คนที่มีอาชีพแบบผม อาจมีความกระเหี้ยนกระหือรือลึกๆ ในใจอยากทำความรู้จักและเข้าใจประเทศหนึ่งประเทศใด หรือทวีปหนึ่งๆ ให้ดี มันเป็นเรื่องของคนในอาชีพที่จะต้องติดต่อกับคนต่างชาติแบบเราๆ
ผมก็ไม่แตกต่างกัน ที่อยากรู้จักทวีปแอฟริกาซึ่งผมรู้สึกโดยส่วนตัวว่าลึกลับและน่าค้นหา อยู่ใกล้แต่กลับไกลในความรู้สึก
อาจโชคดีที่ในชีวิตการทำงาน ผมได้รับโอกาสให้กลับไปทำงานและใช้ชีวิตในทวีปที่ผมอยากรู้จักถึง 2 ครั้ง ในช่วงเวลารวมแล้วเกือบ 7 ปี 3 ปีในเคนยา และอีก 3 ปีครึ่งในโมซัมบิก ในช่วงเวลานั้น ผมได้เข้าใจและรู้จักทวีป ทั้งภูมิประเทศและผู้คน สังคม วัฒนธรรม อย่างน้อยก็ได้ในระดับหนึ่ง
แต่ในใจลึกๆ ผมกลับรู้สึกว่า ผมยังไม่รู้จักทวีปแอฟริกาที่มีขนาดใหญ่ได้อย่างครบถ้วนเลย
ทวีปที่ประกอบด้วยประเทศ 52 ประเทศ มีพื้นที่มหาศาลถึง 30 ล้านตารางกิโลเมตร กินพื้นที่ราว 20 เปอร์เซ็นของผืนดินทั่วโลก มีขนาดใหญ่กว่าทวีปยุโรป 3 เท่า ใหญ่กว่าประเทศสหรัฐอเมริกา จีน และบราซิลรวมกัน และมีประชากรราว 1,000 ล้านคน
ผมเพียงแต่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริกาฝั่งตะวันออกที่เคนยาและโมซัมบิก ติดชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และได้เดินทางไปรอบๆ ประเทศเหล่านี้เท่านั้น ผมจึงรู้สึกอยากจะรู้จักอีกฟากฝั่งหนึ่งของทวีปมาก นั่นคือแอฟริกาฝั่งตะวันตก
ความหวังสุดท้ายที่ผมมี ซึ่งจะทำให้ผมพอรู้จักกับแอฟริกาอีกฝั่งทวีปได้ ก็คือ การรู้จักแอฟริกาฝั่งตะวันตกที่อยู่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกผ่านงานศิลปะ แม้ผมยังไม่เคยเดินทางไปย่างกรายประเทศและดินแดนแถบนี้เลย
นั่นคือจุดเริ่มที่ทำให้ผมได้พบกับศิลปินและนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่นาม เฟรดเดอริก บรูลี บูอาเบร่ (Frederic Bruly Bouabré) ผู้ล่วงลับ ของประเทศโกตดิวัวร์ (Côte d’Ivoire)
1
ประเทศโกตดิวัวร์ หรือ Ivory Coast อยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาตะวันตก มีชายฝั่งติดมหาสมุทรแอตแลนติก เคยเป็นอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศสที่เข้ามาปกครองดินแดนแถบนี้ใน ค.ศ. 1893 ก่อนหน้านั้น ดินแดนแถบนี้ประกอบด้วยเขตปกครองตัวเองจำนวนมาก เต็มไปด้วยชนเผ่าที่พูดภาษาต่างกันถึง 87 ภาษา
โกตดิวัวร์ได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1960 ปัจจุบันปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขจากการเลือกตั้ง สินค้าส่งออกที่สำคัญคือเมล็ดกาแฟและโกโก้ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งขนาดใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจของโกตดิวัวร์เติบโตขึ้นและมีความมั่นคง


2
ในประเทศอาณานิคมฝรั่งเศสแห่งนี้ เสมียนที่มาจากชนเผ่า Bété ในชนบทของโกตดิวัวร์ ซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่ได้รับการศึกษาจากระบบการเรียนการสอนที่อาณานิคมฝรั่งเศสจัดตั้งขึ้น กลายมาเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มองเห็นความเป็นสากลของโลก อุดมการณ์ของความเท่าเทียม และปรัชญาของความเป็นมนุษยชาติ และต่อมาเขาได้ใช้เวลาทั้งชีวิตบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้
ประวัติศาสตร์ศิลปะบันทึกตามที่ Frédéric Bruly Bouabré เล่าไว้ว่า ในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1948 เฟรดเดอริกเห็นนิมิต สวรรค์ได้เปิดขึ้นต่อหน้าต่อตา แสงแดดสอดส่องเป็น 7 สี เผยให้เห็นความงามของพระอาทิตย์ และในเวลานั้น ฉันก็ได้กลายเป็น ชีค นาโดร (Cheik Nadro / Cheick Nadro) ผู้ซึ่งไม่เคยลืมเลือน (The heavens opened up before my eyes and seven colorful suns described a circle of beauty around their Mother-Sun, I became Cheick Nadro: ‘He who does not forget.’)
ภาพที่เขานิมิต ทำให้เขาซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘ชีค นาโดร’ หรือผู้มาโปรดและปลดปล่อยผู้คน เป็นแรงผลักดันให้ Frédéric Bruly Bouabré พยายามหาความรู้ในทุกด้าน เพื่อปลอดปล่อยเพื่อนร่วมเผ่าที่เขาถือเป็นลูกหลานและมนุษยชาติออกจากความสับสนของสังคมสู่ชีวิตที่มีคุณภาพ
3
ชีค นาโดร ชื่อที่ผู้คนรอบข้างเรียก Frédéric Bruly Bouabré นำความรู้ในแขนงต่างๆ ที่เขาเพียรศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม ปรัชญา ฯลฯ มาเขียนลงในกระดาษขนาดเล็กแบบโปสการ์ดหลายแผ่นเท่าๆ กัน
ภาพของเขาเป็นเอกลักษณ์ เขาใช้ปากกาลูกลื่นตีกรอบโดยรอบ แล้ววาดรูปด้านในและลงสีด้วยสีไม้ ริมขอบที่เขาใช้ปากกาลากเส้นเป็นกรอบไว้ ก็เขียนความคิดและคำอธิบายภาพที่อยู่ด้านในเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมักเป็นคำหรือประโยคสั้นๆ ง่ายๆ โดยเริ่มต้นคำหรือประโยคด้วยเครื่องหมายดอกจันสีแดง ที่เขาทำไว้เป็นสัญลักษณ์ แล้วพลิกไปอีกด้านหนึ่งของแผ่นกระดาษ เพื่อลงชื่อพร้อมวันที่เขียนไว้ด้านหลัง


ผมโชคดีที่ได้รับสมุดสเก็ตช์เล่มหนึ่งของเขามาไว้ในครอบครอง เมื่อพลิกดูแล้ว ก็เห็นชัดว่าความคิดของเขาลึกซึ้ง เส้นปากกาของเขาแม้สั่นเครือแต่ตรงไปตรงมา การลงสีเป็นไปอย่างเรียบง่ายที่สุด การวาดรูปของเขาเป็นเพียงสื่อที่เขาต้องการจะพูดคุยกับคนรอบตัว ถึงปรัชญาและอุดมการณ์ความเป็นสากลนิยม (Universalism) ที่เขาเชื่อว่าคือความจริงของโลก




ความเป็นปราชญ์ของเขาไม่หยุดเพียงแค่นั้น แต่ชีค นาโดร ยังคิดค้นตัวอักษรของภาษา Bété ภาษาชนเผ่าของเขาซึ่งชาวไร่ชาวนาใช้พูด โดยเป็นตัวอักษรใช้แทนเสียงที่เปล่งออกมาจำนวน 448 ตัวอักษร เขียนบันทึกลงในแผ่นกระดาษขนาดโปสการ์ดที่เขาคุ้นเคยกว่า 1,000 ชิ้น

4
แม้ภาษาฝรั่งเศสของผมจะกระท่อนกระแท่น หรืออาจเรียกว่าไม่รู้เลย เพราะเคยเรียนมาสมัยมัธยมปลาย เพื่อวัตถุประสงค์เพียงประการเดียวคือใช้สอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย แต่ประโยคง่ายๆ ที่ชีค นาโดร เขียนรอบรูปภาพ กลับให้ผมเห็นถึงความจริงแท้ ความเป็นสากลแห่งธรรมชาติ ความเหมือนกันในความแตกต่าง
ขอเชิญชมภาพวาดในชุดต่างๆ ที่ชวนให้เราต้องคิดต่อไปนานๆ เยอะๆ และไกลๆ
ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนก็เห็นเงาตัวเองในน้ำ
ภาพวาดชุดนี้ประกอบด้วยจำนวน 64 ใบ เป็นผู้ชายนุ่งผ้าถุงรูปธงชาติของประเทศต่างๆ ก้มหน้ามองเงาตัวเองในแก้วน้ำ

คนหนุ่มผิวสีต่างๆ ก็มีความสุขมาก (ได้)
คนหนุ่มผิวสีเหลือง ดำ เขียว ฟ้า ก็ล้วนมีความสุขได้หากต้องการ หรืออีกนัยหนึ่ง ภาพลักษณ์หรือผิวสีของเราไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบหรืออุปสรรคเลยที่จะทำให้เรามีความสุขหรือไม่

นี่แหละคือความจริงของมนุษยชาติ
ความจริงของมนุษยชาติมีทั้งความทารุณ ความรัก ไม่ว่าจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศ และมนุษยชาติก็มีความแตกต่างกันราวกับสายรุ้ง

ความจริงของธรรมชาติ
ธรรมชาติก็เป็นไปเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นงูกำลังฟักไข่ ลวดลายบนใบไม้ และรอยด่างบนผิวส้ม เหล่านี้ล้วนกำลังบอกอะไรกับเรา

ความรักของแม่
แม่ผิวดำก็หวงแหนลูกของเธอแม้ผิวเหลือง (ไม่ว่าลูกจะรูปลักษณ์หน้าตาเป็นอย่างไร แม่ก็รักลูกทั้งนั้น)

5
Frédéric Bruly Bouabré เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2014 แต่ปรัชญาความเป็นสากล และอุดมการณ์ของความเท่าเทียมและความไม่แตกต่างกันยังคงอยู่ไม่มีวันเสื่อมคลาย

เมื่อ ค.ศ. 1996 Swatch ผลิตนาฬิการุ่น Cheick Nadro โดยนำภาพของ Frédéric Bruly Bouabré มาพิมพ์เป็นลวดลายลงบนตัวเรือนและสายนาฬิกา แม้อาจจะไม่ใช่รุ่นขายดีหรือเป็นที่นิยมของนักสะสม แต่ก็บอกได้ถึงความเป็นสากลของภาพเขียนและปรัชญาความคิดของเขา
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศโกตดิวัวร์ของกระทรวงการต่างประเทศ www.mfa.go.th/th/country
2. ผลงานของ Frédéric Bruly Bouabré ที่ The Jean Pigozzi Collection of African Art ซึ่งเป็นคอลเลกชันงานศิลปะแอฟริกาที่ใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง caacart.com/pigozzi-artist.php?i=Bruly-Bouabre-Frederic&m=14