ย้อนไปในสมัยที่ยังไม่มีเครื่องบินหรือเรือกลไฟ มุสลิมจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางไปประกอบศาสนกิจครั้งสำคัญที่เรียกว่า ‘ฮัจญ์’ ที่เมืองมักกะฮ์ (เมกกะ) ในแผ่นดินอาหรับ ด้วยการล่องเรือ ขี่ม้า อูฐ ลา หรือเดินเท้า การเดินทางก็ใช้เวลา ยิ่งอยู่ไกลจากมักกะฮ์ยิ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน ระหว่างทางยังเสี่ยงที่จะประสบกับภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ กองโจร ตลอดจนความเจ็บป่วยที่อาจมาคร่าชีวิตไประหว่างการเดินทาง แต่ถึงอย่างนั้น มุสลิมก็ยังตั้งมั่นที่จะไปให้ถึงมักกะฮ์ให้ได้เพื่อไปบำเพ็ญฮัจญ์

การทำฮัจญ์นั้นยิ่งใหญ่และมีความหมายสำหรับมุสลิมเป็นอย่างยิ่ง มุสลิมจึงบันทึกความทรงจำอันมีค่านั้นไว้ด้วยวิธีต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการทำภาพสถานที่ในการประกอบพิธีฮัจญ์ไว้ดูเป็นที่ระลึก ภาพดังกล่าวยังใช้อธิบายหรือใช้เป็น ‘คู่มือ’ ให้แก่ผู้ที่จะไปทำฮัจญ์ในครั้งหน้าได้อีกด้วย

ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์เป็นงานศิลปะของมุสลิมที่มีรูปแบบน่าสนใจมาก จึงอยากนำมาให้ชม แต่ก่อนจะลงลึกไปที่ภาพ ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับพิธีฮัจญ์ก่อน จะได้เข้าใจเนื้อหาในภาพได้

ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ งานศิลปะที่เป็นเสมือนคู่มือจาริกแสวงบุญของมุสลิมในอดีต
ภาพกองคาราวานเดินทางไปฮัจญ์ จิตรกรรมอาหรับปี 1237 
ภาพ : Bibliothèque Nationale de France
ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ งานศิลปะที่เป็นเสมือนคู่มือจาริกแสวงบุญของมุสลิมในอดีต
มุสลิมขณะประกอบพิธีฮัจญ์ที่มัสยิดอัลฮะรอม ที่เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย
ภาพ : ณภัทร นิซัน

รู้จักพิธีฮัจญ์

ฮัจญ์ คือการเดินทางไปยัง ‘กะอ์บะฮ์’ ที่ตั้งอยู่ภายในมัสยิดอัลฮะรอมที่เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจตามแบบแผนของศาสดามุฮัมมัด พิธีทำในวันที่ 8 – 13 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ (เดือนที่ 12 ในปฏิทินอิสลาม) ของทุกปี การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติ 5 ประการของศาสนาอิสลามที่กำหนดให้มุสลิมทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่ต้องกระทำหากมีความพร้อมทั้งร่างกายและทรัพย์สิน และมีความปลอดภัยในการเดินทาง แต่ผู้ที่ไม่สะดวกจริง ๆ อย่างผู้ป่วยหรือผู้ยากไร้ ถ้าพยายามทำตนให้พร้อมและตั้งเจตนาว่าจะไปบำเพ็ญฮัจญ์ให้ได้สักวันหนึ่ง พระเจ้าก็จะทรงตอบรับความตั้งใจอันดีนั้น

จุดประสงค์ของการประกอบพิธีฮัจญ์ คือเพื่อเพิ่มพูนความศรัทธาต่อพระเจ้า ร่วมยืนยันกับพี่น้องมุสลิมจากทั่วโลกว่า อัลลอฮ์คือพระเจ้าแต่องค์เดียว ทั้งยังจะได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากมุสลิมในต่างแดนด้วย การทำฮัจญ์ใช้เวลา 6 วัน เริ่มจากสวมชุดขาวที่เรียกว่า ‘อิหฺรอม’ ไปละหมาดและค้างที่ทุ่งมินา รุ่งขึ้นไปที่ทุ่งอะเราะฟะฮ์ ฟังธรรม ระลึกถึงพระเจ้า ขอพร และอ่านคัมภีร์อัลกุรอานจนอาทิตย์ตก แล้วจึงออกจากอะเราะฟะฮ์ไปยังมุซดาลิฟะฮ์เพื่อเก็บหินและค้างที่นั่น

