ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2547 มีปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจในบรรดาคนรักหนัง นั่นคือการเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์ House โรงหนังทางเลือกเต็มตัวแห่งแรกในเมืองไทย
จากเดิมที่บรรดาคนรักหนังเล็กๆ เหล่านี้ต้องคอยฟังข่าวเทศกาลหนัง ไปตามสถาบัน สมาคมต่างๆ เพื่อรอชมภาพยนตร์น้ำดีนอกฮอลลีวูด ก็เปลี่ยนมานั่งเบาะนุ่มๆ ดูจอใหญ่ มีเครื่องเสียงดี รับชมอย่างเต็มอรรถรสได้ที่นี่
ถึงวันนี้ House ก้าวสู่ปีที่ 17 มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่ ‘บ้าน’ หลังนี้
ทั้งช่วงเวลาที่คนแน่นโรง คนเงียบเหงา ตัวเลขผลประกอบการติดลบ ยุคฟิล์มเปลี่ยนผ่านมาดิจิทัล แต่พวกเขาก็ยังอยู่ โดยย้ายมาบ้านหลังใหม่ที่สามย่านได้เกือบ 2 ปีแล้ว และคงราคาค่าตั๋วที่ไม่แพง มีหนังให้เลือกหลากหลาย ตั้งใจฉายหนังดี สนุกสนาน แปลกใหม่ จากทุกมุมโลกเช่นเคย
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชวนไปคุยกับ 3 ผู้ก่อตั้ง House อุ๋ย-ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ, จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ และ จ้อย นรา-พรชัย วิริยะประภานนท์ ถึงการเดินทางอันยาวไกลของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงการย้ายบ้านจาก RCA มาสู่สามย่านมิตรทาวน์ และการปรับตัวในยุค COVID-19 ที่ธุรกิจโรงหนังทั่วประเทศแทบร้างไปช่วงหนึ่ง
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขายังเชื่อในการนำเสนอหนังที่หลากหลายเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
01
เรามาทำโรงหนังกันมั้ย
ย้อนกลับไปราว 20 ปีที่แล้ว ยุคที่หนังบล็อกบัสเตอร์จากฮอลลีวูด หนังจีนจากฮ่องกง ยังยึดครองโรงภาพยนตร์ไทย นานๆ ทีถึงจะมีหนังเล็กฟอร์มดีจากที่อื่นเข้าฉายบ้าง แต่มักยืนโรงได้ไม่นานเพราะมีคนดูเพียงหยิบมือ พื้นที่ของหนังเล็กๆ จึงไปรวมอยู่ตามเทศกาลหนัง สมาคมหรือสถาบันวิชาการต่างๆ วนเวียนจัดขึ้นในกลุ่มคนดูจำนวนจำกัด หรือไม่ก็ไปอยู่ในวิดีโอใต้ดิน มีคนแปลซับไตเติ้ลทำขายกันเอง
เวลานั้น จ๋อง เป็นโปรดิวเซอร์อยู่ที่ FaT Radio FM104.5 นอกจากนี้เขายังจัดรายการพูดคุยเรื่องหนังกับเพื่อนๆ ชื่อว่า ‘หนังหน้าไมค์’ ทุกคืนวันอาทิตย์ จ๋องมักคิดทำอะไรไปเรื่อย ความคิดหนึ่งที่อยู่ในใจมาตลอดคืออยากทำโรงหนัง
“เราชอบดูหนัง แล้วไอ้หนังที่ชอบดูก็หลากหลาย มันมีหนังประเภทหนึ่งที่ช้าแค่อาทิตย์เดียวมันหายเลย หรือว่าฉายสิบเอ็ดโมงเช้าวันธรรมดา เราก็ไปไม่ทัน เลยอยากมีโรงหนังที่ฉายหนังแบบนั้น” จ๋องกล่าวความตั้งใจ
เขาถึงกับเคยไปมองหาพื้นที่ให้เช่าในย่าน RCA ละแวกที่ทำงาน แถมยังสำรวจราคาเครื่องฉายภาพยนตร์ จอภาพ เครื่องเสียง ก่อนตาลุกวาวมีความหวังเมื่อเห็นว่าไม่แพงมาก ต่อมาคิดถึงขั้นจะไปรีโนเวตโรงหนังเก่าแบบหนังเรื่อง The Majestic แต่แล้วความฝันก็พังพาบลง เมื่อรู้ความจริงว่า โรงหนังต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทจัดจำหน่ายด้วย ซึ่งคำนวณเทียบกับการขายตั๋วแล้วน่าจะไม่คุ้ม
“เอาแคตตาล็อกหนังมาดูกัน คำนวณค่าใช้จ่าย ก็พบว่า เฮ้ย นี่มันเจ๊ง ไอ้โรงนี่ไม่เท่าไรหรอก แต่การซื้อหนังเรื่องนี้มาในราคาเท่านี้ โห กูต้องมีคนดูเท่านี้เลยหรอ ไม่เวิร์กเว้ย”
เวลาเดียวกันนั้น อุ๋ย ลูกสาวคนที่ 3 ของ เสี่ยเจียง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ เจ้าของค่ายหนังชื่อดังคือ สหมงคลฟิล์ม เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจที่บ้านในด้านการจัดซื้อหนัง โดยปกติแล้วไม่ใช่ว่าจะเลือกซื้อเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ แต่จะต้องซื้อกันเป็นสต็อกใหญ่ๆ กว่าสิบเรื่อง อุ๋ยจึงรับหน้าที่ดูสต็อกหนังเพื่อเลือกหนังมาใช้ หากหนังฟอร์มใหญ่หรือหนังแมสก็จะคัดไปฉายในโรง ทำโปรโมต ส่วนหนังที่เหลือจะผลักไปตลาดวิดีโอ อุ๋ยพบว่ามีหนังอยู่กลุ่มหนึ่งที่เป็นหนังดี แต่เป็นหนังนอกกระแส ซึ่งเธออยากให้มีโอกาสได้ฉายในโรงใหญ่บ้าง
“แต่ก่อนตลาดวิดีโอมันยังดีมากๆ พร้อมที่จะถูกผลักทิ้งไปที่วิดีโอ โดยไม่มีโอกาสฉายในโรง เนื่องจาก หนึ่ง ไม่คุ้ม กับสอง ไม่มีคนดู พยายามจะคุยกับโรง เขาก็บอกว่าไม่ฉายได้มั้ย เขาอยากฉายหนังที่ได้เงินมากกว่า สุดท้ายเราก็เจอความอึดอัดอันนั้น”
ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 อุ๋ยพยายามหาทางออกให้หนังเหล่านี้ ด้วยการทำโครงการ Little Big Films Project คัดเลือกหนังที่มีศักยภาพและจัดเป็นเทศกาลเล็กๆ วนฉายตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ อาทิ ลิโด้ SF เซ็นทรัลเวิลด์ Major รัชโยธิน โดยหนังที่ได้รับโอกาส ก็อย่างเช่น Xiu Xiu The Sent Down Girl, The Red Violin, Hedwig and the Angry Inch, City of God, Christmas in August โครงการได้ผลตอบรับที่ดี ช่วยตอกย้ำว่ามีตลาดกลุ่มนี้อยู่จริง แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ปีหนึ่งทำ Little Big Films Project ได้อย่างมากเพียง 2 ครั้ง
“มันก็ทำได้แหละ แต่ทำได้สักพักเรายังไม่รู้สึกเต็มอิ่ม ยังมีหนังอีกเยอะที่ฉายไม่ได้ เวลาจะทำทีต้องทำเป็นแคมเปญขึ้นมา ยากจัง แต่ละครั้งก็ได้แค่ห้าเรื่อง มีอีกเต็มไปหมดที่ไม่ได้ฉายแล้วจำเป็นต้องทิ้ง”
ความอึดอัดในใจ ทำให้อุ๋ยคิดอยากทำโรงหนังอาร์ตที่ฉายหนังแนวนี้โดยเฉพาะ นอกจากหนังดีๆ มีโอกาสได้พบกันคนดูในโรงมากขึ้นแล้ว การฉายอย่างสม่ำเสมอ น่าจะทำให้เกิดกลุ่มผู้ชมที่แข็งแรง และขยายไปสู่คนกลุ่มใหม่ได้มากขึ้น
“ความคิดแบบเด็กๆ ตอนนั้นคือ ที่บ้านทำโรงภาพยนตร์ ถ้าเราเปลี่ยนสักโรงมาเป็นโรงหนังอาร์ต ปล่อยหนังดีๆ รักษามาตรฐานแบบนี้ ฉายไปเรื่อยๆ จนกว่าคนจะมา มันก็คงจะรอดมั้ง”
อุ๋ยพยายามมองหาแนวร่วมที่จะมาช่วยกัน จนวันหนึ่งมาคุยงานกับจ๋องที่ออฟฟิศ FaT Radio ขณะที่กำลังแยกย้ายกัน จู่ๆ อุ๋ยก็พูดกับจ๋องที่เดินมาส่งที่รถว่า “พี่ อุ๋ยจะทำโรงหนังอาร์ต ทำด้วยกันมั้ย” ทำให้จ๋องประหลาดใจมาก เพราะไม่คิดว่าวันหนึ่งโอกาสทำโรงหนังก็มาปรากฏอยู่ตรงหน้า
“ตอนนั้นในใจคิดว่า ‘เข้าตีนเว้ย’ แล้วก็ถามว่าจะทำโรงหนังแบบไหน ซึ่งพอฟังคำตอบของอุ๋ยแล้วพอใจ ก็เลยบอกไปว่าห้ามคุยกับใครเรื่องโครงการนี้แล้วนะ”
จ๋องคิดว่าน่าจะมีแนวร่วมคนอื่นด้วย จึงชวนทีมงานรายการหนังหน้าไมค์ อย่าง จ้อย นักวิจารณ์ภาพยนตร์เจ้าของนามปากกา ‘นรา’ เพราะเล็งเห็นว่าน่าจะนำประสบการณ์ดูหนังมาเติมเต็มด้านการเลือกภาพยนตร์ได้
“ตอนนั้นสงสัยว่าชวนเรามาทำไมวะ เราก็ทำไม่เป็น ไม่รู้อะไรเลย แต่ปากน่ะพูดไปแล้วว่าโอเค ในใจคิดว่า เปรมละ เราจะสั่งหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้” จ้อยเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
อีก 2 คนที่จ๋องชวนมาคือ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม พี่ใหญ่แห่ง FaT Radio ที่เป็นคอหนังเหมือนกัน และ อิ๋ม-อรุณี ศรีสุข ซึ่งมีประสบการณ์จัดเทศกาลหนังใหญ่น้อยมาหลายรายการ กลายมาเป็น 5 คณะผู้ก่อการโรงภาพยนตร์แห่งใหม่ โดยแบ่งหน้าที่กันคร่าวๆ ตามความถนัด อุ๋ยดูแลเรื่องติดต่อหาหนังมาฉาย กับดูตัวเลขรายได้ค่าใช้จ่าย จ๋องดูแลการจัดการต่างๆ จ้อยดูแลเรื่องหนังที่น่าสนใจ รวมถึงเขียนวิจารณ์แนะนำ เต็ดดูเรื่องครีเอทีฟ ส่วนอิ๋มติดต่อกับสมาคมภาพยนตร์ต่างๆ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลหนัง
คำถามสำคัญคือ ควรเลือกสถานที่ตั้งโรงที่ไหนดี ตอนแรกมีตัวเลือกที่รามอินทรา ตามแนวสถานีรถไฟฟ้า แต่สุดท้ายมาลงตัวที่โรงหนัง UMG Cineplex ที่ RCA พระราม 9 ของที่บ้านอุ๋ย ซึ่งเป็นย่านที่คนรู้จักอยู่แล้ว และอยู่ใกล้ทางด่วน น่าจะเดินทางได้ไม่ยากจนเกินไป
“เลือก RCA เพราะเราเองก็มาดูหนังที่นี่บ่อย และรู้สึกว่าโรงสี่ถึงห้าเป็นพื้นที่ที่แยกตัวเองออกไป ทำใหม่ให้เป็นบรรยากาศของอีกโรงได้ โดยที่ไม่ไปรบกวนสามโรงแรก และก็มีอยู่แล้วด้วย ไม่ต้องลงทุนเครื่องฉายใหม่ ไม่ต้องลงทุนเก้าอี้ใหม่ ไม่ต้องลงทุนโครงสร้างใดๆ มากมาย ทำโรงหนังอาร์ตคงจะใช้ตังค์เยอะมากไม่ได้หรอก รีโนเวตโรงนี้ดีกว่า” ชมศจีอธิบาย
สำหรับอุ๋ย ขั้นตอนที่กังวลใจมากที่สุดคือการขออนุญาตจากพ่อ เธอจึงเตรียมตัวทำการบ้านอย่างดี คิดเหตุผลเผื่อโต้แย้งหรืออธิบาย แต่พอเข้าไปคุยจริง ปรากฏว่าทุกอย่างจบลงภายในเวลาไม่ถึง 15 นาที
“พ่อก็เป็นคนนักเลงๆ อยู่แล้ว พอพูดไปว่าอยากทำ เราจะเทิร์นสองโรงนี้เป็นอย่างนี้ได้มั้ย เขาก็ตอบว่า ได้เลย โดยที่ไม่ห้าม ไม่มีการโต้แย้ง เราก็ อ้าว ให้ทำ
“คือจริงๆ การปล่อยให้มันลงวิดีโอ ท้ายที่สุดแล้วมันขาดทุนน้อยกว่า แต่ทางจิตใจคือเราเสียดาย ถ้าในมุมพ่อก็อาจคิดว่าปล่อยๆ ลงวิดีโอไปเหอะ แต่พอเราบอกว่าอยากทำ เขาก็ยอมให้ทำ ลึกๆ คงรู้ว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดกำไร แล้วน่าจะขาดทุนด้วย แต่เขาก็อยากให้เราลอง ได้ลองทำแล้วเดี๋ยวก็รู้ว่ามันไม่ง่าย”
02
โรงหนังที่เป็นเหมือน ‘บ้าน’
เมื่อบิ๊กบอสแห่งสหมงคลฟิล์มอนุมัติ ทุกอย่างก็เดินเครื่องไปข้างหน้า หนึ่งในนั้นคือการคิดชื่อโรงภาพยนตร์ใหม่ ซึ่งจ๋องมีไอเดียบรรเจิด คิดชื่อมาให้เลือกเป็นร้อยชื่อ มีตั้งแต่ชื่ออย่าง ‘สะปาก’ หรือพูดแล้วเต็มปากเต็มเสียงแบบ ซาลาเจโว, วันเดอร์รามา, บาติสตูต้า, เบอรูชาก้า ไปจนชื่อที่ขึ้นชื่อด้วยศาลา ล้อกับชื่อโรงหนังเก่าอย่างศาลาเฉลิมกรุง แม้กระทั่งชื่อแปลกๆ แต่จำง่ายอย่าง ทอยเล็ต ซินีมา ก็มีให้เลือก
แต่สุดท้ายอุ๋ยตัดสินใจเคาะชื่อที่เรียบง่ายแต่อบอุ่น นั่นคือ ‘House’
“อุ๋ยอยากทำให้คนที่เข้ามาชม เขารู้สึกว่าตัวเองกำลังนั่งอยู่ในบ้าน”
ด้วยความตั้งใจนี้ ทำให้โรงภาพยนตร์ House RCA ออกแบบอย่างเรียบง่าย เน้นบรรยากาศใกล้ชิดกับคนดู ใช้โทนสีขาว น้ำตาล มีกลิ่นอายย้อนยุค เบาะที่นั่งก็นุ่มสบาย รวมถึงการเลือกหนัง ที่ถึงแม้เป็นหนังนอกกระแส แต่อยากให้ผู้ชมชอบมากที่สุด เหมือนเป็นหนังที่เลือกดูเองที่บ้าน
“เมื่อก่อนสังคมถูกสร้างการรับรู้ว่า ถ้าหนังแบบนี้ ไม่สนุกแน่นอน ยาก ปีนกระได อย่าดู แต่จริงๆ แล้วมีทุกอย่างที่หนังแมสมีนะ แค่แต่งตัวแล้วไม่สวย ไม่ใช่สิ่งที่คุณคุ้นเคย ไม่ใช่ภาษาที่คุณเคยฟัง แต่จริงๆ แล้วสนุก” อุ๋ยกล่าว
จ๋องเคยอธิบายว่า หนังที่ House เลือกแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ประเภทแรกคือ ‘หนังเล็ก’ ผู้ผลิต ผู้กำกับ ดารา ไม่เป็นที่รู้จัก หรือมาจากประเทศที่ไม่มีอุตสาหกรรมหนังขนาดใหญ่ เช่น หนังไอซ์แลนด์ หนังเปรู แต่มีคุณค่าบางอย่างน่าสนใจ ประเภทที่ 2 คือหนังจากสตูดิโอใหญ่ๆ แต่ทำหนังเล็ก เพราะอยากทำหนังได้รางวัลบ้าง หลายเรื่องมีดาราที่มีชื่อเสียง เพียงแต่อาจดูยากสักหน่อย
แบบที่ 3 คือหนังใหญ่ในประเทศที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ มักเป็นหนังยอดนิยม คนดูรัก ได้เงิน แต่พอเข้าเมืองไทยก็กลายเป็นหนังเล็กเพราะคนไม่รู้จัก ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นหนังญี่ปุ่น ประเภทที่ 4 คือหนังไทยสเกลเล็ก แต่ได้รางวัล
ทั้งหมดไม่ได้ตายตัวเสียทีเดียว เพราะถ้าเป็นหนังที่ทีมงานชอบ ต่อให้เล็กใหญ่หรือแปลกแค่ไหนก็มีโอกาสมาปรากฏตัวที่ House ได้เหมือนกัน ที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะแค่หนังของสหมงคลฟิล์มเท่านั้น แต่เปิดกว้างสำหรับหนังทุกค่าย
ถามว่า ทำไมคนดูควรจะรู้จักหนังเหล่านี้ ทั้งที่แค่หนังในโรงทั่วไปก็มีเยอะดูจนไม่หมดแล้ว
“ถ้าเปรียบเหมือนอาหาร มันก็เป็นเมนูอีกรสหนึ่ง ไม่ได้เป็นเมนูหลักๆ ที่เราคุ้น ไม่ใช่ข้าวกะเพราไก่ แล้วมันเป็นเมนูที่ปลีกย่อยไปได้กว้างมาก ที่สำคัญคือทำให้คนดูรู้สึกว่า โลกของหนังมีอะไรอีกเยอะ คนมาดูเหมือนได้มาค้นพบว่ามีหนังแบบนี้อยู่ด้วย” จ้อยอธิบายในฐานะนักดูหนัง
“เราอยู่ในสังคมที่มักจะให้คุณค่ากับอะไรแค่บางอย่าง แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างมีคุณค่าของมัน เราไม่ปฏิเสธหนังประเภทฟ้าถล่ม มนุษย์ต่างดาวบุก เราเป็นคนแรกที่สนุกสนานด้วยซ้ำ และไอ้หนังที่ House ก็เป็นหนังที่เราชอบเหมือนกัน แค่อยากให้ได้ครบทุกรส คนเรากินอาหารให้ครบทุกหมู่ สุขภาพดีกว่าไง” จ๋องเสริม
กลุ่มเป้าหมายหลักที่พวกเขาเล็งไว้ไม่ใช่คอหนังตัวยง แต่คือคนทั่วไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กำลังค้นหาตนเอง กล้าทดลอง และพร้อมเปิดใจมาสัมผัสกับอรรถรสของหนังที่แปลกใหม่ ซึ่งจะทำให้ฐานคนดูหนังประเภทนี้ขยายออกไปมากขึ้น รองลงไปถึงจะเป็นกลุ่มคอหนัง เพราะถ้าพึ่งพากลุ่มนี้อย่างเดียวโรงอาจอยู่ไม่รอด
House RCA มีกำหนดเปิดโรงในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2547
ก่อนถึงวันนั้น ทีมงานระดมสมองคิดกลยุทธ์เพื่อประชาสัมพันธ์ ในที่สุดก็มาลงตัวที่โปรโมชันสุดคุ้มอย่าง Film Buffet จ่ายเงินสมัครสมาชิกแค่ 100 บาท แต่รับชมภาพยนตร์ได้ถึง 150 เรื่อง ตลอด 3 สัปดาห์
“คิดกันว่าทำยังไงดีจะให้คนรู้จัก แล้วตอนนั้นหนังในสต็อกเยอะ เราก็ไปรื้อสต็อกมาทำบุฟเฟต์กันเลยดีกว่า ขอความช่วยเหลือจากค่ายอื่นที่ยังมีฟิล์มอยู่ด้วย หนังทุกเรื่องให้เป็นคาแรกเตอร์ House คนจะได้รู้ว่า หนังแบบนี้แหละที่เราอยากให้ดูในอนาคต” อุ๋ยอธิบาย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทีมงานกังวลใจมากคือ โรงหนังจะเสร็จทันตามกำหนดหรือไม่ เพราะการปรับปรุงโรงเก่าเพิ่งจะเริ่มต้นในช่วง 30 วันสุดท้าย จริงอยู่ที่มีอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ฉายหนังจากโรง UMG เดิม แต่อะไรก็ดูชักช้าไปเสียหมด
คืนก่อนเปิดโรง ทุกคนต้องลุ้นระทึก เพราะติดตั้งเก้าอี้โรงหนังผิดจนต้องรื้อเรียงใหม่ ทำให้การเทพื้นโรงด้วยอีพ็อกซี ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายเริ่มตอนตี 4 เสี่ยงว่าพื้นจะแห้งไม่ทันฉายหนังรอบแรกตอน 11 โมง
“พอสิบเอ็ดโมง มันก็ยังหยุ่นๆ อยู่ พี่วิโรจน์ คนฉายหนังก็เช็ก บอกว่าตรงนี้เราอย่าเหยียบเลยนะครับ ตรงนี้เดินไม่ได้ แต่ยังไงคนก็ต้องเข้า ผมเลยประกาศให้คนดูถอดรองเท้า แล้วเดินตามผมมาเพื่อให้ไม่โดนอีพ็อกซีมากที่สุด และยังเข้าทางประตูไม่ได้ ดังนั้นคนที่ดูรอบแรก ที่โรงหนึ่งได้สิทธิ์ในการลอดจอเข้าไป และต้องถอดรองเท้าถือกันทุกคน” จ๋องเล่า
โรงหนังแห่งใหม่ได้เสียงตอบรับล้นหลาม ช่วงเดือนแรกมีคนมาต่อแถวซื้อตั๋วยาวเหยียดลงไปถึงชั้นล่าง จำนวนสมาชิกพุ่งขึ้นเกือบ 5,000 คน ทำให้ทีมงานยิ้มแก้มปริ ใจชื้นขึ้นมา
“ตอนนั้นคิดว่าสามถึงห้าปีก็คืนทุนแล้ว รู้สึกว่าคอนเซปต์ใช่ หนังมันใช่ ทุกคนช่วยกัน มันต้องได้สิ แต่ตอนที่เปิดโรงมีพี่คนหนึ่งเดินมาบอกเราว่า อุ๋ยต้องให้เวลามันสักสิบปีนะ เราก็อึ้ง เหรอพี่ นานอย่างนั้นเลยหรอ ไม่หรอก” อุ๋ยเล่า
หลังจากจบโปรแกรมบุฟเฟต์ ทุกคนก็เริ่มเห็นความจริงอันโหดร้าย เพราะคนที่มาชม The Barbarian Invasions กับ The Ladykillers หนังสองเรื่องแรกในโปรแกรมปกตินั้นบางตาลงไปมาก
“เหงาเนอะ ความอบอุ่นที่ได้รับมาในช่วงหนึ่งเดือนนั้น หายไปไหนนะ” จ๋องรำพึงรำพัน
03
พื้นที่ของคนรักหนัง
15 ปีของ House RCA มีทั้งช่วงที่คึกคักและเงียบเหงา บางเวลาคนทะลักโรงจนไม่มีที่นั่งว่าง แต่บางรอบก็เคยมีคนดูเพียงคนเดียว ในขณะที่ทีมผู้บริหารหลักเหลือเพียง อุ๋ย จ๋อง และจ้อย แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร โรงภาพยนตร์แห่งนี้ก็ยังคงทำหน้าที่บ้านของหนังทางเลือกโดยไม่เปลี่ยนแปลง
มีหนังหลายเรื่องที่เป็นความสนใจเฉพาะกลุ่ม แต่ House พิจารณาแล้วว่าน่าสนใจ จึงทดลองนำมาฉาย อย่าง Formular 17 หนังเกย์สไตล์น่ารักจากไต้หวัน เคยเกือบถูกตัดทิ้งเพราะไม่ค่อยตรงสูตรหนังดี-หนังสนุก-หนังที่ทีมงานชอบ แต่ในต่างประเทศพูดถึงกันอย่างมาก ในที่สุดหนังเรื่องนี้กลายเป็นม้ามืดที่สร้างปรากฏการณ์คนเต็มโรงอีกครั้งถึง 3 รอบติด เมื่อ พ.ศ. 2547 และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มเกย์ในไทยสร้างหนังเกย์ Rainbow Boys ซึ่งได้มาฉายที่นี่เช่นกัน
อีกตัวอย่างที่เข้าข่ายนี้ คือภาพยนตร์เรื่อง 36 ของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จากเดิมที่หนังเวียนฉายตามเทศกาล มีแฟนคลับชื่นชอบในวงจำกัด แต่เมื่อ House ชวนมาฉาย ก็ทำให้ความนิยมแพร่กระจายไปวงกว้าง คนสนใจเพิ่มขึ้น จากตอนแรกวางแผนว่าจะฉายแค่ 8 รอบ ทำให้ต้องขยายและยืนโรงได้นานนับเดือน เช่นเดียวกับ Mary is Happy, Mary is Happy หนังเรื่องถัดมาของนวพล ซึ่งเกิดกระแส ‘ฟีเวอร์’ จนมีคนมายืนต่อแถวรอดูหนังและซื้อเสื้อยืดกันยาวเหยียดจนล้นไปถึงบันไดชั้นล่าง
“เต๋อมีแฟนคลับของเขาอยู่แล้ว ตัวหนังเรื่อง 36 เอง ระหว่างที่ไปฉายไม่กี่รอบก็ได้สร้างกระแสปากต่อปากเป็นที่โจษจันอยู่ พอมาฉายก็เลยเป็นปรากฏการณ์ เหมือนเต๋อเป็นสินค้ายอดนิยมที่ไม่เคยปรากฏบนท้องตลาดมาก่อน มันมีคนพร้อมจะชอบ ซึ่งค่ายใหญ่อาจไม่ได้กลิ่นอะไรแบบนี้” จ้อยอธิบาย
หลายเรื่องที่เข้าสูตรหนังน้ำดี ผู้ชมรัก แต่ไม่ได้มาจากผู้ผลิตที่ผู้ชมคุ้นเคย จึงถูกหมางเมินจากโรงใหญ่ เมื่อเข้ามาฉายที่ House ก็ได้รับเสียงชื่นชมมาก ตัวอย่างเช่น Be with You หนังรักปาฏิหาริย์ในฤดูฝนที่คนดูน้ำตาท่วมจอ Always: Sunset on the Third Street หนังสุดอบอุ่นหัวใจจากญี่ปุ่น The Lunchbox หนังที่ว่าด้วยอุตสาหกรรมการส่งข้าวกล่องของอินเดีย Call Me by Your Name หนังรักก้าวผ่านวัยของเด็กหนุ่มอายุ 17 รวมถึงหนังสารคดี Jiro Dreams of Sushi ที่เล่าเรื่องเทพเจ้าซูชิ ขณะช่วงนั้นน้ำท่วมกรุงเทพฯ คนยังมาชมกันแน่น
