“ครั้งสุดท้ายที่เคยขึ้นรถไฟคือเมื่อไหร่”

ตุ้ม-อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ตั้งคำถามแก่ฉันและช่างภาพ เธอมักเชื่อมโยงเรื่องใกล้ตัวเข้ากับโจทย์ของสถานที่ที่จะพาผู้คนไปเดินเท้าสำรวจชุมชน ครั้งนี้เรามาตั้งต้นกันที่สถานีรถไฟหัวลำโพง จุดยุทธศาสตร์ของ ‘Feel Trip’ พื้นที่ที่อยู่คู่กับการเติบโตของมหานครอย่างกรุงเทพฯ มาเนิ่นนาน

ฉันเก็บคำถามว่า Feel Trip คืออะไร แล้วก้าวเท้าเดินไปพร้อมกับตุ้ม

เมื่อผ่านย่านหัวลำโพง…คุณเห็นอะไร

“พอพี่อยากให้คนรุ่นใหม่เข้าใจความเป็นกรุงเทพฯ เข้าใจการขยายตัวของเมืองผ่านความเหลื่อมล้ำก็ดี ผ่านผู้คนก็ดี พี่จึงเลือกที่จะเล่าผ่านหัวลำโพง เพราะว่ามันแทนภาพมหานครแห่งความฝันและความหวัง หลายคนเข้ามาหัวลำโพงเพราะฝันจะมีงานทำที่ดี แต่หลายคนก็ลงเอยเป็นคนไร้บ้าน เป็น Sex Worker หรือเป็นคนในชุมชนซึ่งต้องเผชิญกับการโดนไล่รื้อตลอดเวลา เช่น ชุมชนวัดดวงแขที่เรากำลังจะไปกัน”

ออกจากหัวลำโพง เราเดินไปตามถนนรองเมืองด้านข้าง ตุ้มอธิบายความเป็นมาเรื่องราวของชุมชนวัดดวงแขแห่งนี้ที่มีมาตามหลักฐานที่สืบค้นได้ตั้งแต่ยุค ร.3 ซึ่งอ้างอิงจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่พบในวัดดวงแข เคียงคู่กับวัดคือผู้คนที่มาอยู่อาศัย สมัย ร.4 มีการขุดคูคลองรอบกรุง พอขุดเสร็จ กลุ่มคนจีน มอญ ลาว เขมร ที่มาขุดก็ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่รอบแนวคลองต่าง ๆ พื้นที่บริเวณรองเมืองก็เป็นหนึ่งในชุมชนที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองจากการขุดคลอง ต่อมาสมัย ร.5 มีการตัดถนนสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพฯ 

บริเวณนี้ก็กลายเป็นบ้านพักเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟ หรือที่เรียกกันว่า ‘บ้านหลวง’ การเดินทางของผู้คนผ่านรถไฟก็ทำให้เกิดอาชีพในภาคบริการมารองรับ มีหาบเร่ ร้านอาหาร ที่พักราคาย่อมเยา คนดูแลรถไฟ พนักงานทำความสะอาด รปภ. การเกิดขึ้นของหัวลำโพงจึงเกี่ยวพันและสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนโดยรอบด้วย และการย้ายที่ของสถานีรถไฟหลักก็ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของชุมชนอีกเช่นกัน

“จะเห็นว่าพอเราพูดถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง อาจมีภาพจำที่เป็นรถไฟ แต่มันมีคนประกอบอยู่ด้วย ซึ่งคุณอาจไม่ได้มองเขาในสมการของการพัฒนาเลย”

จากแสงแดดร้อนยามบ่ายบนถนนรองเมือง พวกเราเดินลัดเลาะตรอกซอกซอยสู่ชุมชนวัดดวงแขซึ่งมีหลังคาจากตึกรามบ้านช่องรอบด้านยื่นออกมาเกือบชิดกันจนแสงแดดส่องถึงพื้นเพียงบางช่วง บนตึกแถวทึบทึม 3 ชั้นถูกแบ่งซอยย่อยเป็นห้องเช่ารายวัน บางหลังหนาแน่นถึง 30 ห้อง มีบ้านไม้โบราณอายุกว่า 100 ปีที่อยู่มาตั้งแต่การเริ่มต้นของชุมชน กำแพงข้างทางปรากฏงานศิลปะที่คนในชุมชนพยายามเปลี่ยนแปลงภาพจำของ ‘สลัม’ ที่คนนอกมอบให้ จนไปสุดที่ตรอกเล็กแคบชนิดที่ต้องเดินเรียงแถวทีละคน และมืดสนิทจนต้องหยิบมือถือมาส่องไฟ ที่ชื่อ ‘ตรอกงูเหลือม’

