01
แฟนคลับเฮียมู – FC ตัวยง
ในแวดวงนักอ่าน ถ้าพูดถึงสำนักพิมพ์กำมะหยี่สันม่วง ภาพนักเขียนคนแรกที่ลอยมาคือ ฮารูกิ มูราคามิ ‘เฮียมู’ สำหรับคนรุ่น X-Y และ ‘ลุงมู’ ของชาว Z
ตลอด 13 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นกิจการใน พ.ศ. 2551 กำมะหยี่ออกหนังสือของ ฮารูกิ มูราคามิ ทุกปี ทั้งทยอยเก็บจากต้นฉบับแปลที่เคยตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์อื่น ๆ มาก่อน จัดแปลเล่มใหม่ ๆ ที่ไม่เคยพิมพ์มาก่อน และพิมพ์ซ้ำ เปลี่ยนปกแต่งตัวใหม่ ชำระแก้ไขจุดผิดพลาด โดยประกอบด้วย
นวนิยาย 14 เรื่อง จาก สดับลมขับขาน ถึง สังหารจอมทัพอัศวิน
รวมเรื่องสั้น 11 เล่ม จาก เรือเชื่องช้าสู่เมืองจีน ถึง สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง
สารคดี-ความเรียง-บทสัมภาษณ์-บทสนทนา 5 เล่ม จาก อันเดอร์กราวด์ ถึง นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ
สังหารจอมทัพอัศวิน (Killing Commendatore)
เขียน : Haruki Murakami
แปล : พรพิรุณ กิจสมเจตน์
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2563
รายละเอียด : นวนิยายขนาดยาวเล่มล่าสุด สมจริงแทรกแฟนตาซีในสไตล์ของคนที่คุณก็รู้ว่าคือใคร
02
รักหนังสือ – รองลงมาคือรักหมา
กำมะหยี่มีหนังสือชุด คนรักหนังสือ หนังสือแปลสันม่วงที่
หนึ่ง – มีชื่อไทยใส่สแลช (/)
สอง – ในชื่อไทยต้องมีคำว่า ‘หนังสือ’
สาม – บนปกต้องมีหนังสือ
หนังสือที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือ หรือมีหนังสืออยู่รายรอบในเรื่อง เน้นความหลากหลายของเรื่องราวและรูปแบบ มีตั้งแต่บันทึกประสบการณ์ในชีวิต นิยายแฟนตาซีหวือหวา นิยายรักปกสีพาสเทลหวานๆ ไปจนถึงสารคดีกึ่งสืบสวนเข้มข้น ปัจจุบันมี 9 เล่ม
ปารีส/พำนัก/คน/รัก/หนังสือ (Time Was Soft There: A Paris Sojourn at Shakespeare & Co)
เขียน : Jeremy Mercer
แปล : ศรรวริศา เมฆไพบูลย์
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2552
รายละเอียด : สารคดีแนวบันทึก (Memoir) ปฐมบท เล่มแรกของชุดนี้
03
รักความแปลก – ชอบของเหวียด (Weird) อมเศร้า
ตัวอย่างแบบคละมาจากหลายเล่ม : ความรักของทารกปีศาจกับเงือกสาว สาวน้อยผ่าเหล่า คนหนึ่งมีแขนเพลิง คนหนึ่งมีแขนเป็นน้ำแข็ง ครอบครัวหัวฟักทองให้กำเนิดเด็กชายหัวเตารีด นักวิทยาศาสตร์หายตัวไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตภรรยาแบบตามตัวอักษร รถเมล์สาย 15 มีผู้โดยสารพิลึกเจ้าประจำนั่งรถเล่นจากเช้ายันค่ำ โดยไม่มีใครเห็นว่าขึ้นเมื่อไหร่ ลงตอนไหน ฯลฯ
เข้าตาร้าย (Get in Trouble)
เขียน : Kelly Link
แปล : ธนรรถวร จตุรงควาณิช
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2560
รายละเอียด : รวมเรื่องสั้นอเมริกัน อิสระ หลุดกรอบ ดำ ขำ เป็นเล่มที่ใครอ่านแล้วบอกว่าชอบจัง สนุกมาก เนี่ย จะรักเลย
04
มีอารมณ์ขัน เป็นคนร่าเริง – เหรอ
หนังสือเอนเตอร์เทน ๆ อุดมความบันเทิง กำมะหยี่ก็ทำอยู่เหมือนกันนะ แม้ว่าจะเป็นการขำแบบส่วนตัว ขำกันเอง คนอื่นไม่ขำด้วยเสียเยอะ แต่โดยพื้นฐาน ถ้าอ่านเล่มไหนแล้วพบว่าคนเขียนไม่มีอารมณ์ขัน ก็จะไม่คัดมาทำ
นิมรอดนอตหลุด (The Nimrod Flip-Out)
เขียน : Etgar Keret
แปล : ธนรรถวร จตุรงควาณิช
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2561
รายละเอียด : รวมเรื่องสั้นจากนักเขียนร่วมสมัยอิสราเอล เต็มไปด้วยอารมณ์ขันพิลึกพิลั่นแม้แต่ในความเศร้าสร้อย
05
ไม่กลัวความมืด – มืดใดจะเท่าใจคน
พอพูดถึงนิยายดาร์ก ๆ จากกำมะหยี่ คนอ่านสายนี้จะนึกถึงงานของ ฟุมิโนริ นากามุระ (ผู้เขียน นักล้วง, นกต่อ, ฤดูหนาวเมื่อเราพราก, เด็กชายใต้ผืนดิน) แต่ถ้าให้เลือกเล่มที่ดำมืดจริง ๆ ที่เคยทำ น่าจะเป็นเล่มในภาพนี้ 400 กว่าหน้า เต็มอิ่มกับความเลวร้าย เดินดิ่งเข้าสู่ความมืดในใจของมนุษย์… ทั้งเมือง
แดนเทพยดา_กัญชาไร้เมล็ด (Sin Semillas)
เขียน : Abe Kazushige
แปล : พรรษา หลำอุบล
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2561
รายละเอียด : ถ้ำมอง แอบถ่าย ข่มขู่ คุกคาม รุมแกล้ง ข่มเหง อนาจาร ใส่ร้าย หักหลัง โกหก มักง่าย หน้าไหว้ หลังหลอก นอกใจ หลอกลวง หวงก้าง ฆาตกรรม รีดไถ งมงาย นินทา ปิดหู ปิดตา มารยา แสร้งเส ฉ้อฉล งี่เง่า เจ้าคิด เจ้าแค้น จอมปลอม
06
ไม่ใช่คนดี – ไม่ค่อย PC ไม่แก่ศีลธรรม
เป็นที่สังเกตได้ว่าหนังสือสอนใจประเภททำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า… จะไม่ค่อยออกมาจากกำมะหยี่สักเท่าไหร่นัก แต่มีงานแนวผัวเมียนอกใจกันออกมาอย่างน้อย 7 เล่ม (ส่วนใหญ่ก็มาจากบุคคลในข้อหนึ่ง) และแต่ละเล่มในตอนท้าย ก็ไม่ได้มีบทลงโทษอันสาสมต่อการละเมิดศีลธรรมจรรยาอันงดงามให้คนดีตบเข่าฉาดด้วยความสะใจ ส่วนใหญ่เหมือนจะบอกแบบปลง ๆ ว่า การไถลนอกลู่นอกทางเป็นส่วนหนึ่งของภาวะความเป็นมนุษย์ ถ้าเกิดขึ้น สุดท้ายแล้วจะอยู่กับมันอย่างไร แต่ละคน/คู่ ต้องชั่งน้ำหนักหาหนทางที่เหมาะกับตนเอาเอง
ความซื่อสัตย์ (Fedeltà)
เขียน : Marco Missiroli
แปล : อัมรา ผางน้ำคำ
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2563
รายละเอียด : นวนิยายอิตาลีร่วมสมัย ถอดหัวใจออกมาถกกัน ตัวละครกลม (ที่ไม่ได้แปลว่าอ้วน) มาก + นักเขียนรูปหล่ออนาคตไกล
07
LGBTQ+ Friendly – รสนิยมเป็นเรื่องส่วนตัวที่พึงได้รับการเคารพในทุกด้าน
กำมะหยี่สนับสนุนการสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และให้คู่ครองทุกเพศได้รับสิทธิต่าง ๆ เท่าเทียมกัน ไม่จำกัดแค่เพศหญิงกับชายเท่านั้น ในฐานะสำนักพิมพ์ สิ่งที่เราทำได้คือการคัดเลือก ตีพิมพ์ เผยแพร่งานเขียนที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ เพื่อสร้างความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน
เลส (LESS)
เขียน : Andrew Sean Greer
แปล : ศรรวริศา
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2562
รายละเอียด : นวนิยายเกย์อเมริกัน เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ พ.ศ. 2561
08
มีคำถาม – อยู่ไม่ค่อยเป็น
คุณสมบัติข้อนี้อาจจะเห็นไม่ค่อยชัดนัก เพราะกำมะหยี่ไม่ได้ออกหนังสือหนัก ๆ แนวขุดประเด็นสังคมหรือการเมืองแบบจ๋าจัดเห็นกันได้ชัด ๆ แต่ถึงกระนั้นก็มีสันม่วงหลายเล่มที่มีคำถามต่อสภาพสังคม การปกครอง เรื่องอิทธิพลของสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาครอบงำ บังคับ หล่อหลอมผู้คนให้เป็นดังนี้ดังนั้น อยู่บ้าง ไม่ได้ล่อง ๆ ลอย ๆ ขำ ๆ แปลก ๆ เหงา ๆ ตลอดเวลา
เลอไวอะธัน (Leviathan)
เขียน : Paul Auster
แปล : นาลันทา คุปต์
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2562
รายละเอียด : กล่าวสั้น ๆ คือ เป็นเรื่องของชาย ผู้ปฏิเสธภาวะการอยู่เป็น
09
แอคชั่นได้ – ไม่ติดว่าต้องรักษาภาพว่าเป็นคนเรียบร้อย
แอคชั่นเบา ๆ วิ่งหนีตำรวจบ้าง วิ่งหนีคนร้ายบ้าง พอให้ลุ้นได้เหงื่อออกพอกระชุ่มกระชวย แต่ไม่ถึงกับเลือดสาด ลากไส้ออกมาควงเล่น ฝั่งนี้ของกำมะหยี่จะนำทีมโดย โคทาโร อิซากะ นักเขียนผู้มีโลกซึ่งผู้คนวนเวียนเดินสวนกันไปมาให้คนอ่านเอ๊ะอ๊ะ เอะใจว่าคุ้น ๆ เหมือนเคยเจอในบทก่อนหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย
เสี้ยวชีวา คีตา ราตรี (Eine kleine Nachtmusik)
เขียน : Kotaro Isaka
แปล : กนกวรรณ เกตุชัยมาศ
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2563
รายละเอียด : รวมเรื่องสั้น กลุ่มคนที่โคจรลอยมาอยู่ใกล้ เศษเสี้ยวของชีวิตที่โฉบโชยมาพานพบ
10
ดื้อ – รั้น
ตอนที่เสนอขอลิขสิทธิ์เล่มนี้ไป ทางญี่ปุ่นท้วงว่าจะทำจริง ๆ หรือ เพราะเนื้อหาในเล่มเป็นเรื่องเฉพาะถิ่น เฉพาะด้านมาก เฉพาะถิ่นคือ 2 คนในเล่ม คนญี่ปุ่นรู้จักค่อนข้างดี ขณะที่เมืองไทยไม่รู้จักคนหลังเลย เฉพาะด้าน เพราะเรื่องที่คุยเกี่ยวกับศาสตร์และเหตุการณ์ที่ค่อนข้างจำกัดกลุ่มคนที่รู้จักและสนใจ
คำตอบกลับไปก็คือ ไม่รู้จัก ก็ต้องตีพิมพ์เพื่อเริ่มการเป็นที่รู้จักสิคะ
ฮารูกิ มูราคามิ ไปพบฮายาโอะ คาวาอิ (Haruki Murakami goes to meet Hayao Kawai)
แปล : มุทิตา พานิช
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2561
รายละเอียด : บทสนทนาระหว่าง Haruki Murakami กับ Hayao Kawai
ภาพ : สำนักพิมพ์กำมะหยี่