พ.ศ. 2507

หลังจากใช้เวลาก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี เขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างกั้นขวางลำน้ำปิงเพื่อสร้างไฟฟ้าจากพลังน้ำก็เสร็จสิ้น ตั้งแต่นั้นเขื่อนแห่งนี้ก็สร้างพลังงานให้ตามวัตถุประสงค์ คนจำนวนมากได้รับผลประโยชน์ วิถีชีวิตของทั้งคนและสัตว์จำนวนมากเปลี่ยนแปลง ทั้งชีวิตที่อยู่หน้าและหลังเขื่อน

ลำน้ำหลังเขื่อนเปลี่ยนสภาพเป็นแอ่งน้ำกว้าง แหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหรือ ‘บ้าน’ พวกมันส่วนหนึ่งจมอยู่ใต้น้ำ 

หลายชีวิตต้องปรับตัว ชีวิตจำนวนไม่น้อยจบสิ้น หลายชีวิตกำลังต่อสู้ดิ้นรนกับปัญหาที่ต้องเผชิญ
ท่ามกลางผลประโยชน์ที่คนได้รับ ดูเหมือนว่าเราจะไม่ได้นึกถึงสิ่งที่เหล่าสัตว์ป่า ‘เสียสละ’ สักเท่าใด

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

โบลิ นกน้อยภูเขา ผู้ชายผิวคล้ำขับเรือหางยาวพาเราแล่นออกจากหน่วยพิทักษ์ป่าในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าแม่ตื่นไปตามผืนน้ำที่เคยเป็นลำน้ำแม่ตื่น แม้ว่าวันนี้จะอยู่ในช่วงฤดูแล้ง แต่สภาพลำน้ำก็เป็นแอ่งน้ำกว้างขนาบด้วยผาสูงชัน

โบลิในวัย 18 ปี อยู่ในทีมที่ขึ้นดอยม่อนจองเพื่อช่วยกู้ร่างไร้ชีวิตของ คำนึง ณ สงขลา หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่ามูเซอ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย

ครั้งนั้น สืบ นาคะเสถียร นำทีมขึ้นดอยม่อนจองเพื่อสำรวจกวางผา ซึ่งเป็นสัตว์อันมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ การสำรวจพบอุปสรรค มีไฟป่าเกิดขึ้นและโหมไหม้อย่างรวดเร็ว ขณะวิ่งหลบหนีไฟ คุณคำนึง พลัดตกลงไปใต้หน้าผาชัน 

การกู้ร่างเต็มไปด้วยความยากลำบาก ใช้เวลานาน โบลิจำช่วงเวลานั้นได้ดี 

การสำรวจเกิดโศกนาฏกรรม แต่ก็ทำให้ พี่สืบ พบว่าบริเวณใต้สันดอยม่อนจองเป็นที่อยู่สำคัญของกวางผา และเข้าใจในปัญหาที่พวกมันกำลังเผชิญ

ต่อมา เราเริ่มรู้ว่ามีอีกหลายพื้นที่มีกวางผาอาศัยอยู่ และรู้ด้วยว่าพวกมันเผชิญปัญหาเดียวกัน คือแหล่งอาศัยล้อมรอบไปด้วยชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ต่างจากติดอยู่บนเกาะแคบ ๆ

เมื่อยอมรับว่าปัญหาที่สัตว์ป่ากำลังต่อสู้ดิ้นรนอยู่นั้นเกิดขึ้นจากคน การเข้า ‘แทรกแซง’ เพื่อช่วยเหลือพวกมันจึงจำเป็น

4 ปีที่แล้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว, สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย เริ่มต้นแก้ไขปัญหาการผสมแบบเลือดชิด โดยนำกวางผา 6 ตัวจากพื้นที่อมก๋อยไปปล่อยที่ดอยหลวงเชียงดาว ทุกตัวผ่านการตรวจเลือดและตรวจร่างกายเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย หลังจากปล่อยแล้วก็ติดตามอย่างใกล้ชิด

ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย นอกจากจะมีลูกกวางผาจำนวนมากเกิดและเติบโตที่นี่ ยังมีกวางผาจากหลายพื้นที่ถูกนำมาที่นี่

จากการตรวจวิเคราะห์ DNA ในเลือด นักวิจัยพบว่ากวางผาที่อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามี ‘เลือดดี’ ที่สุด เลือดดี ในความหมายซึ่งค่อนข้างห่างไกลกับปัญหาเลือดชิด

โบลิพาเรามาหยุดตรงช่องแคบซึ่งกว้างราว 200 เมตร สองฝากฝั่งคือหน้าผาสูงชัน

“ตรงนี้แหละที่ตะแกรลงมาจากดอยและว่ายน้ำข้ามไปมาในช่วงหน้าแล้ง” เขาดับเครื่องยนต์ เรือ โยกไปมาตามแรงคลื่น

“ตะแกรมันปรับตัวได้ ไต่หน้าผาเก่ง อยู่ในป่าได้ ว่ายน้ำเป็น ช่วงแล้ง ๆ พวกมันรู้ว่าต้องไปที่ไหน”