“เดินจบแล้วรู้สึกอย่างไร”

ตุ้มถามฉันอีกครั้งหลังโผล่ออกจากตรอกแคบมืด ฉันทั้งโล่งใจที่ผ่านพ้นความอึดอัด ทั้งประหลาดใจกับการมีอยู่ของผู้คนที่อาศัยในห้องเช่าตลอดแนวตรอก 

เส้นทางที่ผ่านมาทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของชุมชนวัดดวงแข ซึ่งกำลังจะถูกไล่รื้อโดยรัฐ แม้จะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ก็เป็นเพียงคำพูดที่เล่าต่อกันโดยไม่มีหลักฐานทางเอกสาร และใช้อ้างอิงถึงความเก่าแก่ของชุมชนไม่ได้ 

“เราอยากให้คนข้างนอกเห็นคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา แต่ว่าเขาจะเห็นคุณค่าได้ยังไงถ้าเขาแค่ฟังหรืออ่านโพสต์เฉย ๆ เราจึงชวนเขามาที่นี่ ใช้เส้นทางนี้เป็นเครื่องมือให้คนได้มีโอกาสเข้ามาชุมชน และเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่คุณมองไม่เห็น แล้วก็ตั้งคำถามกับมัน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเข้าข้าง แต่อยากให้เข้าใจ และคิดวิเคราะห์บางอย่างด้วยตัวเอง แล้วรู้สึกไปกับมัน”

“อันนี้คือโจทย์สำหรับ Feel Trip ความรู้สึกของการได้เดิน”

Feel Trip การเดินเท้าเพื่อรู้สึกและเข้าใจ

เฉกเช่นเดียวกับกระบวนการทางความคิดที่เกิดขึ้นทั้งในสมองและหัวใจของฉันตลอดการเดินเท้าผ่านตึกรามบ้านช่อง ผู้คน ชุมชน เปิดโสตประสาทไปกับเรื่องเล่าข้ามกาลเวลา ในฉากเบื้องหน้าของหลักฐานทางกายภาพที่สองเท้าพาฉันไปสัมผัส… ฉัน Feel กับ Trip นี้

แต่เป้าประสงค์ของ Feel Trip ไม่ใช่เพียงเปลี่ยนความรู้สึกของผู้ร่วมเดินเท้าเท่านั้น มันยิ่งใหญ่กว่านั้น

“การเดินทางจะทำให้เรามีบทสนทนากับเมืองมากขึ้น พี่เลยพยายามทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นโจทย์ นี่คือเป้าหมายของ Feel Trip พี่อยากทำให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ที่คุณเป็นส่วนหนึ่งของเมืองของสังคมของชุมชนได้ และวัฒนธรรมนี้ทำให้คุณมีอำนาจในการตั้งคำถาม หรือมองเมืองเป็นพื้นที่เรียนรู้กับชุมชน

“ที่ผ่านมาต้องบอกว่าระบบการศึกษาทำให้เมืองแยกขาดจากการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ห้องเรียนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญและทุกคนก็เรียนผ่านตำรา แต่ประเด็นคือ ทำไมเราทำให้สิ่งรอบตัวเราเป็นจุดในการเรียนรู้ไม่ได้ อันนี้ต่างหากคืออำนาจของการเรียนรู้ที่เราเชื่อว่าทุกคนมีอยู่ในตัวเอง Feel Trip จึงพยายามทำให้ผู้คนเห็นว่าเราทุกคนต่างเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง และการเรียนรู้เหล่านี้ก็อยู่รอบตัวเรา”

พื้นที่ชุมชนวัดดวงแขคือหนึ่งในจุดเรียนรู้ที่ตุ้มจัดทริปเดินเท้ามาแล้วนับสิบครั้ง ขณะเดียวกัน ชุมชนแห่งนี้ก็เป็นพื้นที่การเรียนรู้และพื้นที่การทำงานสำคัญของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) องค์กรที่ทำงานอย่างแข็งขันในชุมชนแห่งนี้ และเป็นภาคีเครือข่ายที่ Feel Trip มีส่วนร่วมในการทำงานด้วย จากเดิมที่ชาวบ้านในชุมชนเคยเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มั่นใจในศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่เพราะถูกลดทอนโดยสังคม ดังนั้นอีกโจทย์หนึ่งคือการทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง

“การเดินเท้าเลยทำหน้าที่ ทำให้เขามีโอกาสได้เห็นคนข้างนอก คนข้างนอกได้เห็นเขา และได้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มีคุณค่าและมีความหมาย”

การได้มีส่วนร่วมในฐานะเจ้าบ้านต้อนรับผู้เดินเท้าที่เข้ามาเรียนรู้ และได้แบ่งปันเรื่องราวของตัวเองในพื้นที่ที่พวกเขาเป็นเจ้าของ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนได้เห็นคุณค่าในตัวเอง และได้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของพวกเขานั้นมีค่า เปลี่ยนความกลัวเป็นความมั่นใจและความกล้าหาญเพื่อยืนหยัดต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มาไล่ที่ ตามสิทธิพื้นฐานที่ตัวเองพึงมี เพื่อผลประโยชน์และความเป็นธรรมของตัวเองและชุมชนที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งส่วนสำคัญ

เมื่อจบทริป ตุ้มจะให้ผู้เข้าร่วมทำ Reflection สะท้อนสิ่งที่ตัวเองได้เห็น ได้เรียนรู้ และได้ตกตะกอน ซึ่งพวกเขามักจบท้ายด้วยการแบ่งปันและบอกต่อในพื้นที่ออนไลน์ของตัวเอง

“เราเชื่อว่าอำนาจของโซเชียลมีเดียมันทำงาน ทำให้เสียงที่พูดถึงไปสู่คนอื่นแล้วเกิดแรงกระเพื่อมบางอย่าง อันนี้คืออิมแพกต์ในภาพรวม”

ตุ้มเชื่อว่าแนวทางการศึกษาที่ทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่ Feel Trip กำลังพิสูจน์ให้เห็น จะเป็นแรงกระแทกไปสู่รูปแบบการศึกษาแบบเดิม ๆ ซึ่งแยกผู้เรียนออกจากชุมชนและสังคม และเปลี่ยนแปลงนโยบายของระบบการศึกษาไทยในที่สุด อันเป็นผลลัพธ์ยิ่งใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ฝันถึง แต่ลงมือสร้างแรงกระเพื่อมผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการเดินเท้า โดยเฉพาะ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ทาง Feel Trip จัดเส้นทางการเรียนรู้ทั่วประเทศถึง 50 ครั้ง เพื่อส่งแรงกระแทกไปสู่ผู้เกี่ยวข้องในระบบการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่องไม่หยุด

จุดเริ่มต้นจากคนชื่อตุ้ม

“พี่นิยามตัวเองว่าเป็นมนุษยนิยม คือชอบมนุษย์ เชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ เชื่อเรื่องอำนาจในตัวเอง”

ด้วยชุดความเชื่อพื้นฐานที่มีและความสนใจในประวัติศาสตร์ชุมชน ตุ้มจึงเลือกเรียนโบราณคดี ในสาขามานุษยวิทยา ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมผ่านผู้คน วิทยานิพนธ์จบการศึกษาของเธอคือการศึกษาชีวิตของคนขายพวงมาลัยในบริเวณถนนราชดำเนิน ถนนสายจอแจอันมียานพาหนะติดเครื่องยนต์เป็นเจ้าของ ถึงแม้คนขายพวงมาลัยจะเป็นส่วนหนึ่งของถนน แต่ก็ไม่มีอำนาจ แถมยังโดนจับอยู่บ่อย ๆ เธอลงทุนไปใช้ชีวิตเป็นคนขายพวงมาลัยอยู่ 3 เดือนจนโดนจับไปด้วย แต่ก็ทำให้รู้ว่ามนุษย์เราต้องการการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์สูงมาก แต่การศึกษากลับมอบแต่ตำราให้เรา

เมื่อจบมาแล้ว เธอมาเป็นหนึ่งในนักวิจัยของ TRACE Project (Trafficking, from Community to Exploitation) ซึ่งเป็นโปรเจกต์ความร่วมมือระหว่างองค์กร UNICEF และ UNIAP (United Nations Inter-Agency Project on Human Trafficking in the Greater Mekong Sub-Region) งานวิจัยชิ้นนี้พาชีวิตเธอเข้าสู่แวดวงการทำงานทางสังคม และพบว่าต้นเหตุหนึ่งของปัญหาเชิงโครงสร้างรวมถึงปัญหาทางสังคมมากมาย คือ ‘การศึกษา’ โดยเด็กและเยาวชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงมาตลอด

“การศึกษาไม่ได้บอกเลยว่าเรามีสิทธิ เด็กจึงไม่เคยโตมากับความเชื่อว่าเขามีสิทธิ เขาไม่เข้าใจมนุษย์อื่นเพราะการศึกษาไม่เคยบอกว่าคุณอยู่ด้วยกันอย่างมี Empathy ได้ เลยโดดจากงานวิจัยทางสังคมมาทำเรื่องการศึกษา

“พอมาทำงานการศึกษาก็พบว่าปัญหามันใหญ่โตมาก เมื่อก่อนเราเรียนจากคนในชุมชน จากสิ่งที่พ่อแม่ทำ แต่การศึกษาเอาเด็กออกมาเรียนในห้องเรียนแทน แล้วห้องเรียนสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งพวกนี้ไม่ได้ยึดโยงกับชุมชน มันไม่ได้บอกกับเด็กปกาเกอะญอว่าพอเรียนเลขเสร็จแล้วเขาจะกลับไปใช้กับชุมชนปกาเกอะญอได้ยังไง มันไม่เคยพูดถึงความเชื่อมโยง เท่ากับว่าการศึกษาพรากคนออกจากชุมชนตลอด”

ช่วง พ.ศ. 2556 รัฐบาลมีนโยบายยุบควบรวมโรงเรียนชุมชนขนาดเล็กซึ่งมีอยู่ราว 30,000 โรงเรียน โดยทยอยยุบก่อนเบื้องต้น 15,000 โรง เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่คนรุ่นใหม่ย้ายถิ่นฐานสู่เมืองใหญ่ โรงเรียนชุมชนซึ่งเคยมีนักเรียนอยู่ราว 50 – 60 คน จึงมีจำนวนนักเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด รัฐมองว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่ผลกระทบของเด็กและครอบครัวที่ไม่อาจเข้าถึงการศึกษานี้ไม่อาจประเมินเป็นมูลค่าได้ 

ตุ้มร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยและเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก ภายใต้ชื่อ ‘กลุ่มคัดค้านการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก’ จึงล่ารายชื่อผ่าน Change.org เพื่อคัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก คืนพื้นที่การศึกษาให้ชุมชนจัดการเองและออกแบบการสอนเองตามวิถีชุมชน เพียงเดือนเดียวมีผู้ลงชื่อสนับสนุนถึง 22,032 คน มีการเดินขบวนเรียกร้อง เปิดเวทีสาธารณะ ยื่นจดหมายถึงรัฐมนตรี ซึ่งรัฐก็รับเรื่องไปพิจารณา

แต่หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นทางการได้ไม่นานก็เกิดรัฐประหาร แล้วสิ่งที่ทำกันมาก็จบลงตรงนั้น

“พี่ตั้งคำถามเลยว่าเราจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างไรถ้าโครงสร้างยังแข็งตัวแบบนี้ และถ้าทุกคนยังเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพไม่ได้ จากความคิดตรงนั้น พี่คิดว่าถ้าเราวิ่งในลู่เดียวกับเขาไม่ได้ ก็ต้องออกมาสร้างลู่ใหม่ของตัวเอง”

เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตุ้มได้ทุนจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาทำโมเดลตั้งต้นในโครงการของตัวเอง ชื่อ Storyteller in Journey โดยประกาศรับเยาวชน 20 คน แล้วมอบเงิน 3,000 บาท ให้เขาไปหาโจทย์ของตัวเองเพื่อเรียนรู้อะไรก็ได้แล้วแต่สนใจ แล้วทำการสื่อสาร ซึ่งตัวเลข 3,000 บาทนี้เท่ากับเงินทุนอุดหนุนที่รัฐมอบให้เด็กนักเรียนในระบบแต่ละคนผ่านสถาบันการศึกษาที่สังกัด โดยเด็กไม่มีอำนาจในการเลือกจัดการเงินของตัวเองเลย

“พี่เลยคืนเงินให้เขาทำโจทย์เอง มีน้องมา 19 คน ไปกระจายตัวหลายจุดมาก ไปเชียงราย กาญจนบุรี บางคนนั่งรถไฟไปปัตตานี ซึ่งโจทย์พวกนี้ทำให้เห็นว่า พอเขามีโอกาสในการใช้เงินของตัวเอง เขาเลือกสิ่งที่ตอบโจทย์ความชอบความรู้สึกของตัวเองได้เยอะมาก ขณะเดียวกัน เขาสนุกกับการเรียนรู้ เขาเห็นคุณค่า”

พอเห็นว่าตอบโจทย์ ตุ้มจึงชวนน้อง ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมค้างแรม 3 วัน 2 คืน ล้อมวงคุยกันถึงโปรเจกต์ที่อยากต่อยอดโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม จึงออกมาเป็น Feel Trip

“Feel Trip จึงเกิดบนพื้นฐานที่ว่า เราสร้างลู่เฉพาะเพื่อพิสูจน์ความเชื่อของเรา ว่าถ้ามีอำนาจในการเรียนรู้และมีพื้นที่ในการสร้างสื่อได้จริง มนุษย์จะเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ Feel Trip คิดเชื่ออย่างนี้ตลอด เราสร้างการเรียนรู้ สร้างพื้นที่เล่น สร้างพื้นที่ให้เขาเติบโตได้”

2 ปีแรกของการทำ Feel Trip คือการจัดเวิร์กช็อป มอบเงิน 3,000 บาท ให้เด็กหาโจทย์ของตัวเอง แต่พอเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การจัดกิจกรรมเชิงกายภาพแบบเดิมไม่อาจทำได้ ระหว่างล็อกดาวน์สมาชิกจึงผันตัวมาเป็นอาสาประสานงานช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากโรคระบาด สร้างเครือข่ายส่งคนเข้าโรงพยาบาล (Covid-19 Matching)

“ทำไปทำมาก็เห็นว่า ถ้าเราทำแบบนี้ได้ เราก็ทำงานกับชุมชนได้นี่ โปรเจกต์เลยเกิดขึ้น”

ทำปัญหาเชิงโครงสร้างให้เยาวชนสนใจ

“ตอน Open Call พี่เลือกคนที่น้ำเสียงในการเขียนที่บอกว่าเขาสนใจอะไร พี่อยากเห็นแพสชันที่พุ่งมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ถ้ามาด้วยแพสชันแล้ว ต่อให้มีอุปสรรคคุณก็ยังทำ และสอง พี่เลือกคนที่บอกได้ว่าเขาชัดเจนกับอะไร สิ่งที่อยากได้คืออะไร”

“บางคนบอกแค่ว่าอยากได้เงินไปเที่ยว บางคนบอกว่าเขาเป็นแฟนคลับของศิลปินคนนี้ แล้วอยากไปดูที่ที่ศิลปินคนนี้ไป บางคนอยากรู้ว่าที่บ้านเขามีอะไรบ้าง มีเด็กมหาวิทยาลัยมหาสารคามอยากขี่รถไปดูการทำฝายที่กาฬสินธุ์”

จากความสนใจตั้งต้นของน้อง ๆ ตุ้มจะมอบอิสระและความเชื่อใจให้พวกเขาจัดการตามความต้องการของตัวเอง และค่อย ๆ เติมกระบวนการเรียนรู้ผ่านการตั้งคำถาม และจากสายตาของกันและกัน โดยที่เด็ก ๆ ไม่รู้มาก่อนเลยว่าสุดท้ายการเรียนรู้ของพวกเขาจะสัมพันธ์กับปัญหาเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ทอดยาวทาทับแทบทุกสิ่งในประเทศนี้

ฉันฟังแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า แม้แต่คนวัยทำงานอย่างฉัน ยังมีคนรอบตัวที่สนใจปัญหาเชิงโครงสร้างเพียงหยิบมือ แล้วนับประสาอะไรกับเด็กเยาวชนล่ะ

“ประเด็นแบบนี้ไม่มีใครสนใจเลย น้องทุกคนเวลาเข้ามาก็มาแบบว่าง ๆ เลย เขาไม่คิดเรื่องโครงสร้างหรอก ไม่คิดเรื่องสังคมด้วยซ้ำ แต่ความว่างเปล่าของน้องคือสิ่งที่เราต้องการ แล้วเราจะเติมมันด้วยกระบวนการเรียนรู้ของเรา ถ้าการเรียนรู้ของเรามันดีมากพอ น้องก็จะเรียนรู้และเข้าใจด้วยตัวเอง ตัวชี้วัดสำคัญมาก ๆ คือการเปลี่ยนแปลงของน้อง แค่คุณเข้าใจผู้คนได้เล็กน้อยก็คือเข้าใจแล้ว”

“เราอยากทำงานเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก เราจะยังไงให้รู้สึกใกล้ตัว เข้าถึงคนมาก และคนรู้สึกว่าไม่ยากเกินไป เราพยายามทำให้การเล่าเรื่องมันถูกเล่าด้วยโจทย์ที่ง่าย เช่น ภาพจำของเขา ความทรงจำของเขา หรือประสบการณ์บางอย่าง อย่างที่ถามเมื่อกี้ว่าเคยมาหัวลำโพงครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เคยขึ้นรถไฟครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่”

โจทย์ของเยาวชนจะถูกพัฒนาต่อไปเป็นเส้นทางการเรียนรู้ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั่วประเทศ หากมันเชื่อมโยงกับผู้คนและสังคมมากขึ้น และน้องยังมีไฟที่จะทำต่อ ตุ้มก็พร้อมสนับสนุนการเดินทางก้าวต่อไปของพวกเขาให้ได้เป็นเจ้าของโครงการหลักเองโดยไม่มีข้อสงสัย จึงมีโครงการมากมายที่เติบโตมาจากโจทย์ตั้งต้นของพวกเขา 

อาทิ โปรเจกต์แปลงผักนุ้ย นุ้ย เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่กระบี่ Art School วัดขัน นาท่อม เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการเข้าถึงยาเสพติดกับปัญหาคุณแม่วัยใสที่พัทลุง หนองเต้า มินิอัลบั้ม เพื่อต่อยอดการรักษาอัตลักษณ์ชาวปกาเกอะญอผ่าน บทธา ร่วมสมัยที่เชียงใหม่ เมนูหัวตะเข้ พื้นที่การเรียนรู้ของเด็กเยาวชนผ่านอาหารเพื่อเรียนรู้ชุมชน ในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง 

“คนที่อยู่กับเราจะเหมือนเพื่อนพี่น้อง เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์แบบใยแมงมุม ไม่มีจุดศูนย์กลาง เราเป็นจุด แล้วเราก็เชื่อมโยงจุดไปเรื่อย ๆ ทุกคนคือศูนย์กลางของตัวเอง

“คนเหล่านี้คือคนที่เชื่อเหมือนเรา แล้วเขาก็ไปส่งต่อความเชื่อนั้นให้กับเราเสมอ ถึงบางคนจะไม่ได้อยู่ในกิจกรรมกับเราแล้ว แต่เขายังเอาความเชื่อไปส่งต่อ ไปปรับใช้ในงานของเขา สิ่งนี้คือการสร้างแรงกระเพื่อมที่สั่นสะเทือนตลอดเวลา เมื่อจุดเล็ก ๆ สั่น มันอาจจะเบาบาง แต่ว่าเมื่อทุกจุดมาสั่นพร้อมกัน มันก็จะใหญ่ขึ้น จะค่อย ๆ ดัง นี่คือความเชื่อของเรา”

ก้าวไปข้างหน้า

“ด้วยความที่ Feel Trip ทำงานเชิงโครงสร้าง บางทีมันพูดเรื่องยาก ๆ เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องผู้คนเยอะมาก และการพูดมันเป็นเชิงกระบวนการ ไม่ใช่กิจกรรม เราเลยไม่ทำแนวให้คนมาถ่ายรูปแล้วก็หาจุดเช็กอิน เราไม่เชื่อเรื่องนั้น”

ตุ้มกล่าวถึงเหตุผลที่เธอไม่ทำให้โครงการเรียนรู้มันแมสแบบที่เห็นตามอีเวนต์ต่าง ๆ และแม้ว่าที่ผ่านมา Feel Trip จะไม่เคยรับเงินจากนายทุนเลย แต่รายได้จะมาจากองค์กรหรือสถาบันการศึกษาที่เห็นคุณค่าในสิ่งนี้ และมาทาบทามให้ทีมออกแบบเส้นทางเพื่อการเรียนรู้ให้เป็นรายครั้ง ซึ่งรายได้ส่วนนี้ก็จะถูกแบ่งให้น้อง ๆ อาสาสมัครในทีมที่มาช่วยกิจกรรม มาพาเดิน รวมทั้งวิทยากรชุมชน โดยเงินทุนหลักในการบริหารโครงการต่าง ๆ จะมาจาก สสส. และ สสย. และ 10% จากรายได้ของเส้นทางการเรียนรู้ที่จัดให้ภาคีเครือข่ายจะถูกเก็บเข้าบัญชีสวัสดิการกองกลางสำหรับดูแลสมาชิกทุกคน

“เราไม่ได้มีเงินเป็นก้อน แต่เราทำให้งานของเราสร้างมูลค่า เราเชื่อว่าคุณค่ามันต้องเกิดก่อน แล้วมูลค่ามันถึงกลับมาตอบแทนคุณค่าที่น้องมี แล้วกระจายสู่ผู้คนอย่างเท่าเทียม”

“เพราะการคิดเงินมันเป็นโจทย์ของการต้องสร้างระบบ แล้วเอามูลค่ามาถอด พี่รู้สึกว่าเรายังไม่ถึงจุดนั้น เราอยากทำให้ฐานของเราแข็งแรง ถึงจุดหนึ่งที่เราแข็งแรงมากพอ ก็จะเติมเครื่องมือบางอย่างที่มันตอบโจทย์เมื่อกี้ ตอนนี้เราพยายามขัดเกลาตัวเองอย่างเข้มข้น เพื่อเข้าไปสู่ลู่ของ Social Enterprise ในสักวัน”

สำหรับฉันที่อายุเกินคำว่าเยาวชนมามาก แต่พอยิ่งได้รู้จัก Feel Trip ก็ยิ่งสนใจ อยากมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งตุ้มเปิดเผยว่าตอนนี้ในทีมก็กำลังวางแผนชวนผู้ใหญ่ทุกช่วงวัยมาทำกิจกรรม ที่สุดท้ายอาจได้มีโอกาสคว้าเงินทุนออกไปเป็นเจ้าของการเรียนรู้ในโจทย์ที่ตนสนใจ และติดกระบวนการให้สมองและหัวใจได้เห็นมุมมองอีกด้านของปัญหาสังคมที่ไม่เคยมอง

“น้องคนหนึ่งจบทริปแล้วพูดว่า หนูเห็นคนอื่นมากขึ้น หนูเห็นความเป็นมนุษย์ของเขาที่หนูไม่เคยเห็นมาก่อนเลย หนูรู้สึกว่าหนูเห็นป้าแม่บ้าน เห็นลุง รปภ. ที่หนูอาจไม่เคยเห็น คนเหล่านี้อาจจะเป็นคนที่มีชีวิตในแบบที่หนูไม่เคยคิด

“แค่ได้ยินคำตอบนี้ พี่ก็รู้สึกว่าสิ่งที่ทำมามันประสบความสำเร็จแล้ว”

Writer

นิธิตา เฉิน

นิธิตา เฉิน

นักเล่าเรื่องและครีเอทีฟอิสระผู้อยากสื่อสารประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้สนุกและสร้างสรรค์

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