การส่งต่อธุรกิจครอบครัวสู่รุ่นถัดไปเป็นสิ่งสำคัญที่อาจส่งผลชี้เป็นชี้ตายกับธุรกิจเลยทีเดียว ครอบครัวธุรกิจจึงมักเตรียมทายาทให้พร้อมที่จะรับช่วงกิจการแต่เนิ่น ๆ

การเตรียมความพร้อมในแต่ละธุรกิจมีความแตกต่างกันไปในหลายรูปแบบ ทั้งการให้ทายาทเริ่มเข้าไปเรียนรู้จากการทำงานในฐานะลูกจ้าง การเป็นผู้บริหารฝ่ายงานต่าง ๆ การเป็นกรรมการบริษัท ตลอดจนการส่งมอบตำแหน่งผู้นำบริษัทให้ทายาท โดยผู้นำรุ่นก่อนถอยห่างออกมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำแทน

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างผู้นำ 2 รุ่นย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากผู้บริหารรุ่นก่อนไม่ปล่อยวางและยังแทรกแซงการทำงานของผู้บริหารรุ่นใหม่อยู่ การส่งต่อธุรกิจเป็นเพียงแค่การมอบตำแหน่งผู้นำ โดยไม่ได้มอบอำนาจการบริหารที่แท้จริงให้ทายาทด้วย

ความขัดแย้งนี้อาจนำไปสู่การหมดแรงจูงใจในการทำงานของผู้นำรุ่นใหม่ จนถึงขั้นถอดใจและถอยห่างจากธุรกิจไปในที่สุด หรือในทางตรงกันข้าม อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าและบังคับให้ผู้นำรุ่นเก่าต้องยอมหลีกทางไปแบบไม่เต็มใจ

ทั้ง 2 กรณีนี้เกิดกับนักธุรกิจที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก 

นักธุรกิจคนนี้คือ เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ผู้ก่อตั้งบริษัท ‘Ford Motor’ และผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก

Ford ธุรกิจครอบครัวที่สำเร็จระดับโลก แต่พ่อลูกขัดแย้งกันแบบดุดันไม่เกรงใจใคร

Henry Ford

เฮนรี ฟอร์ด เกิดปี 1863 ในฟาร์มในมลรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เขาไม่ได้เรียนมัธยมปลาย แต่สนใจเครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ ในปี 1899 เฮนรีก่อตั้งบริษัท Detroit Automobile แต่เนื่องจากรถยนต์ที่ผลิตได้มีคุณภาพไม่ดีพอและราคาสูงกว่าที่เฮนรีพอใจ เขาจึงเลิกกิจการไป

ต่อมาในปี 1901 เฮนรีตั้งบริษัทรถยนต์อีกครั้ง ชื่อว่าบริษัท Henry Ford แต่เขาได้ถอนตัวออกมาในปีถัดมา ส่วนบริษัทนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Cadillac Motor ซึ่งภายหลังบริษัท General Motors (GM) ซื้อไปในปี 1909 และยังคงเป็นของ GM จนถึงปัจจุบัน

ส่วนเฮนรีออกมาตั้งบริษัทรถยนต์ใหม่เป็นครั้งที่ 3 ในปี 1903 ใช้ชื่อว่าบริษัท Ford Motor บริษัทนี้ก็คือบริษัทรถยนต์ Ford ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง

บริษัท Ford Motor ตั้งอยู่ที่เมืองดีทรอยต์ ในมลรัฐมิชิแกน เมื่อเริ่มแรกการผลิตต้องใช้คนงาน 2 – 3 คนในการประกอบรถยนต์แต่ละคันจากชิ้นส่วนต่าง ๆ กระบวนการนี้ใช้เวลานาน ทำให้ในช่วงแรกผลิตรถยนต์ในแต่ละรุ่นได้ไม่มากนัก

Ford ธุรกิจครอบครัวที่สำเร็จระดับโลก แต่พ่อลูกขัดแย้งกันแบบดุดันไม่เกรงใจใคร

‘Model T’ ที่เปลี่ยนโลก

ปี 1907 เฮนรีประกาศว่า จะผลิตรถที่ขนาดใหญ่พอสำหรับครอบครัว แต่เล็กพอที่คนทั่วไปจะขับและดูแลได้ สร้างด้วยวัสดุชั้นดี โดยแรงงานที่มีคุณภาพสูงสุด ใช้งานง่ายที่สุดเท่าที่วิศวกรรมสมัยใหม่ออกแบบได้ แต่ราคาต่ำพอที่คนที่มีรายได้พอควรซื้อได้

เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เฮนรีได้นำระบบสายพาน (Assembly Line) เข้ามาใช้ในการผลิต โดยคนงานแต่ละคนมีหน้าที่เฉพาะตัวในการประกอบชิ้นส่วนรถยนต์แต่ละส่วน ในขณะที่ชิ้นส่วนที่ประกอบแล้วในแต่ละขั้นตอนจะส่งต่อไปให้คนงานในขั้นตอนถัดไปด้วยสายพาน 

ระบบการผลิตแบบใหม่นี้ทำให้แรงงานมีความเชี่ยวชาญ ลดเวลาในการประกอบรถยนต์ ทำให้ Ford Motor ผลิตรถยนต์จำนวนมากได้ในเวลาน้อยลง มีต้นทุนที่ต่ำลงมาก ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมในโลกเลยทีเดียว

รถรุ่นแรกจากการผลิตแบบใหม่นี้ชื่อว่า Model T ได้ออกสู่ตลาดในปีถัดมาและเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว เพราะชนชั้นกลางสามารถมีรถยนต์เป็นของตนเองได้ เพียง 10 ปีหลังจากนั้น Ford Model T ได้ครองส่วนแบ่งเกินครึ่งของรถยนต์ในโลกในปี 1918

ถือเป็นการพลิกโฉมการใช้ชีวิตของคนในสังคม และทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวแพร่หลายและเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน

Ford ธุรกิจครอบครัวที่สำเร็จระดับโลก แต่พ่อลูกขัดแย้งกันแบบดุดันไม่เกรงใจใคร

ทายาทรุ่นสอง

เฮนรีแต่งงานกับ คลารา ไบรอันท์ (Clara Bryant) ซึ่งเกิดและโตในฟาร์มในมิชิแกนเช่นเดียวกัน ทั้งคู่มีลูกเพียงคนเดียว เป็นลูกชาย ชื่อ เอ็ดเซล ไบรอันท์ ฟอร์ด (Edsel Bryant Ford) เกิดเมื่อปี 1893

แน่นอนว่าการเป็นทายาทคนเดียวทำให้เฮนรีเตรียมความพร้อมให้เอ็ดเซลรับช่วงธุรกิจต่อ เอ็ดเซลจึงเติบโตขึ้นมาพร้อมการทดลองออกแบบและประกอบรถยนต์กับพ่อตั้งแต่เล็ก จนเมื่ออายุได้ 22 ปีเขาก็ได้เป็นเลขาให้กับเฮนรีอีกด้วย

ในอีก 4 ปีถัดมา เอ็ดเซล ฟอร์ด ได้รับช่วงเป็น President ของ Ford Motor ต่อจากพ่อของเขาในปี 1919

แตกต่าง แต่ เติมเต็ม

เฮนรีกับเอ็ดเซลเป็นพ่อลูกที่มีพรสวรรค์ต่างกันมาก เฮนรีให้ความสำคัญกับเรื่องวิศวกรรมและการผลิต แต่ไม่สนใจเรื่องการออกแบบ ในขณะที่เอ็ดเซลกลับชอบและมีพรสวรรค์ด้านศิลปะตั้งแต่เด็ก

เอ็ดเซลเป็นช่างถ่ายภาพสมัครเล่น เป็นจิตรกรและประติมากร และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นคนที่แต่งตัวดีที่สุดในอเมริกา โดยกลุ่มช่างตัดเสื้อชั้นนำในนิวยอร์กอีกด้วย

พรสวรรค์ที่แตกต่างกันของเฮนรีและเอ็ดเซลนี้ มีส่วนช่วยเติมเต็มให้กันและกันในธุรกิจครอบครัว เช่น เมื่อ Ford Motor ออกรถยนต์รุ่นใหม่ชื่อ Model A ในปี 1927 เฮนรีดูแลเรื่องการออกแบบเครื่องยนต์ ส่วนเอ็ดเซลรับผิดชอบด้านการออกแบบตัวถัง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว Ford Model A ประสบความสำเร็จและสร้างยอดขายอย่างมาก

นอกจากนี้เอ็ดเซลยังปฏิวัติการออกแบบรถยนต์ฟอร์ดหลายรุ่น ถึงขนาดที่ แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์ (Frank Lloyd Wright) สถาปนิกชื่อดังออกปากชม Lincoln Continentals ของ Ford Motor ว่า เป็นรถที่สวยที่สุดในโลก

รถที่ออกแบบอย่างสวยงามนี้ทำให้ Ford Motor แข่งขันกับ General Motors และ Chrysler ได้ในยุคที่ความสวยงามเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค

นอกจากความสนใจที่ต่างกันแล้ว พ่อลูกตระกูลฟอร์ดคู่นี้ยังมีบุคลิก ลักษณะนิสัย และวิธีการบริหารธุรกิจที่ต่างกันอย่างมากอีกด้วย

เฮนรีเป็นคนที่ทำงานด้วยยาก ใช้อำนาจ และเผด็จการ ในขณะที่เอ็ดเซลเป็นคนที่เคารพเพื่อนร่วมงานและลูกน้อง ลูกจ้างหลายคนถึงกับกล่าวว่า พวกเขาคงไม่ทนทำงานที่ Ford Motor ถ้าไม่ใช่เพราะเอ็ดเซล

Ford ธุรกิจครอบครัวที่สำเร็จระดับโลก แต่พ่อลูกขัดแย้งกันแบบดุดันไม่เกรงใจใคร

ส่งต่อแต่ไม่ปล่อยวาง

ถึงแม้ว่าเฮนรีจะส่งต่อตำแหน่ง President ของ Ford Motor ให้เอ็ดเซลแล้วก็ตาม แต่เฮนรีก็ไม่ยอมปล่อยวางและยังคงเข้ามามีบทบาทตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของบริษัท

เช่น ในช่วงทศวรรษ 1920 ที่รถยนต์ Ford Model T เริ่มล้าสมัยเอ็ดเซลจึงพยายามให้บริษัทออกรถรุ่นใหม่มาแทน แต่เฮนรีไม่ยอมท่าเดียว จนกระทั่งส่วนแบ่งตลาดของฟอร์ดลดลง เฮนรีจึงต้องยอมเปลี่ยนใจในที่สุด

หรือการที่เอ็ดเซลพยายามขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มรถหรู จึงลงทุนซื้อบริษัท Lincoln Motor ในปี 1922 แต่เฮนรีกลับไม่สนใจ

ความขัดแย้งต่าง ๆ ระหว่างเฮนรีกับเอ็ดเซลสั่งสมขึ้นเรื่อย ๆ เฮนรียังหักหน้าเอ็ดเซลในที่สาธารณะอยู่เสมอ รวมถึงยับยั้งการตัดสินใจทางธุรกิจหลายอย่างของเอ็ดเซลอีกด้วย จนท้ายที่สุดเอ็ดเซลถอดใจและเลือกจะปลีกตัวออกจากบริษัท เป็นคนติดเหล้า และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 1943 ขณะอายุเพียง 49 ปี

ในด้านการงาน เอ็ดเซลเป็น President และ Design Director ของ Ford Motor ยาวนานเกือบ 25 ปี แต่ตลอดเวลานั้นเขาต้องอยู่ใต้เงาของพ่อมาโดยตลอด

ส่วนชีวิตครอบครัว เอ็ดเซลแต่งงานกับ เอเลนอร์ เคลย์ (Eleanor Clay) ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 4 คน คือ เฮนรีที่สอง (Henry II) เบนสัน (Benson) โจเซฟีน (Josephine) และ วิลเลียม (William)

รัฐประหารในครอบครัว

ก่อนที่เอ็ดเซลจะเสียชีวิต Ford Motor มีผู้ถือหุ้นอยู่ 3 คน ได้แก่ เฮนรี ฟอร์ด ถือหุ้น 55.45% เอ็ดเซล ฟอร์ด ถือหุ้น 41.65% และ คลารา ฟอร์ด ภรรยาของเฮนรีและแม่ของเอ็ดเซลถือหุ้นที่เหลืออยู่ 3%

หลังจากที่เอ็ดเซลเสียชีวิต เฮนรีกลับมารั้งตำแหน่งผู้นำบริษัทอีกครั้ง แต่ปัญหาสุขภาพและสมองทำให้ในที่สุด คลาราภรรยาและเอเลนอร์ลูกสะใภ้บังคับให้เขาวางมือจากธุรกิจโดยเอเลนอร์ยื่นคำขาดว่า หากเฮนรีไม่ส่งมอบอำนาจการบริหารบริษัทให้เฮนรีที่สอง ผู้เป็นหลานปู่ของเฮนรีและลูกชายของเอ็ดเซล เธอจะขายหุ้นบริษัทที่ได้มรดกมาจากเอ็ดเซล ซึ่งนับเป็นหุ้นมากกว่า 40%

เฮนรีไม่พอใจอย่างมาก แต่ก็ไม่มีทางเลือก สุดท้ายต้องยอมลาออกจากตำแหน่งและส่งต่อธุรกิจและอำนาจบริหารให้เฮนรีที่สองรับช่วงต่อไปในปี 1945 ด้วยความอัดอั้นตันใจถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาต่อหน้าสาธารณชน

เฮนรี ฟอร์ด เสียชีวิตในอีก 2 ปีถัดมาเมื่ออายุได้ 84 ปี ถือเป็นการปิดฉากชีวิตของผู้ที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ และผู้ที่เปลี่ยนการดำเนินชีวิตของผู้คนในโลกไปอย่างไม่มีวันหวนคืน

บทเรียนจาก Ford ธุรกิจรถยนต์ผู้ไม่ปล่อยวางความสำเร็จ จนสร้างรอยร้าวมากมายให้ครอบครัวหลายรุ่น

ธุรกิจโชติช่วง ครอบครัวชอกช้ำ

ธุรกิจครอบครัวฟอร์ดที่เติบโตมายาวนานกว่าร้อยปีนี้เป็นผลจากการวางรากฐานของเฮนรีและเอ็ดเซล ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะมีความขัดแย้งในการทำงานด้วยกันมาโดยตลอด

การแข่งขันกันเองระหว่างพ่อลูกคู่นี้มีส่วนทำให้ธุรกิจของครอบครัวก้าวหน้า ซึ่งสะท้อนได้จากความคิดของเอ็ดเซลที่กล่าวไว้ว่า พ่อของเขาผลิตรถยนต์ที่โด่งดังที่สุดในโลก แต่เขาจะผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการที่เฮนรีไม่ยอมวางมือ แม้ว่าจะส่งมอบตำแหน่งให้เอ็ดเซลแล้วก็ตาม ได้บ่มเพาะปัญหาขึ้นในครอบครัวฟอร์ด

เราไม่อาจทราบแน่ชัดได้ว่าพ่อลูกเฮนรีกับเอ็ดเซลรู้สึกต่อกันอย่างไร แต่ เฮนรี ฟอร์ด ที่สอง ลูกชายของเอ็ดเซลได้กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “สำหรับผมแล้ว ปู่ทำให้พ่อผมตาย ผมทราบดีว่าพ่อผมเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง แต่นั่นก็เป็นเพราะสิ่งที่ปู่ทำไว้กับพ่อนั่นแหละ”

คำกล่าวของเฮนรีที่สองนี้สะท้อนถึงความรู้สึกเจ็บปวดของคนในครอบครัวต่อเฮนรีได้เป็นอย่างดี

เฮนรี ฟอร์ด อาจจะได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในทางธุรกิจ แต่การไม่ปล่อยวางของเขากลับสร้างความรู้สึกบอบช้ำให้สมาชิกครอบครัวมากมาย ทั้งภรรยา ลูก และหลาน

รวมถึงตัว เฮนรี ฟอร์ด เองอีกด้วย

บทเรียนจาก Ford ธุรกิจรถยนต์ผู้ไม่ปล่อยวางความสำเร็จ จนสร้างรอยร้าวมากมายให้ครอบครัวหลายรุ่น
ข้อมูลอ้างอิง
  • Gordon, Grant. Family Wars: Stories and Insights from Famous Family Business Feuds. Kogan Page, March 2010
  • www.tharawat-magazine.com/fbl/heineken-family/
  • www.tharawat-magazine.com/sustain/incredible-legacy-ford-family-business/amp/
  • www.journals.openedition.org/transatlantica/5175?lang=en
  • en.wikipedia.org/wiki/Ford_Motor_Company
  • en.wikipedia.org/wiki/Henry_Ford
  • www.fordhouse.org/
  • www.history.com/topics/inventions/henry-ford
  • www.thoughtco.com/henry-ford-biography-1991814
  • www.ford.com/
  • en.wikipedia.org/wiki/Ford_Motor_Company

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต