เขาใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้คลึงติ่งหูที่บวมเป่ง แล้วดึงมันจนตึง จากนั้นใช้อีกมือหนึ่งสอดก้านต่างหูเข้าไปในรู ความเจ็บร้อนดั่งไฟแผดไปทั่วร่างของฉัน จนน้ำตาเอ่อขึ้นมาคลอตา

เขาไม่ได้ละมือออก นิ้วมือของเขาลูบไปที่คอและคางของฉัน เขาไล้ปลายนิ้วขึ้นไปที่แก้ม แล้วใช้นิ้วโป้งปาดน้ำตาที่หยดลงมา นิ้วนั้นลดลงมาที่ริมฝีปากล่าง ฉันแลบลิ้นเลียและรับรู้รสชาติความเค็มของมัน

(ถอดความใหม่ จากหนังสือ Girl with a Pearl Earring โดย Tracy Chevalier หน้า 227)

หน้าปกหนังสือ Girl with a Pearl Earring ทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษาไทย

ไม่คิดก็ต้องคิดว่านี่เป็นบทอัศจรรย์ระหว่างชายและหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งพอไปปรากฏอยู่ในนวนิยายเรื่องดังอย่าง Girl with a Pearl Earring หรือฉบับแปลไทยคือ หญิงสาวกับต่างหูมุก (ที่ไม่ใช่ใครที่ไหน ดิฉันเองนี่แหละที่แปลเป็นไทยเมื่อ 20 กว่าปีก่อน) ก็ย่อมหมายถึงเจ้านายที่เป็นช่างเขียนภาพนาม โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer) และสาวใช้ชื่อ ครีต (Griet) ซึ่ง เทรซี เชวาเลียร์ (Tracy Chevalier) เป็นผู้สร้างขึ้นมา

เรื่องราวในหนังสือซึ่งเป็นการเอาภาพเขียนหลายสิบภาพของเฟอร์เมร์มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันนั้น เกิดจากจินตนาการและการสืบค้นของผู้เขียนล้วน ๆ เพราะคุณเฟอร์เมร์ นอกจากตอนมีชีวิตอยู่จะไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังนอกเมืองเดลฟต์ (Delft) ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ เงียบ ๆ ในเนเธอร์แลนด์แล้ว ตัวแกเองก็ไม่ได้เขียนบันทึก จดหมาย หรือมีใครเล่าถึงชีวิตส่วนตัวไว้เลย เพราะฉะนั้น แม้แต่คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเฟอร์เมร์ ยังใช้คำว่า ‘สันนิษฐานว่า’ ควบคู่ไปกับคำอธิบายอยู่เสมอ

สิ่งที่เราพอจะรู้คร่าว ๆ จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของคนอื่น ๆ คือเฟอร์เมร์นั้นเป็น 1 ใน 3 ศิลปินคนสำคัญของยุค Dutch Golden Age ที่ประกอบไปด้วยอีก 2 คนคือ Frans Hals แห่ง Haarlem และ Rembrandt แห่ง Amsterdam

The Night Watch โดย Rembrandt 

ภาพของ Frans Hals

ลักษณะเด่นของภาพเขียนในยุคทองของดัตช์ (ราวปี 1600 หรือ 400 กว่าปีก่อน) คือความเหมือนจริง แสงเงา ความขึงขัง สงบงาม และการแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ในความเงียบของภาพ

เฟอร์เมร์ถือว่าเป็นคนที่ทำงานช้าและผลิตงานออกมาน้อยมากเมื่อเทียบกับศิลปินคนอื่น คือเริ่มวาดรูปประมาณอายุ 20 กว่า ๆ ตายตอนอายุ 43 มีภาพเขียนที่ยังหลงเหลืออยู่ทั้งหมดเพียง 36 ภาพ แปลว่าวาดปีละ 2 – 3 ภาพเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ผลิตเยอะมากคือลูก เพราะมีด้วยกันถึง 15 คน! (แต่ตายไป 4 ตั้งแต่แรกเกิด) ในบันทึกต่าง ๆ พบว่าเฟอร์เมร์ต้องกู้หนี้ยืมสินมาตลอดชีวิต เมื่อตัวเองตายไป ภรรยาที่ชื่อแคธารีนา ต้องประกาศล้มละลายและเอาภาพเขียนของเฟอร์เมร์ออกมาขายทอดตลาดที่อัมสเตอร์ดัมจนหมดสิ้น

เป็นอันจบยุคทองของวงการภาพเขียนดัตช์ แล้วชื่อของเฟอร์เมร์ก็ค่อย ๆ หายไปจากวงการศิลปะอยู่ร่วม 200 ปี

View of Delft

วาร์ปมาที่ฝรั่งเศสในอีก 200 ปีถัดมา ยุคที่ French Impressionism กำลังแบ่งบาน มีนักเขียนและนักวิจารณ์นาม Thoré-Bürger เดินทางไปเห็นภาพเขียนชื่อ ‘View of Delft’ ที่จัดแสดงถาวรอยู่ที่เมืองเฮก (The Hague) หรือเดนฮ้าก (Den Haag) 

ธอเร เบอร์เกอร์ ไม่เคยรู้จักเฟอร์เมร์มาก่อน แต่ด้วยความประทับใจขั้นสุดในภาพเขียนนั้น เขาเลยเริ่มต้นค้นคว้าหาข้อมูล แล้วก็พบว่าไม่มีอะไรเหลือให้พบมากนัก (ฮา) ที่หนักกว่าคือคุณเฟอร์เมร์เนี่ย แกใช้หลายชื่อ ตั้งแต่ Jan Vermeer, Jacob van der Meer, Jan Van der Meer แล้วยังเซ็นชื่อในภาพเขียนไว้หลายแบบอีกด้วย จะทำให้งงไปไหนเนี่ย

ลายเซ็นสารพัดแบบของเฟอร์เมร์

นั่นเลยทำให้ไม่รู้ว่างานไหนเป็นของเฟอร์เมร์บ้าง เดชบุญ คุณธอเร เบอร์เกอร์ แกรักจริง เลยออกตามหาไปทั่วยุโรป เริ่มทำแค็ตตาล็อกรวมผลงานและเขียนหนังสือเรื่องเฟอร์เมร์ออกมา คนเลยเริ่มสนใจ งานที่ไปแอบเงียบอยู่ตามที่ต่าง ๆ เริ่มปรากฏตัว บางชิ้นคนเคยให้เครดิตว่าเป็นของศิลปินดัตช์คนอื่นอย่าง Rembrandt ด้วยซ้ำเพื่อให้มีราคา เพราะจะบอกว่าเป็นงานของเฟอร์เมร์ คนก็จะเฟอร์เมร์ไหนไม่รู้จัก ว่ากันว่าคุณธอเร เบอร์เกอร์ นี่เองที่เป็นคนค้นพบงานของเฟอร์เมร์ถึง 2 ใน 3 และทำให้โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ กลายเป็นศิลปินคนสำคัญของโลกขึ้นมา

Woman in Blue Reading a Letter

ทำไมคนถึงสนใจและรักงานของเฟอร์เมร์…

ตอบง่าย ๆ คือมันสวย

ตอบยาก ๆ ขึ้นมาอีกนิด คือมันมีมนต์ขลัง มีความน่าค้นหา ทั้งที่เป็นภาพของเหตุการณ์ธรรมดา ๆ บ้าน ๆ แต่ภาพเหล่านั้นเหมือนจะหยุดเวลาและทำให้โมงยามนั้นดำเนินต่อไปอีกชั่วกาลนาน

Woman Holding a Balance

หัวใจหลักของงานเฟอร์เมร์มี 2 – 3 เรื่องด้วยกัน หนึ่ง คือแทบทั้งหมดเป็นภาพของผู้หญิง สอง คืออยู่ในมุมเล็ก ๆ มุมหนึ่งของห้อง และสาม คือมีแสงเข้ามาจากด้านซ้าย บางครั้งเห็นหน้าต่าง บางครั้งก็ไม่เห็น แต่ละคนล้วนดูเหมือนดื่มด่ำจมดิ่งอยู่กับกิจกรรมตรงหน้า จนแทบจะรู้สึกว่าเรากำลังรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของพวกเธออย่างนั้น