เช้าวันต่อมานำหินไปขว้างที่เสาที่ทุ่งมินา ขว้างเสร็จแล้วมาเชือดสัตว์พลี แล้วโกนศีรษะหรือขลิบผม เปลี่ยนจากชุดอิหฺรอมมาสวมชุดปกติ จากนั้นไปที่มัสยิดอัลฮะรอม เดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์ 7 รอบ และเดินระหว่างเนินเขาซอฟาและมัรวะห์ แล้วกลับไปค้างที่ทุ่งมินาอีก 3 คืน ในช่วง 3 วันนี้ พอตะวันคล้อยให้เก็บก้อนหินหรือกรวดจากทุ่งมินา 21 เม็ดไปขว้างที่เสา 3 ต้น ต้นละ 7 เม็ด วันสุดท้ายไปเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์ 7 รอบอีกครั้ง แล้วเดินทางออกจากมักกะฮ์ เป็นอันเสร็จพิธี

จะเห็นว่าพิธีฮัจญ์มีหลายขั้นตอนและมีรายละเอียดบางอย่างที่คนอาจหลงลืม ดังนั้นเพื่อให้ได้ฮัจญ์ที่สมบูรณ์ จึงควรศึกษาขั้นตอนของพิธีมาก่อน หนึ่งในตัวช่วยที่ดีก็คือภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์นั่นเอง

ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์

ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์เป็นภาพของสถานที่หลัก ๆ ที่มุสลิมจะต้องเข้าทำศาสนกิจ ได้แก่ ทุ่งมินา ทุ่งอะเราะฟะฮ์ เนินเขาซอฟาและมัรวะห์ มัสยิดอัลฮะรอม รวมถึงมัสยิดอันนะบะวีที่เมืองมะดีนะฮ์ที่มุสลิมนิยมเดินทางไปหลังเสร็จพิธีที่มักกะฮ์ด้วย ภาพเหล่านี้พบเป็นแผนที่ ภาพประดับบนกำแพงกิบลัต (กำแพงด้านหนึ่งของมัสยิดที่หันไปทางทิศละหมาด) ภาพประกอบในหนังสือ คู่มือทำฮัจญ์ ภาพบนประกาศนียบัตรฮัจญ์ หรือเป็นรูปตกแต่งบนของที่ระลึก แนวคิดในการทำภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์น่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 11

ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ งานศิลปะที่เป็นเสมือนคู่มือจาริกแสวงบุญของมุสลิมในอดีต
รูปมัสยิดอัลฮะรอมแกะสลักบนแผ่นหิน อายุต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 สมบัติของ Iraq Museum
ภาพ : Strika
ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ งานศิลปะที่เป็นเสมือนคู่มือจาริกแสวงบุญของมุสลิมในอดีต
ส่วนหนึ่งของประกาศนียบัตรฮัจญ์ปี 1205 ปรากฏภาพเนินเขาที่เป็นจุดหนึ่งในการประกอบพิธีฮัจญ์

สิ่งที่น่าสนใจของภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ของมุสลิม คือลักษณะของภาพที่ฉีกไปจากทุกตำรา ช่างมุสลิมถ่ายทอดภาพสถานที่ต่าง ๆ จากมุมมองเบื้องบน จากมุมมองนั้นยังเห็นมุมอื่น ๆ ที่ไม่ควรจะเห็นจากการมองลงมาจากเบื้องบนด้วย ภาพถูกทำให้เห็นหลาย ๆ มุมในภาพเดียว ทั้งมุมตานก (Bird’s-Eye View) มุมด้านข้างแบบรูปด้าน (Elevation View) และมุมสามมิติแบบภาพไอโซเมตริก (Isometric View) หออะซานที่ควรจะไม่เห็นทั้งต้นกลับปรากฏทุกส่วน ทุกแห่งในรูปเผยให้เห็นทุกรายละเอียด คล้ายมุมมองจากสายพระเนตรของพระเจ้า ผู้ทรงเห็นทุกความเป็นไปของโลกโดยตลอดถ้วนทั่ว บางทีรอบ ๆ ภาพก็มีชื่อสถานที่บอกไว้ด้วย

ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ งานศิลปะที่เป็นเสมือนคู่มือจาริกแสวงบุญของมุสลิมในอดีต
ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์บนประกาศนียบัตรฮัจญ์เก่าแก่
ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ งานศิลปะที่เป็นเสมือนคู่มือจาริกแสวงบุญของมุสลิมในอดีต
ภาพจากหนังสือเรื่อง Futuh al-Haramayn จากซาอุดีอาระเบียปี 1582 
ภาพ : Khalili Collections
ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ งานศิลปะที่เป็นเสมือนคู่มือจาริกแสวงบุญของมุสลิมในอดีต
ภาพมัสยิดอัลฮะรอมในหนังสือเรื่อง Sifat al-Haramayn ปี 1521
ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ งานศิลปะที่เป็นเสมือนคู่มือจาริกแสวงบุญของมุสลิมในอดีต