โบลิเรียกกวางผาว่า ‘ตะแกร’ ต่างจากเพื่อนชาวมูเซอดำที่เรียกว่า ‘อาชิ’ ส่วนเพื่อนชาวม้ง บ้านขุนกลางดอยอินทนนท์เรียกว่า ‘ซาย’

แต่ทุกชื่อมีความหมายใกล้เคียง คือม้าของเทวดา พาหนะของพระเจ้า เพราะทักษะในการเคลื่อนที่อย่างคล่องแคล่วไปตามหน้าผาชัน ๆ

กระนั้นก็เถอะ ดูเหมือนว่าในวันที่ต้องติดอยู่บนเกาะแคบ ๆ ทักษะรวมทั้งร่างกายที่ได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสมกระทั่งได้รับสมญาว่า ‘ม้าเทวดา’ จะไม่ได้ช่วยให้พวกมันมีวันพรุ่งนี้อันสดใสนัก 

ผมเงยหน้ามองหน้าผาชันและก้มลงมองผืนน้ำ เพิ่มความนับถือและทึ่งในความสามารถของกวางผา

นี่คงเป็นเส้นทางเดิมที่พวกมันใช้ข้ามลำน้ำแม่ตื่นมาเนิ่นนาน ก่อนพื้นที่จะเปลี่ยนเป็นแอ่งน้ำกว้าง พวกมันคล้ายจะอยู่ในที่มั่นสุดท้าย และจำเป็นต้องปรับตัว

บริเวณนี้ใน พ.ศ. 2521 เป็นพื้นที่ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น แต่ด้วยความกว้างใหญ่ของพื้นที่และเพื่อให้ง่ายกับการบริหารจัดการ ใน พ.ศ. 2526 พื้นที่ส่วนหนึ่งจึงแยกออกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย 

ทั้ง 2 พื้นที่คือ ‘บ้าน’ อันเป็นที่มั่นสุดท้ายของกวางผา

สัตว์ป่ากำลังเผชิญกับปัญหาใหม่ ๆ เป็นปัญหาอันเกิดขึ้นเพราะความเจริญของโลกและการกระทำของเรา ซึ่งไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเหล่าสัตว์ป่าเมื่อเราเร่งพัฒนา 

การเข้าแทรกแซงอย่างเข้าใจจึงจำเป็น

ได้รับรู้ว่ากวางผาที่นี่ ‘เลือดดี’ กว่าที่อื่นแล้ว ผมนับถือพวกมันมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะติดอยู่ในที่มั่นสุดท้าย แต่ดูเหมือนพวกมันจะไม่ยอมจำนนและไร้ซึ่งความหวัง ตะแกรที่นี่มีโอกาสย้ายถิ่นจากเกาะหนึ่งไปอีกเกาะโดยการว่ายน้ำ พวกมันเรียนรู้ที่จะปรับตัว ประชากรกวางผาที่นี่จึงเหมาะกับการไปทำหน้าที่ช่วยแก้ไขปัญหาเลือดชิดให้กับเพื่อนในเกาะอื่น ๆ 

ไม่ผิดนักหรอกหากจะพูดว่าเราต่างก็อาศัยอยู่ในที่มั่นสุดท้าย ตราบใดที่ยังไม่มีโลกสำรองที่จะไปอาศัยอยู่ การกระทำของเราจึงมีผลกระทบกับสัตว์ป่า

หากมีความเข้าใจว่าเรากับเหล่าสัตว์ป่าไม่แตกต่าง เป็นชีวิตซึ่งถึงที่สุดย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะพบกับชะตากรรมเดียวกัน บางทีการ ‘พัฒนา’ ที่ควบคู่ไปกับการรับรู้ว่าจะมีผลกระทบกับชีวิตมากมายอาจสำคัญและจำเป็น

แสงแดดยามบ่ายแผดจ้า สายลมช่วยบรรเทาความร้อนอบอ้าว เราขึ้นฝั่ง มีรอยตีนและขี้กวางผาอยู่ตามชะง่อนหิน 

เรื่องราวของตะแกรที่นี่แสดงให้เห็นว่าพวกมันไม่ไร้ซึ่งความหวัง ไม่ยอมจำนน และบอกให้รู้ด้วยว่านี่ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก โดยเฉพาะหากต้องเผชิญอยู่กับปัญหาเหล่านี้เพียงลำพัง

โบลิติดเครื่อง หันหัวเรือพาเรากลับหน่วยพิทักษ์ป่า 

ผมเงยหน้ามองหน้าผาชันที่อาศัยของตะแกร ที่นี่เป็นบ้าน เป็นที่มั่นสุดท้ายของพวกมัน

ผมใช้เวลานานหลายปีกับการเฝ้าดูกวางผา พวกมันสอนบทเรียนต่าง ๆ ให้ผม แต่กวางผาที่นี่สอนผมอีกบทเรียนหนึ่ง

นอกจากต้องการบ้าน สิ่งสำคัญของชีวิตอีกอย่าง คือความหวัง

มีความหวัง นั่นย่อมหมายถึงยังมีลมหายใจ

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน