ช่วงชีวิตของมนุษย์ทุกคน อย่างน้อยต้องเคยผ่านเวลาของการลงแหวกว่ายในน้ำมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นวิชาพลศึกษา การกระโดดน้ำกับเพื่อนๆ ในลำคลองของชุมชน หัดตีขาในสระว่ายน้ำในหมู่บ้าน หรือเป็นการแข่งขันกีฬาทางน้ำอย่างใดอย่างหนึ่ง
ไม่น่ามีใครปฏิเสธว่า 2 สิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนเมื่อเราได้กระโจนลงน้ำคือ หนึ่ง อุณหภูมิที่เย็นกว่าอากาศปกติสร้างความผ่อนคลายให้ร่างกาย และสอง การแหวกว่ายในน้ำที่ช่างแตกต่างจากการเคลื่อนไหวบนบก เสมือนอยู่ในโลกอีกใบที่ร่างกายไร้น้ำหนัก
แค่อยู่บนผิวน้ำยังต่างขนาดนี้ แล้วจะดีกว่าขนาดไหน ถ้าเราได้ดำดิ่งลงไปก้นบึ้งทะเลอย่างเสรี ไม่มีอะไรต้องพะวักพะวง และเป็นอิสระต่อความกลัว
1. เสรีใต้น้ำ
ก่อนจะดำน้ำได้ต้องว่ายน้ำเป็นก่อน ข้อนี้ใครๆ ที่เรียนดำน้ำทราบดีอยู่แล้ว
ข้อกำหนดนี้ ไม่ถูกยกเว้นแม้กระทั่งการดำน้ำแบบ Freediving
Freediving จัดเป็นกีฬาชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับการดำน้ำ แต่ไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจใดๆ นอกจากการเก็บลมหายใจเพียงครั้งเดียว ซึ่งใช้การฝึกกลั้นหายใจลงไปในน้ำ และการปรับร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้อง ต่างจากการดำน้ำแบบ Scuba ที่ต้องหายใจผ่านถังออกซิเจนตลอดเวลา Freediving จะมีเพียงแค่หน้ากากสนอร์เกิล ชุดดำน้ำแบบ Wet Suit และ Fin หรือตีนเป็ดเป็นอุปกรณ์เท่านั้น
เราพบ Freediving ได้ในกิจกรรมหลากหลายประเภท เช่น การจับปลา ยุทธวิธีทางทหาร ระบำใต้น้ำ หรือเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันอย่างจริงจัง การแข่งขันที่นิยมในปัจจุบันสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือการแข่งขันดำน้ำทน ซึ่งมีสถิติที่ใช้เวลานานที่สุดในโลกคือ 12 นาที และการแข่งขันดำน้ำลึก ถูกบันทึกสถิติไว้คือ 216 เมตร
ปัจจุบัน Freediving เป็นที่นิยมในหมวดกิจกรรมเชิงสันทนาการเพื่อการท่องเที่ยวทางทะเล เช่น การชมทัศนียภาพที่สวยงามใต้น้ำ ชมปะการัง ชมสัตว์ทะเล เป็นการดำน้ำที่ไม่มีฟองอากาศ ไม่มีเสียงหายใจดังๆ ดังนั้นจึงเป็นวิธีดำน้ำที่รบกวนสัตว์น้ำน้อยที่สุด ถือได้ว่า Freediving เป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ปรับเปลี่ยนเป็นกิจกรรมทางสันทนาการได้อย่างหลากหลาย และเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน
2. เกาะขอบสระ
ฉันพาตัวเองมาถึงสระว่ายน้ำที่นิชดาคลับ โครงการนิชดาธานี เพื่อสังเกตการสอนคลาส Freediving ของ ครูพลอย มาลัยวงศ์ เธออายุเพียง 27 ปี แต่เป็นครูสอน Freediving หญิงคนแรกของไทยที่ได้รับการรับรองจาก Professional Association of Diving Instructors (PADI) องค์กรสอนดำน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีสาขาทั่วโลก และเคยลงแข่ง Freediving ระดับชาติที่อียิปต์และสิงคโปร์ แถมคว้ารางวัลที่ 2 สำหรับผู้เข้าแข่งขันหญิงทั้ง 2 รายการ
แรกพบฉันเห็นครูพลอยกำลังสาละวนกับการสอนนักเรียนของเธออย่างเข้มข้น
คลาสเรียนเล็กๆ วันนั้นมีนักเรียนอยู่ทั้งหมด 6 คน เป็นผู้หญิงเกือบทั้งคลาส บทเรียนในบ่ายวันนี้ ครูพลอยและผู้ช่วยให้นักเรียนเริ่มฝึกการกลั้นหายใจในน้ำ การช่วยชีวิตผู้ที่จมน้ำจนหมดสติ การว่ายน้ำแบบ Dynamic Apnea (การว่ายน้ำด้วยลมหายใจเดียว) ในระยะทาง 200 เมตร และการเคลียร์หู หรือการปรับความดันภายในหู ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำน้ำทั้งแบบ Scuba และ Freediving
คลาสสุดท้ายของเธอเกิดขึ้นกลางทะเล เมื่อเรียนพื้นฐานเสร็จจะได้เวลาสอบในสนามจริงคือมหาสมุทร ข้อสอบแรกคือการกลั้นหายใจนาทีครึ่ง และดำน้ำลึกลงไป 12 เมตร ซึ่งใครๆ ที่ผ่านการฝึกล้วนทำได้โดยไม่เกี่ยงเพศหรืออายุ
ครูพลอยชวนให้ฉันร่วมคลาสด้วยกัน แต่เพราะฉันไม่ได้เตรียมชุดมา ฉันจึงได้แต่นั่งดูการเรียนการสอนอยู่ห่างๆ ที่ริมขอบสระ
ย้อนกลับไปตั้งแต่ครูพลอยยังเป็นเด็ก คุณพ่อของเธอ (คุณราชันย์ มาลัยวงศ์) เป็น Course Director ครูสอนดำน้ำชาวไทยคนแรกขององค์กร PADI และสอนดำน้ำแบบสกูบามาเกือบ 30 ปี ในฐานะลูกสาวและศิษย์เอก ครูพลอยสัมผัสการดำน้ำตั้งแต่จำความได้ ไม่ว่าจะเป็นคลาสเรียนทฤษฎีที่ครูพลอยจะนั่งเล่นตุ๊กตาในห้องเรียนหรือการสอนภาคปฏิบัติ และการออกภาคสนามตามท้องทะเลในแถบภาคใต้ เธอเกาะหลังคุณพ่อดูการเรียนการสอน วิธีการดำน้ำ และการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เสมอ ไม่น่าแปลกใจที่เธอหลงใหลการดำน้ำ และได้รับการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัวนับแต่นั้นมา
“พลอยมาเป็นครูสอน Freediving แบบเต็มตัวได้หนึ่งปีพอดีค่ะ หลังจากลาออกจากงานประจำ พลอยคิดว่าพลอยหลงรักในความท้าทายของมัน พลอยจำความรู้สึกตอนที่ไปเรียน Freediving ครั้งแรกได้ ตอนแรกแค่ชอบดำเล่น พอไปเรียนแล้วครูให้ลงไปในทะเลสิบเมตรแล้วค้างไว้อยู่อย่างนั้น คือมันเป็นความรู้สึกที่แตกต่างจากการดำน้ำทั่วไปมาก ไม่มีอากาศ ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีอะไรเลย มีแต่เรากับทะเล เราเลยรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของทะเลจริงๆ”
3. เหรียญสองด้าน
ครูพลอยบอกว่าปัจจุบันมีผู้สนใจมาเรียน Freediving มากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสไลฟ์สไตล์ค้นหาประสบการณ์ใหม่และได้ถ่ายภาพสวยๆ ใต้น้ำคู่กับปะการังหรือสัตว์ทะเล แต่แท้จริงแล้ว Freediving มีประโยชน์ที่สำคัญอยู่ 3 ข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน ข้อแรก การหายใจจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการฝึกเก็บลมหายใจ และการหายใจด้วยกะบังลม จะทำให้ควบคุมลมหายใจได้ดียิ่งขึ้น ข้อสอง เกิดการผ่อนคลายและปรับความคิดและทัศนคติให้เป็นบวกมากยิ่งขึ้น ดังที่ครูพลอยได้อธิบายไว้ว่า
“พลอยเคยได้ยินงานวิจัยที่บอกว่า ‘ความคิดที่เป็นแง่คิดเชิงบวก จะใช้ออกซิเจนน้อย’ อย่างการฝึกในคลาสเรียนที่ผ่านมา ถ้าใครมีความเครียด กังวล หรือไม่ผ่อนคลายร้อยเปอร์เซนต์ก็จะไม่มีทางกลั้นหายใจได้เลย แต่ถ้าใครที่ผ่อนคลาย ทำตัวสบายๆ นึกถึงอะไรที่ทำให้สบายใจหรือมีความสุข คนนั้นจะกลั้นหายใจได้นานมาก ซึ่งการฝึกทุกครั้งทำให้เราต้องมีความคิดแบบนี้ ทำให้เราเรียนรู้ที่จะปล่อยวางทุกอย่าง พลอยคิดว่าตรงนี้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้เรามองโลกอย่างเข้าใจธรรมชาติ และปล่อยวางได้เร็วขึ้น”
ข้อสุดท้าย การผนวกรวมร่างกายของเราให้เป็นส่วนหนึ่งของทะเล โดยการดำน้ำซึ่งปราศจากอุปกรณ์ช่วยเหลือใดๆ เพื่อการเอาชนะข้อจำกัดของร่างกายมนุษย์ และเพิ่มความรื่นรมย์ในการท่องเที่ยวใต้ทะเลให้งดงามยิ่งขึ้น
แต่กีฬาใต้น้ำนี้ก็เหมือนกีฬาอื่นๆ ที่มีความเสี่ยง เหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายคือการหมดสติกะทันหันในน้ำหรือ Blackout ซึ่งเกิดจากขาดอากาศเพราะฝึกดำน้ำโดยไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน กิจกรรมนี้จึงต้องมีบัดดี้ที่แข็งแรงใกล้เคียงกันสำหรับช่วยเหลือคู่ของตนได้ในเวลาฉุกเฉิน
“ความเสี่ยงมากที่สุดคือการพยายามเอาชนะขีดจำกัดของตัวเองมากจนเกินไป พลอยเคยคุยกับบางคนที่ฝึกจน Blackout วันละเจ็ดแปดรอบ พลอยคิดในใจเลย มันสนุกเหรอ มันเท่เหรอ ไม่นะ มันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับร่างกายตัวเองมาก และเป็นการฝึกที่ผิดด้วย”
ครูพลอยกล่าวเตือน ก่อนกระโจนลงน้ำไป Freediving เราจึงต้องเรียนรู้วิธีการดำน้ำที่ถูกต้องและปลอดภัย เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง
4. กลเม็ดเคล็ดลับ
ในเวลาเรียน ครูพลอยมีกลเม็ดและวิธีการต่างๆ ที่จะเรียกความมั่นใจ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลดความตึงเครียดและกังวลก่อนลงน้ำให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการลงดำน้ำแบบ Freediving
“อย่างวันนี้จะมีพี่นักเรียนคนหนึ่งกังวลตลอดว่าจะขึ้นมาไม่ทัน เดี๋ยว Blackout พลอยเลยบอกเขาว่ามันไม่ได้แย่นะ อย่าเพิ่งด่วนคิดลบ พี่มีสมาธิ พยายามโฟกัสอยู่ที่ตัวเอง เราใช้ร่างกายของเราในการบริหารออกซิเจนในร่างกาย พี่ลองนึกถึงอะไรที่มีความสุข ทำให้สบายใจ หลังจากครั้งแรกที่เขาทำได้แค่สี่สิบวินาที ครั้งที่สองเขาทำได้สองนาทีกว่าๆ”
นอกเวลาเรียน ครูพลอยก็ถือเป็นนักเรียนอีกคนหนึ่งที่อยากศึกษาความรู้เกี่ยวกับร่างกาย จิตวิทยา และทฤษฎีเกี่ยวกับการดำน้ำแบบ Freediving ไม่เพียงแต่การสอนที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียน หากเพื่อการช่วยนักเรียนก้าวข้ามข้อจำกัดของเขา
ครูพลอยเล่าประสบการณ์การสอนนักเรียนคนหนึ่งที่พิเศษมากให้ฉันฟัง
“มีนักเรียนคนหนึ่งติดต่อมาเรียนกับพลอยโดยที่พลอยไม่รู้ประวัติเขามาก่อน ช่วงที่เรียนพลอยสังเกตว่าเขาดูประหม่า ร่างกายเขาดูไม่ปกติเพราะดูจากการจัดระเบียบร่างกาย การเคลื่อนไหวเขาไม่เหมือนคนปกติ พลอยมารู้ทีหลังว่าเขาเป็นอัมพฤกษ์ และเขาเพิ่งรับการทำกายภาพบำบัดมา วันนั้นเขาเรียนกับคนที่เก่ง ทุกคนทำได้หมดแล้ว พลอยกลัวมากว่าเขาจะรู้สึกแย่หรือท้อแท้มั้ย เขาบอกพลอยว่าเขาอยากมีชีวิตเหมือนคนปกติ เลยเป็นแรงฮึดที่พลอยอยากช่วยให้เขาทำได้ พลอยลงสระกับเขาประมาณห้ารอบ รอบละสามชั่วโมง จากคนที่ตีขาในน้ำไม่ได้เลย เขาสามารถว่ายน้ำจนสุดสระไป-กลับได้ และไปทดสอบ Performance Base ลงทะเลที่ความลึกหกถึงเจ็ดเมตรได้แบบตัวเปล่า ตีขา กลั้นหายใจลงไปในน้ำได้”
5. สู่มหาสมุทร
ท่ามกลางความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน รวมถึงสภาพแวดล้อมทั้งการเรียน หรือการทำงานในปัจจุบัน มีผลกระทบมากมายทั้งทางตรงและอ้อม ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงกว่าเดิม
สิ่งที่พอจะเยียวยาเราจากความตึงเครียดเหล่านั้น คือการบำบัดตัวเองให้ได้มีเวลาคุณภาพ ใช้เวลาเหล่านั้นปลดปล่อยทั้งกาย ใจ ลงไปกับสายน้ำที่คุ้นเคยในวัยเด็ก สลัดความคิดการงานทั้งหมดที่มีออกไป เก็บลมหายใจแล้วลงไปใต้ผืนน้ำ ลืมตามองภาพเบื้องหน้าผ่านแว่นตาดำน้ำ แล้วค่อยๆ แหวกว่ายไปพบกับความสวยงามเบื้องหน้า ที่ยิ่งสวยกว่าเมื่อไม่มีพันธนาการใดๆ รั้งเอาไว้ นอกจากร่างกายของเราที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของทะเลทั้งปวง
นั่นคือเสน่ห์ที่สวยงามของ Freediving ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจอย่างมากมายเหลือคณานับ