ว่ากันเรื่องรถไฟมือสองของไทยนั้นมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่รถไฟทั้งหมดในประเทศ เอาล่ะขอเกริ่นกันแบบดื้อๆ เลย เราไม่รู้ว่าไอ้เจ้าประโยคที่ว่า “รถไฟไทยมีแต่มือสองจากประเทศอื่นที่เขาทิ้งแล้วทั้งนั้น” มันเริ่มต้นมาจากที่ไหน แล้วมันเริ่มมาได้ยังไง ใครเป็นคนกระจายความเข้าใจผิดๆ นี้จนมันกว้างขวางซะจนคนรักรถไฟหลายคนปวดเศียรเวียนเกล้าที่จะต้องตอบคำถามเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่ใช่”

ผู้รับ

มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์รถไฟไทยคือรถไฟมือหนึ่ง ส่วนที่เหลือเป็น Blue Train รถไฟมือสองที่รับบริจาคมาจากญี่ปุ่น และรถโดยสารที่ซื้อมาจากบริษัทรถไฟควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย นอกนั้นคือรถใหม่ป้ายแดงอิมพอร์ตมาจากหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา เยอรมนี จีน โอ๊ย เยอะแยะมากมาย

มาพูดถึงรถควีนส์แลนด์ก่อน

มันเป็นรถที่เราเห็นแล้วต้องตั้งคำถามกับตัวเองทุกครั้งว่ามันจะเหมือนคุกไปไหน รถโดยสารสแตนเลสสีเขียวสังขยาคาดสีส้ม ที่นั่งข้างในเป็นเบาะนวมเอนได้นิดหน่อยและมีพื้นที่ยืนมหาศาลนั้น ถูกพ่วงไปกับรถชานเมืองสายกรุงเทพ-ลพบุรี กรุงเทพ-บ้านภาชี กรุงเทพ-ปราจีนบุรี บางวันก็เฮี้ยนไปวิ่งเป็นรถธรรมดากรุงเทพ-หัวหิน ซึ่งมันเป็นรถที่ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีพัดลม หน้าต่างบานเล็กมาก แถมมีลูกกรงประดับเอาไว้เหมือนกันคนคิดสั้นกระโดดออกจากรถไฟยังไงก็ยังงั้น พูดโดยรวมๆ คือร้อนมาก มันเป็นรถที่เราไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่ แต่ก็ต้องนั่งมันมาทำงานทุกเช้า

รถควีนส์แลนด์ที่ซื้อมือสองจากออสเตรเลีย

ในส่วนของรถมือสองจากญี่ปุ่นนั้นเป็นการให้ความช่วยเหลือจาก JR-WEST ซึ่งมีทั้งรถดีเซลราง Kiha รถนั่ง รถนอน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากที่เจ้ารถดีเซลราง Kiha นั้นเป็นปุ๋ยไปเสียเกือบหมดแล้ว เหลือแค่บางคันที่โดนนำมาแปลงโฉมใหม่กลายเป็นรถไฟฟ้ากำลัง (Power Generator Car) สำหรับจ่ายไฟให้กับรถโดยสารทั้งขบวน ส่วนรถนั่งบลูเทรนและรถนอนบลูเทรนนั้นเหลืออยู่ไม่มากนักและมักจะได้เห็นบลูเทรน (ที่เป็นสีม่วง) ออกมาวิ่งปุเลงๆ เฉพาะช่วงวันหยุดยาวหรือเทศกาลเท่านั้น

ส่วนล่าสุดที่รับมานั้นเป็นรถนั่งจาก JR Hokkaido จำนวน 10 คันที่มีชื่อเรียกจากแดนอาทิตย์อุทัยว่า ‘ฮามานะสึ’ ซึ่งกำลังจะถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นรถไฟท่องเที่ยวขบวนแรกของประเทศไทย

นอกจากการเป็นผู้รับ (รถไฟมือสอง) ที่ดีแล้ว ประเทศไทยก็ยังเป็นผู้ให้รถไฟกับประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกันนะ

รถบลูเทรนจาก JR-West ที่ใช้งานในบางขบวนเป็นกรณีพิเศษ

คุณจำได้ไหมว่าเมื่อปลายเดือนเมษายนรัฐบาลไทยได้มอบรถไฟ 1 ขบวน จำนวน 4 ตู้ ให้กัมพูชาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ด้านระบบรถไฟให้กลับมาอีกครั้ง หลังจากปิดการเดินรถไปมากกว่า 50 ปี

ถ้าจำไม่ได้ เราแนะนำให้อ่านเรื่องรถไฟไทย-กัมพูชา เพื่อเตือนความจำกันเล็กน้อย

ผู้ให้

รฟท. เคยมอบรถจักรไอน้ำแมคอาเธอร์ และรถจักรไอน้ำอีคลาส (E-Class) ให้กับกัมพูชาในปี 2513 และ 2516 ตามลำดับ ซึ่งตอนที่มอบรถจักรไอน้ำอีคลาสนั้นเราส่งให้กับกัมพูชาด้วยกันถึง 5 คัน หมายเลข 163 184 185 187 ส่วนอีกคันไม่ทราบหมายเลข ซึ่งได้มีพิธีมอบรถอย่างเป็นทางการที่โรงงานมักกะสันเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2516 จุดมุ่งหมายของการบริจาคนั้นเพื่อให้ใช้ในกิจการรถไฟกัมพูชา

รถจักรไอน้ำแมคอาเธอร์ มอบให้กัมพูชาในปี 2513
รถจักรไอน้ำอีคลาส มอบให้กัมพูชาในปี 2516

ส่วนในปี 2562 รถไฟที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมอบให้กับกัมพูชาอีกครั้งเป็นรถดีเซลรางฮิตาชิ (RHN) ซึ่งประจำการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2514 จำนวน 4 คัน เพื่อไปทำหน้าที่ในแดนกัมพูชา

การมอบรถไฟครั้งนี้ หนึ่ง เป็นการกระชับความสัมพันธ์และเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านการคมนาคมจากฝ่ายไทยเองที่มีความพร้อมด้านการจัดหาทรัพยากรใหม่ๆ มากกว่า สอง ก็เป็นการบอกกับกัมพูชากลายๆ ว่า ฉันพร้อมเดินรถไฟร่วมกับเธอนะ ถ้าเธอยังซื้อรถไฟขบวนใหม่เพิ่มไม่ได้ ไม่เป็นไร เอารถไฟ (ของไทย) ขบวนนี้ไปใช้เลย แล้วอย่าลืมวิ่งข้ามไปมาจากกัมพูชามาไทยด้วยล่ะ

ก่อนที่เราจะได้นั่งรถไฟมิตรภาพขบวนนี้ที่กัมพูชา เรามาทำความรู้จักกันหน่อยดีกว่าว่ารถไฟขบวนนี้เป็นใคร มาจากไหน และถ้าไม่ไปนั่งที่กัมพูชาจะหานั่งหรือไปยลโฉมมันที่ไหนได้บ้าง

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับดีเซลรางฮิตาชินั้นขออธิบายถึงคำว่า ‘รถดีเซลราง’ ก่อน

รถดีเซลรางคือรถไฟโดยสารที่มีกำลังขับเคลื่อนในตัวเองโดยไม่ต้องใช้หัวรถจักร มีเครื่องยนต์ในตัวทุกคัน โดยปกติแล้วรถดีเซลรางนั้นจะใช้วิ่งในระยะใกล้หรือระยะกลาง เพราะเป็นรถที่มีความคล่องตัวสูง วิ่งได้ไว โดยความเร็วสูงสุดของรถดีเซลรางที่เรามีอยู่คือ 120 กม. / ชม. ซึ่งโดยปกติแล้วรถดีเซลรางจะมีความยาวต่อขบวนอยู่ที่ 3 – 8 ตู้ แต่ถ้าหากความยาวมากกว่านั้นการใช้รถจักรลากจูงรถพ่วงจะมีความคล่องตัวมากกว่า

รถดีเซลรางแดวู ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดถึง 120 กม. / ชม. ใช้บริการเป็นรถด่วนพิเศษในหลายๆ เส้นทาง

ลำดับต่อไป ขอเรียนเชิญทุกท่านมาทำความรู้จักกับรถดีเซลรางฮิตาชิ ของขวัญด้านความสัมพันธ์ระหว่างรถไฟไทยและรถไฟกัมพูชาไปพร้อมๆ กัน

ดีเซลรางฮิตาชิ ทูตรถไฟไทย-กัมพูชา

รถดีเซลรางฮิตาชิเป็นรถดีเซลรางรุ่นแรกๆ ที่การรถไฟฯ สั่งผลิตจากญี่ปุ่นเพื่อนำมาให้บริการในระยะปริมณฑลเป็นรถไฟชานเมืองหรือรถธรรมดาที่ไม่วิ่งไกลมากนัก มันมีชื่อย่อว่า RHN

ความแตกต่างของดีเซลรางฮิตาชิที่ไม่เหมือนกับรถดีเซลรางอื่นๆ ที่มีใช้อยู่ มันถูกจับคู่เป็นเซ็ต ใน 1 เซ็ตมี 2 คัน ประกอบไปด้วยรถกำลัง 1 คัน และรถพ่วง 1 คัน วิ่งไปด้วยกันแยกออกจากกันไม่ได้ ซึ่งทั้งสองคันมีห้องขับทั้งคู่เพื่อใช้ขับได้ทั้งไปและกลับ เราจึงเห็นรถดีเซลรางฮิตาชิใน 1 ขบวนมีจำนวนตู้เป็นเลขคู่เสมอ ไม่เหมือนกับรถดีเซลรางรุ่นอื่นๆ ที่สามารถพ่วงรวมเป็นขบวนแบบกี่คันก็ได้ไม่มีข้อจำกัด

ในปี 2514 ที่เดบิวต์ในประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นรถที่มีความคล่องตัวสูงมาก มันถูกใช้งานเป็นรถชานเมือง รถธรรมดาหลายขบวนครองเส้นทางเกือบทั้งประเทศ แต่พอหลังจากที่รถดีเซลรางรุ่นใหม่ๆ อย่าง THN และ NKF ถูกอิมพอร์ตมาในช่วงปี 2526 – 2528 ประชากรดีเซลรางฮิตาชิก็ถูกอพยพย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพมหานครสู่แก่งคอยและนครราชสีมาเพื่อภารกิจการใช้เป็นรถไฟท้องถิ่นสายอีสานเท่านั้น นี่แหละจึงเป็นที่มาชื่อน่ารักน่าชังที่บรรดาคนรถไฟตั้งชื่อรถดีเซลรางฮิตาชิว่า ‘รถอีสานเขียว’ และ ‘รถปีศาจเขียว’

เอาเป็นว่าถ้าได้ยินพนักงานรถไฟเรียกสองชื่อนี้ให้อนุมานเอาได้เลยว่าเขากำลังพูดถึงดีเซลรางฮิตาชินะ

อย่างที่เราบอกไปตั้งแต่แรกว่าดีเซลรางฮิตาชิมีรถกำลังและรถพ่วง การเลือกนั่งนั้นก็มีผลกับการโดยสารของพวกเราด้วยเช่นกัน

รถกำลัง ภายในห้องโดยสารจะค่อนข้างร้อนจากเครื่องยนต์ เสียงดังตอนเร่งเครื่อง และไม่มีห้องน้ำ

รถพ่วง ภายในห้องโดยสารไม่ร้อน เสียงเบาเพราะไม่มีเครื่อง และมีห้องน้ำ

ถ้าเรามองจากภายนอกด้วยสายตาของมนุษย์ปกติ ทุกอย่างจะเหมือนกันหมดจนแยกไม่ออกว่าคันไหนรถกำลังคันไหนรถพ่วง แต่ถ้าสำหรับสายตาของเหล่าผู้คลั่งใคล้รถไฟนั้น แค่พวกเขามองใต้ท้องรถและเลขประจำตัวรถเขาก็จะรู้ทันทีว่าต้องเอาตัวเองไปนั่งที่ตู้ไหน

รถกำลัง มีเครื่องยนต์ที่ใต้ท้องรถ และมีเลขประจำตัว 4 หลัก มีหน้าที่เป็นขุมพลังในการขับเคลื่อน

รถพ่วง ไม่มีเครื่องยนต์ใต้ท้องรถ และมีเลขประจำตัว 2 หลักมีหน้าที่ทำให้รถในชุดมีความสมบูรณ์

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้เองที่ช่วยให้บรรดาที่คนที่เดินทางกับขบวนรถไฟที่ใช้เจ้า ‘อีสานเขียว’ เลือกที่จะนั่งตู้ที่ชอบได้ถูก ลองคิดดูนะว่าถ้าช่วงหน้าร้อนแล้วผีผลักไปนั่งรถกำลังอุณหภูมิจะระอุขนาดไหน คิดแล้วรู้สึกมี ‘ความสุก’  ขึ้นมาทีเดียว

สำหรับเส้นทางที่เราจะได้เห็นรถดีเซลรางฮิตาชินั้น ถ้าเอาใกล้กรุงเทพฯ ก็ต้องเป็นสถานีชุมทางแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ที่นี่มีเส้นทางรถท้องถิ่นระหว่างแก่งคอย-ลำนารายณ์ แก่งคอย-บัวใหญ่ และแก่งคอย-ขอนแก่น

ส่วนอีกที่ที่เป็นสำนักงานใหญ่ของดีเซลรางฮิตาชิคือสถานีนครราชสีมาที่มีเส้นทางวิ่งระหว่างนครราชสีมา-อุดรธานี นครราชสีมา-หนองคาย นครราชสีมา-ลำชี และนครราชสีมา-อุบลราชธานี นอกจากนั้นแล้ว ยังมีรถท้องถิ่นระยะสั้นๆ จากลำชี-สำโรงทาบ และลำชี-อุบลราชธานี อีกด้วย

นอกจากนั้นแล้ว เรายังสามารถนั่งเจ้าดีเซลรางฮิตาชิข้ามประเทศจากไทย-ลาว บนเส้นทางหนองคาย-ท่านาแล้งได้อีกด้วยนะ เรียกได้ว่านอกจากครองนครอีสานแล้ว ยังเป็นรถไฟระหว่างประเทศอีกด้วย

รถดีเซลรางฮิตาชิที่วิ่งระหว่างไทย-ลาว ในเส้นทางหนองคาย-ท่านาแล้ง

สำหรับรถดีเซลรางฮิตาชิขบวนมิตรภาพที่มอบให้กัมพูชา ประกอบด้วยหมายเลข 1035 1038 40 และ 45 ซึ่งหมายเลข 1035 และ 1038 เป็นรถกำลังมีห้องขับ ส่วนหมายเลข 40 และ 45 เป็นรถพ่วงไม่มีกำลัง ทั้งสี่คันเป็นรถต้นแบบที่ถูกดัดแปลงเครื่องยนต์และระบบไฟฟ้าเพื่อยืดอายุการใช้งานของรถดีเซลรางฮิตาชิคันอื่นๆ เรียกได้ว่าทั้งสี่คันที่มอบให้กัมพูชาเป็นอาจารย์ใหญ่ของมวลมหาประชากรดีเซลรางฮิตาชิที่ยังคงทำหน้าที่ในประเทศไทยอีกด้วย

