“ที่ไหนมีเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ ที่นั่นสนุก!” ไอค่อนแพรี่ ยืนยันด้วยน้ำเสียงมั่นใจ ไฟพร้อม เวทีพร้อมเมื่อไหร่ก็ขอให้บอก สาวหมอลำาาาสิพาาาาม่วนนนน (ลากเสียงแบบ ตั๊กแตน ชลดา)

หากพูดถึงความบันเทิงของการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ ภาพ Drag Queen โชว์ลิปซิงก์เพลง Diva ในงานไพรด์ตามสไตล์ตัวแม่อาจผุดขึ้นมาเป็นอันดับแรก ๆ

แต่ที่นี่เมืองไทย ไม่พิเศษก็คงไม่ได้ นอกจาก Drag ที่มักถูกจริตเหล่าชนชั้นกลางในเมืองแล้ว ยังมีคณะหมอลำเยาวชนจากแดนอีสานอย่าง ‘เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์’ ที่ตั้งใจใช้ความม่วนซื่น เข้าถึงง่าย สื่อสารเรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิสตรี และปัญหาปากท้องของคนทำงานกลางคืน ให้ไปสู่ผู้คนในวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะภาคอีสานถิ่นกำเนิดของพวกเธอ

เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ เป็นหมอลำคณะแรกและคณะเดียวในประเทศไทยที่รวบรวมนักร้อง-นักแสดงทุกเพศกำเนิด หลากเพศวิถี โดยไม่คำนึงถึงรูปร่างหน้าตาตาม Beauty Standard สำคัญก็แต่อุดมการณ์ร่วมกันที่จะพาบ้านเราไปสู่สังคมที่ปราศจากอคติและมองเห็นคนเป็นคนเท่าเทียมกัน

แม้ดูจะต้องฝ่าฟันกันอีกมากเพราะทัศนคติของผู้คนในตอนนี้ แต่ใช่ว่าพวกเธอจะไม่มีความหวัง

ไอค่อนแพรี่ สาวข้ามเพศอายุเพียง 19 ปี ผู้ริเริ่มคณะหมอลำ แต่ไม่เรียกตัวเองว่าหัวหน้าวง จะมาเล่าถึงที่มาที่ไม่ธรรมดาของวงตั้งแต่จุดเริ่ม วิสัยทัศน์ของสมาชิกในวง และสิ่งที่จะขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตข้างหน้า

เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ คณะหมอลำ LGBTQ+ ที่ใช้โชว์ม่วน ๆ ผลักดันความเท่าเทียมในอีสาน

ข้อเรียกร้องของสาวหมอลำ

“หมอลำมันบันเทิงนะคะ เราอยากเรียกร้องแบบไม่ให้ตึงเครียด เลยใส่ความสนุกบวกฮาเข้าไปด้วย” เธอเริ่มเล่า เราคุยกันตั้งแต่เช้า ไอค่อนแพรี่ที่ทำงานจนถึงตี 4 จึงอยู่ในอาการง่วงงุนเล็กน้อย

“งานไพรด์ที่อีสานคือสนุกเวอร์! จอยเวอร์! รถห่งรถแห่จัดมาเต็ม คนอีสานเนอะ แค่ได้ยินเสียงหมอลำก็ออกมาเต้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่ ม่วนกันหมด” เช้าก็ไม่กลัวแล้ว พอได้เข้าเรื่องความสนุก ไม่ทันไรสาวหมอลำของเราก็เครื่องติดจนเล่าอย่างเมามัน “คำว่าหมอลำอยู่ในใจคนอีสาน มีหมอลำที่ไหนก็มีคนมาร่วมที่นั่น”

เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์เป็นที่คุ้นเคยกันดีในงานไพรด์แถบอีสาน แต่ถ้าพูดกันตามจริง คณะนี้ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากม็อบราษฎรช่วง พ.ศ. 2563 ที่กรุงเทพฯ นี่เอง

ไอค่อนแพรี่เริ่มจากการเข้าร่วมเรียกร้องสิทธิทางเพศกับกลุ่มผู้หญิงปลดแอก-เฟมินิสต์ปลดแอก แต่งตัวชุดหมอลำลุยเดี่ยวไปร้องเต้นในม็อบจนเป็นไวรัล เมื่อมีคณะหมอลำเป็นของตัวเองจึงค่อย ๆ ออกมาขับเคลื่อนด้วยตัวเอง และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน-Isaan Gender Diversity Network (IGDN) ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้หาก IGDN จัดงานเสวนาอะไรก็มักชวนเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ไปแสดงเสมอ

เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ คณะหมอลำ LGBTQ+ ที่ใช้โชว์ม่วน ๆ ผลักดันความเท่าเทียมในอีสาน

พวกเธอมีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ

อย่างแรกคือการแก้ไขมาตรา 301 ว่าด้วยการทำแท้ง เพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง และเลือกทางเดินชีวิตเองได้

ต่อมาคือการเรียกร้อง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อให้ทุกเพศที่รักกันแต่งงานสร้างครอบครัวกันได้ มีสิทธิในเรื่องต่าง ๆ เท่าเทียมคู่สมรสชายหญิง ไร้ซึ่งข้อแม้ที่กีดกันผู้มีความหลากหลายทางเพศให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง

สุดท้ายคือเรียกร้องให้อาชีพที่ถูกลืม อย่างอาชีพกลางคืนต่าง ๆ ทั้งนักร้อง นักดนตรี นางโชว์ ไปจนถึง Sex Worker ที่ตกงานและไม่ได้รับการเยียวยาในช่วงโควิด โดยทางเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์เองก็เป็นอีกพื้นที่ซึ่งสร้างงานสร้างอาชีพให้พี่น้องเหล่านี้เช่นกัน

เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ คณะหมอลำ LGBTQ+ ที่ใช้โชว์ม่วน ๆ ผลักดันความเท่าเทียมในอีสาน

AKA ไอค่อนแพรี่

ไอค่อนแพรี่เป็นคนชัยภูมิ เกิดแถบชนบทในอำเภอภูเขียว พอเริ่มโตก็ย้ายไปอยู่ในตัวเมืองร้อยเอ็ด เธอมีโอกาสได้เห็นสังคมอีสานในหลายรูปแบบ ทั้งสังคมในที่ห่างไกล สังคมเมือง สังคมคนจน ไปถึงสังคมคนรวยฟู่ฟ่า

“เราชอบเสียงดนตรี ไม่รู้ทำไมมันสนุกจัง” เธอว่า

ตั้งแต่เป็นเด็กน้อย ไอค่อนแพรี่เริ่มฟังหมอลำ จินตหรา พูนลาภ จนชื่นชอบตามพ่อตามแม่ และใส่ชุดหมอลำไปเต้นหน้าฮ้าน พออายุได้ 15 ปี เธอเริ่มก้าวขึ้นไปแสดงบนเวทีงานบุญ เพื่อนำเสียงตอบรับของผู้ชมมาพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ใฝ่ฝันในใจไว้ว่าวันหนึ่งจะตั้งคณะหมอลำให้ได้

“ตอนนั้นเราร้องเพี้ยนมาก ร้องไม่เป็นเนื้อ ไม่เป็นลูกเอื้อนเลย” สาวหมอลำขำตัวเอง “ตอนแรกฝึกกับครอบครัวก่อน จากนั้นไปฝึกกับอาจารย์ พอช่วงอายุ 16 – 17 ก็เริ่มคล่องแล้ว”

เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ คณะหมอลำ LGBTQ+ ที่ใช้โชว์ม่วน ๆ ผลักดันความเท่าเทียมในอีสาน

ไอค่อนแพรี่รู้ตัวว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่เด็ก และชาวบ้านรอบตัวก็รู้ความจริงข้อนี้ไม่ต่างกัน บางบ้านที่ไม่เปิดรับถึงขนาดสั่งห้ามไม่ให้ลูกมาเล่นกับเธอเด็ดขาด จะแต่งหน้า ทาลิป ใส่วิกให้ตัวเองรู้สึกมั่นใจขึ้นมาบ้าง ก็โดนยึดอุปกรณ์อยู่บ่อย ๆ ถึงวัยได้ร้องหมอลำในงานบุญ ก็จะโดนล้อเลียนว่าเป็น ‘หมอลำกะเทย’ จนต้องหยุดร้องกะทันหัน 

เธอโตมากับความรู้สึกเจ็บปวดแบบนั้น

ครอบครัวของไอค่อนแพรี่สนใจการเมืองมาตั้งแต่เดิม พอโตขึ้นเธอก็เริ่มศึกษาบ้าง แต่ประสบการณ์ชีวิตทำให้เธอสนใจการเมืองเรื่องเพศเป็นพิเศษ เมื่อจบ ม.3 เธอหลุดจากระบบการศึกษา แล้วเริ่มชีวิตนักเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมที่ม็อบราษฎร ไปพร้อมกับเริ่มสานฝันตั้งแต่เด็กอย่างการตั้งคณะหมอลำ

“หนูไปลงพื้นที่ชุมชนมาก่อนค่ะ ไทบ้านที่ดูหมอลำเขาก็จะพูดว่า ต้องเป็นหญิงแท้ชายแท้เท่านั้น คุณถึงจะลำเรื่องต่อกลอนได้ เขาใช้คำเรียกแบบนั้นนะคะ หนูฟังแล้วก็คิด ทำไมต้องหญิงแท้ชายแท้วะ

“สังคมในอีสานยังไม่ค่อยเข้าใจ LGBTQ+ กันค่ะ พอบอกว่าเราเป็นผู้หญิงข้ามเพศ เขาก็บอกว่า มึงก็เป็นกะเทยอยู่ดี ทุกวันนี้ก็ยังเจอ เราออกจากบ้าน ป้าข้างบ้านก็มาพูดว่า อีกะเทยจะไปไหนเหรอ”

ถึงอย่างนั้น เธอก็เดินหน้าปั้นคณะหมอลำที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ มีคนข้ามเพศ มีเกย์ มีเลสเบี้ยน มีทุกอย่างเท่าที่จะมีได้ ใครถนัดร้องก็ร้อง ใครถนัดแสดงตลกก็จัดไป สาวข้ามเพศคนหนึ่งที่โดนบูลลี่เพราะรูปร่างใหญ่ ก็ผ่านเข้ารอบสบาย ๆ ที่เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ 

เธอมองว่าอคติในสังคมอีสานอาจมาจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ไม่มากพอ แต่สถานการณ์นี้จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้อย่างแน่นอน อย่างน้อยเยาวชนคนหนึ่งในท้องที่อย่างไอค่อนแพรี่ก็เชื่ออย่างนั้นเต็มหัวใจ

เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ คณะหมอลำ LGBTQ+ ที่ใช้โชว์ม่วน ๆ ผลักดันความเท่าเทียมในอีสาน

หมอลำซัมมอน

เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์เริ่มยืนด้วยขาตัวเองได้จากการวิ่งเต้นหาทุนด้วยมอเตอร์ไซค์คันเล็ก ๆ ของไอค่อนแพรี่ บางทีก็ 240 กิโลเมตร ไป-กลับขอนแก่น บางทีก็ 300 กิโลเมตร ไป-กลับบุรีรัมย์ แต่ความจริงแล้ว วงไปต่อได้อย่างเฉิดฉายเพราะสมาชิกคนอื่น ๆ ร่วมมือกันด้วย

เมื่อแรกเข้า พี่ ๆ น้อง ๆ ในวงต้องมาทำเวิร์กช็อปร่วมกัน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ หรืออัตลักษณ์ชายขอบต่าง ๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในสังคมอีสานซึ่งกันและกัน และวิเคราะห์ปัญหาออกมาให้ชัด 

“เป็นเวิร์กช็อปที่ดีมากสำหรับไอค่อน” เธอกล่าวพลางเปิดรูปให้เราดูอย่างภาคภูมิใจ

เรื่องที่เยาวชนเหล่านี้พูดถึงมีทั้งการบูลลี่ในหมู่เยาวชนเอง ไปจนถึงเรื่องกฎหมายอย่างปัญหาของการไม่มีสมรสเท่าเทียม ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นประเด็นที่ทุกคนตื่นตัว

ในการแสดงจริง พวกเธอจะเปิดโชว์ด้วยการแนะนำตัวเอง เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์เป็นใคร มีจุดประสงค์ยังไง พูดถึงเครือข่ายที่มาร่วม และเริ่มแสดงไม่รอช้า

พวกเธอร้องเต้นทั้งเพลงหมอลำทั่วไปและเพลงสำหรับเรียกร้องสิทธิโดยเฉพาะ หลายครั้งก็ใช้บทบาทสมมติมาช่วยอธิบายประเด็นที่ต้องการสื่อให้กระจ่างขึ้น อย่างการแสดงละครเรื่องสมรสเท่าเที่ยมที่เล่าผ่านคู่รักคู่หนึ่ง

เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ คณะหมอลำ LGBTQ+ ที่ใช้โชว์ม่วน ๆ ผลักดันความเท่าเทียมในอีสาน
เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ คณะหมอลำ LGBTQ+ ที่ใช้โชว์ม่วน ๆ ผลักดันความเท่าเทียมในอีสาน

คนที่มาดูครึ่งหนึ่งเป็นคนที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน และตั้งใจมาดูโชว์ของเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ ส่วนอีกครึ่งก็มาดูหมอลำเอาม่วนเฉย ๆ หลายคนยังไม่คุ้นเคยกับสิ่งที่วงสื่อสารเท่าไหร่ แต่นี่ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่พวกเธอจะได้เผยแพร่ความเข้าใจไปในวงที่กว้างขึ้นทุกครั้ง

“แสดงจบคนเขาก็เข้าใจนะ เขามาพูดว่า แม่เอาใจช่วยนะลูก” แฮปปี้เอนดิ้ง

ตั้งแต่เริ่มแสดงมา มีเหตุการณ์ไหนไหมที่คุณประทับใจเป็นพิเศษ – เราถาม

“ภาพประทับใจที่สุดคือหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ ค่ะ คนดูเยอะมาก!” เธอเล่าอย่างตื่นเต้น “ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะได้ไปเล่นแถวสยาม นี่เป็นครั้งแรก คนยืนดูเต็มสะพานเพราะเขาไม่เคยเห็นหมอลำ เราก็ดีใจ

“ตอนนั้นแสดงกันบนเวทีเล็ก ๆ ธรรมดา ไปกันแค่ 3 คน ยังไม่เต็มวงเลย ไม่คิดว่าคนจะมาดูเยอะขนาดนี้ ถ้าเต็มวงจะขนาดไหนเนอะ”

หากแสดงที่อีสาน เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์จะร้องเต้นเพลงหลากหลาย ทั้งลำเรื่องต่อกลอน ร้องเพลงช้า เพลงเร็วปน ๆ กันไป แต่ถ้ายกวงกันมากรุงเทพฯ ต้องเน้นหมอลำซิ่งมัน ๆ เข้าว่า ตามรสนิยมชาวกรุง “เขาจะเต้ยสะเดิดอย่างเดียว” เธอเอ่ย

นี่เป็นข้อสรุปจากประสบการณ์บนเวทีของสาวหมอลำรุ่นเยาว์

คุยหน้าฮ้านกับ ‘ไอค่อนแพรี่’ สาวหมอลำวัย 19 แห่งเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ ถึงการทำวงให้เลี้ยงปากท้อไปพร้อมกับการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน

คนตัวเล็กกับฝันยิ่งใหญ่ (ไฟกะพริบ)

หมายเหตุตัวโต ๆ : แม้จะเป็นวงที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ แต่ก็ต้องทำเงินให้ได้ตามเป้า

อย่าลืมว่าไอค่อนแพรี่เป็นเพียงเด็กไร้ต้นทุนชีวิตอายุ 19 ปีที่คอยโอบอุ้มพี่ ๆ น้อง ๆ ในวงไว้เกือบครึ่งร้อย และหลายคนในวงก็ตกงานด้วยเหตุผลทางโครงสร้างสังคมที่เหลือจะอธิบาย งานแสดงหมอลำเป็นความหวังในชีวิตของพวกเขา

“เคยจะหยุดทำวงหลายรอบเลยค่ะ” ไอค่อนแพรี่สารภาพ “เหนื่อย ทำวงหมอลำมันเหนื่อยมากค่ะ ไหนจะวางแผน ประสานงาน จัดสคริปต์ มันไม่ใช่โบ้ ๆ เบ้ ๆ แต่เพื่อนก็คอยช่วยทุกอย่างเพราะรู้ว่าไอค่อนเหนื่อย”

กำลังใจที่หล่อเลี้ยงทำให้วงยังดำเนินต่อไปได้ เธอบอกว่าตอนนี้ความฝันเป็นจริงแล้ว 50% เพราะจัดคอนเสิร์ตวงกลางประมาณ 40 คนได้ ฝันต่อไปคือวงใหญ่ที่มีขนาดราว 100 คน ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลางเดือนกรกฎาคม หมอลำอีสานจะไปเยือนถิ่นล้านนาแล้ว

คุยหน้าฮ้านกับ ‘ไอค่อนแพรี่’ สาวหมอลำวัย 19 แห่งเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ ถึงการทำวงให้เลี้ยงปากท้อไปพร้อมกับการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน
คุยหน้าฮ้านกับ ‘ไอค่อนแพรี่’ สาวหมอลำวัย 19 แห่งเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ ถึงการทำวงให้เลี้ยงปากท้อไปพร้อมกับการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน

“เดี๋ยวหนูเปิดให้ดูเวทีที่หนูออกแบบดีกว่า” เธอพูดอย่างกระตือรือร้นแล้วเปิดโปรแกรมให้ดู เมื่อวงใหญ่ขึ้น เวทีก็ต้องใหญ่ขึ้นตาม

ที่น่ารักคือโปรแกรมที่เปิดก็ไม่ใช่โปรแกรม 3D สำหรับออกแบบแต่อย่างใด หากเป็นเกม Roblox ที่เธอชอบเล่น ถึงอย่างนั้นก็เห็นได้เลยว่าแสนอลังการ และคนออกแบบก็แสนจะทุ่มเท สำหรับเรา นี่เป็นอีกซีนประทับใจประจำวันนี้เลย

“ปีนี้อยากขอทุนแต่งเพลงเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการขับเคลื่อน

“วงรัตนศิลป์เขายังมีเพลง รัตนศิลป์ มาแล้ว มาแล้วเด้อพี่น้อง ๆ (ร้องเพลง) เสียงอิสานเขาก็มี หมอลำเสียงอิสานสนุกสนานหมู่เฮาเจ้าข่อย (ร้องต่อ) ระเบียบวาทะศิลป์ก็มี ประถมบันเทิงศิลป์ก็มี! เราต้องมีเพลงของเราที่สื่อถึงความเท่าเทียมบ้าง”

นอกจาก 3 ประเด็นหลักที่เราได้เล่าไปเมื่อตอนต้น พวกเธอยังรวบรวมประเด็นอื่น ๆ ที่สากลกำลังพูดถึงในปัจจุบันมาสื่อสารในโชว์ต่อไป

คุยหน้าฮ้านกับ ‘ไอค่อนแพรี่’ สาวหมอลำวัย 19 แห่งเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ ถึงการทำวงให้เลี้ยงปากท้อไปพร้อมกับการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน

“มีแต่คนมาพูดหลังเวทีว่าชื่อวงดูเป็นวงการเมืองเกินไป แต่เราก็ไม่เปลี่ยนชื่อ มั่นพอ” เธอหัวเราะ

“อีสานเปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน ตอนนี้จัดงานไพรด์ต่าง ๆ เยอะมาก ทั้งขอนแก่นที่เป็นจุดกำเนิด และจังหวัดอื่น ๆ พอมีงานไพรด์ การบูลลี่ก็น้อยลง เพราะเขารู้ว่ามันคืออะไร” ไอค่อนแพรี่พูดปิดท้าย “หวังไว้ว่าจะมีคนมาร่วมงานไพรด์เยอะ ๆ เพื่อให้ได้ความรู้ในประเด็นเฟมินิสต์และเข้าใจเพศหลากหลายมากขึ้นค่ะ”

งาน Bangkok Pride 2023 ในวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นวันที่คนเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์งานไพรด์ประเทศไทย ซึ่งไอค่อนแพรี่เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้ขึ้นไปกล่าวถ้อยแถลงของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างทรงพลังบนเวทีใหญ่ ต่อหน้าผู้คนครึ่งแสน

จังหวะที่เธอจับไมค์และเอ่ยประโยค “เราคือเจ้าของสิทธิ” ออกมา เราก็รู้เลยว่าเธอจะไปได้อีกไกลแน่นอน

คุยหน้าฮ้านกับ ‘ไอค่อนแพรี่’ สาวหมอลำวัย 19 แห่งเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ ถึงการทำวงให้เลี้ยงปากท้อไปพร้อมกับการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน

ภาพ : เพจ เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