ถ้าคุณมีคอมพิวเตอร์เป็นส่วนประกอบหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม เรียนออนไลน์ หรือทำงาน คุณคงเคยเจอปัญหาโน้ตบุ๊กพังที่จุดใดจุดหนึ่ง เช่น ปุ่มคีย์บอร์ดใช้ไม่ได้ หน้าจอเสีย เมมฯ เต็ม หรือแบตเสื่อม
เมื่อเจอปัญหาแบบนั้น หลายคนอาจอดทนใช้ต่ออีกสักพัก แล้วก็แก้ปัญหาด้วยการเสียเงินซื้อคอมฯ ใหม่ ไม่ต่างจากที่เราเลือกเปลี่ยนมือถือ
การใช้แล้วทิ้งเป็นเรื่องปกติของสังคมวันนี้ แต่ในภาพกว้าง วัฒนธรรมนี้กำลังสร้างปัญหาให้กับโลก (ซึ่งสุดท้ายก็จะวนมากระทบกับเราอยู่ดี) เพราะมันทำให้จำนวน ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ หรือ E-waste ที่นับเป็นขยะอันตรายเพิ่มสูงขึ้นทุกที
ว่ากันเป็นตัวเลข ในแต่ละปี คนทั่วโลกสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์กันมากกว่า 50 ล้านตัน ขณะที่เฉพาะประเทศไทยเองก็มีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนประมาณเกือบ 4 แสนตันต่อปี
และเพราะอย่างนั้น วันนี้ฉันเลยอยากชวนคุณมาดูงานออกแบบชิ้นหนึ่งที่พยายามแก้ปัญหานี้ค่ะ
Framework Laptop เป็นโน้ตบุ๊กสัญชาติอเมริกาที่หน้าตาสวย ใช้งานดีเหมือนโน้ตบุ๊กคุณภาพทั่วไป แต่จุดแตกต่างคือ โน้ตบุ๊กเจ้านี้ทั้งซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ได้ แถมยังทำง่ายชนิดทำเองได้ที่บ้าน
เรื่องราวของโน้ตบุ๊กกู้โลกเครื่องนี้เป็นยังไง มากดปุ่มเปิดคอมแล้วรู้จักเจ้า Framework Laptop ไปพร้อมกันค่ะ

โน้ตบุ๊กจากเด็กชายที่โตมาในยุค ‘ซ่อมได้’
ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน Nirav Patel ผู้ก่อตั้ง Framework คือเด็กชายตัวเล็กที่รู้ว่าเมื่อคอมพิวเตอร์ที่บ้านเสีย เราเปิดมันออกและลงมือซ่อมจนกลับมาใช้งานได้ใหม่
“ในระบบนิเวศแบบนั้น ส่วนฮาร์ดแวร์เปิดได้ง่ายมาก และคุณจับเกือบทุกส่วนของคอมฯ ได้” Nirav ย้อนทบทวน
อย่างไรก็ตาม โลกในวันที่เขาเติบโตขึ้นกลับเปลี่ยนไป ตอนนี้คอมพิวเตอร์ทั้งอายุสั้น อีกทั้งยังเปิดมาซ่อมได้ยาก ชนิดที่ฝั่ง EU มีการวางแผนเรื่อง Right to Repair ให้เหล่ามือถือและคอมพิวเตอร์ต้องมีคุณสมบัติซ่อมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายขึ้น
Nirav ที่วันนี้เติบโตมาเป็นวิศวกรเก่งระดับเคยทำงานที่ Apple มาแล้ว ได้ตัดสินใจลงมือแก้ปัญหานี้ด้วยตัวเอง
เขาก่อตั้ง Framework บริษัทที่ตั้งใจเสนอ framework ใหม่ที่ดีกว่าเดิมให้วงการ Consumer Electronics (เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซื้อใช้กันระดับบุคคล) และโลกใบนี้
โดยผลิตภัณฑ์ตัวแรกสุดนั้นมีชื่อว่า Framework Laptop


โน้ตบุ๊กที่คืนอำนาจให้ผู้บริโภค
มองจากภายนอก Framework Laptop ซึ่งปัจจุบันมีด้วยกัน 3 รุ่น เป็นงานออกแบบที่สวยมีสไตล์ ไม่ต่างจากโน้ตบุ๊กแบรนด์คุณภาพเจ้าอื่น
มองที่ราคา เจ้าโน๊ตบุ๊กเครื่องนี้ก็ราคาใกล้เคียงคู่แข่งในตลาด
แล้วเมื่อลองเปิดใช้งาน มันก็มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากโน้ตบุ๊กที่เราใช้กัน อย่างรุ่นล่าสุดนั้นก็มาพร้อมกับ Generation Intel® Core™ Processors รุ่น 12 และ Windows 11
แต่สิ่งที่ต่างคือ Framework Laptop คืนอำนาจกลับสู่มือผู้บริโภค ให้คนใช้อย่างเราเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของตัวเองและมีสิทธิ์ตัดสินใจอย่างแท้จริง



เมื่ออยากเลือก เราเลือกส่วนประกอบของโน้ตบุ๊กได้ เมื่อเสีย เราเปิดเครื่องออกซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่มันได้ เมื่อถึงเวลาอัปเกรด เราอัปเกรดเองได้ หรือถ้าใครอยากจัดการเองแบบเต็มร้อย Framework Laptop ก็มีรุ่น DIY ที่เปิดโอกาสให้คุณ Customize ส่วนประกอบแล้วนำไปประกอบเองที่บ้าน
เมื่อเรากับโน้ตบุ๊กไม่ใช่คนแปลกหน้าที่ไม่รู้จะอยู่ด้วยกันยังไง ผลคือเราก็จะอยู่ด้วยกันได้นานกว่าเดิม
สมความตั้งใจของ Framework ที่อยากชวนผู้บริโภคลดการสร้าง E-Waste
โน้ตบุ๊กที่เป็นก้าวแรกสู่ทางออก
หลังการเปิดตัวในปี 2021 Framework Laptop ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน The Best Innovations of 2021 ของ Time
และในปีนี้ บริษัท Framework ก็ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน Most Innovative Companies of 2022 ของ Fast Company
แน่นอนว่าการได้รับเลือกจากสื่อดังไม่ใช่เครื่องการันตีคุณภาพระดับ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งนี้ก็ช่วยสะท้อนว่าทางแก้ปัญหาของ Nirav น่าสนใจ น่าจับตามอง และในฐานะผู้บริโภค อาจพูดได้ว่าน่าร่วมแจมอย่างยิ่ง
แน่นอนว่า Nirav ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ เขาไม่ได้แค่อยากสร้างโน้ตบุ๊ก แต่ต้องการให้เกิดระบบนิเวศที่สนับสนุนการลด E-Waste เช่น การเปิดโอกาสให้ธุรกิจรายเล็กเริ่มพัฒนา Expansion Card ที่นำมาใช้กับ Framework Laptop ได้ แทนที่จะผูกขาดผลิตอะไหล่เองอยู่เจ้าเดียว
ที่สำคัญ Nirav ไม่ได้หยุดอยู่แค่วงการคอมพิวเตอร์ เขาอธิบายว่า ที่สร้าง Framework Laptop ขึ้นมาก่อนอย่างอื่น เพราะโน้ตบุ๊กคือคือ Consumer Electronics ที่เห็นชัดและอาจเป็นประเภทที่เราต้องการมากที่สุด แต่ความฝันของเขาคือ การให้ Framework เป็นทางแก้ปัญหาที่ Apply to All
“ก็เราทุกคนต่างมีลิ้นชักเก็บอุปกรณ์ที่พังแบบไม่รู้จะซ่อมยังไงอยู่นี่นา” Nirav บอก
และคุณก็รู้-คำพูดของเขาไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด

อ้างอิง:
www.dezeen.com/2022/01/04/framework-modular-laptop-technology/