Girl Reading a Letter at an Open Window

การสแกนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อจะเข้าใจการทำงานของเฟอร์เมร์ ทำให้เราได้รู้ว่าเฟอร์เมร์นั้น นอกจากจะค่อย ๆ ลงสีทีละชั้น รอให้แห้งก่อนเติมสีชั้นใหม่ไปเรื่อย ๆ จนเสร็จแล้ว บางทียังกลับมาเติมโน่น แก้นี่ เพื่อให้บรรลุผลอย่างที่ต้องการอีกด้วย (มิน่าวาดได้น้อยเกิ๊น) อย่างในรูปนี้ แรกเริ่มเดิมที ทางด้านขวามีเก้าอี้ แต่เฟอร์เมร์คงอยากสร้างความเป็นส่วนตัวที่แยกหญิงสาวในรูปออกจากผู้เฝ้ามองอย่างเรา จึงวาดผ้าม่านสีเขียวทับลงไป เพราะดูดี ๆ แล้วราวเหล็กกับผ้าม่านไม่น่ามีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ในเหตุการณ์จริง แล้วถ้าสังเกตการทิ้งตัวของผ้าม่าน จะเห็นว่าเหมือนมีมือคนเพิ่งมาดึงให้มันปิดเข้ามาในภาพแล้วเดินออกไปด้วยซ้ำ

ไม่รู้รู้สึกเหมือนอุ้มไหมนะคะว่ารูปของเฟอร์เมร์นั้นอยู่ใน Present Continuous Tense คือทั้งที่นิ่งสงบอยู่ในปัจจุบันขณะตรงหน้า แต่เรากลับรู้สึกถึงความเคลื่อนไหว หรือกิจกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นและกำลังดำเนินอยู่ในภาพ ดูอีกตัวอย่างจากงานที่แทบจะเป็นโลโก้ของเฟอร์เมร์ อย่างภาพ The Milkmaid นี่ก็ได้ค่ะ

The Milkmaid

ความนิ่งสงบบนใบหน้าของสาวใช้กับความเคลื่อนไหวของสายนมที่ถูกเทลงในหม้อ แสงที่ส่องผ่านหน้าต่างตกกระทบสร้างความสว่างบนผนังที่กลับขับให้เงาบนใบหน้าและเสื้อผ้าของหญิงนั้นเด่นชัดขึ้นมา จากการสแกนพบว่าจริง ๆ แล้วเฟอร์เมร์วาดเหยือกน้ำแขวนอยู่บนผนัง แต่ตัดสินใจระบายทับลงไปให้เป็นผนังโล่ง ๆ ซึ่งขับสาวใช้ให้ยิ่งกระทบสายตามากขึ้น แต่ก็ไม่วายใส่รายละเอียดเล็ก ๆ อย่างตะปู 2 ตัวและรูเล็ก ๆ บนผนังไว้อย่างมีจังหวะจะโคน คือตัวภาพกับความว่างในงานของเฟอร์เมร์นั้นทำงานสอดคล้องเกื้อหนุนกันอย่างขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้

Girl with a Red Hat

เรื่องหนึ่งที่จะต้องพูดถึงเพราะน่าสนใจมาก คือเรื่องสีค่ะ เฟอร์เมร์นั้นมีความโดดเด่นมากเรื่องการใช้คู่สีตรงกันข้าม อย่างเหลือง-ฟ้า แดง-น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีที่สดใส เตะตา และค่อนข้างต่างจากผลงานของศิลปินในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ถ้าเอาผลงานทั้งหมดของเฟอร์เมร์มาวางรวมกัน เราก็จะยังเห็นว่ามีสีที่ใช้ทั้งหมดไม่มากนักอยู่ดี หลัก ๆ ที่เห็นคือเหลือง ฟ้า แดง น้ำตาล ขาว ดำ

เหตุผลคืออะไร ก็เพราะในสมัยก่อน สีวาดรูปไม่ใช่สิ่งที่หากันได้ง่าย ๆ หรือมีราคาถูก และวิธีการนำมาใช้ก็ยุ่งยากแสนเข็ญ ต้องเป็นคนที่ ‘ทำเป็น’ เท่านั้น จึงจะเตรียมสีให้ศิลปินวาดได้อย่างที่ต้องการ

