เดินทาง“สบายดีหรือเปล่า?”

คำทักทายตามแบบฉบับไทยๆ ที่อยากพูดให้กับตู้รถไฟสีม่วงที่จอดอยู่บนชานชาลาที่ 5 สถานีกรุงเทพ ในวันศุกร์ก่อนวันหยุดยาวของเดือนธันวาคม

รถไฟขบวนนี้ใช้รถนอนรุ่น JR จากญี่ปุ่น ทำขบวนพานักท่องเที่ยวและผู้โดยสารกว่าร้อยคนเดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ และนี่เป็นครั้งแรกๆ ที่รถไฟตู้สีม่วงเหล่านี้ออกมาวิ่งอีกครั้งหลังจากหยุดวิ่งไปเกือบถาวร หลังจากที่รถไฟตู้นอนรุ่นใหม่เข้าประจำการเมื่อปลายปี 2559

รถนอนรุ่นนี้มีชื่อเรียกตามแบบฉบับของการรถไฟแห่งประเทศไทยว่า ‘รถนอนรุ่น JR’

รถนอนรุ่นนี้มีชื่อเรียกตามฉบับคนรักรถไฟว่า ‘Blue Train’

อ้าว นี่มันสีม่วง

ไหนสีน้ำเงิน? แล้วเรียกว่า Blue Train ได้ยังไง?

รถไฟ

 

สวัสดีบ้านใหม่

JR-WEST คือบริษัทรถไฟตะวันตกแห่งประเทศญี่ปุ่นที่มีเครือข่ายรถไฟหลากหลายประเภทรวมถึงรถไฟตู้นอนที่มีชื่อเรียกตามสีของตัวตู้ที่เป็นสีน้ำเงินครามว่า Blue Train

Blue Train เคยวิ่งฉวัดเฉวียนเวียนวนอยู่ทั่วเกาะญี่ปุ่น แต่เมื่อถึงวาระที่ต้องปลดระวางนั้นบางส่วนจะถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์หรือไม่ก็มีเอกชนมาซื้อตัวรถไป แต่ที่เหลืออยู่นั้นมีจำนวนมหาศาลมากจนไม่รู้จะไปเก็บไว้ที่ไหน สถานที่สุดท้ายของมันจึงต้องจบลงที่การทำลายรถทิ้ง

Blue Train

รถ Blue Train เมื่อครั้งที่วิ่งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ภาพจาก Wikipedia

แต่หากทำลายรถก็ต้องมีค่าใช้จ่าย JR-WEST ก็มีแนวคิดที่จะบริจาคตู้รถไฟนั้นให้กับประเทศต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์อยู่ โดยลิสต์ประเทศที่มีความต้องการใช้ตู้รถไฟก่อนที่จะถามไถ่ไปว่าที่ใดต้องการบ้าง และหากประเทศใดสนใจก็จะได้รับบริจาคตู้รถไฟเหล่านั้นโดยเสียแค่เพียงค่าขนส่ง ส่วนการดัดแปลงให้สามารถใช้ได้กับแต่ละประเทศนั้น แต่ละแห่งสามารถทำได้ไม่จำกัด ทั้งเปลี่ยนขนาดล้อ (ญี่ปุ่นใช้ทางรถไฟกว้างขนาด 1.067 เมตร) ดัดแปลงที่นั่ง ดัดแปลงระบบ หรืออื่นๆ ให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานของแต่ละประเทศ

Blue Train

รถ Blue Train ชุดแรกที่เดินทางมาถึงไทยและปรับปรุงสภาพเรียบร้อยแล้ว

ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศในลิสต์ของรถนอน Blue Train ส่วนใหญ่แล้วประเทศข้างเคียงเรา เช่น เมียนมา ฟิลิปปินส์ จะได้รถนั่งไป แต่สำหรับประเทศไทยเราได้รถนอนมาเกือบทั้งหมด

รถนอน Blue Train รุ่นแรกที่เดินทางมาถึงบ้านเราในปี 2547 มีทั้งรถนั่งและรถนอนจำนวน 20 คัน แบ่งเป็นรถนั่ง 8 คัน และรถนอน 12 คัน ส่วนในปี 2551 ก็รับเพิ่มมาอีกชุด ทั้งรถนอนชั้น 2 และรถนอนชั้น 1 ซึ่งชุดนี้เป็นชุดสุดท้ายของ JR-WEST ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับมา

รถไฟ รถไฟตู้นอน

ด้านข้างของรถนอน Blue Train ฝั่งห้องนอนหน้าต่างจะมีขนาดเล็ก ส่วนฝั่งทางเดินหน้าต่างจะมีขนาดที่ใหญ่กว่า

ช่วงแรกๆ รถนอนและรถนั่ง Blue Train ยังไม่ถูกใช้ในการโดยสารแบบถาวรในขบวนรถใดขบวนรถหนึ่ง แต่เป็นบริการรถไฟขบวนพิเศษ เช่น

รถพิเศษนำเที่ยวทุ่งดอกกระเจียว กรุงเทพ-บ้านวะตะแบก-กรุงเทพ  

ขบวนรถพิเศษพืชสวนโลก (ราชพฤกษ์) กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ

รถไฟ

รถนอน Blue Train รุ่นที่ 2 พ่วงเต็มขบวนกับขบวนรถพิเศษเทศกาล เชียงใหม่-กรุงเทพ ภาพถ่ายโดย ชินภัทร ไทยถาวร

รวมถึงให้บริการรถนำเที่ยวอีกหลายๆ ขบวนในบางวาระ จนได้เริ่มทดลองพ่วงไปกับขบวนรถปกติประจำวันแค่ไม่กี่ตู้ เมื่อได้รับรถชุดที่ 2 มาในปี 2551 เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางตู้นอนให้กับคนที่เดินทางประจำ คือ

รถด่วน 83/84 กรุงเทพ-ตรัง-กรุงเทพ  

รถด่วน 67/68 กรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพ

รถไฟไทย

รถ Blue Train ตอนเริ่มต้นพ่วงพิเศษเข้ากับรถด่วนตรัง

ก่อนที่จะถึงจุดสูงสุดด้วยการวิ่งเป็นขบวนรถเที่ยวปกติแบบเต็มขบวน

และผู้โชคดีนั้นก็คือรถด่วนพิเศษขบวนที่ 13 และ 14 กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ พร้อมกับการเปลี่ยนสีตู้โดยสารจากสีน้ำเงิน เป็นสีม่วง

 

จาก Blue Train สู่ Violet Train

การเปลี่ยนสีรถ Blue Train จากสีน้ำเงินเป็นสีม่วงนั้นผมไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเพื่ออะไร แต่การเปลี่ยนสีในตอนนั้นก็สร้างความเกรี้ยวกราดให้กับคนคลั่งไคล้รถไฟญี่ปุ่นในไทยพอสมควร หลักๆ เป็นเพราะเอกลักษณ์ของคำว่า ‘Blue Train’ หายไปอย่างสิ้นเชิง 

รถนอน JR-WEST รถนอน JR-WEST

แต่เมื่อเวลาผ่านไปความเคยชินก็เข้ามาแทนที่ และสีม่วงทั้งขบวนก็ดูสวยไปอีกแบบแฮะ

ลองนึกภาพตามนะครับ สีม่วง 2 โทนของตู้รถไฟตัดกับสีเขียวอ่อนของทุ่งหญ้า สีเขียวเข้มของต้นไม้ และสีฟ้าสดของท้องฟ้า ทำให้รถไฟสีม่วงขบวนนี้ดูโดดเด่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนทีเดียว

 

 

การเดินทางอีกครั้ง

รถไฟตู้นอน

นับตั้งแต่วันที่การรถไฟแห่งประเทศไทยประกาศว่า รถด่วนพิเศษขบวน 13/14 กรุงเทพ-เชียงใหม่ -กรุงเทพ ยกเลิกการใช้รถนอน JR รถนอนรุ่นนี้ทั้งหมดก็ไม่ได้โลดแล่นบนทางรถไฟในประเทศไทยอีกเลย นอกจากเป็นแค่ขบวนรถพิเศษหรือขบวนรถเสริมสำหรับเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ หรือเทศกาลงานบุญอย่างเข้าพรรษา ตู้รถไฟทั้งหมดจึงถูกเก็บไว้ที่ย่านจอดและบางส่วนก็เข้าโรงงานมักกะสันไปพักรักษาตัว จนสุดท้ายเหลือใช้งานได้สมบูรณ์จริงๆ อยู่เพียงไม่กี่คันเท่านั้น

ต้นเดือนธันวาคม 2560 การรถไฟฯ ประกาศว่าจะมีขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสารจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่ โดยใช้รถนอนรุ่น JR หรือรถ (อดีต) Blue Train ที่รักของเรา บรรดาแฟนรถไฟเดนตายจึงรีบเคลียร์วันหยุด แล้วคว้าปืนคว้าดาบไปสู้รบในสมรภูมิการจองตั๋วโดยทันที เพื่อหวังว่าตัวเองจะได้เป็นหนึ่งในผู้โดยสารของรถไฟพิเศษขบวนนี้

นอกจากนั้นแล้ว เราจะได้กลับมาทักทายเพื่อนเก่าขบวนนี้อีกครั้ง

 

อ้อมกอดของเพื่อนเก่า

“สบายดีหรือเปล่า?”

คำทักทายตามแบบฉบับไทยๆ ที่อยากพูดให้กับตู้รถไฟสีม่วงที่จอดอยู่บนชานชาลาที่ 5 สถานีกรุงเทพ ในวันศุกร์ก่อนวันหยุดยาวของเดือนธันวาคมที่มีแต่คนมุ่งหน้าขึ้นเชียงใหม่ หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศว่า หย่อมความกดอากาศสูงกำลังแรงได้แผ่เข้ามาถึงภาคเหนือของไทยแล้ว

รถนอน JR-WEST

ผมจองตู้นอนชั้น 2 ไว้กับเพื่อนอีก 5 คน นี่เป็นการเดินทางกับรถ JR ครั้งแรกในรอบหลายปี เพราะถึงแม้ในช่วงที่พวกเขายังวิ่งขวักไขว่อยู่ผมก็ไม่มีโอกาสได้นั่งบ่อยๆ

ตู้นอนชั้น 2 ของรถนอน JR เรียกได้ว่าเป็นที่ไม่คุ้นเคยของพี่ไทยมาก เพราะรถไฟตู้นอนของเดิมเป็นการจัดให้ทางเดินอยู่ตรงกลาง และด้านซ้าย-ขวาริมหน้าต่างแต่ละฝั่งจะเป็นเตียงนอนเรียงกันเป็นแถวไปอารมณ์โฮสเทลแบบ dorm

ตู้นอน

ใน 1 ล็อกจะมี 4 เตียง แบ่งเป็นเตียงบน 2 เตียงล่าง 2 และบันไดปีนขึ้นเตียงบนจะถูกพับไว้ตรงหน้าต่าง

แต่ JR คือความแตกต่าง ทางเดินที่อยู่ตรงกลางถูกถีบออกไปติดกับหน้าต่างฝั่งหนึ่ง และอีกฝั่งหนึ่งซอยเป็นห้องๆ พร้อมวางเตียง 2 ชั้น ในแนวขวางกับตัวตู้รถไฟจำนวนห้องละ 4 เตียง (เตียงล่าง 2 เตียงบน 2)

ตู้นอน

รถนอนรุ่นนี้จึงเหมาะกับการเดินทางเป็นหมู่คณะหรือเป็นครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คนหรรษาในห้องเดียวกันแบบไม่ต้องคุยกันข้ามฟากทางเดินเหมือนรถนอนรุ่นเดิมๆ ถ้าจะนั่งเม้ามอยกัน หรือจะเล่นเกมกันก่อนนอนนี่ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีเลยล่ะ

แต่ขอเตือนอย่างหนึ่งนะว่า

แอร์หนาวมาก

ส่วนตู้นอนชั้น 1 ก็แตกต่างกันไป

ผมเคยนอนในรถนอนชั้น 1 รุ่นนี้เมื่อนานมาแล้ว วันนั้นกับวันนี้ความรู้สึกยังคงเหมือนเดิม

นาทีที่เดินเข้าไปในตู้นี้เหมือนกับเราถูกเนรเทศมาที่เมืองแห่งความเงียบ ทางเดินของมันเหมือนกับรถชั้น 2 เพียงแต่เปลี่ยนจากล็อกที่มีเตียงนอนแบบไร้ประตูกั้นมาเป็นห้องส่วนตัว ห้องใครห้องมัน จึงเหมาะกับคนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากๆ

รถนอน

ภายในห้องมีเตียงขนาดใหญ่อยู่เพียง 1 เตียง พร้อมโต๊ะพับ อ่างล้างหน้า และกระจกแต่งตัวที่พร้อมสรรพสำหรับการใช้ชีวิตข้ามคืน

ความเป็นส่วนตัวของรถไฟชั้น 1 บวกกับราคาที่ค่อนข้างสูงถึง 1,953 บาท มันอาจดูสูงเกินกว่าที่จะตัดสินใจควักกระเป๋าออกมาจ่ายเงินในทันที เมื่อยิ่งเทียบกับราคาที่ใกล้เคียงของเครื่องบินต้นทุนต่ำ แต่มันมีเสียงอะไรบางอย่างที่แว่วเข้ามาในหูตอนตัดสินใจ

“ฉันนอนสบายนะ”

“มากับฉันสิ แล้วเธอจะมีความสุขที่สุด”

“ถ้าเธอไม่ลองแล้วเธอจะรู้ได้ยังไงล่ะ”

ให้ตายเถอะ…กระเป๋าตังค์ในมือมันสั่นไปหมดแล้ว…

กว่าจะรู้ตัว แบงก์พัน 2 ใบก็วางแหมะอยู่บนเคาน์เตอร์ขายตั๋วเป็นที่เรียบร้อย

อานุภาพต่อแฟนรถไฟเดนตายมันช่างทรงพลังยิ่งนัก…

รถไฟตู้นอนชั้น 1 รถนอนชั้น 1

รถนอนชั้น 1 จะมีเพียงเตียงเดียวเท่านั้น ภายในมีอ่างล้างหน้า และประตูที่สามารถเปิดเข้าหาห้องข้างๆ ได้ (ถ้ามาด้วยกัน)

ความสุขที่สุดของการได้อยู่ในอ้อมกอดของเพื่อนเก่าขบวนนี้ คงเป็นช่วงเวลาที่เรานอนหันเท้าไปทางหน้าต่าง เปิดผ้าม่านให้สุด และมองแสงไฟยามค่ำคืนของเมืองที่เคลื่อนผ่านไป หรือพระจันทร์ดวงกลมโตที่ลอยไปเป็นเพื่อนตลอดการเดินทางเหมือนเป็นโคมไฟดวงใหญ่ที่สาดแสงให้เห็นรายละเอียดข้างนอกรถไฟในความมืด โดยตัวเรานี่แหละที่อยู่ในความมืดที่สุดเมื่อปิดไฟในห้องนอนของเราเอง ความเพลิดเพลินนี้บวกกับแรงโยกเบาๆ ของรถไฟเหมือนกับไกวเปล ก็ค่อยๆ กล่อมเราให้ให้เข้าสู่ห้วงนิทราในที่สุด

 

เช้าวันใหม่

เราถูกปลุกด้วยแสงแดดที่ลอดผ่านเงาไม้เข้ามากระทบตาเราบวกกับอากาศในรถที่ขอใช้คำว่า ‘หนาวเหน็บ’ สมกับเป็นรถไฟจากญี่ปุ่น

รถไฟของเรากำลังวิ่งอยู่บนดอยขุนตาล ภาพนอกหน้าต่างคือสายหมอกจางๆ ที่ลอยอยู่เหนือยอดไม้ในจังหวัดลำพูน อีกเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมงเราจะถึงสถานีเชียงใหม่ และต้องบอกลาเพื่อนขบวนนี้อีกครั้ง

รถนอน รถนอน JR-WEST

เราออกมาจากเตียงเพื่อดึงเก้าอี้พับที่ติดไว้ตรงทางเดินมานั่งลงชมวิว มีเพื่อนร่วมทางอีกหลายคนออกมานั่งแบบนี้ ในมือของเขาถือกล้องถ่ายรูปและเก็บภาพแสงแดดสีทองตอนเช้า บ้างก็ถือถ้วยกาแฟร้อนดับความหนาว สายตามองออกไปนอกหน้าต่าง ดื่มด่ำกับบรรยากาศอย่างเต็มที่

พนักงานประจำตู้นอนส่งเสียงบอกผู้โดยสารตามทางเดินว่าขบวนรถกำลังถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่แล้ว ไม่นานนักรถไฟก็ลดความเร็วลงเพื่อเทียบชานชาลาสถานีปลายทาง

การก้าวลงมาจากรถ JR หรือ Blue Train ในครั้งนี้มันอาจไม่ใช่การเดินทางครั้งสุดท้าย แต่ก็แอบใจหายนิดหน่อยที่เราจะได้เจอเขาแค่ไม่กี่ครั้งต่อปี และไม่รู้ด้วยว่าจะมีโอกาสได้นั่งเขาบ่อยๆ แบบแต่ก่อนหรือไม่ ก่อนที่เราจะเดินออกจากชานชาลาสิ่งสุดท้ายที่เราทำคือการหันหน้าไปหารถไฟขบวนสีม่วงที่จอดหยุดนิ่งบนชานชาลา หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปและกล่าวคำอำลา

หวังว่าเราคงได้ไปอยู่ในอ้อมกอดของเธออีกครั้งนะเพื่อน

รถนอน JR-WEST