ต้นเดือนพฤศจิกายน
ผมนั่งอยู่ที่เดิมตั้งแต่เช้าจนพลบค่ำเป็นเวลาหลายวัน ใช้ซุ้มบังไพรแคบ ๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งลำห้วย ซึ่งขยายกว้างเพราะสายน้ำหลากรุนแรงในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ฝั่งตรงข้ามเยื้อง ๆ กับซุ้มบังไพร ตลิ่งสูงมีร่องรอยสัตว์ป่าเดินลงลำห้วยเป็นเส้นทางประจำ บริเวณนี้ระดับน้ำไม่ลึกนัก ช้าง วัวแดง รวมทั้งหมูป่า เลือกใช้จุดนี้เป็นที่ข้ามมาอีกฝั่ง

ผมใช้เวลาร่วมกับพวกมัน ไม่ได้รับความไว้วางใจนักหรอก ช้างเดินข้ามน้ำเรื่อย ๆ ใช้งวงดูดน้ำส่งเข้าปาก มันชะงักเมื่อเดินถึงกลางลำห้วยเพราะได้กลิ่นผม หยุดเขม้นมองก่อนค่อย ๆ เดินต่อ สายตามองมาทางผมตลอด เช่นเดียวกับฝูงวัวแดงและหมูป่า กลิ่นกายคนสำหรับพวกมันคือสัตว์ผู้ล่าชนิดหนึ่งที่พวกมันไม่เคยวางใจ

ดูเหมือนจะมีแต่นกยูงซึ่งคล้ายจะไม่สนใจอะไร นกยูงตัวผู้ในช่วงเวลานี้มีหางยาวสลวย หางยาวเป็นเครื่องมือสำหรับรำแพนอวดความแข็งแรงเพื่อให้ตัวเมียเลือก ขณะตัวเมียนับสิบตัวคล้ายจะไม่สนใจ และเมื่อมีตัวผู้เข้ามามากกว่าหนึ่งตัว การรำแพนประชันจึงเลี่ยงไม่พ้น

นกกระเต็นใหญ่ส่งเสียงก้อง มันบินมาเกาะกิ่งไผ่ที่ยาวโค้งลง การหันหลังให้ดวงอาทิตย์ช่วยซ่อนตัวจากปลา หากมองขึ้นมาจะเห็นเพียงเงาดำ เป็น ‘ทริค’ อย่างหนึ่งที่เหล่านกกินปลาใช้ กระนั้นก็เถอะ เช่นเดียวกับสัตว์ผู้ล่าตัวอื่น ๆ ร่างกายที่ได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม รวมทั้งทักษะต่าง ๆ ซึ่งรับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ก็ใช่ว่าจะทำให้การโผลงจับปลาประสบผลทุกครั้ง
บินขึ้นกลับมา เกาะบนกิ่งไผ่ด้วยปากว่างเปล่า รอเพื่อเริ่มต้นอีกครั้ง
กับเหล่าสัตว์ผู้ล่า ความล้มเหลวของพวกมันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเห็น
การมาถึงที่นี่มีโอกาสได้ ‘เห็น’ ความเป็นไปรอบ ๆ ใช้เวลาไปไม่น้อย หนทางมาถึงไม่ราบเรียบ เพราะมันเป็นเส้นทางที่เราเรียกว่า ‘ทางป่า’

