คุณรู้จักซีรีส์สืบสวนสอบสวนอย่าง CSI ไหม แล้ว NCIS, Bones หรือ Partners for Justice ล่ะ

ถ้ารู้จัก คงเคยได้ยินชื่ออาชีพ ‘นักนิติวิทยาศาสตร์’ อยู่บ้าง พวกเขาคือผู้เชี่ยวชาญที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล เพื่อช่วยสืบคดีและค้นหาความจริงผ่านศพ 

ในประเทศไทย นักนิติวิทยาศาสตร์คือหนึ่งในทีมเบื้องหลังของ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ผู้ช่วยพิสูจน์อัตลักษณ์เพื่อติดตามคนหายและพาโครงกระดูกนิรนามกลับบ้าน

ฟังดูอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้ว ‘คนหาย’ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับใคร เมื่อไหร่ก็ได้ อย่างที่เราเคยเห็นฉลากน้ำดื่มที่มีภาพเด็กหาย เห็นโพสต์ตามหาญาติในเพจมูลนิธิกระจกเงา รวมไปถึงประกาศผ่านข่าวและหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน

'สถาบันนิติวิทยาศาสตร์' ศาสตร์การอ่านบันทึกชีวิตบนกระดูก พาคนหายและศพนิรนามกลับบ้าน

แต่ไม่ว่าชีวิตพวกเขาจะอยู่ในสถานะใด เป้าหมายของ พันตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ นก-นฤมล ภราสมพงษ์ นักนิติวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มตรวจวิเคราะห์กระดูก กองพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม คือ ‘การพาทุกคนกลับบ้าน’ 

ครั้งนี้ The Cloud จึงขอนำทุกท่านเข้าสู่โลกเบื้องหลังอันเต็มไปด้วยความหวังที่ไม่เคยริบหรี่ พบเจอกับกลุ่มคนผู้เปี่ยมพลังในการเปลี่ยนความหวังให้เป็นความจริง

'สถาบันนิติวิทยาศาสตร์' ศาสตร์การอ่านบันทึกชีวิตบนกระดูก พาคนหายและศพนิรนามกลับบ้าน

3,291
สถานะ : พบตัว / ส่งคืน

ครอบครัวหนึ่งลาออกจากงาน เดินทางตั้งแต่เหนือจรดใต้ของประเทศไทยเพื่อตามหาคนรักที่หายไป โดยมีเพียงกระดาษ A4 ที่พรินต์รูปคนสำคัญและความหวังที่จะพาเขานั้นกลับบ้าน

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีบุคคลสูญหายกว่า 2,346 ราย บุคคลนิรนามอีก 1,663 ราย ศพนิรนามอีก 2,848 ราย และตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกวันตามสถิติในหน้าเว็บไซต์ของ คณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหาย และการพิสูจน์คนนิรนามและศพนิรนาม (ค.พ.ศ.)

ตัวเลขหลักพันประกอบจากชีวิตหลักหน่วยที่อาจเป็นได้ตั้งแต่คนชราผู้มีโรคอัลไซเมอร์ติดตัว ผู้ป่วยที่มีอาการหลงลืม เด็กที่ประสบอุบัติเหตุจนจำอะไรไม่ได้ หรือแม้กระทั่งผู้เคราะห์ร้ายจากคดีฆาตกรรม

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จึงทำงานทั้งในแง่ประกาศคนหาย ประกาศคนนิรนาม ประกาศศพนิรนาม จนถึงพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ทั้งจากข้อมูล ลายนิ้วมือ ผลทันตกรรม ไปจนถึง DNA เพื่อช่วยในการทำคดี

'สถาบันนิติวิทยาศาสตร์' ศาสตร์การอ่านบันทึกชีวิตบนกระดูก พาคนหายและศพนิรนามกลับบ้าน

เราขอฉายภาพให้เข้าใจก่อนว่า พวกเขามีภารกิจช่วยคนและศพ ประเทศไทยมี ‘คนหาย’ ที่ไม่แน่ใจในสถานะ พวกเขาคือคนที่ญาติแจ้งความกับตำรวจ และยินยอมเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ ‘สังคม’ ช่วยแจ้งเบาะแส 

ประเทศไทยมี ‘คนนิรนาม’ ที่ยังมีชีวิต แต่จำชื่อตนเองไม่ได้ ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ถูกบ้างผิดบ้าง อีกทั้งบางคนเดินทางข้ามจังหวัด จนการตามหาคนรู้จักกลายเป็นเรื่องยาก