ศิลปินดัตช์ที่ได้ชื่อว่าใช้สีหลากหลายมากที่สุดในยุคนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือคุณ Rembrandt ของเรานี่เอง เพราะมีการค้นพบผงสี (Pigment) ในภาพเขียนของแกมากกว่า 100 สี ในขณะที่งานทั้งหมดของเฟอร์เมร์มีผงสีที่ใช้เพียงประมาณ 20 สีเท่านั้นเอง

ตัวอย่างผงสีที่เฟอร์เมร์ใช้

เราอาจคุ้นกับสีน้ำมันที่ใส่อยู่ในหลอดโลหะแบบที่เห็นตามร้านเครื่องเขียนทั่วไปใช่ไหมคะ แต่ว่าเมื่อ 400 ปีก่อน เวลาศิลปินจะวาดรูป ต้องไปซื้อวัตถุดิบจากร้านขายยาหรือร้านขายของ แล้วเอากลับมาล้าง บด แล้วผสมกับน้ำมันเป็นเวลานานกว่าจะใช้ได้ แต่ละสีก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน บางสีผสมกันไม่ได้ ต้องลงสีหนึ่ง รอให้แห้ง แล้วถึงเอาอีกสีมาระบายทับ

เท่ากับว่าการวาดรูปรูปหนึ่งต้องวางแผนว่าจะลงสีส่วนไหนก่อนหลัง วันไหนจะทำงานตรงไหน แล้วผสมสีใช้ให้หมดเป็นวัน ๆ ไป แต่ถ้าใช้ไม่หมดจริง ๆ สมัยนั้นเขาเอาสีใส่ในกระเพาะปัสสาวะของหมูแล้วเจาะรู ค่อย ๆ บีบออกมาใช้ทีละนิด หรือเอาไปแช่น้ำทั้งจานสีเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเก็บได้นานอยู่ดี บางสีผสมแล้วต้องรีบระบายให้หมด เพราะไม่อย่างนั้นจะทำปฏิกิริยากับอากาศจนแห้งอย่างรวดเร็ว

สีที่ถือว่าแพงที่สุดในสมัยนั้น (แพงกว่าทองคำอีก!) คือ Natural Ultramarine หรือสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งเป็นสีที่เฟอร์เมร์ใช้เยอะและเปลืองกว่าคนอื่นมาก คือมีสีนี้ปรากฏในเกือบทุกรูป เห็นชัดมากน้อยแตกต่างกันไป

Young Woman with a Water Pitcher

ดูอย่างรูปข้างบนนี้ หรือรูปผู้หญิงใส่เสื้อคลุมสีฟ้ายืนอ่านจดหมายข้างหน้าต่างก่อนหน้านู้นก็ได้ค่ะ จะเห็นว่ามีสีน้ำเงินแทรกอยู่ในผ้าบนเก้าอี้ บนกระจกหน้าต่าง ในผ้าคลุมผมและคลุมไหล่ ในพรมปูโต๊ะ ไปจนกระทั่งเงาบนเหยือกน้ำหรือแม้แต่บนผนัง

สีน้ำเงินที่ได้รับความนิยมและมีราคาถูกกว่าในสมัยนั้น คือ Azurite ซึ่งเป็นแร่ทองแดงเนื้ออ่อนสีน้ำเงินเข้มที่เอามาบดเป็นผง ถ้าเห็นรูปเขียนสีน้ำเงินจากยุคกลางก็พอจะอนุมานได้ว่าเป็นสีน้ำเงิน Azurite นี้แหละค่ะ ในขณะที่สีน้ำเงินเข้มอย่าง Natural Ultramarine ได้มาจากการเอาหินมีค่าที่ชื่อว่า Lapis Lazuli มาบดเป็นผง แล้วผสมกับน้ำมัน ซึ่งต้องทำด้วยความเชี่ยวชาญมาก ๆ เท่านั้น แล้วต้องใช้อย่างประหยัดด้วยเพราะมันแพง แต่ผลที่ได้ก็ต่างไปจากสีน้ำเงินอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด กลับไปดูตรงผ้าพันเอวในรูป The Milkmaid ก็ได้ค่ะ เดี๋ยวนี้ไม่มีสีน้ำเงิน Natural Ultramarine แบบนี้แล้วด้วยนะคะ เพราะทุกคนใช้สี Ultramarine Blue แบบสังเคราะห์กันหมดแล้ว ใครอยากเห็นวิธีการสกัดสีแบบโบราณที่แสนจะยุ่งยากมาก ดูจากวิดีโอนี้ก็ได้ค่ะ

เลยเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้งานของเฟอร์เมร์โดดเด่น แตกต่างออกมาจากคนอื่น เรื่องสีนี่อุ้มจะขอพูดถึงอีกครั้งในช่วงหน้านะคะ

ตอนนี้ขอมาพูดถึงอีกเรื่อง คือเรื่องขนาดของภาพค่ะ เคยใช่ไหมคะเห็นภาพเขียนขนาดใหญ่ ๆ แล้วรู้สึกมันยิ่งใหญ่ ทรงพลัง มีแรงกระทบต่อคนดู รู้สึกเราตัวเล็กจัง แต่งานเฟอร์เมร์นี่ตรงกันข้ามเลยค่ะ อุ้มจำได้ว่าไปเห็นของจริงครั้งแรกใน The Met ที่นิวยอร์ก เป็นรูปนี้

Study of a Young Woman

ขนาดคือ 16 x 17.5 นิ้วเท่านั้นเอง แขวนอยู่ร่วมกับงานคนอื่นแล้วเล็กกว่าใครเพื่อนเลย แต่อุ้มเหมือนถูกดูดให้เดินเข้าไปดูใกล้ ๆ เลยค่ะ คือมันมีความนวล ความถ่อมตัว ความไม่ชัดเจน แต่ก็สวยอย่างประหลาด คือตกลงน้องคนนี้เขาเป็นใคร ทำไมแต่งตัวโพกผมแบบนี้ แล้วยิ้มนี่คือจะบอกอะไรกันแน่ 

แต่ที่แน่ ๆ นี่คืองานที่เรียกว่า Tronie ซึ่งได้รับความนิยมมากในช่วง Dutch Golden Age ค่ะ คำว่า ‘Tronie’ นั้น แปลตามตัวหมายถึง ใบหน้าหรือสีหน้า แต่พอมาเป็นชื่อเรียกลักษณะงาน ก็หมายถึงภาพเขียนระยะใกล้ของบุคคล ซึ่งไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง แต่ศิลปินจินตนาการขึ้นเพื่อเป็นการทดลองหรือฝึกปรือฝีมือ แล้วก็เป็นที่ต้องการของนักสะสม คือขายดีด้วย ภาพที่ดัง ๆ ในยุคนั้นก็อย่างเช่น ภาพเขียนชายใส่หมวกขนนกของ Rembrandt และเด็กชายหัวเราะของ Hals

ภาพ Tronie ของ Rembrandt และ Frans Hals

แล้วทีนี้ก็มาถึง Tronie ที่ดังที่สุดในโลกภาพนี้ค่ะ

Girl with a Pearl Earring

สารภาพว่าก่อนที่จะได้แปลหนังสือ หญิงสาวกับต่างหูมุก ให้สำนักพิมพ์ IMAGE เมื่อ 20 กว่าปีก่อน อุ้มไม่เคยรู้จักเฟอร์เมร์มาก่อน ไปลูฟวร์ก็พุ่งไปดู Mona Lisa หรืองานดังชิ้นอื่น ๆ แต่พอรู้ว่าจะต้องแปลหนังสือเรื่องนี้ ก็เลยเริ่มสนใจศึกษาเรื่องเฟอร์เมร์จริงจัง แล้วก็หลงรักและผูกพันกับงานของแกมาตั้งแต่นั้น เพราะคุณเทรซี เชวาเลียร์ เธอมีฝีมือเหลือหลาย ในการเอาภาพทั้งหมดมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันเป็นนวนิยายที่อ่านสนุกมาก ตอนนี้เวลาเห็นรูปแต่ละรูป อุ้มเลยพาลจะเรียกชื่อตามในหนังสือ และคิดว่าแต่ละคนมีบุคลิกเหมือนในนั้นจริง ๆ

กลับมาที่น้องครีต เอ๊ย ไม่ใช่ น้องต่างหูมุกของเฟอร์เมร์แห่งเดลฟต์

มีคนบอกว่านี่คือโมนาลิซ่าแห่งยุโรปเหนือ คือความงามหมดจดแบบหญิงสาวที่เยาว์วัย คือความเย้ายวนที่ซ่อนอยู่ในริมฝีปากที่เผยอและมีความฉ่ำชื้น คือปริศนาที่ไม่มีคำตอบ

อุ้มตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่ตอนแปลหนังสือแล้วว่าสักวันจะต้องหาโอกาสไปเจอตัวจริง ไปเห็นรูปของจริงให้ได้ แต่ด้วยความที่มันไปยากนิดหน่อย เพราะจัดแสดงถาวรอยู่ที่ The Mauritshuis เมืองเฮก ซึ่งต้องนั่งรถไฟจากอัมสเตอร์ดัมไปประมาณเกือบชั่วโมง คือขนาดอัมสเตอร์ดัมเองยังไม่ค่อยจะได้ไปเลย ประสาอะไรกับเมืองเฮก

แต่สุดท้ายโอกาสก็มาถึงค่ะ เพราะปีนี้บ้านอุ้มไปยุโรปกันมาเดือนหนึ่ง แล้วพอร์ตแลนด์ก็ดั๊นมีบินตรงไปอัมสเตอร์ดัมซะงั้น (อีกสนามบินเดียวที่มีบินตรงคือฮีทโธรว์) บินไปถึง สิ่งแรกที่ทำหลังโงหัวขึ้นมาได้จาก Jet Lag คือจองตั๋วรถไฟไปเฮก!

ระหว่างนั่งรถไฟ ขอเล่าที่มาที่ไปซักนิดหนึ่งก็แล้วกันค่ะว่าทำไมภาพนี้ถึงได้ไปลงเอยอยู่ที่นี่ได้

Girl with a Pearl Earring ก่อนได้รับการทำความสะอาด

เราไม่เคยรู้ว่าเฟอร์เมร์วาดรูปนี้ขึ้นเพื่อใคร รู้แต่ว่ามันไปตกอยู่ในมือของนักสะสมคนหนึ่ง แล้วลูกเขยของนักสะสมคนนั้นก็เอามันมาขายทอดตลาด จากนั้นมันก็หายสาบสูญไปนานร่วม 200 ปี จนมีการเอาออกมาขายอีกครั้ง และมีนักสะสมชื่อ Arnoldus Andries des Tombe มาประมูลไปในราคา 2 กิลเดอร์กับ 30 เซนต์เท่านั้นเอง (เทียบเป็นเงินปัจจุบันคือประมาณ 30 ยูโร ซื้อโปสเตอร์รูปเดียวกันนี้ใน Museum Shop ยังแพงกว่าเลยอ้ะ!) ตอนนั้นคนซื้อยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นผลงานของเฟอร์เมร์ เพราะสภาพย่ำแย่และสกปรกมาก ดูแทบไม่ได้เลย จนเมื่อมีการซ่อมแซมทำความสะอาด ถึงได้เห็นลายเซ็นเฟอร์เมร์อยู่ที่มุมซ้ายบนของภาพ

ลายเซ็นของเฟอร์เมร์ที่มุมซ้ายบน

เมื่อ Des Tombe เสียชีวิตลงในปี 1902 ภาพ Girl with a Pearl Earring ก็ถูกบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ The Mauritshuis และแขวนอยู่ที่นั่นมาจนปัจจุบัน มีใครมาขอซื้อเท่าไหร่ก็ไม่ขาย เพราะมันกลายเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่ประเมินค่ามิได้

(งานสุดท้ายของเฟอร์เมร์ที่มีการซื้อขายกันเมื่อปี 2004 คือภาพ A Young Woman Seated at The Virginals ซึ่งในแง่ความงามแล้วสู้ไม่ได้ แต่ก็ยังมีคนประมูลไปในราคาถึง 30 ล้านเหรียญฯ! มีคนประเมินไว้ว่าภาพหญิงสาวกับต่างหูมุกน่าจะมีมูลค่าอย่างน้อย 100 ล้านเหรียญฯ ขึ้นไป)

A Young Woman Seated at The Virginals

เอาล่ะ… มาถึงเมืองเฮกแล้วค่ะ! ลงจากรถไฟ ไม่ต้องถามทางก็ได้ เพราะเหมือนทุกคนจะเดินมุ่งหน้าไปทางเดียวกัน คือไป The Mauritshuis ซื้อตั๋วแล้วเดินขึ้นบันไดไปชั้น 2 เลี้ยวซ้ายเข้าไปในห้อง มองไปที่ผนังฝั่งซ้ายมือ ก็จะเกิดอาการนี้ค่ะ

สิ่งแรกที่อุ้มทำตอนได้เห็นคืออะไรรู้มั้ยคะ คือถอนหายใจ! เหมือนสิ่งที่ตามหามานาน รู้จักและเห็นมานาน แล้ววันหนึ่งก็ได้เจอตัวจริง สารภาพว่าไม่ได้เป็นโมเมนต์แบบ… หูยยย ดนตรีตื่นเต้น เปเปอร์ชูตยิงกระดาษสีออกมา ขอเสียงปรบมือดัง ๆ ด้วยค่า แต่มันแบบ… วิ่งมาไกล ถึงซะที แบบนั้นน่ะค่ะ

ตัวหญิงสาวเอง ถ้ามีชีวิตอยู่จริง ๆ ก็คงแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมคนทั้งโลกถึงดั้นด้นมาหาเธอ อุ้มเอง ด้วยความที่เคยนั่งจ้องรูปจากในหนังสือมานานแสนนาน พอเจอของจริงก็ไม่ได้รู้สึกว่าเห็นอะไรใหม่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือความอยากยืนดูอยู่แบบนั้นไปเรื่อย ๆ แหละค่ะ แต่ก็ทำไม่ได้เพราะต้องให้คนอื่นเข้าไปยืนดูใกล้ ๆ บ้าง ลูก ๆ กับสามีก็เดินมาตามให้ไปดูอย่างอื่น นี่ก็ไปนะ แต่สักพักก็หาทางเดินกลับมาที่รูปนี้อีก

อุ้มเคยเห็นภาพเขียนของผู้หญิงที่อุ้มว่าสวยที่สุดในโลกมา 3 คน หนึ่ง คือโมนาลิซ่า ของ ดาวินชี่ อยู่ที่ลูฟวร์ ปารีส สอง คือวีนัส ของ บอตตีเชลลี อยู่ที่ Uffizi ฟลอเรนซ์ และสาม คือน้องต่างหูของเฟอร์เมร์ ลองเอา 3 คนนี้มาเทียบกันดูก็ได้ค่ะ

แต่ละคนมีความสวยแตกต่างกันออกไป โมนาลิซ่านั้นไม่ต้องแนะนำอีกก็ได้ เพราะคนแทบทั้งโลกรู้จักหน้าตากันดีอยู่แล้ว และนอกจากความสวย จุดเด่นของภาพโมนาลิซ่าคือเรื่อง Perspective ในฉากหลัง ส่วนวีนัสนั้น อุ้มไปยืนตะลึงกับความงามวิจิตรแบบต้องเรียกว่าเป็น Divine Beauty ขนาดนั้นน่ะค่ะ คือสวยเลิศเลอ มีเส้นสายสีทองแทรกอยู่ในเส้นผม ดูแล้วสวรรค์ส่งมา สมฐานะความเป็นสุดยอดภาพเขียนยุคเรอเนสซองส์

ทั้งสองสวย ดูมีความอุดมคติ เป็นภาพฝันที่ไม่มีภาพสะท้อนของตัวเราอยู่ในนั้น

ต่างจากภาพหญิงสาวกับต่างหูมุกค่ะ

ถึงแม้จะชัดเจนว่าเฟอร์เมร์วาดภาพหญิงสาวคนนี้ขึ้นมาจากจินตนาการ เพราะโรคอีสุกอีใสเป็นโรคระบาดที่สำคัญของยุคสมัยนั้น จะหาหญิงใดมีใบหน้าเกลี้ยงเกลา ปราศจากแผลเป็นจากฝีหนองนั้นยากเต็มที

อุ้ม สิริยากร พาตามรอยภาพหญิงสาวกับต่างหูมุกโดย Johannes Vermeer ที่ใช้สีน้ำเงินเข้มซึ่งแพงกว่าทองคำเป็นหลัก

แต่ดูผิวหน้าของสาวน้อยคนนี้สิคะ มันช่างนวลเนียน เปล่งปลั่งไปด้วยเลือดลมของวัยรุ่น ถึงแม้เสื้อผ้าและเครื่องประดับผมที่แปลกตาจะไม่ระบุยืนยันว่าเธอเป็นคนของที่ไหน แต่เธอกลับมีความ ‘บ้าน ๆ’ ที่ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงเหมือนเคยรู้จักกันมาก่อน จะเอ็นดู อยากเอามือไปลูบแก้ม อยากคุยด้วย หรืออะไรก็ตามแต่ อุ้มว่าความน่าทึ่งของภาพนี้นอกเหนือไปจากความสวย คือมีความถ่อมตัว รวมทั้งทำให้คนคิดและตั้งคำถาม

อีกอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าอุ้มจะกลับมาพูดเรื่องสี นี่ไงคะภาพที่เฟอร์เมร์ใช้ Natural Ultramarine อย่างฟุ่มเฟือยมาก ดูที่ผ้าคาดผมสิคะ อย่างเยอะ! แล้วเฟอร์เมร์สร้างแสงเงาด้วยการผสมสีน้ำเงินกับสีขาวที่ด้านซ้าย ส่วนด้านขวาในมุมมืด เขาใช้สีเข้มรองพื้นก่อน แล้วค่อยเติมสีน้ำเงินลงไป

จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้พบว่าฉากหลังของภาพนี้นั้น ครั้งแรกเป็นสีเขียวเข้ม! เฟอร์เมร์ใช้วิธีลงสีดำอย่างหยาบ ๆ เป็นพื้น แล้วใช้สีเหลืองสดจาก Weld ซึ่งมาจากพืชชนิดหนึ่ง และสีน้ำเงินจากคราม ทาเคลือบลงไป ทำให้เกิดสีเขียวเข้ม คาดว่าด้วยความต้องการให้หญิงสาวยืนอยู่หน้าผ้าม่าน แต่เพราะครามนั้นโดนแสงแดดแล้วจะจางลงอย่างง่ายดายมาก สุดท้ายเราเลยเห็นแต่ฉากหลังสีดำเข้มอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

อุ้ม สิริยากร พาตามรอยภาพหญิงสาวกับต่างหูมุกโดย Johannes Vermeer ที่ใช้สีน้ำเงินเข้มซึ่งแพงกว่าทองคำเป็นหลัก

เล่ามายาวเฟื้อยอย่าเพิ่งเบื่อนะคะ เพราะว่ามาถึงเรื่องสุดท้ายแล้วค่ะ

‘ต่างหูมุก’

นี่คือสิ่งสุดท้ายที่เฟอร์เมร์ตวัดปลายพู่กันใส่ลงไปในภาพ

ต้องใช้คำว่า ‘ตวัดปลายพู่กัน’ จริง ๆ นะคะ เพราะดูดี ๆ จะเห็นว่านี่คือฝีแปรงสีขาว 2 Strokes เท่านั้นเอง ลองเอานิ้วปิดต่างหูแล้วดูภาพนี้สิคะ เหมือนจะขาดอะไรไปจริง ๆ

ต่างหูมุกทำให้ภาพนี้สมบูรณ์ ทำให้มีจุดเล็ก ๆ ที่เงางามออกมาจากความมืด และทำให้หญิงสาวกับต่างหูมุกของเฟอร์เมร์เป็นที่จดจำของคนที่ได้เห็น

เขียนไปนี่ ยังคิดถึงน้องเขาอยู่เลย เหมือนมีญาติอยู่เมืองเฮกก็ไม่ปาน… แปล๊กแปลก

ตอนหน้าจะมาเล่าเรื่องศิลปินดัตช์อีกคนที่แตกต่างจากเฟอร์เมร์แทบจะสุดขั้ว แต่ก็มีอะไรที่เหมือนกันอยู่ไม่น้อย… วินเซนต์ ฟาน ก็อกฮ์

รอติดตามนะคะ

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์