ผนัง 4 ด้านและหลังคาที่ประกอบเข้าด้วยกันจากต้นไม้หรือก้อนหิน โครงสร้างพื้นฐานของสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสภาพแวดล้อม สัญชาตญาณของมนุษย์ในการปกป้องตนเองจากภัยธรรมชาติ ถ้ำ หน้าผา เชิงเขา และโพรงต้นไม้ คือบ้านในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ไร้การออกแบบ 

ความขรุขระของผนังถ้ำ พื้นผิวและสีของชั้นดิน วัสดุตามธรรมชาติที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรม ที่ผ่านมา ‘บ้าน’ เปลี่ยนแปลงและแตกแขนงออกไปจากจุดเริ่มต้นของความต้องการพื้นฐานตามยุคสมัย จนมาถึงวันนี้ คำว่า ‘บ้าน’ ก็กลายเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกเพื่ออยู่อาศัย และเราต่างใช้ชีวิตผูกพัน-เติบโตไปพร้อมกับมัน

จะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่งบ้านที่พวกเราคุ้นชินนั้นปรับเปลี่ยนไปอยู่ในยุคหินดึกดำบรรพ์ที่ยังคงมีเทคโนโลยีอย่างที่เราคุ้นชินกันอย่างครบถ้วน เหมือนใน  ‘มนุษย์หินฟลิ้นท์สโตนส์’ (The Flintstones การ์ตูนซิตคอมเรื่องคลาสสิก เล่าเรื่องราวของชาวเมือง Bedrock ที่ถ่ายทอดสภาพสังคมทุนนิยมแถบชานเมืองของชาวอเมริกันช่วงยุคทศวรรษที่ 1960 โดยเติมแต่งและเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม บ้านเมือง ข้าวของเครื่องใช้ ให้มีกลิ่นอายความเป็น ‘ยุคหินใหม่’ ที่อยู่อาศัยร่วมกับไดโนเสาร์ สิ่งมีชีวิตก่อนประวัติศาสตร์ และสัตว์ป่า 

แม้ว่าเมื่อลองไล่เรียงไทม์ไลน์ตามประวัติศาสตร์ดูนั้น รายละเอียดในเส้นเรื่องอาจไม่ค่อยจะเข้าล็อกกันสักเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นไดโนเสาร์สัตว์เลี้ยงจากยุคดึกดำบรรพ์เมื่อราว 225 ล้านปีก่อน เครื่องมือที่มนุษย์ยุคหินเก่าใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ 2.6 ล้านปีก่อน ไปจนถึงการใช้พาหนะแบบมีล้อ ซึ่งมนุษย์เริ่มพัฒนาขึ้นเมื่อประมาณ 8,500 ปีก่อนอย่างเร็วที่สุด 

อย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ขัดแย้งกันของยุคสมัยนี่เองถูกนำมาใช้สร้างมุกตลกและเรียกเสียงฮาให้ผู้ชมในหลายซีน ๆ ของการ์ตูนเรื่องนี้

อีกหนึ่งทฤษฎีที่ค่อนข้างดาร์กเลยทีเดียว คือมีข้อสมมติฐานตั้งไว้ว่า แท้จริงแล้วโลกที่เราคุ้นเคยนั้นพลังทลายย่อยยับไปหลังสงครามโลก ธรรมชาติและสัตว์ดึกดำบรรพ์กลับมาเริ่มต้นวงโคจรและฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ชาวเมือง Bedrock เป็นกลุ่มมนุษย์ผู้รอดชีวิตที่สร้างเมืองของพวกเขาขึ้นมาใหม่

The Flintstones ออกอากาศครั้งแรกในเดือนกันยายนของปี 1960 บนช่องโทรทัศน์สถานี ABC สร้างและอำนวยการผลิตโดยบริษัท Hanna-Barbera Productions นำทีมโดย William Hanna และ Joseph Barbera ผู้อยู่เบื้องหลังการ์ตูนดังมากมายอย่าง Scooby-Doo, Where Are You! (1969) และ Tom and Jerry (1975) 

The Flintstones โด่งดังและประสบความสำเร็จทางการเงินเป็นอย่างมากในสมัยนั้น ดำเนินเรื่องมากว่า 6 ซีซันจนถึงปี 1996 และกลายเป็นอีกหนึ่งการ์ตูนในตำนานที่เรียกว่าวางรากฐานไว้ให้อีกหลาย ๆ เรื่อง

เพลงเปิดฉากมาด้วยเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Fred Flintstones “Yabba-dabba-doo!“ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของซิตคอมครอบครัว เรื่องราวความวุ่นวายในการใช้ชีวิตแต่ละวันของบ้านฟลิ้นท์สโตนส์ (Flintstones) 

บ้านนี้เป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อ-แม่-ลูก มี เฟรด (Fred) สามีหัวร้อนแต่ใจดี, วิลม่า (Wilma) ภรรยาผู้เป็นเสียงแห่งเหตุผล, เพ็บเบิ้ล (Pebbles) ลูกสาวของพวกขา และดีโน่ (Dino) ไดโนเสาร์สัตว์เลี้ยงประจำบ้าน 

แน่นอนว่าที่ขาดไม่เลยคือคู่หูเพื่อนบ้านสุดซี้อย่างครอบครัวรับเบิล (The Rubbles) ของ บาร์นี่ (Barney) เบ็ตตี้ (Betty) และลูกบุญธรรมจอมพลังของพวกเขา แบม แบม (Bamm Bamm) พวกเขาต่างไปมาหาสู่กัน ทำกิจกรรมต่าง ๆ และพักผ่อนด้วยกันอยู่เสมอ 

การเล่นคำของนามสกุลที่เกี่ยวข้องกับหิน เป็นลูกเล่นที่ทำให้เข้ากับธีมของยุคหิน อย่าง Flint ที่แปลว่า หินเหล็กไฟ ซึ่งมักนำไปใช้เป็นเครื่องมือ และ Rubbles ที่แปลว่า เศษหิน

ความธรรมดาในการใช้ชีวิตของตัวละครหลักทั้งสองครอบครัวถ่ายทอดมุมมองสังคมอุดมคติในการใช้ชีวิตและทำงานแบบ American Dream รวมถึงการแสวงหาความสุขผ่านหมุดหมายที่สร้างครอบครัวสุขสันต์ ผ่านบทบาทความเป็นสามี-ภรรยา อย่างที่ เฟรด มีหน้าที่ออกไปทำงานหาเงิน ส่วน วิลม่า ก็วิ่งวุ่นอยู่กับการกำกับดูแล ซื้อของกินของใช้เข้าบ้าน และเลี้ยงลูก 

ขณะเดียวกัน ความบกพร่องและความไม่สมบูรณ์แบบของตัวละคร ก็กลายเป็นความตลกร้ายที่เสียดสีมายาคติของสังคมที่ให้คุณค่าและเชิดชูความสำเร็จเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เพราะจริง ๆ แล้วมันอาจไม่ใช่เรื่องผิดที่เราไม่ได้อยากเป็นคนเก่งที่สุด ไม่ได้อยากประสบความสำเร็จอะไรมากมาย แค่อยากใช้ชีวิตดี ๆ ที่ในบางครั้งก็เหนื่อยพอตัวแล้ว  

ถ้าตัดเงื่อนไขเรื่องการทำมาหากินหาออกไป บ้าน Flintstones จัดได้ว่าเป็นครอบครัวหรรษาอยู่พอตัวเลยทีเดียว

บ้านของพวกเขาตั้งอยู่ในเมือง Bedrock รัฐ Cobblestone ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 200 ฟุต (กว่า 60 เมตร) และมีประชากรรวม 2,500 คน ผังเมืองในภาพรวมของโมเดิร์นซิตี้ยุคหินใหม่นี้ถ่ายทอดบริบทย่านชานเมือง หรือ Suburban ที่ขับเคลื่อนโดยถนนหนทาง แบ่งตึกรามบ้านช่อง ร้านค้า สถานบันเทิง สวนสนุก และสาธารณูปโภค ออกเป็นบล็อก ๆ โดยสร้างโลกขึ้นมาจากหิน ไม้ และวัสดุดึกดำบรรพ์ อย่างกระดูกไดโนเสาร์

แต่ก็ดันมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำสมัยอยู่อย่างผิดหูผิดตา มีการผสมผสานของสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งอยู่ผิดที่ผิดทางได้อย่างตลกขบขัน จากยานยานพาหนะส่วนบุคคลติดล้อที่ขับเคลื่อนด้วยเท้า กลายเป็นรถบัสไดโนเสาร์สาธารณะ ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบกลไกอัตโนมัติที่จัดการโดยเหล่าสัตว์ป่า เครื่องบินที่ใช้นกเป็นใบพัด ระบบเลนโบว์ลิ่งที่จัดเก็บด้วยลิง เป็นต้น 

สถาปัตยกรรมที่ผิดสมัยของเมือง Bedrock ล้อเลียนวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในประจำวันโดยไม่ทันตั้งตัว ทั้งความเร่งรีบที่เพิ่มขึ้น และเวลาต่อวันที่ไม่พอสำหรับสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการก่อร่างสร้างตัวจะวุ่นวาย บ้านฟลิ้นท์สโตนส์และรับเบิลก็ยังให้คุณค่ากับเวลาพักผ่อนและการให้เวลากับครอบครัว ด้วยการหาเวลาหยุดพัก หากิจกรรมสันทนาการเพิ่มความสุขให้เด็ก ๆ หรือตัวเอง หรือบางทีก็วางแผนไม่ทำอะไรเลย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งปกติ เราไม่จำเป็นต้องเคอะเขินหากมีคนถามขึ้นมาว่า วันหยุดไปทำอะไรมา

ย่านที่อยู่อาศัยของเมือง Bedrock จัดวางตามแบบฉบับโครงการบ้านจัดสรรแถบชานเมืองของชาวอเมริกัน บ้านแต่ละหลังเรียงตัวกันไปตามแนวถนน คดไปคดมาตามแนวภูมิประเทศ ไม่มีกำแพงสูงกั้นระหว่างกัน จึงมีความยึดโยงกับบริบทสภาพแวดล้อมรอบ ๆ 

อีกทั้งการเปิดการสัญจรแบบสาธารณะที่ไม่ได้สร้างกำแพงเขาวงกตต่อกัน และสร้างถนนหนทางให้เชื่อมต่อกันทั้งเมือง ยังทำให้โครงสร้างบ้านจัดสรรเหล่านั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง จนอาจนำไปสู่สังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น อย่างบ้านของเฟรดกับบ้านรับเบิล มีเพียงรั้วหินกรวดสูงระดับครึ่งเอวไว้กั้นขอบเขต เมื่อมองเห็นกันและกันง่ายขึ้น การถามไถ่สารทุกข์สุกดิบก็อาจเพิ่มขึ้นด้วย

บ้านเดี่ยวชั้นเดียวพร้อมสวนทิวทัศน์ขนาดมาตรฐานสำหรับ 1 ครอบครัวและสัตว์เลี้ยง 1 ตัว พื้นผิวที่หยาบและรูปทรงออร์แกนิกของตัวบ้าน เหมือนกับก้อนหินแกะสลักที่ประกอบผนังและหลังคาเข้าด้วยกัน การออกแบบทั้งหมดชวนให้นึกถึงพื้นที่ภายในถ้ำตามธรรมชาติ มีความเรียบง่ายเมื่อมองจากภายนอกมีเพียงปากทางเข้าเล็ก ๆ ไว้ชักชวน คอยกระตุ้นต่อมความอยากรู้อยากเห็น เมื่อเดินผ่านความมืดและเข้ามาถึงข้างใน ขณะที่สายตาและสมองกำลังประมวลภาพ พื้นที่ภายในถ้ำก็เหมือนจะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ได้เอง 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องความซับซ้อน-ทับซ้อนของชั้นดินและหิน ความโอ่โถงที่ซ่อนอยู่ภายใน เฉดสีที่เปลี่ยนไปตามผนังถ้ำ และแสงที่ส่องเข้ามาในช่องเปิด ทำให้เงามืดภายในถ้ำยิ่งตัดความสว่างให้เด่นชัดขึ้นไปอีก

Home of Fred & Wilma Flintstone
Mark Bennett’s Exhibition ‘TV Sets and the Suburban Dream’

ความรู้สึกประหลาดใจที่เกิดขึ้นระหว่างภายนอกและภายในของบ้านฟลินท์สโตนก็เช่นกัน จากภายนอก หินสีเทาที่ดูเย็นชา แต่ภายในกลับอบอุ่นด้วยสีจากผนังดิน ลายเฟอร์นิเจอร์ไม้ และความนุ่มชวนสัมผัสของพรมขนสัตว์ 

สำหรับงานสถาปัตยกรรม บางครั้งการเปิดเผยภายในมากเกินไป อย่างการใช้กระจกเพื่อดึงดูดคนให้มองเข้ามา ก็อาจทำให้โมเมนต์ความประหลาดใจหายไปอย่างน่าเสียดาย 

การกำหนดช่องเปิด (Void) ในงานสถาปัตยกรรม นอกจากทำหน้าที่กระจายแสงเข้าไปตัวบ้าน ถ่ายเทอากาศ ยังเป็นเครื่องมือสร้างประสบการณ์ในการเฟรมจุดวางสายตา ให้ผู้ใช้งานเชื่อมทัศนียภาพ (Vista) ของพื้นที่ภายนอกเข้ามาภายในด้วย

  แปลนของตัวบ้านมีความออร์แกนิก ส่วนเว้าส่วนโค้งของรูปทรงกลมทำให้พื้นที่ดูกว้างขึ้นและเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียว จากพื้นสู่เพดานที่กลมกลืนหายไป กลายเป็นฉากพื้นหลังสำหรับตัวละคร 

แปลนของตัวบ้านแบ่งส่วนพื้นที่อยู่อาศัยชัดเจน ด้านขวาเป็นห้องนั่งเล่นแบบเปิด มีโต๊ะกินข้าว โซฟารับแขก และมุมพักผ่อนประจำของเฟรด ส่วนทางซ้ายเป็นพื้นที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น อย่างห้องนอนและพื้นที่ส่วนกลางอย่างห้องครัว ห้องน้ำ ซึ่งมีประตูและหน้าต่างเชื่อมกับพื้นที่ด้านหลังตัวบ้าน 

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับขนาด คือห้องนอนลูกมีขนาดใหญ่กว่ามาสเตอร์เบดรูมมากพอสมควร จึงเป็นไปได้ว่าห้องนี้กั้นเพิ่มเติมเข้าภายหลัง เมื่อเพิ่มตัวละครเพ็บเบิ้ลเข้ามาในเรื่อง

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่เข้ามาสร้างเสียงฮาในหลายฉากการใช้ชีวิตในบ้าน คือเทคโนโลยีของสัตว์ยุคหินที่มาดัดแปลงให้เข้ากับเครื่องใช้ในครัวเรือนได้อย่างชาญฉลาด ล้อเล่นกับการพึ่งพาเครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตสมัยใหม่ของมนุษย์ หรือระบบอัตโนมัติที่เข้ามาทุ่นแรงในการทำความสะอาดและอยู่อาศัย  

มีทั้งเครื่องดูดฝุ่นพลังไดโนเสาร์ เครื่องเล่นแผ่นเสียงด้วยปากนก ระบบกำจัดเศษอาหารด้วยหมูป่าที่ซ่อนอยู่ใต้ซิงก์ล้างจาน ระบบฝักบัวอาบน้ำ ระบบช้างแมมมอธขนปุยที่มีความสามารถในการกักเก็บและปล่อยน้ำ โดยการสอดงวงเข้าทางช่องหน้าต่างของห้องน้ำ 

จากฉบับการ์ตูนสู่โลกภาพยนตร์ในปี 1994 The Flintstones กำกับโดย Brian Levant อำนวยการสร้างโดย Amblin Entertainment ซึ่งเป็นบริษัทโปรดักชั่นของ Steven Spielberg ฉากเมือง Bedrock และบ้านฟลิ้นท์สโตนขนาด 1 : 1 เนรมิตขึ้นในสถานที่จริง ณ Vasquez Rocks ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

เมื่อภูเขายอดแหลมที่มีชั้นหินอันเป็นเอกลักษณ์มา เข้าฉากร่วมบ้านยุคหินในจินตนาการ เสริมด้วยภูมิทัศน์หุบเขาทะเลและพรรณไม้ของสถานที่ ทำให้ฉากของเมืองกลายเป็นโอเอซิสที่มหัศจรรย์มาก ๆ น้อยนักที่เราจะได้เห็นโตอลังการของฉากสร้างจริงนอกสตูดิโอแบบนี้ ซึ่งจากแบบร่าง 2 มิติที่เราเห็นฉบับการ์ตูน เมื่อมาสู่สัดส่วนขนาดจริง 3 มิติ ก็ทำให้เราเข้าใจสัดส่วนของบ้านและเนื้อที่รอบ ๆ มากขึ้น

Flintstone House, Film, 1994
Jean Nouvel Designs Resort in Saudi Arabia

เมื่อเส้นแบ่งระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกในจินตนาการถูกผสานเข้าด้วยกัน มุมมองการอยู่อาศัยกลับไปเหมือนมนุษย์ก่อนยุคประวัติศาสตร์ อย่างการใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำ บนภูเขาที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติอีกครั้ง อาจฟังดูเป็นไอเดียเพ้อฝัน แต่ก็ไม่ได้ไกลตัวอย่างที่เราคิด 

ทุกวันนี้มีงานสถาปัตยกรรมลักษณะนี้เกิดขึ้นจำนวนไม่น้อย ยกตัวอย่างผลงานของ Jean Nouvel 

สถาปนิกชาวฝรั่งเศส เขาออกแบบรีสอร์ตแห่งหนึ่งในเมืองอัล-อูลา ประเทศซาอุดีอาระเบีย หนึ่งในรูป 3 มิติเผยให้พื้นที่อยู่อาศัยที่แฝงตัวเข้าไปภูมิทัศน์ธรรมชาติซึ่งเป็นหุบเขาทะเลทราย จนแยกไม่ออกว่าส่วนไหนคือส่วนงานสถาปัตยกรรม และส่วนไหนเป็นภูเขาจริง สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่เขาสร้างพื้นที่เสมือนเข้าไปอยู่ในถ้ำจริง ๆ โดยไม่ได้สร้างบ้านรูปทรงถ้ำเป็นหลัง ๆ เหมือนอย่างในการ์ตูนและภาพยนตร์ The Flintstones

เมื่อคิดก็น่าแปลก ครั้งหนึ่งผู้คนต้องเดินทางเข้ามาในเมือง มาอยู่กันอย่างแออัด เพื่อดิ้นรนหาชีวิตที่ดีกว่า แต่พอเมืองเริ่มใหญ่ขึ้น เจริญขึ้น ผู้คนกลับเริ่มโหยหากลับสู่ความสามัญแบบ Forwards to Basic 

การลดทอนความวุ่นวายและกลับมาอยู่อาศัยกับธรรมชาติกลายเป็นความหรูหราของยุคสมัยไปเสียแล้ว

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ
  • Hanna, William, and Joseph Barbera, creators. The Flintstones. ABC, 1960-1966.
  • Hanna, William, and Joseph Barbera, creators. The Flintstones. ABC, 1960-1966.
  • thealdrich.org
  • flintstones.fandom.com
  • therealmrpositive.com
  • filmoblivion.com
  • archdaily.com

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