‘Green Tiger House’
เมื่อเห็นชื่อแล้วอย่าเพิ่งนึกกันไปไกลว่าเรากำลังจะพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับสวนเสือแต่อย่างใด เรากำลังจะพาไปทำความรู้จักกับโรงแรมแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บริเวณทางเหนือของคูเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตรงข้ามกับวัดโลกโมฬี ถ้าให้นึกออกกว่านั้นหน่อยก็ตรงข้ามกับสุกี้ช้างเผือก สาขาตลาดช้างเผือก
หลังจากนี้เราจะให้ ซิน-วารี กนกคุณ เจ้าของโรงแรม Green Tiger House ผู้บริหารทุกอย่างบนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และมีความสุขกับการเป็น Vegan 100% อีกทั้งยังนำตัวตนเหล่านั้นมาใส่เอาไว้ในโรงแรมที่ได้ชื่อว่า Plant-based Hotel ที่แรก ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ เล่าเรื่องราวให้ฟัง

ก่อนเข้าเนื้อหา เพื่อทำความเข้าใจว่า Vegetarian, Vegan และ Plant-based แตกต่างกันอย่างไร
หนึ่ง Vegeterian ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ใช้และกินผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาจากการฆ่าสัตว์ได้
สอง Vegan ไม่เบียดสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่กินเนื้อสัตว์ นม ไข่ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์
สาม Plant-based ไม่กินเนื้อสัตว์ นม ไข่ เน้นสุขภาพดี และยังใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์

สถานที่ที่แม้แต่เสือยังต้องกินผัก
เราเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐานที่หลายคนอยากรู้ว่า ทำไมโรงแรมแห่งนี้ชื่อว่า Green Tiger
“ชื่อนี้เป็นส่วนหนึ่งในคอนเซปต์ที่เราและสามีช่วยกันคิดให้ตรงตามกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นชาวต่างชาติ”
ซินตอบอย่างเรียบง่าย และความหมายของชื่อนั้นก็เรียบง่ายไม่แพ้กัน
Green หมายถึง การเป็นสถานที่ที่ใส่ใจ Green Environment
Tiger หมายถึง แม้แต่เสือ เมื่อมาอยู่ที่นี่ก็ต้องกินผัก พวกเขาใช้สัญลักษณ์เสือคาบข้าวบาร์เลย์
โรงแรมแห่งนี้เปิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2556 ซินบอกว่าเป็นเหมือนโชคชะตานำพา หลังจากมาเที่ยวเชียงใหม่กับสามีชาวสวิตเซอร์แลนด์ก็เกิดถูกใจจังหวัดนี้ขึ้นมา ทีแรกคิดแค่เพียงอยากย้ายมาอาศัย แต่ไป ๆ มา ๆ โรงแรมจำนวน 32 พร้อมเตียง Dormitory (เตียง 2 ชั้น) ก็กำเนิดขึ้นอย่างตั้งใจ ในตอนนี้เตียงเหล่านั้นถูกนำออกไป แล้วแทนที่ด้วย King Size Bed และ Single Bed เป็นที่เรียบร้อย
4 ปีแรก โรงแรมของซินมีสถานะเป็น Vegetarian ก่อน ในเวลาต่อมาเปลี่ยนเป็น Vegan มาจนถึงปัจจุบัน แล้วทำไมในเว็บไซต์โรงแรมถึงระบุว่าเป็น Plant-based Hotel ได้นะ
“จริง ๆ แล้ว Green Tiger เป็นโรงแรม Vegan 100% ที่เขียนว่า Plant-based Hotel เพราะเราไม่อยากให้แขกรู้สึกถึงความเคร่งคัดมากเกินไป แขกยังใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เขานำมาได้ตามปกติ แถมเราเป็นโรงแรมที่ว่าด้วยการให้บริการ เราอยากให้ทุกอย่างยังมีความสบาย ๆ ไม่ตึงจนเกินไป”


วิถีวีแกนของที่นี่ไม่ได้เจาะจงแค่อาหาร แต่รวมถึงไม่เบียดเบียนสัตว์และสิ่งแวดล้อมด้วย
ตั้งแต่การติดโซลาร์เซลล์สำหรับทำน้ำอุ่นภายในโรงแรม ไม่แจกสลิปเปอร์เนื่องจากเป็นของใช้แล้วทิ้ง แต่ก็ทดแทนด้วยชาและกาแฟที่แขกดื่มได้ตลอดเวลา พร้อมกับกระบอกน้ำที่แขกพกออกไปข้างนอกได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อขวดน้ำพลาสติก และใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมรอบข้างอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้โรงแรมกลายเป็นตึกที่อยู่ ๆ ก็โผล่มาท่ามกลางละแวกบ้านชุมชนตรงนั้น
“เราอยากให้คนแถวนั้นรู้สึกถึงความเจริญในแง่ของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว และการมาของโรงแรมก็ทำให้พื้นที่รกร้างกลายเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยขึ้นสำหรับทุกคน” ซินเล่าถึงการมีอยู่ของโรงแรม
นอกจากนี้ Geen Tiger ยังแยกขยะที่นำไปขายต่อได้ นำอาหารเหลือทิ้งหรือขยะไปทำปุ๋ยสำหรับใช้ในแปลงผักของตัวโรงแรมเอง ซึ่งผักเหล่านั้นจะถูกนำกลับมาใช้ในร้านอาหารอีกทีหนึ่ง
“น่าเสียดายที่แปลงผักของโรงแรมถูกน้ำท่วมใหญ่ครั้งก่อนกวาดเรียบเสียหายไปหมด”
ถ้าเทียบกันจากขนาดของโรงแรม ขยะของ Green Tiger มีปริมาณเท่ากับบ้านใหญ่ 1 – 2 หลังเท่านั้นเอง สาเหตุนี้มาจากตัวซินที่ตั้งใจและเชื่อว่า ถ้าแยกขยะอย่างถูกต้อง ต่อให้โรงแรมจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน ปริมาณขยะก็จะไม่กองเป็นภูเขาเท่ากับขนาดของโรงแรม
ซินค่อย ๆ ไล่เรียงให้เราฟังคร่าว ๆ ถึงพื้นที่ภายในโรงแรม

ชั้น 1 เป็นส่วนต้อนรับแขกและร้านอาหารใกล้สวนที่แขกเข้าไปนั่งเคียงธรรมชาติได้อย่างสงบสุข
ชั้น 2 เป็นต้นไปเป็นห้องพัก ซินอธิบายว่า ด้วยความที่พื้นที่ในตัวคูเมืองนั้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก เธอจึงต้องออกแบบและสร้างตึกให้เป็นไปตามรูปทรงของพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่รูปทรงสี่เหลี่ยมตามภาพจำของคนไทยสักเท่าไหร่ แม้แต่เธอเองก็ไม่อาจจำกัดความได้ว่าควรเรียกรูปทรงนี้ว่าอะไร


แต่ที่แน่ ๆ มันมีเสน่ห์เหลือหลายจากการมีซอกเล็กซอกน้อย และมุมต่าง ๆ ที่ทำให้ห้องพักของโรงแรมนั้นช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้แขกผู้เข้าพักได้ผ่านตัวตึก แม้จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ซินมองว่า นี่แหละคือการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า ไม่ต่างจากแนวคิดในการใช้ทรัพยากรก่อนหน้านี้สักเท่าไหร่
ถ้าถามถึงห้องที่ซินแนะนำเป็นพิเศษ เธออยากให้ทุกคนได้ลองใช้บริการห้อง Superior มีเพียงแค่ชั้น 3 และชั้น 4 เท่านั้น เพราะห้องนี้หันหน้าเข้าหาดอยสุเทพ และไม่โดนแสงยามเย็นแยงสายตา
ร้านอาหารเพื่อเป็นเกียรติแก่คนสองคน
การให้ซินเป็นผู้เล่าถึงที่มาที่ไปของร้านอาหาร Reform Kafé น่าจะเป็นการดีที่สุด
“สามีเราเป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ คุณพ่อของเขามีร้านขายอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก (อาหารที่ไม่มีเคมี ปลอดภัย ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ) เมื่อประมาณ 80 – 90 ปีที่แล้ว ชื่อร้าน REFORM
“เราคิดว่าการที่สามีของเราทานมังสวิรัติ หรือแม้แต่วิถีชีวิตของเขาที่ส่งต่อมาถึงเรา ทั้งหมดมาจากคุณพ่อและคุณแม่ที่ปลูกฝังเลี้ยงดูเขามา เราเลยอยากให้ร้านนี้เป็นเหมือนอนุสรณ์และความทรงจำที่ให้เกียรติคุณพ่อคุณแม่ของสามี และการใช้ชื่อนี้ก็ทำให้เรานึกถึงพวกท่านอยู่เสมอ” ซินเล่าอย่างตั้งใจ
แรกเริ่มร้านนี้มีความตั้งใจจะเสิร์ฟแค่อาหารเช้าสำหรับแขก คงเพราะความอร่อย แขกติดใจไม่ยอมไปกินที่อื่น จนซินบอกว่าเหมือนเป็นไฟลต์บังคับให้เธอต้องขายอาหารกลางวันและอาหารเย็น



ตัวร้านเป็นคาเฟ่ที่แขกมานั่งทานอาหารเช้าในร้านหรือนั่งในสวนข้าง ๆ ได้ตามต้องการ หรือมาจิบกาแฟออร์แกนิกจากอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้ ซินเสริมว่าเธอไม่ได้ชูว่าร้านอาหารแห่งนี้เป็นออร์แกนิกเสียทั้งหมด เพียงแต่พยายามใช้และหาซื้อวัตถุดิบที่เป็นออร์แกนิกเท่าที่จะหาได้ให้มากที่สุด
อาหารมีทั้งอาหารตะวันตกและอาหารไทย แต่ส่วนใหญ่เป็นแนวอิตาเลียนตามความชอบของซิน
“เราชอบอะไร เราก็ทำอันนั้นให้ลูกค้ากิน” ซินบอกพร้อมเสียงหัวเราะ

