ลองหย่อนคำว่า ‘ระนาด’ ลงในช่องค้นหาของ YouTube ดู เชื่อเถอะว่าไม่เกิน 3 ผลลัพธ์ที่แสดงขึ้นมาบนหน้าแรก จะต้องมีผลงานแชนแนล Fino the Ranad ปนอยู่ 1 คลิปเป็นอย่างต่ำ

แล้วเมื่อเลื่อนนิ้วลงไป หน้าจอของคุณก็จะละลานไปด้วยภาพปกสะดุดตาของชายหนุ่มผมสีจี๊ด ท่าทางเมามันกับการได้ยืนตีระนาดเอกรางใส ใต้ผืนระนาดวิบวับด้วยไฟประดับ คู่กับชื่อเพลงตัวโต ๆ ที่เลือกสรรฟอนต์มาให้เข้ากับสไตล์เพลงที่เล่นไปหมดทุกคลิป

นี่คือเอกลักษณ์ของยูทูบเบอร์นาม ฟีโน่-ปาเจร พัฒนศิริ ผู้เชื่อว่าดนตรีไทยต่อยอดไปได้ไกลกว่าเพลงไทยเดิม เป็นเหตุให้เขาเดินหน้าผลิตเพลงทันสมัย ถูกใจวัยโจ๋อย่าง ‘นะหน้าทอง’ ‘เฮอร์ไมโอน้อง’ ยัน ‘LALISA’ เพิ่มเติมจากบทบรรเลงที่บรรพบุรุษชาวไทยใช้เล่นระนาดมาแต่ปางก่อน เช่น ‘เขมรไทรโยค’ หรือ ‘ลาวดวงเดือน’

นักดนตรีและอาจารย์พาร์ตไทม์ด้านนิเทศศาสตร์เผยให้เราฟังว่า แชนแนลของตนเกิดขึ้นเพราะคำยุยงของผองเพื่อนที่ทำละครเวทีด้วยกันสมัยเรียน ก่อนกลายเป็นไวรัลเมื่อมีเพจดังแชร์คลิปไปลง จนมีผู้ติดตามเหยียบแสน บางคลิปคนดูทะลุล้าน ตีตลาดผู้ฟังได้ทั้งเยาวชนและผู้สูงวัย

เพื่ออรรถรสในการอ่านบทความนี้ ขอแนะนำให้เปิดคลิปวิดีโอช่อง Fino the Ranad คลอไปด้วย แล้วตามทำนอง เตร่ง เตรง เตร๊ง เตรง เตร่ง ไปรู้จักตัวตนของฟีโน่กัน!

โหมโรง

ตกบ่ายที่แดดร่มลมตก ไม้นวมซึ่งให้เสียงนุ่มนวลระรัวไปตามลูกระนาดบนรางแก้ว ส่งสำเนียงเพราะพริ้งกังวานหวานไปทั่วเรือนไทย อันเป็นที่นัดหมายระหว่างเรากับเขา

ฟีโน่วางไม้ลงจากมือทั้งสองข้าง พร้อมเล่าว่าก่อนจะเริ่มจับไม้นวมไม้แข็งที่ใช้ตีระนาด มือคู่นี้เคยพรมคีย์อิเล็กโทนและอุดรูขลุ่ยมาก่อน เมื่อตอนที่เขายังละอ่อน

ตีระนาดใสไฟกะพริบแบบ Fino the Ranad ยูทูบเบอร์ผู้ประกาศให้โลกรู้ว่าดนตรีไทยก็ป๊อปได้

“ความจริงผมเล่นเครื่องดนตรีอื่น ๆ มาก่อน เริ่มจากดนตรีสากลอย่างอิเล็กโทนตอนเด็ก ส่วนเครื่องดนตรีไทยชนิดแรกที่เริ่มเล่นเป็นคือขลุ่ย”

ทำไมถึงเปลี่ยนทางมาเล่นระนาดล่ะครับ – เราถามกลับทันใด

“ตอนประมาณ ม.ต้น ประมาณ พ.ศ. 2547 มีภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ออกมาครับ” เขาทวนความหลังที่ยังแจ่มแจ้ง “พอโหมโรงมา ก็เลยขอเปลี่ยนเครื่องจากขลุ่ยมาเล่นระนาดเอก”

เช่นเดียวกับนักดนตรีไทยอีกมากที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ชีวประวัติของ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ผู้เป็นเลิศด้านระนาดเอก ฟีโน่รู้ตัวว่าเขาหลงใหลเสียงเครื่องดนตรีที่ตัวละครเอกในหนังเรื่องนั้นเล่นอย่างจับใจ จึงหันมาเอาดีด้านระนาดเอกเต็มตัว พร้อมทั้งฝากตัวเองเป็นศิษย์ของสำนักต่าง ๆ ซึมซับวิชาและประสบการณ์ทางระนาดมาจนเติบใหญ่