การเดินทางสัญจรบนทางในป่าถึงวันนี้มีเครื่องมือบอกพิกัดอันบอกได้ว่าตอนนี้เราอยู่ที่ใด รวมทั้งบอกระยะทางทิศทางของจุดหมายที่กำลังมุ่งหน้า แม้ยังไม่เคยไปมาก่อนได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ละเลยหรือทิ้งวิธีการเดิม ๆ ขณะเดินทางในป่า การสังเกตทิวเขา ต้นไม้ จำเป็น สิ่งหนึ่งที่คนในป่าใช้คือตั้งชื่อเรียกสถานที่นั้น ๆ ไว้เป็นที่รับรู้ ใครพูดถึงก็จะเข้าใจกัน ทั้งเส้นทางที่ใช้รถ และด่านที่เราใช้ร่วมกับสัตว์ป่า
เรามี ‘มอเปรต’ ฟังชื่อแล้วน่ากลัว แต่เห็นภาพว่าชันมาก มี ‘เนินกระทิง’ มีคนถูกกระทิงวิ่งเข้าชาร์จ จนซี่โครงหักที่เนินนี้ อีกทั้งมี ‘มอตาจ่อย’ ได้ชื่อว่าชันและลื่น กระทั่งรถกำลังดี ๆ ก็ไต่พ้นไปได้ยาก ต้องเข็นรถจนจ่อยไปตาม ๆ กัน
ชื่อส่วนใหญ่สำหรับผู้ไม่คุ้นก็เข้าใจได้ แต่บางชื่อต้องถามที่มาที่ไปจากคนเก่า ๆ
ทางป่านั้น ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูกาลใดก็ผ่านไปไม่ง่ายนัก อุปสรรคเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะในช่วงฝนซึ่งกำหนดเวลาไม่ได้ เพราะเราไม่รู้หรอกว่าต้องเลื่อยไม้กี่ต้นที่ล้มขวาง ไม่รู้ว่าลำห้วยจะมีระดับน้ำสูงเกินรถจะข้ามได้หรือไม่ บางครั้งรถติดในหล่มจนต้องแขวนเปลนอนข้าง ๆ รถ รุ่งเช้าค่อยหาทางนำรถขึ้นจากหล่มต่อ
เช่นนี้เราอาจได้รับเกียรติให้เป็นชื่อหล่มนั้น
เรื่องจริงขณะอยู่บนทางในป่าอย่างหนึ่งคือ เมื่อรถติดหล่ม ดูเหมือนสายฝนพร้อมโปรยมาร่วมวง
เมื่อผ่านพ้นหล่มแรกไปแล้ว มีอีกหลายหล่มรออยู่เบื้องหน้า
สัญจรอยู่บนทางป่า หากยังตั้งใจไปให้ถึงจุดหมาย การผ่านพ้นหล่มไปให้ได้จำเป็น อีกเรื่องที่สำคัญคือขึ้นจากหล่มที่ติดอยู่ให้ได้ โดยไม่พะวงกับหล่มที่รออยู่ข้างหน้า

ทางป่า นอกจากฝนและหล่มลึกลื่นไถล บรรดารากไม้ใหญ่น้อยที่โผล่พ้นดินจะต้านล้อ ถ้าจับพวงมาลัยรถไม่ดีมืออาจถูกพวงมาลัยหมุนอย่างรวดเร็วฟาดมือเคล็ด จึงมีการสอนต่อ ๆ กันมาถึงวิธีขับรถในช่วงฤดูฝน และทักษะการเดินทางในป่าอีกสารพัด
รากไม้โผล่เพราะหน้าดินถูกสายน้ำพัดไปหมด อีกจุดที่ต้องระวังมาก ๆ คือสะพานข้ามลำห้วย
สะพานบางแห่งมีระดับต่ำ ๆ บางแห่งสูงลิบจากเบื้องล่าง แต่ที่เหมือน ๆ กันทุกสะพานคือ มีเพียงขอนไม้ขนาดพอดีล้อรถ 2 ท่อนพาดอยู่เท่านั้น
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะพลาดตกสะพาน ไม่ว่าจะเคยผ่านสะพานนี้มานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว
ฝนตก เดินในทางป่า เสื้อผ้ามี 2 ชุด ไว้เดินและอยู่ในแคมป์ ตกเย็นก่อกองไฟเสื้อผ้าเปียกย่างให้แห้ง รมควันจนเหลือง กลิ่นควันไฟติดทนนาน
กับคนทำงานในป่า หนทางกันดารและสิ่งที่พบเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ความยากลำบาก เป็นสิ่งอันมากับงานที่เราทำ

ทุก ๆ วันผมอยู่บนเส้นทางขรุขระ รถกระเด้งกระดอน ตัดฟันไม้ไผ่ เลื่อยต้นไม้ที่ล้มขวาง ขุดทางเป็นบั้ง ๆ เพื่อไม่ให้รถลื่นไถล ลากสายวินซ์ หลายครั้งปูผ้านอนข้าง ๆ รถที่จมโคลน
หากเปรียบทางป่าเป็นคล้ายเส้นทางเดินของชีวิต ผมเลือกเดินบนทางป่านี้มานาน ว่าตามจริงมันไม่ใช่การเดินสู่จุดหมาย ตามหา หรือแสวงหาอะไร
เพราะผมถึงจุดหมายนั้นมานานแล้ว นับตั้งแต่วันที่ผมเลือกเดิน บน ‘ทางป่า’
แต่ก็นั่นแหละ ผมต้องใช้เวลาไปไม่น้อยกว่าจะรู้ความจริงนี้…