แน่นอนว่าเราอยากให้เธอแนะนำอาหารที่เปรียบเสมือน Signature Dish ของร้านสักจานสองจาน แต่กลับกลายเป็นว่าทำเอาเธอคิดหนักไม่น้อย เพราะเมนูของร้านนั้นมีความหลากหลายมาก
ทุกคนที่มาต้องมีเมนูโดนใจคนละ 1 เมนู และน้อยคนนักจะพูดว่า ไม่รู้จะกินอะไรดี
“ถ้าคนจีนจะชอบโจ๊ก ถ้าคนตะวันตกจะชอบเมนูไข่” ซินครุ่นคิดก่อนตอบว่า

“เราอยากให้ทุกคนได้ลองเบอร์เกอร์เห็ด เพราะเราก็เป็นสายเนื้อมาก่อน แต่พอมาทานอาหารวีแกนหรือทำอาหารมังสวิรัติให้สามีกิน จากที่เคยคิดว่ากินผักไม่มีทางอิ่มหรอก กลายเป็นว่าว้าวมาก และโคตรอร่อยเลย! หลักจากนั้นมาเราเลยรู้ว่าวีแกนไม่ได้มีแค่ผัก และแนวทางในการปรุงของก็มีไม่จำกัดเหมือนกับเนื้อสัตว์นั่นแหละ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะแสวงหาความอร่อยนั้นเจอหรือไม่มากกว่า”
คำขอบคุณจากหัวใจ
ในช่วงท้ายของการพูดคุย ซินบอกกับเราอย่างหนึ่งว่าจริง ๆ แล้วเธอไม่ได้จบการโรงแรมมา สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือเอาวิถีชีวิตของตัวเองมาแบ่งปัน ผ่านสิ่งที่ดีที่สุดที่โรงแรมนี้จะมอบให้ได้ เธอดูแลแขกด้วยใจ เสิร์ฟอาหารดีที่สุด วัตถุดิบดีที่สุด และทุกอย่างภายในโรงแรมต้องสะอาดที่สุด
ไม่อย่างนั้นเธอคงไม่พูดออกมาอย่างเต็มปากได้ว่าสิ่งที่เธอต้องการคืออยากให้ทุกคนตระหนักถึงสุขภาพของตนเอง ผ่านการลองทานอาหาร Vegan หรือ Plant-based เพราะไม่ได้ดีแค่สุขภาพหรือตัวเราอย่างเดียว แต่ยังดีต่อชีวิตสัตว์และสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกเบียดเบียน สุดท้ายก็จะวนกลับมาที่ตัวเราอยู่ดี

เพราะเมื่อสิ่งแวดล้อมดี มนุษย์ก็ย่อมมีการเป็นอยู่ที่ดีเช่นกัน
ซินอยากขอบคุณแขกทุกท่านที่ยอมให้เธอสื่อสารเรื่องนี้ออกไปผ่านการสนับสนุนของพวกเขา
“เราต้อนรับแขกและขอบคุณแขกที่เลือกเราและสนับสนุนเรา เพราะเขาต้องรู้ก่อนอยู่แล้วว่า โรงแรมเราเป็นวีแกน นั่นจึงทำให้เราสุจริตกับแขกในทุก ๆ ด้าน ไม่โฆษณาเกินจริงไปจากที่ตัวเราเป็น ดูแลพวกเขาให้เหมือนญาติมิตรคนหนึ่ง ถ้ามีคนที่ไม่พอใจ เราก็ยินดีน้อมรับเพื่อมาปรับปรุง”
ซินมองว่าแม้ในช่วงเริ่มต้นของการเป็นโรงแรม Vegeterian 100% ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ขึ้นชื่อว่าปราบเซียนสำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นธุรกิจ แต่มาถึงวันนี้ที่ประสบความสำเร็จ เธอถือว่านี่คือธุรกิจที่ทำแล้วมีความสุข และถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่เธอมีสิทธิ์เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองนั้นมีความสุข
“ถ้าทำโดยหวังแค่เงิน ตอนนี้เราคงฟุ้งซ่านและตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ตลอด เหมือนบำบัดตัวเราเองด้วยสิ่งเหล่านี้ ความสุขจากการทำงานตรงนี้เหลือล้นจนบางทีมันเหมือนเราเป็นผู้รับเสียเอง”

Things to do
at Green Tiger House

01
ทานอาหารเช้าแพลนต์เบส ที่ Reform Kafé

02
ไปสัมผัสความน่ารัก วิถีชีวิตอันสงบสุข และความงามของวัฒนธรรมเชียงใหม่

03
ปรับวิถีชีวิตให้สุขภาพดีและรับแรงบันดาลใจในการดูแลสุขภาพจากการกินอาหารวีแกน