ด้วยความเป็นโรงขนาดเล็ก House จึงมีความยืดหยุ่นตอบโจทย์ภาพยนตร์ที่มีความพิเศษ เช่น เคยฉายหนังฟิลิปปินส์เรื่อง From What Is Before ที่ยาวถึง 5 ชั่วโมง 38 นาที มาแล้ว หรือหนังที่มีฉากวาบหวิวโจ๋งครึ่มอย่าง Lust, Caution ของผู้กำกับอั้งลี่ ทางโรงก็ตัดสินใจฉายโดยไม่ตัดฉาก เพียงแต่ใช้วิธีตรวจบัตรประชาชน ให้ดูเฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นโรงหนังแห่งแรกที่ทำ ก่อนกฎหมายจะบังคับเสียอีก
หนังบางเรื่องเคยฉายในโรงทั่วไปแล้ว แต่เมื่อมีเวอร์ชันพิเศษ House ก็นำมาให้คอหนังรับชม เช่น Parasite ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ ฉบับขาวดำ ชั่วฟ้าดินสลาย Director’s Cut รวมถึง รักแห่งสยาม Director’s Cut ที่ยาวถึง 3 ชั่วโมงกว่า แต่กลับมีผู้ชมต้อนรับอย่างล้นหลาม จนเป็นหนึ่งในหนังที่ทำรายได้สูงสุดของ House RCA
“รักแห่งสยาม เวอร์ชันปกติสองชั่วโมงกว่า แต่ Director’s Cut จากที่ยาวไปแล้วก็ยาวไปอีก มันไม่มีที่ไหนเหมาะสมจะฉายหนังเรื่องนี้เท่า House อีกแล้ว” จ้อยกล่าว
นอกจากนี้ยังจัดเทศกาลหนังขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่โรงจัดเองและมีเจ้าภาพร่วม เช่น Bangkok Film Festival เทศกาลหนัง Retro to Kitano เทศกาล From Hong Kong with Love รวมถึงนำหนังคลาสสิกที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนกลับมาฉาย เช่น ผีเสื้อและดอกไม้, เถียนมีมี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในเชิงตัวเลข House ติดลบมาโดยตลอด ยิ่งช่วงปีแรกๆ นั้นขาดทุนเป็นประจำทุกปี
“นึกถึงเมื่อสิบหกถึงสิบเจ็ดปีที่แล้ว เรามาทำโรงหนังแบบนี้มันคือเรื่องใหม่มาก ยากที่จะบอกให้สังคมรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ยิ่งไม่ใช่จานที่ทุกคนจะอร่อยได้แน่ บางคนอาจไม่ถูกปาก เลยเป็นความยากที่ต่อเนื่อง แล้วไม่ใช่ว่าคนดูจะดูทุกเรื่อง คือหนังมันเลือกคน แฟนหนังญี่ปุ่นก็ดูหนังญี่ปุ่น แฟนหนังเกย์ก็ดูหนังเกย์ ถามว่ามีคนดูทุกเรื่องมั้ย มี แต่คนพวกนั้นน้อย และคุณไม่มีทางรู้หรอกว่าหนังเรื่องนี้คนดูเยอะแน่ ถ้ารู้ก่อนเราคงรวย” จ๋องอธิบายถึงความท้าทาย
อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกคนได้ยินหนาหูขึ้นเรื่อยๆ คือเรื่องที่ตั้งที่ RCA ซึ่งเดินทางไปไม่สะดวก เนื่องจากไม่มีรถไฟฟ้าผ่าน ต้องใช้บริการรถเมล์ แท็กซี่ หรือขับรถไปเอง ถึงขั้นมีคำกล่าวว่า ค่าเดินทางแพงกว่าตั๋วหนัง
ประเด็นนี้ส่งผลต่อเนื่องมาถึงการขึ้นราคาค่าตั๋ว ทีมงานคิดอยู่นานกว่าจะขอขึ้นราคาจาก 100 เป็น 120 บาท ทั้งที่โรงหนังเครือใหญ่ขยับราคาไปที่ 200 บาทกันแล้ว
“คือเรารู้สึกว่าจะไปขึ้นค่าตั๋วอีกหรอ เฮ้ย จ่ายค่ารถมาที่แพงกว่าค่าตั๋วอีกนะพี่” อุ๋ยเล่าบ้าง
“สุดท้ายก็ขึ้น เขียนแถลงการณ์น้ำตาตกเลย จำเป็นจริงๆ แต่ไม่เห็นมีใครเขาด่าเลย เขาบอกว่ามึงน่าจะขึ้นตั้งนานแล้ว กลัวโรงอยู่ไม่ได้ เออ บุญของเราที่เขาคิดแบบนี้” จ๋องกล่าวติดตลก
จากผลขาดทุนสะสม รวมทั้งมีโรงอื่นที่เริ่มฉายหนังลักษณะเดียวกันมากขึ้น เคยมีช่วงหนึ่งที่ทุกคนมองหน้ากันเหมือนมีคำถามในใจว่า เลิกทำ House ดีมั้ย อุ๋ยเองก็รู้สึกผิด จนได้คุยกับคุณพ่อ แต่ท่านกลับถามว่า จะเลิกทำไม
จุดเปลี่ยนจริงๆ ที่ทำให้ House หายใจคล่องขึ้น คือเทคโนโลยีการฉายหนังที่เปลี่ยนไป
จากเดิมที่หนังจะฉายด้วยฟิล์ม 35 มม. เวลาไปฉายโรงอื่นต้องทำสำเนาฟิล์ม ค่าทำชุดหนึ่งไม่ใช่ถูกๆ แถมต้องทำซับไตเติ้ล โฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำให้บรรดาค่ายหนังคิดถึงความคุ้มค่าก่อนมาฉายที่ House ซึ่งมีคนดูจำกัด หนังช่วงแรกจึงมาจากสหมงคลฟิล์มเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล
“วันที่เครื่องฉายดิจิทัลเข้ามา ต้นทุนลดไปเยอะมาก เราคุยกับเจ้าของหนังได้ง่ายขึ้น เรามีโอกาสที่จะได้ฉายหนังที่เราอยากฉาย พอคอนเทนต์เราดีขึ้น มันก็สะท้อนมาในตัวเลขของคนดูที่ RCA ด้วย” อุ๋ยอธิบาย
ตั้งแต่ปีที่ 12 เป็นต้นมา House เริ่มอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทุกอย่างกำลังไปได้สวย แต่แล้วทีมผู้บริหารก็ต้องกลับมาคิดหนักกันอีกครั้ง เมื่อมีคนยื่นข้อเสนอหนึ่งเข้ามา นั่นคือชวนย้ายบ้าน!
04
House ย้ายบ้านสู่สามย่าน
ราว พ.ศ. 2560 – 2561 มีเพื่อนคนหนึ่งของ โอ๋-จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ พี่สาวของอุ๋ย และหนึ่งในหุ้นส่วนของ House ติดต่อเข้ามา เพื่อนคนนี้ทำงานในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังพัฒนาสามย่านมิตรทาวน์ โครงการใหม่แห่งนี้เน้นคอนเซปต์ด้าน Art-Eat-Education ทำให้เขานึกถึงโรงหนัง House เพราะเป็นแฟนประจำของที่นี่อยู่แล้ว จึงอยากชวนทีมผู้บริหารไปคุยกัน
ก่อนหน้านี้ ทุกคนไม่เคยคิดว่าอยากย้ายไปไหน แต่พอได้ยินว่า สามย่านก็เริ่มสนใจ เพราะปัญหาทำเลโรงหนังที่เป็นปมในใจมานานจะได้จบเสียที ทว่าอีกใจยังเสียดายโรงที่ RCA เสี่ยเจียงบอกอุ๋ยว่า เปิดไปเลยทั้งสองที่ แต่เมื่อคุยกัน คิดคำนวณค่าใช้จ่ายและความคุ้มค่าแล้ว ในที่สุดก็ตัดสินใจย้ายบ้าน
“เราคุยกันจนท้ายที่สุดสรุปว่า ถ้าจะมาอยู่ตรงนี้ มันดีสำหรับ House มันดีสำหรับคนดู เขาเดินทางง่ายขึ้น หนังกับคนดูมีโอกาสเจอกันมากขึ้น” จ๋องบอกเหตุผล
House RCA เปิดให้บริการวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ท่ามกลางบรรยากาศร่ำลาโรงเก่าอย่างอบอุ่น มีแฟนหนังมาร่วมงานคับคั่ง ก่อนจะกลับมาเปิดโรงอย่างเป็นทางการบนชั้น 5 ของสามย่านมิตรทาวน์ในวันที่ 26 กันยายน ปีเดียวกัน พร้อมกับโปรโมชันตั๋วบุฟเฟต์อีกครั้ง เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมยาวไป 3 สัปดาห์
House Samyan ออกแบบให้บรรยากาศดูผ่อนคลาย โอ่โถงแต่ยังอบอุ่นเหมือนเดิม เพิ่มจำนวนจาก 2 เป็น 3 โรง ยกเครื่องฉาย ยกเก้าอี้มาจาก RCA ทำให้ลดค่าใช้จ่ายไปได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งชวน วิโรจน์ สุนทรศิริมั่นคง พนักงานฉีกตั๋วและคนคุมเครื่องฉายวัยเก๋าตั้งแต่สมัยโรง UMG ให้ตามมาทำงานต่อที่นี่ด้วย
นอกจากนี้ เป็นโอกาสดีที่จะเริ่มทำระบบซื้อตั๋วและเช็กรอบหนังผ่านแอปพลิเคชันที่ House ไม่เคยมีมาก่อน ส่วนค่าตั๋ว ทีมผู้บริหารขอปรับราคาขึ้นแค่ 20 บาท เป็น 140 บาทสำหรับสมาชิก และ 160 บาทสำหรับคนทั่วไป ซึ่งยังคงถูกกว่าโรงหนังเครือใหญ่เจ้าอื่น
การย้ายบ้านครั้งนี้ แม้เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ แต่ทุกคนในทีมอยากให้ผู้ชมมีความสุขกับหนังมากขึ้น จึงตั้งใจให้เนื้อหาของภาพยนตร์เข้มข้นและหลากหลายกว่าเดิม การเพิ่มเป็น 3 โรง ยิ่งทำให้ฉายหนังได้วันหนึ่งเกิน 10 เรื่อง นอกจากนี้ยังพยายามเพิ่มหนังคลาสสิกให้มีทุกเดือน ที่เคยฉายผ่านมาแล้วเช่น Forrest Gump, Tokyo Story, โหด เลว ดี และ Pulp Fiction
“เอาจริงเราก็ฉายหนังแบบเดิม ทำแบบเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิม ยกเว้นโลเคชันที่เปลี่ยนไป แต่ก็ทำให้แนวโน้มของคนดูดีขึ้น แต่วันที่เปิดวันแรก คนสักแปดสิบเปอร์เซ็นต์ก็ยังไม่รู้จักเรา คนที่เดินเข้ามาที่เคาน์เตอร์นึกว่าเราขายบ้าน ขายคอนโดฯ หรือเปล่า เราก็ต้องแนะนำตัวเองใหม่ว่า เราคือใคร เราทำอะไร” อุ๋ยเล่าแล้วขำ
เปิดโรงได้ไม่ถึงปี House Samyan ต้องเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 แม้จะเอาจริงเอาจังถึงขั้นถอดเก้าอี้บางส่วนออกเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม และลงทุนซื้อเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคมาฉีดทุกรอบ แต่ไม่วายต้องปิดโรงไปช่วงหนึ่งเช่นเดียวกับโรงหนังทั่วประเทศ พอกลับมาเปิดใหม่ คนดูเริ่มกลับมาก็ต้องเจอกับ COVID-19 ระลอกใหม่ เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด
“หนักเลยค่ะ อุ๋ยว่ารอบนี้เหนื่อยกว่ารอบที่แล้ว โรงหนังทุกคนก็พูดได้คำเดียวว่า ยืนขาแข็ง คือทำอะไรไม่ได้จนกว่าวัคซีนจะมา โควิดจะจบ เราก็ต้องยืนนิ่งเข้าไว้” ชมศจีอธิบายถึงการต่อสู้ของ House
ในวันที่โรงภาพยนตร์แห่งนี้อายุใกล้ครบ 17 ปี สถานการณ์โดยรอบยังเต็มไปด้วยความท้าทาย ไม่ว่าจะโรคระบาดหรือมีสื่อและกิจกรรมใหม่ๆ เข้ามาแย่งเวลาของผู้ชม แต่พวกเขาก็ตั้งใจให้ House ยืนหยัดเคียงข้างคนดูหนังต่อไป
“เราทำ House กันเพราะอยากบอกสังคมว่ามันมีหนังอีกเยอะ อยากให้คนได้ดูหนังที่หลากหลาย ถึงวันนี้เราก็ยังพูดเหมือนเดิม ถามว่าให้อะไรสังคม เราไม่รู้ มันอาจมีส่วนสร้างพฤติกรรมของคนดูให้เขารู้จักหนังแบบนี้มากขึ้น และพอเขารู้จักมากขึ้น มันก็จะเกิดผลดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวมอยู่แล้ว มีผู้สร้างหรือนำหนังอีกแบบเข้ามามากขึ้น แต่คงไม่ใช่เพราะเราคนเดียว เราเป็นส่วนเล็กๆ เท่านั้น” จ๋องพูดถึงโรงหนังที่เขามีส่วนสร้างขึ้นมา
“เวลาเห็นฟีดแบ็กของลูกค้าในโซเชียลมีเดีย อุ๋ยรู้สึกว่าเขารักเรา มีกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ๆ ที่รัก House และเราดีใจที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ จุดประสงค์ในการทำแรกๆ คือแพสชันส่วนตัว จนวันนี้มันได้มาเป็นโรงหนังที่สมบูรณ์ สำหรับเราตอนนี้ก็เหลือแค่ให้ House ได้ทำหน้าที่ในการแนะนำหนังใหม่ๆ หนังคาแรกเตอร์แปลกๆ ให้คนได้รู้จัก คนมาค้นพบตัวเองได้ที่นี่ ถ้าชอบ เขาก็จะเรียนรู้ที่จะชอบหนังแบบนี้เพิ่มไปเรื่อยๆ แค่นี้ก็ Fullfill แล้ว” อุ๋ยพูดความในใจบ้าง
ไม่มีใครรู้ว่าโรงภาพยนตร์แห่งนี้จะยืนระยะไปได้อีกยาวนานเพียงใด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากว่า 10 ปีที่ผ่านมาของ House คือกำไรของคนดูหนังอย่างแท้จริง เพราะมีหนังให้เลือกดูเพิ่มขึ้นมากมาย ใครที่รักหนังก็คงต้องเอาใจช่วยให้ ‘บ้าน’ หลังนี้ สร้างความสุขความทรงจำดีๆ กับทุกคนต่อไปอีกนานๆ
ขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook : House Samyan
ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง
สัมภาษณ์ คุณชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ, คุณพงศ์นรินทร์ อุลิศ และคุณพรชัย วิริยะประภานนท์ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564
นิตยสาร Pulp ปีที่ 1 ฉบับที่ 12 เดือนมิถุนายน 2547
นิตยสาร happening ปีที่ 8 ฉบับที่ 92 เดือนตุลาคม 2557
นิตยสาร happening ปีที่ 10 ฉบับที่ 106 เดือนกรกฎาคม 2559
หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 สิงหาคม 2562
เว็บไซต์ MGR Online วันที่ 1 กรกฎาคม 2547
เว็บไซต์ The Standard วันที่ 26 กรกฎาคม 2562
Facebook : House Samyan