บุคลากรทางการแพทย์ไทยทำงานหนักและแสนเหน็ดเหนื่อย
เชื่อว่าเป็นสถานการณ์ที่เราต่างรับรู้ ยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกเขาต้องวิ่งวุ่นทุกวัน รักษาผู้ป่วยที่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ความเสี่ยงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จนอ่อนล้าทั้งกายใจ บางรายถึงขั้นต้องแลกด้วยชีวิต
แม้จะทุ่มเทสุดกำลังแล้วก็ตาม แต่ในสถานการณ์ปกติ ผู้ป่วยจำนวนมากยังเผชิญประสบการณ์อันน่าเจ็บปวดที่โรงพยาบาล ต้องตื่นแต่เช้าไปนั่งรอคิวยาวนาน เฝ้ารอด้วยความไม่รู้และกังวลใจ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และระบบการบริหารงานที่เป็นอยู่
H LAB คือธุรกิจที่มองเห็นปัญหาอันซับซ้อนนี้ในระบบสาธารณสุขและตั้งใจช่วยแก้ไข ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารงานในโรงพยาบาล (Hospital Management System) ด้วยมุมมองและความเชี่ยวชาญจากสายงานอื่น

“เป้าหมายของเราคือการ Re-engineering the Healthcare System หรือการถอดระบบเดิมที่เป็นอยู่ นำมาออกแบบใหม่และประกอบกลับเข้าไป เป็นระบบการให้บริการและรักษาในโรงพยาบาลที่ดีขึ้น” ข้าวตู-กมลวัทน์ สุขสุเมฆ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ H LAB กล่าว เธอมุ่งมั่นทำงานด้านนี้มาร่วม 10 ปี ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตที่ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การก้าวเท้าเข้ามาทำงานในระบบสาธารณสุขถือเป็นเรื่องท้าทาย แต่ H LAB ใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมอุตสาหการ สร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและบริการที่ช่วยให้โรงพยาบาลและหน่วยงานรัฐกว่า 22 แห่ง ได้ใช้งานระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และวางแผนทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม
นับรวมแล้วมียอดการใช้งานกว่า 7 ล้านครั้ง ประหยัดเวลาบุคลากรทางการแพทย์ไปได้มากกว่า 300,000 ชั่วโมง และยังมีบทบาทช่วยรับมือโควิด-19 ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล
ในวันที่ระบบสาธารณสุขของประเทศกำลังสั่นคลอน เราชวนข้าวตู พร้อม มิ่ง-ภาวัต ศิริวัฒนโยธิน Chief Technology Officer (CTO) และ โต๊ะ-ภูริพล ชาญภัทรวาณิช Product Owner สองเพื่อนร่วมงานที่เป็นรุ่นน้องร่วมภาควิชาของข้าวตูด้วย มาพูดคุยเพื่อเข้าใจการทำงานและเบื้องหลังภารกิจของพวกเขา
ระบบที่ดีจะช่วยรักษาชีวิตคน ถึงเวลาที่เราจะจินตนาการและออกแบบระบบการทำงานทางสาธารณสุขใหม่ไปด้วยกันแล้ว

01
Time to Re-engineer
H LAB คือบริษัทที่เกิดขึ้นจากการค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์และต่อจุดเหล่านั้นให้มาบรรจบกันเมื่อข้าวตูเติบโต
“ตอนเด็ก เราชอบเรียนชีววิทยา แต่ก็ฝันว่าอยากเป็นนักประดิษฐ์ที่สร้างสิ่งใหม่ให้โลก เลยเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์และเลือกภาควิชาอุตสาหการ เพราะอยากมองเห็นภาพรวมทั้งระบบ ไม่ว่าจะไปทำงานในอุตสาหกรรมไหน ก็น่าจะพอเข้าใจสิ่งที่เขาทำ” บัณฑิตผู้เรียนในภาควิชาที่เรียนเนื้อหาหลากหลายจนขึ้นชื่อเรื่องความเป็นเป็ดที่เดินได้ บินได้ ว่ายน้ำได้ กล่าว
“พอปีสี่ ต้องทำโปรเจกต์จบ ที่ภาควิชา อาจารย์สีรง ปรีชานนท์ กำลังทำโปรเจกต์กับโรงพยาบาลพอดี เราเห็นว่าไม่ค่อยมีใครทำด้านนี้ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้าน Healthcare”
เลนส์การมองโลกของข้าวตูที่ผ่านการร่ำเรียนด้านวางแผน ออกแบบ บริหารจัดการทรัพยากรและระบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้เธอต้องตกใจ เมื่อเห็นระบบของโรงพยาบาลที่ยังคงบันทึกข้อมูลสำคัญต่างๆ ลงบนกระดาษ หรือซอฟต์แวร์ที่ใช้งานมานานเกินกว่าสิบปี ทำงานได้เพียงเรื่องพื้นฐาน แต่ไม่อาจนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการหรือแสดงผลให้คนเห็นข้อมูลและทำงานง่ายขึ้นทั้งหน่วยงาน
เมื่อเจอปัญหาค้างคาใจ ข้าวตูเริ่มชีวิตการทำงานกับอาจารย์สีรงที่ศูนย์การวิเคราะห์ระบบสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (HSA) ตระเวนให้คำปรึกษาด้านการจัดการระบบแก่โรงพยาบาลและเห็นว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ มีความต้องการอยู่ในอุตสาหกรรม จึงตัดสินใจตั้งเป็นบริษัทที่แก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยตรงเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
“ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเยอะ มีแต่ความตั้งใจล้วนๆ ช่วงแรกยังไม่มีความรู้การบริหารเลย คิดแค่ว่ามีคนต้องการ และเราทำสิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์ได้” ข้าวตูเล่าด้วยเสียงหัวเราะ ความกล้าลงมือทำในวันนั้นเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเธอ
เมื่อภารกิจต้องอาศัยความเฉพาะทาง ทีมที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพและพร้อมฝ่าฟันไปด้วยกันเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ การเสาะหาสมาชิกที่มีคุณสมบัติเช่นนั้น ทำให้ข้าวตูพบกับมิ่งและโต๊ะที่ฉายแววตั้งแต่สมัยเรียน
“ตอนนั้นอาจารย์กำลังตามหาคนช่วยงานในโปรเจกต์อื่น ผมลองเข้าไปทำแล้วก็ได้มาเป็น Outsource ช่วยพี่ข้าวตูเขียนโปรแกรมตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนได้รับการชวนเข้ามาทำประจำ” มิ่ง หัวเรือด้านเทคโนโลยีในวัย 25 ปีกล่าว
“อาจารย์มาเล่าให้ฟังว่า ข้าวตู ผมไปเจอน้องคนหนึ่งที่บ้ามาก (ในทางที่ดี) เสนอมาช่วยแก้โจทย์ที่ตอนนั้นยังไม่มีใครแก้ได้และทำอย่างจริงจัง หาความรู้ตลอด เลยคุยกันว่าต้องเป็นคนนี้แหละ เพราะสิ่งที่มิ่งเป็นคือหนึ่งในดีเอ็นเอของ H LAB ที่เราตั้งใจไว้” รุ่นพี่เอ่ยชม
