27 กุมภาพันธ์ 2023
7 K

ในโลกของกาแฟ ‘สงขลา’ ถูกปักหมุดไว้ในฐานะ ‘ปลายทางแรกที่โรบัสต้าหยั่งรากลงบนแผ่นดินสยาม’ ทว่าหากลองลากเส้นไปบนแผนที่เพื่อย้อนดูจุดเริ่มต้น และร้อยเรียงเรื่องราวระหว่างการเดินทางของกาแฟ ก็จะพบหลักฐานบ่งชี้ความเกี่ยวพันระหว่างสงขลากับกาแฟที่ยาวนานก่อนการมาถึงของสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งย้อนกลับไปได้ถึงราว 130 ปีที่ผ่านมา 

ขณะที่กาแฟจากแหล่งกำเนิดอย่าง ‘โรบัสต้าสะบ้าย้อย’ กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งในแวดวงกาแฟและแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา จึงชวนคอกาแฟและผู้สนใจประวัติศาสตร์ ร่วมเดินทางย้อนอดีตไปเรียนรู้ความเป็นมาของเครื่องดื่มสีดำแห่งยุคสมัย ก่อนที่ Coffee House จะกระจายตัวไปทั่วทุกมุมเมือง และก่อนที่สงขลาจะคลาคล่ำไปด้วย Café Hopping อย่างในปัจจุบัน ผ่านนิทรรศการพิเศษ จากอาระเบียสู่สงขลา : การเดินทางของกาแฟ

ตำนานการปรากฏตัวของกาแฟ

หากต้องย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น คงจะไม่กล่าวถึงการปรากฏตัวของกาแฟไม่ได้ โดยตำนานว่าด้วยการค้นพบนั้นมีอยู่หลายสำนวน แต่ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดต้องย้อนกลับไปราวศตวรรษที่ 9 กล่าวว่าคนเลี้ยงแพะชาวเอธิโอเปียรับรู้สรรพคุณของกาแฟจากการสังเกตอาการคึกคะนองของแพะภายหลังกินผลเบอร์รีจากต้นไม้ชนิดหนึ่ง ในขณะที่อีกสำนวนระบุถึงนักบวชศาสนาอิสลามนิกายซูฟี (Sufism) ค้นพบด้วยความบังเอิญจากการกินเมล็ดกาแฟเพื่อเอาชีวิตรอด หลังถูกขับออกสู่ทะเลทรายนอกเมืองมอคค่า (Mocha) ประเทศเยเมน ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากาแฟถูกนำเข้ามายังคาบสมุทรอาระเบียเมื่อใด แต่ปรากฏหลักฐานอธิบายสรรพคุณทางยาในตำราทางการแพทย์ Al-Qanun Fi al-Tibb ของ นายแพทย์อิบนุ ซีนา (Ibn Sina) ราวต้นศตวรรษที่ 11 ระบุแหล่งที่มาจากเยเมนอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่าคงจะมีการเพาะปลูกกันมาแล้วก่อนหน้านั้น

จากอาระเบียสู่สงขลา สืบประวัติกว่า 130 ปีก่อนที่กาแฟโรบัสต้าหยั่งรากลึกลงบนแผ่นดินสยาม
ทัศนียภาพเมืองท่ามอคค่า ประเทศเยเมน
ภาพ : th.wikipedia.org

อาระเบีย จุดเริ่มต้นการเดินทางของเครื่องดื่มสีดำ 

ก่อนที่กาแฟจะเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของทุกชาติทุกภาษาอย่างในปัจจุบัน เส้นทางความแพร่หลายนั้นมีจุดเริ่มต้นที่คาบสมุทรอาระเบีย บริเวณเมืองท่ามอคค่า แรกเริ่มบริโภคกันในกลุ่มผู้นับถือนิกายซูฟี ด้วยการเคี้ยวเมล็ด ส่วนการบริโภคในรูปแบบเครื่องดื่มเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 เรียกว่า ‘กาห์วาห์’ (Qahwah) เพื่อขจัดความง่วงระหว่างพิธีกรรมทางศาสนายามราตรี จากนั้นกาแฟจึงแพร่กระจายไปสู่มุมต่าง ๆ ทั่วทั้งคาบสมุทรอาระเบีย ไปถึงไคโร (Cairo) ดามัสกัส (Damascus) อิสตันบูล (Istanbul) และเมืองอื่น ๆ ในจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman) ในฐานะเครื่องดื่มทางศาสนา 

ในศตวรรษที่ 16 กาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมและเปลี่ยนสถานะสู่เครื่องดื่มทางสังคม แม้จะเริ่มมีการถกเถียงเกี่ยวกับผลกระทบและข้อพิจารณาเรื่องการผิดหลักศาสนา จนนำมาสู่การออกกฎหมายห้ามซื้อขายและบริโภคกาแฟ ตลอดจนมีความพยายามหลายครั้งที่จะปิดร้านกาแฟในเมกกะ (Mecca) และไคโร ทว่าก็ล้มเหลวไปในที่สุด โดยร้านกาแฟที่ผุดขึ้นมากมายกลายเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนข่าวสารความคิด ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อันเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการดื่มที่แพร่ความนิยมไปทั่วโลกตะวันตก

จากอาระเบียสู่สงขลา สืบประวัติกว่า 130 ปีก่อนที่กาแฟโรบัสต้าหยั่งรากลึกลงบนแผ่นดินสยาม
บรรยากาศร้านกาแฟในไคโร ในช่วงศตวรรษที่ 18 โดย Bruno Befreetv 
ภาพ : commons.wikimedia.org
จากอาระเบียสู่สงขลา สืบประวัติกว่า 130 ปีก่อนที่กาแฟโรบัสต้าหยั่งรากลึกลงบนแผ่นดินสยาม
ร้านกาแฟในอิสตันบูล โดย Count Amadeo Preziosi 
ภาพ : commons.wikimedia.org

ยุโรป จากเครื่องดื่มยอดนิยมสู่การแพร่กระจายทั่วโลก  

เมื่อลากเส้นในแผนที่การเดินทางมาถึงซีกโลกตะวันตก พบว่ายุโรปเป็นตัวการสำคัญที่พากาแฟเดินทางไปทั่วโลก โดยเมล็ดพันธุ์ชนิดนี้เริ่มอยู่ในการรับรู้ของชาวยุโรปตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 16 ทว่ายังจำกัดขอบเขตเฉพาะในกลุ่มนักพฤษศาสตร์และแพทย์ ซึ่งสาเหตุที่ยังไม่ได้รับความนิยมในระยะแรก เนื่องมาจากการต่อต้านของศาสนจักรที่มองว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มของปีศาจร้าย กระทั่งได้รับการรับรองจาก พระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 8 (Clement VIII) ให้เป็นเครื่องดื่มถูกกฎหมาย จึงเริ่มได้รับความนิยมในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา โดยกาแฟกระสอบแรกเข้าสู่ยุโรปเทียบท่าที่เวนิส (Venice) จากนั้นจึงกระจายไปทั่วทั้งอิตาลีและประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอย่างรวดเร็ว 

ในอังกฤษ กาแฟเป็นที่นิยมในหมู่อาจารย์และนักศึกษา ร้านกาแฟแห่งแรกเปิดให้บริการในย่านมหาวิทยาลัย อย่างออกซฟอร์ด (Oxford) ตั้งแต่ทศวรรษ 1650 และกระจายตัวไปทุกหนแห่งในลอนดอน ในเวลาต่อมา ร้านกาแฟทำหน้าที่เสมือนศูนย์รวมข่าวสารและศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ไปจนถึงการเงิน เป็นส่วนสำคัญในการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และการเงิน ขณะที่ร้านกาแฟในฝรั่งเศส ได้รับความสนใจอย่างมากจากพ่อค้าผู้มั่งคั่ง คนในแวดวงแฟชั่น และนักเขียน โดยปารีสคับคั่งไปด้วยร้านกาแฟอันเป็นแหล่งพบปะของปัญญาชน ในที่สุดการอภิปรายในร้านกาแฟชื่อ ‘กาเฟเดอฟัว (Café de Flore)’ ก็ได้นำไปสู่เหตุการณ์สำคัญ คือการปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี 1789 

ทั้งนี้ ชาติยุโรปที่เรียกได้ว่าเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดกาแฟและเป็นตัวแปรสำคัญในการพาเครื่องดื่มยอดนิยมชนิดนี้เดินทางไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ของโลก คือเนเธอแลนด์ เนื่องจากมีการลักลอบนำออกจากคาบสมุทรอาระเบีย ไปขยายพันธุ์ที่สวนพฤกษศาสตร์ เมืองอัมสเตอร์ดัม จนขยายพันธุ์กาแฟนอกดินแดนอาหรับสำเร็จ นำไปสู่การทำไร่กาแฟขนาดใหญ่บนเกาะชวาในทศวรรษ 1690 อันเป็นปฐมบทการเดินทางของกาแฟสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้ระบอบอาณานิคม

จากอาระเบียสู่สงขลา สืบประวัติกว่า 130 ปีก่อนที่กาแฟโรบัสต้าหยั่งรากลึกลงบนแผ่นดินสยาม
บรรดาศิลปินภายในร้านกาแฟในกรุงโรม ราวศตวรรษที่ 19 โดย Ludwig Passini
ภาพ : commons.wikimedia.org

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การปรากฏตัวในฐานะพืชเศรษฐกิจ

กาแฟปรากฏตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการในฐานะ ‘พืชเศรษฐกิจ’ โดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอแลนด์ดำเนินการทำไร่กาแฟขนาดใหญ่แถบเมืองปัตตาเวีย เพื่อมุ่งหวังเป็นฐานการผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดโลก ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ผลผลิตจากชวาก็ทำให้เนเธอแลนด์ได้ครองตลาดกาแฟแทนที่ชาวอาหรับซึ่งผูกขาดระบบการค้ามายาวนาน จากนั้นการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์จึงเริ่มกระจายไปทั่วภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์

ภายหลังในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 อังกฤษเข้ามาปกครองเกาะชวา และยังคงใช้นโยบายแสวงหาผลประโยชน์จากการผูกขาดการผลิตและค้ากาแฟตามแบบเนเธอแลนด์ ตลอดจนให้ดินแดนอาณานิคมอื่น ๆ ผลิตเพื่อขายอย่างจริงจัง ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หลายพื้นที่ต่างเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคราสนิม ส่งผลให้การปลูกกาแฟอาราบิก้าประสบปัญหา นำมาซึ่งการเปลี่ยนสายพันธุ์มาเป็นโรบัสต้า โดยในปี 1900 กาแฟโรบัสต้าได้รับการส่งเสริมและขยายการผลิตในประเทศอินโดนีเซียจนประสบความสำเร็จ ถือเป็นก้าวแรกของกาแฟสายพันธุ์ใหม่ในตลาดโลก 

สยาม เครื่องดื่มรสขมที่มาพร้อมการค้าขาย

แท้จริงแล้วก่อนหน้ามหาอำนาจตะวันตกจะมีนโยบายให้ประเทศอาณานิคมผลิตกาแฟจำหน่าย กาแฟได้เริ่มเป็นที่รู้จักในสยามมาก่อนหน้านั้น ด้วยบันทึกชาวต่างชาติในสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้แก่ จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม ประพันธ์โดย เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ในปี 1678 และ สำเภากษัตริย์สุลัยมาน (The Ship of Sulaiman) บันทึกของ อิบนิ มูฮัมหมัด อิบรอฮีม หัวหน้าราชทูตอิหร่านจากราชสำนักพระเจ้าสุลัยมานที่ถูกส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีในรัชสมัยเดียวกัน ระบุว่า ในสยามดื่มกาแฟที่มาจากโลกอาหรับและนิยมใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่า เครื่องดื่มรสขมชนิดนี้เดินทางมาถึงสยามอย่างช้าที่สุดก็ราวปลายศตวรรษที่ 17

จากอาระเบียสู่สงขลา สืบประวัติกว่า 130 ปีก่อนที่กาแฟโรบัสต้าหยั่งรากลึกลงบนแผ่นดินสยาม
จากอาระเบียสู่สงขลา สืบประวัติกว่า 130 ปีก่อนที่กาแฟโรบัสต้าหยั่งรากลึกลงบนแผ่นดินสยาม
จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม ประพันธ์โดย เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ปรากฏข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “…อนึ่งแขกมัวร์ในสยามดื่มกาแฟ ซึ่งมาจากอาเรเบีย….”

ในศตวรรษที่ 19 มีบันทึกและเอกสารจดหมายเหตุกล่าวถึงกาแฟไว้หลากหลาย สะท้อนความนิยมของกาแฟในฐานะพืชเศรษฐกิจสำคัญได้อย่างดียิ่ง อาทิ การอุทิศสวนกาแฟและนิวาสสถานของตระกูลบุนนาคเป็นพระอารามวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ในปี 1828 การทำไร่กาแฟที่เมืองจันทบูร ดังปรากฏในบันทึกของ สังฆราชชอง-บาติสต์ ปาเลอกัว (Mgr.Jean-Baptiste Pallegoix) ในปี 1838 หมายรับสั่งของ รัชกาลที่ 3 ให้ใช้ที่ดินด้านตะวันออกของพระบรมมหาราชวังเป็นสวนกาแฟ การอธิบายเกี่ยวกับศัพท์คำว่า Coffee ในจดหมายเหตุ บางกอกรีคอร์เดอร์ หนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทยฉบับแรกที่ หมอบรัดเลย์ และคณะมิชชันนารีริเริ่มจัดทำและเผยแพร่ในปี 1844 – 1845 การระบุชื่อเรียก กะแฝ่ และ เข้าแฟ ใน สัพะ พะจะนะ พาสา ไท พจนานุกรมที่ตีพิมพ์ในปี 1852 

จดหมายเหตุ The Bangkok Recorder หนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทยฉบับแรกที่หมอบรัดเลย์และคณะมิชชันนารีริเริ่มจัดทำและเผยแพร่ในปี 1844 – 1845 ให้คำอธิบายเกี่ยวกับศัพท์คำว่า Coffee และปรากฏคำว่า กาแฝ่ ในบัญชีแสดงรายการสินค้าเมืองปีแนง (ปีนัง)

ปรากฏหลักฐานใน สัพะ พะจะนะ พาสา ไท พจนานุกรม 4 ภาษา ที่ตีพิมพ์ในปี 1852 ระบุการเรียกกาแฟว่า กะแฝ่ และ เข้าแฟ

ในขณะที่ทางหัวเมืองภาคใต้ พบหลักฐานเก่าแก่แสดงถึงนโยบายส่งเสริมการปลูกกาแฟอย่างจริงจังในเมืองตรัง ก่อนที่ยางพาราต้นแรกจะหยั่งรากลงบนผืนแผ่นดินนี้ในอีกเกือบ 10 ปีต่อมา ดังระบุถึงในเอกสาร จดหมายเหตุ เรื่องพระยารัษฎามีความเห็นจัดการบ้านเมือง แลให้พระยารัษฎาทำรายการสินค้าเมืองตรังเมืองปะเหลียน ปี 1892 – 1893 มีใจความว่า 

“ให้ราษฎร 1 ครัวเรือน ปลูกหมาก 100 ต้น มะพร้าว 50 ต้น และกาแฟอีก 50 ต้น เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกง่าย ไม่ต้องขุดร่องน้ำ โดยให้นักโทษทำการเพาะชำเพื่อให้ราษฎรที่สนใจสามารถขอไปปลูกได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อได้ผลผลิตพระยารัษฎาก็จะขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรที่ปลูกพืชทั้ง 3 ชนิดได้รับยกเว้นภาษีอากร เนื่องจากเล็งเห็นว่าผลผลิตจากพืชทั้ง 3 อย่าง จะทำให้ราษฎรมั่งมี และบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้น”

เอกสาร จดหมายเหตุ เรื่อง พระยารัษฎามีความเห็นจัดการบ้านเมือง แลให้พระยารัษฎาทำรายงานสินค้าเมืองตรังเมืองปะเหลียน
(28 ม.ค. ร.ศ. 111 – 16 พ.ค. ร.ศ. 112)
ภาพ : สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

อย่างไรก็ตาม การดื่มกาแฟในระยะแรกยังคงจำกัดอยู่ภายในรั้วในวัง โดยเริ่มนิยมดื่มผสมนมวัวมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งกล่าวถึงใน สาส์นสมเด็จ ปี 1941 โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และบันทึกความทรงจำการทำงานของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ระบุถึงวัฒนธรรมการดื่มกาแฟและอาหารเช้าอย่างฝรั่ง 

ส่วนร้านกาแฟร้านแรกในพระนครถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 คือร้าน ‘Red Cross Tea Room’ ก่อตั้งโดย แหม่มโคล (Miss Edna Sarah Cole) ในปี 1917 ให้บริการแก่ลูกค้าชาวตะวันตก คหบดี และชนชั้นสูง 

ต่อมาร้านกาแฟร้านแรกโดยชาวสยามก็ปรากฏตัวขึ้นเพื่อเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของกลุ่มชนชั้นสูงคือ ‘ร้านนรสิงห์’ ซึ่งในระยะแรกนั้นยังคงจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มเจ้าขุนมูลนาย จนล่วงเข้าสู่รัชกาลที่ 7 ร้านกาแฟจึงค่อย ๆ เพิ่มจำนวนและขยายความนิยมไปสู่ชนชั้นกลาง สอดคล้องกับการกลับมาของนักเรียนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ได้พาวัฒนธรรมการดื่มกาแฟแบบตะวันตกเข้ามาอย่างแพร่หลาย รวมถึงมีชาวจีนอพยพเปิดร้านในย่านเยาวราช ซึ่งต่อมากลายเป็นศูนย์รวมของผู้คน ในที่สุดร้านกาแฟก็ขยายไปสู่ทุกกลุ่มคน กระจายตัวไปทุกหนแห่ง และกลายเป็นศูนย์รวมข่าวสาร

สืบประวัติการที่มาและการปรากฏตัวครั้งแรกของกาแฟ สู่การเดินทางจากอาระเบียจนหยั่งรากลึกในสงขลา ประเทศไทย มานานกว่า 130 ปี
ชุดกาแฟที่ระลึกในคราวยกเลิกอากรบ่อนเบี้ย ตามประวัติระบุว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถวายกรมพระจันทบุรีนฤนาถ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โดยการเลือกทำ ‘ชุดกาแฟ’ เพื่อมอบเป็นของที่ระลึก แสดงให้เห็นว่า เริ่มปรากฏความนิยมการดื่มกาแฟในกลุ่มชนชั้นสูง ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

สงขลา การมาถึงของกาแฟสายพันธุ์ใหม่  

สงขลา ถือเป็นเมืองแรก ๆ ของภาคใต้ที่กาแฟเดินทางมาถึง เนื่องจากมีการติดต่อค้าขายกับหัวเมืองมลายู ซึ่งมีการผลิตกาแฟเป็นสินค้าส่งออกอย่างจริงจัง พบหลักฐานว่า กาแฟที่รู้จักกันในหมู่ผู้ปกครองสงขลาตั้งแต่ปี 1859 อันเป็นปีที่รัชกาลที่ 4 เสด็จประพาสเมืองสงขลา ด้วยมีบันทึกในพงศาวดารภาคที่ 53 กล่าวถึง ‘โตกเครื่องกาแฟ’ และการถวาย ‘เครื่องกาแฟกาไหล่ทองคำ’ โดยผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา 

จากนั้นรายงานของ พระสฤษดิ์พจนกรณ์ ว่าด้วยการตรวจแหลมมลายูในพระราชอาณาเขต ปี 1894 ระบุว่า ที่ดินชายแดนเมืองไทรบุรีมีความเหมาะสมต่อการทำสวนกาแฟ โดยมีชาวต่างชาติเข้ามาสำรวจและพอใจที่ดินบริเวณตำบลพตง (พะตง) ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอหาดใหญ่ นำมาสู่การร่วมทุนของ พระยาวิเชียรคีรี (ชม) กับชาวต่างชาติทำสวนกาแฟในปี 1894 – 1895 ดังปรากฏหลักฐานในเอกสาร จดหมายเหตุ เรื่อง หลวงจำนงนิเวศกิจ (มร. แรมแซ) ขออนุญาตที่ดินเมืองสงขลา ทำการเพาะปลูก ร.ศ. 112 – 114 ซึ่งมีการทำหนังสือสัญญาร่วมทุนจัดตั้งเป็น ‘บริสัทสงขลาหุ้นส่วนเพาะปลูก’ ระหว่างพระยาวิเชียรคีรี (ชม) หลวงจำนงนิเวศกิจ (มร. แรมแซ) และ มิสเตอร์ฮาร์ริซัน ในปี 1894 

ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในสวนกาแฟ โดยพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ขอพระราชทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ถึงความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นจากความบาดหมางระหว่างหุ้นส่วนชาวต่างชาติ อันส่งผลให้สวนกาแฟของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ที่ตำบลพะตงต้องล้มเลิกไปในที่สุด

เอกสาร เรื่อง คอนเซชันที่เมืองสงขลา ว่าด้วยการปลูกยาสำหรับหุ้มบุหรี่ฝรั่ง กล่าวถึงขอบเขตที่ดินที่ขอทำการเพาะปลูกพร้อมแผนที่ และระบุข้อความว่า จะปลูกกาแฟเมื่อว่างจากการปลูกยาหุ้มบุหรี่ฝรั่ง ในเอกสาร จดหมายเหตุ เรื่อง หลวงจำนงนิเวศกิจ (มร. แรมแซ) ขออนุญาตที่ดินเมืองสงขลา ทำการเพาะปลูก ร.ศ. 112 – 114
ภาพ : สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ขอพระราชทานกราบทูลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ถึงความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นจากความบาดหมางระหว่างหุ้นส่วนชาวต่างชาติ คือมิสเตอร์ฮาร์ริซันกับหลวงจำนงนิเวศกิจ (มร.แรมแซ) ในเอกสาร จดหมายเหตุ เรื่อง หลวงจำนงนิเวศกิจ (มร. แรมแซ) ขออนุญาตที่ดินเมืองสงขลา ทำการเพาะปลูก ร.ศ. 112 – 114 
ภาพ : สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

สืบประวัติการที่มาและการปรากฏตัวครั้งแรกของกาแฟ สู่การเดินทางจากอาระเบียจนหยั่งรากลึกในสงขลา ประเทศไทย มานานกว่า 130 ปี
หนังสือสัญญาร่วมทุนจัดตั้งเป็น ‘บริสัทสงขลาหุ่นส่วนเพาะปลูก’ ในเดือนกรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก 113 ระหว่างพระยาวิเชียรคีรี (ชม) หลวงจำนงนิเวศกิจ (มร.แรมแซ) และมิสเตอร์ฮาร์ริซัน ในเอกสาร จดหมายเหตุ เรื่อง หลวงจำนงนิเวศกิจ (มร. แรมแซ) ขออนุญาตที่ดินเมืองสงขลา ทำการเพาะปลูก ร.ศ. 112 – 114 
ภาพ : สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

ในอีก 10 ปีหลังจากนั้น กาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าจึงปรากฏตัวขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์เมืองสงขลา ด้วยปรากฏข้อมูลจากการสำรวจของ นายเชื้อ ธรรมทิน สุวรรณรัต รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค องค์การสวนยาง กระทรวงเกษตรในปี 1955 ระบุว่าได้มีมุสลิมผู้หนึ่งชื่อ นายตีหมุน นำเมล็ดพันธุ์กาแฟโรบัสต้ามาปลูกไว้ ณ ตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เมื่อประมาณปี 1904 สอดคล้องกับช่วงเวลาที่กาแฟโรบัสต้าเริ่มปรากฏตัวในตลาดโลกแทนที่กาแฟอาราบิก้า ตลอดจนมีการขยายพันธุ์และได้รับการส่งเสริมให้มีการปลูกอย่างกว้างขวางทั้งในอินโดนีเซียและอินเดีย ปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นต้นกาแฟโรบัสต้าต้นแรกในประเทศไทย ก่อนจะมีการขยายไปปลูกยังจังหวัดอื่น ๆ ของภาคใต้ในเวลาต่อมา

สืบประวัติการที่มาและการปรากฏตัวครั้งแรกของกาแฟ สู่การเดินทางจากอาระเบียจนหยั่งรากลึกในสงขลา ประเทศไทย มานานกว่า 130 ปี
ภาพโปสต์การ์ดแสดงบรรยากาศร้านน้ำชากาแฟในย่านเมืองเก่าสงขลา นายจักรกฤษณ์ ภัทรนิตย์ ประธานชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเก้าห้อง จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่าเป็นภาพจากร้าน ‘ฟุเจา’ อดีตร้านน้ำชากาแฟเก่าแก่แห่งเมืองสงขลา
สืบประวัติการที่มาและการปรากฏตัวครั้งแรกของกาแฟ สู่การเดินทางจากอาระเบียจนหยั่งรากลึกในสงขลา ประเทศไทย มานานกว่า 130 ปี
ภาพถ่ายเก่าขณะกำลังปรับปรุงของร้านฮับเซ่ง สภากาแฟยามเช้าของเมืองสงขลา อายุกว่า 90 ปี เป็นหนึ่งในร้านน้ำชากาแฟที่เก่าแก่ที่สุดตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่าสงขลา 
ภาพ : ให้ความอนุเคราะห์สำเนาภาพถ่ายโดย ร้านฮับเซ่ง จังหวัดสงขลา
สืบประวัติการที่มาและการปรากฏตัวครั้งแรกของกาแฟ สู่การเดินทางจากอาระเบียจนหยั่งรากลึกในสงขลา ประเทศไทย มานานกว่า 130 ปี
ร้านฮับเซ่ง หนึ่งในร้านน้ำชากาแฟที่เก่าแก่ที่สุดตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่าสงขลา

ทั้งนี้ ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเริ่มขึ้นเมื่อใด ทว่าร้านกาแฟระยะแรกน่าจะอยู่ในรูปแบบ ‘โกปี้เตี๊ยม’ หรือร้านกาแฟดั้งเดิมที่ดำเนินการโดยชาวจีนอพยพ ซึ่งพบแพร่หลายในคาบสมุทรมลายู โดยปรากฏร้านเก่าแก่อายุกว่า 90 ปีบนถนนนางงาม เช่น ร้านฮับเซ่ง ร้านน่ำหลี ร้านฟุเจา เป็นต้น ในขณะที่เมล็ดกาแฟมีการนำเข้ามาจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์เป็นหลัก ปัจจุบันร้านกาแฟกระจายตัวแน่นหนาบนถนนนครนอก นครใน และนางงาม ที่ซึ่งกาแฟออกเดินทางจากอาระเบียมาถึงสงขลาอย่างเป็นที่ประจักษ์ชัด

สืบประวัติการที่มาและการปรากฏตัวครั้งแรกของกาแฟ สู่การเดินทางจากอาระเบียจนหยั่งรากลึกในสงขลา ประเทศไทย มานานกว่า 130 ปี
ภาพถ่ายถนนนครใน ในโปสต์การ์ดขาวดำ ถ่ายราวยุคศตวรรษที่ 20 
ภาพ : ให้ความอนุเคราะห์สำเนาภาพถ่ายโดย จรัส จันทร์พรหมรัตน์ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา

อนึ่ง นิทรรศการพิเศษ ‘จากอาระเบียสู่สงขลา : การเดินทางของกาแฟ’ นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกาแฟในบรรยากาศคาเฟ่สไตล์จีนในนาม Museum Cafe เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา โดยขยายเวลาในการจัดแสดงจนถึง 30 เมษายน พ.ศ. 2566

ภาพส่วนหนึ่งจากนิทรรศการพิเศษ จากอาระเบียสู่สงขลา : การเดินทางของกาแฟ นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกาแฟ ในบรรยากาศคาเฟ่สไตล์จีนในนาม Museum Cafe
ข้อมูลอ้างอิง

1. เชื้อ ธรรมทิน สุวรรณรัต. (2509). การปลูกและการผลิตกาแฟ ภาคปฏิบัติของกรมการปกครอง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง. (พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นายศุข สงวนน้อย ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 13 มกราคม 2509).

2. ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์. (2527). สำเภากษัตริย์สุลัยมาน. เอกสารทางวิชาการ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

3. โดม ไกรปกรณ์. (2557). “การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยอาณานิคม : มองผ่านการผลิตและบริโภคกาแฟ.” ภาษาและวัฒนธรรม 33, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม): 5-20.

4. ปาเลอกัว ชอง-บาตีสต์. (2542) สัพะ พะจะนะ พาสา ไท. บุษบา ประภาสพงศ์ และคนอื่น ๆ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. 

5. ลาลูแบร์, มองซิเออร์ เดอ. (2457). จดหมายเหตุลาลูแบร์ พงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. แปลโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. กรุงเทพฯ: ปรีดาลัย.

6. ศรินธร รัตน์เจริญขจร. (2544). ร้านกาแฟ: ความหมายในวัฒนธรรมไทยยุคบริโภคนิยม. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

7. สแตนเดจ, ทอม. (2565). ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว. พิมพ์ครั้งที่ 7. แปลโดย คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์. กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป.

8. สำนักราชเลขาธิการ. (2537). หนังสือจดหมายเหตุฯ The Bangkok Recorder. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) (พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมหมาย ฮุนตระกูล ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ธันวาคม 2536).

9. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร5 ค4.4/2 เอกสารจดหมายเหตุ เรื่อง หลวงจำนงนิเวศกิจ (มร. แรมแซ) ขออนุญาตที่ดินเมืองสงขลา ทำการเพาะปลูก ร.ศ. 112-114 

10. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร5 ม53/24 เอกสารจดหมายเหตุ เรื่อง พระยารัษฎามีความเห็นจัดการบ้านเมืองและให้พระยารัษฎาฯ ทำรายงานสินค้าเมืองตรัง เมืองปะเหลียน ร.ศ. 111-112

11. อรวรรณ วิชัยลักษณ์, พิสมัย พึ่งวิกรัย และณัฐธิดา ห้าวหาญ. (2557). การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟ. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมการเกษตร.

Writer

ธีรนาฎ มีนุ่น

ธีรนาฎ มีนุ่น

ภัณฑารักษ์ทาสแมว ผู้รักการถ่ายภาพ การท่องเที่ยว การเขียน และการสื่อสารประวัติศาสตร์