“ผมเริ่มเรียนระนาดที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต และเพราะพ่อผมเป็นทหารอากาศ ก็เลยไปเรียนระนาดที่กองดุริยางค์ทหารอากาศด้วย อันนั้นก็จริงจัง แล้วพอเข้ามามหาวิทยาลัย ตัวผมก็เปิดชมรมดนตรีไทยที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลครับ เชิญครูมาช่วยสอน ตอนที่อยู่มหาวิทยาลัยก็ใกล้กับมูลนิธิดุริยประณีต บ้านบางลำพู ก็ไปเรียนดนตรีที่นั่นเพิ่มอีกครับ”

สิ่งที่ฟีโน่ชอบที่สุดของระนาด เห็นจะได้แก่เสียงและเทคนิคที่นำมาเสริมเติมได้มาก แถมยังมีสถานะสูงเมื่อรวมกันเป็นวงดนตรี

“ในวงดนตรีไทยที่เป็นแบบแผนเนี่ย ระนาดเอกเขาเป็นเหมือนพระเอก ระนาดทุ้มเปรียบเสมือนตัวโจ๊ก คอยทำให้จังหวะเพลงมันสนุกขึ้น ตัวทำนองหลัก ๆ ที่ได้ยินชัด ๆ เป็นเสียงระนาดเอก การเล่นก็จะคนละแนวกัน ระนาดเอกเล่นเป็นแบบแผน เล่นเป็นคู่ 8 ที่เล่นเป็นคู่แล้วก็ห่างกัน 8 ลูก ส่วนระนาดทุ้มจะมีการสลับมือและหยอกล้อกัน เรียกว่าต่างแนวกันเลยครับ”

ตีระนาดใสไฟกะพริบแบบ Fino the Ranad ยูทูบเบอร์ผู้ประกาศให้โลกรู้ว่าดนตรีไทยก็ป๊อปได้

ถึงจะฝึกมาทางระนาดเอกเป็นหลัก แต่ขึ้นชื่อว่า Fino the Ranad ซะอย่าง เจ้าของแชนแนลเล่าว่าระนาดทุ้มเขาก็เล่นเป็นเช่นกัน 

“ระนาดทุ้มก็เล่นครับ แต่ถนัดเล่นระนาดเอกมากกว่า” ฟีโน่ออกตัวก่อนอธิบายเรื่องธรรมชาติของคนตีระนาดทั้งสองประเภท “แล้วแต่คนชอบครับ ก็เหมือนบางคนอยากเป็นพระเอก บางคนอยากเป็นตลก แล้ววิธีการใช้กำลังในการเล่นมันก็ไม่เหมือนกัน บางคนน้ำหนักในการเล่นเหมาะกับระนาดทุ้มมากกว่า ดังนั้น ถ้าเขาเล่นระนาดทุ้มเขาไปได้ไกลกว่า แต่ว่าบางคนน้ำหนักเวลาเล่นเสียงออกมาเหมาะกับระนาดเอกมากกว่า แล้วแต่ตัวบุคคลเลย ยิ่งสมัยก่อนนี่เราไม่ได้เลือกด้วย ครูจะเป็นคนเลือกว่าใครควรเล่นเครื่องไหน”

อาจเป็นเพราะน้ำหนักมือเหมาะจะเป็นพระเอกประจำวง ถึงแม้ฟีโน่จะเล่นดนตรีได้หลายชนิด ทั้งไทยและสากล แต่ระนาดเอกก็เป็นเครื่องดนตรีที่เขาถนัดมากที่สุด และชอบเล่นมากกว่าเครื่องอื่น ๆ

บรรเลงลงยูทูบ

ฟีโน่เล่นระนาดแบบเดียวกับนักระนาดเอกทั่วไปมานานปี เส้นทางบนสายสังคีตของเขาก็ดำเนินมาถึงจุดสำคัญอีกครั้งในยุคที่เรียนปริญญาตรี ซึ่งเว็บไซต์ยูทูบเริ่มเข้ามามีบทบาทพัวพันในชีวิตผู้คน

ช่วงนั้นเองที่ช่อง Fino the Ranad เปิดขึ้นเป็นครั้งแรกในฐานะแชนแนลยุคตั้งไข่ โดยนักศึกษาที่ริอ่านเอาเพลงบรรเลงของตะวันตกมาเล่นกับเครื่องตีของไทย

“ตอนที่ผมทำชมรมดนตรีไทยที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผมอยู่ปี 3 – 4 ก็มีความคิดอุตริอยากทำละครเวที เป็นละครเวทีที่มีความผสมผสาน เพราะมันเป็นอินเตอร์ เราก็ต้องเอาดนตรีสากลเข้ามาผสมด้วย”

เพลงที่ว่านั้นคือ ‘Canon Rock’ ที่นักดนตรีชาวไต้หวัน Jerry Chang (JerryC) เรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทเพลง ‘Canon in D Major’ ของ Johann Pachelbel ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฟีโน่ได้แสดงฝีมือด้วยการนำระนาดมาเล่นเพลงนี้ ซึ่งก็ได้รับคำชื่นชมจากหมู่มิตรอย่างล้นหลาม

ตีระนาดใสไฟกะพริบแบบ Fino the Ranad ยูทูบเบอร์ผู้ประกาศให้โลกรู้ว่าดนตรีไทยก็ป๊อปได้

“สมัยนั้นยูทูบเพิ่งมาใหม่ ๆ ไปเห็นเพลงนี้ก็คิดว่าจะเอามาทำกับละครเวทีครับ แล้วพอทำไปทำมา ก็มีเพื่อน ๆ ยุว่า เฮ้ย! เอาไปลงยูทูบดิ อะไรอย่างนี้ เราก็ลองทำลงยูทูบดู แต่ว่าตอนนั้นเรายังมือใหม่มากเลย ผมก็ยังไม่มีความรู้เรื่องคีย์ระนาดต่าง ๆ มากนัก ผืนระนาดที่เล่นมันเป็นเสียงไทย พอไปเล่นกับเพลงสากลก็เลยเพี้ยนแหลกลาญ ด้วยพวกจังหวะของดนตรีไทยกับสากลมันต่าง ถ้าลองไปฟังดู จะได้เห็นความยุ่งเหยิงอยู่ในนั้น” ฟีโน่หัวเราะร่วน

เสียงเพลงของเขาจึงได้รับการบรรเลงออกสู่สังคมออนไลน์นับแต่นั้น แต่ประสบการณ์และความเข้าใจที่ยังน้อยกลับไม่อนุญาตให้เขาเผยแพร่งานได้บ่อยนัก และเจตนาหลักของการลงวิดีโอเล่นระนาดก็เพื่อดูเองหรือแบ่งปันในกลุ่มคนรู้จัก ไม่ได้มีเป้าหมายจะสร้างชื่อแก่ตนเอง

แต่คนจะดัง เอาอะไรมารั้งไว้ก็ห้ามไม่อยู่ 

“ตอนที่ลงไปก็คิดแค่ว่าจะเก็บไว้ดูเอง แค่นี้แหละครับ แต่พอผ่านมาสัก 3 – 4 เดือน มันก็เป็นไวรัลเพราะเพจที่ฮิตสมัยนั้นอย่าง ‘YouLike – คลิปเด็ด’ เอาไปแชร์ ช่องผมก็เลยดังขึ้นมา ทำให้คิดจะทำต่อ แต่ไม่ได้ทำทุกอาทิตย์นะ ถ้าเฉลี่ยก็ลงแค่ปีละ 2 คลิป 3 คลิปอย่างนี้ครับ”

ช่วงเวลาลองผิดลองถููกของ Fino the Ranad กินเวลานานนับสิบปี ตั้งแต่ พ.ศ​. 2554 ที่ลงคลิปแรก จนถึง พ.ศ.​ 2564 ในห้วงเวลาอันยาวนานนี้ มือระนาดค่อย ๆ ปรับรูปแบบวิธีการ เพิ่มสีสัน และกิมมิกประจำช่องตัวเองร่ำไป จนมาดังเป็นพลุแตกเมื่อเขาทดลองนำเพลงประกอบละครเรื่อง วันทอง มาเล่น ทำให้ช่องของเขาก้าวสู่ยุคใหม่ หรือยุคปัจจุบันที่ลงคลิปเป็นประจำ

“ช่วงโควิดช่วงแรก ประมาณ พ.ศ. 2563 ก็มีเวลาว่างมากขึ้น เลยคิดว่าจะเริ่มทำยูทูบจริงจัง ตอนแรกทำเป็นพวกเพลง คัฟเวอร์ แต่ทำ ๆ ไปมันก็มีความเหนื่อยหน่าย เพราะว่าจะคัฟเวอร์มันต้องหาเพลงสมัยใหม่ไปเรื่อย ๆ ใช่ไหม ผมก็เลยหยุดไปพักหนึ่ง

“มาทำจริงจังที่สุดเมื่อปีที่แล้ว ตอนเพลง ‘สองใจ’ กำลังดัง ผมเอาพวกดนตรีไทยเดิมมาผสมเปียโนแทรก กระแสตอบรับก็ดี เลยทำมาตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ หยุดอยู่ได้แค่ 2 – 3 อาทิตย์เองมั้งครับ ที่เหลือก็ทำทุกอาทิตย์มาตลอดเลย”

ตีระนาดใสไฟกะพริบแบบ Fino the Ranad ยูทูบเบอร์ผู้ประกาศให้โลกรู้ว่าดนตรีไทยก็ป๊อปได้

ผลงานเพลงที่เขาทำมีหลายสไตล์ หลายแนว ทั้งเพลงไทยเดิม เพลงต่างชาติ เพลงในกระแส สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือคณาผู้ติดตามตลอดจนผู้เยี่ยมชมแชนแนลนี้มีหลายช่วงวัย เห็นได้จากข้อมูลเชิงสถิติที่แพลตฟอร์มเก็บไว้แสดงผลให้เห็นเฉพาะเจ้าของวิดีโอ

“ในยูทูบมี YouTube Analytics โชว์ให้เห็นกลุ่มคนที่เข้ามาดูใช่มั้ยครับ คนที่เข้ามาก็มีเยอะเลยครับ มีตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ แบ่งได้ครึ่ง ๆ ครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่น อีกครึ่งจะเป็นวัยที่อายุเลย 50 – 60 วัยผู้ใหญ่ก็มี แต่ที่เห็นเด่นชัดก็จะเป็นพวกวัยรุ่น แล้วก็เป็นผู้สูงอายุหน่อยครับ”

เครื่องไทย เพลงเทศ

ยูทูบเบอร์ระนาดเอกสาธิตวิธีตีเพลงฝรั่งให้เราฟังหนึ่งเพลง แล้วเล่าต่อเมื่อไม้แข็งวางนิ่งสนิท

“ความแตกต่างระหว่างดนตรีไทยกับดนตรีสากล ก็คือต่างกันคนละฝั่งโลกเลยครับ เริ่มจากโน้ตไม่เหมือนกัน ความห่างของเสียงโน้ตไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดฟังเพลงไทยเดิมก็เป็นเสียงโน้ตแบบหนึ่ง ฟังเพลงสากลก็เป็นอีกแบบ” เขาแจงตัวอย่างให้เข้าใจได้เร็ว ๆ

“สมมติเราจะเล่นดนตรีไทยกับเพลงสากล มันก็มี 2 วิธี หากผมจะเล่นเพลงป๊อป ผมก็ปรับระนาดให้เข้ากับสากล แต่บางที่เขาใช้วิธีเล่นเป็นเพลงไทยแล้วเอาสากลปรับเข้าหาไทย มันก็ทำได้ คือเป็นการปรับคีย์อะไรต่าง ๆ กัน”

ไม่ใช่แค่เสียงตัวโน้ต ห้องเพลงและจังหวะก็ต่างด้วย

“จังหวะตกแบบนี้นะครับ ดนตรีไทยตกท้ายห้องเพลง ดนตรีสากลตกที่ต้นเพลง พูดง่าย ๆ เวลาตบมือ มันจะตบไม่เท่ากัน ส่วนเรื่องจังหวะนี่ก็สำคัญมาก ดนตรีสากลส่วนใหญ่ จังหวะคงที่ สมมติว่าเล่น 100 Beats per Second มันก็ 100 BPM แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ขณะที่ดนตรีไทยมีความเปลี่ยนแปลง เช่น เริ่มแบบช้า ไปกลาง ๆ แล้วส่วนใหญ่จบด้วยความเร็ว โครงสร้างจังหวะ โครงสร้างเพลง ทุกอย่างต่างกันไปหมดเลยครับ”

ตีระนาดใสไฟกะพริบแบบ Fino the Ranad ยูทูบเบอร์ผู้ประกาศให้โลกรู้ว่าดนตรีไทยก็ป๊อปได้
ตีระนาดใสไฟกะพริบแบบ Fino the Ranad ยูทูบเบอร์ผู้ประกาศให้โลกรู้ว่าดนตรีไทยก็ป๊อปได้

มือโปรอย่าง Fino the Ranad แก้ปัญหานี้อย่างไร – เรานึกสงสัย

“เราต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝั่ง คือไม่ใช่เราปรับไปหาเพลงเขาหรือเขาต้องปรับมาหาเรา แต่ต้องปรับเข้าหากัน ถ้าเล่นเพลงสากล เราก็ต้องปรับหาเขามากหน่อย แต่ถ้าเราจะเล่นเพลงไทยเดิมอย่าง ‘ลาวดวงเดือน’ ในช่องผม ฝั่งสากลน่ะต้องปรับเข้ามาหาเยอะ เพราะสากลเขาก็ต้องเปลี่ยนวิธีนับห้องจังหวะอะไรต่าง ๆ ใหม่ เปียโนที่มาเล่นน่ะมึนเลยตอนต้น เพราะต้องปรับทฤษฎีใหม่หมดเลย” 

ด้วยความเข้าใจและประสบการณ์ที่ตักตวงมานานนม ฟีโน่จับ ‘Canon Rock’ ซึ่งตนเองเคยเล่นไว้ประเดิมแชนแนล กลับมาเล่นใหม่ กลายเป็น ‘Canon Rock ฉบับ 2561’ ที่เขาภาคภูมิใจ เพราะได้ผ่านการฝึกปรือมาหลายครั้งหลายหนจนเชี่ยวชาญ

“เพลงที่ชอบที่สุดคือ ‘Canon Rock’ ฉบับใหม่ เหมือนเป็นเพลงที่สั่งสมประสบการณ์มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยเล่นเพี้ยน ๆ ฉบับนี้ผมใส่เทคนิคกลเม็ดที่เป็นเพลงเดี่ยวของระนาดเอกมาใส่ให้เนียน แล้วยังเป็นเพลงแรกที่ได้โชว์วิธีการเล่นอีกแบบหนึ่ง คือผืนระนาดไทยเนี่ยไม่มีโน้ตครึ่งเสียงหรือโน้ตดำ ๆ ข้างบนของเปียโน ระนาดส่วนใหญ่เล่นเสียงแบบนี้ไม่ได้ แต่ในเวอร์ชันนั้น ผมมีพาร์ตหนึ่งที่เป็น Minor แล้วเอาเสียงระนาดมาซ้อน ผมทำได้เพราะลองเทคนิคมาเยอะมาก คิดว่าในระยะ 5 ปี 10 ปีนี้ คงไม่มีเพลงไหนที่จะทำได้ดีเท่าตัวนี้แล้วครับ”

1 เพลงใน 1 คืน

ดังที่เราโปรยไปแล้วว่าแชนแนลของฟีโน่มีความโดดเด่นนานัปการ ตั้งแต่เพลงที่เลือกมาแสดง อาร์ตเวิร์กบนภาพปกของวิดีโอ ไม่เว้นแม้แต่การตัดต่อที่มากด้วยสีสันและความตลกโปกฮาในแบบของเขา

เจ้าของช่องย้ำว่าหนึ่งคลิปที่ผู้ชมได้เห็น เขาเป็นผู้ลงมือทำทุกขั้นตอน

“เริ่มต้นจากรีเสิร์ชก่อน ดูว่าวันนั้น ช่วงนั้น เราทำเพลงแบบไหน เพลงคัฟเวอร์หรือว่าเพลงไทยเดิม เราก็ทำเป็นโพลลงยูทูบ ถามคนที่ติดตามว่าเขาอยากฟังเพลงอะไร แล้วก็ดูจากผลโหวตนี่แหละ

“แต่ถ้าเป็นเพลงคัฟเวอร์ เพลง Trendy สมัยที่ TikTok ยังไม่มา ผมก็ไล่ดู Trending ของยูทูบว่าคนเขาฟังเพลงอะไรกันอยู่ช่วงนั้น แล้วพอ TikTok มา ก็ไล่ดูใน TikTok ด้วย”

การตัดต่อคลิปเพลงสองแนวก็ต้องมีแนวทางที่ต่างกัน กรณีที่เล่นเพลงสมัยใหม่ที่ฟังกันในหมู่วัยรุุ่น ฟีโน่จะใส่เทคนิค ลูกเล่น สีสันเข้าไปเต็มพิกัด แต่กลับกันถ้าเป็นเพลงไทยเดิมซึ่งฐานผู้ฟังเป็นกลุ่มคนสูงวัย เขาย่อมไม่ใส่ลีลาให้กับวิดีโอนั้นมากมาย ด้วยคนกลุ่มนี้อยากฟังดนตรีล้วน ๆ

ตีระนาดใสไฟกะพริบแบบ Fino the Ranad ยูทูบเบอร์ผู้ประกาศให้โลกรู้ว่าดนตรีไทยก็ป๊อปได้

“บางเพลงอาจจะมี Backing Track ที่ดาวน์โหลดได้อยู่แล้ว บางเพลงอาจจะต้องทำขึ้นมาเอง พอเสร็จจากตรงนั้นปั๊บ ก็จะมาเป็นตัวที่เป็นอัดเสียง อัดวิดีโอครับ ในส่วนเสียงก็ตั้งอัดเสียงปกติ วิดีโอก็จัดฟงจัดไฟ แล้วก็กลับไปดูที่ผู้ชมอีกเหมือนเดิมว่าผู้ชมเป็นประเภทไหน แล้วเราก็จัดไฟประมาณนั้น แบบว่าคนกลุ่มนี้เขาชอบดูแบบไหน ก็จะจัดไฟประมาณนั้นครับ”

แม้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าขั้นตอนที่ใช้เวลานานที่สุด 2 ส่วนเกิดขึ้นภายในชั่วข้ามคืน!