เคลื่อนขบวนข้ามประเทศ

22 เมษายน 2562 เป็นพิธีมอบรถไฟให้กับกัมพูชาหลังจากที่เปิดสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึกเป็นที่เรียบร้อย ช่วงเวลาประมาณ 11 โมงเช้า ทีมงานทุกฝ่ายเตรียมพร้อมเพื่อขับเคลื่อนขบวนรถไฟความยาว 4 ตู้จากสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย ไปที่สถานีปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา

ดีเซลรางฮิตาชิความยาว 4 คัน ประกอบด้วยรถตามลำดับคือ พซข.45 กซข.1035 พซข.40 และ กซข.1038 สีน้ำเงินเงาวับสตาร์ทเครื่องเตรียมพร้อมเดินทาง ทีมงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสภาพ พนักงานขับรถเข้าประจำที่ เมื่อนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศและผู้ร่วมงานเดินขึ้นรถไฟเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาล้อเคลื่อน เสียงหวีดรถไฟก็ดังกังวาน พนักงานขับรถขยับมือขับเพื่อส่งกำลังขับเคลื่อนผ่านระบบไฟฟ้าไปยังรถกำลังทุกตู้ ล้อเหล็กค่อยๆ เคลื่อนตัวมุ่งหน้าไปที่สะพานคลองลึกที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมรถไฟไทยกับกัมพูชาเข้าด้วยกัน

เสียงโห่ร้องดังก้องจากประชาชนฝั่งไทยเมื่อรถไฟค่อยๆ เคลื่อนขบวนออกจากสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก นี่คือภาพประวัติศาสตร์ที่เป็นภาพสีและภาพเคลื่อนไหวที่เราเห็นและอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ความรู้สึกขนลุกมันเกิดขึ้นทันที รถไฟความยาว 4 ตู้ถ้วนค่อยๆ เคลื่อนด้วยความเร็วประมาณ 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจนพ้นชานชาลา ด้านหัวสุดคลานข้ามสะพานคลองลึกพร้อมกับเสียงหวีดที่ดังสนั่นเตือนคนที่ฝั่งตรงข้ามว่าฉันมาแล้วนะ เธออย่าขึ้นมาบนทางรถไฟเลย คอยดูฉันอยู่ข้างๆ ทางเถอะ

วินาทีที่รถไฟระหว่างไทย-กัมพูชาเคลื่อนขบวนข้ามประเทศอย่างเป็นทางการในปี 2562

เมื่อท้ายขบวนเคลื่อนพ้นกึ่งกลางสะพานนั่นหมายความว่าเจ้ารถไฟขบวนน้อยได้เข้ามาสู่ดินแดนกัมพูชาอย่างสมบูรณ์แล้ว เหล่ามหาประชาชนชาวกัมพูชายืนต้อนรับรถไฟขบวนนี้อยู่เต็มสองข้างทาง แม้ว่าจะมีการกั้นจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่ให้เข้าใกล้ทางรถไฟมากเกินไปเพราะมีบุคคลสำคัญทั้งของไทยและกัมพูชาอยู่บนรถไฟขบวนนี้ เราก็ยังเห็นการชูโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายวิดีโอ หลายคนพยายามเขย่งตัวขึ้นจากฝูงชนเพื่อให้มองเห็นรถไฟและบุคคลสำคัญในรถอย่างสุดตัว ซึ่งเป็นภาพที่เห็นตลอดระยะทาง 1 กิโลเมตรตั้งแต่รถไฟออกจากสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ผ่านใต้คาสิโน และจนถึงตอนที่รถไฟค่อยๆ ลดความเร็วลงเพื่อเทียบชานชาลาสถานีปอยเปตที่มีการต้อนรับจากชาวกัมพูชาหลายสิบชีวิต ธงไทยและกัมพูชาโบกสะบัดอยู่ในมือรอต้อนรับรถไฟขบวนประวัติศาสตร์ที่สิ้นสุดปลายทางที่นี่

บรรยากาศการต้อนรับรถไฟขบวนประวัติศาสตร์ของชาวกัมพูชา

เมื่อทุกคนลงจากรถไปหมดแล้ว ดีเซลรางฮิตาชิขบวนนี้ได้จอดสงบนิ่งอยู่ที่ชานชาลา หากเขาพูดได้เขาคงดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวประวัติศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ใหม่ในต่างแดนหลังจากที่รับใช้ประชาชนมาแล้วหลายสิบปีในประเทศไทย

เราบอกลารถไฟขบวนนี้ที่ชานชาลาเมื่อตอนที่ไม่มีใครอยู่แล้ว อารมณ์หนึ่งก็ดีใจที่รถไฟขบวนนี้คือตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกอารมณ์หนึ่งก็รู้สึกใจหายที่เขาจะไม่ได้กลับเข้ามาประเทศไทยอีก เราได้แต่ลูบมือไปบนผิวหน้ารถแล้วกระซิบบอกเขาเบาๆ ราวกับเพื่อนที่รอคอยเวลาอำลาในวันสุดท้าย

“ดูแลตัวเองดีๆ นะเพื่อนรัก ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แล้วเราจะมาเยี่ยมบ่อยๆ”

ขบวนรถไฟมิตรภาพที่สถานีปอยเปต

ดีเซลรางฮิตาชิเองก็ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีในประเทศไทยมานาน คอยรับคอยส่งนักเรียน ชาวบ้าน คนทำงาน ให้เดินทางในชีวิตประจำวันได้อย่างดีและไม่ขาดตกบกพร่อง จนเรียกได้ว่ามันคือโลโก้ของรถท้องถิ่นสายอีสานไปซะแล้ว ถ้าพูดถึงรถท้องถิ่นสายอีสานเมื่อไหร่ 2 ภาพแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองก็คือไก่ย่างและดีเซลรางฮิตาชินี่แหละ ตอนนี้เรายังมีโอกาสได้เห็นและได้นั่งดีเซลรางฮิตาชิอยู่ แต่อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อโครงการจัดหารถดีเซลรางเชิงสังคมดำเนินการเสร็จเรียบร้อย ดีเซลรางฮิตาชิทั้งหมดก็จะถูกปลดระวางทั้งหมด ภาพรถไฟสีน้ำเงินหน้าเหลืองขอบตาดำก็จะกลายเป็นเพียงแค่เรื่องเล่า เหมือนที่ครั้งหนึ่งมันก็ถูกเล่าให้เด็กรุ่นหลังๆ ฟังว่าเขาเคยโลดแล่นอยู่ละแวกกรุงเทพฯ เป็นรถไฟครองสายอีสาน

และเป็นทูตทางรถไฟระหว่างไทยกับกัมพูชา

อีกนิดอีกหน่อย

  1. เสียงปู๊นๆ ของรถไฟนั้นทางเทคนิคเรียกว่า ‘หวีด’ มาจากภาษาอังกฤษคือคำว่า ‘Whistle’ ไม่ได้ใช้คำว่า หวูด
  2. เสียงหวีดของรถดีเซลรางรุ่นนี้เป็นเอกลักษณ์จนมีคนบอกว่าเสียงเหมือนแตรรถสิบล้อ
  3. สีสันของดีเซลรางฮิตาชิถูกเปลี่ยนไปหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดคือสีน้ำเงินคาดชมพู แต่ถ้าอยากนั่งของแรร์จริงๆ ต้องเป็นรถสีม่วงหน้าเหลือง เพราะมีแค่ไม่กี่คันเท่านั้น
  4. ช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ มีโอกาสที่เราจะได้เห็นดีเซลรางฮิตาชิวิ่งมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อช่วยการโดยสารด้วยนะ
  5. ใครคิดถึงดีเซลรางฮิตาชิ 4 คันที่ย้ายสัญชาติไปอยู่กัมพูชาแล้ว สามารถไปเยี่ยมเขาได้ที่สถานีปอยเปตนะ