หากเปรียบห้องนี้เป็นตลาดรวมไอเดีย ตะกร้าใบใหญ่แค่ไหนก็คงช้อปไม่พอ! เพราะตัวแทนผู้ประกอบการไทยกว่า 19 แบรนด์ ตั้งแต่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน ในโครงการบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 1 – 5 ต่างพาสินค้าแนวคิดดีมาอวดโฉม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของ ‘โครงการบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 6 (IDEA LAB 6 : Thai Brand Incubation Program)’ จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

ท่ามกลางการแข่งขันและการเกิดใหม่ของผู้ประกอบการทั่วโลก ประเทศไทยซึ่งมีทั้งทรัพยากรและบุคลากรควรเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อส่งสินค้าและบริการไทยไปเฉิดฉายระดับโลก โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศตั้งใจจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อสร้างเส้นทางเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน สร้างคุณค่าและมูลค่าของแบรนด์สินค้าที่ทุกคนควรรู้จักและจับจอง

นอกจากความสนุกในการนั่งฟังจุดเริ่มต้นของไอเดียที่ถึงขั้นร้องว้าว เรื่องราวของการพัฒนาโมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่แต่ละวงการมองหาก็เปิดโลกให้เราเช่นกัน สุดท้าย IDEA LAB 6 ยังฉายภาพให้เห็นการสร้างโอกาสและสร้างเครือข่ายเพื่อพาแบรนด์ไทยไปตลาดโลก

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกอบการที่กำลังมองหาลู่ทางพัฒนาไอเดีย หรือเป็นผู้บริโภคที่กำลังหาผลิตภัณฑ์แนวคิดดีเข้าบ้าน เราขอชวนทุกท่านทำความรู้จัก 5 แบรนด์อนาคตไกล มีตั้งแต่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงออร์แกนิกที่ดีต่อสัตว์และไม่ทำร้ายคน ธุรกิจของเล่นกินได้ ลูกอุ่นใจ ผู้ใหญ่หายห่วง ธุรกิจแพลนต์เบสเพื่อสุขภาพที่ตอบโจทย์คนแพ้อาหาร จนถึงธุรกิจของฝากที่ตั้งใจเปลี่ยนวัตถุดิบไทยเป็นตัวแทนประเทศ และธุรกิจกราโนล่าจากข้าวไทย ชุบชีวิตเกษตรกร 

ทุกแบรนด์ตั้งใจผนึกกำลังความสร้างสรรค์เข้ากับเอกลักษณ์ความเป็นไทย สร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับแนวคิดตั้งต้นจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อันยอดเยี่ยม ว่าแล้วเราไปลงรายละเอียดการพัฒนาแบรนด์อันน่าสนใจเหล่านี้กัน

#01

Orga Organic Pets

แบรนด์ที่ตั้งใจพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยงจากผลไม้และความรักให้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงปลอดภัย

ORGA มาจากคำว่าออร์แกนิก

Orga Organic Pets มาจากความรักและความตั้งใจของ เอก-ธวีโรจน์ ธนธรธรรม ผู้เริ่มทำแบรนด์ ORGA ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่ดูแลเรื่องความสะอาด เริ่มตั้งแต่การบำรุงขน บำรุงผิว รวมไปถึงการทำความสะอาดที่อยู่ของสัตว์เลี้ยง โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมาจากสารสกัดจากธรรมชาติ เน้นสกัดจากผลไม้เป็นหลัก

ก่อนริเริ่มทำแบรนด์ เอกเลี้ยงสุนัขมากว่า 20 ปี จนเจอเข้ากับปัญหาสุนัขขนร่วง รวมไปถึงปัญหากลิ่นตัว ขณะเดียวกัน เขาทำงานเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่กรมปศุสัตว์ จึงเห็นถึงปัญหาการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อสัตว์เลี้ยง คน และสิ่งแวดล้อม 

เอกค้นพบว่าผลิตภัณฑ์จำพวกสารเคมี น้ำยาทำความสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง อีกทั้งเมื่อน้ำยาเหล่านี้กระจายสู่สิ่งแวดล้อมย่อมเกิดมลพิษ เช่น สารให้ฟอง (SLS) ซึ่งมีซัลเฟต หากเจือปนในแหล่งน้ำจะทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมสีเขียวและน้ำเน่าเสีย หรือหากสัตว์เลี้ยงสัมผัสก็จะเกิดอาการแพ้และคันตามมา

เมื่อเจอปัญหาจึงต้องหาทางแก้ เอกสะสมความรู้ด้านนี้ทั้งการปรึกษานักวิชาการ เข้าสัมมนา ใช้เวลากว่า 2 – 3 ปี ตกผลึกเป็นองค์ความรู้จนเกิดเป็น Orga Organic Pets แบรนด์ที่รักทั้งคนเลี้ยง สัตว์เลี้ยง และโลก

“แนวความคิดของเรา คือคน สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สมดุล และยั่งยืน (Everlasting Happiness & Togetherness) เพื่อคืนสมดุลให้กับวิถีธรรมชาติแบบดั้งเดิม ที่สำคัญคือต้องไม่ใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต” เอกเสริม

เขาใช้สารซาโปนินที่ได้จากประคำดีควายแทนสารให้ฟองอย่าง SLS และ SLES ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนัง ทั้งยังใช้สารบรอมีเลนจากเปลือกสับปะรดแทนสารดับกลิ่น และสารแซนโทนจากเปลือกมังคุดแทนสารป้องกันแบคทีเรียที่ก่อโรคผิวหนัง

อีกความน่าสนใจของ Orga Organic Pets คือวัตถุดิบที่ใช้ล้วนมาจากของเหลือที่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจได้ ประคำดีควายจากดอยมูเซอ จังหวัดตาก สร้างการจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้านมูเซอให้ช่วยเก็บ ส่วนเปลือกผลไม้อย่างสับปะรดและมังคุดมาจากอุตสาหกรรมผลไม้กระป๋องที่หากปล่อยทิ้งไว้ก็กลายเป็นขยะอยู่ดี

นอกจากเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยง Orga Organic Pets ยังชูธงผลิตภัณฑ์

“สัตว์เลี้ยงเลียกินได้ ปลอดภัย เหมือนเอาน้ำสับปะรด น้ำมังคุด ไปให้สัตว์เลี้ยงทานหรือเลีย เพราะหากเป็นสินค้าที่มีสารเคมี ย่อมมีโอกาสตกค้างทั้งในตัวสัตว์และสิ่งแวดล้อม”

สำหรับ Orga Organic Pets การเติบโตของแบรนด์ต่อยอดทางเศรษฐกิจต่อไปได้อีก ในปัจจุบัน ด้วยเทรนด์ Pet Humanization และความหลากหลายทางสังคมที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้คนหันมาดูแลสัตว์เหมือนลูก ทั้งยังเลือกหาสิ่งดี ๆ ให้แก่สัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หรือกลุ่มสัตว์ Exotic อย่างงู กระต่าย นก กิ้งก่า ดังนั้น การหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสัตว์เลี้ยง จึงส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเติบโตขึ้นทุกปี

ปัจจุบัน เอกได้ปรึกษากับโครงการ IDEA LAB เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยทาง IDEA LAB มองว่าผลิตภัณฑ์จำพวกแชมพูยังมีการใช้เฉพาะกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ แต่การทำความสะอาดบ้านหรือกำจัดปัญหากลิ่นรบกวนในบ้านมีโอกาสขยายฐานผู้บริโภคให้ใช้ผลิตภัณฑ์มากกว่า Orga Organic Pets จึงพัฒนาแนวคิดไปอีกขั้น โดยหันมาเน้นที่น้ำยาถูพื้น น้ำยาทำความสะอาด รวมถึงสเปรย์ดับกลิ่นสัตว์เลี้ยงในบ้าน

#02

organeh baby

แบรนด์อาหารเพื่อเด็กที่เล่นได้ กินได้ ปลอดภัย ผู้ใหญ่หายห่วง

“อยากให้เราเป็นขนมชิ้นแรกให้ลูกของคุณ เมื่อลูกสบายใจ คุณพ่อคุณแม่ก็สบายใจ” ขวัญ เกตุขาว ประธานบริษัทเล่าให้ฟังเมื่อถามถึงจุดมุ่งหมายของแบรนด์ 

organeh baby เป็นแบรนด์อาหารและขนมสำหรับเด็ก มีตั้งแต่โจ๊ก ซุปธัญพืช เส้นพาสตา ขนมทานเล่น ยันผงโรยข้าว โดยทั้งหมดเริ่มต้นมาจากการที่ขวัญเห็นลูกตัวเองแพ้นม แพ้กลูเตน และส่วนผสมประกอบอาหารบางอย่าง จนลูกของเธอกลายเป็นเด็กที่กลัวการกินอาหาร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะครอบครัวของเธอเท่านั้น แต่ยังมีพ่อแม่อีกมากที่เผชิญปัญหาเหล่านี้ ขวัญจึงขอเป็นตัวแทนผู้ปกครองหาทางเลือกด้านอาหารให้ลูกหลานเอง

“หลังจากนั้น เราไปเจอขนมในซูเปอร์มาร์เก็ตที่น่าสนใจ แต่ด้านในมีแค่ 20 ชิ้น ซึ่งเด็กในวัยหยิบจับ เขาจะชอบทดลอง ถือเล่น โยนทิ้ง ทำตกบ้าง ทำให้เรารู้สึกเสียดาย เพราะราคาแพง นั่นจึงเป็นจุดที่ตัดสินใจลองพัฒนาแบรนด์และทำสินค้าให้ตอบโจทย์ด้วยตัวเอง

“อีกอย่างคือพ่อแม่บางคนอาจไม่ทราบว่าลูกตัวเองแพ้กลูเตน ซึ่งเราเจอเด็กแพ้กลูเตนเยอะ ลูกเราก็ด้วย เราจึงใช้ความเข้าใจแม่ ๆ มาหาทางช่วยเขาเช่นกัน”

ทว่าการเริ่มต้นลงมือทำก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเนื้อสัมผัสที่ทำออกมาตอนแรกค่อนข้างแข็ง หลังจากนั้นจึงได้นักวิจัยด้านอาหารเข้ามาช่วยจนนำมาสู่ผลิตภัณฑ์แรกของ organeh baby นั่นก็คือ Mini Cracker ที่มีทั้งความกรอบ ความเบา ละลายในปาก ทั้งยังถูกตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็ก เพื่อให้พอดีสำหรับเด็กเมื่อต้องการจะหยิบทานด้วยตัวเอง

ความโดดเด่นของแบรนด์ organeh baby คือการเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นจากจังหวัดพัทลุงซึ่งเป็นจังหวัดที่ขวัญเติบโตมา สิ่งนั้นเรียกว่า ‘ข้าวสังข์หยด’ ที่เต็มไปด้วยสารบำรุงสมอง ปราศจากกลูเตน และย่อยง่าย ถูกใจผู้ใหญ่ที่อยากกินและอยากลองแย่งของกินลูกหลานอย่างแน่นอน

“ตอนเด็ก เวลามีโอกาสพิเศษ คุณแม่จะเอาข้าวสังข์หยดมาให้กิน แต่ด้วยคุณประโยชน์ที่ข้าวชนิดนี้มี ตอนนี้เด็ก ๆ ก็ไม่ต้องรอถึงโอกาสพิเศษอีกแล้ว” ขวัญเล่าพร้อมอธิบายเพิ่มถึงกระบวนการอันพิถีพิถัน ตั้งแต่การนำวัตถุดิบสดใหม่มาปอกเปลือกเองเพื่อเข้าสู่การผลิต และการควบคุม ให้คำแนะนำ และความคิดเห็นโดยพยาบาล นักวิจัยอาหาร จนถึงตัวเด็ก ๆ เอง

นอกจากผลิตภัณฑ์ตัวแรก organeh baby ยังไม่หยุดพัฒนาแบรนด์ให้เติบโต ขวัญสร้างสรรค์เมนูอื่น ๆ ออกมาอีกโดยใช้วัตถุดิบจากชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นผักเคลจากปากพนัง ผงโรยข้าวจากผงปลานิล จังหวัดพัทลุง เพื่อสร้างรายได้ให้กลุ่มชาวประมง

เมื่อแบรนด์เติบโตขึ้น เธออยากให้ organeh baby เป็นมากกว่าเพียงผลิตภัณฑ์ที่มาอุดรูโหว่ของปัญหา แต่เป็นเสมือน ‘ครัว’ ของแต่ละบ้าน

“เมื่อไหร่ที่คุณแม่ก้าวเท้าเข้าไป แบรนด์ของเรามีอาหารพร้อมเสิร์ฟให้ลูกหลานของคุณเสร็จสรรพ โดยคุณแม่ไม่ต้องมาเสียเวลาเตรียมด้วยตัวเอง ใช้เวลาตรงนี้ไปเล่นกับลูกดีกว่า“การจะไปถึงจุดนั้นได้ แบรนด์ของเราต้องขอบคุณ IDEA LAB ที่ให้โอกาสและให้คำปรึกษาในการต่อยอดแบรนด์ต่อไป หลังจากนี้ organeh baby จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเรื่อย ๆ ตามอายุของเด็กที่เติบโตไปพร้อมกับเรา”

#03

Mantra

แบรนด์อาหารแพลนต์เบสที่ทำให้คนแพ้อาหารทะเลได้สัมผัสอาหารทะเลอีกครั้ง

พูดถึงแพลนต์เบส หลายคนคงนึกถึงอาหารแห่งอนาคต เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนี่คือเหตุผลหลักที่ พีท-สิริเชษฐ์ จิรพงษ์วัฒนะ พนักงานประจำในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพในชื่อ Mantra Plant-Based Foods อาหารทะเลจากพืช รสชาติแบบไทย ผลิตโดยคนไทยเอง

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อน พีทไปดูงานแสดงสินค้า ANUGA ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นการจัดแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาได้พบกับผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสและเห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของผลิตภัณฑ์นี้ในอนาคต

“เราเห็นเทรนด์แล้วกลับมาคิด เริ่มวิจัย ทดลอง พัฒนา จนกลายเป็นแบรนด์ Mantra ในปัจจุบัน”
วันแรกที่เริ่มพัฒนาแบรนด์ พีทโฟกัสไปยังการส่งออกสู่ต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากตลาดแพลนต์เบสต่างประเทศเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเอเชีย ยุโรป หรือทางตะวันออกกลาง ขณะที่ตลาดไทยยังต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น อาหารจากพืชก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เกิดและโตที่แม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม สมัยเด็กออกจากบ้านก็กระโดดลงน้ำได้แล้ว แต่ทุกวันนี้ทำไม่ได้ เพราะน้ำมันแย่เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่รายล้อม” จากปัญหาที่พบในวัยเด็ก พีทจึงมีไอเดียผลิตอาหารทะเลจากพืช เพื่อลดมลภาวะที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลหลายแห่งที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

“เราพัฒนาแนวคิดต่อไปอีกว่าลูกชิ้นกุ้งของเรา คนแพ้กุ้งก็ทานได้ เพราะทำมาจากพืช ทั้งยังมีโปรตีนสูง ไม่มีคอเลสเตอรอล และไขมันอิ่มตัวต่ำ รสชาติเหมือนกุ้งที่ไม่เคยกิน หรืออาจเคยกินก่อนมีอาการแพ้”

ด้วยเหตุนี้ Mantra จึงให้ความสำคัญกับวัตถุดิบเป็นอย่างมาก ทางแบรนด์ใช้ถั่วเหลืองและถั่วลูกไก่ภายในประเทศ มีบางส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากปริมาณการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ในปัจจุบันพวกเขายังหันมาใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมากกว่าเดิม ทั้งขนุน เห็ดชนิดต่าง ๆ รวมถึงผักผลไม้ท้องถิ่น

นอกจากนี้ Mantra มองว่าการพัฒนาแบรนด์ที่ดีไม่ใช่เพียงการพัฒนาตัวสินค้า แต่บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเป้าหมายหลักก็ต้องให้ความสำคัญ โดยบรรจุภัณฑ์ด้านในเป็นซองไนลอนที่นำไปรีไซเคิลได้ ส่วนด้านนอกเป็นกล่องกระดาษมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

กว่าจะเดินทางมาถึงวันที่แบรนด์เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศย่อมต้องผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลานมาก่อน พีทเริ่มสร้าง Mantra ในฐานะ SMEs ขนาดเล็กช่วงโควิด-19 ทำให้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศไม่ได้ แต่ด้วยโอกาสและการสนับสนุนจาก IDEA LAB กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จึงได้เริ่มทำ Online Business Matching กับลูกค้าทั่วโลกตลอดเกือบ 2 ปี หลังจากโรคระบาดบรรเทา ตลาดเปิด Mantra จึงได้ไปโชว์ตัวในงานจัดแสดงสินค้าต่างประเทศ

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แบรนด์ Mantra ส่งออกไปยังหลายประเทศเพื่อเข้า Food Service ทั้งประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ และกำลังจะไปโผล่เป็นผู้เล่นในซาอุดีอาระเบียและดูไบด้วย ท้ายที่สุด พีทอยากชวนทุกคนลองเปิดใจให้กับอาหารแพลนต์เบสมากยิ่งขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

#04

Pattaraporn Homemade

แบรนด์เม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ไม่ได้ขายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แต่ขายของฝากตัวแทนประเทศไทย

“Pattaraporn เริ่มต้นจากร้านเบเกอรี แต่เราไม่เคยมองว่าตัวเองขายเบเกอรีหรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เพราะแบรนด์ของเราขายของฝากที่เป็นตัวแทนความเป็นไทยและความพิถีพิถันแบบไทย”

ปู-ภัทรภร ศุภศรี คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Pattaraporn Homemade สู่การเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ คาราเมล (สูตรไร้น้ำมัน) และกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น ‘ตัวแทนประเทศไทย’ ในฐานะของฝาก พร้อมผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มาจากการเข้าร่วมโครงการ IDEA LAB

ปูมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับเอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยตั้งใจให้ของฝากจากแบรนด์ของเธอช่วยเติมเต็มความประทับใจแก่ทั้งผู้ให้และผู้รับ ชนิดที่ผู้ให้ต้องภูมิใจที่ได้ให้และผู้รับต้องภูมิใจที่ได้รับ

แต่การเปลี่ยนแบรนด์ที่ทำเบเกอรีสูตรทางบ้านมาตั้งแต่ปี 2010 สู่การเป็นของฝากที่มีฝันใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย จากร้านเบเกอรี พวกเขาเริ่มนำเม็ดมะม่วงหิมพานต์เข้ามาเสริมจนกลายเป็นว่าผลิตภัณฑ์จากเม็ดมะม่วงหิมพานต์กลับขายดีกว่าเค้ก โดยได้ผลตอบรับดีเป็นพิเศษในช่วงปีใหม่ แต่หลังจากช่วงปีใหม่ผลตอบรับก็ไม่ดีเช่นเดิม ปูจึงเกิดความสงสัยและกลับมาถอดบทเรียนในครั้งนั้น

“เราพัฒนาแบรนด์ Pattaraporn โดยย้อนกลับมาดูว่าเรามีอะไรเด่นบ้าง เราผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีสูตรดั้งเดิมที่สืบทอดต่อมายาวนาน คั่วด้วยกระทะทองเหลืองปราศจากน้ำมัน เรียกว่าเป็น Authentic Thai Homemade ไม่มีคอเลสเตอรอล ไม่มีไขมันทรานส์ วัตถุดิบของไทย”

ส่วนอีกประเด็นสำคัญในการต่อยอดไอเดีย คือแบรนด์ต้องเป็นที่รู้จักของลูกค้า

“เราเลยเก็บสถิติของลูกค้าโดยใช้เวลาเก็บประมาณ 6 – 8 เดือน เก็บทุกการซื้อ เก็บทุกวัน สุดท้ายแล้วจึงพบว่า 80% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

ด้วยเหตุนี้ปูจึงค้นพบตัวตนของ Pattaraporn และรู้ว่าสินค้าของแบรนด์ทำหน้าที่ในฐานะของฝากจากประเทศไทย ในเมื่อแบรนด์เล็ก ๆ ได้รับภารกิจและบทบาทอันยิ่งใหญ่ เป็นหน้าเป็นตาให้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ไทยไปเคาะประตูบ้านชาวโลก เรื่อง ‘คุณภาพ’ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้ เพราะจะเสียหน้าไม่ได้เด็ดขาด

เม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ใช้มาจากรัฐวิสาหกิจชุมชนจังหวัดศรีสะเกษและอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นแหล่งดินภูเขาไฟอุดมไปด้วยแร่ธาตุ และให้ผลผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์คุณภาพ นอกจากนี้คือกระบวนการผลิตที่ยังใช้แรงงานในการคั่วกระทะทองเหลือง เกิดเป็นการจ้างงานและหมุนเวียนรายได้ในชุมชนเขตประเวศและสวนหลวง

“เรื่องของตัวอัตลักษณ์ความเป็นไทย ผู้ประกอบการรายเล็กอย่างเรา หากจะสู้รายใหญ่ให้ได้ต้องหาความแตกต่าง ซึ่งสิ่งนั้นยังคงเป็น Authentic Thai Homemade แต่เท่านั้นไม่พอ แบรนด์ของเราจึงมองหาความแตกต่างอื่นโดยใช้ Soft Power เพิ่มมูลค่าผ่านเรื่องเล่าและวัฒนธรรมไทย”

อาหารและตำนานจึงถูกนำมาผนวกกันกลายเป็นเรื่องจากป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นดินแดนอัศจรรย์อันเต็มไปด้วยพันธุ์พืชแปลกตา มีสัตว์ในตำนานที่มนุษย์ไม่เคยค้นพบอาศัยอยู่ 

โดยทั้งหมดเล่าผ่านบรรจุภัณฑ์สีสวย ประดับด้วยลายไทยอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งน่าฝากและน่าเก็บไปในตัว สมความตั้งใจที่ Pattaraporn พัฒนาแบรนด์จากร้านเบเกอรี สู่ตัวแทนส่งต่อความเป็นไทยฝากไปกับนักเที่ยวให้ช่วยเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก

#05

Bioblack

แบรนด์กราโนล่าจากข้าวไทย ชุบชีวิตเกษตรกรและข้าวที่ใกล้หายไป แบ่งปันของดีให้ชาวโลกทาน

พระธาตุขิงแกง แหล่งปลาเค้า ค่าวหงส์หิน ถิ่นเวียงลอ พืชผลเกษตรมีเพียงพอ ‘ข้าวก่ำงาม’

ประโยคข้างต้นคือคำขวัญของอำเภอจุน จังหวัดพะเยา จังหวัดที่เป็นจุดริเริ่มในการสร้าง ‘กราโนล่าจากข้าวก่ำ’ ผลิตภัณฑ์หลักของแบรนด์ Bioblack ผู้ส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน

Bioblack เกิดจากการรวมตัวของ เคน-เคนเนท สุภัทรประทีป กรรมการผู้จัดการ ผู้เคยส่งออกข้าวและมีความสนใจในเรื่องโภชนาการ และ ต้วน-ธีระนันท์ ใจคำ ประธานวิสาหกิจชุมชน ผู้เติบโตมากับการเป็นลูกหลานชาวนา

ก่อนเริ่มสร้างแบรนด์ ทั้งคู่ต่างมีความรู้เรื่องข้าวอยู่แล้วในเบื้องต้น เนื่องจากทำอาชีพส่งออกข้าวมาก่อน ทว่าสิ่งที่จุดประกายไอเดียของทั้งสองนั้นกลับมาจากเรื่องเล่าในวันธรรมดาวันหนึ่ง 

“เรามีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ สังเกตว่าอาหารแต่ละประเทศในโรงแรมมันไม่เหมือนกันเลย แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนทุกประเทศกินได้เหมือน ๆ กันคือกราโนล่า เลยฉุกคิดได้ว่าทำไมไม่ลองเอาข้าวบ้านเรามาทำเป็นกราโนล่าดูล่ะ เพื่อที่จะทำให้คนทั่วโลกกินข้าวเราง่ายมากขึ้น แล้วเราก็พัฒนาไอเดียต่อโดยใช้ภูมิปัญญาในการทำข้าวแต๋นบ้านเรามาแปรรูป คั่วข้าวพอง แต่เป็นข้าวแต๋นแบบไม่ทอด”

หลังจากวันนั้น ต้วนและเคนจึงเสาะหาเมล็ดข้าวที่จะนำมาใช้ เพื่อต่อยอดให้กลายเป็นกราโนล่าของแบรนด์ จนมาพบกับข้าวก่ำของจังหวัดบ้านเกิดต้วน 

“เราเห็นข้าวมาหลายชนิด แต่ข้าวเฉดสีดำมันมีมูลค่าสูงมาก แถมเป็นที่ต้องการของตลาด ต่างชาติเคยชมว่าข้าวไทยสีสวย อีกทั้งยังมีประโยชน์มาก ต้องเล่าก่อนว่าข้าวจะมีผิวเคลือบเมล็ด ยิ่งแข็งยิ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ แล้วข้าวก่ำมีผิวเคลือบเมล็ดแข็งที่สุด ทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นแห่งพลังงานทางโภชนาการที่รอให้โลกมาค้นพบ” 

อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาแบรนด์คือการทำความเข้าใจผู้บริโภาค Bioblack มีความยั่งยืนเป็นจุดศูนย์กลาง และไม่ลืมว่ากราโนล่าส่วนใหญ่มักทานกับข้าวโอ๊ต ซึ่งระหว่างกระบวนการผลิตอาจมีการปนเปื้อนกลูเตนจนทำให้ 1% ของประชากรทานข้าวโอ๊ตไม่ได้ ดังนั้น ข้าวก่ำที่เป็น Super Food ไม่มีกลูเตน จึงเหมาะแก่การเป็นจุดเด่นระดับโลก

แต่แม้คำขวัญของอำเภอจุนจะบอกว่าที่นี่คือแหล่งข้าวก่ำงาม แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น

“ผมกลับบ้านไปที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพะเยา เขาบอกว่าไม่มีเมล็ดเหล่านี้เหลือปลูกแล้ว เราเลยเกิดคำถามในใจว่า ทำไมของดีประจำอำเภอถึงหายไป เลยเริ่มกลับมาคุยกับแม่และญาติในชุมชนว่าผมจะรวบรวมพันธุ์ข้าวก่ำเพื่อกลับมาปลูกมันอีกครั้ง”

จากความตั้งใจระดับปัจเจก ส่งให้ Bioblack กลายเป็นแบรนด์ที่ผนวกรวมความร่วมมือกับเกษตรกรและหน่วยงานราชการในอำเภอจุน เพื่อพัฒนาแบรนด์ให้เติบโตและเป็นการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวนา อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าของข้าวก่ำภายใต้คำขวัญของแบรนด์ว่า Nourishing you, Empowering community

“เราเชื่อมาตลอดว่าปู่ย่าตายายชาวนาเราเก่ง แต่เขาแค่ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงเพื่อต่อยอดมันออกมา เพราะฉะนั้น เยาวชนรุ่นใหม่จึงมาช่วยดึงเขากลับสู่ชุมชน แล้วพอทำสำเร็จ เราก็ได้เห็นรอยยิ้มของพ่อ ๆ แม่ ๆ รอยยิ้มของเกษตรกรทำให้ผู้สร้าง Bioblack อย่างพวกเราใจฟูมาก” 

ด้วยความไม่ย่อท้อของเจ้าของผู้มุ่งมั่นขายฝันให้ชาวบ้าน Bioblack กลายเป็นแบรนด์ที่ไม่หยุดพัฒนาและตั้งใจต่อยอดของดีที่มีให้ไปไกลกว่าเดิม โดยการเข้าร่วมโครงการ IDEA LAB ในครั้งนี้จะช่วยสร้างช่องทางให้พวกเขาก้าวไปเป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมกำลังใจและแนวทางในการสร้างเกษตรกรรมและการผลิตอย่างยั่งยืน ชนิดที่ในอนาคตพวกเขาตั้งใจคิดค้นผลิตภัณฑ์เพิ่ม เพื่อทำให้ทุกขั้นตอนคุ้มค่า ไม่มีอะไรเหลือทิ้ง แม้แต่น้ำซาวข้าวก็ตาม

Writers

Avatar

ณัฐกานต์ บุตรคาม

เรียนรู้การเขียนจากไดอารี่เล่มเล็ก ความฝันวัยเด็กคือเป็นนักกีฬาแบดมินตัน ปัจจุบันเรียนวารสารศาสตร์

วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

ติดบ้าน ชอบดื่มชา เล่นกีฬาไม่ได้เรื่อง

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