ฝนมาไวมาก

ฝนยังไม่หมดอีก 

ฝนยังไม่มาสักที 

หนาวนานนะปีนี้ 

ปีนี้น่าจะหนาวไม่พอ 

ข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพอากาศเหล่านี้ ไม่ได้เป็นคำพยากรณ์ของพระโคในวันพืชมงคล แต่เป็นคำตอบของเกษตรกร ผู้ปลูก ผู้ผลิตที่มีให้เมื่อโบโทรไปถามถึงผลผลิตต่างที่ 

ปกติจะออกมาพร้อมให้เชฟอย่างเรานำมาทำอาหาร ตามวันและเวลาตามธรรมชาติและฤดูกาล มะม่วงสวนฉะเชิงเทราที่ต้องเฝ้ารอกินเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปีนี้รอถึงมิถุนายน รออีกนิดนะ ปีนี้ติดดอกช้า ได้ทุเรียนที่ต้องกินพฤษภาคมพร้อม ๆ กับมังคุดจากภาคตะวันออก ก็ล่าช้าออกไปเกือบ 4 สัปดาห์ได้ หรือละมุดที่รอช่วงธันวาคม-มกราคม กลับกลายว่าเก็บได้ตั้งแต่ปลายตุลาคม เรารอกินลิ้นจี่เหนือประมาณพฤษภาคม-มิถุนายน แล้วตามมาด้วยลำไยช่วงกรกฎาคม ปรากฏว่าวาเลนไทน์ลิ้นจี่ก็มี ส่วนมะยงชิด มะปราง ประมาณที่มากุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี มาตั้งแต่ปลายธันวาคม จัดลงชุดคริสต์มาส-ปีใหม่ได้เลย 

2 ประเด็นสำคัญของผลไม้ไม่ตรงฤดู คือควรจะมา แต่ไม่มา และยังไม่ควรจะมา แต่มา ทั้ง 2 ประเด็นเชื่อมโยงกับเรื่องสภาพอากาศแปรปรวนสุดโต่งและน่ากังวลพอกัน

ประเด็นที่ยังไม่ถึงเวลาหรือไม่ใช่ฤดู แต่มีให้หาซื้อได้ เกิดขึ้นจากความสามารถของมนุษย์ผู้เปี่ยมด้วยความรู้และเทคโนโลยีที่จะเอาชนะธรรมชาติ ใช้ความพยายามและสารสังเคราะห์นานาชนิด ใส่ลงในดิน ในน้ำ ฉีดลงบนต้น จนเล่นกับแสงสว่างเป็นพระอาทิตย์เทียม เป็นพระจันทร์แปลง เพื่อหลอกต้นไม้ให้ผลิดอก ออกผล (ถึงแม้ว่าการออกผลนอกฤดูกาลก็มีความเป็นไปได้)

เราทำทั้งหมดไม่ใช่เพราะไม่มีผลไม้กิน แต่เรายึดปรัชญาทุนนิยมที่เห็นว่าผลไม้นอกฤดูขายได้ราคาดี เราควรมีทุเรียนและมะม่วงน้ำดอกไม้ทุกฤดู เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศ แม้ว่าผลผลิตที่ได้จะไม่อร่อยเท่าอยู่ในฤดูกาลของมัน และยังต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองเพื่อให้ได้มา

ประเด็นนี้เป็นเรื่องของระบบการผลิตอาหารที่ต้องใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมีทางการเกษตรในนามของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเพิ่มผลให้ได้ตามชอบใจ ซึ่งการผลิตแบบนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักของสภาพภูมิอากาศแปรปรวนสุดโต่งที่มวลมนุษยชาติต้องเผชิญ

ประเด็นที่ 2 เป็นเรื่องฤดูกาลกับอาหารที่ความรู้แทบจะเลือนรางจากสังคมไทย และถูกทำให้งงกว่าเดิมด้วยความสามารถของมนุษย์ที่ไปบังคับต้นไม้ให้ออกลูก การไปเดินตลาดแล้วเจอมะยงชิด มะปรางในเดือนธันวาคม หรือเจอชมพู่ม่าเหมี่ยวในเดือนเมษายน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องใหญ่ของคนในสังคมเท่าใดนัก 

นี่เป็นเรื่องของโภชนปัญญาและความรู้เรื่องอาหารตามฤดูกาลธรรมชาติ โบก็แค่คิดเพลิน ๆ ว่า ถ้ากินมะม่วงหน้ามะม่วง กินทุเรียนหน้าทุเรียน คนที่ได้กินจะรู้จักรสอร่อยตามธรรมชาติที่แท้จริง หอมอย่างไร ฉ่ำแบบไหน หวานมันยังไง และเกิดความเข้าใจว่ากินฤดูอื่นยังไงก็ไม่อร่อยเท่านี้แน่ สร้างคุณค่าที่ต้องรอคอยให้พืชผลทางการเกษตรเฉพาะวันและเวลาที่ธรรมชาติกำหนด แล้วเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้บ้านเรา สอนให้กินของอร่อยที่ดีแบบที่ธรรมชาติจัดสรรให้ ไม่ต้องกินเยอะแยะมหาศาล (เพราะปลูกเยอะก็ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเยอะ และการกินเยอะทำให้ร่างกายทำงานหนักไปและแก่เร็ว) แต่ให้กินอย่างมีคุณภาพตามฤดูกาล และแทรกความหลายหลายทางชีวภาพ แสดงให้โลกได้รู้จักมะม่วงน้ำดอกไม้ รู้จักทุเรียนมากกว่าหมอนทอง ก้านยาว ชะนี 

แม้แต่อาหารทะเลก็มีฤดูกาล อย่างหมึกกระดองจากปากบารา จ.สตูล เริ่มจับได้เยอะช่วงตุลาคม-ธันวาคม เพราะกระแสน้ำที่ไม่เหมือนกันในแต่ละช่วงฤดู เรื่องที่ดูเหมือนไม่ได้เป็นสาระสำคัญของคนยุคนี้เท่าไหร่นัก เพราะถ้าไม่มีผลชนิดนี้ก็มีอย่างอื่นให้เลือกกิน แต่จริง ๆ แล้วเราควรทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาหารตามฤดูกาลมีเหตุผลทางธรรมชาติ อย่างทุเรียนออกหน้าร้อนให้เรากินได้ไม่เยอะมากเพราะอากาศร้อน ถ้าออกหน้าหนาว เราคงกินเยอะเพราะกินได้เรื่อย ๆ และไม่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีอย่างแน่นอน

สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างสุดโต่ง (Climate Change) กำลังสร้างความกังวลให้กับคนที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อระบบอาหารเป็นอย่างมาก 

เรื่องน่ากังวลที่สุด คือการที่มวลมนุษยชาติผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอต่อคนทุกคนบนโลกใบนี้ แม้ว่าจะพยายามช่วยกันหาทางออกและวิธีการแก้ไขกันยกใหญ่ ทั้งปลูกพืชในตึกโดยใช้ความเข้มแสงที่ใช่ ใช้น้ำที่อุดมไปด้วยสารอาหารซึ่งคิดคำนวณมาอย่างดีแล้ว จนไปถึงการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากภาคปศุสัตว์ อย่างอุตสาหกรรมการเลี้ยงวัว แล้วเปลี่ยนมาเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องแล็บแทน โดยอธิบายเหตุผลหลายข้อ อย่างการไม่ต้องบุกรุกผืนป่าเพื่อปลูกพืชมาทำอาหารสัตว์ และถางแอมะซอนให้กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ แล้วแถมเพิ่มเติมด้วยว่าเป็นการรักษาสิทธิสัตว์ ต้องฆ่าสัตว์เพราะเราเป็นมนุษย์ผู้มีมนุษยธรรม และสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างสุดโต่งยังกลายเป็นแพะรับบาปเรื่องความไม่ยั่งยืนทางอาหารของมวลมนุษยชาติอีกด้วย

สำหรับโบ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างสุดโต่งไม่ได้เป็นต้นเหตุหลักของความไม่ยั่งยืนทางอาหาร แต่ระบบอาหารที่เรามีในปัจจุบันต่างหากที่เป็นต้นเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดเรื่องยุ่ง ๆ ทั้งการผลิตเชิงเดี่ยว การผลิตแปลงใหญ่ การผลิตแบบอุตสาหกรรม การใช้สารเคมีทางการเกษตร การจับปลาจำนวนมหาศาล การผลิตแบบต้องคุ้มทุน (Economy of Scales) การผลิตแบบล้างผลาญ รวมไปถึงการบริโภค หรือการกินอย่างไม่ยั่งยืน กินอย่างล้างผลาญ และกินแบบใช้ความสะดวกสบายเป็นหลัก อย่างการใช้พลาสติกหุ้มห่อ บรรจุภัณฑ์ เครื่องมือการกิน ช้อน ส้อม หลอด ซึ่งกลายเป็นขยะในบ่อขยะและเกิดก๊าซเรือนกระจกต่อไป

เราในฐานะ ‘คน’ ที่ยังต้องกิน ‘อยู่’ ไม่ว่าจะกินวันละมื้อหรือหลาย ๆ มื้อ ควรจะร่วมกังวลด้วย ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาตร์สิ่งแวดล้อมหรือนักนโยบายเท่านั้น 

เพราะโบเชื่อว่าเราทุกคนรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อย่างในหน้าร้อน อากาศร้อนขึ้นมาก ๆ และฤดูร้อนดูจะยาวนานขึ้นในหลายพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็มีบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักและยาวนานกว่าปกติ การเผชิญกับภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปอาจไม่เพียงพอต่อการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างระบบอาหารกับความยั่งยืนทางอาหารให้คนในสังคมได้ 

บทความนี้จึงต้องการสร้างความตระหนักรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้กระทบกับเราแค่เรื่องอุณหภูมิเท่านั้น แต่กระทบต่อการระบบอาหารการกินของเราด้วย อย่างการทิ้งช่วงของฝน ทำให้กล้าเสียหายและตายอย่างที่ได้ยินบ่อย ๆ เมื่อชาวนาดำข้าวแล้วข้าวแห้งตาย หรือการที่ฝนตกในฤดูเก็บเกี่ยว ความชื้นก็ทำให้ผลผลิตเสียหายได้ 

อย่างช่วงที่ต้องเก็บเมล็ดกาแฟแล้วฝนตก ทำให้ผลแตก และการที่ฝนตกหนักเมื่อใกล้จะเก็บเกี่ยวข้าว ถ้าน้ำท่วมก็ทำให้ผลผลิตเสียหายและมีความชื้นเยอะจนตากให้แห้งไม่ได้ ไปจนถึงแมลง ผึ้ง ตัวห้ำ ตัวเบียน สัตว์ตัวเล็กตัวน้อย อย่างมด หนู นกที่จำเป็นต่อระบบนิเวศที่สมดุล ซึ่งอาจล้มหายตายจากจากพื้นที่นั้น ๆ และส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่น ๆ ในห่วงโซ่อาหาร 

เราอาจเฝ้าหวังให้นักวิทยาศาตร์ นักชีววิศวกร นักเคมี หาทางออกด้วยวิถีที่เคารพธรรมชาติ หรือหาทางออกด้วยการร้องขอให้เพื่อนมนุษย์เปลี่ยนทัศนคติ รวมถึงพฤติกรรมการผลิตและการกิน เพื่อชะลอการเพิ่มของอุณหภูมิที่กำลังจะเกิน 1.5 องศาเซลเซียส (หรือเกินไปแล้ว) ตามข้อตกลงปารีสเมื่อหลายปีที่ผ่านมา 

หรือเราในฐานะคนกิน จะต้องเลือกกินเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสุดโต่งน้อยที่สุด โดยกินอย่างมีโภชนปัญญา รู้ว่าอาหารที่เลือกกินส่งผลกระทบกับทั้งสุขภาพของเราและของโลกยังไง กินอาหารจากการผลิตระบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีทั้งระบบ เลือกกินอาหารจากการผลิตที่ยั่งยืน กินแต่พอดี ไม่กินทิ้งขว้าง กินอาหารที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

บางคนอาจเลิกกินเนื้อสัตว์และอาหารทะเลโดยสิ้นเชิง เพราะข้อมูลที่เกี่ยวกับอาหารเหล่านี้ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศในทางลบอย่างยิ่งยวด ถ้าวิถีชีวิตของผู้ผลิตรายย่อยดี มรดกทางภูมิปัญญาในการผลิต วัฒนธรรมการกินก็จะดีไปด้วย เราจะยังเอร็ดอร่อยกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ แต่ต้องเลือกที่มาและการผลิต การเก็บเกี่ยวที่ดีต่อโลก เท่านี้เราก็จะมีส่วนร่วมในการกินเพื่อลดความารุนแรงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้

Writer

Avatar

ดวงพร ทรงวิศวะ

ดวงพร ทรงวิศวะ เกิดและโตที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาทางด้านโภชนศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย อาหาร ประวัติศาสตร์ นโยบายการเมือง วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำเกษตร และเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เชฟโบสนใจและนำมาประยุกต์ใช้กับการปรุงอาหารที่โบ.ลาน เชฟโบได้รับเกียรติเป็นเชฟหญิงที่ดีที่สุดของเอเชีย เมื่อปีพุทธศักราช 2556 หลังจากเปิดโบ.ลานได้ 4 ปี ทุกวันนี้เชฟยังมีความสุขกับการค้นหาสูตรอาหารที่คนหลงลืม ชิมรสชาติของพืชผักพื้นบ้าน และตีความอาหารไทยไปในทิศทางต่างกันตามแต่ละกรณี

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์