รถดับเครื่องยนต์บริเวณด้านหน้า Cimitero degli Allori สุสานเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากจุดหมายปลายทางในฟลอเรนซ์ที่กำลังมุ่งหน้า เขาเดินอ้อมตัวอาคารเก่าแก่ เลาะเลี้ยวลงเนินสู่ทางเดินที่เรียงรายไปด้วยหลุมศพของเหล่านักเขียน กวี และศิลปินเรืองนาม ครู่เดียวก็มาหยุดอยู่หน้าหลุมศพที่สลักรูปองค์พระเยซูเจ้าแล้ววางช่อดอกไม้ไว้เคียงนาม Corrado Feroci ชื่อเดิมของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี พลางน้อมจิตบอกกล่าวกับครู ว่าวันพรุ่งนี้ศิษย์จะขอทำเต็มที่เพื่อให้ผู้คนในอิตาลีได้รับรู้ถึงเกียรติและคุณูปการที่ท่านได้สรรค์สร้างแก่ประเทศไทย
“จากกรีซผมต่อเรือเฟอร์รี่เข้ามาทางดินแดนตอนใต้ของอิตาลี ก็เป็นอันสิ้นสุดภารกิจด้วยระยะเวลาราว 1 ปี 6 เดือน หลังจากนั้นจึงนัดหมายกับ ดำรง วงศ์อุปราช เพื่อนและลูกศิษย์อีกคนหนึ่งของอาจารย์ศิลป์ ซึ่งขณะกำลังจัดแสดงงานศิลปะอยู่ที่ฝรั่งเศสมาพบกันยังฟลอเรนซ์ เราออกตระเวนนำเสนอผลงานไปตามแกลเลอรี่ต่างๆ จนกระทั่งแกลเลอรี่ Numéro ได้หยิบยื่นโอกาสให้จัดแสดงงานศิลปะในบ้านเกิดของอาจารย์สมดังความตั้งใจ”
อินสนธิ์ วงศ์สาม พักเรื่องราวชวนตื่นเต้นจากการเดินทางไกล ก่อนเผยว่าศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี คือผู้อยู่เบื้องหลังแรงบันดาลใจให้เขาออกท่องโลกด้วยสกูตเตอร์แลมเบรตต้าจากไทยสู่อิตาลี ทั้งยังเป็นบุคคลสำคัญที่จุดประกายองค์ความรู้ด้านศิลปศาสตร์ในเมืองไทยให้กว้างขวาง ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานประกอบกับการนำตำราของสถาบันแห่งนี้มาแปลเป็นฉบับภาษาไทยให้ลูกศิษย์ในมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ศึกษาและเก็บเกี่ยวแนวคิดศิลปวิทยาในยุคต่างๆ ซึ่งนับเป็นการปูรากฐานอันเข้มแข็งให้ศิลปินไทยหลายท่านที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน รวมถึงตัวเขาที่ได้รับแบบฝึกหัดอันเข้มงวดจากอาจารย์ จนทำให้สามารถพัฒนาตัวตนและผลงานด้วยจิตวิญญาณอิสระเสมอมา
บรรยากาศเงียบสงบในห้องบรรยายถูกทำลายด้วยเสียงปรบมือกึกก้อง ก่อนที่ทุกคนในห้องจะทยอยกันออกไปชื่นชมผลงานศิลปะร่วม 40 ชิ้น ที่เขานำมาจัดแสดงในวาระนี้ด้วยความสนใจเท่าทวีเมื่อได้ฟังเรื่องราวของมัน
ในปี 2559 สายลมฤดูร้อนพัดมาพร้อมการเดินทางมาเยือนของ Pier Luigi Tazzi ภัณฑารักษ์ชาวอิตาลี ตามนัดหมาย อินสนธิ์พาเขาเยี่ยมชมผลงานศิลปะส่วนตัวที่จัดแสดงไว้ตามเรือนโบราณรอบอุทยานธรรมะและหอศิลป์ ทันใดนั้นเขาสัมผัสได้ถึงไฟชีวิตของศิลปินบนผลงานภาพพิมพ์แกะไม้และประติมากรรมใต้ท้องทะเล จึงมีความยินดียิ่งหากอินสนธิ์จะนำผลงานชุดนี้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการเนื่องในโอกาสครบรอบ 500 ปี ของสถาบัน Accadamia di belle Arti di Firenze เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี พร้อมเชิญชวนให้เป็นวิทยากรพิเศษในเวทีบรรยายรำลึกประสบการณ์และความคิด ผ่านสายตาลูกศิษย์ของหนึ่งในบุคคลสำคัญผู้สร้างชื่อแก่เสียงสถาบันแห่งนี้
วัยหนุ่ม
ซิมโฟนีของบีโธเฟนคลอมาตั้งแต่ต้นคาบ หรือบางวันอาจได้รื่นรมย์กับโซนาตาของโมสาร์ท เพราะก่อนเริ่มเรียนทุกชั่วโมง อาจารย์ศิลป์มักเปิดดนตรีคลาสสิกสร้างสมาธิให้กับนักศึกษา จนลูกศิษย์ลูกหาหลายคนประทับใจมาถึงทุกวันนี้ อินสนธิ์ก็เช่นกันที่กลายมาเป็นคนหลงใหลท่วงทำนองดนตรีคลาสสิก ทั้งยังเคารพชื่นชมในการเรียนการสอนของอาจารย์ท่านนี้เป็นอย่างมาก กระทั่งไม่ยอมรับในตัวอาจารย์ท่านอื่นๆ
“อาจารย์ศิลป์ท่านจะคอยชี้แนะผมทุกครั้งเวลาทำคอมโพซิชันและส่งเสริมให้ทำศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ ผมได้ความรู้จากท่านมามาก อย่างเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ เกร็ดความรู้เรื่องดนตรี อีกทั้งยังพาวิทยากรเก่งๆ มาให้ความรู้นักศึกษา เช่น พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตรที่มาสอนวิชาภาษาอังกฤษ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร สอนภาษาฝรั่งเศส หรือพระยาอนุมานราชธนสอนอ่านเขียนบทกวี ซึ่งในตอนนั้นผมไม่สนใจเรียนกับอาจารย์ท่านอื่นเลย เพราะคิดว่าสิ่งที่เขาสอนเป็นสิ่งที่เรารู้แล้ว โดยเฉพาะทักษะเชิงช่างสิบหมู่ที่เคยช่วยคุณพ่อทำมาหมด ไม่ว่าจะเป็นเขียนลายไทยศาลพระภูมิ เชื่อมเครื่องประดับ ติดสอยห้อยตามไปทำงานปิดทอง งานปูนปั้น และติดกระจกประดับลวดลายที่วัดตั้งแต่ตอนอายุ 8 ขวบ”
วีรกรรมขวางหูขวางตาที่เข้าขั้นรั้นและด่าทออาจารย์ของอินสนธิ์ ทำให้เขาเกือบโดนตัดสิทธิ์ขาดจากการเป็นนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ทว่าด้วยทักษะฝีมือที่ไม่กระด้างกระเดื่องเหมือนพฤติกรรม อาจารย์ศิลป์จึงอนุญาตให้หยุดพักการเรียน 1 เดือน ไม่ได้ผิดหวังแต่ยังไม่หายฟุ้งซ่าน อินสนธิ์จึงเดินทางกลับบ้านมาครองชายผ้าเหลืองและจำวัดอยู่ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำวิปัสสนาและปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ จนครบกำหนดก็ลาสิกขาแล้วกลับมาเข้าชั้นเรียน
“พอกลับมาผมก็ไม่ค่อยพูดจากับใคร พวกอาจารย์บอกว่า ไอ้นี่มันหายบ้าแล้ว แต่จริงๆ แล้วผมไม่ได้หาย ไม่ได้เปลี่ยน ผมยังเป็นคนเดิม แค่การปฏิบัติธรรมช่วยเยียวยาให้ผมสงบขึ้นเท่านั้น”
การเรียนราบรื่นสะดุดหยุดลงอีกครั้งตอนอยู่ชั้นปีที่ 3 เมื่อเขาตัดสนใจพับเก็บตำราแล้วสมัครใจเกณฑ์ทหารด้วยหวังนำเบี้ยหวัด (ในสมัยนั้นทหารจะได้รับเบี้ยหวัดหรือเงินตอบแทนราวๆ 370 บาททุกเดือนกระทั่งอายุครบ 40 ปี) มาใช้เป็นทุนศึกษาต่อให้จบชั้นปริญญาตรี
ความกล้าได้กล้าเสียและมีพ่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตบ่มเพาะตัวตนของอินสนธิ์มาตั้งแต่เล็ก ในวัยเด็กเขาเคยฝันอยากเป็นนักมวยเช่นปู่ แต่เมื่อรู้ว่าไม่ใช่เส้นทาง เขาวางมันทันทีและไม่เคยคิดผิดหวัง แล้วหันมาเอาจริงเอาจังกับงานหัตถศิลป์ในฐานะลูกมือและลูกไม้ใต้ต้นของช่างสล่าและครูภูมิปัญญาท้องถิ่น
ความทะเยอทะยานเป็นอีกสมบัติ เพราะแม้ไม่ใช่เด็กหัวดีและมีเกเรอยู่บ้างจนในทุกเสาร์-อาทิตย์ต้องถูกผูกติดเตียงนอนฟังพ่ออบรมสั่งสอนธรรมมะ แต่ถึงคราวโดนสบประมาทเขาก็มุ่งมั่นเด็ดขาดจนสามารถสอบติด 1 ใน 2 ที่นั่งโควต้าโรงเรียนประจำจังหวัด ก่อนเปิดภาคเรียนมายืนเคารพเพลงชาติกับเสาธงใหม่เอี่ยมที่พ่ออาสาเปลี่ยนให้โรงเรียนด้วยตื่นเต้นดีใจยิ่งกว่า ครั้นจบ ม.7 จึงเบนเข็มสู่โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร
“คุณพ่ออยากให้ผมเป็นช่างเหมือนท่าน และอยากให้ได้รับปริญญา ท่านจึงไปปรึกษา อาจารย์ทวี นันทขว้าง ซึ่งอาจารย์ก็แนะนำว่าให้ลองส่งไปเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากรดู ปี 2496 ผมนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในชีวิต โดยตอนนั้นคุณพ่อฝากฝังให้ไปอาศัยอยู่กับพระอาจารย์ที่รู้จักกันที่วัดสุทัศน์ พักฟรี กินฟรี จะไปโรงเรียนก็เดินไปเพราะไม่ไกลกันมาก จบเตรียมก็ต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม เข้าเรียนในรุ่นที่ 10 แต่จบช้ากว่าเพื่อนไป 1 ปี เพราะขอพักเรียนไปเป็นทหารจะได้ไม่ต้องรบกวนเงินส่งเสียจากทางบ้านแล้วเอาเบี้ยหวัดมาเรียนต่อ”
สู่การเดินทาง
“อ่านหนังสือหมื่นเล่มไม่สู้เดินทางพันลี้” สายตาคนจะเฉียบแหลมหากรู้จักออกไปแสวงหาความรู้ อินสนธิ์เชื่อเช่นนี้ ทำให้หลังเรียนจบเมื่อพบว่าเส้นทางศิลปินที่ใฝ่ฝันยังพร่องประสบการณ์ เขาจึงขอทุนสนับสนุนจาก Bangkok Art Center แล้วออกเดินทางทั่วประเทศไทย
“ผมใช้เวลาประมาณ 1 ปี เดินทางไปทุกจังหวัดเพื่อเรียนรู้และพัฒนามุมมองในการทำงานศิลปะ โดยประทับใจในภูมิทัศน์และธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของภาคตะวันออกมาก จนทำให้เขียนภาพเกี่ยวกับทะเลเยอะเป็นพิเศษ พอจบทริปผมคัดเลือกภาพไปจัดแสดงนิทรรศการพร้อมเปิดประมูลได้เงินมาราว 30,000 บาท ซึ่งต่อมาเงินก้อนนี้ก็ได้กลายเป็นทุนสำหรับการเดินทางไกล”
ในการจัดแสดงศิลปะครั้งนั้นอินสนธิ์ได้พบกับ สุภาพ กาฬสินธุ์ ผู้เอ่ยปากชวนเดินทางไปอิตาลี ประจวบเหมาะกับความตั้งใจเดิมที่อยากเยี่ยมเยียนบ้านเกิดของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เขาจึงคว้าโอกาสนี้ไว้โดยไม่ลังเล แต่แล้วรถยนต์ที่ทั้งคู่หวังใจว่าจะใช้เป็นพาหนะท่องโลกส่อปัญหาอิดออด อินสนธิ์จึงหาทางออกด้วยการเขียนโครงการขอสปอนเซอร์เสนอ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทางบริษัทก็ตอบรับและสนับสนุนความฝันด้วยสกูตเตอร์ Lambretta TV175 Serie II 1 คัน แถมจำหน่ายอีกคันให้ในราคาหั่นครึ่ง 8,000 บาท นอกจากนี้ พวกเขายังได้รับความช่วยเหลือเรื่องค่าน้ำมันระหว่างทางจากบริษัท Esso
“ตอนนั้นบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อยู่แถวสี่แยกปทุมวัน ผมเข้าไปรับรถที่นั่นแล้วเข็นออกมาจนถึงสวนลุม เพราะยังขี่ไม่เป็น ฝึกขี่ตั้งแต่เช้ายันเย็นวันเดียวก็คล่อง จากนั้นจึงติดต่อราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทยและกรมตำรวจเพื่อขอออกใบขับขี่สากล หนังสือรับรอง แล้วก็เอกสารผ่านแดน”
ผลงานศิลปะภาพพิมพ์กว่า 200 ชิ้นถูกจัดแจงม้วนเก็บใส่กล่องสังกะสีแน่นหนา พร้อมด้วยอุปกรณ์วาดภาพ เครื่องไม้เครื่องมือช่าง และสัมภาระส่วนตัว ที่บรรจุลงในกระเป๋าหนังพ่วงข้างอย่างดี แต่ก่อนที่จะได้ออกไปเผชิญโลกกว้าง ครูผู้จุดไฟในการเดินทางครั้งนี้ก็จำจากไกล
“4 พฤษภาคม 2505 เป็นวันที่ผมได้คุยกับอาจารย์ศิลป์เป็นครั้งสุดท้าย วันนั้นผมเข้าไปรับเอกสารรับรองการเป็นนักศึกษาศิลปะ ซึ่งท่านอยากให้ผมนำติดตัวไปด้วยเพื่อใช้เป็นใบเบิกทางหากต้องการขอจัดแสดงงานตามแกลเลอรี่ต่างๆ หลังจากนั้น 10 วันท่านก็เสียชีวิต ผมเคารพศพท่านและบอกกล่าวร่ำลาว่า ผมจะไปแล้วนะอาจารย์ จะไปให้ถึงบ้านอาจารย์ให้ได้ แล้วสัปดาห์ถัดมาผมก็เริ่มการเดินทาง”
ถนนศิลปิน
ถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่ฟลอเรนซ์ อินสนธิ์ไม่จำเป็นต้องพกแผนที่นำทาง เพราะเขาอาศัยวิ่งตามถนนสายหลักที่รถบรรทุกขับผ่าน บ้างแวะถามไถ่ข้อมูลจากเจ้าถิ่น หรือตัดสินเลือกเส้นทางยามอับจนในบางสถานการณ์ด้วยการโยนเหรียญเสี่ยงทาย วิธีการนี้พาเขาและสุภาพข้ามถึงปีนังได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ก่อนขยับขึ้นฝั่งเมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย ประเทศที่ทั้งคู่ต้องจ่ายค่าน้ำชาไปหลายรูปี ความตื่นเต้นสนุกสนานที่วาดภาพไว้เริ่มกลับกลายเป็นยากลำบากเมื่อทุนรอนที่นำติดตัวมาเหลือเพียง 1,200 บาท สุภาพจึงขอถอนตัวกลับบ้าน ส่วนอินสนธิ์เลือกเดินทางไปตั้งหลักอยู่อาศัยกับวัดพุทธในโอลด์เดลี เขียนรูปหาเลี้ยงชีพและหาทุนคืนร่วม 3 เดือน แล้วมุ่งหน้าสู่ปากีสถาน แวะจัดแสดงผลงานในแกลเลอรี่เมืองละฮอร์ เสร็จสรรพลุยต่อไปยังอัฟกานิสถาน หยุดพักชมความงดงามของกรุงเตหะราน เมืองที่ทำให้เขามีโอกาสจัดทำโปสเตอร์ให้กับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศอิหร่าน และได้รับทุนสนับสนุนจาก UNESCO ในการเดินทางศึกษาโบราณสถานแห่งอารยธรรมเปอร์เซีย
หลังจากปิดนิทรรศการที่ 2 ของทริป ณ สถานกงสุลฝรั่งเศสในกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี อินสนธิ์ก็ขึ้นเกาะคอฟู ประเทศกรีซ ดินแดนที่เขากล่าวชื่นชมว่าประทับใจมากที่สุดในการเดินทาง เพราะมันได้มอบสีสันใหม่ให้กับชีวิตและการทำงานสร้างสรรค์
“ที่ประเทศกรีซ ผมอาศัยอยู่กับสองตายายชาวประมงบนเกาะคอฟู ซึ่งท่านเมตตาให้ผมพักที่ห้องของลูกชายซึ่งขณะนั้นแกไปทำงานอยู่เยอรมนี ในวันที่เจอผมท่านเล่าว่าเป็นวันที่หาปลาได้เยอะเป็นพิเศษ จึงเชื่อว่าผมนำโชคมาให้ ท่านทั้งสองดูแลผมเหมือนลูกเหมือนหลาน และมีเรื่องปลื้มใจมากๆ ที่ผมเก็บจำมาจนทุกวันนี้ คือถ้าวันไหนยายทำเมนูปลา ตาจะเลือกทานส่วนหัว ส่วนยายจะทานหาง แล้วเหลือกลางลำตัวให้ผมทานเสมอๆ
“ผมพักอยู่กับท่านนานร่วมเดือน ได้เห็นวิถีชีวิตชาวประมง ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและสังคมของคนที่นั่น รวมถึงเขียนภาพเกี่ยวกับทะเลเยอะมาก จนวันหนึ่งก็ขออำลาทั้งสองย้ายไปเช่าบ้านอยู่กับเพื่อนก็ชาวอเมริกันที่บังเอิญพบเจอกันและรู้สึกถูกชะตา ช่วง 4 – 5 เดือนในบ้านเช่าผมกลับมาทำงานภาพพิมพ์แกะไม้อีกครั้ง โดยตั้งใจว่าอยากนำไปจัดแสดงที่ยุโรป แต่เมื่อลองยกผลงานทั้งหมดไปจัดแสดงที่เอเธนส์ก็มีศิลปินนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์ว่า งานศิลปะแบบประเพณีเช่นนี้เหมือนเป็นงานที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาและไม่มีความเป็นสากล นี่จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมหันมาทำงานศิลปะแบบนามธรรม”
การเดินทางไกลที่กินระยะเวลาโดยประมาณ 1 ปีกับอีก 6 เดือนสิ้นสุดลง เมื่อเรือเฟอร์รี่ล่องข้ามผืนน้ำสีครามของเอเดรียติกจรดท่าเทียบบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของอิตาลี อินสนธิ์ควบสกูตเตอร์แล่นไปบนท้องถนนโดยมีหลักไมล์อยู่ที่กรุงโรม แต่ก่อนจะถึงเป้าหมายรถก็ดันเสียหายระหว่างทาง เขาจึงต้องออกแรงจูงเจ้าแลมเบรตต้าเพื่อนยากกลับบ้านเกิดของมันอีก 1 วันเต็มๆ ก่อนจะพารถไปซ่อมแซมในอู่ที่ยอมแลกค่าแรงเป็นงานศิลปะ
“ทันทีที่ถึงโรมผมก็เช็กอินเข้าที่พัก Youth Hostel แล้วเอารถไปเข้าอู่ ระหว่างที่ซ่อมช่างก็ชวนคุยเรื่อยเปื่อย จนพอแกทราบว่าผมเป็นศิลปินก็ขอชมพอร์ตฟอลิโอแล้วยื่นข้อเสนอมาว่าจะซ่อมให้ฟรีๆ แลกกับรูปภาพ 1 รูป ผมตกลงตามนั้น แต่เสร็จสรรพก่อนแยกย้าย แกเสนอเพิ่ม คราวนี้แลกกับห้องพัก ได้จังหวะผมเลยตัดสินใจขนข้าวของย้ายเข้ามาพักอยู่ฟรี”
ในอิตาลีอินสนธิ์มีโอกาสไปได้เดินทางไปเยี่ยมชมบ้านเกิดของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ด้วยความปีติยินดีที่ทำสำเร็จสมดังตั้งใจและสามารถรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับอาจารย์ พร้อมกันนั้นยังรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ครั้งหนึ่งผลงานของเขาได้จัดแสดงในโมเดิร์นอาร์ตแกลเลอรี่ที่มีชื่อเสียงของเมืองฟลอเรนซ์
ชีวิตไม่จีรัง
สกูตเตอร์แลมเบรตต้าไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลยหลังกลับจากฟลอเรนซ์ อินสนธิ์จึงจำเป็นต้องขอฝากมันไว้กับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ก่อนจับรถไฟกลางคืนเดินทางต่อไปยังเวียนนาเพื่อพบปะกับ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศออสเตรีย และแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะเป็นต้นทุนสนับสนุนการใช้ชีวิตต่อในนครแห่งศิลปะและดนตรี จนเมื่อฤดูหนาวผ่านพ้นก็ย้ายมาผจญโชคยังกรุงปารีส
“ช่วงชีวิตที่ฝรั่งเศสเนี่ยถือเป็นช่วงที่ลำบากที่สุด เพราะผมอยู่ในเมืองที่มีค่าครองชีพค่อนข้างสูง อยู่ได้สิบกว่าวันเงินก็หมดเกลี้ยง จนต้องไปอาศัยนอนตามสวนสาธารณะ ประทังชีวิตด้วยขนมปังที่ทางคริสตจักรแจกจ่ายสำหรับคนยากไร้และคนเร่ร่อน จากนั้นไม่นานก็หางานทำเป็นเด็กเสิร์ฟ ผู้ช่วยกุ๊ก พี่เลี้ยงเด็ก กระทั่งช่างซ่อมประปา เพื่อขวนขวายหาทางเอาตัวรอด จนวันหนึ่งก็มีคนแนะนำว่าให้ลองไปสมัครเรียนดูเพราะจะได้คูปองกินอาหารกลางวันฟรีทุกวัน
“ผมเห็นว่าเข้าท่าก็เลยเอาพอร์ตฟอลิโอไปยื่นที่ École Nationale Supérieure des Arts Décoratifs ตอนสัมภาษณ์อาจารย์ที่นั่นก็สงสัยว่าผมเป็นศิลปินแล้วจะมาเรียนอีกทำไม ผมตอบเขาไปซื่อๆ ว่า ผมไม่ได้มาเรียนหวังเอาใบปริญญา แต่ผมอยากมีชีวิตอยู่ต่อที่นี่เพราะอยากศึกษาศิลปะและอยากหาที่ทางจัดแสดงผลงาน”
Master’s Degree จบลง พร้อมกับการตกหลุมรักผู้หญิงคนหนึ่ง บาร์บาร่า ครูศิลปะลูกครึ่งฝรั่งเศส-อเมริกัน คือคนรักคนแรกของอินสนธิ์ ทั้งคู่คบหาและมีลูกชายด้วยกัน 1 คน โดยระหว่างที่บาร์บาร่ากำลังตั้งท้องและกลับไปพักรักษาตัวที่อเมริกานั้น เป็นช่วงเดียวกันกับที่อินสนธิ์ได้พบหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งช่วยแนะนำให้เขาได้จัดแสดงงานศิลปะสมความมุ่งมาดปรารถนา ทว่าเมื่อนิทรรศการเริ่มได้ไม่นานก็มีเหตุให้ต้องเดินทางไปลองไอส์แลนด์เพื่อดูแลภรรยาซึ่งกำลังท้องแก่ ก่อนปลงใจไม่หวนคืนฝรั่งเศส แล้วอยู่พิสูจน์ตัวเองกับเพื่อนศิลปินที่ยืนกรานว่าอเมริกานี่แหละคือพื้นที่เบ่งบานของงานศิลปะแอ็บสแตรคต์โดยแท้ พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอว่ายินดีสนับสนุนผลงานของเขาเดือนละชิ้นในราคา 500 เหรียญฯ
หลังเก็บหอมรอมริบในนิวยอร์กจนได้เงินมา 1 ก้อน อินสนธิ์ก็ย้ายมาเช่าห้องแถวย่านแมนฮัตตัน แหล่งรวมยิปซี คนจร และศิลปินตกยากผู้หอบความฝันมาต่อเติมลำพังในตึกร้างเช่น แอนดี้ วอร์ฮอล เขาเปิดสตูดิโอของตัวเองทำงานศิลปะและหยิบจับทักษะเชิงช่างของพ่อมาประดิษฐ์เครื่องประดับประยุกต์จากเศษวัสดุเหลือใช้ขาย
8 ปีในอเมริกาเคลื่อนผ่านไปเบาหวิว พร้อมกับระยะห่างที่ก่อตัวในความสัมพันธ์ซึ่งจบลงอย่างเรียบง่าย และในไม่ช้าก็ได้พบลอร่า หญิงชาวอเมริกันที่ต่อมากลายเป็นภรรยาคนที่ 2 ทั้งคู่ประคองชีวิตเข้มข้นแบบอเมริกันชน และช่วงนี้เองที่อินสนธิ์เริ่มต้นโปรเจกต์ที่พลิกชะตาชีวิตและเปลี่ยนความคิดเขาไปสิ้นเชิง
Where artists come from? What are artists? Where are artists going?
“ประมาณปี 1966 ผมเริ่มโปรเจกต์ประติมากรรมใต้ทะเล เพราะผมรู้สึกว่าที่นิวยอร์กกำลังประสบปัญหามลพิษทางทะเล ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นความตายของสัตว์และมนุษย์ ผมจึงตัดสินใจไปซื้อบ้านแถวนิวเจอร์ซีสำหรับใช้เวลาทำโมเดลต้นแบบผลงานศิลปะ 408 ชิ้น โดยตั้งใจว่าจะนำไปปรึกษานักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเพื่อต่อยอดให้มันเป็นประติมากรรมที่สามารถติดตั้งใต้ท้องทะเล พร้อมกับมีฟังก์ชันเพิ่มออกซิเจน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหรือแนวปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูทะเลให้กลับมาใสสะอาด แล้วตอนนั้นยังคิดไปอีกว่าหากมันสำเร็จก็อยากจะทำ Landscape Art Space บนดาวเทียม”
แต่หลังจากนำเสนอโปรเจกต์ก็ถูกพับไม่ได้รับทุนสานต่อ อินสนธิ์ผิดหวัง ความเครียดรุมเร้า และกลายเป็นคนดื่มหนัก เขาตั้งคำถามกับผลงานที่ไม่มีใครเห็นความสำคัญ สับสนกับศิลปะที่ไร้ค่าและศิลปินที่ไม่รู้ว่าควรมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ในเมื่อไม่มีสิทธิแม้แต่จะส่งเสียงให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม จนในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเลิกราจากศิลปะ และเข้ารับการบำบัดแอลกอฮอล์ในโรงพยาบาลราวเดือนกว่าด้วยเงินค่ารักษาที่แปรสภาพมาจากรถยนต์และทรัพย์สิน กระทั่งเมื่อทางบ้านทราบข่าวจึงส่งตั๋วเครื่องบินมาให้หอบหิ้วชะตากรรมแห่งชีวิตและความว่างเปล่ากลับคืนสู่รัง
“พอถึงเมืองไทยพ่อพูดกับผมประโยคหนึ่งว่า ‘มึงรักเมียเท่าพ่อรึไง พ่อเลี้ยงมึงมาตลอดชีวิต จะเลี้ยงมึงไปจนตายก็ยังได้’ ตอนนั้นผมดีใจมากและรู้สึกอยากกลับบ้าน” อินสนธิ์หัวเราะเหมือนเด็กๆ
เขาหวนคืนป่าซางพร้อมเงินเบี้ยหวัดที่พ่อเก็บสะสมไว้ให้ตั้งแต่ออกจากบ้านไป 11 ปี เงินจำนวนนั้นมากพอจะครอบครองที่ดินตั้งหลักชีวิตใหม่ เขาจึงเลือกปลูกกระท่อมหลังน้อยอยู่อาศัยในหมู่บ้านห้วยไฟเพื่อเยียวยาสภาพจิตใจท่ามกลางป่าเขา ตัดขาดจากสังคมอันวุ่นวายและหารายได้ด้วยการเป็นเกษตรกรสวนพริก
กระทั่งอยู่มาวันหนึ่งขณะพินิจเศษซากตอไม้เหลือทิ้งจากการตัดขายให้กับนายทุนสัมปทานป่า ก็พลันเกิดความรู้สึกปะทุรุนแรงต่อคุณค่าของธรรมชาติที่ขาดไร้ซึ่งความใยดี เขาจึงประกาศรับซื้อเศษซากตอไม้จากชาวบ้านแล้วลงมือฟื้นคืนชีวิตให้กับมัน ด้วยการกลับมาเริ่มต้นทำงานศิลปะอีกครั้งในรูปแบบงานแกะสลักไม้ ซึ่งภายหลังผลงานลักษณะดังกล่าวของเขาได้รับคำนิยามว่าเป็นงานศิลปะรูปแบบ Organic Form ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี 2542
มนตร์รักป่าซาง
2 ปีถัดมาพรหมลิขิตก็ชักพาดอกรักมาผลิบานในบ้านป่า เมื่อหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี ได้ชักชวน มีเซียม ยิบอินซอย, เขียน ยิ้มศิริ และเวเนเซีย วอล์คกี้ ประติมากรหญิงชาวอังกฤษ ไปเยี่ยมเยียนอินสนธิ์หลังจากทราบข่าวคราวการกลับไทย
ผลงานแกะสลักไม้ของเขาได้รับคำชื่นชมจากมีเซียม เช่นเดียวกับเวเนเซีย วอล์คกี้ ที่รู้สึกประทับใจในความเด็ดเดี่ยวและวิถีการทำงานของอินสนธิ์ เธอหวนกลับมาพบปะและให้กำลังใจเขาบ่อยครั้ง บ้างอยู่เป็นเพื่อนพูดคุย บ้างช่วยวิจารณ์งานศิลปะ รวมถึงรักษาบรรเทายามเขาเจ็บป่วยทางภาวะอารมณ์ ด้วยการจัดตารางสเกตช์งานลงปฏิทินเพื่อฝึกฝนสมาธิและทำลายจิตใจที่ฟุ้งซ่าน จนความสนิทสนมเติบโตเป็นความรักและพลังใจให้อินสนธิ์กลับมามุ่งมั่นสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยความมั่นใจ
ทั้งสองออกมาสร้างเรือนหอหลังใหม่ พร้อมดำเนินชีวิตตามแบบฉบับคู่รักศิลปินที่น่ารักซึ่งจัดสรรน้ำหนักของการงานแห่งชีวิตและความรักได้อย่างสมดุล อินสนธิ์จับสิ่วราวนิ้วที่ 11 พัฒนาผลงานสู่รูปแบบถอดประกอบเข้าไม้สลักเดือยอันโดดเด่น จนได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติปี 2542 ปีเดียวกันกับการตัดสินใจเปิดบ้านเป็น ‘อุทยานธรรมะและหอศิลป์’ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ในพุทธศาสนาผ่านงานศิลปะร่วมสมัยของเขาและภรรยา ที่จัดแสดงไว้ในหอศิลป์เรือนโบราณ อาคารนิทรรศการ และติดตั้งกระจายตามจุดต่างๆ รอบอุทยานอันร่มรื่น รวมถึงจัดกิจกรรมฝนฝึกโยคะ ปั่นจักรยานธรรมะสัญจรที่ถ่ายทอดหลักของมรรค 8 สู่ชีวิตประจำวัน และสนับสนุนการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน อาทิ การทอผ้าและย้อมสีจากธรรมชาติ
“อุทยานธรรมะและหอศิลป์เป็นความตั้งใจของผมกับภรรยามานานมากแล้ว คือน่าจะย้อนไปราว 20 ปีที่แล้ว ที่เราเริ่มต้นสร้างมัน โดยในตอนนั้นเราเดินทางไปอินเดียกันบ่อยมากเพราะภรรยาของผมค่อนข้างมีความสนใจในอุดมการณ์ของมหาตมะคานธีและศรัทธาในองค์ดาไลลามะ จนบังเอิญได้พบกับเศรษฐีที่อินเดียซึ่งยกที่ดินให้เรา 70 ไร่ สำหรับสร้างเป็นอุทยานธรรมะและสวนมรดกในเมืองคยา
“หลังกลับมาจากอินเดียเวเนเซียก็เขียนโครงการนี้เสนอไปยังองค์การสหประชาชาติ ส่วนผมช่วยรับผิดชอบในการออกแบบแปลนพื้นที่ แต่พอได้รับงบประมาณมาเสร็จสรรพกลับพบว่าเงินก้อนนี้ไม่สามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมในต่างแดน เราจึงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการนำมาปลูกอาคารหลังแรกและไม่ได้รับการสานต่อทุนจาก UN ซึ่งภายในอาคารหลังดังกล่าว ปัจจุบันจัดแสดงผลงานประติกรรมชิ้นเอก ‘น้ำพุแห่งปัญญา’ ของเวเนเซีย ที่แสดงถึงการไหลเวียนไม่รู้จบสิ้นของการพัฒนาปัญญาญาณของมนุษย์ รวมถึงจัดแสดงผลงานภาพร่างต้นแบบทั้งหมดในโครงการอุทยานธรรมะและสวนมรดกเมืองคยา”
ปัจจุบันอินสนธิ์ยังสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างมีวินัยโดยในนิทรรศการเดี่ยวครบรอบ 84 ปี ครั้งล่าสุด ‘Ora et Labora’ อันมีความหมายว่า ‘Pray and Work’ ซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่ เขาได้นำเสนอผลงานแบบร่างจำนวน 365 ชิ้น ที่ฟูมฟักสม่ำเสมอในช่วงระหว่างตี 3 ถึง 6 โมงเช้าตลอดระยะเวลา 1 ปี พร้อมจัดแสดงผลงานจิตรกรรมที่ใช้ส้นเท้าและมือในการรังสรรค์ เพื่อบอกเล่าสีสันประสบการณ์ที่ได้ค้นพบจากการออกเดินทางท่องโลกและบนเส้นทางชีวิตศิลปิน ทั้งยังสะท้อนแง่คิดในการสร้างงานศิลปะที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในขอบเขตของวัสดุอุปกรณ์ เพราะศิลปะจริงแท้เพียงสะท้อนจากภายใน
นอกจากใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสร้างศิลปะ สองสามีภรรยาก็ไม่ลืมที่จะหาโอกาสพักผ่อนและพากันออกเดินทางแสวงหาประสบการณ์และเปิดมุมมองใหม่ๆ ในต่างประเทศทุกปี จนกระทั่งเวเนเซียย่างเข้าสู่วัย 70 เผชิญความเจ็บป่วยจากโรคร้าย และจากไปในวันที่ 28 พฤษภาคม 2560
“ศิลปะนามธรรมทำให้ชีวิตอยู่สบายและสงบขึ้นไปตามวัย ทุกวันนี้ศิลปะช่วยเยียวยาจิตใจของผมไว้มากหลังจากสูญเสียภรรยาไป เพราะทุกครั้งที่ได้ลงมือทำงานผมมักรู้สึกว่าเขายังอยู่เคียงข้างเป็นกำลังใจ ทำให้ผมมีความมั่นใจและเข้มแข็ง ฉะนั้น สำหรับผมศิลปะจึงสำคัญมากต่อมนุษย์ เพราะถ้ามนุษย์ไม่มีศิลปะจะทำให้ไม่รู้จักคุณค่าของมนุษย์ และสำคัญที่สุดคือ ไม่รู้จักแม้กระทั่งคุณค่าของตัวเอง”
ในวัย 85 ปี อินสนธิ์บอกว่าสิ่งที่เขาอยากทำมากที่สุด คืออีก 5 ปีข้างหน้าอยากจัดแสดงงานศิลปะของตัวเองอีกครั้ง