หากมีคนกล่าวว่า อยากสร้างบ้านใต้ถุนสูง คงคิดว่าบ้านใต้ถุนสูงนั้น สูงสักเท่าไหร่ถึงจะพอดี และดีพอสำหรับใคร เราปล่อยให้คำถามค้างไว้อย่างนั้นก่อนแล้วกัน 

ย้อนกลับไปที่มาที่ไปของบ้านหลังหนึ่ง ในละแวกสาทร-นราธิวาสฯ ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน บ้านหลังหนึ่งก่อสร้างอย่างเงียบ ๆ ท่ามกลางวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ทว่ารูปแบบบ้านที่กำลังสร้างอยู่นั้นกลับเป็นที่ฮือฮาและสร้างความฉงนในหมู่เพื่อนบ้านใกล้เคียง 

จะแปลกใจอะไรนักหนากับบ้านชั้นเดียว ใต้ถุนสูง เรานึกในใจเมื่อได้ยินข้อมูลคร่าว ๆ ของบ้านหลังนี้ 

แต่ต้องประหลาดใจ เมื่อทราบรายละเอียดในเบื้องต้นว่าบ้านชั้นเดียวที่เรากำลังจะไปเยือนนี้ไม่ใช่บ้านชั้นเดียวทั่ว ๆ ไป เพราะเป็นบ้านชั้นเดียวที่มีใต้ถุนสูง 20 เมตร ชั้นที่เจ้าของบ้านเรียกว่าชั้นล่างและชั้นบนนั้น ที่จริงอยู่ระดับชั้น 6 และชั้น 7 ของตึกทั่วไป พอจะเข้าใจหรือวาดภาพออกบ้างไหม  

เอาเป็นว่า ค่อย ๆ รับรู้รายละเอียดและฟังเรื่อราวสนุก ๆ ถึงที่มาที่ไปของบ้านหลังนี้กันดีกว่า

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม
บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

อยากอยู่อย่างอยาก

นับเป็นต้นปีที่ดีสำหรับตัวเราที่มีโอกาสได้เยือนบ้านสถาปนิกระดับอาจารย์ และดียิ่งขึ้นไปอีกเมื่ออาจารย์นำชมเพื่อทำความรู้จักบ้าน ตลอดจนแนวคิดในการออกแบบตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวัสดุที่เลือกใช้ เสมือนนั่งเรียนเลกเชอร์นอกห้องเรียนกันเลยทีเดียว

สาย ๆ วันอาทิตย์ เราหยุดยืนอยู่หน้าบ้านที่นัดหมาย ลิฟต์พาเราเคลื่อนตัวขึ้นมาจากชั้น 1 สู่ชั้น 2 3 4 5 แล้วค่อย ๆ เปิดที่ชั้น 6 เจ้าของบ้านนั่งทำงานในชุดสบาย ๆ ท่ามกลางไม้กระถางน้อยใหญ่ในโถงกว้างเปิดรับลมธรรมชาติ มีที่นั่งและโต๊ะแบบเรียบง่าย 

หากอยู่ในกลุ่มแวดวงสถาปนิก นักออกแบบ ตลอดจนนักอ่าน คงคุ้นเคยชื่อและผลงานของ อาจารย์บัณฑิต จุลาสัย เป็นอย่างดี ทั้งด้านงานเขียน งานออกแบบ และงานสอนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะเลยวัยเกษียณแล้ว แต่อาจารย์ยังคงทำงานทุกอย่างเหมือนเดิม อาจจะลดน้อยลงบ้าง เพื่อมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น” 

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

อยากรู้อยากเล่า

หลังจากแนะนำตัวและนั่งคุยกันในเบื้องต้นแล้ว เจ้าของบ้านพาเดินขึ้นบันไดไปชมที่ชั้นบนตามที่อาจารย์เรียก แต่จริง ๆ มันเทียบเท่ากับชั้น 7 ของอาคารทั่วไป ชั้นนี้ประกอบไปด้วยส่วนที่นอน ห้องน้ำ และแต่งตัว ส่วนที่นอนมีบานหน้าต่างกว้างเปิดโล่งทั้ง 2 ฝั่ง มีลมพัดผ่านเย็นสบาย อาจารย์หยุดยืนอยู่ริมหน้าต่าง ก่อนจะเริ่มเล่าถึงความเป็นมาของบ้าน โดยชี้ให้ดูบ้านที่อยู่ไม่ไกลว่าเป็นแบบบ้านที่ใกล้เคียงกับบ้านเก่า ซึ่งเมื่อก่อนทุกบ้านเป็นแบบเดียวกันหมด แปลงที่ดินเป็นลักษณะเดียวกันหมดเพราะเป็นโครงการบ้านจัดสรรแห่งแรกของไทย เป็นโครงการอาคารสงเคราะห์ เพื่อข้าราชการและประชาชน เมื่อ พ.ศ. 2504 

“เดิมทีถนนแถวนี้เรียกขานว่าถนนอาคารสงเคราะห์ เพราะสร้างให้ข้าราชการและประชาชนทั่วไป เมื่อ พ.ศ. 2504 สมัยนั้นยังไม่มีการเคหะฯ เป็นโครงการของกรมประชาสงเคราะห์ สร้างขึ้นมาสำหรับข้าราชการด้วยวิธีแบ่งแปลงที่ดินพร้อมสร้างบ้าน” 

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

“หลังโน้นเป็นบ้านอาจารย์จุฬาฯ บ้านนายพลเรือ อีกหลังเป็นรองอธิบดีกรมโยธาฯ 

“เมื่อ พ.ศ. 2504 ทุกคนก็เป็นนายร้อย เป็นวิศวกร พอเวลาผ่านไปเป็น 20 ปี ทุกคนเป็นนายพล เป็นอธิบดี ถ้ายังอยู่ตรงนี้นะ แต่ส่วนใหญ่ก็จะขายต่อให้คนอื่น เพราะความที่เป็นบ้านจัดสรรรุ่นแรก หน้าตาเหมือน ๆ กัน มันก็ยังไม่สวย สมัยนั้นคนยังอยากอยู่บ้านไม้ บ้านก็เลยเปลี่ยนมือไปเรื่อย ๆ” 

“ตอนที่ผมมาอยู่ พ.ศ. 2530 กลายเป็นบ้านที่อยู่ไม่ไกลจากจุฬาฯ แต่เข้าออกลำบาก เพราะยังไม่มีถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ต้องเข้าทางซอยสวนพลูกับซอยเซนต์หลุยส์ ถึงอยู่ห่างจากสาทรไม่ถึงกิโลเมตรก็เหมือนอยู่ชานเมือง คลองช่องนนทรียังเป็นคลองเล็ก ๆ มีเพิงพักเรียงราย 2 ฝั่งคลอง แต่ผมคิดว่ามันต้องเจริญขึ้น” 

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม
บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

อยากอยู่ตรงนี้

เพราะตามติดพื้นที่นี้อยู่นานหลายปี ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงและคาดเดาความเจริญในอนาคตของพื้นที่ดังกล่าว จึงตัดสินใจซื้อบ้านพร้อมที่ดิน 1 แปลงในราคาที่ขยับขึ้นมากจากวันแรกที่เฝ้าจับตาหลายเท่าตัว

“ตอนที่ผมซื้อตอนนั้น ก็มีบ้านโทรม ๆ เก่า ๆ ตัวบ้านก็หมดอายุแล้ว แต่จำใจอยู่อย่างนั้นเพราะตังค์หมดเกลี้ยง

“วันหนึ่งผมไม่สบาย เลยอยากเปิดหน้าต่าง แต่พอเปิดไปเจอเพื่อนบ้าน เลยอยากได้บ้านที่เปิดหน้าต่างแล้วไม่เห็นคนจัง ประกอบกับตอนนั้นยังไม่ปรับปรุงคลองช่องนนทรี เลยมีปัญหาน้ำท่วมเหมือนที่อื่น ๆ พอน้ำท่วมถนนแล้วก็เข้าท่วมในบ้าน” 

“ตอนผมปรับปรุงบ้านเก่า ผมเลือกวิธีแบบเนเธอร์แลนด์ คือล้อมรอบบ้านด้วยเขื่อน เพราะฉะนั้น น้ำท่วมถนนก็ท่วมไป ในบ้านเราน้ำไม่ท่วม แต่ปรากฏว่าพอน้ำท่วมถนนมาก ๆ แรงดันน้ำทำให้มีน้ำผุดกลางบ้าน มีอยู่ครั้งหนึ่งฝนตกหนักตั้งแต่กลางวัน แต่พอถึง 4 ทุ่ม น้ำที่ถนนก็ลด แต่ผมต้องวิดน้ำออกจากบ้านจนถึงตี 2 กว่าจะหมด” 

“ผมก็ตัดสินใจได้ว่า ถ้าจะสร้างบ้านใหม่ จะต้องไม่มีเหตุการณ์แบบวันนั้นเกิดขึ้น บ้านนี้เลยรวมความต้องการ 2 อย่างที่ว่า อยากมองออกไปเห็นไกล ๆ และไม่อยากให้น้ำท่วม ห้องที่ผมนอนอยู่สูงที่สุดของบ้าน (ชี้ฝ้า) คือ 23 เมตร ซึ่งทางราชการให้สร้างสูงได้ถึง 23 เมตร”

อยากสร้างอย่างนี้

“ที่จริงผมปลูกบ้านชั้นเดียวนะ แต่อยากเห็นวิวก็ดันตัวเองขึ้นมา ทุกคนก็ถามว่า แล้วจะขึ้นไปอย่างไร ก็ขึ้นลิฟต์ไง

“เมื่อไม่เคยมีภาพแบบนี้มาก่อน จึงมีผมคนเดียวที่รู้ว่าทำอะไร ด้วยความที่เราไม่มีเงิน ผมเลยสร้างเต็มเฉพาะพื้นชั้นนี้ ชั้นล่าง ๆ โล่งหมด เดิมคิดว่าจะสร้างบ้านเหล็กเพื่อยกคานเหล็กมาวางภายหลัง แต่ว่าแพงมาก เลยกลับไปใช้โครงสร้างคอนกรีต เลยต้องหล่อคานทิ้งไว้ เลยเป็นบ้านที่มีแต่เสาคาน ไม่มีพื้น คนแถวนี้เลยสงสัยว่ามันทำอะไรของมัน

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

“ส่วนพื้นที่สร้างตอนนั้นเป็นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป รวมทั้งส่วนอื่น เช่น เสารั้วที่เขาใช้ทำรั้วลวดหนาม ผมเอามาใช้เป็นราวระเบียง เป็นหลังคาระแนงที่ให้แสงรำไร พื้นที่ชั้นล่างก็ปล่อยโล่งหมด ไม่ทำอะไร ปล่อยเป็นเหมือนใต้ถุน แล้วก็ขึ้นบันไดไปนอน”

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม
บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

“ส่วนที่มาของห้องน้ำนั้น ก่อนที่จะมาอยู่บ้านหลังนี้ผมอยู่อะพาร์ตเมนต์ แล้วห้องน้ำอยู่ข้างใน ไม่มีหน้าต่าง รู้ใช่ไหมว่าห้องน้ำไม่มีหน้าต่างจะเกิดอะไรขึ้น นอกจากจะอึดอัด มืดมัวแล้ว ยังมีคราบสกปรกตามร่องกระเบื้อง ต้องเอาแปรงสีฟันเก่าไปขัดถูเป็นประจำ ผมเลยต้องการห้องน้ำกว้างใหญ่ โล่งโปร่ง เลยทำหน้าต่างกว้างถึง 2 x 2 ตารางเมตร โดยไม่กลัวใครเห็นเพราะอยู่สูงกว่าชาวบ้าน ผนังเป็นไฟเบอร์ซีเมนต์ ไม่กรุ ไม่ปูกระเบื้องเซรามิก โดยใช้แผ่นกันลื่นที่พื้นกันล้ม”

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม
บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

“บ้านทั้งหลังนี้จึงมาจาก Pain Point” อาจารย์สรุป

“เรื่องวัสดุก็มาจากการที่ไม่มีสตางค์ วัสดุผนังภายในที่เห็นคล้าย Particle Board แต่เกรดดีกว่า เรียกว่า MDF (Medium-density Fiberboard) ส่วนผนังภายนอกใช้คอนกรีตบล็อก แบบที่เขาใช้ทำรั้วบ้าน รวมทั้งคอนกรีตบล็อกโปร่ง ส่วนฝ้าเพดานก็ไม่มี เทปูนเสร็จก็เรียบร้อย ไม่ทำอะไรเพิ่มเลย ประตูไม้ก็มาจากบ้านเก่า” 

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

ได้อยู่อย่างอยาก

“ทุกวันนี้วัสดุก่อสร้าง สุขภัณฑ์ รูปร่างอาคารที่ทำไป กลายเป็นธรรมดา ไม่น่าตื่นเต้นแล้ว ต่างกับเมื่อ 24 ปีที่แล้วที่ยังไม่มีใครทำ” เจ้าของกล่าวถึงบ้านของตัวเอง ก่อนจะพาชมในส่วนใต้ถุนบ้านที่เรียกว่าชั้นล่าง

“นี่คือห้องทำงานผม เดิมทีเป็นพื้นที่โล่งโปร่งสูง แต่ตอนนี้กลายเป็นห้องเก็บหนังสือแล้ว นี่คือห้องครัวที่ไม่เคยทำ ส่วนอื่น ๆ แทบไม่ทำอะไรเลย 24 ปีที่แล้วเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ทรุดโทรมไปบ้างตามสภาพ”

ระหวางพาเดินขึ้นชั้นบน ซึ่งจริง ๆ แล้วมันคือชั้น 7 อาจารย์ก็เปิดบานประตูห้องลิฟต์ ชี้ให้ดูเครื่องลิฟต์ ปั๊มน้ำ ทางออกหลังคาที่เพิ่งติดตั้งโซลาร์เซลล์ ปล่องระบายอากาศ ท่อน้ำที่บอกว่าทำครบถ้วนโดยไม่ซ่อนหรือฝังไว้

“ชั้นนี้คือห้องนอนผม เข้ามาเลย” อาจารย์ชวนเราเข้าไป พร้อมบอกว่าแต่ก่อนมีคนเข้ามาดูเยอะ ถัดจากห้องนอนเป็นส่วนแต่งตัว เก็บของ และห้องน้ำ  

“เมื่อ 24 ปีที่แล้วนี่ฮือฮามากนะ สมัยก่อนชักโครกไม่ใช่แบบนี้ รู้รึเปล่าทำไมโถต้องลอยจากพื้น สำหรับคอนโดมิเนียมหรืออะพาร์ตเมนต์ถ้าติดตั้งโถส้วมชักโครกแบบติดตั้งพื้น แปลว่าเวลาส้วมตัน มีปัญหา ต้องขอเข้าห้องข้างล่างเพื่อไปซ่อม โถส้วมอาคารสูงจึงต้องเข้าฝาผนัง เปิดซ่อมได้เวลามีปัญหา”

เราเริ่มสนุกในเรื่องเล่าจากอาจารย์ที่เป็นเสมือนคลังความรู้ จึงเอ่ยถามถึงเหตุผลในการเลือกรูปแบบฝักบัวในห้องน้ำ

“ฝักบัวที่เห็นนี่ เมื่อก่อนมันยังไม่แพร่หลาย แต่เดี๋ยวนี้มันฮิต ทุกบ้านต้องมีฝักบัว” อาจารย์เล่าให้ฟังว่า

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

“ตอนเด็ก ๆ บ้านผมเป็นร้านค้า ผมนอนอยู่ชั้นบนคล้ายตึกแถว แต่ใหญ่กว่า ภาพจำในวัยเด็กคือห้องน้ำกว้างมาก พื้นเป็นหินขัด มีฝักบัวแบบโบราณขนาดเล็ก ๆ ผมจำได้ว่าความสนุกที่สุดคือการเปิดฝักบัว เต้นไปมาในห้องน้ำ พอมาอยู่บ้านหลังนี้ ผมดิสโก้ได้เลย” 

แม้เจ้าของบ้านจะย้ำเสมอว่าเลือกวัสดุสร้างบ้านที่ราคาไม่แพงนัก เนื่องจากช่วงนั้นมีงบจำกัด แต่มีสิ่งหนึ่งที่เขาลงทุนและตั้งใจให้มีมาตั้งแต่เริ่ม คือระบบการบำบัดน้ำเสีย 

น้ำที่ใช้แล้วทั้งหมดจะไหลรวมลงไปบำบัดที่ชั้นล่าง น้ำหลังบำบัดแทนที่จะปล่อยทิ้ง กลับสูบขึ้นมาพักบนถังน้ำอีกถังด้านบนแล้วค่อยปล่อยลงมา ใช้เป็นน้ำรดไม้กระถางทุกชั้น เพื่อให้ง่ายต่อการใช้ เลยมีสายยางสีเขียวคือน้ำปกติ ส่วนสายยางสีส้มคือน้ำที่ผ่านการบำบัดสำหรับใช้รดต้นไม้

“ตอนมาอยู่ใหม่ ๆ ไม้กระถางบ้านผมมีปัญหาว่าเพลี้ยลง เลยถามผู้รู้ว่าเพลี้ยมาจากไหน มาได้อย่างไร เขาบอกว่า เพราะผมคงให้ปุ๋ยไม้กระถางมากจนเกิดเพลี้ย เทียบได้กับคอเลสเตอรอลที่เกิดกับคน จะปฏิเสธก็ไม่ได้ เพราะน้ำที่ใช้ที่ทำให้พืชพรรณสวยงามเขียวขจีกว่าทั่วไป ส่วนวิธีแก้ไขเขาให้ไปหามดมาปล่อย มดก็จะมาจัดการเพลี้ยตามหลักธรรมชาติ แต่พอปัญหาเพลี้ยหมดไป ปัญหามดก็ตามมา พอปัญหามดหมดไป ปัญหาจิ้งจกก็มาแทน และเกิดปัญหาหนู เมื่ออยู่นานปีมากขึ้น” 

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม
บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

อยากเติมอยากปรับ

“ย้อนกลับไป พ.ศ. 2543 ปีที่ได้รางวัล House of the Year ชั้นล่างนั้นโล่ง จอดรถได้ถึง 6 คัน มีชั้นลอยเป็นที่พักแม่บ้านและครอบครัว มีบันไดขึ้นลงต่างหาก ส่วนชั้น 3 4 และชั้น 5 ไม่มีอะไรเลย นอกจากคาน จึงแปลกกว่าบ้านธรรมดา กลายเป็น บ้านไทยทางตั้ง ของนิตยสาร art4d

“พอผมเก็บตังค์ได้ ผมก็เติมจนเต็มทุกชั้นอย่างที่เห็น บ้านหลังนี้จึงเป็นบ้านเติม ไม่ใช่บ้านต่อ ซึ่งคำว่าเติมดีกว่าต่อเพราะต่อคือผมอยู่บ้าน 2 ชั้น ก็ต่อชั้น 3 ชั้น 4 ชั้น 5 ซึ่งจะวุ่นวาย อยู่ลำบากตอนก่อสร้าง แต่พอผมทำบ้าน 7 ชั้น แล้วมาเติมชั้น 3 4 และ 5 ช่วงเวลาที่เติมบ้านก็ยังขึ้นลิฟท์มานอนปกติ อยู่ข้างบนใครจะทำอะไรไม่เดือดร้อน ยิ่งมีคานอยู่แล้วก็แค่ปูแผ่นพื้นสำเร็จรูป ซึ่งมีขนาดเล็ก ยกได้ด้วยคน”

“ผมเติมเป็นห้องพัก 1 ห้องนอน ทุกชั้นมีระเบียงกว้าง ด้านหนึ่งมีส่วนนั่งเล่น ทานข้าว ครัว อีกด้านเป็นส่วนนอน ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว ดูเหมือนว่าคนที่มาเช่าอยู่พอใจ”

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม
บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

อยากอยู่อย่างนี้

“ผมอยู่แบบนี้ 365 วัน ตื่นนอนมาก็นั่งตรงนี้ นั่งกินข้าว เอาจานไปเก็บ แล้วก็มานั่งทำงาน วันนี้มีแขกมาก็รับแขก ถ้าจะนั่งกินข้าวด้วยกันตรงนี้ก็ได้ ชีวิตเราไม่ใช่เดินไปแต่งตัวเพื่อรอรับแขก อันนั้นมันสำหรับบ้านคนรวยที่เขารับแขกเพื่อธุรกิจ” 

“ผมนั่งอยู่ตรงนี้ทั้งวันได้เลย เพราะตรงนี้ลมแรงตลอด ส่วนแดดจะแรงช่วงบ่าย แต่ที่แย่คงเป็นฝน จะทะลุมาถึงที่นี่เลย (ที่นั่ง) เพราะลมแรงมาก ปัญหาเดียวคือถ้านั่งทำงานค้นคว้า ต้องเอามือคอยตะครุบกระดาษไม่ให้มันปลิว เลยต้องมีหิน มีไม้ทับกระดาษตรงนี้หลายชิ้น (ยิ้ม) เพราะมันปลิวมาก เมื่อก่อนเราอาจใช้ตรงนี้น้อยหน่อย เพราะพอตื่นก็ไปทำงาน แล้วใช้ตรงนี้เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ แต่พอโควิดมาก็ได้ใช้มากขึ้น”

แม้จะดูลงตัวและพอใจกับพื้นที่และวิถีทั้งหมดของตัวบ้านแล้ว แต่ยังแอบมีบางส่วนที่ไม่ตรงกับความคิดของผู้ออกแบบ คือห้องนอน 

“จริง ๆ ถ้าผมเปิดหน้าต่างหมด ลมมันจะดีมาก แต่บังเอิญเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ผมนอนดึก พอตี 5 แสงทองผ่องอำไพจะส่องเข้ามาที่ห้อง เลยต้องปิดผ้าม่าน พอปิดผ้าม่าน ลมก็ตีผ้าม่าน เลยต้องปิดกระจก เป็นที่มาว่าต้องติดแอร์หลังจากทำห้องนอน ชั้นล่าง ๆ เลยพบว่าห้องนอนเล็ก ๆ มืด ๆ ก็ดี พอหน้าต่างใหญ่ ผ้าม่านก็เปลืองเพราะคนนอนอยากตื่นสาย”

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

“ที่บ้านมันต่างไปจากบ้านอื่นหรือออกมาพิสดารคงเป็นเพราะความต้องการของผม บวกเรื่องเงิน บวกเรื่องกฎหมาย บวก ๆ อะไรอีกหลายอย่างจนออกมาเป็นอย่างนี้ มองแล้วอาจถ่ายรูปไม่สวย แต่พอได้มานั่งก็สบาย”

ย่อหน้าสุดท้ายที่อาจารย์ให้สัมภาษณ์ เหมือนจะเป็นการบอกเรากลาย ๆ ว่าบ้านขอแต่ละคนล้วนมีข้อจำกัดที่ต่างกันออกไป ดังนั้นไม่มีบ้านไหนสวยที่สุด ดีที่สุด มีแต่เหมาะสมที่สุดกับเจ้าของบ้านเอง 

เวลาผ่านไป บทสนทนาไหลลื่นไปเรื่อย จากเรื่องบ้านไปสู่เรื่องงานเขียนที่อาจารย์เขียนให้กับ มติชนสุดสัปดาห์ ในคอลัมน์ มองบ้านมองเมือง นอกจากนี้ยังได้ฟังเรื่องเล่าที่มาของชื่อแต่ละเขต ชื่อคลอง ยาวไปถึงการเลือกไวน์ดื่ม ในฐานะที่อาจารย์เป็นนักเรียนเก่าฝรั่งเศส และอีกหลายต่อหลายเรื่อง นับเป็นอีกครั้งที่การนั่งคุย-นั่งสัมภาษณ์เพลินจนกินเวลานานหลายชั่วโมง

แม้มากกว่าครึ่งที่คุยจะไม่ใช่เรื่องบ้านที่เรากำลังนั่งอยู่และเป็นเป้าหมายในการมาเยือนของเรา แต่เราเชื่อว่าภาพการนั่งคุย สภาพแวดล้อมรอบตัว ต้นไม้สีเขียวสด สบายตา ลมธรรมชาติที่พัดผ่าน เสียงการสนทนา เนื้อหาที่เล่าและร้อยเรียงออกมา บรรยากาศที่ผ่อนคลาย  ใบหน้าเปื้อนยิ้ม แทรกเสียงหัวเราะมาเป็นช่วง ๆ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นความหมายของบ้านที่เราฝันถึง 

บ้านไทยใต้ถุนสูง 20 เมตรของอาจารย์สถาปัตย์ และภารกิจเติมบ้านอีกหลังในบ้านเดิม

Writer

สุภัทรา ณัฐพูลวัฒน์

สุภัทรา ณัฐพูลวัฒน์

บุคคลธรรมดาที่เคยทำงานหนังสืออยู่ช่วงหนึ่ง ปัจจุบันชอบทำสวน ชอบอยู่กับแมว หมา และหน้าหนังสือ

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง