คุณวิเชียร พงศธร เป็นประธานกรรมการกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ แต่ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมได้ยินชื่อและเรื่องของเขาจากคนทำงานด้านสังคม บ่อยกว่าจากแวดวงนักธุรกิจ

และเมื่อพูดถึงธุรกิจ ก็จะได้ยินว่าเขาให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคมมายาวนาน

เขาเริ่มทำงานด้านสังคมเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เขาทำเรื่องการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส ผ่านการตั้งมูลนิธิยุวพัฒน์ ระดมทุนผ่านร้านขายของมือสองชื่อ ปันกัน ที่เอารายได้จากการขายของไปสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษาของมูลนิธิยุวพัฒน์ แล้วก็สนับสนุนองค์กรด้านการศึกษาหลายแห่ง เช่น Teach for Thailand และ a-chieve รวมถึงการทำโครงการเรื่องอาหาร Food for Good

เขาทำมูลนิธิเพื่อคนไทย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกลไกการพัฒนาให้ประชาชนมีส่วนร่วม สนับสนุนคนทำงานเพื่อสังคมอย่างจริงจัง อย่าง ChangeFusion ร่วมลงทุนใน เทใจ, บริษัทเทคโนโลยี Opendream, บริษัทพัฒนาการท่องเที่ยวชุุมชน Local Alike และ เอเจนซี่โฆษณางานเพื่อสังคม WHY NOT ให้เป็นจุดเริ่มของการพัฒนาความร่วมมืออย่างเป็นระบบ ต่อยอด ขยายวงกว้างออกไป

จัดงาน คนไทยขอมือหน่อย (Good Society Expo) เป็นงานรวมตัวกันของคนทำงานเพื่อสังคมระดับประเทศ

ร่วมทำ มูลนิธิเอ็นไลฟ์ ทำงานด้านฟื้นฟูธรรมชาติ ร่วมงานกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) และอีกหลายองค์กร ในบทบาทต่างๆ ทั้งธุุรกิจเพื่อสังคม สมาคม มูลนิธิ และโครงการต่างๆ เพื่อหวังให้เกิดตัวคูณของคนทำงานเพื่อสังคม

มาดูงานหลักของเขากันบ้าง ผู้บริหารวัย 65 ปี ก็ยังเชื่อว่างานด้านสังคมถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์มีธุุรกิจหลากหลาย ทั้งอาหาร (นำโดยขนมทาโร และกาแฟอินทรีย์เติบโตใต้เงาป่า MiVana ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบไอที และธุรกิจโรงแรม) 

น่าแปลกที่เขาทำอะไรมากมายขนาดนี้ แต่เรากลับได้ยินชื่อเขาน้อยมาก

เพราะเขามองว่า การทำงานเพื่อสังคมต้องมีเงื่อนไขสำคัญคือ การมีส่วนร่วมจากประชาชน ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ หรือคือต้องช่วยกันแก้ทั้งสังคม ต้องชวนคนมาช่วย ต้องทำให้ทุกคนเห็นว่านี่คืองานของ ‘เรา’ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

เขาไม่ต้องการชื่อเสียง แต่อยากได้คนมาร่วมทำงานมากกว่า

วิเชียร พงศธร นักลงทุนธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ยกระดับกำไรของเราให้เป็นกำไรของโลก

แล้วคุณวิเชียรน่าสนใจตรงไหน

เขาเคยฝันอยากเป็นเอ็นจีโอ แต่สุดท้ายตัดสินใจแก้ปัญหาสังคมผ่านการทำธุุรกิจ จึงใช้เครื่องมือทางธุุรกิจช่วยระดมทุน แล้วนำไปเชื่อมกับคนทำงานเพื่อสังคมตัวจริง วิธีของเขามีหลากหลาย ตั้งแต่การเปิดร้านขายของมือสอง ไปจนถึงตั้งกองทุนรวม-ที่คุณก็ร่วมลงทุนได้

เมื่อพูดถึงกำไร เขาบอกว่า เราต้องมองให้ไกลกว่าตัวเงิน และ

“ทำยังไงให้กำไรของเรา เป็นกำไรของสังคม”

แล้วเขาทำยังไง ไปดูกัน

วิเชียร พงศธร นักลงทุนธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ยกระดับกำไรของเราให้เป็นกำไรของโลก

ความฝันในวัยหนุ่มของคุณคือเป็นเอ็นจีโอ

(หัวเราะ) สมัยนั้นก็คิดแบบเด็กๆ นะ เราเห็นปัญหาสังคมแล้วอึดอัดใจ คิดง่ายๆ แบบใช้แต่อารมณ์ว่า อยู่ในวงการธุรกิจสักอายุสามสิบน่าจะพอแล้ว จะออกไปทำงานเพื่อสังคมเต็มตัว แต่ทำงานไปสักพักก็คิดได้ว่า ทำงานด้านสังคมต้องใช้ทรัพยากรหลายอย่าง เลยไม่ออก แต่เปลี่ยนมาแก้ปัญหาด้วยธุรกิจ ภาคธุรกิจมีทรัพยากรต่างๆ ให้ ทั้งทุนทรัพย์ ทุนมนุษย์ ระบบบริหารจัดการ เครือข่าย ฉะนั้นเราอย่าแยกตัวไปจากธุุรกิจเลย ปรับทิศทางธุรกิจให้มีพันธกิจร่วมพัฒนาสังคมให้ชัดเจนดีกว่า

ในวัยสามสิบต้นๆ แทนที่จะเป็นเอ็นจีโอ กลับได้เป็นซีอีโอ คุณใช้โอกาสนี้ทำอะไรบ้าง

บริษัทไม่ได้เป็นของผม ผมก็ไปเสนอคณะกรรมการบริษัทว่า ขอแบ่งเวลาและแบ่งเงินไปทำงานเพื่อสังคม โดยแบ่งจากกำไร ขอนิดเดียวเอง ห้าเปอร์เซ็นต์ เหลือกำไรตั้งเก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ แม้ว่าเขาให้หักลดหย่อนภาษีได้แค่สองเปอร์เซ็นต์ แต่ทำไมถึงเอาตั้งห้าเปอร์เซ็นต์ ผมมองว่า เราเหลืออีกตั้งเก้าสิบห้านะ ผู้ใหญ่เขาเอ็นดูเรา ก็ขำๆ แล้วโอเค ตอนนั้นเขาคงไม่รู้หรอกว่า ผมฟุ้งไปขนาดไหน ที่แบ่งเวลานี่ไม่ใช่แค่ของผม แต่ของคนในองค์กรให้มามีส่วนร่วมด้วย

คุณขอเงินบริษัทมาแก้ปัญหาอะไร

ตอนนั้นเรามีกำลังแค่นี้ ทำเรื่องการศึกษาของเด็กยากจนก็แล้วกัน เพราะการศึกษาเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญที่สุด แต่เด็กที่มีความเสี่ยงจะไม่ได้เรียนหนังสือมีเป็นล้านคน เราจะจัดการยังไง เราก็ไปศึกษาว่ามูลนิธิต่างๆ ทำกันยังไง การให้ทุนเด็กเล็กจำเป็นต้องมีการจัดการที่ดี มีผู้บริหาร มีพนักงาน รูปแบบที่เหมาะสมที่สุุดคือ ตั้งมููลนิธิเอง

แล้วเงินก็ไม่ควรเป็นของเราคนเดียว มันต้องเป็นแพลตฟอร์มที่คนอื่นมามีส่วนร่วมได้ เพราะปัญหาใหญ่ ทำคนเดียว องค์กรเดียว จะดีเด่นขนาดไหนก็สู้ไม่ไหวหรอก มันต้องคนทั้งสังคม ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ต้องระดมความร่วมไม้ร่วมมือให้ได้ ก็ไปชวนบริษัทอื่น องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรในประเทศ มาสนับสนุนเงินทุน ผู้มีกุศลจิตบ้าง เลยเกิดเป็นมูลนิธิยุวพัฒน์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการมีส่วนร่วมขนาดใหญ่ เกิดความร่วมมือ ร่วมทำงาน ร่วมพัฒนาต่อยอด เกิดตัวคูณทางสังคม นี่เป็นแนวทางที่เราใช้ทำงานมาโดยตลอด

คุณมีความสามารถในการชวนคนมากมายมาร่วมทำงานด้วย คุณใช้คาถาอะไรกล่อมพวกเขา

เราต้องสำนึกอยู่เสมอว่า นี่ไม่ใช่ผลงานของเราคนเดียว เราเก่งคนเดียวไม่ได้ ฉะนั้นต้องให้เกียรติ ให้ความสำคัญกับทุุกคน ต้องบริสุทธิ์ใจในสิ่งที่ทำว่า แก้ปัญหาสังคม ทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่เพื่อตัวเอง ผมไม่อยากเอาตัวเองเป็นจุุุดศูนย์กลาง ทุกคนมีฐานะเท่ากับเราหมด มาช่วยกัน เราเลยไม่เคยบอกว่า มูลนิธิยุวพัฒน์เป็นของพรีเมียร์ เพราะความจริงคือไม่ใช่ แต่เป็นความร่วมมือของคนมากมายที่ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม และร่วมขยายผลออกไปในวงกว้าง เราเป็นผู้สนับสนุนด้านเรื่องทุนทรัพย์ ทุนมนุษย์ เวลาของผมและผู้บริหาร หน่วยงานกฎหมาย บัญชี การเงิน HR ต่างๆ ก็ตาม

วิเชียร พงศธร นักลงทุนธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ยกระดับกำไรของเราให้เป็นกำไรของโลก

การทำงานภาคสังคมแบบนักธุรกิจเป็นยังไง

เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เราเป็นวิศวกร เป็นผู้บริหาร เราจะไปรู้เรื่องเด็ก รู้เรื่องการศึกษา ไปเชี่ยวชาญทุกเรื่องได้ยังไง แนวคิดหลักคือ เราจะเป็นตัวเชื่อมให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกัน ฝั่งหนึ่งคือผู้สนับสนุุนทรัพยากรต่างๆ อีกด้านคือเอ็นจีโอ นักพัฒนาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ งานพัฒนาสังคมไม่ค่อยมีใครทำตรงนี้ นี่คือหน้าที่ของเราในฐานะมูลนิธิ

ช่วยระดมทุนส่งต่อให้องค์กรและคนทำงานตัวจริง

ใช่ ถ้าเราไปชวนคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญปัญหาต่างๆ มาอยู่กับเรา เราก็จะทำงานได้จำกัด เลยตัดสินใจเป็นตัวเชื่อม เราหาคนที่มีความเชี่ยวชาญ แล้วสนับสนุนสิ่งที่เขาขาด ทุุนทรัพย์และทุนมนุษย์ที่ใส่เข้าไป จึงเป็นตัวคูณให้เกิดผลทางสังคมที่มากขึ้น แล้วเราก็พัฒนากลไกระดมทุนเพิ่ม เช่น ทำยังไงให้คนมีส่วนร่วมได้ง่ายๆ ก็เอาของมือสองมาบริจาค แล้วเปิดร้านขายให้คนมาช่วยซื้อ เกิดเป็นร้านปันกัน ปีนึงก็ระดมทุนได้เยอะเหมือนกัน

การระดมทุนที่เหนือความคาดหมายที่สุดคือ ตั้งกองทุนรวม

ประการแรก เรื่องที่เราทำส่วนใหญ่ไอเดียตั้งต้นไม่ใช่ของเรา เราอาจจะชวนคนมาคุุย บางเรื่องคนอื่นเริ่มแล้วเราเข้าไปช่วยเติม คงไม่ต้องแจกแจงว่าอันไหนใครเริ่ม เอาเป็นว่าภาคีของเราเริ่มไปด้วยกัน

ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมน้อยมากคือ ธุรกิจบริหารเงินเพื่อการลงทุน เขาไม่ถนัดเรื่องปัญหาสังคมเลย แต่เขาบริหารจัดการเงินเป็น เราก็ไปชวนคนโน้นคนนี้มาคุย เริ่มจากทำกับ บลจ.บัวหลวง ในรูปแบบกองทุนรวมที่เขาทำอยู่แล้ว ให้เขาไปเลือกลงทุนกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผ่านเกณฑ์ ESG ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล เกณฑ์นี้อาจจะไม่ได้สมบูรณ์ที่สุด แต่ช่วยส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ให้ความสำคัญกับ ESG เกิดเป็นกองทุุนรวมคนไทยใจดี (BKIND)

รูปแบบนี้มีแต่ได้กับได้ ผู้ลงทุนก็ได้ผลประโยชน์ ผู้จัดการกองทุุนก็ยังได้ผลตอบแทน ปกติเขาคิดค่าบริหารจัดการกองทุนหนึ่งถึงสองเปอร์เซ็นต์ เราก็ไปขอแบ่งส่วนนี้มาสี่สิบเปอร์เซ็นต์ เอามาทำประโยชน์กับสังคม

วิเชียร พงศธร นักลงทุนธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ยกระดับกำไรของเราให้เป็นกำไรของโลก

เอาเงินไปทำอะไร

กองทุนได้รับความร่วมมือจาก ChangeFusion กับ อโชก้า สรรหาโครงการ ประเมิน และติดตามผล ร่วมลงทุนสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม เขาเป็นคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสิ่งที่บริษัทจัดการกองทุนไม่รู้ ก็จัดการไป คนเก่งหาเงิน ก็หาไป

แค่กองทุนเดียวเหมือนคุณยังไม่สะใจ

เรามาขยายผลต่อ เป็นกองทุนธรรมาภิบาล ทำกับสิบเอ็ดบริษัทเลย ใช้ชื่อรวมว่า กองทุนธรรมาภิบาลไทย (Thai Corporate Governance Fund) เน้นเรื่องธรรมาภิบาล ถ้าตลาดทุนขาดธรรมาภิบาลก็จะถดถอยไปกันใหญ่ ต่างชาติก็ไม่มาลงทุน เพราะฉะนั้นเขามีบทบาทได้ผ่านกองทุนรวม เรามีคณะกรรมการตั้งเกณฑ์การลงทุนร่วมกัน ว่าต้องลงทุนกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ ESG เข้มแข็ง เก้าสิบบริษัทนี้เท่านั้นนะ เขาก็ไปจัดกองทุุนมาบริษัทละกอง ใครจะลงมากลงน้อยก็แล้วแต่ เกิดเป็นกองทุุนที่มีคำว่า CG ในชื่อ มูลค่ารวมประมาณห้าพันล้านบาท เราได้เงินมาปีหนึ่งก็ยี่สิบล้านนะ เราจ้างธุรกิจเพื่อสังคมที่เชี่ยวชาญมาบริหารจัดการเงินก้อนนี้ เพื่อลงทุนทางสังคมให้เกิดประโยชน์สูงสุุด

สิ่งที่เราได้ไม่ใช่แค่เงินค่าบริหารจัดการกองทุน แต่ยังเกิดเครือข่าย ผู้ที่อาสามาช่วยงาน และผลลัพธ์ทางสังคมเยอะแยะเต็มไปหมด

ในไส้ในของกองทุนเหล่านี้ มักจะเป็นชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นหลัก มีโอกาสที่กองทุนจะไปสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กที่ดีๆ บ้างไหม

มีโอกาส แต่ต้องไม่ใช่ในรูปแบบกองทุนรวม เพราะมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับอยู่ เรายังมีกลไกการลงทุนเพื่อสังคมรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น ที่เรียกว่า Impact Investing และ Green bond ประเทศไทยก็เริ่มออกมาแล้ว อาจจะไม่ได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าบริษัทให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเยอะ ก็ออกพันธบัตรมาเยอะ เราก็ไปสนับสนุนด้วยการซื้อพันธบัตร ธุรกิจเพื่อสังคมเกิดใหม่ก็ออกตราสารมาระดมทุนได้ แม้แต่ระดมหุ้นก็ทำได้ เดี๋ยวนี้ ก.ล.ต. เอื้อให้ทำพวกนี้ได้แล้ว แต่ยังทำกันน้อยมาก

ที่ผ่านมา คุณร่วมลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคมเยอะมาก มันน่าสนใจตรงไหน

มันสอดคล้องกับที่ผมเล่าว่า มีเรื่องให้ทำเยอะแยะ แต่เราทำเองไม่ได้ทั้งหมด งั้นเราสนับสนุนให้คนอื่นทำก็แล้วกัน เราลงเงินและเวลาช่วยสนับสนุนเขา แล้วเราได้ทุนมนุษย์ตามมาเต็มไปหมด ทุนพวกนั้นมีมูลค่าสูงกว่าเงินที่เราใส่เข้าไปเยอะแยะเลย

หมายความว่า

เราได้คนมาร่วมทำงานเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิ หรือระดับโครงการ ทุนที่ทุกคนใส่มาคือเวลา ความคิดความอ่านของเขา ซึ่งเป็นทุนที่สำคัญมาก เท่าเทียมหรือมากกว่าทุนที่เราใส่เข้าไปอีก พอเราใส่เงินเข้าไปก็กลายเป็นตัวคูณ ได้คนจำนวนมากมาร่วมช่วยกัน และทำสิ่งดีๆ ให้ผู้รับปลายทางได้เยอะขึ้น เราไม่ได้อยากได้กำไรเป็นตัวเงินกลับมา แต่อยากได้ผลลัพธ์ที่เป็นอิมแพ็คทางสังคม โห กำไรมันมากมายหลายเท่าทวีคูณ

แชร์แมนกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานของมูลนิธิและกิจการเพื่อสังคมมากมายกว่า 30 ปี

สิ่งที่คุณทำ เทียบกับนักลงทุนใส่เงินในสตาร์ทอัพได้ไหม

หลักการจริงๆ ไม่ได้ต่างกัน แต่องค์ประกอบสำคัญไม่ได้ต้องการแค่ทุน เราต้องการคนทำสตาร์ทอัพที่มีแรง มีความคิดริเริ่ม แต่อาจจะไม่มีเงิน พอมาเจอทุุนก็เอาไปสร้างประโยชน์ เกิดเป็นธุรกิจใหม่หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมจะมีตัวชี้วัดที่ต่างไป คือผลลัพธ์ทางสังคม แต่ผมว่าธุุรกิจเพื่อสังคมกำไรเยอะกว่านะ

เด็กหนึ่งคนเรียนหนังสือจนจบคิดว่าใช้เงินกี่บาท แล้วเขาจะมีชีวิตต่อไปโดยเฉลี่ยหลังจากออกจากโรงเรียนมาอีกสักห้าสิบ หกสิบปี เราลงทุนกับเด็กคนหนึ่งประมาณเจ็ดหมื่นบาท ยังไม่รวมมหาวิทยาลัยนะ แล้วชีวิตเขาไปตลอดรอดฝั่ง ไม่กลายเป็นเด็กค้ายา ไม่เข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ไม่กลายเป็นโจร กลับมาดูแลครอบครัว ดูแลตัวเองได้ คิดว่าสิ่งนี้เป็นเงินกี่บาท กี่เท่าทวีคูณ ธุรกิจไหนจะทำได้ ถ้าสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ เขาสนใจ จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

การลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นความสุขของสังคม หลายคนน่าจะมองว่า เป็นการบริจาคมากกว่าลงทุนนะ

การออกแบบให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญนะ คนส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นจำนวนน้อยในสังคมมีศักยภาพพอที่จะไม่ต้องรับอะไรคืนมาก็ได้ แต่หลักของธุรกิจเพื่อสังคมไม่ใช่แบบนั้น ธุรกิจต้องเลี้ยงตัวเองได้ มีกำไรเพื่อให้ขยายงานได้ ไม่งั้นกลไกก็จะล่มสลาย การทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ต้องเปิดเผยข้อมูลและมีความโปร่งใส แสดงการประเมินขนาดของผลกระทบทางสังคม (Social Impact) เปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่าย รายได้ และผลกำไร อย่างชัดเจน ซึ่งก็คือเงื่อนไขปกติในการดำเนินธุรกิจ

การลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคมมีความเสี่ยงไหม

มีความเสี่ยงสูงกว่าธุรกิจธรรมดา ขนาด SMEs ยังประสบความสำเร็จในอัตราที่ต่ำมาก ยิ่งมีกรอบว่าต้องทำเพื่อประโยชน์สังคมเป็นหลัก ก็ยิ่งแคบลงไป มันไม่ได้ดีสมบูรณ์ไปทุกโครงการ ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จเลยก็มี แต่ประสบการณ์เราเองนั้นเป็นส่วนน้อย บางเรื่องใช้เวลาหลายปี แล้วเขาก็เจริญก้าวหน้าไปได้ กระบวนการเรียนรู้มันพัฒนาไปเร็วขึ้นมากนะ แต่พอมีประสบการณ์มากขึ้น ความเสี่ยงก็อาจจะต่ำลง

คนที่อยากทำงานให้เกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวม ต้องเข้าใจบริบทสิ่งที่ขาด ต้องมีใจ แล้วก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ผลลัพธ์ปลายทางคืออะไร กระบวนการที่จะทำให้เกิดขึ้นต้องทำอะไรบ้าง ถ้าใช้แต่ใจลุยเลย มีโอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จเยอะ

ถ้าย้อนมามองธุรกิจหลักของเครือพรีเมียร์ คุณพยายามแก้ปัญหาสังคมผ่านอะไรบ้าง

ตอนแรกผมแบ่งทรัพยากรมาทำงานเพื่อสังคมเหมือน CSR พอทำๆ ไปก็รูู้ว่า ในเป้าหมายของธุรกิจ เราสร้างเสริมสังคมไปด้วยได้ ถ้าทำแบบนี้กันเยอะๆ ปัญหาต่างๆ ในโลกก็น่าจะหมดไปนะ เพราะพลังของธุรกิจมันมหาศาล เราอยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร ใช้วัตถุดิบจากทะเลเยอะ เราใช้แบบมีประสิทธิภาพสูงสุดแล้วหรือยัง เราทำให้ไม่เหลือขยะได้ไหม ทำทุกกระบวนการให้เป็นธุรกิจได้ไหม อย่าง กาแฟอินทรีย์เติบโตใต้เงาป่า MiVana มีความยั่งยืนเป็นแกนสำคัญของห่วงโซ่

แชร์แมนกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานของมูลนิธิและกิจการเพื่อสังคมมากมายกว่า 30 ปี

ตั้งแต่ผมเด็กจนโต ทาโรจะออกมากี่รสก็ยังโฆษณาว่า มีโปรตีนจากเนื้อปลา มันสำคัญยังไง

เราใช้สโลแกนนี้มาตั้งแต่แรกเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นตลาดขนมขบเคี้ยวเล็กกว่าปัจจุบันสิบกว่าเท่า มันฝรั่งทอดก็ยังมีแต่แบรนด์ไทย มีขนมกรอบๆ เยอะแยะ คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นของกินเล่น กินเอาอร่อย ไม่ต้องให้ความสำคัญหรอก เราเลยคิดว่า ถ้าทำของกินเล่นให้มีประโยชน์ได้ด้วยน่าจะดี ก็เสาะแสวงหา จนได้พาร์ตเนอร์จากไต้หวันมาทำทาโร ขนมที่มีโปรตีนจากเนื้อปลายี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นแบบนั้นมาตั้งแต่แรก

จากธุรกิจอาหาร คุณก็โดดไปทำเรื่องระบบบำบัดน้ำเสีย

จริงๆ เริ่มก่อนผมเข้าบริษัทมาปีนึง ทำมาสี่สิบปีแล้ว เราทำระบบบำบัดน้ำเสียทั้งระบบ คือทำระบบและอุปกรณ์ในการบำบัด เอาลิขสิทธิ์มาจากญี่ปุ่น ที่เรียกกันว่าถังแซท ตอนนี้ติดกันตามบ้านทั่วไป ที่ฝังลงไป ต่อท่อน้ำเสียแล้วปล่อยน้ำที่บำบัดออก เราเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ทำตั้งแต่ระดับบ้านจนถึงอาคารขนาดใหญ่ พอน้ำที่ออกมาเป็นน้ำดี แทนที่จะทิ้งเราก็ต่อยอดด้วยการเอาน้ำนั้นกลับมาใช้อีกครั้ง แล้วแต่ว่าต้องการความสะอาดระดับไหน

ตอนที่เริ่ม บ้านเรายังทิ้งน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลองโดยไม่ได้บำบัด ระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคือ บ่อเกรอะ บ่อซึม ยังไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป ระบบถังแซทของเรากฎหมายยังไม่อนุญาตให้ติด เราก็ต้องเอาข้อมูลจากต่างประเทศไปให้ดูว่า ระบบนี้ดีกว่า ต่างประเทศใช้แบบนี้กันหมดแล้ว ถึงออกกฎหมายให้ใช้ได้

คุณทำตลาดเสรีมาร์เก็ตด้วย

เมื่อสักยี่สิบปีก่อน ตอนนั้นเราบริหารศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ ผมเห็นว่าตลาดสดในต่างจังหวัดคือศูนย์กลางชุมชน มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย และระหว่างแม่ค้าด้วยกัน พอเข้ามาในเมืองสิ่งนี้ก็หายไป ตลาดก็สกปรก ผมก็เลยเอาพื้นที่ในห้างทำเป็นตลาดเหมือนตลาดสด แต่ดูแลความสะอาด สะดวก ปลอดภัย มีที่นั่งกินด้วย เลือกร้านที่ตั้งใจจริง ของต้องดี อาหารต้องอร่อย ผักปลอดสารก็ต้องปลอดสารจริงๆ เรามีเจ้าหน้าที่มาช่วยตรวจ

สิ่งสำคัญคือเรื่องคน แม่ค้าไม่ใช่ลูกน้องเรา แต่เป็นเหมือนคู่ค้า เป็นผู้ร่วมธุรกิจ เราก็ต้องหาวิธีทำให้เขาอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ซื่อสัตย์กับลูกค้า มีตรวจร่างกายให้ทุกปี มีกิจกรรมไปทำบุญไหว้พระ เกิดเป็นชุมชน

แล้วคุณก็ยังทำอาหารแมวส่งออก ทำโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำระบบไอทีให้บริษัท และอีกหลายอย่าง จุดร่วมของธุรกิจทั้งหมดนี้คืออะไร

ความยั่งยืนของสังคม มันต้องไปในทิศทางเดียวกันคือ เป็นธุุรกิจที่ดี ขณะเดียวกันสังคมต้องดีด้วย

