อุ้มโตมาในยุค 80
ยังจำได้ว่าสมัยประถม อุ้มตั้งตารอวันให้ได้ขึ้น ป.5 เพราะนั่นแปลว่าจะได้หัดใช้ปากกาหมึกซึม!
ความทรงจำสมัยเด็กที่อุ้มจำได้แม่น คือภาพคุณครู ป.2 นั่งอยู่ที่โต๊ะหน้าห้อง เติมหมึกปากกา 2 ด้าม ด้ามหนึ่งสีน้ำเงิน อีกด้ามหนึ่งสีแดง ปากกาที่ครูใช้น่าจะมาจากเมืองจีน เป็นด้ามมน ๆ มีปลอกเป็นสีเงิน (พอมาหาข้อมูล ถึงได้รู้ว่าปากกาแบบนั้นเขาเรียกว่า Hero Pen มาจากเซี่ยงไฮ้) ส่วนหมึกที่ใช้เป็นยี่ห้อ Pelican ขวดเหลี่ยม ๆ เวลาครูตรวจการบ้านจะมีลายมือเขียนด้วยหมึก 2 สีนี้ มีน้ำหนักเข้ม-จาง พอให้รู้ว่าไม่ได้เขียนด้วยปากกาลูกลื่น
ที่โรงเรียนของอุ้ม เด็กประถมเล็ก ๆ จะได้รับอนุญาตให้ใช้ได้แต่ดินสอ เพราะถ้าเขียนผิด (ซึ่งผิดบ่อยอยู่แล้วตามธรรมชาติวิสัย) จะได้ลบเขียนใหม่ได้ ต่อเมื่อโตขึ้นจนถึง ป.5 จึงจะได้รับอนุญาตให้เริ่มใช้ปากกาหมึกซึม แล้วหัดเขียนหนังสือให้สวย รวมทั้งหัดเขียนตัวภาษาอังกฤษแบบ Cursive หรือตัวคัดลายมือที่เขียนต่อ ๆ ไปได้โดยไม่ต้องยกปากกา แต่ต้องรู้จังหวะกด จังหวะผ่อน เพื่อให้ลายมือมีน้ำหนักสวยงาม และหมึกไม่ไปกองตรงไหนมากเป็นพิเศษ
จะเรียกว่าประสบการณ์ในช่วงนั้นทำให้อุ้มกลายเป็นคนชอบใช้ปากกาหมึกซึมมาจนทุกวันนี้ก็ว่าได้
Fast Forward มาอีก 40 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอุ้มกับปากกาพัฒนาไปหลากหลายทิศทางมากพอ ๆ กับลายมือ แต่มีปากกาที่จำได้ขึ้นใจ คือปากกาลูกลื่น Sanrio สมัยมัธยมกับมหาลัย ยังจำกันได้ไหมว่าต้องไปโบนันซ่ามาบุญครองเพื่อซื้อปากกาพวกนี้ รุ่นโปรดอุ้มคือ Minna no Tabo เขียนดีมากจริง จดเลกเชอร์ให้เพื่อนเอาไปซีรอกซ์เกลื่อนใต้ถุนคณะมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
ส่วนยี่ห้อที่ดังถล่มทลายในหมู่เด็กมัธยมอยู่สมัยหนึ่ง คือ rOtring นั้น ทำไมอุ้มไม่เคยมีสักด้ามก็ไม่รู้แฮะ สงสัยตอนนั้นไม่มีตังค์ซื้อเพราะด้ามละหลายร้อย
พอมายุคทำงาน ปากกาที่ซื้อมากและทำหายตลอดเวลา คือปากกา MUJI เคยมีความคิดว่าจะลงทุนซื้อปากกาหมึกซึมของ Montblanc เอาไว้เซ็นเช็คสมัยทำบริษัท แต่คาดการณ์จากพฤติกรรมตัวเองที่ชอบหมุนปากกาแล้วทำตกประจำ กับความป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ชอบทำปากกาหาย เลยบอกตัวเองว่าอย่าหาทำเลยจ้า หมื่นกว่าบาทน่าจะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าแหง ๆ