“ถ่ายและตัดต่อ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในคืนเดียวนะครับ” ฟีโน่กล่าวสำทับด้วยรอยยิ้ม

ถ่ายทำเสร็จลุล่วงแล้ว ตัดต่อก็ผ่านไป สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเลือกภาพ Thumbnail ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าผู้ชมจะกดเข้ามาดูหรือไม่ ฟีโน่ต้องหาภาพมุมที่ดีที่สุดทำเป็นหน้าปก ก่อนอัปโหลดขึ้นแชนแนล

กระนั้นหน้าที่ของยูทูบเบอร์ก็ยังไม่จบ เพราะฟีดแบ็กก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจละเลย

“ส่วนใหญ่พวกคลิปที่ผมลงในอาทิตย์นั้นน่ะ ผมจะพยายามไปตอบทุกคนเพื่อดู Engagement ดูว่าคนสนใจ คนชอบอะไรบ้างไหม แล้วสุดท้ายก็เอาพวกคอมเมนต์ต่าง ๆ ทั้งเป็นยอดวิว ยอดไลก์ คอมเมนต์ ไปปรับปรุงคลิปต่อไปครับ”

ตีให้โลกจำ

ฟังเขาเล่าเรื่องตัวเองและวิธีการทำงานมาจนแทบครบทุกเหลี่ยมมุมแล้ว มีอีก 2 – 3 สิ่งที่เราเกือบลืมถามถึง คือระนาดแก้วใส่ประดับ กับเสื้อคลุมที่เขาใส่ตีระนาดเป็นประจำ มันมีที่มาจากไหน แล้วมาอย่างไรกันแน่ ?

“อ๋อ ตัวระนาดแก้วนี่ผมมีแพลนอยากทำมานานแล้ว ผมไปเห็นพวกเฟอร์นิเจอร์ที่เขาทำเป็นพวกอะคริลิกใสน่ะครับ คราวนี้ก็เลยมาคิดคอนเซ็ปต์ คุยกับรุ่นพี่ที่เป็นนักดนตรีไทยอยู่กรมศิลปากร ซึ่งพี่คนนี้เคยทำจะเข้อะคริลิกให้กับ พี่เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ ด้วย ก็เลยทำระนาดรางนี้ขึ้นมา

ฟังเสียงระนาดแก้วรางเดียวในโลก บรรเลงเพลงหลากหลายสไตล์แบบ ‘เล่นใหญ่ไฟกะพริบ’ ที่ผู้ใหญ่ก็ฟังได้ วัยรุ่นก็ฟังดี
ฟังเสียงระนาดแก้วรางเดียวในโลก บรรเลงเพลงหลากหลายสไตล์แบบ ‘เล่นใหญ่ไฟกะพริบ’ ที่ผู้ใหญ่ก็ฟังได้ วัยรุ่นก็ฟังดี

“แนวคิดของผมในการทำระนาดแก้วนี่ก็คือความใสของวัสดุมันนี่แหละ พอเป็นแก้วใสมองทะลุไปเลย ผมอยากให้คนโฟกัสกับตัวเสียง ไม่ได้โฟกัสที่ตัวรูประนาด แล้วพอมาทำปุ๊บ เพื่อให้มันดูว้าวขึ้น เราก็เอาไฟมาใส่ เพื่อให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ที่อยู่ในช่อง สตูดิโอที่ใช้ถ่ายเราเล่นไฟเยอะแยะมากมายอยู่แล้วครับ”

ฟีโน่พูดพลางเอามือลูบไล้โขนระนาดใสแจ๋ว สีหน้าเขาดูภูมิใจมากทีเดียว

“ระนาดแก้วแบบนี้มีรางเดียวบนโลกมนุษย์ใบนี้ครับ เพราะว่าสั่งทำมา มีคนสนใจเยอะ แต่ก็ยังไม่มีใครเล่น เพราะราคาสูงครับ” 

ส่วนเสื้อคลุมตัวนี้ คนสวมมันเรียกด้วยความขำขันว่า ‘ยูนิฟอร์ม’

“ยูนิฟอร์มนี่ก็แล้วแต่เพลงที่เล่น บางเพลงที่เราเล่นเป็นสากล เราก็แต่งชุดแบบสากลไปเลย แต่ว่ามีครั้งหนึ่งที่ผมไปสัมภาษณ์ ไปพูดคุยเสวนา ผมรู้สึกว่าตัวเองขาดซิกเนเจอร์ความเป็นไทยสไตล์เรา จะให้มานุ่งโจงกระเบนเล่น Canon Rock มันก็อาจจะแปลก ๆ 

“เพราะฉะนั้นผมก็เลยพยายาม Mix and Match ในเมื่อช่องของเราเล่นทุกอย่างเป็น Contemporary เป็นแนวผสมผสานแล้ว พวกชุดเราก็จะทำให้มันผสมผสานด้วย สมมติว่าวันนี้เป็นกางเกงยีนส์ เสื้อนอกตัวนี้ก็จะเป็นลายเทพพนมแบบไทย ๆ แต่มีทรงเป็นยูกาตะแบบญี่ปุ่น มารวมกันให้เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวเรา”

ในการเลือกสถานที่อัดคลิป ถึงส่วนใหญ่จะใช้สตูดิโอเป็นหลัก แต่ในบางโอกาส ฟีโน่ก็จะออกนอกสถานที่ โดยคิดล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ ว่าควรอัดที่ใดจึงจะเหมาะกับเพลงนั้น

“บางทีเราทำเพลงเผื่อไว้ก่อนครับ ถ้าดูแล้วเพลงมันน่าจะออกไปข้างนอกได้นะ เช่นตอนที่ผมเล่น ‘ตารีกีปัส’ ที่เป็นเพลงระบำพัดของภาคใต้ เราก็ไปทะเล แต่ไม่ได้ไปถึงภาคใต้นะ ไปแค่หัวหินครับ มันก็เป็นทะเลเหมือนกันนั่นแหละ” มือระนาดบอกกลั้วหัวเราะ

ความสนุกอย่างหนึ่งของการอัดคลิปนอกสถานที่คือการ ‘ทำทาง’ 

“วิธีการเล่น ภาษาดนตรีเรียกว่า ‘ทำทาง’ เราจะทำทางในการเล่นอย่างไรให้สอดคล้องกับที่ที่เราจะไป ผมสอนด้านนิเทศด้วย ดังนั้น หัวข้างหนึ่งจะคิดเป็นฉากแล้วว่าเราจะทำยังไงดี จะเล่นยังไงให้สอดคล้องกับสถานที่หรือแนวเพลงที่เราจะเล่นดีนะ”

ยูทูบเบอร์สายดนตรีไทย

ในโลกยุคนี้ที่คนมีฝันทำมันให้เป็นจริงได้ด้วยช่องทางมากมายในอินเทอร์เน็ต ยูทูบเป็นใบเบิกทางแรก ๆ ของคนใฝ่ฝันอยากทำเพลงของตัวเอง ศิลปินมากหน้าหลายตารวมทั้ง Fino the Ranad แจ้งเกิดได้ด้วยการลงคลิปวิดีโอของตนเองบนเว็บไซต์สีขาว-แดงนี้ แต่เป็นเรื่องน่าสลดใจที่บนแพลตฟอร์มนี้ยังมีนักดนตรีไทยอยู่น้อยนิด หากจะคิดเป็นร้อยละเทียบกับดนตรีสากล

มือหนึ่งด้านระนาดเอกนึกเสียดาย เพราะเขานั้นเชื่อเต็มประตูว่าดนตรีไทยก็มีที่ทางในสื่อสังคมออนไลน์ยุคใหม่ได้ ทั้งไม่จำเป็นต้องเล่นแต่เพลงไทยเดิมเหมือนในอดีต

“ถ้าจะนำดนตรีไทยมาเล่นให้ร่วมสมัย ผมคิดว่าเครื่องดนตรีที่ฮิตกว่าระนาดเอกในยูทูบตอนนี้คือขลุ่ยนะ อย่างเช่นช่องของ พี่ เติ้ล ขลุ่ยไทย รวมถึงอีกหลาย ๆ ช่อง หนึ่งคือขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ สมมติว่าเราจะฝึกขลุ่ย ไปซื้อมาอันละไม่ถึงร้อยบาทก็ได้ ฝึกเล่นแล้วไม่ใช่ทางก็ทิ้ง อีกอย่างคือเข้ากับเครื่องดนตรีสากลอื่นได้ง่าย เพราะมันมีเทคนิคของฟลูตที่เทียบเคียงกัน”

ฟังเสียงระนาดแก้วรางเดียวในโลก บรรเลงเพลงหลากหลายสไตล์แบบ ‘เล่นใหญ่ไฟกะพริบ’ ที่ผู้ใหญ่ก็ฟังได้ วัยรุ่นก็ฟังดี

กว่า 11 ปีที่เดินทางในสายยูทูบเบอร์ หนทางของฟีโน่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเมื่อมีคนรักก็มีคนชัง ซึ่งเขาก็ได้เผชิญมาทุกรูปแบบตั้งแต่เริ่มทำช่องนี้ไม่นาน

“สมัยช่วงคาบเกี่ยวที่ยูทูบเพิ่งมา คนจะยังไม่ค่อยได้เห็นดนตรีไทยเล่นกับดนตรีสากล วิธีการเล่นก็เป็นปัญหา ผมยืนตีระนาด บางกระแสเขาก็ว่าผมแล้วว่าดนตรีไทยต้องนั่งตีเรียบร้อย โยกหัวอย่างนี้ก็ไม่ได้ คนสมัยก่อนเขาจะคิดว่าการที่ผมยืนเล่น ผมเพลิดเพลินกับการเล่นใส่อารมณ์ นี่คือการไม่เคารพดนตรีไทย ซึ่งผมก็พยายามอธิบายว่าเราเคารพอยู่ในใจของเราอยู่แล้ว แต่มันเป็นแค่วิธีการนำเสนออีกรูปแบบหนึ่ง

“แล้วก็การที่ผมเล่นคัฟเวอร์เพลงสมัยใหม่ ก็จะมีบางคนคิดว่ามันคือการทำลาย ผมก็ต้องโน้มน้าวเขาว่าจริง ๆ มันก็คือการพัฒนา แต่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งต่างหากครับ”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ช่วยให้นักระนาดเอกรายนี้หยัดยืนอยู่ได้จนวันนี้ ก็คือผลตอบรับแง่บวกของผู้ชมหมู่มาก

“ความสุขที่สุดของผมเลยนะ คือตอนที่ได้นั่งไล่อ่านคอมเมนต์ ตอนที่ทำเพลงเสร็จมันไม่ได้สุขนักหรอก เพราะว่ามันเครียด ยังต้องคิดอะไรเยอะ แต่การได้มาอ่านฟีดแบ็ก เห็นคนที่ชื่นชอบผลงานเรา หรือเป็นคอมเมนต์ที่เราเอาไปพัฒนาได้ อันนี้ก็คือความสุขของผม

ฟังเสียงระนาดแก้วรางเดียวในโลก บรรเลงเพลงหลากหลายสไตล์แบบ ‘เล่นใหญ่ไฟกะพริบ’ ที่ผู้ใหญ่ก็ฟังได้ วัยรุ่นก็ฟังดี

“ผมไม่ใช่คนตื่นเช้า แต่เวลาลงคลิป ผมจะตั้งเวลาไว้ที่ 9 โมงเช้า แล้วจะตื่นอัตโนมัติเพื่อแค่มาอ่านคอมเมนต์เลยครับ ได้เห็นว่ามันมีคนฟังนะ มีคนดู มีคนคอยคอมเมนต์ 

“ส่วนใหญ่ที่ประทับใจคือเวลาเราได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนดู คนที่มาบอกว่า ‘ผมไปแข่งชนะเพราะพี่เป็นแรงบันดาลใจ’ หรือว่า ‘ผมอยากเล่นระนาดเพราะพี่ครับ’ พวกนี้ก็จะเป็นคอมเมนต์ที่สำคัญ”

ปัญหาเรื่องการหมดไฟที่นักสร้างคอนเทนต์ทุกคนต้องเผชิญ ฟีโน่ก็เคยเจอกับตัวมาหมดแล้ว และเขากล้าพูดว่าปณิธานอันแน่วแน่นี่แหละ คือมือที่ฉุดเขาขึ้นมาจากปัญหาทั้งปวงได้

“ใครอยากเป็นยูทูบเบอร์สายดนตรีไทยก็มาทำเถอะครับ ตอนนี้ยังไม่ค่อยมี อย่าท้อครับ ต้องแน่วแน่ในความฝันตัวเองให้มาก ไม่ใช่แค่ดนตรีไทยนะ ทุก ๆ คอนเทนต์แหละมันไม่ได้ง่าย ไม่ใช่ว่าเราลงวันนี้ปุ๊บแล้ววันพรุ่งนี้จะดังเลย มันจะผ่านหลาย ๆ จุด จุดที่หมดไฟหลาย ๆ ครั้ง ผมผ่านอารมณ์นั้นมาหลายรอบมาก แต่ว่าเมื่อเราคิดว่าเราต้องทำอันนี้ให้ได้ สุดท้ายมันก็จะได้เองครับ”

ก่อนจากกันวันนี้ เรายังใคร่รู้ว่ามือระนาดผู้นำเครื่องดนตรีไทยโบราณมาเล่นเพลงสมัยใหม่ ได้สร้างคุณค่าอะไรให้กับดนตรีไทยที่เขารักหรือไม่ เมื่อเราซักไซ้ประเด็นนี้ ฟีโน่ปฏิเสธทันที

“ผมคิดว่าดนตรีไทยมีคุณค่าของมันเองอยู่แล้ว เราไม่ได้ไปเพิ่มคุณค่าให้มัน เพียงแต่การทำในแบบของผมเป็นทางเลือกที่เพิ่มเข้ามามากกว่า เอาจากตัวผมเป็นหลักที่สมัยก่อนคิดว่าดนตรีไทยไม่น่าเล่น ภาพจำของเราอาจจะน่าเบื่อ น่ากลัว มีเรื่องของผีสาง ครูบาอาจารย์

“แต่ที่ผมทำก็อาจจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้คนดูรู้สึกว่ามันทันสมัยนะ มีไฟ มีแสงสีเต็มไปหมดเลย คนก็จะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องกลัวมากเหมือนเก่า ฉะนั้น ผมจึงคิดว่ามันเป็นช่องทางใหม่ คนที่เขาสนใจเข้ามาทางนี้ สุดท้ายก็ต้องกลับไปเรียนดนตรีไทยที่เป็นพื้นฐานอยู่ดีครับ”

ฟังเสียงระนาดแก้วรางเดียวในโลก บรรเลงเพลงหลากหลายสไตล์แบบ ‘เล่นใหญ่ไฟกะพริบ’ ที่ผู้ใหญ่ก็ฟังได้ วัยรุ่นก็ฟังดี

YouTube : Fino the Ranad

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