สุดท้าย ประเทศไทยมี ‘ศพนิรนาม’ จำนวนนับพันที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร บางคนมาในสถานะที่ญาติยังจดจำใบหน้าได้ และบางคนมาเพียงกระดูก ถึงอย่างนั้น นักนิติวิทยาศาสตร์ก็มองว่า กระดูกเพียงไม่กี่ชิ้นคือหลักฐานสำคัญที่ทำให้รู้ว่า พวกเขาเคยมีชีวิตอยู่บนโลก

แต่การนำคนหายและศพกลับบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฐานข้อมูลคนหายในไทยยังกระจัดกระจายไม่รวมเป็นหนึ่ง บ้างไม่ถูกบันทึกลงระบบ ไหนจะเรื่องสิทธิในการเปิดเผยข้อมูลที่คลุมเครือ

'สถาบันนิติวิทยาศาสตร์' ศาสตร์การอ่านบันทึกชีวิตบนกระดูก พาคนหายและศพนิรนามกลับบ้าน

“เราไม่ทราบว่าญาติของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นใคร จะเปิดเผยข้อมูลลงเว็บให้ญาติมาหาก็ยังมีความก้ำกึ่งเรื่องสิทธิมนุษยชน เราจึงควรมี พ.ร.บ. บุคคลสูญหาย บุคคลนิรนาม หรือศพไร้ญาติ เพื่อระบุข้อกำหนดให้ชัดเจนในการเก็บ DNA เผยแพร่ข้อมูล รวมถึงทำให้สังคมรู้ว่านี่คือธุระของทุกคน”

นอกจากมูลนิธิกระจกเงาผู้ทำงานด้านบุคคลสูญหายมายาวนาน ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยังพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน พัฒนาระบบ CIR เพื่อให้ข้อมูลที่ญาติกรอกและข้อมูลที่หน่วยงานรับแจ้งจับคู่กันได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงจัดระเบียบการฝังศพนิรนามในสุสานศพไร้ญาติ เพื่อให้พวกเขายังมีโอกาสกลับสู่ครอบครัว

“ในสุสานต่างจังหวัดไม่มีการจัดการที่เป็นระบบ เราเลยทำ MOU ร่วมกับมูลนิธิสว่างอริยะธรรมสถาน (เม่งเลี้ยง) และกลุ่มสหพุทธรรมสงเคราะห์ (พ้งเลี้ยง) เพื่อสร้างมาตรฐานการเก็บศพ กำหนดว่าเก็บไว้กี่ปี ระบุเงื่อนไขก่อนเผาทำลาย เราไม่อยากให้ถึงวันที่ญาติมา แล้วพบว่าคนในหลุมถูกเผาไปแล้ว 

“แล้วเรายังมีกรณีที่ญาติทราบว่าศพอยู่กับที่นี่ แต่ไม่มีเงินมารับกลับ ทางเราเองก็มีต้นทุนในการดำเนินงานจำกัดสวนทางกับจำนวนคนหาย ในอนาคตจึงมีแผนเปิดมูลนิธิของสถาบันเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม”

ผู้อำนวยการเล่าพร้อมพาเราขึ้นไปยังห้องเก็บกระดูก เพื่อพบกับนฤมล นักนิติวิทยาศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลังการวิเคราะห์กระดูก และส่งศพนิรนามกลับบ้าน

'สถาบันนิติวิทยาศาสตร์' ศาสตร์การอ่านบันทึกชีวิตบนกระดูก พาคนหายและศพนิรนามกลับบ้าน

จุดเริ่มต้นจากคำถามของคุณหญิงพรทิพย์

“คิดว่าความรู้ของตัวเองมีประโยชน์อะไร ไหนลองบอกมา” คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ (ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการและอาจารย์ในสมัยนั้น) ถามนฤมล

เธอเพิ่งส่งใบสมัครเข้าทำงานที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และถูกเรียกให้เข้าสัมภาษณ์ภายในไม่กี่วัน

“หนูรู้จักแค่โครงกระดูกมนุษย์และร่างกายมนุษย์ค่ะ แต่ไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เลย” เธอตอบ

“งั้นมาลองทำดูโดยใช้ความรู้ที่มี พี่กำลังต้องการความรู้นั้น”

นฤมลเป็นเด็กสายวิทย์ เรียนจบปริญญาตรีคณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าทำงานเป็นนักรังสีเทคนิคในแผนกเอกซเรย์ของโรงพยาบาล ก่อนเรียนต่อจนจบปริญญาโทกายวิภาคศาสตร์ เพราะตนเองคล่องเรื่องกระดูกมนุษย์ แต่ตอนนั้นยังไม่มีคำว่านิติวิทยาศาสตร์อยู่ในความคิดของเธอ

“เพื่อนเคยแซวตอนเรียนปริญญาโทว่า จบแล้วไปทำงานกับอาจารย์พรทิพย์สิ เพราะเรามักเห็นท่านนั่งทานข้าวในโรงอาหาร เราไม่กลัวศพ เราไม่กลัวเลือด แต่ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกคล้อยตามเพื่อน

“พอจบกายวิภาคมา คนส่วนใหญ่ไปเป็นอาจารย์ เราก็คิดอย่างนั้น จนไปเจอเว็บไซต์สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ประกาศรับคนจบปริญญาสาขาที่เราเรียนหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เราก็ส่งไปจนได้สัมภาษณ์กับอาจารย์พรทิพย์ในอีก 2 วันถัดมา”

'สถาบันนิติวิทยาศาสตร์' ศาสตร์การอ่านบันทึกชีวิตบนกระดูก พาคนหายและศพนิรนามกลับบ้าน

ยุคนั้นปริญญาโทกายวิภาคมีนักศึกษาเรียนจบน้อย ในรุ่นของนฤมลมีเพียง 2 คน เธอจึงกลายเป็นบุคลากรคุณภาพในวันที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มก่อตั้ง ถึงขั้นที่คณะกรรมการคุยกันว่า โปรไฟล์นี้คือคนที่คุณหญิงต้องการ

“พอสัมภาษณ์เสร็จเราถามอาจารย์พรทิพย์ว่า หนูได้ไหมคะ ท่านบอกว่า มาทำงานได้เลย อาจารย์มอบหมายให้อยู่ศูนย์พิสูจน์บุคคลสูญหาย จนถึงวันนี้ 19 ปีแล้ว เราก็ยังทำงานที่นี่อยู่”

เข้างานวันแรก ๆ หน้าที่ของนฤมลคือการรับศพและเดินทางไปที่เกิดเหตุเพื่อค้นหากระดูก ฟังดูเหมือนง่าย แต่เส้นทางการทำงานที่แท้จริงขรุขระเสมอ เธอต้องขวนขวายอ่านหนังสือ ปรึกษาขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ และสอบชิงทุนเพื่อไปศึกษาการทำงานในต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือการไปเรียนที่ฮาวายใน Forensic Science Academy ห้องปฏิบัติการนิติมานุษยวิทยา (Central Identification Laboratory, Hawaii) ที่ดีที่สุดในโลก

“อาจารย์พรทิพย์เห็นความสำคัญเรื่องนิติวิทยาศาสตร์มานานแล้ว เพราะประเทศไทยในอดีตไม่มี กระดูกหรือศพเน่าจึงถูกละเลยเพราะไม่มีข้อมูล แต่ด้วยการขับเคลื่อนของอาจารย์และอีกหลายท่าน ไทยจึงได้ร่วมมือกับต่างประเทศ และตัวเองก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่จนมีความรู้ในการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ”

'สถาบันนิติวิทยาศาสตร์' ศาสตร์การอ่านบันทึกชีวิตบนกระดูก พาคนหายและศพนิรนามกลับบ้าน

Diary of Life

หากศพอยู่ในสภาพที่แพทย์ชันสูตรตรวจสอบอะไรต่อไม่ได้ ด่านต่อไปคือการค้นหาข้อมูลจากกระดูก หน้าที่ของนฤมลคือการรับศพจากห้องแล้วนำไปสลายที่นครนายก เพื่อเอาเนื้อเยื่อออกและทำความสะอาด จากนั้นจึงตรวจกระดูกอย่างละเอียดเพื่อค้นหาร่องรอย ความผิดปกติ เช่น โรคและบาดแผลต่าง ๆ

“ไม่ใช่ทุกเคสที่มีกุญแจให้เราไข แต่บางเคสมี เช่น Defend Wound คนอาจยกแขนขึ้นมาป้องกันตัวจนเกิดรอยลึกบนกระดูก ถ้าพี่เห็นรอยแตกบนกระดูกเป็นรอยสันคมแนวขนาน แปลว่าอาจเกิดจากของมีคม

“หรือสมมติเจอกองเนื้ออยู่บนพื้น พี่เอามาตรวจแล้วเจอรูกลม ๆ บนกระดูก แปลว่าสาเหตุการตายอาจไม่ใช่รถทับ เพราะมีรอยกระสุน ใครบ้างจะปล่อยให้รถทับแล้วมายิงซ้ำ หรือเจอศพแล้วค่อยมายิง หากพี่ส่งสิ่งที่ตรวจเจอให้พนักงานสอบสวน อย่างน้อยเขาอาจเอาไปเป็นข้อมูลสำหรับทำคดีต่อได้” นฤมลเล่าประสบการณ์

ด้วยความที่คลุกคลีกับศพและกระดูกมานาน เพียงการมองด้วยตาเปล่าก็ทราบได้ว่านั่นคือกระดูกคนหรือสัตว์ เพราะฉะนั้น หากสงสัย โปรดส่งมาให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ

'สถาบันนิติวิทยาศาสตร์' ศาสตร์การอ่านบันทึกชีวิตบนกระดูก พาคนหายและศพนิรนามกลับบ้าน

“เราจะนำกระดูกที่ได้ทั้งหมดมาเรียง เพื่อสร้าง Biological Profile ระบุเพศ อายุ เชื้อชาติ ส่วนสูง สาเหตุการตาย ซึ่งมีส่วนช่วยในการหาคนหายและทำคดี อย่างกระดูกชิ้นนี้ที่มีเหล็กดามอยู่” เธอชี้

เหล็กที่ว่าเป็นข้อมูลพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลชิ้นสำคัญ หากทราบเพิ่มเติมว่าศพนี้เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 19 – 30 ปี มีเหล็กดามเข่า เจ้าหน้าที่จะลดจำนวนกลุ่มเป้าหมาย โดยตีวงไปยังผู้สูญหายที่เพศ ช่วงอายุ ประวัติทางการแพทย์ และข้อมูลจากญาติตรงกัน

“จากที่มีข้อมูลคนสูญหายเพศชายในระบบ 100 คน อาจเหลือแค่ 20 คนที่ขาเจ็บ หากศพดามเหล็กที่ขาขวา อาจเหลือที่ตรงกันแค่ 5 คน หลังจากนั้นจะมีการ Confirm Test โดยนำญาติมาที่สถาบันฯ เพื่อตรวจสอบหลักฐาน รูปพรรณสัณฐาน และข้อมูลเพิ่มเติมทางการแพทย์ ถ้าเข้าข่ายจึงส่งไปตรวจ DNA”

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘ข้อมูล’ โดยเฉพาะข้อมูลจากญาติพี่น้อง หากใครมีประวัติทันตกรรมหรือประวัติทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นผลเอกซเรย์ ผ่าตัด หรือดามเหล็ก โปรดเก็บเอาไว้ให้ดี สิ่งนี้คือหลักฐานที่จะตามหาญาติของท่านจนพบ

'สถาบันนิติวิทยาศาสตร์' ศาสตร์การอ่านบันทึกชีวิตบนกระดูก พาคนหายและศพนิรนามกลับบ้าน
'สถาบันนิติวิทยาศาสตร์' ศาสตร์การอ่านบันทึกชีวิตบนกระดูก พาคนหายและศพนิรนามกลับบ้าน

แล้วในคดีสำคัญ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ตรวจสอบไม่มีอคติในการทำงาน

นฤมลบอกว่าทุกกระบวนการเป็นไปตามหลักสากลที่เรียกว่า Blind Analysis คือเธอไม่ทราบข้อมูลของโครงกระดูกเลย ไม่ว่าจะประวัติ สำนวนคดี หรือสถานที่ที่พบ เพื่อปฏิบัติกับกระดูกทุกโครงอย่างเท่าเทียม

“สุดท้ายพี่จะรู้ข้อมูลเองเมื่อศพบอก สมมติ พี่เจอรากไม้ตามโพรงจมูก พี่จะเขียนลงในรายงานว่ามีรากไม้ ซึ่งอาจตรงกับคดีว่า ตำรวจไปเก็บมาจากป่า ขุดจากดิน หรืองมจากในน้ำ บางทีเราไปพลิกป่าหาเอง ได้มา 1 ชิ้นก็ถือว่าได้ แต่ข้อมูลจะน้อยกว่าได้มาทั้งโครง”

ภาพ : นันโท ศาสตร์ประสิทธิ์

เกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา งานนี้สอนเธอว่า กระดูกที่คนอื่นมองเป็นเพียงกระดูก แท้จริงแล้วคือสมุดบันทึกชีวิตที่ไม่ใช่ใครก็เปิดอ่านได้

“แต่เราคือคนนั้น ใครเคยแขนหัก ขาหัก มันบันทึกอยู่ในกระดูก ต่อให้ผ่านไป 10 – 20 ปีมันก็จะถูกบันทึกอยู่อย่างนั้น พี่จะเห็นร่องรอย พี่จะรู้ว่าเขามีตัวตน แต่ถ้ากระดูกนี้ไปอยู่กับคนอื่น เป็นผู้เคราะห์ร้ายสักคนที่ล้มอยู่ที่ไหนสักแห่ง กระดูกของพวกเขาอาจกระจัดกระจาย ตัวตนแตกสลาย และหายไปตลอดกาล

“อะไรที่จะบอกกับประชาชนได้ คืออยากให้ช่วยแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อเก็บกระดูกที่คุณพบมาให้เรา ไม่ต้องกังวลว่านั่นจะเป็นกระดูกสัตว์แล้วใครจะว่าอะไร หากนั่นเป็นคนที่คุณรัก คุณก็คงคิดเหมือนกันว่าอยากเพิ่มโอกาสในการหาเขาให้เจอ”

'คนหายไม่ใช่เรื่องไกลตัว' คุยกับทีมงานสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการพาคนหายและศพนิรนามกลับบ้าน

จะรอวันได้พบเธอ

“พี่ทำงานนี้มา 19 ปี ไม่ได้สำเร็จทั้งหมด แต่ก็หาเจอหลายเคส พี่ไม่ได้ไปคุยกับญาติเขาโดยตรง แต่ดีใจอยู่ข้างหลังทุกครั้งที่มีน้องมาบอกว่า เราได้คืนคนสำคัญให้ครอบครัว 

“มีจริง ๆ พ่อแม่ที่แข็งแรงดีเดินออกไปตลาด แต่หายไปเป็น 10 ปี บางคนความจำดีแต่ดันถูกรถเฉี่ยวจนหลงลืม ถูกส่งไปสถานสงเคราะห์ บางคนหนีออกมาเพราะจะกลับบ้าน แต่ดันหลงไปไกลกว่าเดิม ลูกหลานลาออกจากงานเพื่อตามหา หากเขารู้ว่าสุดท้ายพ่อแม่อยู่ที่นี่ อย่างน้อยชีวิตเขาก็ได้เดินต่อ อย่างน้อยเขาก็ได้พ่อแม่คืน

“กระดูกที่คุณเก็บมาให้เราตรวจ คุณรู้ไหมว่าเขาตามหากันขนาดไหน” นฤมลเล่าอย่างตั้งใจ

ภายในห้องเก็บกระดูกของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีกระดูกนิรนามรอคอยการกลับบ้านกว่า 1,600 โครง จาก 4 จังหวัดที่สถาบันรับผิดชอบ อาวุโสที่สุดอยู่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 และมีอีกมากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย

ภาพ : นันโท ศาสตร์ประสิทธิ์

“เรามีกลุ่มพิสูจน์อัตลักษณ์ที่ติดต่อกับญาติ กลุ่มบริหารจัดการฐานข้อมูลเพื่อสร้างศูนย์กลางข้อมูลเดียวกันทั้งประเทศ กลุ่มห้องปฏิบัติการทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานจากศพ และกลุ่มติดตามคนหายที่ทำงานกับทุกภาคส่วนทั้งตำรวจและโรงพยาบาล คือเก็บข้อมูลกับคนไข้เพื่อตามหาญาติเลย เราไม่อยากให้เขาจากไปแล้วค่อยเก็บข้อมูล เพราะหากเจอเร็วย่อมเป็นประโยชน์กว่า”

นอกจากความรู้สึก การตามหาคนหายและระบุตัวตนศพนิรนามยังเป็นเรื่องของการพิทักษ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะลบคำสบประมาท หาตัวคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมาย คืนความยุติธรรมในคดี รวมถึงมอบสิทธิอันชอบธรรมคืนให้กับครอบครัว ออกใบมรณบัตร สิ้นสุดคดี ยุติการชำระหนี้แทน 

“ทั้งหมดเป็นบริการประชาชน ตั้งแต่แจ้งหาย เก็บหลักฐาน เก็บ DNA จนถึงรับศพกลับบ้าน ไม่มีการเก็บค่าบริการทั้งคนหายและการตรวจพิสูจน์ศพนิรนาม เว้นแต่เป็นการตรวจที่ไม่ใช่ทางคดี

“การพาศพกลับบ้านอาจไม่ได้เป็นประโยชน์กับผู้ตาย แต่เป็นการทำเพื่อคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เราอยากให้สังคมตระหนักถึงเรื่องนี้ แล้วมาแจ้งเบาะแส เก็บกระดูกมาพิสูจน์ เราจะพาพวกเขากลับบ้าน”

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์