ส่วนโต๊ะเคยฝึกงานที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลรัฐ และพบปัญหาภายในไม่ต่างอะไรกับที่ข้าวตูเคยเผชิญ
“เราเห็นว่าแม้แต่โรงพยาบาลระดับประเทศยังมีปัญหาตรงนี้อยู่ อยากช่วยและเปลี่ยนแปลง ทำอะไรที่สร้างประโยชน์ พอทั้งสองคนชวนมาทำงานนี้ เราจึงตอบตกลง ” โต๊ะเล่า เขารับหน้าที่ดูแลการสร้างผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เป็นเพียงคอนเซปต์จนเกิดขึ้นจริง
ข้าวตูและทีมงานจึงรวมกันเป็นทีมรุ่นบุกเบิกที่มีอุดมการณ์แรงกล้า พร้อมสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่พลิกโฉมระบบการทำงานของโรงพยาบาลประเทศไทย


02
เพื่อนคู่คิด
ในช่วงแรกธุรกิจเริ่มต้นจากบทบาทที่ปรึกษา เข้าไปช่วยโรงพยาบาลปรับระบบภายในให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามสารพัดโจทย์
ตั้งแต่การออกแบบผังและกระบวนการทำงานใหม่ของแผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาล
สร้างระบบที่ลดเวลารอ CT Scan ช่วยโรงพยาบาลจัดสรรอุปกรณ์และตารางการทำงานของบุคลากรให้เหมาะสมที่สุด
คิดวิธีบริหารจัดการคลังยาให้พร้อมบริการอย่างประหยัดต้นทุน ไม่ขาดไม่เกิน เป็นต้น
ทำไปสักระยะหนึ่ง ทีมมองเห็นว่าหากอยากขยายผลให้กว้างขึ้นกว่านี้ด้วยกำลังคนที่มี หนทางไปต่อคือการสร้างผลิตภัณฑ์เป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถเข้าไปติดตั้งในโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง โดยปรับแต่งเพิ่มลดฟังก์ชันต่างๆ ได้ตรงความต้องการ
ทิศทางใหม่นี้ส่งผลให้เกิดเป็นซอฟต์แวร์ ‘CORTEX’ ที่ปัจจุบันมุ่งเน้นอยู่ 2 ระบบหลัก
หนึ่ง CORTEX Workflow หรือระบบบริหารจัดการเส้นทางและประสบการณ์การรับบริการ (Patient Journey & Experience) ของผู้ป่วยนอก ตั้งแต่การเริ่มนัดหมายแพทย์ ไปจนถึงการจ่ายเงินและรับยากลับบ้าน
ในฝั่งผู้ป่วย พวกเขาสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อนัดหมาย เช็กสถานะ และตรวจสอบข้อมูลของตัวเองได้ทุกเมื่อ ขจัดความว้าวุ่นใจในการรอคอย
ส่วนทางโรงพยาบาล H LAB จะเข้าไปเก็บข้อมูล ปรับเปลี่ยนกระบวนการและติดตั้งซอฟต์แวร์ให้เป็นเครื่องมื่อไว้ให้บุคลากรดูข้อมูล จัดคิวผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาเร็วกว่าที่เคย ลดความแออัดของสถานที่ และไม่ต้องกรอกเอกสารที่ไม่จำเป็นซ้ำไปซ้ำมา เพราะทุกอย่างถูกเก็บบันทึกและสรุปผลไว้ในระบบแล้ว
“เราสามารถนำข้อมูลบนระบบมาวิเคราะห์ เพื่อช่วยแพทย์พัฒนากระบวนการรักษา เช่น เขาจะเห็นว่าเส้นทางการรักษาของแต่ละคน แต่ละโรค เป็นอย่างไร ใช้เวลาเท่าไรบ้าง ตรงไหนเป็นจุดคอขวด ถ้ามีผู้ป่วยรอรับบริการหลายพันคน แต่มีแพทย์อยู่ไม่ถึงร้อย เขาจะจัดตารางเวรภายใต้เงื่อนไขที่มีอย่างไรดี ระบบนี้ช่วยให้เขาเห็นภาพ และสื่อสารระหว่างฝ่ายชัดเจนขึ้น
“มีเคสที่เราเคยเข้าไปช่วย Visualize ข้อมูลที่มีอยู่แล้วแพทย์ชอบมาก เขาบอกว่าแต่ก่อนไม่เคยเห็นภาพรวม Journey ของผู้ป่วยแบบนี้เลย เมื่อก่อนเห็นเป็นข้อมูลสองมิติ ตอนนี้เขาเห็นภาพรวมแบบ Bird-eye View และใช้ทำงานต่อได้ทันที” มิ่งและข้าวตูผลัดกันอธิบายกลไกการใช้งานของซอฟต์แวร์ ไม่เพียงแต่ช่วยจัดระเบียบการทำงาน แต่ยังทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เหมาะสมที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ หรือเรียกว่า Optimization

ส่วนอีกระบบหนึ่งคือ CORTEX ER (Emergency Room) หรือระบบบริหารจัดการแผนกฉุกเฉิน ฉายภาพให้บุคลากรเห็นภาพรวมสถานการณ์ของผู้ป่วยและทรัพยากรทั้งห้องฉุกเฉิน ช่วยประเมินอาการ จัดลำดับความเร่งด่วนในการรักษา (ระบบ Triage) ภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด
“ทุกโรงพยาบาลมีทรัพยากรจำกัด ปกติแพทย์หรือพยาบาลจะต้องรีบประเมินเป็นระดับว่าใครควรได้รับการรักษาก่อนหลังอย่างรวดเร็ว แต่มนุษย์มีขีดจำกัด สิ่งที่ต้องระวังคือการคัดกรองที่ผิดพลาด เราจึงเข้าไปช่วยให้ข้อมูลอยู่บนระบบและประเมินอย่างแม่นยำ
“ระบบนี้ไม่ได้ตัดสินใจอะไรแทน แต่ใช้ข้อมูลจากแนวทางปฏิบัติและงานวิจัยมาใส่ในอัลกอริทึม เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่ช่วยเตือน เก็บรายละเอียด เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยขึ้น”
หากดูจากสถิติเมื่อ พ.ศ. 2559 ในไทยมีผู้เข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินกว่า 35 ล้านครั้ง โดย 60 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน สามารถรับการรักษาได้ตามปกติ การใช้งานระบบนี้จะช่วยให้การรักษาเข้าถึงคนที่ต้องการที่สุดอย่างทันท่วงที
เพราะเพียงเสี้ยวนาทีในห้องแห่งนี้ อาจเป็นจุดแบ่งระหว่างความเป็นและความตายของใครสักคน
03
People – Process – Technology
“ช่วงแรกคนไม่ค่อยเข้าใจเลยว่าเราเข้าไปทำอะไรในโรงพยาบาล” วิศวกรหญิงกล่าวถึงความท้าทายเมื่อก้าวเท้าเข้าไปในสถานที่ที่แวดล้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์
“หลายคนคิดว่าเราเป็นช่างไฟ ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ หรือพนักงานไอทีของโรงพยาบาล ให้ไปช่วยดูระบบอย่างอื่นแทน บุคลากรทางการแพทย์บางคนก็มีทัศนคติไม่ดีต่อเรา จากประสบการณ์ที่เขาเคยต้องยุ่งเกี่ยวกับคนทำงานด้านระบบที่ดูเหมือนไปวุ่นวายกับการทำงานของเขา”
ในมุมมมองผู้ปฏิบัติงาน การต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานที่คุ้นชินมาโดยตลอดอาจเป็นเรื่องน่ารบกวนใจอยู่บ้าง แม้ว่าระบบใหม่นั้นจะช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้นในภายหลังก็ตาม
ส่วนเรื่องทางเทคนิคก็ยากไม่แพ้กัน
“โครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลที่เราจะเข้าไปทำงานด้วยอาจไม่ได้ทันสมัยขนาดนั้น ในขณะที่ระบบเราค่อนข้างเป็นปัจจุบัน เพราะต้องทำให้เสถียรและไว้วางใจได้มากที่สุด แต่เขาอาจไม่เห็นความสำคัญว่าทำไมต้องลงทุนปรับเปลี่ยนมหาศาลในช่วงแรก แต่จริงๆ ควรทำนะ ไม่ใช่แค่เพื่อติดตั้งระบบของเรา แต่เพื่อการต่อยอดโรงพยาบาลในอนาคต
“ไม่อย่างนั้น จะเหมือนว่าเราอยากใช้ตู้เย็น แต่ที่บ้านไม่ได้เดินสายปลั๊กไฟให้ดีและปลอดภัยไว้รองรับ เวลาเกิดเหตุอะไรขึ้นมา จะเกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง” มิ่งและข้าวตูเสริม
ภารกิจจะดำเนินต่อไปไม่ได้เลย ถ้าไม่ทำให้คนยอมลดกำแพงและพร้อมเปิดใจรับสิ่งใหม่
“เราเริ่มต้นด้วยความจริงใจ พยายามทำให้เขาเห็นภาพว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นคืออะไร เพราะเขาคือผู้ใช้งานที่ต้องอยู่กับระบบแทบทุกวัน
“เช่น ต่อไปกระบวนการจะสั้นลง แพทย์กับพยาบาลไม่ต้องทำบางขั้นตอนแล้ว มีเวลาไปอยู่กับผู้ป่วยหรือได้พักผ่อนมากขึ้น บางอย่างตอนแรกเขาอาจต้องลงแรงหน่อย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย แต่มันจะไปสบายตรงส่วนอื่นแทน มองภาพรวมแล้วทั้งระบบดีขึ้น”
ประกอบกับที่แต่ละโรงพยาบาลมีลักษณะและวิธีการทำงานแตกต่างกัน ทีมจึงเข้าไปเก็บรายละเอียดให้ได้ลึกที่สุดด้วยความใส่ใจ พูดคุยตั้งแต่ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่จากสหวิชาชีพ จนถึงผู้บริหาร เรียนรู้การทำงานทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อนำข้อมูลกลับมาปรับแต่งซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับแต่ละโรงพยาบาล


เมื่อเห็นความใส่ใจและพลังที่เปี่ยมล้น คนก็อยากร่วมช่วยเหลือ
“ความเชื่อของ H LAB คือเราไม่ได้ขายซอฟต์แวร์เฉยๆ แล้วจบ แต่เราขายการแก้ปัญหา ดังนั้น ต้องช่วยปรับกระบวนการให้ดีด้วย เพื่อให้เขาใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์ได้เต็มที่ สุดท้ายแล้ว ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ People, Process และ Technology ต้องไปด้วยกัน” ข้าวตูสรุปหลักคิดสำคัญของบริษัท
ด้วยแนวคิดที่คำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างครอบคลุม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาจึงน่าชื่นใจอย่างยิ่ง
“มีพยาบาลแผนกผู้ป่วยนอกมาบอกว่าหลังจากใช้งานระบบเรามาหนึ่งปี จากเดิมที่ยุ่งมากๆ จนหัวหมุน ต้องคอยจัดคิวคนไข้ ตอนนี้ทำงานสะดวก มีเวลาแนะนำคนไข้มากขึ้น พอมีหนึ่งวันที่โรงพยาบาลต้องปิดระบบชั่วคราว เขาบอกเลยว่าคิดถึงระบบของเรามาก” โต๊ะเล่าภาพความประทับใจ
“อีกเคสหนึ่งคือ ช่วงเก็บข้อมูล เราเคยไปสัมภาษณ์ลูกที่พาพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งมาตรวจที่โรงพยาบาล เขาบอกว่าถ้ามีระบบอย่างที่เราเล่าให้ฟัง ตอนนี้คงได้พาพ่อไปกินข้าวเดินเล่น แทนการนั่งรอคิวด้วยความกังวลอยู่แบบนี้ หลังจากที่เราติดตั้งระบบเรียบร้อย เราเจอเขาอีกครั้งหนึ่งและเขาขอบคุณเรา บอกว่ามันมีความหมายสำหรับเขามาก และยังช่วยให้คำแนะนำต่อด้วย
