพราะรวมกันจะได้คำว่า 清真寺 (ชิงเจินซื่อ) ที่แปลตรงตัวว่า ‘วิหารแห่งความบริสุทธิ์และแท้จริง’ คือคำที่ชาวจีนใช้เรียกมัสยิดหรือศาสนสถานในศาสนาอิสลาม

ป้าย ชิงเจินซื่อ เขียนจากขวามาซ้าย เหนือประตูทางเข้ามัสยิดตงซื่อ
ข้อมูลอ้างอิง
  • Frankel, James D. Islam in China, London: I.B. Tauris, 2021.
  • Guiping, Yang. Islamic Art in China, China Intercontinental Press, 2013.
  • 1-6 Population by sex, ethnicity, and region. National Bureau of Statistics of China, 2010. Retrieved 18 August 2023.

Writer & Photographer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย