เมื่อต้อง Work from home ใช้เวลาอยู่กับบ้านมากกว่าปกติ ก็เริ่มรู้สึกอยากทำบ้านให้น่าอยู่กว่าที่เคย หันไปเจอตู้หนังสือ โต๊ะทำงาน และเก้าอี้ที่ต่อเองกับมือ ก็นึกถึง IKEA (อิเกีย) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านจากสวีเดน ที่นำสแกนดิเนเวียมาสู่บ้านได้ในราคาย่อมเยา
รู้สึกขอบคุณที่คอยแนะนำเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เรียบให้ จนรู้จักเลือกสิ่งที่เหมาะสม รู้สึกขอบคุณที่ทำให้สนุกจากการลงมือต่อโต๊ะและตู้ด้วยตัวเอง จนได้ตู้หนังสือที่ไม่เหมือนใคร รู้สึกขอบคุณการมาร้านอิเกียที่เหมือนได้ไปเที่ยวมากกว่ามาซื้อเฟอร์นิเจอร์ ที่สำคัญมีไอศกรีมอร่อยราคาไม่แพง

อิเกีย ก่อตั้งโดย อิงวาร์ คัมพราด (Ingvar Kamprad) เมื่อ ค.ศ. 1943
เขามีความฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ หลังจากทดลองขายสินค้าผ่านไปรษณีย์เพียงเพราะอยากให้คนได้ใช้ของดีในราคาถูก ซึ่งในเวลานั้นเขาใช้วิธีติดต่อโรงงานที่ผลิตเพื่อซื้อมาขายในราคาไม่แพง ก่อนจะพบว่าตัวเองอยากเป็นพ่อค้าเฟอร์นิเจอร์ เพราะในอดีต คนมีฐานะเท่านั้นที่จะเข้าถึงเฟอร์นิเจอร์ผลงานระดับนักออกแบบ อิงวาร์ตั้งใจให้ชนชั้นกลางมีโอกาสซื้อเฟอร์นิเจอร์ราคาย่อมเยา ผลก็คือขายดีมาก ขนาดว่าเปิดร้านไกลเมืองยังมีคนมาต่อแถวเป็นพันคนตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้าน
จากโจทย์ที่อยากขายของดีราคาถูกในวันนั้น อิเกียเติบโตด้วยโจทย์ที่เปลี่ยนไป อิเกียอยากแก้ปัญหาชีวิตให้ผู้คนผ่านสินค้าและงานออกแบบ
ความน่าสนใจก็คือ เรื่องราวของอิเกียเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสที่แท้จริง
เช่น เมื่อขายดีมาก ร้านค้าคู่แข่งก็รวมตัวกันไปกดดันโรงงานจนไม่มีใครยอมส่งเฟอร์นิเจอร์ให้ หรือการส่งสินค้าเฟอร์นิเจอร์นั้นทั้งยากและแพงมาก หรือการที่เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าจำนวนมากให้เพียงพอกับตลาดทั้งโลก ทำให้การออกสินค้าใหม่ๆ เป็นเรื่องยากจนเกือบกลายเป็นแบรนด์ที่น่าเบื่อ อิเกียมักจะเจอทางออกที่ดีเสมอ เพราะเขาทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ทำกัน
เมื่อปีผ่านมา The Cloud มีโอกาสตามไปดูเบื้องหลังคอลเลกชันพิเศษ SAMMANKOPPLA จาก IKEA x Greyhound Original ได้พูดคุยกับ ไมเคิล นิโคลิก (Michael Nikolic) Creative Leader จาก IKEA of Sweden ที่งาน Democratic Design Day ที่เมืองเอล์มฮุลท์ (Älmhult) ประเทศสวีเดน ได้ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอิเกียจากพิพิธภัณฑ์ พบบทเรียนธุรกิจของผู้ก่อตั้งมากมายจากหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติกึ่งสัมภาษณ์เรื่อง The IKEA Story (2011) ของ Bertil Torekull ที่ซื้อมาจากพิพิธภัณฑ์ และได้ดูสารคดีโทรทัศน์เรื่อง Flatpack Empire (2018) ของช่อง BBC Two

เมื่อกลับมาเราก็ขอนัดหมายพิเศษกับ ลาร์ช สเวนสัน ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนและการสื่อสารอิเกีย พูดคุยเบื้องหลังการสร้างแบรนด์อิเกีย การตลาดสนุกๆ ความลับในร้านอิเกีย วัฒนธรรมการทำงาน ไปจนถึงแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นการอธิบายความที่เข้าใจง่ายที่สุดตั้งแต่ได้ฟังเรื่อง Sustainability มา

ถ้าเคยประทับใจอิเกียจากงานออกแบบ ชอบวิธีคิดการตลาดที่ยังคงใช้วิธีส่งแคตตาล็อกเหมือนอย่างวันแรก ชอบแผนผังแถมยังสงสัยว่าห้องแต่ละห้องเปลี่ยนไปบ้างไหม หรือชื่นชมว่าอิเกียใช้วิธีอะไรกระตุ้นความอยากซื้อของเราได้ตลอดเวลา
ลากรถเข็นหรือหยิบถุง FRAKTA สีเหลือง เดินตามมาฟังทั้ง 20 เรื่องของอิเกียพร้อมกันได้เลย
1. อิเกียไม่ได้เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านราคาถูก แต่เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ราคาย่อมเยาที่ให้ความสำคัญกับทุกแง่มุมของชีวิตที่ดีขึ้น
อิเกียไม่ได้มีแค่เฟอร์นิเจอร์และของใช้เกี่ยวกับการอยู่อาศัย แต่มีอาหาร และยังมีแผงโซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายในบ้าน
2. อิเกียก่อตั้งโดย อิงวาร์ คัมพราด ผู้เกิดในครอบครัวที่คุณตาเป็นเจ้าของร้านชำเจ้าใหญ่ในเมืองเอล์มฮุลท์ (Älmhult) จังหวัด Småland ทางใต้ของสวีเดน
อิงวาร์เป็นคนที่มีหัวการค้ามาตั้งแต่เด็ก เขาเคยลงทุนซื้อไม้ขีดมาแบ่งกล่องเล็กๆ ขายเมื่ออายุเพียง 5 ขวบ ต่อมาหลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมใน ค.ศ. 1943 อิงวาร์ในวัย 17 ผู้มีความฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ตัดสินใจขออนุญาตผู้ปกครอง (ซึ่งตามกฎหมายของสวีเดน เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทุกคนจะมีคนในชุมชนที่เป็นคนนอกครอบครัวรับหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์คุ้มครอง) จดทะเบียนบริษัท IKEA ซึ่งย่อมาจาก Ingvar Kamprad Elmtaryd Agunnaryd โดย Elmtaryd เป็นชื่อฟาร์มที่เติบโตมา และ Agunnaryd คือชื่อหมู่บ้าน โดยที่เขาเองก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะค้าขายอะไร

จนกระทั่งเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยในเมืองโกเธนเบิร์ก (Göteborg) ได้เป็นลูกศิษย์ของนักเศรษฐศาสตร์อย่าง อิวาร์ ซันด์บลอม (Ivar Sundblom) ทำให้อิงวาร์พบวิธีนำของถูกและดีจากโรงงานมานำเสนอลูกค้า ประกอบกับพบหน้าโฆษณาสินค้านำเข้าส่งออกจากเอกสารในห้องสมุด อิงวาร์จึงเขียนจดหมายถึงโรงงานผลิตปากกาขอสั่งซื้อปากกา 500 แท่ง แล้วขายในราคาที่ถูกมาก นอกจากปากกาเขายังนำเข้าไฟแช็กจากสวิตเซอร์แลนด์ ขายการ์ดคริสมาสต์ ขายเมล็ดพันธุ์ ขายกระเป๋าสตางค์ กรอบรูป และอื่นๆ ผ่านการส่งโบรชัวร์ชื่อ ‘IKEA News’ ไปตามบ้านในรูปแบบธุรกิจสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์
เฟอร์นิเจอร์ชิ้นแรกๆ ที่อิงวาร์ลงโฆษณาขายในโบรชัวร์ (ค.ศ. 1948) ของเขา คือเก้าอี้และโต๊ะกาแฟ ซึ่งขายดีมาก จากนั้นก็เริ่มนำเตียงโซฟาและโคมไฟระย้ามาขาย เช่นเคย เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นที่อิงวาร์หามาเสนอนั้นขายดีเทน้ำเทท่า
3. เมื่อธุรกิจสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์ไปได้สวย อิเกียก็เจอปัญหาคู่แข่งตัดราคา อิงวาร์เลือกทำสิ่งที่ยากกว่านั้น คือตัดสินใจขายเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว แล้วทำแคตตาล็อกส่งตามบ้านให้ลูกค้าอยากมาทดลองจับของจริงที่โชว์รูม
ขณะที่ธุรกิจสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์ไปได้สวย มีสินค้าเยอะขึ้น อิงวาร์จึงเริ่มทำแคตตาล็อกเล่มแรกใน ค.ศ 1951 มีตั้งแต่ดินสอ กล่องใส่แป้ง เสื้อผ้า กล้องถ่ายรูป เก้าอี้ แต่ยิ่งขายดีก็ยิ่งมีคู่แข่งตัดราคา ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจขายเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว ปัญหาใหญ่ของการขายเฟอร์นิเจอร์ทางไปรษณีย์ คือลูกค้าไม่มั่นใจในสินค้าเพราะไม่ได้สัมผัสของจริง พวกเขาตัดสินใจจากคำโฆษณาและภาพประกอบ
อิงวาร์จึงเริ่มเปิดโชว์รูมแสดงสินค้าเล็กๆ ขึ้นมาใน ค.ศ. 1953 เพื่อให้ลูกค้าได้จับของจริงและเปรียบเทียบราคากับคุณภาพก่อนตัดสินใจ เขาอยากให้คนได้ซื้อเฟอร์นิเจอร์สวยและคุณภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้ ยิ่งทำให้ทุกอย่างไปได้ดีมาก
4. Flat Pack นวัตกรรมเบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของอิเกีย
วันหนึ่งใน ค.ศ. 1953 ขณะที่ กิลลิส ลันด์เกรน (Gillis Lundgren) พนักงานที่เดิมทีอิงวาร์จ้างมาทำแคตตาล็อก แต่ภายหลังกลายเป็นนักออกแบบและเป็นผู้จัดการทีมออกแบบและพัฒนาคนแรกของบริษัท เป็นผู้ออกแบบตู้หนังสือ BILLY และสินค้าอีกหลายร้อยชิ้นของอิเกีย เขาต้องการขนโต๊ะใส่รถยนต์โดยไม่ยกขึ้นหลังคา จึงพยายามถอดขาโต๊ะออกและมัดรวมทุกอย่างเป็นห่อแบนๆ เป็นที่มาของ Flat Pack ของอิเกีย ซึ่งต่อมาใช้เวลาพัฒนาอีกเกือบปีเพื่อแก้ปัญหาการขนส่งเฟอร์นิเจอร์ที่ทั้งยากและแพงได้อย่างสิ้นเชิง
แม้อิเกียจะไม่ใช้เจ้าแรกที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ถอดประกอบ แต่เป็นเจ้าแรกที่ออกแบบให้ลูกค้าเป็นคนประกอบเฟอร์นิเจอร์เอง ทำให้อิเกียผลิตสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง และเพราะชิ้นส่วนทุกอย่างถูกถอดและจัดเรียงในกล่องขนาดเล็กแบน ทำให้ประหยัดพื้นที่จัดเก็บสินค้า การขนส่งสินค้าก็ได้ประสิทธิภาพกว่า เพราะใช้พื้นที่น้อยและลดความเสี่ยงชำรุดระหว่างทาง

5. ขายดีเกินหน้าเพื่อน จนร้านค้าคู่แข่งรวมตัวกันกดดันไม่ให้โรงงานผู้ผลิตทั่วสวีเดนผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้อิเกีย
เมื่ออิเกียค้นพบวิธีทำให้เฟอร์นิเจอร์ถูกลงจากการให้ลูกค้าประกอบเฟอร์นิเจอร์เอง เหล่าผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ในสวีเดนจึงรวมตัวกันบอยคอตไม่สั่งสินค้าจากโรงงานที่ผลิตให้อิเกีย เหตุการณ์นี้ทำให้อิเกียเริ่มพัฒนางานออกแบบและสไตล์ของตัวเอง ได้เจอกับนักออกแบบจบใหม่จากเดนมาร์ก ได้เจอกับวัสดุคุณภาพดีอื่นๆ ได้ทำงานกับโรงงานในโปแลนด์ ทำให้มีประสบการณ์ทำงานกับโรงงานในต่างประเทศ
6. มีคนไปต่อแถวรอเข้าร้านอิเกียวันแรกนับพัน แม้ทำเลที่ตั้งร้านจะอยู่ห่างออกไปไกลจากใจกลางเมือง
หลังจากประสบความสำเร็จจากโชว์รูม อิงวาร์จึงเปิดร้านขนาด 6,700 ตารางเมตร ที่เมืองเอล์มฮุลท์บ้านเกิดใน ค.ศ. 1958 โดยในวันเปิดร้านมีคนมาเข้าแถวรอเข้าร้านหลายพันคนพร้อมรถยนต์สำหรับขนสินค้ากลับ ภายในร้านมีพนักงานคอยนำทางพาเดินเลือกและจดรายการสั่งซื้อ โดยแคตตาล็อกยุคนั้นจะมีหน้าเปล่าให้วาดแผนผังห้อง พร้อมให้เขียนตอบ 20 คำถาม เพื่อพนักงานให้ช่วยออกแบบและเติมเต็มพื้นที่ห้องนั้น

7. วิธีคิดเบื้องหลังเขาวงกตในร้านอิเกีย
เพื่อจัดสรรการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แทนที่จะจัดวางสินค้าแล้วปล่อยให้คนเดินอย่างไม่มีทิศทาง อิเกียเขียนแผนทางเดินรูปดอกไม้เพื่อใช้ประโยชน์จากทุกตารางนิ้วที่มีมอบไอเดียและสร้างแรงบันดาลใจผ่านห้องต่างๆ ครอบคลุมทุกกิจกรรมในบ้าน ทั้งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวม
“และเมื่อเดินจนครบทุกส่วนที่จัดแสดง ทุกคนก็จะหิว ถ้าอิเกียไม่มีร้านอาหารแล้วปล่อยให้คุณไปหาทานกินข้างนอก แน่นอนว่าคุณจะไม่กลับมา” คุณลาร์ชเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
อิเกียใช้แผนผังร้านแผนเดียวกันในทุกสาขาทั่วโลก ซึ่งห้องแรกที่คุณจะเจอก็คือ ห้องนั่งเล่น


8. ถ้าประสบความสำเร็จที่สวิตเซอร์แลนด์ได้ อิเกียจะไปเปิดร้านที่ไหนในโลกก็ได้
อิเกียเปิดสาขาต่างประเทศครั้งแรกที่ออสโลใน ค.ศ. 1963 ก่อนขยายสาขาไปเปิดร้านนอกเขตสแกนดิเนเวียร้านแรกที่ Spreitenbach ไม่ไกลจากซูริกใน ค.ศ. 1973 โดยเหตุผลที่พวกเขาเลือกสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศแรก เพราะที่นี่เป็นด่านบอสสุดโหดของตลาดเฟอร์นิเจอร์โลก เนื่องจากความชอบในของดั้งเดิมของคนที่นั่นแข็งแกร่งมาก ดังนั้น ถ้าประสบความสำเร็จที่สวิตเซอร์แลนด์ได้ อิเกียจะไปเปิดร้านที่ไหนในโลกก็ได้
9. อิเกียเริ่มใช้สีน้ำเงินและสีเหลืองเป็นสีหลักของแบรนด์เมื่อ ค.ศ. 1980 เพราะอยากให้คนคิดถึงประเทศสวีเดน
เดิมร้านอิเกียเป็นสีขาวดำ ช่วง ค.ศ. 1970 หลังเศรษฐกิจฟื้นฟู คนหันมาสนใจและบริโภคงานออกแบบมากขึ้น คนเริ่มมีปัจเจกเลือกวิถีชีวิตตามแบบที่ชอบ บ้างแต่งบ้านด้วยวัสดุอุตสาหกรรม มีส่วนประกอบของเหล็ก แก้ว บ้างใช้สีพาสเทล บ้างนิยมวัสดุที่แสดงถึงฐานะที่ดี เช่น กำมะหยี่ ผ้าไหม หนัง บ้างเลือกทำบ้านหลังใหญ่ ทำห้องครัวเปิด ตกแต่งบ้านด้วยของมีราคา ค.ศ. 1980 อิเกียจึงปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ด้วยสีน้ำเงินและสีเหลือง เพื่อสร้างความเป็นมิตรและเข้าถึงตลาดใหม่ๆ

10. แนวคิดในการออกแบบด้วยหลัก Democratic Design เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงสินค้าสวยงามและคุณภาพดีอย่างเท่าเทียมกัน
จากโจทย์ของอิเกียที่อยากให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี ชาวอิเกียมีหลักการออกแบบที่ยึดถืออย่าง Democratic Design พวกเขาเชื่อว่าคนเรามีสิทธิ์เข้าถึงสินค้าสวยงามและคุณภาพดีอย่างเท่าเทียมกัน นั่นทำให้งานออกแบบของอิเกียทุกชิ้นคำนึงถึง 5 มิติเป็นสำคัญ ได้แก่ รูปทรงที่สวยงามน่ารื่นรมย์ ประโยชน์ใช้สอยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต คุณภาพที่คงทน การแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำคัญที่สุดคือ ราคาย่อมเยาที่ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงได้
11. แม้ตำราธุรกิจเล่มไหนๆ จะบอกว่าลูกค้านั้นอ่อนไหวต่อราคาที่เปลี่ยนไป อิเกียทำสิ่งที่ลูกค้าไม่อาจปฏิเสธ
เมื่อไม่อาจลดราคาเก้าอี้ POÄNG รุ่นคลาสสิกเพราะเท่ากับลดคุณค่าเก้าอี้ในตำนานรุ่นนี้ลง แต่อิเกียก็อยากให้ทุกคนได้ใช้เก้าอี้ยอดนิยมตัวนี้ จึงพัฒนาวัสดุใหม่ที่ทำให้ผลิตเก้าอี้ POÄNG ได้ถูกลง เพื่อสร้างทางเลือกแก่ลูกค้าและรักษาคุณค่าของงานออกแบบ ผลก็คือ ราคาที่แตกต่างกันทำให้เก้าอี้ POÄNG รุ่นที่แพงกว่ายังคงขายได้ และเก้าอี้รุ่นใหม่ที่ถูกกว่ายิ่งขายดี

12. ชั้นหนังสือ BILLY เป็นสินค้าขายดีที่สุดตลอดกาลของอิเกีย เฉลี่ยแล้วขายได้ทุก 5 วินาที
ชั้นหนังสือ BILLY ขายดีตั้งแต่ ค.ศ. 1978 ที่เปิดตัวและยังเป็นสินค้าขายดีจนถึงวันนี้ นอกจากนี้ยังมี เก้าอี้ POÄNG, โต๊ะข้างเตียง LACK, กระดาษเช็ดปาก, โต๊ะกลม DOCKSTA, โซฟา EKTORP, เมนู Meatball และขวัญใจทุกคนอย่างถุงช้อปปิ้ง FRAKTA ซึ่งเหตุผลที่ร้านไม่ขายกระเป๋าอิเกียสีเหลืองบ้างเลย เพราะสีกระเป๋าที่แตกต่างเป็นโค้ดลับที่พนักงานแยกลูกค้าที่จ่ายเงินแล้วและยังไม่จ่ายเงิน
13. สร้างเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครด้วยชื่อสินค้าในภาษาสวีดิช
ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนและการสื่อสารอิเกียประจำประเทศไทยบอกว่า เป็นความตั้งใจของผู้ก่อตั้งที่อยากถ่ายทอดภาษาและวัฒนธรรมสวีดิชไปสู่ชาวโลก หากรู้ภาษาสวีดิช คุณจะพบว่าชื่อของเก้าอี้ ตู้ โต๊ะ เตียง และข้าวของต่างๆ เป็นชื่อของเมือง แม่น้ำ หรือแม้แต่เป็นคน
“มันอาจจะไม่ดีที่สุดแต่ดีเพียงพอแล้ว เพราะเป็นชื่อเดียวที่ใช้เรียกทุกสาขาทั้งโลก ไม่มีคู่แข่ง และง่ายต่อการสื่อสาร ไม่ต้องตั้งชื่อใหม่เมื่อวางขายเก้าอี้รุ่นเดียวกันที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลีให้สับสน” คุณลาร์ชเล่า
14. อิเกียทำยังไงให้จำนวนชิ้นส่วนในกล่องทุกกล่องพอดี ไม่มีขาดไม่มีเกิน
ในสารคดีเรื่อง Flatpack Empire (2018) ที่ออกอากาศทางช่อง BBC Two มีตอนหนึ่งพาไปดูโรงงานที่ผลิตตู้หนังสือ BILLY ให้อิเกียมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ได้เห็นเครื่องจักรทันสมัยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจนทำงานอย่างมีระบบ มั่นใจได้เลยว่าชิ้นส่วนในกล่องนั้นครบถ้วน ทั้งยังให้ความสำคัญกับคุณภาพ สุ่มตรวจความแข็งแรงของกล่องที่ห่อหุ้มอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่ดีที่สุด การจะเป็นผู้ผลิตให้สินค้าอิเกียได้ ไม่ใช่มีกำลังการผลิตจำนวนมหาศาลรองรับตลาดโลก แต่ต้องจริงจังกับคุณภาพซึ่งละเลยไม่ได้แม้เพียงจุดเดียว
15. เบื้องหลังการ Collaborate ของอิเกียและแบรนด์ระดับโลก
น้อยคนจะรู้ว่าความเป็นบริษัทใหญ่ที่มีสินค้าครอบคลุมทุกการใช้ชีวิต ทำให้การปรับปรุงหรือออกสินค้าใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ยาก เพราะเต็มไปด้วยข้อระวัง ผู้บริโภคเริ่มคาดหวังกับสินค้าและราคาของอิเกีย และเริ่มคาดเดาได้ อิเกียซึ่งก็รู้ปัญหานี้ดีจึงมีโครงการที่ชื่อว่า Speed Boat Project หรือโครงการพัฒนาสินค้าคอลเลกชันพิเศษร่วมกับนักออกแบบและแบรนด์ที่น่าสนใจ เพื่อเสริมทัพให้คอลเลกชันหลักสนุกและตื่นเต้น รวมไปถึงคอลเลกชันพิเศษร่วมกับแบรนด์หรือดีไซเนอร์ที่มีผลงานโดดเด่นแห่งยุค เช่น คอลเลกชัน YPPERLIG จาก IKEA x HAY แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และไลฟ์สไตล์ชื่อดังของเดนมาร์ก คอลเลกชัน MARKERAD จาก IKEA x Virgil Abloh แห่ง Off-White ที่สร้างปรากฏการณ์มีคนมาเข้าแถวที่อิเกียบางนาล่วงหน้าถึง 3 วัน และคอลเลกชัน SAMMANKOPPLA จาก IKEA x Greyhound Original แบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์สัญชาติไทย ที่ได้แรงบันดาลใจจากวิถีสบายๆ แบบไทยๆ ซึ่งจะวางจำหน่ายในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2020
นอกจากผลลัพธ์ทางการตลาดจากการขยายกลุ่มลูกค้า ผลก็คือ อิเกียมีสินค้าใหม่ๆ ที่น่าสนใจตามทันยุคสมัย นักออกแบบมีโอกาสแสดงผลงานต่อสายตาคนทั้งโลก ลูกค้าที่เป็นแฟนของแบรนด์ดังนั้นมีโอกาสเป็นเจ้าของในราคาที่จับต้องได้
16. แคตตาล็อกของอิเกียเป็นสิ่งพิมพ์ที่แข็งแกร่งมาก มียอดพิมพ์แต่ละปีสูงถึง 2.3 พันล้านเล่ม มากกว่าคัมภีร์ไบเบิล และยังเข้าถึงคนได้ทั่วโลก

เคล็ดลับความสำเร็จของอิเกียตลอด 70 ปี มีแคตตาล็อกอยู่ในนั้น ปัจจุบันมี 35 ภาษา และผลิตขึ้นที่อิเกียสำนักงานใหญ่ในเมืองเอล์มฮุลท์ ซึ่งมีอาคารสำหรับถ่ายทำแคตตาล็อกโดยเฉพาะ เป็นสตูดิโอถ่ายภาพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปเหนือ บรรจุห้องในแคตตาล็อกจำนวน 1,000 ห้อง ใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้น 9 เดือน
ในสารคดีเรื่อง Flatpack Empire (2018) มีตอนที่ตามไปดูการทำงานของบรรณาธิการฝ่ายศิลปกรรม ในส่วนของปกแคตตาล็อกที่เธอตั้งใจนำเสนอสิ่งใหม่ ต้องการให้มีภาพคนอยู่บนนั้น เพื่อสื่อสารเรื่องความหลากหลาย โดยมีตัวละครหลายเพศ วัย เชื้อชาติ ก่อนนำภาพที่ถ่ายไว้มากถึง 3,000 ภาพ เข้าที่ประชุมกรรมการอาวุโสเพื่อเลือกภาพปกแคตตาล็อกที่เหมาะสม เมื่อได้เห็นวิธีการทำงานและความเป็นจริงของโลก ก็นับถือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับแคตตาล็อกในแต่ละฉบับ ตั้งแต่นักออกแบบที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตเพื่อผู้คน ฝ่ายจัดทำเล่มที่คิดและทำให้แคตตาล็อกทำหน้าที่เรียกแขกได้สมบูรณ์แบบ ชาวอิเกียที่หน้าร้านที่คอยสื่อสารและบริการ และลูกค้าที่ให้ความเห็นอันเป็นประโยชน์เสมอเมื่อได้รับเล่ม

17. เอล์มฮุลท์ (Älmhult) บ้านเกิดผู้ก่อตั้ง ที่ตั้งร้านอิเกียสาขาแรก และเมืองที่คนทั้งเมืองทำงานอิเกีย
เอล์มฮุลท์ (Älmhult) เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 9,000 คน คนส่วนใหญ่ทำงานอิเกียหรือทำงานที่เกี่ยวของกับธุรกิจของอิเกีย นอกจากที่นี่จะเป็นที่ตั้งของร้านอิเกียสาขาแรกในโลกแล้ว ที่เมืองอิเกียแห่งนี้ยังเป็นออฟฟิศกลางที่มีแผนกต่างๆ กระจายอยู่ทั่วทั้งเมืองในรัศมี 5 กิโลเมตร มีตึกของฝ่ายสื่อสารการตลาดที่เข้าไปแล้วเป็นโรงถ่ายขนาดใหญ่ ทุกมุมจัดเป็นบ้านแบบที่เห็นในแคตตาล็อกของอิเกีย มีตึกขึ้นตัวอย่างชิ้นงานไม่ว่าจะพลาสติก เหล็ก ไม้ เบาะ มีพร้อมให้ขึ้นงาน มีตึกทดสอบสินค้า มีตึกที่ดูแลเฉพาะเรื่องการเงินการลงทุนอย่างเดียว มีตึกขนส่งและโลจิสติกส์
ปัจจุบันร้านอิเกียสาขาแรกได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์อิเกีย จัดแสดงประวัติศาสตร์ มีนิทรรศการหมุนเวียนที่พูดเรื่องเทรนด์การอยู่อาศัยในอนาคต ไฮไลต์ของการมาพิพิธภัณฑ์คือการถ่ายรูปปกแคตตาล็อกอิเกียเล่มล่าสุด บริเวณเดียวกันมี IKEA Hotell โรงแรมอิเกียที่เปิดทำการมาตั้งแต่ ค.ศ. 1964 โดยห้องพักตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และของใช้อิเกีย เป็นโรงแรมที่ออกแบบห้องพักให้เล็ก และออกแบบพื้นที่ส่วนกลางให้ใหญ่สำหรับแขกใช้พักผ่อนหย่อนใจ แฟนคลับอิเกียตัวจริงต้องหาโอกาสมาให้ได้สักครั้ง เดินทางด้วยรถไฟจากสนามบินโคเปนเฮเกนใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง



18. ร้านไอศกรีมที่อิเกียบางนา เป็นร้านไอศกรีมของอิเกียที่แรกและที่เดียวในโลก
นอกจากนี้ ยังมีเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะตลาดประเทศไทย คุณลาร์ชเล่าว่า ช่วงที่เปิดร้านอิเกียบางนาใหม่ๆ ลูกค้าจำนวนมากไม่ชินกับการต้องลงไปหยิบสินค้าที่โกดังชั้นล่างด้วยตัวเอง จึงได้เห็นภาพความน่ารักของลูกค้าที่กลับมาอิเกียพร้อมคนรถและแม่บ้านช่วยกันขนกล่อง โดยสินค้าขายดีในตลาดประเทศไทยก็ยังเป็นตู้หนังสือ BILLY เหมือนกับอีก 400 สาขาทั่วโลก
หรือพฤติกรรมที่น่าสนใจอย่างคนไทยใช้จ่ายกับการตกแต่งที่อยู่อาศัยน้อยเมื่อเทียบกับอย่างอื่น เช่น รถยนต์ สมาร์ทโฟน เสื้อผ้าเครื่องประดับ หรือค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของลูกหลาน ประกอบกับคนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตนอกบ้าน นัดเจอเพื่อนที่ร้านกาแฟ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ไม่ค่อยชวนใครไปบ้าน ต่างจากคนในประเทศอื่นๆ ที่มีค่าครองชีพนอกบ้านสูง จึงชอบชวนคนรอบตัวมาใช้เวลาด้วยกันในบ้านแทน และให้ความสำคัญกับการทำบ้านให้น่าอยู่
19. นิยามเรื่องความยั่งยืนแบบฉบับอิเกีย ที่บอกให้เรารู้จักประเมินทางเลือกและเวลาที่มีเพื่อมีชีวิตที่ดี
“องค์กรอื่นชอบการวัดผลว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ยั่งยืนหรือเปล่า ทั้งๆ ที่วิธีคิดควรจะมาจากธรรมชาติ ไม่ใช่ประกาศบอกว่าเรากำลังทำสิ่งที่ยั่งยืน เพราะมีบางคนเท่านั้นที่สนใจว่าของชิ้นนี้ทำจากวัสดุอะไร ผ่านกระบวนการอะไรมา ดีต่อโลกหรือชุมชนแค่ไหน แต่บางคนนั้นไม่ สิ่งที่น่าสนใจคือเราควรทำให้เขาเห็นคุณค่าของสิ่งตรงหน้าด้วยตัวเอง” คุณลาร์ชเล่า
แทนที่จะบอกให้ทุกคนรักโลกกัน เรามาปกป้องโลกกันเถอะ อิเกียบอกคนสำคัญรอบๆ ตัวว่า ถ้าคุณใส่ใจเรื่องนี้ คุณจะมีชีวิตที่ดีอย่างไร คุณจะประหยัดเงินแค่ไหน
เช่น การวางแผนเดินทางไปทำงาน จะเลือกรถไฟฟ้าซึ่งให้ความสะดวก หรือเลือกขับรถซึ่งคุณจะได้กินข้าว แต่งหน้า ฟังวิทยุไปด้วยได้ เหล่านี้คือการรู้จักทางเลือกและเวลาที่มี อีกตัวอย่างง่ายๆ คุณลาร์ชเล่าเปรียบเทียบกับการรักษาความสัมพันธ์ระยะยาว การพบใครสักคน รักกัน อยู่ด้วยกัน สร้างครอบครัวด้วยกัน แล้ววันหนึ่งอยากมีบ้านหลังใหญ่พอ อยากใช้เวลาหยุดด้วยกันให้มากพอ อยากมีงานที่ดีและมั่นคง เพื่อจะได้หาเงินมาดูแลครอบครัว เป็นต้น หมายความว่า ถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่ทำส่งผลต่อชีวิตระยะยาวของเราแค่ไหน เราจะอยากทำให้มันดีขึ้น เราจะตั้งใจเลือกสิ่งที่ดี เลือกทำสิ่งที่ถูกต้อง เข้าตามตำราที่บอกให้ใส่ใจผู้คน สิ่งแวดล้อม และธุรกิจ
คุณลาร์ชบอกว่า เป้าหมายของฝ่ายที่ทำงานเรื่องความยั่งยืนในอิเกียคือการปิดฝ่าย
“หน้าที่ของฝ่ายงานเพื่อความยั่งยืน คือทำให้คนในองค์กรเข้าใจและปรับใช้ในงานของตัวเอง เมื่อเวลาผ่านไป หากแผนกนี้ยังคงมีอยู่ก็แปลว่าองค์กรเรายังไม่ยั่งยืนด้วยตัวเอง”

20. เมื่อสินค้าอิเกียขายดีหรือขายออกหมด นั่นก็ถือเป็นการสร้างผลกระทบและเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนแล้ว
เมื่อเราถามว่ามีเฟอร์นิเจอร์ชิ้นไหนหรือคอลเลกชันไหนของอิเกียส่งผลกระทบต่อสังคมหรือเปลี่ยนโลกของใครไปตลอดกาลบ้าง คุณลาร์ชซึ่งเป็นตัวแทนชาวอิเกียก็ตอบทันทีว่า ยอดขายที่ดี แปลว่ามีผู้คนจำนวนมากเข้าถึงสินค้าของอิเกียอย่างที่พวกเขาตั้งใจ และของทุกชิ้นช่วยทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น
ความท้าทายต่อไปของอิเกีย คือการทำสินค้าให้เข้าถึงลูกค้ามากที่สุดในยุคที่พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป เดิมอิเกียเลือกสร้างร้านขนาดใหญ่และตั้งอยู่ไกลจากเมือง ลูกค้าต้องมีรถมาซื้อและขนของกลับ ลดต้นทุนเพื่อขายสินค้าในราคาที่ถูกได้ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน คนจำนวนมากไม่ได้มีรถเหมือนแต่ก่อน สภาพจราจรก็ย่ำแย่ การมาร้านจึงเป็นเรื่องยาก
ในอนาคตอิเกียมีแผนจะเปิดร้านขนาดเล็กในย่านชุมชนเมือง โดยเลือกเปิดขายของบางส่วน เช่น ร้านอิเกียเวอร์ชันขายทุกอย่างที่เกี่ยวกับห้องครัว พร้อมบริการให้คำปรึกษาโดยนักออกแบบและตกแต่งภายใน เพิ่มโอกาสเข้าถึงร้าน และเพิ่มศูนย์บริการสั่งซื้อและรับสินค้าอิเกียแบบเดียวกับที่ภูเก็ตให้มากขึ้น และตอนนี้อิเกียก็เปิดให้ช้อปปิ้งออนไลน์ผ่าน www.ikea.co.th พร้อมมีบริการจัดส่งทั่วประเทศ