แล้วพอมานั่งนึกทบทวนดู ตั้งแต่เรียนจบมหาลัย อุ้มแทบไม่ได้ใช้ปากกาเขียนอะไรจริงจังอีกเลย เพราะงานแทบทุกอย่างใช้พิมพ์ในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เสียมากกว่า 30 ปีที่ผ่านมาเขียนน้อยเสียจนกระทั่งลายมือเริ่มจะดูไม่ค่อยได้ไปแล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทำให้อุ้มอยากเขียนด้วยปากกาลงไปบนกระดาษจริง ๆ คือปากกาหมึกซึมนี่แหละค่ะ แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ชอบปากกา LAMY มาก ซื้อมาเป็นสิบด้ามได้ ทั้งซื้อใช้เองและให้คนอื่น แต่ชะรอยชีวิตอุ้มจะมีสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาที่ดูดแต่ LAMY ให้หายสาบสูญ ทุกวันนี้ไม่มีเหลืออยู่เลยแม้สักด้าม จนด้วยเกล้าจริง ๆ ว่ามันหายไปไหนหมดได้ยังไง ถึงราคาแต่ละด้ามจะไม่ได้แพงมาก แต่ที่ทำหายหมดรวม ๆ กันนี่ก็น้อง ๆ Montblanc อยู่นะ
เพิ่งมาไม่นานนี้เองค่ะที่พบรักใหม่ เข้ากันได้ และทำท่าจะอยู่กันยืด รักครั้งนี้เป็นชาวเยอรมัน ชื่อ Kaweco ออกเสียงเป็นไทยว่า คาเวโค่ ค่ะ
จริง ๆ ทีแรกก็ไม่ได้รู้หรอกนะคะว่าแบรนด์นี้คืออะไร มาจากไหน แต่ด้วยความเป็นคนชอบไปร้านเครื่องเขียน แล้วแถวบ้านมีร้านชื่อ Little Otsu เขาเอามาขายรวม ๆ กันหลายสี ดูแล้วน่ารักสวยดี ราคาไม่แพงมาก ขนาดเล็ก ๆ เหมาะมือดีด้วย เลยซื้อมาลองใช้เล่น ๆ ดูไม่ได้คิดอะไรมาก
เสร็จแล้วพอไปร้านขายของดีไซน์จัด ๆ อีกร้านอย่าง Canoe ก็ไปเห็นคาเวโค่รุ่นท็อป ๆ วางขายอยู่ด้วย
องค์นักสื่อสารมวลชนเริ่มลงสิคะทีนี้ อยากรู้ขึ้นมาว่าปากกานี้มันประเสริฐช้างมูลยังไง ทำไมร้านที่เราชอบมาก 2 ร้านถึงเอามาเชิดชู เลยเริ่มสืบเสาะหาข้อมูล แล้วก็พบว่านี่เป็นปากกาหมึกซึมยี่ห้อเดียวที่ทำรุ่น Sport หรือขนาดกะทัดรัดแบบพกพา ถึงจะเป็นยี่ห้อเก่าแก่ แต่ผู้บริหารใหม่เพิ่งจะมาลุยการตลาดจริงจังไม่กี่สิบปีมานี้ มิน่าอยู่ดี ๆ ถึงเริ่มปรากฏตัวตามร้านเก๋ ๆ หลายร้าน
แต่ก่อนจะพาไปดูโรงงานคาเวโค่ มาย้อนประวัติศาสตร์ไปทำความรู้จักกับ ‘การเขียน’ และ ‘ปากกาหมึกซึม’ กันก่อนดีกว่าค่ะ เพราะว่ามีเรื่องน่าสนใจเยอะเลย
ประวัติศาสตร์การขีดเขียนของมนุษยชาตินั้น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ชาวสุเมเรียนเอาก้านอ้อหรือแท่งไม้แหลมมากดลงไปบนแผ่นดินเหนียว กลายเป็นอักษรคูนิฟอร์ม ซึ่งเราเรียนกันมาแต่เด็กว่าเป็นตัวอักษรแรกของโลก
แต่ความก้าวหน้าในการเขียนมาเกิดขึ้นเมื่อ 4,500 ปีก่อน ในสมัยอียิปต์โบราณ เพราะมีพัฒนาการที่สำคัญ 2 อย่าง คือการคิดค้นหมึกและกระดาษค่ะ สมัยนั้นชาวอียิปต์ใช้ Reed Pen หรือก้านของต้นอ้อ ซึ่งหาได้ทั่วไปตามตลิ่งแม่น้ำไนล์ เอามาเฉือนปลายด้านหนึ่งให้แหลมแล้วผ่าตรงกลาง เพื่อเวลาจุ่มหมึก ก้านอ้อจะยังกักหมึกไว้จนกระทั่งจรดปลายลงไปบนกระดาษปาปิรุส (อันคำว่า กระดาษ หรือ Paper นั้น ก็มาจากคำว่า Papyrus หรือชื่อของต้นปาปิรุสที่เอาก้านมาใช้ทำกระดาษนี่เอง)
เวลาผ่านไปหลายศตวรรษ ก่อนจะมีการใช้ Quill Pen หรือเอาขนนกมาทำเป็นปากกา ข้อดีของขนนกคือก้านเก็บหมึกได้มากกว่า ไม่ต้องจุ่มบ่อย และปลายปากกาอ่อนกว่า ทำให้เขียนหนังสือได้สวยอ่อนช้อยมากขึ้น ภาพจำที่หลายคนมีต่อปากกาแบบนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน วิลเลียม เชกสเปียร์ กับนิ้วเปื้อนหมึกของเขานั่นเอง
แล้วลายมือของคนสมัยนั้นนี่สวยวิจิตรมากกกกกก มองแล้วเพลินตาจริง ๆ
แต่ทีนี้ปากกาขนนกก็ยังมีข้อจำกัด คือเขียนไปแล้วพังง่าย ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ แต่คนสมัยนั้นยังไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาทดแทน จนกระทั่งถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ถึงได้มีนักธุรกิจนามว่า John Mitchell แห่งเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ประดิษฐ์หัวปากกาโลหะ (Steel Nibs) แล้วผลิตออกมาได้ครั้งละเยอะ ๆ ราคาถูก ทำให้ปากกาและการเขียนกลายเป็นเรื่องแพร่หลาย
แต่ถึงแม้หัวปากกาโลหะที่เอาไปเสียบกับด้าม กลายเป็น Dip Pen หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘ปากกาคอแร้ง’ จะทนกว่าปากกาขนนก และทำรูปแบบได้หลากหลาย (ในยุคเฟื่องฟูที่สุดของการค้าขายปากกาในเบอร์มิงแฮมมีการผลิตหัวปากกาออกมาเป็นแสนแบบ!) แต่ปากกาแบบนี้ก็ยังมีข้อจำกัดเดิมอยู่ คือต้องเขียนไปจุ่มหมึกไป พกพาไม่สะดวก
ต้องขอบคุณนักประดิษฐ์ชาวโรมาเนียที่ชื่อ Petrache Poenaru ซึ่งคิดค้นและจดลิขสิทธิ์ปากกาหมึกซึมด้ามแรกของโลกได้ในปี 1827 พเวนารูอธิบายปากกาของเขาว่า เป็น Self-fueling Endless Portable Quill with Ink หรือปากกาแบบพกพาที่ปล่อยหมึกออกมาเองได้อย่างไม่ขาดสาย โดยเขาใส่ท่อหมึกไว้ข้างในด้าม แม้มันจะยังใช้ได้ไม่ดีเท่าไหร่ และยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ก็มีคุณูปการในการเป็นต้นแบบในการพัฒนา Fountain Pen หรือปากกาที่มีหมึกอยู่ในตัวเองรุ่นต่อ ๆ มาทั้งหมด
ชื่อคนสำคัญ ๆ ที่พัฒนาปากกาหมึกซึมจนกลายมาเป็นชื่อยี่ห้อปากกาดัง ๆ ในทุกวันนี้ ก็อย่างเช่น Lewis Waterman, Cross Townsend, S.T. Dupont, George Parker, Walter A. Sheaffer คุ้น ๆ ทั้งนั้นเลยใช่ไหมคะ
ทีนี้ก็มาถึงรักใหม่ของอุ้ม… คาเวโค่ อย่างที่บอกว่าธุรกิจนี้มีมายาวนานตั้งแต่ปี 1883 คือ 100 กว่าปีมาแล้ว ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน ผ่านเจ้าของมาหลายตระกูล ผลิตปากกาหมึกซึมรุ่นต่าง ๆ ออกมามากมาย แต่ Kaweco Sport ขวัญใจนักเขียน เพิ่งจะมาโด่งดังตอนที่ Michael Gutberlet กับพ่อของเขามาซื้อกิจการ แล้วเอาดีไซน์ของปากการุ่นพกพาที่เคยผลิตมาก่อนหน้ามาปัดฝุ่นเสียใหม่ ทำการตลาดวางขายจนโด่งดังไปทั่วโลก
อันว่าปากกาคาเวโค่รุ่น Sport นั้น มันดีงามตรงที่ขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา พกสะดวก ราคาย่อมเยา มีสีสันหลากหลาย พอเปิดปลอกปากกาแล้วเอาไปเสียบกับด้าม ก็จะกลายเป็นปากกาขนาดมาตรฐาน จับถนัดมือ และเขียนดีด้วย ถือว่าเป็นดีไซน์ที่ลงตัว อยากกราบงาม ๆ อยากเห็นว่าปากการุ่นนี้ผลิตยังไง ลองไปดูในวิดีโอนี้กันค่ะ
ทุกวันนี้คุณไมเคิลในวัย 70 ก็ยังฟิตไปออกงานแฟร์ ให้สัมภาษณ์ และมาทำงานที่ร้าน Kaweco หน้าโรงงานในเมือง Nürnberg อยู่เสมอ ส่วนอุ้มนั้นก็ยังหาเรื่องสั่ง Kaweco Sport กับหมึกสีใหม่มาใช้อยู่นั่น ล่าสุดที่เพิ่งมาส่งวันนี้คือสีเขียว Smooth Sage รุ่นนี้ค่ะ สวยเนอะ
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว แอบแนะนำหมึกดีงามอีก 2 ยี่ห้อ คือ J. Herbin กับ Pilot Iroshizuku เป็นหมึกที่อุ้มใช้มานานแสนนาน เพราะสีสวยใส แล้วมีสีให้เลือกเยอะมาก แต่ละสีมีที่มาจากแรงบันดาลใจในธรรมชาติ ใช้แล้วรู้สึกเป็นคนดี ฮ่า ๆ
แต่จริง ๆ การใช้ปากกาหมึกซึม นอกจากให้ความรู้สึก Nostalgic ย้อนยุค เหมือนฟังเพลงจากแผ่นไวนิลแล้ว ยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยนะคะ โดยเฉพาะถ้าใช้การเติมหมึก ไม่ใช่ใช้หลอดหมึกแบบหมดแล้วทิ้ง เพราะเป็นการช่วยลดขยะจากปากกาลูกลื่นที่ถูกทิ้งบ่อย ๆ
อุ้มรู้สึกว่าเวลาเขียนอะไรด้วยปากกาหมึกซึม เราต้องใช้ความตั้งใจ เพราะแค่จะเริ่มเขียนก็ต้องหันปลายปากกาให้ถูกด้าน ไม่งั้นมันจะเขียนไม่ได้ แล้วก็ต้องคอยเติมหมึก เช็ดถูให้สะอาด ปากกาด้ามหนึ่งใช้ไปยาวนาน เพราะฉะนั้นจึงมีความผูกพัน หัวปากกาที่เขียนบ่อย ๆ ก็จะถูกฝนให้เข้ากับวิธีการเขียนของเรา แล้วอีกอย่าง เขาบอกว่าเวลาเซ็นลายเซ็นด้วยปากกาหมึกซึมจะปลอมได้ยาก โดยเฉพาะถ้าลายเซ็นเราต่อเนื่องแบบไม่ยกปากกา
ทำเป็นอธิบายเหตุผลเยอะไปอย่างนั้นแหละ เหตุผลเดียวเลยง่าย ๆ ว่าทำไมอุ้มถึงใช้ปากกาหมึกซึมก็คือ ชอบ ฟังแล้วซึมไปเลยปะ