คุณเคยเห็นโอกาสทำเงิน แต่พอรู้ว่าเป็นงานที่ไม่ยั่งยืน เลยตัดสินใจไม่ทำไหม

คงเป็นส่วนใหญ่นะ เราจะไปเสียเวลาทำทำไม

ได้เงินนะครับ

ได้เงิน แต่ไม่ได้กำไรส่วนอื่นไง เรามักมาก เงินสำคัญ ส่วนอื่นๆ ก็สำคัญ อาจจะสำคัญยิ่งกว่า แล้วสำคัญไปชั่วลูกชั่วหลานด้วย ถ้ามีแค่เรื่องเงิน มันไม่ค่อยจูงใจเรา เมื่อไหร่ที่มีสองอย่างจะจูงใจมากเลย บางทีทำธุุรกิจเพื่อสังคม เราก็มีกำไรส่วนที่เป็นเงินด้วยนะ แต่เอาแค่กำไรที่เป็นผลลัพธ์ทางสังคมก็มากพอแล้ว การลงเงินลงแรงไปเท่านี้แล้วช่วยให้เด็กหนึ่งคนอยู่ในโรงเรียนได้ตลอดรอดฝั่งจนจบการศึกษา โอ้โห กำไรมากกว่าธุรกิจมากมาย แล้วก็กำไรทุกวัน

แชร์แมนกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานของมูลนิธิและกิจการเพื่อสังคมมากมายกว่า 30 ปี
วิเชียร พงศธร แชร์แมนกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานของมูลนิธิและกิจการเพื่อสังคมมากมายกว่า 30 ปี

เราต้องรวยก่อนไหม ถึงคิดแบบนี้ได้

ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ถึงแม้จะไม่มีฐานะร่ำรวยก็สามารถเห็นอกเห็นใจ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลัง แต่ถ้ามีฐานะร่ำรวยก็ยิ่งทำได้เต็มที่หน่อย นอกจากใช้ความรู้ความสามารถพัฒนาสิ่งที่ยั่งยืนแล้ว อีกด้านก็คือ ดูแลเอาใจใส่เพื่อนร่วมโลก

คุณเคยโดนคนพูดถึงว่า ทำดีเพื่อพีอาร์ ทำงานเพื่อสังคมเป็นของเล่นคนรวยไหม

การทำดีเพื่อพีอาร์ ทำงานเพื่อสังคม อย่างมากก็ได้เสียงเชียร์หรือความนิยม แต่จะไม่ได้คนมาร่วมช่วยกันทำงาน ซึ่งเราต้องการให้คนจำนวนมากมาร่วมทำงานมากกว่า มาเป็นเจ้าของร่วมกัน

เรื่องของเล่นคนรวย ถ้าคนรวยทุกคนมาเล่นแบบนี้ จะน่าดีใจเลยนะ ถ้าเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องสนุก ทำแล้วมีความสุข ให้เล่นไปเถอะ

ถ้ามีหนังสือสักเล่มที่พูดถึงวิธีทำธุรกิจสไตล์คุณ หนังสือเล่มนั้นจะมีชื่อว่าอะไร

มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงโดยมีเป้าหมายคือ การทำกำไรให้สูงที่สุด กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ดำเนินธุรกิจโดยมีเป้าหมายให้เกิดความสำเร็จร่วมกันอย่างยั่งยืน (Harmonious Alignment of Success) สิ่งที่ผมถ่ายทอดได้คงเป็นเรื่อง ‘การทำกำไรที่มากกว่าตัวเงิน’ ทำยังไงให้กำไรของเราเป็นกำไรของสังคม ในทุกๆ วัน ผมมองว่าสิ่งนี้สร้างคุณค่าได้สูงที่สุดแล้ว ไม่ใช่แค่การได้กำไรสูงสุดโดยไม่สนใจว่าจะได้มาด้วยวิธีใด ผมมองว่ากำไรที่ได้มาแบบนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดา

วิเชียร พงศธร นักลงทุนธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ยกระดับกำไรของเราให้เป็นกำไรของโลก

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน