หลากหลายงานวิจัยต่างเห็นตรงกันว่า ช่วงเวลา 2 – 5 ขวบปีของชีวิตมนุษย์นั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการพัฒนามองส่วนหน้า อันจะส่งผลกระทบไปถึงแนวคิด การตัดสินใจ และการใช้ตรรกะตลอดชีวิตที่เหลือของมนุษย์คนนั้น 

แต่ช่วงเวลาทองในการพัฒนาอนาคตของชาติมักถูกละเลยอย่างน่าเสียดาย จนทำเด็กหลายคนเสียโอกาสและเติบโตสู่ช่วงวัยรุ่นด้วยภาวะเปราะบาง บ้างติดยาเสพติด บ้างซึมเศร้า บ้างมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามจนนําไปสู่ปัญหาการท้องก่อนวัยอันควร

Integrated Child – Centered Active Learning project (ICAP)’ จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีเป้าหมายให้เด็ก ๆ ได้รับการดูแลตั้งแต่ปฐมวัยเพื่อสร้างรากฐานร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง อันจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งชีวิตที่เหลือของเด็กคนนั้น ผ่านการเข้าไป ‘เปลี่ยนคอนเทนต์’ ของศูนย์เด็กเล็กทั่วไทยให้เกิดการบูรณาการการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้

นายแพทย์สันติ ลาภเบญจกุล ที่ปรึกษาโครงการ ICAP และเจ้าของ ‘ลำสนธิโมเดล’ โมเดลเชื่อมให้ชุมชนเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยสูงวัยอันโด่งดัง ตั้งเป้าใช้ประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคมทั้งชีวิตที่ผ่านมา เพื่อทุ่มเททั้งชีวิตที่เหลือนี้กับการแนะนำให้ศูนย์เด็กเล็กทั่วไทยได้รู้จักกับวิธีการของ ICAP อย่างเป็นทางการ

ICAP มีแนวคิดและวิธีการที่ทำให้เราอยากจะกลับไปเป็นเด็ก 3 ขวบอีกสักครั้ง แถมยังมีหลักฐานชัดเจนว่าวิธีการของพวกเขานั้นสร้างผลกระทบเชิงบวกได้จริง จนเราอดไม่ได้ ต้องขอมาเล่าให้ฟัง

คุณหมอสันติเชื่อมั่นว่าทุกปัญหาในเด็กวัยรุ่นนั้นจะเบาบางลงไปกว่านี้มาก ถ้าเพียงเด็กปฐมวัยได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการที่ดี และมี Active Learning เพียงแค่ 2 ปีในช่วง 2 – 5 ขวบ 

“เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่สมองส่วนหน้าจะเติบโตอย่างเต็มที่ ถ้าเขาได้ชั่วโมงคุณภาพอย่างเต็มเปี่ยม สมองส่วนหน้าเป็นสมองที่ใช้ในการคิดในการตัดสินใจและตรรกะ ซึ่งจะติดตัวเขาไปจนตาย มันจะทําให้เขากลายเป็นคนที่มีคุณภาพสูง เวลาเจอเรื่องที่ไม่น่ายินดีนักกับชีวิตตัวเองก็วางแผนที่จะรับมือและจัดการได้ หรือต้นทุนไม่ดีก็หาสิ่งที่จะมาทดแทนได้ ปรับตัวได้ มีวิธีคิดแบบ Growth Mindset มีความอดทนที่จะรอคอยและยับยั้งชั่งใจ”

คุณหมอสันติมองว่า ถ้าเราพัฒนาเด็กตั้งแต่ปฐมวัยได้ เด็กจะได้ความสุข ณ ปัจจุบัน เพราะเด็กจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อยู่ในสถานที่ที่ดูแลเขาด้วยความเข้าใจ ด้วยความโอบอุ้ม และเขาจะออกแบบการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองตามสิ่งที่เขารัก 

“เด็กจะมีความสุขทันที เราไม่ต้องไปรอวันเด็กทุกปี ไม่ต้องไปรอวันปีใหม่หรือวันคริสต์มาสทุกปีถึงจะแจกของขวัญให้ แต่จะมีวันเด็ก มีวันคริสต์มาส มีวันปีใหม่ในทุกวัน ทุก ๆ วันจะเป็นวันของเขา และในอนาคตเขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพสูง ไม่เป็นปัญหาของสังคม มีครอบครัวที่มั่นคง เขาจะเป็นกําลังที่สําคัญมาก ๆ ให้กับประเทศไทย ผมว่ามันคุ้ม ผลตอบแทนในเชิงเศรษฐศาสตร์กับประเทศก็เยอะมาก ถ้าลงทุน 1 บาทได้ผลตอบแทนคืนมา 12 บาท ก็คือ 12 เท่าเลยทีเดียว” 

ผลตอบแทน 12 เท่านั้นเป็นไปได้ เพราะผลประโยชน์แบ่งออกเป็น 4 มิติ มิติแรก คือเด็กปฐมวัยที่ได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการที่ดี มี Active Learning จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิติที่ 2 คือเด็กกลุ่มนี้จะไม่เป็นต้นตอของปัญหาสังคม มิติที่ 3 นั้นส่งผลไปถึงสถาบันครอบครัวที่จะเข้มแข็งและมั่นคง และสุดท้าย ก็มีข้อมูลออกมาว่าสุขภาพของเด็กเหล่านี้จะดี ไม่เป็นปัญหาต่อระบบสาธารณสุข เพราะเขาจะดูแลตัวเองได้ 

“ที่สำคัญ ทุกอย่างจะไม่ได้จบอยู่แค่เด็กคนนั้น แต่จะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นไปสู่ลูกของเขาด้วย”

ICAP

ในเมื่อคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วว่าความคุ้มมันเกินคุ้ม คุณหมอสันติจึงไม่รีรอ และก่อตั้งโครงการ Integrated Child – Centered Active Learning project (ICAP) หรือโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยขึ้น แต่แน่นอนว่าเพราะเขาไม่ได้ต้องการช่วยเด็กเพียง 1 หรือ 2 คน แต่เขาต้องการจะทำเรื่องนี้ในวงกว้างและให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุณหมอสันติจึงมองหากลไกที่มีอยู่แล้วและนำมาต่อยอด ซึ่งโชคดีที่เขาค้นพบหนึ่งกลไกที่เป็นจุดเริ่มต้นอันสมบูรณ์แบบ นั่นคือ ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก’ นั่นเอง 

“ประเทศไทยนี่ดีมากเลยนะ เรามีต้นทุนดีมาก เพราะ ณ วันนี้เด็กประมาณสัก 2 – 4 ขวบจะมีศูนย์เด็กเล็กรองรับอยู่แล้ว ซึ่งอยู่ทั่วประเทศเลยนะครับ กระจายอยู่ทุกตําบล บางตําบลมีมากกว่า 1 แห่งด้วยซ้ำ ถ้าเอาตัวเลขกลม ๆ ที่ได้มาตอนนี้ คือมีอย่างน้อยประมาณ 20,000 แห่งทั่วประเทศ เพราะฉะนั้น สถานที่ก็มีอยู่ มีคนด้วย มีพี่เลี้ยงด้วย มีงบประมาณในระดับหนึ่งด้วย มีอาหารกลางวันด้วย มีนมด้วย ดีขนาดไหนนะครับ แต่เสียดายอย่างหนึ่งครับ ทราบไหมครับว่าศูนย์เด็กเล็กมีไว้เพื่ออะไร” 

และคำตอบก็คือ … 

“มีไว้เพื่อฝากเด็กตอนพ่อแม่ไปทํางาน ซึ่งผมเสียดายมากนะกับความคิดนี้ มันดีแหละ แต่ควรเป็นความคิดเมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันควรต้องเปลี่ยนความคิดแล้วว่านอกจากศูนย์เด็กเล็กจะเป็นที่ฝากเลี้ยง ยังควรเป็นที่ที่เติมเต็มและพัฒนาศักยภาพเด็กรวมถึงความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ที่สุด เป็นที่พัฒนาศักยภาพของสมองส่วนหน้าอย่างสูงสุด ควรจะมีคุณภาพสูงสุดให้กับเด็ก ๆ ภายใต้องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เรามี”

ในเมื่อโครงสร้างก็มีอยู่แล้ว คุณหมอสันติและทีมจึงมานั่งคิดหาทางที่จะลงทุนเพิ่มอีกสักเล็กน้อย เพื่อไปเปลี่ยนคอนเทนต์และแนวคิดจากเดิมซึ่งเป็นที่ฝากเด็กระหว่างพ่อแม่ไปทํางาน ให้กลายเป็นที่เติมเต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์ตั้งแต่ปฐมวัย 

“เราใช้วิธีการเข้าไปจัดระบบสื่อการเรียนการสอน ให้เป็น Active Learning และ Child Center นี่คือแนวคิดหลักของ ICAP”

เมื่อภาพทุกอย่างเริ่มชัดเจน คุณหมอสันติจึงไปเริ่มทดลองโมเดลกับศูนย์เด็กเล็กที่จังหวัดลพบุรีเป็นที่แรกเมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยให้ทีมโค้ชที่เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการศูนย์เด็กเล็กโดยตรงลงพื้นที่ไปปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งปรากฏว่าผ่านไปได้เพียง 8 เดือนก็ได้ผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์จนคนบอกต่อ และทำให้ปัจจุบันนี้มีศูนย์เด็กเล็กในแบบฉบับของ ICAP แล้ว 150 แห่ง รวม 250 ห้องเรียนใน 31 จังหวัด 

“เรื่องนี้ได้รับความกรุณาจากทางมูลนิธิยุวพัฒน์ โดย คุณวิเชียร พงศธร เพราะเขามองว่ามันเป็นเรื่องที่ลงทุนแล้วคุ้มค่าและสร้างแรงสั่นสะเทือนมาก แถมทําไม่ยาก และเป็นการเปลี่ยนตั้งแต่รากเลย”

10 วันมหัศจรรย์

จากศูนย์เด็กเล็ก 1 แห่ง เมื่อ 6 ปีที่แล้วสู่ 150 แห่งในทุกวันนี้ ICAP มีวิธีการอย่างไร – เชื่อว่าหลายคนก็คงสงสัยไม่แพ้กัน ซึ่งคุณหมอสันติเล่าวิธีการไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว 

“เราไม่ได้ต้องการทําอีเวนต์นะ เราต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ซึ่งคน 90% คิดว่าเราทำการอบรมใช่ไหม เชิญครูที่สนใจมาเจอกันเพื่อลงทะเบียนอบรม จะ 3 หรือ 4 วันก็ว่ากันไป เสร็จก็หมดหน้าที่ผม แล้วคุณครูที่อบรมก็ไปลงมือทําเองนะ สมัยแรก ๆ ก็ทําแบบนั้นจริง แต่ Success Rate กี่เปอร์เซ็นต์รู้ไหมครับ” อีกหนึ่งคำถามชวนคิด และคําตอบคือ 0% ตามคาด 

“เพราะการอบรมเปลี่ยนไม่ได้หรอก ทุกวันนี้เราจึงใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘10 วันมหัศจรรย์’ ” 

ก่อนจะลงพื้นที่ ทีมของคุณหมอสันติจะนัดคุยกับทางศูนย์เด็กเล็กที่สนใจเพื่อตกลงแนวทางกัน รวมถึงประเมินความมุ่งมั่นของศูนย์นั้น ๆ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง และเมื่อทางเปิดเรียบร้อย ICAP ก็จะส่งอุปกรณ์ทั้งหมดไปให้

“ซึ่งทั้งหมดเป็นโมเดลที่ทำซ้ำได้ ทุกอย่างออกแบบมาอย่างดี ไม่ใช่ของแพง แต่เป็นของที่แต่ละชิ้นมีนัยสําคัญทั้งหมดว่าเราใช้เพื่ออะไร”

ในวันที่ 1 ของ 10 วันมหัศจรรย์นั้น โค้ชจะเข้าไปทําความเข้าใจกับคุณครูเป็นอย่างแรก และเริ่มแกะกล่องอุปกรณ์ที่ส่งไป โดยโค้ชจะเอาของมาจัดตามมุมห้องต่าง ๆ ซึ่งภายในห้องเรียนจะมีอยู่ 5 มุม เช่น มุมวิทยาศาสตร์ มุมอาชีพ 

“เราจะมีหัวหน้าโค้ชคอยจัดให้เหมาะสม เพราะสภาพแต่ละห้องเรียนไม่เหมือนกัน ต้องดูว่าอะไรเหมาะจะอยู่ตรงไหนในห้องเรียนนี้ เราทำจนกลายเป็นผู้ชํานาญในการจัดสิ่งแวดล้อมให้ตรงกับ Child Journey ตามสภาพ การจัดห้องใช้เวลาประมาณช่วงสัปดาห์แรก ซึ่งเราก็จะทําความเข้าใจกับผู้บริหารศูนย์เด็กเล็กและผู้ปกครองว่า ในสัปดาห์แรกจะขออนุญาตหยุดเรียน 5 วัน พอจัดเสร็จเรียบร้อย สัปดาห์ที่ 2 ในวันจันทร์ที่เด็กมาโรงเรียน เด็ก ๆ จะตกใจว่า เฮ้ย นี่โรงเรียนเหรอ มันดูสนุก ดูมีความสุข และมีอะไรเต็มไปหมดเลย”

ในสัปดาห์ที่ 2 นี้เอง โค้ชของ ICAP จะสาธิตให้คุณครูของศูนย์เด็กเล็กแห่งนั้นเห็นว่าตั้งแต่เช้าจนเลิกเรียนพวกเขาต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งคุณหมอสันติยกตัวอย่างหนึ่งขบวนการสำคัญอันเป็นหัวใจของ Active Learning ที่มีชื่อว่า ‘Plan – Do – Review’ 

“เราจะมารวมกลุ่มกันและให้เด็กวางแผนว่าท่ามกลางของเล่นที่มีอยู่เต็มห้องไปหมด เขาจะอยากเล่นมุมไหนก่อน-หลัง ซึ่งเมื่อเด็กอยากเล่นมุมเดียวกันเยอะจนคิวเต็ม เด็ก ๆ ต้องมาฝึกเปลี่ยนแผน การทำแบบนี้จะทำให้พวกเขารู้จักอดทนรอคอย ถ้าไม่ถึงตาเขาแล้วเพื่อนไปเล่น เขาต้องอดทนและรู้จักที่จะยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนแผนได้ 

“พอเล่นเสร็จ เด็ก ๆ จะมารวมตัวกันใหม่ โดยจะให้เด็กผลัดกันเป็นตัวแทนไปอยู่หน้าชั้น แล้วเล่าว่าได้เล่นอะไร แล้วเด็กคนอื่น ๆ ก็จะยกมือเพื่อถกกันตามภาษาเด็ก ๆ ว่าสิ่งที่ได้เล่นมานั้นเป็นอย่างไร จะให้เขาฝึกแบบนี้แทนการให้ครูมาเป็นผู้สอนเขียน ก ไก่ ข ไข่ ซึ่งเป็นการเรียนแบบ Passive โดยมีครูเป็นผู้สอนแล้วเด็กนั่งเรียน เราเปลี่ยนครูมาเป็น Facilitator ผู้คอยดูอยู่ห่าง ๆ แล้วค่อยไปช่วย ไปกระตุ้นเด็กในจังหวะที่เหมาะสม” 

นี่แค่ตัวอย่าง 1 ชั่วโมงเท่านั้น เราก็เริ่มอิจฉาเด็ก ๆ เหล่านี้เข้าเสียแล้ว แต่คุณหมอสันติก็ได้ยกตัวอย่างอื่น ๆ ให้ฟัง จนเราอยากย้อนเวลากลับไปเพื่อจะได้มีโอกาสเรียนรู้แบบนี้บ้าง

“ยังมีอะไรอีกมากมายที่เราทำเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเด็กตามบุคลิกของแต่ละคนและตามสมองของพวกเขา ไม่ใช่แค่ให้เล่นอย่างเดียว แต่เด็กจะได้เรียนรู้ในโมเดลอื่น ๆ เช่น เรียนรู้เรื่องข้าวในลักษณะ Discussion โดยให้ไปดูข้าวจริง ๆ หรือเรียนรู้จากนิทาน ซึ่งพอทำแบบนี้ในวันจันทร์และอังคาร พอถึงวันพุธจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘มหัศจรรย์วันพุธ’ จากเด็กที่งอแง ไม่อยากมาโรงเรียน จากเด็กที่มั่วไปหมด ทั้งการกิน การนอน การเดินในห้อง แต่พอถึงมหัศจรรย์วันพุธ เราจะเห็นพวกเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อยากมาโรงเรียน บางคนไม่ร้องไห้ กลายเป็นมาคนแรก เพราะสนุกและได้เล่นในสิ่งที่เขาอยากเล่น” 

และเมื่อถึง 2 วันสุดท้าย คุณครูก็จะเข้ามาเป็นผู้ดูแลห้องเรียนเอง ส่วนโค้ชของ ICAP ก็จะทำหน้าที่เป็นโค้ชของคุณครูอีกทีหนึ่ง 

“จากที่ทำมานั้น เราพบว่าพื้นที่ไหนที่ต้องการที่จะทำตั้งแต่ต้นและพร้อมเปลี่ยนแปลง อัตราประสบความสำเร็จของ 10 วันมหัศจรรย์นี้จะสูงถึงเกือบ 100% เลยทีเดียว”

เป้าหมายของชีวิตที่เหลือ

แน่นอนว่าความสุขของเด็ก ๆ จากการเรียนรู้ในรูปแบบของ ICAP นั้นเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนผ่านแววตาแห่งความสุขเมื่อได้มาโรงเรียน คุณหมอสันติอธิบายเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความสุขนั้นมีความหมายหลายอย่างซ่อนอยู่ 

“เรารู้ดีเลยว่าเด็กคนนั้นจะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่คุณภาพสูงให้กับชุมชน เพราะ EF (Executive Function) เริ่มพัฒนาแล้ว เขาจะไม่สร้างปัญหาให้สังคม เพราะเด็กที่มี EF จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเราก็ได้รับความกรุณาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลในการเข้าไปช่วยประเมินเด็กจํานวนหลายร้อยคนในศูนย์ของเรา ซึ่งผลเบื้องต้นนั้นพบว่าเด็กของเราแทบจะไม่มีใครที่ EF ตกเกณฑ์เลย ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศไทยนั้นมีเด็กที่ EF ตกเกณฑ์เกือบ 30% และเด็กของเราที่มี EF อยู่ในเกณฑ์ดีมากนั้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเยอะเลยครับ นอกจากนี้ยังมีแรงกระเพื่อมทางสังคม พ่อแม่มีความสุข ลูกของตัวเองเรียบร้อย มีระเบียบวินัย มีวิธีคิดที่ดี”

นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณหมอสันติต้องย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่ ICAP ทำนั้นคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ในการลงทุน 

“ห้องหนึ่งใช้งบประมาณแสนกว่าบาท แต่ผมมีความหวังนะ เพราะห้องเรียนห้องนี้ก็ใช้ได้อีก 10 ปี ลงทุนปีแรกเข้าถึงเด็ก 40 คนในปีนี้ แต่ก็เท่ากับ 400 คนใน 10 ปี เรากำลังสร้างคนอีก 400 คนให้กลายเป็นกําลังสําคัญของประเทศกันเลยทีเดียว”

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากคุณหมอสันติจะมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กับการระดมทุนเพิ่มเพื่อทำให้ถึง 10,000 แห่งทั่วไทยในชั่วชีวิตนี้ที่เหลือของเขา

ติดตาม ICAP เพิ่มเติมได้ที่ www.yuvabadhanafoundation.org/th/work/icap

ภาพ : ICAP

Writer

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ออกกำลังกาย และกำลังตามหางานอดิเรกใหม่ ๆ