“เป็นความสัมพันธ์ที่ดีที่เกิดขึ้นทั้งกับโรงพยาบาลและผู้รับบริการ นี่คือความสุขของการทำงานนี้” ข้าวตูยิ้ม
04
ช่วยรับมือโควิด-19
ความสำคัญของแพลตฟอร์มแบบ H LAB ยิ่งเผยให้เห็นเด่นชัด เมื่อเกิดวิกฤตอย่างโควิด-19 ที่แพร่ระบาดจนเกินกำลังของห้องฉุกเฉินภายในโรงพยาบาล
แม้ไม่ใช่วัคซีนคุณภาพดีที่พึงมี แต่ระบบแบบ CORTEX พอจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยบริหารสถานการณ์ให้ไม่บานปลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่
“จุดที่เราเข้าไปช่วยได้คือระบบสนับสนุน เช่น ในห้องฉุกเฉินที่ต้องขยายกำลังขึ้นสามถึงสี่เท่า แพทย์แทบไม่ได้พักกินข้าว คอลงานกับเราแบบใส่ชุด PPE อยู่ ทีมคุยกันเลยว่าเรามีกำลังคนเท่าไร ให้เหยียบคันเร่งสุดแรง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้บุคลากรใช้สื่อสารหากัน และมอนิเตอร์อาการของคนไข้ได้ง่ายขึ้น มีหนึ่งโรงพยาบาลที่เรากำลังจะเข้าไปติดตั้งซอฟต์แวร์ตามข้อกำหนดเดิม แต่พอสถานการณ์เปลี่ยน เรารีบปรับซอฟต์แวร์ให้รองรับการใช้งานที่มากขึ้นเลย เพราะตอนนี้ต้องช่วยกัน” โต๊ะและข้าวตูเล่าความเร่งด่วนของสถานการณ์
กระบวนการทำงานช่วงนี้ท้าทายขึ้น จากเดิมที่สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลและจำลองการใช้งานระบบก่อนใช้งานจริงที่โรงพยาบาล ตอนนี้ ทีมต้องทำงานผ่านทางออนไลน์ สร้าง Virtual Hospital ขึ้นมา เพื่อจำลองสถานการณ์และอธิบายให้คนเห็นภาพ แต่ข้าวตูย้ำว่าความลำบากนี้เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์กำลังเผชิญ
นอกจากจะคอยช่วยเหลือโรงพยาบาลที่เป็นลูกค้าอยู่แล้ว H LAB ยังได้ร่วมพัฒนาระบบการวางแผนทรัพยากร เช่น เตียง บุคลากร ให้เพียงพอกับผู้ป่วย โดยอาศัยโมเดลที่คาดการณ์ความต้องการล่วงหน้า แจกจ่ายให้โรงพยาบาลนำไปใช้งาน
รวมถึงให้คำปรึกษา สร้างโมเดลช่วยจำลองสถานการณ์ เมื่อมีหน่วยงานต้องการจัดตั้งจุดตรวจโควิด-19 จุดฉีดวัคซีนหรือโรงพยาบาลสนาม เพื่อจัดระบบการประเมิน คัดกรองอาการ ต่อคิวทางออนไลน์ และเข้ารับบริการ ด้วยความรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด

05
ทีมที่เติบโตไปพร้อมกัน
“เราเติบโตขึ้นในทุกปีพร้อมกับขนาดของบริษัท” ข้าวตูทบทวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นหลังจากเป็นผู้ประกอบการ
“เดิมเราเป็นวิศวกรที่ทำอะไรด้วยความอยาก คิดจะสร้างฟีเจอร์นู่นนี่ ไม่ค่อยคิดเลยว่าในตลาดเขาต้องการอะไร แทบไม่มีความเป็น Entrepreneur สักนิด ในช่วงแรกที่รายได้ไม่เยอะ เราแก้ปัญหาด้วยการให้เงินเดือนตัวเองน้อยๆ แต่พอคิดว่าถ้าอยากชวนคนเก่งๆ ที่ตั้งใจมาทำงานด้วยกัน เขาไม่ควรต้องมาลำบากแบบเรา ควรได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดี เราจึงคิดแผนธุรกิจจริงจังและโตขึ้นเรื่อยๆ
“พอทีมใหญ่ขึ้น มีคนหลากหลายวิชาชีพ อายุ คาแรกเตอร์ จากเดิมที่เราเป็น Introvert มาก ก็ต้องพยายามสื่อสารกับคนในทีมให้บ่อย ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ที่อาจดูอีกยาวไกลมากจนนึกภาพตามได้ยาก ให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน บางทีก็ลองไปฝึกเล่าให้แม่ฟัง ดูว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการหรือไม่ได้ตามติดเทคโนโลยีขนาดนั้นคิดเห็นอย่างไร”
การรับบทผู้นำมักเป็นเรื่องท้าทาย แต่ในขณะเดียวกัน หากเราเปิดใจรับฟังคนรอบตัว เราจะได้เรียนรู้สิ่งสำคัญมากขึ้น
“ความท้าทายหนึ่งของผมคืออายุที่น้อย” มิ่งเล่า เขาต้องรับบทบาทสำคัญของบริษัทตั้งแต่เรียนจบ
“ตอนแรกผมพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาคนเดียวด้วยความรู้ที่พอมี พอเริ่มรับคนที่ความเชี่ยวชาญแตกต่างกันเข้ามามากขึ้น ก็ต้องศึกษากระบวนการทำงานต่างๆ ให้ทำงานด้วยกันได้ บางคนอายุเยอะกว่า เก่งในด้านหนึ่งมากกว่าผม สิ่งที่เราต้องทำคือเคารพความคิดของคนอื่น คุยกันด้วยเหตุผล แบ่งงานให้คนมีพื้นที่ได้แสดงในสิ่งที่ถนัด และได้รับผิดชอบงานที่สำคัญและเติบโตจากตรงนั้น โดยมีเราคอยซัพพอร์ตอยู่”
“ส่วนผมต้องบริหารทีมที่มีความถนัดที่หลากหลาย” โต๊ะเสริม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สำเร็จต้องอาศัยทั้ง Developer, Designer ร่วมมือกันไปกับฝั่งธุรกิจและการตลาด ซึ่งแต่ละฝ่ายอาจมีวิธีมองปัญหาและแก้ไขต่างกัน
“แต่เราคุยกันเสมอว่า Product นี้ เราอยากทำเพื่อตอบโจทย์อะไร พอทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน เราจะพยายามหาโซลูชันมากกว่าโฟกัสว่าใครถูกหรือผิด มองในมุมของผู้ใช้งานจริงๆ ทำให้เราทำงานกันเป็นทีมได้อย่างลงตัว”

06
ความฝันระดับประเทศ
“เป้าหมายต่อไปของเราคือ การพัฒนาแพลตฟอร์มเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบ IT โรงพยาบาลที่สนับสนุน Ecosystem ของเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพด้านสุขภาพ (HealthTech) ให้เติบโตต่อไป” ข้าวตูเผยภาพฝันที่เธออยากพาบริษัทให้ไปถึง
หนึ่งในปัญหาใหญ่ของระบบสาธารณสุขประเทศไทยคือ ระบบข้อมูลของสถานพยาบาลแต่ละแห่งไม่สามารถเชื่อมต่อกัน เกิดจากการบันทึกข้อมูลลงบนกระดาษ หรือเก็บข้อมูลโดยไม่ได้ใช้มาตรฐานกลางเดียวกัน ต่อให้มีข้อมูลปริมาณมหาศาล แต่ก็เหมือนคุยคนละภาษา และระบบ IT ในโรงพยาบาลยังไม่ค่อยเปิดให้ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชันและระบบ Internet of Things (IoT) ยุคใหม่เข้ามาเชื่อมต่อเพื่อร่วมมือพัฒนาไปด้วยกัน
ในขณะที่บางประเทศ ภาครัฐลงทุนอย่างจริงจังและกำหนดมาตรฐานกลางของระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ข้อมูลเชื่อมต่อถึงกันแบบเรียลไทม์ภายใต้กรอบที่กำหนด แพทย์ไม่ต้องเสียเวลาตรวจสอบข้อมูลจากสถานพยาบาลเดิมที่ผู้ป่วยเคยไปมาก่อน ดำเนินการต่อได้แม้ผู้ป่วยหมดสติ
ข้อมูลเหล่านี้ยังมีส่วนช่วยในการคิดค้นนวัตกรรม พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้วิเคราะห์ข้อมูลอย่างชาญฉลาด แม่นยำ ปลอดภัย รวดเร็ว เหมือนที่ H LAB กำลังพัฒนาระบบคาดการณ์อาการไม่พึงประสงค์ เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน ของผู้ป่วยล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ
ที่สำคัญ ใช้ประกอบการวางแผนการดำเนินงานทางสาธารณสุขของทั้งประเทศได้อีกด้วย (ปัจจุบันเรามีแพลตฟอร์ม Health Link ที่เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพแล้ว แต่ถือว่ายังอยู่ในขั้นต้นของการใช้งาน)
H LAB ใฝ่ฝันที่จะเป็นส่วนหนี่งของการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนั้น
“เรามองถึงอนาคตของประเทศ เพราะเราไม่สามารถทำ Healthcare ให้ดีครบทุกด้านและโตคนเดียวอยู่แล้ว ระบบของเราจึงมีมาตรฐานข้อมูลที่ทำให้ทุกโรงพยาบาลที่ติดตั้งระบบนี้สามารถคุยกัน และเปิดให้ HealthTech อื่นๆ เข้ามาเชื่อมต่อเพื่อทำงานร่วมกันและต่อยอดไปได้ต่ออย่างยั่งยืน”
ช่วงนี้ สถานพยาบาลอาจกำวังวุ่นกับการรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่เมื่อคลี่คลายกลับสู่ปกติ การพัฒนาระบบการบริหารจัดการของสถานพยาบาลและระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ รองรับสำหรับอนาคต ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป
เรายังมีช่องว่างที่รอคนเข้ามาร่วมสำรวจและแก้ไขปัญหาอีกมาก โดยเฉพาะในตลาด B2B หากใครมีทักษะและพร้อมเผชิญความท้าทาย วงการนี้กำลังต้องการศักยภาพคุณอยู่
“ระหว่างทางคงเจออุปสรรคเยอะมาก เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ บุ๋นและบู๊ เรียนรู้อะไรใหม่ทุกวัน ถ้าใครเข้ามาทำแล้ว อย่าลืมเหตุผลในวันแรกว่าเราทำไปทำไม อยากแก้ปัญหาให้ใคร
“สุดท้ายแล้ว ทุกการตัดสินใจของเราเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไข้ นั่นคือเหตุผลที่เราและทีม H LAB ตั้งใจทำให้ดีที่สุดเสมอ”

Lessons Learned
- นอกจากโฟกัสผลิตภัณฑ์ ต้องเข้าใจผู้ใช้งานและผู้เกี่ยวข้องจริงๆ ว่าปัญหาคืออะไร เขาต้องการอะไร
- ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์และสื่อสารให้คนที่แตกต่างหลากหลายเข้าใจ ถ้าอยากสร้างทีมให้ดี ต้องให้โอกาสคนแสดงความสามารถและคอยสนับสนุนเขาอยู่ข้างๆ
- บางอย่างอาจต้องปรับตัวจากความเคยชินเดิม เช่น เมื่อก่อนต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในการตัดสินใจบางอย่างทางธุรกิจ มีเรื่องจังหวะเวลาด้วย แม้ข้อมูลไม่พอ แต่ถึงเวลาตัดสินใจแล้วก็ต้องเดินหน้าต่อ
- ไม่มีธุรกิจไหนเติบโตได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้ทั้งอุตสาหกรรมพัฒนาขึ้น