ภาพทุ่งอะเราะฟะฮ์ ด่านล่างมีกระโจมพักแรมของผู้มาทำพิธี ภาพจากหนังสือเรื่อง Futuh al-Haramayn จากอิหร่าน คริสต์ศตวรรษที่ 16
ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ งานศิลปะที่เป็นเสมือนคู่มือจาริกแสวงบุญของมุสลิมในอดีต
จานกระเบื้องเขียนรูปมัสยิดอัลฮะรอม
ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ งานศิลปะที่เป็นเสมือนคู่มือจาริกแสวงบุญของมุสลิมในอดีต
รายละเอียดของรูปมัสยิดอัลฮะรอมจากหนังสือเรื่อง Dala’il al-Khayrat ปี 1787

เหตุใดมุสลิมถึงทำภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ให้เห็นทุกรายละเอียดจนได้ภาพที่ดูแปลกตาเช่นนี้ คำตอบคือเพื่อให้ผู้ชมจินตนาการตามได้ว่า เมื่อไปถึงสถานที่จริงจะได้พบกับอะไร หน้าตาเป็นอย่างไร และเมื่ออยู่ที่นั่นต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างจึงจะถูกต้องและครบกระบวนการ ภาพเหล่านี้เป็นเหมือนแผนที่หรือคู่มือการทำฮัจญ์นั่นเอง ซึ่งถึงสุดท้ายไม่ได้ถูกนำไปใช้ เพราะผู้ที่ชมภาพไม่มีโอกาสได้ไปทำฮัจญ์ แต่อย่างน้อยภาพที่อธิบายอย่างละเอียดก็น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้มุสลิมเตรียมตัวเองให้พร้อมเดินทางไปทำฮัจญ์ได้สักวันหนึ่ง

การทำรูปสถานที่ต่าง ๆ ในภาพเดียวกันให้เห็นในมุมที่ต่างกันก็ไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เป็นเพราะช่างตั้งใจเลือกมุมที่อธิบายลักษณะของสถานที่นั้น ๆ ได้ดีที่สุด เพื่อให้ผู้ชมเห็นแล้วเข้าใจได้ทันทีว่าคือรูปของอะไร เพราะสถานที่แต่ละแห่งมีมุมเด่นของตัวเองแตกต่างกัน เราจึงเห็นว่าในภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์นั้น กะอ์บะฮ์มักถูกทำให้เห็นด้านหน้า แต่รูปทางเดินวนรอบกะอ์บะฮ์เป็นมุมตานก เพื่อให้ผู้ชมทราบทิศทางในการเดินวนรอบกะอ์บะฮ์ ส่วนมิมบัร (ธรรมาสน์) ที่ตั้งอยู่รอบนอกถูกทำให้เห็นในมุมด้านข้างเพราะเป็นมุมที่เห็นรูปทรงของมิมบัรได้ชัดเจนที่สุด

นอกจากนี้ ในภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์หลายภาพวัตถุในภาพถูกจัดวางแบบแปลก ๆ เช่น หออะซานที่เอียงหรือวางตัวเป็นแนวนอนคล้ายหอล้มลงมา หรืออาคารที่ไม่ตั้งตรงแต่เอียงตัวเข้าหากะอ์บะฮ์ เหล่านี้ก็ไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เป็นการนำสายตาผู้ชมไปยังกะอ์บะฮ์ซึ่งเป็นตัวเอกของภาพ

ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ งานศิลปะที่เป็นเสมือนคู่มือจาริกแสวงบุญของมุสลิมในอดีต
รูปมัสยิดอัลฮะรอมบนจานกระเบื้อง สังเกตว่าอาคารวาดเป็นมุมด้านข้าง บางแห่งเอียงเข้าหากะอ์บะฮ์ ทางเดินรอบกะอ์บะฮ์วาดเป็นมุมตานก

ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ถูกทำขึ้นอย่างแพร่หลายในแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงเมืองจีน อาคารในภาพอาจดูแตกต่างกันตามรูปแบบทางศิลปกรรมของแต่ละแห่ง แต่ทั้งหมดมีแบบแผนเดียวกัน คือการถ่ายทอดภาพแบบผสมผสานมุมมองให้เห็นรายละเอียดของสถานที่แต่ละแห่งในการบำเพ็ญฮัจญ์ให้มากที่สุด ซึ่งแม้จะทำให้ได้ภาพที่ดูแปลก แต่มีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร ช่างมุสลิมก็ทำสืบต่อกันมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ไปที่สุด แต่น่าเสียดายที่ต่อมาอัตลักษณ์นี้ค่อย ๆ หายไป เพราะตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา มุสลิมหันไปวาดภาพแบบสมจริงตามแบบแผนของชาวตะวันตก ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ในยุคหลังจึงกลายเป็นภาพที่มีแสงเงาและมีระยะตื้นลึกแบบจิตรกรรมยุโรป

และหลังจากที่กล้องถ่ายรูปถือกำเนิดขึ้น การวาดภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ที่ใช้เวลาและได้เพียงภาพจากจินตนาการของศิลปินก็เสื่อมความนิยมลงจนเลิกทำกันไปในที่สุด เพราะถูกแทนที่ด้วยภาพถ่ายที่บันทึกภาพบรรยากาศในการทำฮัจญ์ได้สะดวกรวดเร็วและให้ภาพที่สมจริงอย่างที่ตาเห็น

ย้อนชมทัศนศิลป์ที่ชาวมุสลิมวาด-สลัก เพื่อบันทึกความทรงจำการแสวงบุญครั้งใหญ่ในชีวิต และเป็นคู่มือให้คนไปพิธีฮัจญ์ครั้งหน้า
รูปมัสยิดอัลฮะรอมในบันทึกการเดินทางไปฮัจญ์ของชาวจีนมุสลิมปี 1861
ภาพ : Aga Khan Trust for Culture, Geneva
ย้อนชมทัศนศิลป์ที่ชาวมุสลิมวาด-สลัก เพื่อบันทึกความทรงจำการแสวงบุญครั้งใหญ่ในชีวิต และเป็นคู่มือให้คนไปพิธีฮัจญ์ครั้งหน้า
ภาพแผนที่ฮัจญ์จากอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย อายุคริสต์ศตวรรษที่ 19
ภาพ : Tropenmuseum, Amsterdam
ย้อนชมทัศนศิลป์ที่ชาวมุสลิมวาด-สลัก เพื่อบันทึกความทรงจำการแสวงบุญครั้งใหญ่ในชีวิต และเป็นคู่มือให้คนไปพิธีฮัจญ์ครั้งหน้า
ตัวอย่างภาพมัสยิดอัลฮะรอมและมัสยิดอันนะบะวีในยุคหลังที่วาดให้ดูสมจริงตามอย่างจิตรกรรมตะวันตก

ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ในไทย

เป็นที่น่าสนใจว่าภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ของมุสลิมก็มีให้เห็นในไทยด้วย โดยพบเป็นรูปแกะสลักบนแผ่นไม้ประดับเมียะหร็อบ (ซุ้มบนกำแพงฝั่งหนึ่งในมัสยิดสำหรับระบุทิศละหมาด) ของมัสยิดต้นสน เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร และที่มัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยาม ตำบลคลองตะเคียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แผ่นไม้แกะสลักที่พบในมัสยิดทั้งสองแห่งนี้คล้ายกันมาก เหมือนออกแบบตามกันมา 

ทั้งสองเป็นแผ่นไม้รูปช่องโค้งยอดแหลม มีขนาดใกล้เคียงกัน และตั้งอยู่ที่ตอนในสุดของเมียะหร็อบเหมือนกัน วัตถุในภาพถ่ายทอดจากหลาย ๆ มุม บ้างก็มุมตานก บ้างก็มุมด้านข้าง แต่เทคนิค เนื้อหาของภาพ และรูปแบบทางศิลปกรรมต่างกัน

แผ่นไม้ประดับเมียะหร็อบของมัสยิดต้นสนและของที่มัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยาม

แผ่นไม้ของมัสยิดต้นสนมีมุกประดับบางส่วน ด้านล่างมีร่องรอยที่ทำให้เห็นว่าเดิมแผ่นไม้มีสีพื้นเป็นสีแดง ลายเป็นสีทอง รอบกรอบตกแต่งด้วยข้อความภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอานและคำสรรเสริญพระเจ้า ภาพแกะสลักบนแผ่นไม้แบ่งเป็น 4 ช่อง มีงานวิจัยที่ระบุว่าภาพในแต่ละส่วน ภาพเนินเขาที่ทุ่งอะเราะฟะฮ์ อักษรอาหรับเขียนคำสาบานตนเป็นมุสลิม มัสยิดอัลฮะรอม และมัสยิดอันนะบะวี ตามลำดับ รูปแบบทางศิลปกรรมมีลักษณะผสมผสาน รูปเนินเขาตั้งอยู่บนฐานที่ชวนให้นึกถึงฐานสิงห์ในศิลปะไทย อาคารบนเนินเขาก็ดูคล้ายมณฑป ส่วนอักษรที่เขียนคำสาบานตนมีความพลิ้วไหวอย่างอักษรอาหรับของชาวจีนมุสลิม ขณะที่อาคารที่มีหลังคาคลุมที่อยู่ในภาพด้านล่างเทียบได้กับรูปอาคารในภาพแผนที่ฮัจญ์จากประเทศอินโดนีเซีย

ส่วนแผ่นไม้ประดับเมียะหร็อบของมัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยามไม่มีมุกและข้อความประดับ ภาพบนแผ่นไม้ของมัสยิดแห่งนี้แบ่งเป็น 5 ช่อง ซึ่งเมื่อเทียบกับภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์จากประเทศอื่น ๆ ทำให้พอจะบอกได้ว่าภาพในช่องที่ 1 คือมัสยิดอัลฮะรอม ช่องที่ 2 คือมัสยิดอันนะบะวี ส่วนช่องที่ 4 น่าจะเป็นมัสยิดอัลอักซอที่เมืองเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นมัสยิดสำคัญอันดับ 3 ในศาสนาอิสลาม ส่วนภาพในช่องที่ 3 และ 5 ยังเป็นปริศนา

ถ้ารูปแกะสลักบนแผ่นไม้ที่พบที่มัสยิดต้นสนและมัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยามทำขึ้นในไทย ต้นแบบของรูปบนแผ่นไม้ทั้งสองก็คงไม่แคล้วภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ของมุสลิมในต่างแดน ช่างอาจดูแบบมาจากภาพในแผนที่ หนังสือ คู่มือฮัจญ์ หรือของที่ระลึกจากอาหรับ ปัจจุบันยังไม่มีใครตอบได้แน่ชัดว่าแผ่นไม้แกะสลักของมัสยิดต้นสนและมัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยามมีความเป็นมาอย่างไร แต่อย่างน้อยรูปสลักบนแผ่นไม้ทั้งสองนี้ก็ทำให้เห็นว่า ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ที่แพร่หลายในกลุ่มประเทศมุสลิมหลั่งไหลเข้ามาในบ้านเราด้วยเช่นกัน

ภาพสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์เป็นทั้งภาพบันทึกความทรงจำอันยิ่งใหญ่ เป็นคู่มือ และแรงบันดาลใจให้มุสลิมคนอื่น ๆ แต่แม้จะทำขึ้นอย่างสวยงามปานใด ก็คงไม่งดงามเท่ากับความรู้สึกอันเปี่ยมล้นที่เกิดขึ้นในระหว่างการบำเพ็ญฮัจญ์

ขอร่วมยินดีกับพี่น้องมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองมักกะฮ์ ได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างครบสมบูรณ์และเดินทางกลับมาโดยสวัสดิภาพ ขอให้ท่านมีฮัจญ์ครั้งต่อไป สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยไป ก็ขอเป็นกำลังใจให้ท่านมีโอกาสได้ไปสัมผัสประสบการณ์ฮัจญ์สักครั้งในอนาคต

อีดมุบาร็อก

ข้อมูลอ้างอิง
  • บรรจง บินกาซัน, สารานุกรมอิสลาม ฉบับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ, กรุงเทพฯ: อัลอะมีน, 2542.
  • บรรจง บินกาซัน, สู่อิสลาม สัจธรรมแห่งชีวิต, กรุงเทพฯ: อัลอะมีน, 2548.
  • วสมน สาณะเสน, แนวคิด รูปแบบและพัฒนาการของมิหร็อบของมัสยิดต้นสน เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร, วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต สาขาทฤษฎีศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัยศิลปากร, 2557.
  • Venitia Porter and Liana Saif; Ed., Hajj: Collected Essays, London: The British Museum, n.y.
  • Venitia Porter; Ed., Hajj: Journey to The Art of Islam, London: The British Museum Press, 2012.- Mounia Chekhab-Abudaya, Hajj-The Journey to Art Exhibition Album, Skira: Qatar Museum Authority, 2013.

Writer & Photographer

วสมน สาณะเสน

วสมน สาณะเสน

บัณฑิตตุรกี นักวิชาการด้านศิลปะอิสลาม อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง